Saturday, 10 May 2025
DonaldTrump

ทรัมป์จ่อเลิกเอาผิดคนอเมริกันติดสินบนต่างชาติ อ้างช่วยธุรกิจอเมริกันแข่งเวทีโลก

(11 ก.พ.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ว่า เขามีแผนลงนามในคำสั่งบริหารที่กำหนดให้กระทรวงยุติธรรมหยุดการดำเนินคดีต่อชาวอเมริกันที่ถูกกล่าวหาว่าติดสินบนเจ้าหน้าที่ต่างชาติในการขยายธุรกิจในประเทศอื่นๆ โดยคำสั่งนี้มีจุดมุ่งหมายในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และกำหนดให้บังคับใช้กฎหมายต่อต้านการทุจริตในต่างประเทศ (FCPA) ปี 1977 อย่างมีความสมเหตุสมผล

กฎหมาย FCPA ถือว่าเป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรงหากมีการติดสินบนเจ้าหน้าที่ต่างประเทศเพื่อขอรับประโยชน์ทางธุรกิจ รวมถึงการไม่มีกระบวนการบัญชีหรือระบบควบคุมภายในองค์กรที่ถูกต้อง ซึ่งถือเป็นการละเมิดทางอาญาที่สำคัญ

เอกสารที่เผยแพร่โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า คำสั่งบริหารนี้จะให้แพม บอนดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมระงับการบังคับใช้กฎหมาย FCPA จนกว่าจะมีการทบทวนกรอบคำแนะนำการบังคับใช้กฎหมายเพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันของอเมริกา

ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายในการปกป้องบรรดาบริษัทสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมาย FCPA ที่เข้มงวดเกินไป ซึ่งทำให้บริษัทเหล่านี้ไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดต่างประเทศอย่างเท่าเทียมกับคู่แข่งจากประเทศอื่น

คำสั่งนี้ยังอ้างถึงความสำคัญของการมีความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ในแหล่งทรัพยากรสำคัญทั่วโลก เช่น แร่ธาตุ ท่าเรือน้ำลึก และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมความมั่นคงของสหรัฐฯ

ในปี 2024 กระทรวงยุติธรรมและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย FCPA ใน 26 คดี และมีบริษัทอย่างน้อย 31 แห่งที่อยู่ภายใต้การสืบสวนจนถึงช่วงปลายปี

ทรัมป์เปิดปาก!! บอกบางส่วนของยูเครนอาจรวมกับรัสเซีย มอสโกชี้ช่องประชาชนลงประชามติหนุนเข้าร่วม

(11 ก.พ.68) โฆษกของเครมลิน ดมิทรี เปสคอฟ กล่าวเมื่อวันอังคารว่า พื้นที่ส่วนสำคัญของยูเครนต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และเป็นข้อเท็จจริงที่ประวัติศาสตร์ได้ยืนยันแล้ว

คำพูดของโฆษกรัสเซียมีขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวว่า ยูเครนควรรับประกันความปลอดภัยของเงินทุนจากสหรัฐฯ ที่ได้ลงทุนในประเทศนี้ เพราะบางส่วนอาจจะกลายเป็นรัสเซียในอนาคต หรืออาจจะไม่เป็นรัสเซียในวันข้างหน้าก็ย่อมได้

เรื่องดังกล่าวทางด้านโฆษกรัสเซียออกมาแถลงว่า "มันเป็นข้อเท็จจริงที่ส่วนสำคัญของยูเครนต้องการที่จะเป็นรัสเซีย และได้กลายเป็นรัสเซียแล้ว นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริงบนโลกนี้ ด้วยการที่มีการเข้าร่วมในสหพันธรัฐรัสเซียในสี่ภูมิภาคใหม่ ซึ่งประชาชนที่แม้จะต้องเผชิญกับอันตรายมากมายก็ยังยืนเข้าแถวและลงประชามติในการเข้าร่วมสหพันธรัฐรัสเซีย คำพูดดังกล่าวสอดคล้องกับคำพูดของประธานาธิบดีทรัมป์เป็นอย่างมาก"

