Thursday, 2 May 2024
Southern

นักเรียนสตูล เนรมิตผืนดินร้างในโรงเรียน เป็นทุ่งทานตะวันแห่งการเรียนรู้ เชื่อมโยงการท่องเที่ยวในชุมชนสร้างรายได้

วันนี้ 22 มีนาคม 2564 นักเรียน ครู รวมถึงผู้ปกครอง กำลังสนุกสนาน เพลิดเพลินกับการถ่ายรูปกับทุ่งทานตะวันที่ชูช่อดอกเหลืองอร่าม ท้าแสงแดด บนพื้นที่ 2 ไร่ บริเวณหน้าโรงเรียนบ้านาท่าแลหลา  ต.กำแพง  อ.ละงู  จ.สตูล สร้างความสุข และเกิดการเรียนรู้ของนักเรียนภายใต้แนวคิด  การจัดกระบวนการเรียนการสอน และการบริหารจัดการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง บนหลักการความคุ้มค่า  "ทุกตารางเมตรคือแหล่งเรียนรู้"

โดยแปลงทานตะวันแห่งนี้เกิดขึ้น  โดยคณะครู และนักเรียนต้องการให้ทุกพื้นที่ของโรงเรียนใช้ประโยชน์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งฝึกทักษะอาชีพ ฝึกนิสัยความรับผิดชอบ การช่วยเหลือกัน การทำงานเป็นทีม และเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน แปลงทางตะวันแห่งนี้ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือ ของนักเรียน คณะครู และผู้บริหาร โดยนักเรียนแต่ละชั้นเรียนร่วมกันรับผิดชอบ  ตั้งแต่กกระบวนการแรก พรวนดิน  ลงเมล็ดพันธุ์  รดน้ำ ดูแลจนเบ่งบานสวยงาม  ผ่านกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ โดยได้รับการสนับสนุนจากชุมชน และองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง

นายสนั่น หวันสมัน ประธานคณะกรรมการสถานศึกษา โรงเรียนบ้านท่าแลหลา กล่าวว่า เดิมทีโรงเรียนแห่งนี้ พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ว่าง ทางคณะกรรมการสถานศึกษาคณะครูผู้ปกครองมีแนวคิดว่าโรงเรียนแห่งนี้น่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับ ลูก ๆ หลาน ๆ ของเราในชุมชน พร้อมทั้งผู้ปกครองที่เข้ามามีส่วนร่วมในโรงเรียน ทุกตารางเมตรของโรงเรียนคือแหล่งเรียนรู้โดยเฉพาะพื้นที่ว่างเปล่า เราจึงปลูกดอกไม้เพื่อให้เด็กมีความรับผิดชอบ ในโรงเรียนร่วมกัน ร่วมกันใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใช้สอยเพราะโรงเรียนของเราเป็นพื้นที่ว่างเปล่าไม่เยอะแต่ทุกตารางเมตรก่อให้เกิดประโยชน์ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง

ในส่วนของพื้นที่ตรงนี้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลก็เข้ามามีส่วนร่วม เป็นจุดเช็คอิน  เพื่อดึงคนจากภายนอกมาเที่ยวในชุมชนในตำบลของเราได้ด้วย  ตรงนี้เราไม่ได้เรียกร้องขอค่าบริการต่าง ๆ  แต่ในส่วน ของผู้มีจิตศรัทธา ก็ร่วมกันบริจาคสมทบทุนเพื่อให้กับลูกหลานในชุมชนในโรงเรียนเพื่อเป็นค่าดูแลได้ สำหรับดอกทานตะวันนี้จะแบ่งบานยาวไปจนถึงช่วงสงกรานต์ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ทุกวันฟรี

รวมทั้งทางโรงเรียนเองนั้นต้องการที่จะเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในพื้นที่ เพื่อให้หมู่บ้านบริเวณรอบ ๆ โรงเรียนมีรายได้  รวมทั้งตำบลกำแพงนี้มีการท่องเที่ยว และการทำของฝากหลาย ๆ จุด และจะนำโรงเรียนแห่งนี้เป็นจุดเส้นทางการมาเที่ยวอีกด้วย เพราะปัจจุบันนี้ ของฝากในพื้นที่ทั้งขนม และสิ่งของขายได้จากนักท่องเที่ยวเดือน ๆ หนึ่งได้ 3,000 – 10,000 บาท หากมีดอกทานตะวัน ยิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  นิตยา แสงมณี  ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสตูล

ผู้บังคับกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน ที่ 446 นำกำลังพลลาดตระเวนตรวจสอบป่าต้นน้ำ แม่น้ำสุไหงโก-ลก

พ.ต.ท.อเนชา ตาวันผู้บังคับกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 446 อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาสพร้อมร.ต.ต.สมยศ หนูเอียดหัวหน้าชุดเฝ้าตรวจชายแดน 4408 พร้อมกำลังพล 4407 และ 4408 ร่วมลาดตระเวนตรวจสอบป่าต้นน้ำแม่น้ำสุไหงโก-ลกและลาดตระเวนสำรวจหลักเขตแดนที 72 ณ.หมู่ที่ 2 บ้านภูเขาทอง ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาสและพักค้างแรม 1 คืนทีบริเวณหลักเขตแดนที่ 74            

วัตถุประสงค์ของการลาดตระเวนตรวจสอบป่าต้นน้ำในครั้งนี้เพื่อดูแลการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและขบวนการพาคนข้ามเขตแดน แรงงานต่างด้าวและคนไทยทีติดอยู่ในประเทศมาเลเซียเข้ามาและเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโรคไวรัสโควิค 19 อีกด้วย


ภาพ/ข่าว : แวดาโอ๊ะ หะไร นราธิวาส

กรมประมง เปิดเวทีจัดเสวนา “ความสำเร็จของฟาร์มทะเลและเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ โดยชุมชนมีส่วนร่วมของจังหวัดสงขลา” พร้อมมอบเงินอุดหนุนพัฒนาอาชีพ 15 ชุมชน ประมงท้องถิ่นและปล่อยกุ้งกุลาดำ กว่า 1 ล้านตัว ลงทะเลสาบสงขลา

หาดจันทร์สว่าง (หาดปลาไก่) ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา กรมประมงจัดพิธีเปิดโครงการเสวนาสร้างเครือข่ายองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นระดับจังหวัด ในหัวข้อ “ความสำเร็จของฟาร์มทะเลและเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ โดยชุมชนมีส่วนร่วมของจังหวัดสงขลา” โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้ นายเดชอิศม์ ขาวทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 5 สงขลา เป็นประธาน มีนายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง พร้อมด้วยนายปัญญา จินดาวงศ์ นายอำเภอสิงหนคร ข้าราชการ คณะครูและนักเรียน รวมถึงพี่น้องชาวประมงจาก 15 ชุมชนในพื้นที่ จำนวนกว่า 500 คน เข้าร่วม

นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 25 ว่าด้วยเรื่องของการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนชุมชนประมงท้องถิ่นในการจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากทรัพยากรสัตว์น้ำภายในที่จับสัตว์น้ำในเขตประมงทะเลชายฝั่ง โดยกำหนดให้กรมประมงดำเนินการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนในเรื่องการมีส่วนร่วม การรวมกลุ่ม การให้คำปรึกษาแก่ชุมชน การเผยแพร่ความรู้ในการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมของชุมชน ฯลฯ ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กรมประมงได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นด้านชายฝั่งไปแล้วกว่า 459 ชุมชน เช่นโครงการพัฒนาอาชีพและเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนประมงพื้นบ้าน , โครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านการเกษตร , โครงการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนประมง

กรมประมงจึงกำหนดจัดโครงการเสวนาสร้างเครือข่ายองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นระดับจังหวัด ช่วงระหว่างเดือนมีนาคม - สิงหาคม 2564 ในพื้นที่ 23 จังหวัดชายทะเล เพื่อสร้างเครือข่ายชุมชนประมงท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็ง องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์และบทเรียนจากการดำเนินงานพัฒนาอาชีพและเสริมสร้างความเข้มแข็งชองชุมชนประมงชายทะเล และแนวทางการขับเคลื่อนเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นในการบริหารจัดการประมงทะเลอย่างยั่งยืน อีกทั้ง เป็นการกระชับความสัมพันธ์ความร่วมมือระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชน

สำหรับกิจกรรมในวันนี้ ภายในงานมีการเสวนา ในหัวข้อ “ความสำเร็จของฟาร์มทะเลและเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ โดยชุมชนมีส่วนร่วมของจังหวัดสงขลา” พิธีมอบเงินอุดหนุนพัฒนาอาชีพ 15 ชุมชน กิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ได้แก่ กุ้งกุลาดำ จำนวน 1 ล้านตัว โดยปล่อยในทะเลชายฝั่งบริเวณหาดจันทร์สว่าง และขบวนคาราวานเรือประมงพื้นบ้าน จำนวน 20 ลำ ยังได้นำกุ้งกุลาดำ (500,000 ตัว) ไปปล่อยในเขตอนุรักษ์และเขตสร้างแหล่งอาศัยสัตว์น้ำของชุมชนอีกด้วย อีกทั้งยังมีการมอบพันธุ์สัตว์น้ำให้แก่ผู้แทนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น จำนวน 10 ชุมชน เพื่อนำไปบริหารจัดการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติของชุมชนให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ ชาวประมงพื้นบ้านสามารถเข้าถึงทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างทั่วถึงทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพที่ดีขึ้นจากการประกอบอาชีพประมง และชุมชนประมงเกิดความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้

นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้ทางการประมงมากมาย อาทิ มาตรฐานประมงพื้นบ้านยั่งยืน มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรในอ่าวไทย เขตทะเลหลวง เขตทะเลชายฝั่ง การบริหารจัดการทรัพยากรประมงโดยใช้แนวทางระบบนิเวศ การตลาด (ปลากะพง) โรคสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากชาวประมง อีกด้วย

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์และบทเรียนจากการดำเนินงานพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนประมงชายทะเล เสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ระหว่างภาคประชาชนกับภาครัฐ ภายใต้บริบทและวิถีของชุมชน เกิดความมั่นคงในอาชีพประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน หวังเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านทั้ง 23 จังหวัด เกิดการมีส่วนร่วมในการบริหารทรัพยากรประมงของชุมชน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้เกิดความยั่งยืนของอาชีพประมงภายใต้ความยั่งยืนของทรัพยากร ตามนโยบายที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำให้กรมประมงบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่ไปกับคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องชาวประมง


ภาพ/ข่าว : นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์  หาดใหญ่ สงขลา

นักเรียนโรงเรียนบ้านปากคลอง เก็บมะม่วงหิมพานต์ขายเป็นรายได้เสริม เพื่อสร้างทักษะชีวิต และอาชีพของนักเรียน

นายมนัส  สัจจสุจริตกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านร่าหมาด และรักษาราชการผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปากคลอง อำเภอเกาะลันตา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากระบี่ เปิดเผยว่า โรงเรียนบ้านปากคลอง เป็นโรงเรียนขนาดเล็กอยู่ในพื้นที่ใกล้ทะเล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอากาศร้อนอบอ้าว จึงทำให้ต้นมะม่วงหิมพานต์ที่ปลูกเอาไว้ จำนวนกว่า 20 ต้น  มีผลออกมาเยอะมาก  

ทางโรงเรียนได้ฝึกสร้างทักษะอาชีพให้กับนักเรียน เพื่อให้นักเรียนมีทักษะชีวิตด้วยการสร้างงานในสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน  โดยการเก็บ มะม่วงหิมพานต์ขาย สร้างรายได้เสริมให้กับนักเรียนอีกทางหนึ่ง โดยมีแม่ค้า หรือชาวบ้านในชุมชนมารับซื้อในโรงเรียน  ซึ่งมีราคาจำหน่ายดังนี้ ผลติดเมล็ด ขายกิโลกรัมละ 35 บาท ผลเอาเมล็ดออก กิโลกรัมละ 20 บาท และเมล็ดอย่างเดียว กิโลกรัมละ 60 บาท   

ทั้งนี้  มะม่วงหิมพานต์เป็นผลไม้ที่มีคุณประโยชน์ทุกส่วนของต้น ไม่ว่าจะเป็นใบ ผล ต้น เมล็ด ยาง เปลือก  เช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์มีแมกนีเซียมสูง  ช่วยในการทำงานของหัวใจ มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นพลังงาน ช่วยป้องกันอาการหมดเรี่ยวแรงได้เป็นอย่างดี  ผลและใบของมะม่วงหิมพานต์มีสรรพคุณช่วยลดไข้ ยางจากต้นช่วยแก้อาการเลือดออกตามไรฟัน เปลือกจากต้นช่วยแก้อาการปวดฟัน ใช้กลั้วคอล้างปาก น้ำคั้นจากผลใช้ดื่มเป็นยาขับปัสสาวะได้ ช่วยรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ด้วยการใช้ใบแก่นำมาบดใส่บริเวณที่เป็นแผล

ในภาคใต้ยังนิยมนำใบอ่อนของมะม่วงหิมพานต์มาเป็นผักกินกับอาหารได้อย่างอร่อย  นำผลมาทำเป็นอาหารได้หลากหลายชนิด และนำเมล็ดไปอบ เพื่อทานเป็นของว่างกินเล่นได้อย่างดีอีกด้วย  สนใจสั่งซื้อมะม่วงหิมพานต์ ติดต่อได้ที่นายมนัส  สัจจสุจริตกุล หมายเลขโทรศัพท์  087-9114068 


ภาพ / ข่าว  ณัฏฐพงษ์ ศรีปล้อง (กระบี่)  / นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ (หาดใหญ่ สงขลา)

แม่เฒ่า102 ปี...ได้ร่วมโครงการเราชนะแล้ว หลังคลังจังหวัดนำทีมออกช่วยเหลือลงทะเบียนให้ถึงบ้าน

วันที่ 22 มีนาคม 2564 นางภุมรินทร์ ธนานุกูลวงศ์ คลังจังหวัดพังงา นำทีมเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทยและเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดพังงา ลงพื้นที่ศาลาเขาช้าง อ.เมืองพังงา ซึ่งได้เปิดเป็นจุดให้บริการลงทะเบียนโครงการเราชนะ กลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ โดยมีผู้นำท้องที่และดูแลคนพิการผู้ป่วยติดเตียง นำผู้พิการและผู้สูงอายุที่สามารถเดินทางมาได้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพร้อมลงทะเบียนให้

