Saturday, 10 May 2025
DonaldTrump

สื่อตะวันตกยอมรับ อเมริกาตามหลัง ผู้นำตัวจริงในสงครามเทคโนโลยี

(18 พ.ย. 67) สถาบันวิจัยระดับโลกอย่าง Australian Politics Policy Institute และสื่อตะวันตกหลายแห่ง เช่น Bloomberg, The Economist และ Voice of America ได้ออกมายอมรับว่า จีนได้ชัยชนะในสงครามเทคโนโลยีและกลายเป็นผู้นำในด้านนี้ไปแล้ว ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสำคัญในระเบียบโลกที่กำลังเกิดขึ้น

สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ถือเป็นชัยชนะของจีนมาแล้วนาน โดยสหรัฐฯ ยังประสบปัญหาการขาดดุลการค้า ขณะที่จีนยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แม้สหรัฐฯ จะพยายามใช้มาตรการปิดกั้น เช่น การเพิ่มภาษีสูงๆ เพื่อปกป้องเศรษฐกิจภายใน แต่สิ่งที่จีนทำสำเร็จคือการคว้าผู้นำในด้านเทคโนโลยีที่สำคัญ

รายงานจาก Australian Politics Policy Institute เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ระบุว่า จีนเป็นผู้นำในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในสาขาที่สำคัญอย่างการป้องกันประเทศ, อวกาศ, พลังงาน, เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีใหม่ๆ มากถึง 57 หมวดหมู่จากทั้งหมด 64 หมวดหมู่ เทียบกับสหรัฐฯ ที่ยังคงนำอยู่ใน 7 สาขา เช่น การประมวลผลภาษาธรรมชาติและควอนตัมคอมพิวติ้ง

The Economist และ Voice of America รายงานว่า จีนตอนนี้ได้แซงสหรัฐฯ ไปแล้วในด้านการวิจัยเทคโนโลยีชี้ขาด ที่สำคัญคืออำนาจในการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่ออนาคตของโลก โดยจีนได้กลายเป็นศูนย์กลางในการกำหนดทิศทางของศตวรรษที่ 21

ในด้านเศรษฐกิจ ขณะนี้จีนใกล้จะแซงสหรัฐฯ ในเรื่องของอำนาจการซื้อ (Purchasing Power Parity) แม้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะยังคงมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่การเติบโตทางเทคโนโลยีและอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์ของจีนทำให้จีนมีศักยภาพในการนำพาโลกเข้าสู่ยุคใหม่

การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่แค่การต่อสู้ทางเศรษฐกิจหรือการค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการท้าทายระเบียบโลกเก่าที่ถูกนำโดยสหรัฐฯ โดยจีนกำลังก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในหลายด้าน โดยเฉพาะในเรื่องของนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สำคัญ

อนาคตของเศรษฐกิจโลกจะถูกกำหนดโดยความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกันหรือการแข่งขันอย่างดุเดือด แต่ที่แน่ๆ คือตอนนี้จีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในสงครามเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 21

บริษัททัวร์หัวใสจัดทริปเอาใจอเมริกัน ใช้ชีวิตกลางทะเลหนีเงารัฐบาลทรัมป์

(18 พ.ย. 67) บริษัทวิลลา วี เรสซิเดนซ์ในรัฐฟลอริดา สหรัฐฯ เปิดตัวโปรแกรมท่องเที่ยวเอาใจชาวอเมริกันที่ไม่พอใจกับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ผ่านมา หลัง ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 และต้องการหลีกหนีจากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วง 4 ปีข้างหน้า โดยโปรแกรมนี้จะพาลูกค้าเดินทางล่องเรือสำราญเป็นเวลา 4 ปี ท่องเที่ยวไปยัง 425 เมืองในกว่า 140 ประเทศ

ราคาค่าทริปเริ่มต้นที่ 160,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.5 ล้านบาท) สำหรับห้องพักเดี่ยวตลอด 4 ปี หรือห้องพักคู่เริ่มต้นที่ 320,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 11 ล้านบาท) รวมบริการอาหาร เครื่องดื่ม ไวไฟ และบริการทางการแพทย์บนเรือ พร้อมทั้งแม่บ้านทำความสะอาดห้องและบริการซักรีด

โปรแกรมท่องเที่ยวมีให้เลือก 4 แบบ ได้แก่ "หนีจากความเป็นจริง" ล่องเรือ 1 ปี, "เลือกตั้งกลางเทอม" เดินทาง 2 ปี, "ที่ใดก็ได้ที่ไม่ใช่บ้าน" ล่องเรือ 3 ปี, และ "ข้ามเวลา 4 ปี" ที่ท่องเที่ยว 4 ปีเต็ม ซึ่งได้รับความสนใจจากลูกค้าชาวอเมริกันอย่างรวดเร็วหลังจากเปิดตัวทริป 

ทัพสหรัฐส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน 3 ลำประจำการในเอเชีย เชื่อรอคำสั่งว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

(25 พ.ย.67) นิเคอิเอเชียรายงานใน ภายในสัปดาห์นี้จะมีเรือบรรทุกเครื่องบินของกองทัพสหรัฐฯ 3 ลำเดินทางถึงฝั่งแปซิฟิกตะวันตก หลังจากไม่ได้ประจำการที่นี่มาหลายเดือน เนื่องจากถูกส่งไปตะวันออกกลาง ท่ามกลางความกังวลว่าอาจเป็นการแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อจีน 

ความคืบหน้าดังกล่าวมีขึ้นในช่วง 50 วันก่อนหน้าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง

รายงานระบุว่า เรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอสจอร์จ วอชิงตัน ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ พร้อมลูกเรือ 2,702 คน มาถึงท่าเรือโยโกซุกะ ในอ่าวโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ท่าเรือที่เป็นที่ตั้งของกองเรือที่ 7 ของสหรัฐ และเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปีที่เรือยูเอสเอสจอร์จ วอชิงตันกลับมายังท่าเรือนี้ นอกจากนี้ เรือยูเอสเอสคาร์ล วินสัน จะเข้าประจำการที่ท่าเรือนี้ในวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้เช่นกัน

อีกลำหนึ่งคือ เรือยูเอสเอสอับราฮัม ลินคอล์น ซึ่งขณะนี้อยู่ในมหาสมุทรอินเดีย กำลังมุ่งหน้าผ่านทะเลจีนใต้ โดยอาจมีกำหนดการแวะที่ฐานทัพบนเกาะโอกินาว่า ก่อนจะเดินทางกลับซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนียต่อไป

นาวาตรีเคที โคนิก (Katie Koenig) โฆษกกองเรือประจำภูมิภาคแปซิฟิกของสหรัฐ กล่าวว่า การประจำการของเรือบรรทุกเครื่องบินนี้จะช่วยให้กองกำลังทางทะเลและกองกำลังร่วมสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว และสหรัฐได้นำเรือที่มีขีดความสามารถสูงที่สุดมาปฏิบัติภารกิจ ซึ่งมีกำลังในการโจมตีและปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

นับตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอสโรนัลด์ เรแกนออกจากท่าโยโกซุกะ สหรัฐไม่ได้มีเรือบรรทุกเครื่องบินประจำการในแปซิฟิกตะวันตกอีก โดยสหรัฐหันไปให้ความสำคัญต่อพื้นที่ในตะวันออกกลางแทนเนื่องจากสถานการณ์ความตึงเครียดในอิสราเอล

เบรนต์ แซดเลอร์ (Brent Sadler) นักวิจัยจากมูลนิธิเฮอริเทจ (Heritage Foundation) กล่าวว่าการเพิ่มกำลังทหารในช่วงนี้ถือเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการทดสอบจากจีน ซึ่งสหรัฐมองว่าจีนเป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่งอย่างชัดเจน อีกทั้งมองว่าการเพิ่มกำลังของสหรัฐในแปซิฟิกนี้เกิดขึ้นเพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากจีนในช่วง 50 วันที่เหลือก่อนการเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์ในวันที่ 20 มกราคม 2025 และอาจทำให้การประจำการในตะวันออกกลางลดลง

ด้านจาค็อบ สโตกส์ (Jacob Stokes) รองผู้อำนวยการโครงการความมั่นคงอินโด-แปซิฟิกที่ศูนย์ความมั่นคงอเมริกันใหม่ (Center for a New American Security) หลังจากนี้เราอาจได้เห็นท่าทีอันแข็งกร้าวจากจีน ด้วยการซ้อมรบบริเวณรอบเกาะไต้หวันหรือบริเวณทะเลจีนใต้ ซึ่งถ้ามีการส่งเรือบรรทุกเครื่องบินไปประจำการเพิ่มขึ้น จะมีทางเลือกที่หลากหลายในการตอบโต้จีนได้มากขึ้น

ทรัมป์เดินหน้าเก็บภาษีจีน 10% ชาติเพื่อนบ้านก็ไม่เว้น เม็กซิโก-แคนาดา เจอเก็บ 25% ในวันแรกที่รับตำแหน่ง

(26 พ.ย. 67) โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโกและแคนาดา 25% และจากจีน 10% ตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง โดยให้เหตุผลเรื่องการอพยพผิดกฎหมายและการค้ายาเสพติดผ่านพรมแดน ทรัมป์โพสต์บน *Truth Social* ว่า “ในวันที่ 20 มกราคม ผมจะลงนามคำสั่งเก็บภาษี 25% สำหรับสินค้าจากเม็กซิโกและแคนาดา และ 10% สำหรับสินค้าจีน เพื่อแก้ปัญหานโยบายพรมแดนเปิดและการค้ายาเสพติด”  

มาตรการนี้ขัดต่อข้อตกลง *USMCA* ซึ่งทรัมป์เองเคยผลักดันในปี 2020 โดยเม็กซิโกและแคนาดาเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ  

นักวิเคราะห์ชี้ว่าภาษีจีนที่ 10% อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะก่อนหน้านี้ทรัมป์เคยขู่เก็บภาษีสูงถึง 60%  

ด้านจีนออกแถลงการณ์เตือนว่า “ไม่มีผู้ชนะในสงครามการค้า” และย้ำความร่วมมือกับสหรัฐในการปราบปรามการค้ายาเสพติด

ทรัมป์เล็งปลดทหาร LGBTQ 15,000 นาย พ้นกองทัพสหรัฐฯ ในวันแรกที่รับตำแหน่ง

(26 พ.ย. 67) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีแผนออกคำสั่งที่จะนำไปสู่การปลดทหารข้ามเพศทั้งหมดออกจากกองทัพสหรัฐฯ  ซึ่งคาดว่าจะมีทหารราว 15,000 นายที่ได้รับผลกระทบ 

รายงานระบุว่า ทรัมป์อาจลงนามในคำสั่งดังกล่าวตั้งแต่วันแรกที่กลับเข้ามาทำงานในทำเนียบขาว โดยระบุถึงเหตุผลว่า กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศจะถูกปลดประจำการด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ 

รายงานยังระบุด้วยว่า การปลดทหารข้ามเพศมีขึ้นท่ามกลางที่กองทัพสหรัฐประสบปัญหาในการสรรหาทหารใหม่เข้าประจำการ โดยในบรรดาทั้ง 6 เหล่าทัพของสหรัฐ มีเพียงนาวิกโยธินเท่านั้นที่มีจำนวนกำลังพลเพียงพอและเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากคำสั่งนี้บังคับใช้จะมีบุคลากรเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ ภายใต้คำสั่งใหม่ของทรัมป์จะไม่อนุญาตให้บุคคลข้ามเพศเข้าร่วมกองทัพด้วย

เปิดประวัติ คีธ เคลล็อกก์ อดีตนายพล ทรัมป์ตั้งเป็นทูตสหรัฐฯ ประจำยูเครนคนใหม่

(28 พ.ย.67) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศว่าเขาได้เสนอชื่อพลเอก คีธ เคลล็อกก์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยประธานาธิบดีและทูตพิเศษประจำยูเครนและรัสเซียคนใหม่ 

"ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เสนอชื่อพลเอกคีธ เคลล็อกก์ (Keith Kellogg) ให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยประธานาธิบดีและทูตพิเศษสำหรับยูเครนและรัสเซีย คีธเป็นผู้นำในอาชีพทหารและธุรกิจที่โดดเด่น รวมถึงรับหน้าที่ด้านความมั่นคงแห่งชาติที่ละเอียดอ่อนในรัฐบาลชุดแรกของผม" ทรัมป์ ระบุว่าแพลตฟอร์ม Truth Social

สำนักข่าวสปุตนิกได้เผยประวัติที่น่าสนใจของนายพลเคลล็อกก์ โดยเขามียศเป็นนายพลสามดาวของกองทัพสหรัฐฯ ที่เกษียณอายุราชการแล้วและได้รับการยกย่องอย่างสูง โดยเขามีประสบการณ์ด้านการทหารและกิจการระหว่างประเทศมากมาย

ก่อนเกษียณเคลล็อกก์ ดำรงตำแหน่งสุดท้ายในปี 2003 คือ ผู้บัญชาการกองบัญชาการ การควบคุม การสื่อสาร และคอมพิวเตอร์ เขายังทำหน้าที่ในตำแหน่งนี้ระหว่างการโจมตีด้วยการก่อการร้ายในวันที่ 11 กันยายนอีกด้วย

ล่าสุด เคลล็อกก์ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติให้กับอดีตรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ และดำรงตำแหน่งอื่น ๆ อีกหลายตำแหน่งในช่วงวาระแรกของทรัมป์

เมื่อเดือนเมษายน เขาร่วมเขียนงานวิจัยที่สนับสนุนการยุติความขัดแย้งในยูเครนด้วยสันติภาพ และเสนอเงื่อนไขในการจัดหาเสบียงทางทหารให้กับยูเครนโดยขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลเคียฟจะเข้าร่วมการเจรจาสันติภาพกับรัสเซียหรือไม่

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลเคียฟสามารถเจรจากับรัสเซียเพื่อเปลี่ยนจากจุดยืนที่แข็งกร้าว และหารือถึง การเก็บภาษีการขายพลังงานของรัสเซียเพื่อจ่ายสำหรับการฟื้นฟูยูเครน

เคลล็อกก์ระบุเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่าการที่ทรัมป์กลับเข้าทำเนียบขาวอาจทำให้สมาชิกนาโต้บางส่วนซึ่งจ่ายด้านการป้องกันประเทศไม่ถึง 2% ของ GDP อาจเสียสิทธิ์ในการคุ้มกันประเทศหากถูกโจมตีตามมาตรา 5 นอกจากนี้ เขายังกล่าวอีกว่า หากทรัมป์ชนะเลือกตั้ง เขาสามารถจัดการประชุมสุดยอดนาโต้ในเดือนมิถุนายน 2025 เพื่อหารือเกี่ยวกับอนาคตของพันธมิตร

ตามคำกล่าวของเคลล็อกก์ นาโต้อาจกลายเป็น 'พันธมิตรแบบแบ่งชั้น' ซึ่งสมาชิกบางส่วนได้รับการคุ้มครองมากขึ้น ตามอัตราการบริจาคเงินที่ให้กับนาโต้

เปิดไอเดีย 'ทรัมป์' ปฏิรูป NATO จ่ายน้อย คุ้มครองน้อย หากชาติพันธมิตรบริจาคเงินไม่ถึง 2% ของ GDP

(28 พ.ย.67) นับตั้งแต่ที่โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังจะกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอีกสมัย ส่งผลให้บรรดาชาติในยุโรปโดยเฉพาะกลุ่มสมาชิกนาโต้ เกิดความกังวลในประเด็นต่าง ๆ ตั้งแต่การบริจาคด้านงบประมาณกลาโหมของแต่ละชาติให้กับนาโต้ ไปจนถึงเรื่องสถานการณ์ในยูเครน 

ตลอดช่วงการหาเสียงทรัมป์ทรัมป์วิพากษ์วิจารณ์พันธมิตรอย่างต่อเนื่องและบ่นว่าสหรัฐฯ จ่ายเงินงบประมาณมากเกินไปในขณะที่สมาชิกสหภาพยุโรปใช้จ่ายด้านกลาโหมน้อยเกินไป ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เขากล่าวว่าสหรัฐฯ จะปกป้องสมาชิกนาโตจากการโจมตีของรัสเซียในอนาคตก็ต่อเมื่อสมาชิกปฏิบัติตามพันธกรณีการใช้จ่ายด้านกลาโหม