เปสคอฟยังกล่าวเพิ่มเติมว่า หากมีการลงประชามติ ปรากฏการณ์ใด ๆ อาจเกิดขึ้นได้ด้วยความน่าจะเป็น 50/50

"คุณรู้ไหมว่า ปรากฏการณ์ใด ๆ เกิดขึ้นได้ด้วยความน่าจะเป็น 50% อาจเป็นใช่หรือไม่ใช่ ผมไม่สามารถบอกอะไรได้มากกว่านี้" เปสคอฟกล่าว

‘ทรัมป์’ สั่ง!! ICE ลุยกวาดล้าง ผู้อพยพผิดกฎหมาย รวบ!! เทพีทานตะวัน โจแอน หลิว ได้ที่บอสตัน

(12 ก.พ. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Ethan Hunts’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ....

เมื่อหน่วยงานดูแลผู้อพยพสหรัฐ เอเคเอ ICE ลงมือกวาดล้างผู้อพยพผิดกฎหมายตามคำสั่งทรัมป์ ซึ่งเริ่มดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่สาบานตนเข้ารับตำแหน่ง

นี่คืออีกผลงานหนึ่ง เมื่อ ICE ตรวจสอบพบผู้อพยพผิดกฎหมายชื่อดัง ฉายา “เทพีทานตะวัน“ นางสาวโจแอน หลิว หรือชื่อจีน หลิวเฉียวอัน นักกิจกรรมไต้หวัน หนึ่งในผู้ปลุกระดมมวลชนต่อต้านจีน หรือ การปฏิวัติสีดอกทานตะวัน เมื่อปี 2014

เธอเข้ามาในสหรัฐตั้งแต่ปี 2019 จนวีซ่าหมด ก็ยังไม่กลับประเทศ จนมาถูกรวบตัวที่บอสตัน เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2025 ที่ผ่านมา
นางสาวโจแอน ถูกจับในข้อหาค้ายา และฉ้อโกงเพื่อหาเงินใช้ในกิจกรรมด้านการเมืองของ DPP โดยใช้นามแฝงว่า “โจโจ้” 

ย้อนไปเมื่อครั้งร่วมเคลื่อนไหวกลุ่มต่อต้านจีน นางสาวโจแอน ยังมีคดีติดตัว ในฐานะจัดหา บริการทางเพศ โดยที่ตัวเธอเองก็รับงานในตลาดบน(กลุ่มลูกค้าไฮโซ) อนึ่งผ้าโพกหัวที่เธอใช้ มีข้อความว่า “ประชาธิปไตยไม่สามารถซื้อหรือขายได้!“ (แต่การค้าบริการฯ อนุโลม?)

การประท้วงดอกทานตะวัน ในปี 2014 นั้นมีขึ้นเพื่อต่อต้านพรรค KMT ในขณะนั้นที่จะออกกฎหมายเอื้อทางเศรษฐกิจกับจีน ซึ่งว่าไปแล้วไต้หวันได้เปรียบมากมาย จากการที่การค้าส่วนใหญ่ก็ทำกับจีนอยู่แล้ว

เธอจะถูกส่งตัวกลับไต้หวัน ซึ่งอาจจะไปรับโทษต่อที่บ้านเกิด เพราะยังมีคดีเมาแล้วขับซึ่งมีผู้เสียชีวิต 2 ราย และคดีคุกคามทางเพศเยาวชน

ทรัมป์อ้าแขนต้อนรับรัสเซียคืนสู่ G7 รับขับออกไปคือความผิดพลาด

(14 ก.พ.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี (13 ก.พ.) ว่า เขาอยากเห็นรัสเซียกลับเข้าร่วมกลุ่ม G7 อีกครั้ง โดยมองว่าการขับไล่รัสเซียออกจากกลุ่มในอดีตเป็น 'ความผิดพลาด'