ในส่วนของผู้ที่ไม่สามารถเดินทางมาได้นั้น ทางเจ้าหน้าที่ได้แบ่งทีมออกติดตามผู้นำท้องที่ไปบริการให้ถึงที่บ้านซึ่งนายนิกร ชำนาญ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ต.ตากแดด อ.เมืองพังงา ได้ขับมอเตอร์ไซค์นำเจ้าหน้าที่เข้าไปในสวนยางพาราลงทะเบียนให้กับแม่เฒ่าอายุ 102 ปี ชื่อนางนงลักษณ์ ณ ถลาง ที่ได้รับเงินผู้สูงอายุเท่านั้น ปัจจุบันมีปัญหาทางสายตาและการรับฟัง และเจ้าหน้าที่สามารถสแกนใบหน้าลงทะเบียนได้เป็นที่เรียบร้อย ทำให้ลูกหลานดีใจและขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่มาช่วยบริการถึงบ้าน

นางภุมรินทร์ ธนานุกูลวงศ์ เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังขยายระยะเวลาเปิดรับลงทะเบียนโครงการ "เราชนะ" สำหรับกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ จากเดิมวันที่ 5 มี.ค. ออกไปถึงวันที่ 26 มี.ค.2564 เนื่องจากยังมีประชาชนกลุ่มดังกล่าวบางส่วนที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ตามนโยบายของ รมว.คลัง ที่ให้มีการดูแลกลุ่มผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงคนชราที่มีปัญหาทางกายภาพ

ในส่วนของจังหวัดพังงา ได้มีแผนลงพื้นที่ในวันที่ 22 มีนาคม 2564 ที่ศาลาเขาช้าง อ.เมืองพังงา และศาลาประชาคมเทศบาลตำบลทับปุด อ.ทับปุด วันที่ 23 มีนาคม ที่หอประชุมอำเภอตะกั่วทุ่ง วันที่ 24 มีนาคม ที่ศาลาประชาคมอำเภอท้ายเหมือง วันที่ 25 มีนาคม ที่ที่ศาลาเทศบาล ต.คุระบุรี อ.คุระบุรี วันที่ 26 มีนาคม ที่ศาลาประชาคมอำเภอตะกั่วป่า และศาลาเทศบาลตำบลท่านา อ.กะปง สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนเรียบร้อยในรอบนี้ สามารถตรวจสอบสิทธิได้ในวันที่ 5 เมษายน 2564 หากได้รับสิทธิจะได้รับเงินเข้าระบบในวันที่ 9 เมษายน จำนวน 7,000 บาท และใช้ได้จนถึงเดือนพฤษภาคม 2564


ภาพ/ข่าว : อโนทัย งานดี (พังงา)

“ประยุทธ์” สั่งเดินหน้า “เมืองต้นแบบที่ 4” หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องละเอียดรอบคอบ ในการ ขับเคลื่อน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี “สั่งการ” ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เดินหน้า ในการ ผลักดัน “เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” หรือ”เมืองต้นแบบที่ 4” มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต่อไป ตามมติ ครม. 7 พฤษภาคม 2562 โดยให้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต. ) เป็นฝ่ายอำนวยการ

เพราะได้มีการตรวจสอบในประเด็นของการ ร้องเรียนจาก กลุ่ม เอ็นจีโอ ที่ร้องเรียนถึงความไม่ถูกต้องในขบวนการต่างๆ ของหน่วยงานของรัฐ ที่เข้าไปดำเนินการขับเคลื่อนโครงการ “เมืองต้นแบบที่ 4” ตาม มติ ครม. และตามคำสั่งของ นายกรัฐมนตรี และ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร สุวรรณวงค์ ผู้เป็นประธาน กพต. ที่เป็นผู้เสนอโครงการสรุปว่า

เรื่องที่เอ็นจีโอร้องเรียนต่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.กระทรวงเกษตรฯ ก็ดี เรื่องที่ ผู้ช่วยรัฐมนตรีสำนักนายก ที่เดินทางมาตรวจสอบข้อเท็จจริง จากหน่วยงานของรัฐ ทั้งเรื่องของการ เปลี่ยนผังเมือง เรื่องของการออกโฉนดที่ดิน เรื่องของการรับฟังความคิดเห็น และการทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ 3 ตำบล ของ อ.จะนะ ที่เป็นที่ตั้งโครงการ  มีการตรวจสอบแล้ว ว่าอะไรเป็นเรื่องเท็จ อะไรเป็นเรื่องจริง หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จึงได้สั่งให้ เดินหน้า อย่างไม่ชักช้า

แสดงให้เห็นว่า เรื่องที่ถูก เอ็นจีโอ กล่าวหาต่อ หน่วยงานของรัฐทุกเรื่อง ทุกหน่วยงาน ตั้งแต่ ศอ.บต. ที่ดินอำเภอ ที่ดินจังหวัด สำนักงานโยธาธิการ ไม่มีข้อเท็จจริง และแม้แต่การที่ สส.ฝ่ายค้านนำเรื่องนี้ ไปอภิปราย ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ว่าเป็นผู้ “เอื้อ” ประโยชน์ ให้กับนายทุน ก็ไม่มีน้ำหนัก

หลังการอภิปราย เอ็นจีโอ และ กลุ่มผู้เห็นต่าง ในพื้นที่ อ.จะนะ ที่ต่อต้านโครงการ”เมืองต้นแบบที่ 4” ถึงขนาด ปล่อยข่าวว่า จะมีการย้าย พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนายชนธัญ แสงพุ่ม ( ดร.เจ๋ง ) รองเลขาธิการ ศอ.บต. ออกจากพื้นที่ เพราะเชื่อมั่นว่าการ ร้องเรียนเพื่อ เอาผิด กับ ทุกหน่วยงานราชการที่เกี่ยว และการ อภิปรายของฝ่ายค้าน จะเป็น”หมัดเด็ด”นั้น  สลายเป็นอากาศธาตุในทันที ที่ พล.อ.ประยุทธ์ มีการสั่งการเดินหน้า ของ โครงการ”เมืองต้นแบบที่ 4”

และ หลังที่คำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ถูก”สื่อ”ส่วนกลาง นำเสนอ เอ็นจีโอ ในพื้นที่ก็มีการ ต่อสายกับ”เครือข่าย” และกลุ่มผู้ที่”เห็นต่าง” ในพื้นที่ เพื่อเตรียมการกำหนดแผนในการ ขับเคลื่อน เพื่อการต่อต้าน โครงการ”เมืองต้นแบบที่ 4” ต่อไป ซึ่งจะต้องติดตามว่า ครั้งนี้ เอ็นจีโอ และกลุ่มผู้เห็นต่าง จะใช้แผนอะไร ในการ ต่อต้าน เพื่อมิให้ โครงการนี้เดินหน้าเพราะเมื่อผลจากการสอบสวนในข้อร้องเรียนไม่เป็นจริง การที่จะต่อต้าน ย่อมขาดความชอบธรรม

วันนี้ กลุ่มผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหว เพื่อการต่อต้าน “เมืองต้นแบบที่ 4” มีอย่างน้อย 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มเก่า ที่เป็นผลผลิตของ เอ็นจีโอ ตั้งแต่การต่อต้าน โรงงานท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย เมื่อ 20 ปีก่อน และกลุ่มที่ 2 ที่ปรากฏตัวแบบชัดเจน ไม่มีการเป็น”อีแอบ”แล้ว ในขณะนี้คือ กลุ่มของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ซึ่งถือเป็นกลุ่มใหญ่ ที่เกิดขึ้นมา

ซึ่งหน่วยงานที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อรับผิดชอบในเรื่องการทำความเข้าใจ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายมวลชนของ”กลุ่มทุน” ต้องนับหนึ่งใหม่ ในการสร้างความเข้าใจ การให้รายละเอียดของโครงการ การรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ ข้อเรียกร้อง ให้เป็นไปตาม ขบวนการ เพื่อสร้างความชอบธรรม และต้องทำให้”โปร่งใส” ครบถ้วนทุกขั้นตอน เพื่อสร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้น โดยไม่จำเป็นที่จะต้องรีบร้อนแต่อย่าใด

ส่วนกลุ่มโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา นั้น เป็นกลุ่มใหม่ที่ต่อต้านโครงการนี้ ซึ่งอาจะมีปัญหาของความ”ไม่เข้าใจ” ปัญหาการ ไม่ให้เกียรติกัน ไม่เห็นความสำคัญ และไม่ได้มีส่วนร่วมในโครงการดังกล่าว  ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการทำความเข้าใจ ก็ต้องไปคิดว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะแต่ละกลุ่ม มีความคิด ความเห็น ความต้องการ ที่ไม่เหมือนกัน แต่เชื่อว่า หลังจากการเลือกตั้งท้องระดับเทศบาลผ่านไป สถานการณ์ในพื้นที่อาจจะนิ่งในระดับหนึ่ง เพราะต้องยอมรับว่าเรื่องของการเมืองท้องถิ่น ก็มีส่วนในการสร้าง ก๊ก สร้างกลุ่ม สร้างความขัดแย้งในพื้นที่ โดยมีโครงการ”เมืองต้นแบบที่ 4” เป็น”เหยื่อ” เช่นกัน

บรรทัดนี้ จึงขอแสดงความยินดีกับ กลุ่มประชาชน และ องค์กรต่างๆ ที่สนับสนุนให้”เมืองต้นแบบที่ 4” ที่ อ.จะนะ เดินหน้า เพราะต้องการที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง และใกล้เคียง ที่จะได้รับประโยชน์ จากการเกิดขึ้นของ”เมืองต้นแบบที่ 4” แห่งนี้ เพื่อเปิดประตูของภาคใต้ไปสู่โลกภายนอก และนำเงินตราเข้าสู่ประเทศไทย เพราะวันนี้ ภาคใต้จะหวัง”พึ่งพา” อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และ ผลผลิตทางการเกษตร ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว นั่นเอง


ภาพ/ข่าว นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ (หาดใหญ่ จ.สงขลา)

ผบ.พล.ร.15 ให้กำลังใจกำลังพลและตรวจเยี่ยมการฝึกเตรียมความพร้อมของหน่วยที่จะเข้าปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนใต้

พลตรีไพศาล หนูสังข์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส เดินทางตรวจเยี่ยมการฝึกเตรียมความพร้อมของหน่วยที่จะเข้าปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนใต้ ขั้นที่ 4 ของ กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 151 ณ ที่ทำการกองพันฝึก จังหวัดชายแดนใต้ กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 151 (วัดขวัญประชา) อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส

โดยมีพันโท กฤตณ์พัทธ์  กรกัน  ผู้บังคับกองพันทหาราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 151 ให้การต้อนรับ โดย การฝึก ประกอบด้วย การรปภ.เส้นทาง  / การรปภ. เป้าหมายอ่อนแอ การพบปะพัฒนาสัมพันธ์กับประชาชน และสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการเมือง ตามแผนปฏิบัติการ ของ กอ.รมน.ภาค.๔ สน. แต่ทั้งนี้ให้ทําการฝึกเพิ่มเติมเมื่อมีโอกาส โดยใช้แนวทางการฝึก ตามเอกสารข้อมูลที่ ยศ.ทบ. ได้แจกจ่ายให้หน่วยแล้ว ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการดําเนินการตามนโยบายของกองทัพบก ให้หน่วยที่จะสับเปลี่ยนกําลังพลใช่วงเม.ย. 64 ได้มีความคุ้นเคยและรับทราบสถานการณ์ในพื้นที่จริง และยังเป็นการเพิ่มเติมกําลังพลในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยกําหนดแผนการฝึกให้สอดคล้องกับงานทางด้านยุทธวิธีของหน่วยในพื้นที่ ตลอดจนพัฒนาขีดความสามารถของหน่วยให้มีความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อีกด้วย

ทั้งนี้ พลตรีไพศาล หนูสังข์ ได้มอบความห่วงใยพร้อมทั้งมอบของบริโภคให้กับแต่ละกองร้อยฝึก เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่กำลังพลที่เข้ารับการฝึก ตลอดจนได้เน้นย้ำให้ผู้บังคับหน่วยกวดขัน และกำกับดูแลการฝึกอย่างใกล้ชิด เพื่อให้กำลังพลได้รับการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ จากกำลังพลที่ผ่านการฝึกอบรมจาก ยศ.ทบ. โดยมีการประเมินผลตนเอง ทั้งก่อนการฝึกระหว่างการฝึกและหลังจากการฝึก เพื่อให้กำลังพลได้พัฒนาขีดความสามารถ มุ่งเน้นสายงานการข่าวและสายงานกิจการพลเรือน พร้อมรับทราบแนวทางการปฎิบัติและเทคนิคต่าง ๆ ให้มีความพร้อมและสามารถปฎิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป


ภาพ/ข่าว : แวดาโอ๊ะ หะไร (จ.นราธิวาส)

พบอีก ไอซ์ ลอยทะเลตราด

ล่าสุด ( 22 มี.ค. 2564 ) เวลา ประมาณ 19.00 น.  นายสมศักดิ์  จุฑาวงศ์กุล  นายอำเภอเกาะกูด พร้อมด้วย ปลัดอำเภอ เจ้าหน้าที่ อส อำเภอเกาะกูด ร่วมกับผู้กำกับ รองผู้กำกับ เจ้าหน้าที่ตำรวจ  สถานีตำรวจภูธรอำเภอเกาะกูด กำนัน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ต.เกาะหมาก

เข้าตรวจยึดยาไอซ์ที่ลอยขึ้นมาติดที่ชายฝั่ง บ้านอ่าวโปง ตำบลเกาะหมาก อำเภอเกาะกูด เบื้องต้นตรวจสอบพบ ยาไอซ์จำนวนทั้งสิ้น 20 กิโลกรัม ทางฝ่ายปกครอง ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ดำเนินการนำของกลางมาเก็บไว้ยังสถานีตำรวจภูธรอำเภอเกาะกูด เพื่อดำเนินการต่อไป

สำหรับพื้นที่ จ.ตราด ก่อนหน้าที่ผ่านมาหนึ่งอาทิตย์ ยาไอซ์ ลอยทะเลตราด ลอยเข้าหลายจุดด้วยกันไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เกาะช้าง และพื้นที่เขตอำเภอเมือง ในพื้นที่ ต.แหลมกลัด ซึ่งเป็นเส้นทางที่ยาไอซ์ลอยทะเล ลอยเข้ามามากที่สุดของเขตอำเภอเมือง เมื่อช่วงต้นปี 63 ที่ผ่านมา สำหรับยาไอซ์ลอยทะเล ล็อตนี้ยังไม่สามารถคาดเดาว่าเป็นยาไอซ์ล็อตเดียวกับเมื่อปี 63 ที่ลอยทะเลหรือไม่ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่สามารถตรวจยึดได้กว่า 700 กิโลกรัม ในปี 63 ที่ผ่านมา

เร่งตรวจสอบถ้ำโต๊ะหลวง อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ แหล่งโบราณสถาน พบภาพเขียนสีโบราณ หลังพบกลุ่มนักขับวิบากนำจยย.ซิ่งในถ้ำ

เมื่อเวลา10.00 น.วันที่ 23 มี.ค.64   นายนายบัญชา ธนูอินทร์ นายอำเภออ่าวลึก จ.กระบี่  พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 สาขากระบี่   พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและผู้นำท้องถิ่น  ได้ลงพื้นที่สำรวจถ้ำโต๊ะหลวง ม.2 บ้านนบ ต.คลองหิน อ.อ่าวลึก  จ.กระบี่  หลังรับแจ้งว่า มีกลุ่มขับจักรยานยนต์มอเตอร์ครอส  ขับรถเข้ามาแข่งกันในถ้ำ ซึ่งเป็นโบราณ   และมีการแชร์ในสังคมออนไลน์จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ถึงความไม่เหมาะสมและเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ

นายบัญชา  กล่าวว่า จากการตรวจสอบภายในถ้ำโต๊ะหลวง พบร่องรอยล้อรถจักรยายนต์มอเตอร์ครอสหรือรถวิบากจำนวนมาก ส่วนความเสียหายอื่น ๆ ยังอยุ่ระหว่างการสำรวจ ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายให้หัวหน้าฝ่ายความมั่นคง  ประสาน เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ซึ่งเป็นผู้ดูแลพื้นที่ที่ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และจนท.ป่าไม้  เข้ามาตรวจสอบ และดำเนินการตามขึ้นตอนของกฎหมาย และให้จนท.นำป้ายเข้าพื้นที่มาติดตั้งไว้บริเวณปากถ้ำห้ามเข้าโดยเด็ดขาด เพื่อที่จะตรวจสอบร่องรอยความเสียหาย

ผู้สื่อข่าวตรวจสอบคลิปที่มีการแชร์คลิปในโลกออนไลน์ พบว่ามีการขับมอเตอร์ครอสเข้าไปในถ้ำจำนวนประมาณ 10 คัน ขับรถจักรยายนต์ เข้าไปตามช่องแคบ ๆ ภายในโถงถ้ำโดยใช้เท้ายันตามเนินช่องทางเดินภายในถ้ำตลอดทาง และส่งเสียงโห่ร้องกันอย่างสนุกสนาน และมีรายงานว่ามีนักการเมืองท้องถิ่นรายหนึ่งร่วมในกลุ่มด้วย ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ให้ข้อมูลว่า กลุ่มขับรถวิบากดังกล่าว  เข้ามาเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคมผ่านมา ใช้เวลาประมาณ 20 นาที  โดยพยายามยามขับรถผ่านโถงถ้ำแต่ ติดกิ่งไม้ จากนั้นก็พากันขับออกไป

ขณะที่นายวินิต พึ่งหล้า รอง ประธานสภาอบต.คลองหิน  กล่าวว่า เมื่อวันที่อาทิตย์ที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา ตนฐานะประธานชมรมเปตองตำบลคลองหิน จัดกิจกรรมรวมกลุ่มนักกีฬาประมาณ 50 ทีม ที่หน้าโรงเรียนบ้านคลองหินและเห็นกลุ่มขับรถจยย.วิบากขับผ่านมา แต่ตนก็ไม่ทราบว่าจะขับเข้ามาในถ้ำโต๊ะหลวง  ซึ่งที่ผ่านมาก็มีกลุ่มมวิบากขับเข้ามาบ่อย ส่วนใหญ่ตามสันเขาในสวนยางสวนปาล์มในพื้นที่  แต่คราวนี้มีการขับเข้าในพื้นที่แหล่งโบราณสถาน และไม่มีการแจ้งอบต.ในพื้นที่แต่อย่างใด  ซึ่งอาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์  และขอฝากให้ช่วยกันดูแล เพราะถ้ำโต๊ะหลวงนอกจากเป็นแหล่งโบราณสถานแล้วยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวของตำบลคลองหินด้วย

นายนิวัฒน์ วัฒนยมนาพร กรรมการที่ปรึกษาหน่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดกระบี่  กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา  เบื้องต้นทราบว่ากลุ่มที่เป็นนักขับรถวิบาก เป็นกลุ่มคนในพื้นที่ จ.กระบี่ และ จ.ภูเก็ต มาจัดกิจกรรมขับรถเข้าไปในภายในถ้ำดังกล่าว ซึ่งถ้ำโต๊ะหลวง เป็นหนึ่งในโบราณสถานตามประกาศของกรมศิลปากร เรื่องรายชื่อโบราณสถานใน จ.กระบี่ ตามมาตรา 4 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 โดยถ้ำโต๊ะหลวง จัดอยู่ในลำดับที่ 35 ของโบราณสถาน ใน อ.อ่าวลึก  เป็นแหล่งค้นพบภาพเขียนสีโบราณ หรือเรียกอีกชื่อว่า เขาป่าหมาก ถูกประกาศไว้เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2559 โดยนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ในขณะนั้น

นายนิวัฒน์กล่าวอีกว่า การที่นำรถจักรยานยนต์เข้าไปขับขี่ หรือทดสอบรถ   ถือเป็นความไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง   เพราะอาจจะสร้างความเสียหายแก่โบราณสถานได้ ควรจะมีจิตสำนึกให้มากว่านี้ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ และดำเนินการทางกฎหมาย เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง  ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เป็นแหล่งโบราณคดี แต่การที่เอารถเข้าไปขับขี่ในถ้ำนั้น เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะปัจจุบันมีพ.ร.บ.ถ้ำด้วย ถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก....

ภาพ/ข่าว ณัฏฐพงษ์ ศรีปล้อง รายงาน

ม.สงขลานครินทร์ ร่วมกับ ปปท.เขต 9 เสริมสร้างธรรมาภิบาลต่อต้านการทุจริตในภาครัฐ

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเขต 9 (สำนักงาน ปปท.เขต 9) จัดโครงการเสริมสร้างธรรมาภิบาลต่อต้านการทุจริตในภาครัฐ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2564 เพื่อเตรียมพร้อมการรองรับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปี 2564 โดยมี ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานเปิดงาน

นางประไพพรรณ รัตนะ ผู้อำนวยการกลุ่มงานป้องกันการทุจริตในภาครัฐ เขต 9 กล่าวรายงาน พันตำรวจเอกกษิดิศ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ปปท. เขต 9 เป็นวิทยากร ให้ความรู้เกี่ยวกับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment ) (ITA) และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต รวมทั้งการบริหารความเสี่ยงการทุจริต และมีคณะผู้บริหาร และบุคลากร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จำนวน 100 คน เข้าร่วมงาน ณ โรงแรมสยามออเรียนทัล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 64

ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นในหน่วยงานราชการต่างๆ ที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อส่วนรวมของประเทศ ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการพัฒนาประเทศแต่ละปีเป็นจำนวนมาก เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองในทุกมิติ และส่งผลให้คะแนนระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ติดต่อกันหลายปี รัฐบาลจึงมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาการทุจริตในระดับประเทศอย่างต่อเนื่องในทุกระดับ

ตั้งแต่การพัฒนากลไก มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้มีความเข้มแข็ง กำหนดเครื่องมือ กลไก และเป้าหมาย แนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน โดยให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระยะที่ 3 ซึ่งมุ่งเป้าหมายให้ทุกภาคส่วนในสังคมตื่นตัวและเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตตามบทบาทและหน้าที่ ตลอดจนมีการพัฒนาจิตสำนึกค่านิยมและจรรยาบรรณของเจ้าหน้าที่ในภาครัฐ

การอบรมในครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐ กลุ่มผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จะได้ทราบถึงรูปแบบและวิธีการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐให้เป็นไปตามหลักธรรมมาภิบาล การพัฒนากระบวนงานบริการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว โปร่งใส และเป็นธรรม ตามหลักมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับของสาธารณชน ตามหลักพื้นฐานการเป็นธรรมรัฐ (Good Governance) เพื่อพัฒนาก้าวไปสู่การปราศจากทุจริตคอรัปชั่น และการเสริมสร้างเครือข่ายภาครัฐทั้งในระดับองค์กรและตัวบุคคลให้เป็นกลไกเฝ้าระวัง ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในการต่อต้านการุจริตทุกรูปบบ รวมถึงมีการประสานความร่วมมือและการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจรติ พ.ศ. 2551 ต่อไป

ด้าน นางประไพพรรณ รัตนะ ผู้อำนวยการกลุ่มงานป้องกันการทุจริตในภาครัฐ เขต 9 กล่าวว่า การอบรมในครั้งนี้จัดขึ้นตามยุทธศาสตร์ชาติระยะเวลา 20 ปี ยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการปรับความสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐยุทธศาสตร์ชาติที่ว่าด้วยการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตระยะที่ 3 พ.ศ.2560-2564 เพื่อสร้างวัฒนธรรมการต่อต้านการทุจริต ยกระดับธรรมมาภิบาลในการบริหารจัดการทุกภาคส่วน และปฎิรูปกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตทั้งระบบให้มีมาตรฐานเท่าสากล โดยมีความสอดคล้องกับแผนปฎิบัติในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ สำนักงาน ป.ป.ท. ยุทธศาสตร์ที่ 2 ขับเคลื่อนการทำงานที่มีธรรมมาภิบาลในหน่วยงานภาครัฐ และยุทธศาสตร์ที่ 3 การบูรณาการที่มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการต่อต้านการทุจริต

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ สร้างค่านิยมและปลูกจิตสำนึกของเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้มีการปฏิบัติงานเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อนำบริการของรัฐที่มีคุณภาพไปสู่ประชาชนผู้รับบริการ ทำให้การบริการราชการมีความถูกต้อง โปร่งใส เป็นที่ยอมรับของสาธารณชน และบทบาทภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่เป็นกลไกที่สำคัญของฝ่ายบริหารที่มีภารกิจหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ตลอดจนการร่วมเป็นเครือข่ายภาครัฐในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และปราบปรามการทุจริตในทุกรูปแบบ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top