Saturday, 10 May 2025
DonaldTrump

ทรัมป์เปิดฉากขึ้นภาษีสินค้าจีน 10% ปักกิ่งเอาคืนหนักเก็บ 15% พร้อมคุมส่งออกแร่หายาก

(4 ก.พ. 68) สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนกลับมาปะทุอีกครั้ง หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษี 10% กับสินค้านำเข้าจากจีนทั้งหมด ขณะที่จีนตอบโต้ด้วยการเพิ่มภาษีกับสินค้าสหรัฐฯ และจำกัดการส่งออกแร่หายาก ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด

โดยมาตรการภาษีใหม่ของทรัมป์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 00:01 น. ตามเวลาฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ของวันที่ 4 ก.พ.โดยทรัมป์ให้เหตุผลว่าจีนไม่จริงจังในการสกัดกั้นการนำเข้าเฟนทานิล ซึ่งเป็นตั้งต้นสารเสพติดที่สร้างปัญหาในสหรัฐฯ อย่างหนัก โดยทรัมป์ประกาศขึ้นภาษี 10% กับสินค้านำเข้าทั้งหมดจากจีน

ส่งผลให้ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที กระทรวงการคลังของจีนประกาศมาตรการตอบโต้ โดยเรียกเก็บภาษี 15% สำหรับถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากสหรัฐฯ รวมถึงภาษี 10% สำหรับน้ำมันดิบ เครื่องจักรทางการเกษตร และรถยนต์บางประเภท โดยมาตรการนี้จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์

นอกจากการขึ้นภาษีสินค้าแล้ว จีนยังเปิดฉากโจมตีบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ โดยเริ่มสอบสวนการผูกขาดของ Alphabet Inc. บริษัทแม่ของ Google พร้อมทั้งเพิ่มบริษัท PVH Corp. ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์แฟชั่นชื่อดังอย่าง Calvin Klein และ Illumina บริษัทไบโอเทคของสหรัฐฯ เข้าใน "บัญชีหน่วยงานที่ไม่น่าเชื่อถือ"

ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์และกรมศุลกากรของจีนประกาศควบคุมการส่งออกแร่หายากสำคัญ เช่น ทังสเตน เทลลูเรียม รูทีเนียม และโมลิบดีนัม อ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ ซึ่งอาจกระทบต่ออุตสาหกรรมพลังงานสะอาดทั่วโลก เนื่องจากจีนเป็นผู้ผลิตแร่หายากรายใหญ่

สงครามการค้าระหว่างสองมหาอำนาจเศรษฐกิจครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากทรัมป์ตัดสินใจเลื่อนการขึ้นภาษีกับสินค้าจากแคนาดาและเม็กซิโกออกไปอีก 30 วันเพื่อแลกกับมาตรการคุมเข้มชายแดนของทั้งสองประเทศ อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ยังเตือนว่าอาจเพิ่มภาษีจีนอีกหากจีนไม่หยุดการส่งออกเฟนทานิลมายังสหรัฐฯ

จีนปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยยืนยันว่าปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องภายในของสหรัฐฯ และเตรียมยื่นเรื่องร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลก (WTO) แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเปิดโอกาสให้มีการเจรจา

การปะทะกันทางเศรษฐกิจครั้งนี้สร้างความผันผวนให้ตลาดการเงินทันที โดยตลาดหุ้นฮ่องกงร่วงลง ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ขณะที่เงินหยวนของจีนอ่อนค่าลง กดดันค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียให้ลดลงตามไปด้วย

นักวิเคราะห์จาก Oxford Economics เตือนว่าการตอบโต้ครั้งนี้อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นในรอบใหท่ และสหรัฐฯ อาจเพิ่มอัตราภาษีต่อจีนอีกหากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ในเร็ว ๆ นี้

สหรัฐฯ เตือนข้าราชการแข็งข้อ 'อีลอน มัสก์' ผิดกฎหมาย ทำเนียบขาวชี้เป็นตำแหน่ง'ลูกจ้างพิเศษ' ไร้เงินเดือน

(4 ก.พ. 68) อัยการของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า ได้มอบหมายให้เอฟบีไอกำลังสอบสวนแบบกำหนดเป้าหมาย ของเจ้าหน้าที่รัฐส่วนหนึ่งที่มีความพยายามในการขัดขวางการทำงาของนายอีลอน มัสก์ ฐานะที่เขาเป็นหัวหน้าหน่วยงานลดขนาดและเพิ่มประสิทธิภาพรัฐบาล (DOGE) 

สำหรับ DOGE ถูกตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายที่จะลดจำนวนเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลาง และลดการใช้จ่ายของรัฐบาลหลายพันล้านดอลลาร์ แต่ผู้วิจารณ์กล่าวว่า DOGE ถูกใช้เพื่อกำหนดเป้าหมายหน่วยงานและโครงการของรัฐบาลที่มองว่าไม่สอดคล้องกับวาระ "อเมริกาต้องมาก่อน" ของทรัมป์

มีรายงานว่านับตั้งแต่ที่ทรัมป์เข้ามาดำรงตำแหน่งสมัยสองพร้อมกับการตั้งให้อีลอน มัสก์ ทำงานในฐานะกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล หรือ DOGE  พบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐหลายส่วนพยายามขัดขวางการทำงานของผู้ช่วยของมัสก์ ในการเข้าถึงข้อมูลลับจำนวนมากโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างเหมาะสม

นายเอ็ดเวิร์ด มาร์ติน รักษาการอัยการสหรัฐฯ ประจำกรุงวอชิงตัน ดีซี เป็นหลักฐานแรกที่แสดงให้เห็นว่า การต่อต้านความพยายามของมัสก์อาจนำไปสู่ผลทางกฎหมาย มาร์ตินกล่าวในแถลงการณ์ว่า "การตรวจสอบเบื้องต้นของหลักฐานที่นำเสนอต่อเรา บ่งชี้ว่าบุคคลและ/หรือกลุ่มบุคคลบางกลุ่มได้กระทำการที่ดูเหมือนจะละเมิดกฎหมายในการกำหนดเป้าหมายเจ้าหน้าที่ของ DOGE" มาร์ตินกล่าวว่า เอฟบีไอและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ กำลังเตรียม "ดำเนินการในทันที"

แถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่มาร์ตินเปิดเผยจดหมายที่เขาเขียนถึงมัสก์ เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใดก็ตามที่พยายามคุกคามหรือขัดขวางผู้ที่ทำงานร่วมกับมัสก์ โดยมัสก์โพสต์ข้อความขอบคุณเพื่อตอบกลับข้อความของมาร์ติน

ก่อนหน้านี้รัฐบาลทรัมป์ได้ปลดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยระดับสูง 2 คน จากสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ หรือ USAID ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของมัสก์ หลังจากที่พวกเขาพยายามขัดขวางไม่ให้ตัวแทนของ DOGE เข้าถึงพื้นที่ต้องห้ามของอาคาร จนเกิดการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานอัยการสหรัฐฯ  โดยพบว่ามีเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังระดับสูงคนหนึ่งได้ต่อต้านความพยายามของทีม DOGE ที่จะเข้าถึงระบบการเงินของหน่วยงาน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

ขณะเดียวกันด้านทำเนียบขาว ได้ออกเอกสารยืนยันสถานะการทำงานของนายอีลอน มัสก์ ว่าเขามาช่วยงานประธานาธิบดีทรัมป์ ในฐานะ "ลูกจ้างพิเศษของรัฐบาล" 

การยืนยันในเรื่องนี้ทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นว่า นายอีลอน มัสก์ ซึ่งเป็นซีอีโอพันล้านเจ้าของบริษัทด้านเทคโนโลยีกลายมาเป็นกำลังสำคัญในการทำงานของรัฐบาลทรัมป์ชุดใหม่ ไม่ใช่อาสาสมัครแต่อย่างใด แต่เขาก็ไม่ได้มีสถานะเป็นลูกจ้างพนักงานรัฐแบบเต็มเวลา

ทางด้านกระทรวงยุติธรรมระบุคำนิยามของ ลูกจ้างประจำของรัฐบาลคือ บุคคลใดก็ตามที่ทำงานหรือคาดว่าจะทำงานให้กับรัฐบาลเป็นเวลา 130 วันหรือน้อยกว่าในช่วงระยะเวลา 365 วัน ขณะที่นายอีลอน มัสก์ ไม่ได้รับค่าจ้างในการทำงานแต่อย่างใด แต่เขามีใบรับรองความปลอดภัยระดับความลับขั้นสูงสุด นอกจากนี้ยังมีสำนักงานอยู่ที่ทำเนียบขาว และสามารถเข้าถึงระบบการชำระเงินที่สำคัญของกระทรวงการคลัง ซึ่งส่งเงินออกไปในนามของรัฐบาลกลางทั้งหมดได้

ขณะเดียวกัน เนื่องจากเป็นลูกจ้างพิเศษของรัฐบาล เขาจึงได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายของรัฐบาลกลางว่าด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งห้ามพนักงานของรัฐบาลเข้าร่วมในกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ทางการเงินของตัวเอง กฎหมายดังกล่าวสามารถบังคับใช้ได้ทั้งในทางอาญาและทางแพ่ง แต่สามารถบังคับใช้ได้โดยกระทรวงยุติธรรมเท่านั้น

วิจารณ์ก้องโลก! ทรัมป์ผุดไอเดียยึดฉนวนกาซา ขับไล่ชาวปาเลสไตน์ไปอยู่ที่อื่น

(5 ก.พ. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ได้เปิดเผยแผนการที่น่าตกตะลึงว่า สหรัฐฯ ควรเข้าไปยึดครองฉนวนกาซาและให้ชาวปาเลสไตน์ย้ายไปอยู่ที่อื่น โดยในการแถลงข่าวร่วมกับนายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู ที่เดินทางมาเยือนสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทรัมป์กล่าวว่า หากจำเป็น สหรัฐฯ อาจจะส่งทหารเข้าไปเพื่อจัดการพื้นที่และเคลียร์อาวุธที่ยังคงหลงเหลืออยู่ พร้อมทั้งเสนอให้ชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยในฉนวนกาซาอพยพไปยังที่ดินในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค

แผนดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างมากจากทั่วโลก โดยบางฝ่ายมองว่าอาจเปลี่ยนแปลงทิศทางของความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และก่อให้เกิดการวิจารณ์จากหลายด้าน ทรัมป์กล่าวว่า เขามองว่าการเป็นเจ้าของและพัฒนาแผ่นดินฉนวนกาซาจะนำมาซึ่งเสถียรภาพในภูมิภาคและอาจจะสร้างงานหลายพันตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม การย้ายถิ่นฐานของชาวปาเลสไตน์หลายล้านคนอาจเป็นปัญหาที่ไม่สามารถทำได้ง่าย ๆ และอาจก่อให้เกิดผลกระทบทางกฎหมายและการเมือง

ทรัมป์ยังกล่าวต่อว่า ชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในฉนวนกาซาควรย้ายไปยังสถานที่ใหม่ที่มีสภาพที่ดีและอุดมสมบูรณ์ และไม่ควรกลับไปที่ฉนวนกาซาอีกครั้ง เนื่องจากพื้นที่นั้นไม่เหมาะสมและเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานจากสงคราม นอกจากนี้ เขายังเสริมว่าผู้ที่ต้องการอาศัยในพื้นที่ดังกล่าวเพียงเพราะไม่มีทางเลือกอื่น

คำแถลงของทรัมป์ได้สร้างความไม่พอใจในกลุ่มเจ้าหน้าที่อาหรับ รวมถึงความกังวลจากสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ หลายคน โดยเฉพาะจากพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน ซึ่งได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการทำตามแผนดังกล่าว ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ฮามาส ซึ่งเป็นกลุ่มที่ปกครองฉนวนกาซา ได้ประณามคำกล่าวของทรัมป์ว่าเป็นการจุดชนวนความขัดแย้งและความตึงเครียดในภูมิภาค

คำพูดของทรัมป์ยังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศและนักวิจัยต่างประเทศหลายคน ซึ่งมองว่าแผนนี้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งในด้านการเมืองและกฎหมาย และอาจไม่สามารถดำเนินการได้จริงในทางปฏิบัติ

ทรัมป์เล็งสั่งยุบกระทรวงศึกษาฯ คืนอำนาจมลรัฐ หวังลดงบประมาณ แต่ติดด่านสภาคองเกรส

(5 ก.พ. 68) สื่อสหรัฐรายงานว่า ทำเนียบขาวเตรียมออกคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ลงนามคำสั่งเพื่อยุบกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นไปตามที่ประธานาธิบดีทรัมป์เคยหาเสียงไว้ก่อนหน้านั้น

อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ ไม่สามารถยุบกระทรวงศึกษาธิการได้ตามใจชอบ หากไม่ได้รับการรับรองจากสภาคองเกรสเสียก่อน

สำหรับหน่วยงานด้านการศึกษาสหรัฐเคยก่อตั้งขึ้นในปี 1867 โดยประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน แต่ในขณะนั้นมีหน้าที่้เพียงรวบรวมข้อมูลและสถิติเกี่ยวกับโรงเรียนทั่วประเทศ กระทั่งในปี  1979 ประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ แห่งพรรคเดโมแครต ได้สั่งก่อตั้งกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐ (United States Department of Education)ขึ้น โดยมีหน้าที่กำหนดนโยบาย บริหารความช่วยเหลือด้านการศึกษาของรัฐบาลกลาง และช่วยประธานาธิบดีบังคับใช้กฎหมายการศึกษาเพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนทุกคนจะได้รับการศึกษาที่จำเป็นและสมควรได้รับ กล่าวคือ เป็นหน่วยงานที่คอยกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนทั่วสหรัฐ มีหน้าที่ดูแลการจัดสรรเงินทุนสำหรับโรงเรียนของรัฐ บริหารจัดการเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา และดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่ช่วยเหลือนักเรียนที่มีรายได้น้อย

รัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละมลรัฐในสหรัฐฯ มีหน่วยงานด้านการศึกษาที่ดูแลสถานศึกษาและงบประมาณในพื้นที่ของตน แต่ไม่สามารถกำหนดหลักสูตรให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ตามที่ทรัมป์เคยหาเสียงไว้ เขาต้องการให้แต่ละมลรัฐมีอิสระในการจัดการหลักสูตรและการเรียนการสอน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานในแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตาม มีข้อกังวลว่า หากแต่ละมลรัฐต้องบริหารการศึกษาเอง อาจเกิดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากงบประมาณที่มีในแต่ละท้องถิ่นไม่เท่ากัน

ก่อนหน้านี้ในช่วงที่ทรัมป์หาเสียงเลือกตั้ง เขาเคยกล่าวในหลายครั้งว่า "อีกสิ่งหนึ่งที่ผมจะทำในช่วงเริ่มต้นบริหารคือการปิดกระทรวงศึกษาธิการในวอชิงตัน ดี.ซี. และโอนงานด้านการศึกษาทั้งหมดกลับไปยังหน่วยงานท้องถิ่นของแต่ละมลรัฐต่างๆ"

ทรัมป์ยังกล่าวว่า " “ในสังคมอเมริกันโดยรวมแล้ว เราทุ่มเงินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีให้กับระบบการศึกษาของรัฐ แต่เราแทนที่จะอยู่บนสุดของรายชื่อการศึกษาโลก เรากลับอยู่ล่างสุดอย่างแท้จริง ... เดาสิเพราะอะไร"

จากข้อมูลในปี 2024 ระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการสหรัฐ ภายใต้รัฐบาลโจ ไบเดน ได้จัดโปรแกรมประถมศึกษาและมัธยมศึกษาให้แก่นักเรียนมากกว่า 50 ล้านคนในโรงเรียนรัฐบาลประมาณ 98,000 แห่งและโรงเรียนเอกชน 32,000 แห่ง นอกจากนี้ยังให้ ทุนการศึกษา เงินกู้ และความช่วยเหลือด้านการทำงานและการเรียนแก่นักเรียนระดับหลังมัธยมศึกษาจำนวนมากกว่า 12 ล้านคน

ด้าน เบ็กกี้ พริงเกิล ประธานสมาคมการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานสำคัญ ออกแถลงการณ์เตือนเมื่อวันอังคารว่า คำสั่งที่กำลังจะออกของทรัมป์จะส่งผลกระทบต่อนักเรียนและครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประชากรที่เปราะบาง

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการยุบกระทรวงศึกษาธิการ ก่อนหน้านั้นในสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ได้เคยมีความพยายามยุบกระทรวงศึกษาธิการของรัฐบาลกลางแต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ

นับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาดำรงตำแหน่ง กระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ ถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดโดยกรมประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาล (DOGE) ซึ่งก่อตั้งโดยอีลอน มัสก์ การตรวจสอบนี้เกิดขึ้นหลังจากพนักงานหลายสิบคนของกระทรวงฯ ถูกสั่งพักงานตามนโยบายของทรัมป์ ที่ต่อต้านโครงการสนับสนุนความหลากหลาย (DEI) คำสั่งดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามลดจำนวนพนักงานและโครงการของรัฐบาลในหน่วยงานต่างๆ

ทรัมป์เซ็นคำสั่งห้ามคนข้ามเพศ แข่งกีฬากับผู้หญิง ย้ำโอลิมปิก 2028 มีแค่นักกีฬาหญิงชายเท่านั้น

(6 ก.พ. 68) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามในคำสั่งบริหารฉบับใหม่ ห้ามนักกีฬาข้ามเพศที่เคยเป็นผู้ชายแข่งขันในรายการกีฬาสำหรับผู้หญิง โดยคำสั่งนี้มีชื่อว่า “Preserving Women’s Sports” หรือ “การรักษาความยุติธรรมในกีฬาสตรี” เพื่อสร้างความเท่าเทียมและความเป็นธรรมในการแข่งขันกีฬาระหว่างผู้หญิง ทรัมป์ระบุว่า นักกีฬาที่เคยเป็นผู้ชายมีโครงสร้างร่างกายและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่แตกต่างจากผู้หญิงโดยธรรมชาติ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน และเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมต่อนักกีฬาหญิง

คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทันที โดยครอบคลุมการแข่งขันกีฬาทุกระดับ ตั้งแต่กีฬาโรงเรียน มหาวิทยาลัย ไปจนถึงกีฬาชุมชน นอกจากนี้ ยังให้อำนาจกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ ตรวจสอบและดำเนินการกับสถาบันการศึกษาที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ขณะที่หลายองค์กรกีฬาระดับนานาชาติ เช่น สหพันธ์กรีฑาโลก (World Athletics) และสหพันธ์ว่ายน้ำนานาชาติ (FINA) ก็มีกฎหมายห้ามนักกีฬาข้ามเพศที่เคยเป็นผู้ชายแข่งขันในรายการหญิงอยู่แล้ว

ก่อนลงนามในคำสั่งบริหาร ทรัมป์ได้กล่าวปราศรัยว่า “สงครามเพื่อปกป้องวงการกีฬาสตรีได้สิ้นสุดลงแล้ว” พร้อมย้ำว่าในการแข่งขันโอลิมปิกปี 2028 ที่ลอสแอนเจลิส สหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน จะไม่ยอมให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันระหว่างนักกีฬาชายและหญิงอีกต่อไป นอกจากนี้ เขายังเน้นย้ำถึงนโยบายที่ชัดเจนในการกำหนดเพศในเอกสารราชการและกีฬา โดยระบุว่าเพศจะมีเพียงชายและหญิงเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิ LGBTQ+ ได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนี้ โดยมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติและกีดกันนักกีฬาข้ามเพศออกจากวงการกีฬา พวกเขาให้เหตุผลว่า ความสำเร็จในการแข่งขันกีฬาไม่ได้ขึ้นอยู่กับโครงสร้างร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่นๆ เช่น ความมุ่งมั่น การฝึกฝน ความพร้อมทางจิตใจ และวิทยาศาสตร์การกีฬา ซึ่งนักกีฬาข้ามเพศไม่ได้มีข้อได้เปรียบเหนือนักกีฬาหญิงเสมอไป

คำสั่งบริหารฉบับนี้ได้จุดประเด็นถกเถียงในสังคมอเมริกันอีกครั้ง ระหว่างฝ่ายที่ต้องการรักษาความเท่าเทียมในกีฬาสตรี กับฝ่ายที่เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศและความหลากหลายในวงการกีฬา

ผุดประท้วงใหญ่ทั่วประเทศสกัด 'Project 2025' นโยบายสุดโต่งของทรัมป์ โวยสร้างสังคมขวาจัด

(6 ก.พ.68) สำนักข่าวเอพีรายงานว่า การเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังขยายวงกว้างทั้งในสหรัฐฯ และบนโลกออนไลน์ โดยเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนมากได้ออกมาชุมนุมประท้วงในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อ 'Project 2025' แผนการที่ถูกมองว่าส่งเสริมแนวคิดขวาจัดและคุกคามหลักการประชาธิปไตย

การประท้วงครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แฮชแท็ก #buildtheresistance และ #50501 ซึ่งสะท้อนถึงเป้าหมายในการชุมนุม 50 จุด ใน 50 รัฐ ภายในวันเดียว โดยส่วนใหญ่จัดขึ้นที่ศาลากลางของแต่ละรัฐ และบางจุดขยายไปถึงเมืองใหญ่ ๆ ทั่วประเทศ

ผู้ประท้วงได้ใช้ช่องทางออนไลน์อย่างกว้างขวาง ทั้งเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย พร้อมทั้งแจกจ่ายใบปลิวดิจิทัลที่เน้นย้ำถึงความเสี่ยงของ Project 2025 ซึ่งถูกวิเคราะห์ว่าเป็นแนวทางปฏิบัติที่อาจนำไปสู่การรวมอำนาจและทำลายหลักการพื้นฐานของสังคมอเมริกัน ข้อความสำคัญในการประท้วงรวมถึง 'หยุดยั้งลัทธิฟาสซิสต์' และ 'รักษาประชาธิปไตยให้คงอยู่'

นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ทรัมป์ได้ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารหลายฉบับที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ตั้งแต่เรื่องการค้า การย้ายถิ่นฐาน ไปจนถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้พรรคเดโมแครตและกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยออกมาคัดค้านอย่างแข็งขัน

ก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่วัน ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ประชาชนหลายพันคนในแคลิฟอร์เนียตอนใต้ก็ได้ออกมาเดินขบวนต่อต้านนโยบายการเนรเทศผู้อพยพของทรัมป์ โดยเฉพาะในลอสแอนเจลิส ซึ่งการชุมนุมครั้งนั้นส่งผลให้ทางด่วนสายหลักต้องปิดทำการเป็นเวลาหลายชั่วโมง

การประท้วงครั้งล่าสุดนี้แสดงให้เห็นถึงความกังวลของชาวอเมริกันจำนวนมากที่มองว่า Project 2025 อาจเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และเป็นภัยคุกคามต่อระบบประชาธิปไตยของสหรัฐฯ

ทรัมป์สั่งอายัดทรัพย์-แบนวีซ่าเจ้าหน้าที่ ICC ตอบโต้สหรัฐและอิสราเอลถูกสอบสวน

(7 ก.พ.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) โดยกล่าวหาว่าศาลดำเนินการอย่างไม่ชอบธรรมและไร้มูลความจริงต่อสหรัฐและอิสราเอล

ตามรายงานของบีบีซี (BBC) และเอพี (AP) ทรัมป์ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารที่กำหนดมาตรการคว่ำบาตร ICC ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกรุงเฮก โดยให้เหตุผลว่าศาลได้ดำเนินการสอบสวนอิสราเอลและสหรัฐโดยไม่มีความชอบธรรม คำสั่งดังกล่าวลงนามเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ตามเวลาท้องถิ่น

คำสั่งของทรัมป์ระบุว่า "ศาลอาญาระหว่างประเทศดำเนินการอย่างมิชอบและปราศจากมูลความจริง โดยมุ่งเป้าไปที่สหรัฐและอิสราเอล ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของเรา" นอกจากนี้ ทรัมป์ยังวิพากษ์วิจารณ์ ICC ว่าใช้อำนาจโดยมิชอบในการออกหมายจับต่อเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล และโยอาฟ กัลแลนต์ อดีตรัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล

คำสั่งดังกล่าวยังเน้นว่า 'ICC ไม่มีอำนาจเหนือสหรัฐหรืออิสราเอล' และระบุว่ามาตรการคว่ำบาตรจะรวมถึงการจำกัดการทำธุรกรรมทางการเงินและการออกวีซ่าให้กับเจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ ICC ซึ่งมีส่วนช่วยในการสอบสวนพลเมืองของสหรัฐและชาติพันธมิตร

การแซงก์ชั่นอาจรวมถึงการอายัดทรัพย์สินและการห้ามเจ้าหน้าที่ของ ICC และครอบครัวของพวกเขาเข้าประเทศสหรัฐ คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในช่วงเวลาที่เนทันยาฮูเดินทางเยือนสหรัฐเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์

การตอบโต้ของสหรัฐเกิดขึ้นหลังจาก ICC ออกหมายจับเนทันยาฮูเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน ในข้อกล่าวหาการก่ออาชญากรรมสงครามในฉนวนกาซา ซึ่งเนทันยาฮูปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด นอกจากนี้ ICC ยังออกหมายจับต่อผู้บัญชาการของกลุ่มฮามาสด้วย

ทำเนียบขาวกล่าวหาว่า ICC กำลังสร้างมาตรฐานที่เป็นอันตราย โดยทำให้สหรัฐและเจ้าหน้าที่ของตนตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงจากการคุกคาม การล่วงละเมิด และการจับกุมอย่างไม่เป็นธรรม

“การกระทำของ ICC เป็นภัยคุกคามต่ออธิปไตยของสหรัฐ และเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงแห่งชาติของเรา รวมถึงนโยบายต่างประเทศที่สำคัญของสหรัฐและพันธมิตร เช่น อิสราเอล” คำสั่งดังกล่าวระบุ

นอกจากนี้ ทำเนียบขาวยังกล่าวหา ICC ว่าจำกัดสิทธิในการป้องกันตนเองของอิสราเอล ขณะเดียวกันก็มองข้ามบทบาทของอิหร่านและกลุ่มต่อต้านอิสราเอลในความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

ทั้งนี้ สหรัฐไม่ใช่สมาชิกของ ICC และปฏิเสธอำนาจศาลของ ICC มาโดยตลอด ก่อนหน้านี้ในสมัยแรกของทรัมป์ รัฐบาลสหรัฐเคยใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อเจ้าหน้าที่ของ ICC ที่กำลังสืบสวนกรณีที่กองทัพสหรัฐอาจก่ออาชญากรรมสงครามในอัฟกานิสถาน อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวถูกยกเลิกไปในยุครัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน

เปิดโปงความเชื่อมโยง!! ‘USAID – CIA - UNHCR’ ปฏิบัติการลับ!! แทรกแซงทางการเมือง ในต่างประเทศ

หนังสือพิมพ์ The Express Tribune ได้เผยแพร่บทความเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2025 ซึ่งเขียนโดย อิมเตียซ กุล หัวหน้าศูนย์วิจัยด้านความมั่นคงแห่งอิสลามาบัด โดยบทความดังกล่าวตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง USAID (องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ), CIA (หน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐฯ) และ UNHCR (สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ) โดยระบุว่าองค์กรเหล่านี้อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือแฝงสำหรับปฏิบัติการข่าวกรองและแทรกแซงทางการเมืองในต่างประเทศ

ข้อกล่าวหาต่อ USAID และ CIA

ตามรายงานของ The Express Tribune บทบาทของ USAID ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่ยังเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญของ CIA ในการดำเนินปฏิบัติการลับ โดยอ้างถึง ไมค์ เบนซ์ อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่เปิดเผยว่า USAID ใช้งบประมาณกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี และบางส่วนถูกนำไปใช้ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับข่าวกรอง

บทความยังยกตัวอย่างกรณีของ โครงการ Population Profiling Vulnerability and Response (PPVR) ที่ได้รับเงินทุนจาก USAID ผ่านองค์กร BEFARe ในปากีสถาน ซึ่งเริ่มต้นในปี 2009 เพื่อสำรวจประชากรอัฟกันในพื้นที่ชายแดน แต่ภายหลังถูกปรับเปลี่ยนเป็น โครงการ PPV ในปี 2011 โดยขยายขอบเขตการเก็บข้อมูลไปยังพื้นที่สำคัญ เช่น อับบอตตาบัด ชิตรัล และสวัต ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ โอซามา บิน ลาเดน ถูกลอบสังหารในปีเดียวกัน

มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่สำรวจได้ เก็บพิกัด GPS ของประชากรในพื้นที่ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และทำให้เกิดข้อสงสัยว่าโครงการนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการข่าวกรองของ CIA โดยบทความตั้งข้อสังเกตว่า ข้อมูลที่ถูกเก็บรวบรวมโดย UNHCR ในโครงการนี้ ไม่ได้ถูกแบ่งปันให้กับรัฐบาลปากีสถานอย่างโปร่งใส

UNHCR กับบทบาทที่ถูกตั้งคำถาม

The Express Tribune ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับบทบาทของ UNHCR โดยระบุว่าองค์กรนี้ได้รับงบประมาณจำนวนมากจาก USAID และอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับ การเก็บรวบรวมข้อมูลประชากรในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยข่าวกรอง ตัวอย่างเช่น ในกรณีของปากีสถาน UNHCR ได้ดำเนินโครงการร่วมกับ BEFARe เพื่อสำรวจประชากร แต่ข้อมูลบางส่วนกลับ ถูกปิดกั้นจากรัฐบาลปากีสถาน ขณะที่ CIA อาจเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ บทความยังยกตัวอย่างกรณีของ โครงการฉีดวัคซีนปลอมของ Dr. Shakeel Afridi ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นปฏิบัติการของ CIA ซึ่งใช้เครือข่ายด้านสาธารณสุขในการ รวบรวมข้อมูล DNA ของประชากรในพื้นที่ชนเผ่า (FATA) เพื่อติดตามเครือข่ายของโอซามา บิน ลาเดน โดยกรณีนี้สร้างความไม่ไว้วางใจต่อองค์กรช่วยเหลือต่างชาติในปากีสถาน

บทบาทของทรัมป์และอีลอน มัสก์ในการเปิดโปงเครือข่ายนี้

The Express Tribune รายงานว่า โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ อีลอน มัสก์ ซีอีโอของ SpaceX และ X (Twitter) ได้มีบทบาทสำคัญในการเปิดโปงความสัมพันธ์ระหว่าง USAID และ CIA โดยเฉพาะการแฉว่า USAID ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนปฏิบัติการข่าวกรองและการแทรกแซงการเมือง

ล่าสุด มีรายงานว่า โครงการของ USAID หลายโครงการถูกยุติ หรือถูกลดงบประมาณอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงการระงับเงินทุนของสื่อบางสำนัก เช่น BBC, Reuters และ Politico ที่เคยได้รับเงินสนับสนุนจาก USAID

บทสรุปของรายงาน 

บทความของ The Express Tribune ชี้ให้เห็นว่า

1. USAID อาจมีบทบาทมากกว่าการเป็นองค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของ CIA

2. UNHCR อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยข่าวกรอง โดยเฉพาะในประเทศเป้าหมายที่สหรัฐฯ มีผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์

3. CIA ใช้โครงการช่วยเหลือเป็นฉากบังหน้าในการดำเนินปฏิบัติการลับ ซึ่งรวมถึงการเก็บข้อมูลประชากร การแทรกแซงทางการเมือง และการติดตามบุคคลเป้าหมาย

4. โดนัลด์ ทรัมป์ และอีลอน มัสก์ เป็นบุคคลสำคัญที่เปิดโปงความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรเหล่านี้ นำไปสู่การลดบทบาทของ USAID ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ

ข้อกล่าวหาเหล่านี้ทำให้เกิดคำถามสำคัญว่า องค์กรที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลอย่าง USAID และ UNHCR เป็นเพียงองค์กรด้านมนุษยธรรมหรือเป็นเครื่องมือทางการเมืองของสหรัฐฯ กันแน่?

ทรัมป์สั่งโรงกษาปณ์หยุดผลิตเหรียญ 1 เซนต์ เชื่อประหยัดงบ ตามคำแนะนำอีลอน มัสก์

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังสหรัฐหยุดการผลิตเหรียญ 'เพนนี' หรือเหรียญ 1 เซนต์ หลังจากมีการชี้แจงว่าค่าใช้จ่ายในการผลิตเหรียญดังกล่าวสูงกว่ามูลค่าของมันเอง  

ตามรายงานจากกรุงวอชิงตันเมื่อวันที่ (10 ก.พ.68) ทรัมป์ได้โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย 'ทรูธ โซเชียล' โดยระบุว่า การผลิตเหรียญกษาปณ์ของสหรัฐในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีต้นทุนเกินกว่า 2 เซนต์ต่อเหรียญ ซึ่งถือเป็นการสูญเสียทรัพยากรอย่างมาก  

ในคำสั่งของทรัมป์ เขาได้กำหนดให้กระทรวงการคลังสหรัฐหยุดผลิตเหรียญเพนนีใหม่เป็นการชั่วคราว เพื่อประหยัดงบประมาณให้กับรัฐบาล

การตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่สำนักงานประสิทธิภาพรัฐบาล (ดอจ) ภายใต้การนำของนายอีลอน มัสก์ ได้ยกประเด็นนี้ขึ้นมาในเดือนมกราคมที่ผ่านมา  

การลดต้นทุนการผลิตเหรียญในสหรัฐเป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงกันมานานและเคยมีการนำเสนอร่างกฎหมายหลายฉบับในสภาคองเกรส แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีกฎหมายใดที่ได้รับการอนุมัติจากสภา

ทรัมป์สั่งขึ้นภาษีนำเข้าเหล็ก 25% กระทบทุกประเทศ มีผลบังคับใช้ 4 มี.ค. จ่อดันต้นทุนสินค้าสหรัฐแพงขึ้น

(11 ก.พ. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากทั่วโลกเป็น 25% โดยไม่มีข้อยกเว้นสำหรับประเทศใด ซึ่งมาตรการนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง

ทำเนียบขาวระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับภาคอุตสาหกรรมเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ ซึ่งเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากการนำเข้า อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า มาตรการนี้อาจจุดชนวนให้เกิดข้อพิพาททางการค้ากับนานาประเทศ โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียมรายใหญ่ของโลก

แม้ว่าสหรัฐฯ จะยังต้องนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมในปริมาณมากจากประเทศอย่างแคนาดา เม็กซิโก และบราซิล แต่มาตรการนี้จะทำให้การนำเข้าสินค้าดังกล่าวมีต้นทุนที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ ในอดีต สหรัฐฯ เคยกำหนดภาษีนำเข้าเหล็กจากจีนในอัตราเพิ่มเติม 25% และภาษีอะลูมิเนียม 10% ตั้งแต่สมัยแรกที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่ง และอัตราภาษีดังกล่าวยังคงมีผลต่อเนื่องในยุคประธานาธิบดีโจ ไบเดน นั่นหมายความว่า การนำเข้าเหล็กจากจีนในปัจจุบันต้องเผชิญภาษีรวมไม่ต่ำกว่า 50% และไม่น้อยกว่า 25% สำหรับอะลูมิเนียม

แม้ว่ามาตรการภาษีจะมุ่งเป้าไปที่จีน แต่ในความเป็นจริง จีนไม่ได้ส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียมมายังสหรัฐฯ โดยตรงเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่มักถูกส่งไปแปรรูปในประเทศที่สามก่อนเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ

แน่นอนว่าการขึ้นภาษีจะส่งผลให้ราคาเหล็กและอะลูมิเนียมในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น อาจกระทบต่อผู้ผลิตที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบเหล่านี้ ขณะที่ผู้บริโภคปลายทางอาจต้องแบกรับราคาสินค้าที่แพงขึ้นตามไปด้วย

แม้ว่ามาตรการนี้จะถูกบังคับใช้กับทุกประเทศ แต่ทรัมป์ได้ส่งสัญญาณว่า อาจพิจารณายกเว้นภาษีให้กับออสเตรเลียเป็นกรณีพิเศษ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจดังกล่าวอาจสร้างความไม่พอใจให้กับประเทศอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบ

ทรัมป์ยังเปิดเผยว่า เขากำลังพิจารณาปรับขึ้นภาษีนำเข้ายานยนต์ ยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงชิปคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจขยายวงกว้างของความตึงเครียดทางการค้ากับพันธมิตรหลายประเทศ เมื่อนักข่าวถามถึงความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ อาจเผชิญมาตรการตอบโต้จากนานาประเทศ ทรัมป์ตอบสั้น ๆ ว่า “ผมไม่สนใจ”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top