รัสเซียเคยเป็นสมาชิกของ G8 แต่ถูกถอดออกในปี 2014 หลังการผนวกไครเมียของยูเครน ทำให้เหลือเพียง G7 ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ทรัมป์เชื่อว่ารัสเซียสมควรได้รับที่นั่งกลับคืน

"ผมยินดีมากถ้าพวกเขากลับมา" ทรัมป์กล่าวจากทำเนียบขาว "มันไม่ได้เกี่ยวกับว่าจะชอบรัสเซียหรือไม่ แต่มันคือเรื่องของกลุ่ม G8 เราคุยกันเรื่องรัสเซียอยู่ตลอด ถ้าอย่างนั้นทำไมพวกเขาถึงไม่มีที่นั่งที่โต๊ะเจรจาล่ะ?"

ทรัมป์ยังเสริมว่าเขาคิดว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ก็น่าจะอยากกลับมาเช่นกัน ขณะที่แคนาดา ซึ่งเป็นประธาน G7 ปีนี้ ยังไม่ได้ออกความเห็นเกี่ยวกับแนวคิดดังกล่าวของทรัมป์

ทรัมป์สั่งยุบกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ ถามกลับ มีไว้ทำไมหากอันดับการศึกษาตกต่ำ

เมื่อวันที่ (12 ก.พ.68) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่ากระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ นั้นเป็นแหล่งรวมเรื่องหลอกลวงครั้งใหญ่ และต้องการยุบกระทรวงฯ ทันที

ทรัมป์ระบุว่าจากการจัดอันดับระบบการศึกษา 40 ประเทศชั้นนำทั่วโลก สหรัฐฯ ติดอยู่ในอันดับที่ 40 แต่กลับครองอันดับที่ 1 ในแง่ต้นทุนค่าใช้จ่ายสำหรับนักเรียน

ก่อนหน้านี้ทรัมป์อ้างว่าเขาต้องการปิดกระทรวงฯ เพื่อคืนหน้าที่ความรับผิดด้านการศึกษาให้แต่ละรัฐดูแล และเคยเสนอให้ปิดกระทรวงฯ ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการลดขนาดและหน้าที่ของรัฐบาลกลาง

สื่อสหรัฐฯ รายงานว่ากระทรวงฯ มีพนักงานอยู่ 4,245 คน และใช้จ่ายเงิน 2.51 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.49 ล้านล้านบาท) ในปีล่าสุด ซึ่งการปิดกระทรวงฯ ทันทีอาจส่งผลกระทบต่อเงินช่วยเหลือนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมปลายหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงเงินช่วยเหลือค่าเล่าเรียนสำหรับนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย

ช่วงสัปดาห์หลังจากเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ทรัมป์ได้ผลักดันการปฏิรูปครั้งใหญ่ภายในรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงเร่งลดจำนวนพนักงานของรัฐบาลกลางและอนุญาตให้กระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล ที่นำโดยอีลอน มัสก์ เข้าถึงระบบการชำระเงินสำคัญของหลายหน่วยงาน

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังพยายามจะปิดอีกหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) โดยอ้างว่าหน่วยงานเหล่านี้เต็มไปด้วยการฉ้อโกงร้ายแรง ทว่าการปิดสำนักงานฯ และกระทรวงศึกษาธิการนั้นจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากสภากองเกรส

สส.รีพับลิกันดันวันเกิด 'โดนัลด์ ทรัมป์' เป็นวันหยุดราชการ อ้างยิ่งใหญ่เท่า 'จอร์จ วอชิงตัน'

(17 ก.พ. 68) คลอเดีย เทนนีย์ สส.พรรครีพับลิกัน จากรัฐนิวยอร์ก ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติที่ชื่อว่า “Trump’s Birthday and Flag Day Holiday Establishment Act” เพื่อให้วันคล้ายวันเกิดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเกิดวันที่ 14 มิถุนายน 1946 ได้รับการประกาศเป็นวันหยุดราชการถาวร โดยวันที่ 14 มิถุนายนนี้ยังตรงกับวันธงชาติสหรัฐฯ ซึ่งระลึกถึงการรับเอาธงชาติอเมริกันเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 1777 อีกด้วย

ในข่าวแถลงการณ์ เทนนีย์ระบุว่า “ไม่มีประธานาธิบดีสมัยใหม่คนไหนที่มีผลกระทบต่อประเทศเรามากไปกว่าโดนัลด์ ทรัมป์” เธอย้ำว่าในฐานะที่ทรัมป์เป็นทั้งประธานาธิบดีคนที่ 45 และ 47 ของสหรัฐฯ เขาได้แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญในช่วงเวลาที่ประเทศเผชิญกับความวุ่นวายทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาสัญญาสันติภาพอับราฮัมอคคอร์ด หรือการผลักดันมาตรการลดภาษีที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของอเมริกา

นอกจากนี้ เทนนีย์ยังเปรียบเทียบทรัมป์กับจอร์จ วอชิงตัน โดยชี้ให้เห็นว่าทรัมป์ควรได้รับเกียรติให้ร่วมเป็นหนึ่งในผู้ที่มีวันคล้ายวันเกิดได้รับการเฉลิมฉลองในฐานะวันหยุดราชการ โดยที่วันคล้ายวันเกิดของวอชิงตัน ซึ่งรู้จักกันในนาม Presidents’ Day ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน

“ยิ่งไปกว่านั้น ในขณะที่ประเทศของเรากำลังจะฉลองครบรอบ 250 ปี เราควรสร้างวันหยุดราชการใหม่เพื่อยกย่องธงชาติอเมริกันและคุณค่าที่มันเป็นตัวแทน ด้วยการกำหนดวันเกิดทรัมป์และวันธงชาติเป็นวันหยุดราชการ เราจะสามารถจารึกผลงานอันยิ่งใหญ่ของประธานาธิบดีทรัมป์และความสำคัญของธงชาติไว้ในกฎหมายอย่างถาวร” เทนนีย์กล่าวสรุป

อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ถูกปรากฎในรหัส H.R. 1395 บนเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของสภาคองเกรสสหรัฐฯ ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาต่อไป

ทรัมป์แบนสื่อยักษ์ AP พ้นทำเนียบขาว เหตุไม่ยอมเรียก ‘อ่าวอเมริกา’ ในรายงานข่าว

(19 ก.พ.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งจำกัดการเข้าถึงของผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว Associated Press (AP) ในทำเนียบขาวและเครื่องบินประจำตำแหน่ง Air Force One หลัง AP ปฏิเสธที่จะเปลี่ยนการเรียกชื่อ 'อ่าวเม็กซิโก' เป็น 'อ่าวอเมริกา' ตามคำสั่งของทรัมป์

“ถ้ายังไม่เปลี่ยนชื่อ ก็อย่าหวังว่าจะได้ทำข่าว” ทรัมป์กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์ที่คฤหาสน์มาร์-อะ-ลาโก รัฐฟลอริดาเมื่อวานนี้ โดยย้ำว่า AP จะถูกจำกัดพื้นที่รายงานข่าว จนกว่าพวกเขาจะยอมรับว่า 'อ่าวอเมริกา' ควรเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของน่านน้ำดังกล่าว

AP ยืนยันว่าจะยังคงใช้ชื่อเดิมที่มีมานานกว่า 400 ปี และในฐานะองค์กรข่าวระดับโลก จะรายงานเรื่องนี้ตามหลักบรรณาธิการ พร้อมรับทราบชื่อที่ทรัมป์เลือก แต่ไม่ยอมเปลี่ยนการเรียกขานหลัก

การกดดันสื่อครั้งนี้ทำให้สมาคมผู้สื่อข่าวทำเนียบขาวออกมาประท้วงทันที โดยระบุว่าเป็นการคุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชน ขณะที่องค์กรข่าวใหญ่ ๆ เช่น Reuters ยังคงใช้ชื่อ 'อ่าวเม็กซิโก' และจะกล่าวถึงคำสั่งของทรัมป์ในบริบทที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

การแบน AP ออกจากศูนย์กลางอำนาจของสหรัฐฯ ครั้งนี้ อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของศึกสื่อ-การเมือง ที่ร้อนระอุขึ้นทุกวัน

'มัสก์' เล็งแจกเงินชาวอเมริกัน คนละ 1.5 แสนบาท หลัง DOGE ช่วยประหยัดงบแสนล้าน แต่เสี่ยงเงินเฟ้อ-ขัดกฎหมาย

(20 ก.พ. 68) อีลอน มัสก์ ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานด้านประสิทธิภาพรัฐบาล (DOGE) ได้จุดกระแสใหม่บนโซเชียลด้วยการเผยแนวคิดเงินปันผล  DOGE (DOGE Dividend) ซึ่งอาจมาในรูปแบบของเช็คกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 5,000 ดอลลาร์ ให้กับผู้เสียภาษีชาวอเมริกา โดยระบุว่า การมอบเงิน 5,000 ดอลลาร์นี้ เป็นผลพลอยได้จากการที่หน่วยงาน DOGE ของมัสก์สามารถประหยัดงบประมาณประเทศไปได้หลายแสนล้าน

แนวคิดนี้มาจากเจมส์ ฟิช แบ็ค ซีอีโอบริษัทการลงทุนและที่ปรึกษา DOGE ซึ่งเสนอให้จัดสรร 20% ของเงินออมที่คาดว่าจะเกิดจากนโยบาย DOGE ไปมอบเป็นเงินช่วยเหลือแก่ประชาชน โดยฟิชได้อ้างว่าหาก DOGE สามารถประหยัดงบประมาณรัฐบาลได้ถึง $2 ล้านล้าน ก็สามารถจัดสรร 20% หรือราว $400,000 ล้าน เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ 78 ล้านครัวเรือนที่เสียภาษีได้ในอัตรา $5,000 ต่อครัวเรือน

“เราต้องการทำให้ DOGE เป็นเรื่องจริงสำหรับชาวอเมริกันหลายล้านคน พวกเขาสมควรได้รับส่วนแบ่งจากเงินออมที่ DOGE จะช่วยให้เกิดขึ้นภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์” ฟิชแบ็คกล่าว

มัสก์ตอบรับแนวคิดนี้โดยกล่าวว่า เขาจะนำเรื่องนี้ไปหารือกับโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวยังต้องเผชิญกับอุปสรรคสำคัญหลายประการ อาทิ 

การอนุมัติจากสภาคองเกรส การใช้เงินงบประมาณรัฐบาลต้องได้รับการอนุมัติจากฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งอาจมีการคัดค้านจากสมาชิกสภาคองเกรสที่ต้องการนำเงินไปใช้กับโครงการอื่น เช่น การลดหนี้สาธารณะ

นอกจากนั้นหากจ่ายเงินช่วยเหลือ5,000 ดอลลาร์ อาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ  โดยผู้เชี่ยวชาญด้านงบประมาณเตือนว่า การแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในปริมาณมหาศาลอาจทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่พรรครีพับลิกันเคยต่อต้านในช่วงการระบาดของโควิด-19 เพรสตัน แบรชเชอร์ นักวิจัยด้านนโยบายภาษีจาก Heritage Foundation กล่าวว่า “การลดรายจ่ายของรัฐบาลช่วยควบคุมเงินเฟ้อได้ แต่ถ้ารัฐบาลแจกเช็คกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินเฟ้อจะกลับมาอย่างหนัก”

นอกจากนี้ยังอาจติดปัญหาทางกฎหมาย เพราะโครงการ DOGE เองกำลังเผชิญกับการตรวจสอบทางกฎหมาย และผลลัพธ์ของคดีความที่เกี่ยวข้องอาจส่งผลกระทบต่อแนวคิดเงินปันผลนี้

ข้อเสนอนี้เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลทรัมป์กำลังพิจารณานโยบายลดภาษีในหลายรูปแบบ แต่ต้นทุนของมาตรการเหล่านี้อาจสูงถึง $5-11 ล้านล้าน ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นเงินปันผล DOGE อาจต้องแข่งขันกับนโยบายอื่น เช่น การยกเลิกเก็บภาษีเงินได้จากค่าทิปและโอที แม้ว่าการได้รับเช็ค 5,000 ดอลลาร์ จะเป็นที่สนใจของประชาชนจำนวนมาก แต่ก็ยังมีความท้าทายทางกฎหมายและเศรษฐกิจที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ 

ทรัมป์ยกย่องตัวเองเป็น 'กษัตริย์แห่งอเมริกา' หลังยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในนิวยอร์ก

เมื่อวันที่ (19 ก.พ.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้โพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดีย Truth Social ยกย่องตัวเองเป็น 'กษัตริย์' หลังจากการตัดสินใจยกเลิกโครงการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Pricing) ในเมืองนิวยอร์ก โดยทรัมป์เขียนว่า โครงการนี้ “ตายไปแล้ว” และกล่าวว่าแมนฮัตตันและนิวยอร์กปลอดภัย พร้อมลงท้ายข้อความด้วยคำว่า “LONG LIVE THE KING!”

ไม่นานหลังจากทรัมป์โพสต์ลง Truth Social บัญชีโซเชียลมีเดียของทำเนียบขาวในแพลตฟอร์ม X ได้โพสต์ภาพทรัมป์สวมมงกุฎ โดยมีกรอบเส้นสีทองแบบเดียวกับหน้าปกนิตยสารไทม์ พร้อมคำว่า “LONG LIVE THE KING” ที่ทรัมป์ใช้ในการยกย่องตัวเอง ซึ่งทำให้คำนี้กลายเป็นคำที่ได้รับความนิยมและติดเทรนด์ในสหรัฐฯ บางสำนักข่าวได้แสดงความสงสัยต่อการโพสต์ลักษณะนี้จากบัญชีทางการของทำเนียบขาว ซึ่งปกติจะเป็นการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นทางการมากกว่า

สำนักข่าว NBC รายงานว่าโพสต์ดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นสัญญาณที่ทรัมป์กำลังสร้างภาพลักษณ์ตัวเองในฐานะ “กษัตริย์” ซึ่งได้รับคำวิจารณ์อย่างกว้างขวางจากหลายฝ่าย บางคนมองว่าทรัมป์กำลังใช้อำนาจเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด แม้ว่าจะเป็นเพียงการเริ่มต้นของการกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง

ด้านผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก เคธี ฮอเคิล ได้ออกมาคัดค้านโพสต์ดังกล่าว โดยระบุว่า "นิวยอร์กไม่มีผู้ปกครองในลักษณะนั้นมานานกว่า 250 ปี"

นอกจากนี้ ผู้ว่าการรัฐอื่น ๆ ก็ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการกระทำของทรัมป์ เช่น เจ.บี. พริตซ์เกอร์ ผู้ว่าการรัฐอิลลินอยส์ สังกัดเดโมแครต กล่าวว่า "ตามประวัติศาสตร์ของอเมริกา เราไม่มีกษัตริย์ และเราจะไม่ยอมคุกเข่าต่อทรัมป์หรือใครก็ตาม"

อย่างไรก็ตาม หลังทรัมป์โพสต์ดังกล่าว บรรดากลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์กลับให้การสนับสนุนโพสต์และคำพูดของเขาอย่างกว้างขวาง

