นักเรียนสตูล เนรมิตผืนดินร้างในโรงเรียน เป็นทุ่งทานตะวันแห่งการเรียนรู้ เชื่อมโยงการท่องเที่ยวในชุมชนสร้างรายได้

วันนี้ 22 มีนาคม 2564 นักเรียน ครู รวมถึงผู้ปกครอง กำลังสนุกสนาน เพลิดเพลินกับการถ่ายรูปกับทุ่งทานตะวันที่ชูช่อดอกเหลืองอร่าม ท้าแสงแดด บนพื้นที่ 2 ไร่ บริเวณหน้าโรงเรียนบ้านาท่าแลหลา  ต.กำแพง  อ.ละงู  จ.สตูล สร้างความสุข และเกิดการเรียนรู้ของนักเรียนภายใต้แนวคิด  การจัดกระบวนการเรียนการสอน และการบริหารจัดการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง บนหลักการความคุ้มค่า  "ทุกตารางเมตรคือแหล่งเรียนรู้"

โดยแปลงทานตะวันแห่งนี้เกิดขึ้น  โดยคณะครู และนักเรียนต้องการให้ทุกพื้นที่ของโรงเรียนใช้ประโยชน์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งฝึกทักษะอาชีพ ฝึกนิสัยความรับผิดชอบ การช่วยเหลือกัน การทำงานเป็นทีม และเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน แปลงทางตะวันแห่งนี้ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือ ของนักเรียน คณะครู และผู้บริหาร โดยนักเรียนแต่ละชั้นเรียนร่วมกันรับผิดชอบ  ตั้งแต่กกระบวนการแรก พรวนดิน  ลงเมล็ดพันธุ์  รดน้ำ ดูแลจนเบ่งบานสวยงาม  ผ่านกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ โดยได้รับการสนับสนุนจากชุมชน และองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง

นายสนั่น หวันสมัน ประธานคณะกรรมการสถานศึกษา โรงเรียนบ้านท่าแลหลา กล่าวว่า เดิมทีโรงเรียนแห่งนี้ พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ว่าง ทางคณะกรรมการสถานศึกษาคณะครูผู้ปกครองมีแนวคิดว่าโรงเรียนแห่งนี้น่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับ ลูก ๆ หลาน ๆ ของเราในชุมชน พร้อมทั้งผู้ปกครองที่เข้ามามีส่วนร่วมในโรงเรียน ทุกตารางเมตรของโรงเรียนคือแหล่งเรียนรู้โดยเฉพาะพื้นที่ว่างเปล่า เราจึงปลูกดอกไม้เพื่อให้เด็กมีความรับผิดชอบ ในโรงเรียนร่วมกัน ร่วมกันใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใช้สอยเพราะโรงเรียนของเราเป็นพื้นที่ว่างเปล่าไม่เยอะแต่ทุกตารางเมตรก่อให้เกิดประโยชน์ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง

ในส่วนของพื้นที่ตรงนี้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลก็เข้ามามีส่วนร่วม เป็นจุดเช็คอิน  เพื่อดึงคนจากภายนอกมาเที่ยวในชุมชนในตำบลของเราได้ด้วย  ตรงนี้เราไม่ได้เรียกร้องขอค่าบริการต่าง ๆ  แต่ในส่วน ของผู้มีจิตศรัทธา ก็ร่วมกันบริจาคสมทบทุนเพื่อให้กับลูกหลานในชุมชนในโรงเรียนเพื่อเป็นค่าดูแลได้ สำหรับดอกทานตะวันนี้จะแบ่งบานยาวไปจนถึงช่วงสงกรานต์ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ทุกวันฟรี

รวมทั้งทางโรงเรียนเองนั้นต้องการที่จะเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในพื้นที่ เพื่อให้หมู่บ้านบริเวณรอบ ๆ โรงเรียนมีรายได้  รวมทั้งตำบลกำแพงนี้มีการท่องเที่ยว และการทำของฝากหลาย ๆ จุด และจะนำโรงเรียนแห่งนี้เป็นจุดเส้นทางการมาเที่ยวอีกด้วย เพราะปัจจุบันนี้ ของฝากในพื้นที่ทั้งขนม และสิ่งของขายได้จากนักท่องเที่ยวเดือน ๆ หนึ่งได้ 3,000 – 10,000 บาท หากมีดอกทานตะวัน ยิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  นิตยา แสงมณี  ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสตูล