สหรัฐฯ เตือนข้าราชการแข็งข้อ 'อีลอน มัสก์' ผิดกฎหมาย ทำเนียบขาวชี้เป็นตำแหน่ง'ลูกจ้างพิเศษ' ไร้เงินเดือน

(4 ก.พ. 68) อัยการของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า ได้มอบหมายให้เอฟบีไอกำลังสอบสวนแบบกำหนดเป้าหมาย ของเจ้าหน้าที่รัฐส่วนหนึ่งที่มีความพยายามในการขัดขวางการทำงาของนายอีลอน มัสก์ ฐานะที่เขาเป็นหัวหน้าหน่วยงานลดขนาดและเพิ่มประสิทธิภาพรัฐบาล (DOGE) 

สำหรับ DOGE ถูกตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายที่จะลดจำนวนเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลาง และลดการใช้จ่ายของรัฐบาลหลายพันล้านดอลลาร์ แต่ผู้วิจารณ์กล่าวว่า DOGE ถูกใช้เพื่อกำหนดเป้าหมายหน่วยงานและโครงการของรัฐบาลที่มองว่าไม่สอดคล้องกับวาระ "อเมริกาต้องมาก่อน" ของทรัมป์

มีรายงานว่านับตั้งแต่ที่ทรัมป์เข้ามาดำรงตำแหน่งสมัยสองพร้อมกับการตั้งให้อีลอน มัสก์ ทำงานในฐานะกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล หรือ DOGE  พบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐหลายส่วนพยายามขัดขวางการทำงานของผู้ช่วยของมัสก์ ในการเข้าถึงข้อมูลลับจำนวนมากโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างเหมาะสม

นายเอ็ดเวิร์ด มาร์ติน รักษาการอัยการสหรัฐฯ ประจำกรุงวอชิงตัน ดีซี เป็นหลักฐานแรกที่แสดงให้เห็นว่า การต่อต้านความพยายามของมัสก์อาจนำไปสู่ผลทางกฎหมาย มาร์ตินกล่าวในแถลงการณ์ว่า "การตรวจสอบเบื้องต้นของหลักฐานที่นำเสนอต่อเรา บ่งชี้ว่าบุคคลและ/หรือกลุ่มบุคคลบางกลุ่มได้กระทำการที่ดูเหมือนจะละเมิดกฎหมายในการกำหนดเป้าหมายเจ้าหน้าที่ของ DOGE" มาร์ตินกล่าวว่า เอฟบีไอและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ กำลังเตรียม "ดำเนินการในทันที"

แถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่มาร์ตินเปิดเผยจดหมายที่เขาเขียนถึงมัสก์ เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใดก็ตามที่พยายามคุกคามหรือขัดขวางผู้ที่ทำงานร่วมกับมัสก์ โดยมัสก์โพสต์ข้อความขอบคุณเพื่อตอบกลับข้อความของมาร์ติน

ก่อนหน้านี้รัฐบาลทรัมป์ได้ปลดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยระดับสูง 2 คน จากสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ หรือ USAID ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของมัสก์ หลังจากที่พวกเขาพยายามขัดขวางไม่ให้ตัวแทนของ DOGE เข้าถึงพื้นที่ต้องห้ามของอาคาร จนเกิดการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานอัยการสหรัฐฯ  โดยพบว่ามีเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังระดับสูงคนหนึ่งได้ต่อต้านความพยายามของทีม DOGE ที่จะเข้าถึงระบบการเงินของหน่วยงาน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

ขณะเดียวกันด้านทำเนียบขาว ได้ออกเอกสารยืนยันสถานะการทำงานของนายอีลอน มัสก์ ว่าเขามาช่วยงานประธานาธิบดีทรัมป์ ในฐานะ "ลูกจ้างพิเศษของรัฐบาล" 

การยืนยันในเรื่องนี้ทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นว่า นายอีลอน มัสก์ ซึ่งเป็นซีอีโอพันล้านเจ้าของบริษัทด้านเทคโนโลยีกลายมาเป็นกำลังสำคัญในการทำงานของรัฐบาลทรัมป์ชุดใหม่ ไม่ใช่อาสาสมัครแต่อย่างใด แต่เขาก็ไม่ได้มีสถานะเป็นลูกจ้างพนักงานรัฐแบบเต็มเวลา

ทางด้านกระทรวงยุติธรรมระบุคำนิยามของ ลูกจ้างประจำของรัฐบาลคือ บุคคลใดก็ตามที่ทำงานหรือคาดว่าจะทำงานให้กับรัฐบาลเป็นเวลา 130 วันหรือน้อยกว่าในช่วงระยะเวลา 365 วัน ขณะที่นายอีลอน มัสก์ ไม่ได้รับค่าจ้างในการทำงานแต่อย่างใด แต่เขามีใบรับรองความปลอดภัยระดับความลับขั้นสูงสุด นอกจากนี้ยังมีสำนักงานอยู่ที่ทำเนียบขาว และสามารถเข้าถึงระบบการชำระเงินที่สำคัญของกระทรวงการคลัง ซึ่งส่งเงินออกไปในนามของรัฐบาลกลางทั้งหมดได้

ขณะเดียวกัน เนื่องจากเป็นลูกจ้างพิเศษของรัฐบาล เขาจึงได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายของรัฐบาลกลางว่าด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งห้ามพนักงานของรัฐบาลเข้าร่วมในกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ทางการเงินของตัวเอง กฎหมายดังกล่าวสามารถบังคับใช้ได้ทั้งในทางอาญาและทางแพ่ง แต่สามารถบังคับใช้ได้โดยกระทรวงยุติธรรมเท่านั้น