ทรัมป์เผยแผนตั้ง 'External Revenue’ เก็บภาษีต่างชาติแทนเงินจากคนอเมริกัน

(21 ก.พ.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมยกเลิกกรมสรรพากรของสหรัฐฯ (IRS) และมีแผนจัดตั้ง External Revenue Service (ERS) ซึ่งจะมุ่งเน้นการจัดเก็บรายได้จากภาษีศุลกากรและธุรกรรมจากต่างประเทศ แทนการเก็บภาษีจากประชาชนและธุรกิจภายในประเทศ

โฮเวิร์ด ลัทนิค (Howard Lutnick) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ของทรัมป์ เปิดเผยกับ Fox News ว่า “เป้าหมายของทรัมป์คือการยกเลิก IRS และให้คนนอกเป็นผู้จ่ายภาษีแทน”

รัฐบาลทรัมป์ต้องการให้ ERS ดูแลการจัดเก็บภาษีศุลกากรและกำจัดช่องโหว่ทางภาษี โดยทรัมป์ให้คำมั่นว่าจะสามารถสร้างรายได้ 1 ล้านล้านดอลลาร์ จากมาตรการนี้ พร้อมทั้งมอบหมายให้ "DOGE Task Force" ของอีลอน มัสก์ ค้นหาการทุจริตและความสูญเปล่าในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้อีก 1 ล้านล้านดอลลาร์

ทรัมป์เคยกล่าวถึงแนวคิดนี้ตั้งแต่ต้นปี 2024 แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า IRS จะถูกยกเลิกทั้งหมดหรือเพียงแค่ลดบทบาท

แม้ว่าทรัมป์จะกล่าวว่าภาษีศุลกากรเป็นรายได้จากต่างชาติ แต่นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่าภาษีเหล่านี้มักถูกผลักภาระให้กับบริษัทและผู้บริโภคในสหรัฐฯ เอง 

ตามรายงานของ Axios หน่วยงานที่ดูแลการจัดเก็บภาษีศุลกากรในปัจจุบันคือกรมศุลกากรและป้องกันชายแดนสหรัฐฯ (CBP) ไม่ใช่ IRS ขณะที่ทรัมป์ยังคงยืนยันว่า "Tariff เป็นคำที่ไพเราะที่สุดในพจนานุกรมของผม"

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ทรัมป์เสนอให้เก็บภาษีศุลกากร 25% สำหรับสินค้านำเข้าทั้งหมดจากเม็กซิโกและแคนาดา และ 10% สำหรับสินค้าจากจีน อย่างไรก็ตาม เขายอมระงับมาตรการกับเม็กซิโกและแคนาดาชั่วคราวเพื่อลดแรงกดดันทางเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่าหากมาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ อาจทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้นถึง 272,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี และก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ

ทรัมป์ยังเสนอให้ ERS ดูแลภาษีจาก เรือสำราญต่างชาติ เรือบรรทุกน้ำมัน และผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากต่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ต้องเสียภาษีในสหรัฐฯ โดยลัทนิคยืนยันว่า 'ภาษีเหล่านี้จะถูกเก็บภายใต้รัฐบาลทรัมป์'

ในขณะที่ทรัมป์ผลักดัน ERS เขายังเคยกล่าวถึงแนวคิดการยกเลิกภาษีเงินได้ ซึ่งอาจทำให้ IRS หมดบทบาท อย่างไรก็ตาม IRS ยังเป็นผู้จัดเก็บภาษีเงินเดือน ภาษีประกันสังคม และภาษีมรดก ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาล

แม้ว่าทรัมป์จะมุ่งเปลี่ยนแปลงระบบภาษีให้พึ่งพารายได้จากภายนอก แต่ในทางปฏิบัติ ภาษีศุลกากรยังคงเป็นภาระของภาคเอกชนและประชาชนสหรัฐฯ การปฏิรูปครั้งนี้อาจเผชิญแรงต้านจากภาคธุรกิจและนักเศรษฐศาสตร์ที่มองว่าเป็นนโยบายที่เสี่ยงต่อเศรษฐกิจของประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top