ด้านมาร์ก รุตเตอ เลขาธิการ NATO ได้กล่าวแสดงความเห็นด้วยกับแนวคิดของทรัมป์โดยเฉพาะประเด็นการใช้จ่ายงบประมาณด้านกลาโหมให้มากกว่า 2%

ล่าสุดทรัมป์ได้ตั้งพลเอก คีธ เคลล็อกก์ นายพลเกษียณอายุราชการและอดีตหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยประธานาธิบดีและทูตพิเศษประจำยูเครนและรัสเซีย ในรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ที่จะเริ่มขึ้นในปีหน้า ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวจะมีบทบาทโดยตรงกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ในฐานะฝ่ายที่สนับสนุนยูเครน

ก่อนหน้านี้ช่วงเดือนก.พ.ที่ผ่านมา พลเอกเคลล็อกก์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า หากสมาชิกในกลุ่มพันธมิตร 31 ประเทศไม่สามารถบริจาคเงินให้ได้อย่างน้อย 2% ของจีดีพี ประเทศนั้นไม่ควรมีสิทธิ์ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 5 ของนาโต้

มาตรา 5 ของนาโต้ มีข้อกำหนดว่า หากประเทศใดก็ตามในกลุ่มชาติสมาชิกถูกโจมตี จะเท่ากับเป็นการโจมตีชาตินาโต้ทั้งหมด สมาชิกทั้งหมดของนาโต้ต้องตอบโต้ร่วมกัน

"หากคุณต้องการเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตร คุณต้องมีส่วนสนับสนุนพันธมิตร" เคลล็อกก์ กล่าว

เคลล็อกก์ ยังกล่าวอีกว่าหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง เขาจะเสนอให้จัดประชุมสมาชิกนาโต้นัดพิเศษในเดือนมิถุนายน 2025 เพื่อหารือเกี่ยวกับอนาคตของนาโต้ โดยทรัมป์จะเสนอให้รูปแบบสมาชิกของชาตินาโต้เป็นแบบแพ็กเกจ (tiered alliance) โดยสมาชิกบางรายจะได้รับการคุ้มครองมากขึ้นตามความสอดคล้องของมาตรา 5 และตามงบประมาณสนับสนุนด้านกลาโหมที่ไม่น้อยกว่า 2% ของจีดีพีแต่ละชาติ

ทรัมป์แนะทรูโด จบปัญหากำแพงภาษี ด้วยการรวมชาติเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ

(3 ธ.ค. 67) เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ได้เดินทางไปยังมาร์อาลาโก้ สถานที่ตากอากาศของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในรัฐฟลอริด้า โดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าเพื่อหารือเป็นการส่วนตัว

การเยือนครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านั้น โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาขู่ว่าแคนาดาอาจจะโดนกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโก 25% เมื่อกลับเข้าสู่ทำเนียบขาว เพื่อบีบบังคับให้เร่งจัดการกับปัญหายาเสพติดและผู้อพยพที่เข้ามาในสหรัฐ โดยเรื่องนี้ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าสงครามการค้าในภูมิภาคอาจจะเกิดขึ้น นายกทรูโดจึงรีบรุดหารือเป็นการส่วนตัวกับทรัมป์

ในระหว่างการหารือมื้อค่ำของสองผู้นำ นายกแคนาดาได้รับปากว่าจะแก้ปัญเรื่องภาษีศุลกากรแต่ก็อาจมีข้อจำกัดบางประการในประเด็นที่รัฐบาลท้องถิ่นในบางแคว้นของแคนาดาที่มีอาณาเขตติดกับพรมแดนสหรัฐฯ สามารถกำหนดอัตราภาษีศุลกากรได้ด้วยตนเอง 

ทรูโดกล่าวกับทรัมป์ว่า เขาไม่สามารถเรียกเก็บภาษีนำเข้าได้เพราะจะทำลายเศรษฐกิจของแคนาดาอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งเป็นสิทธิ์ของรัฐบาลแคว้นท้องถิ่น ซึ่งทรัมป์ตอบเชิงติดตลกว่า 

"ถ้าแคนาดาไม่สามารถจัดการปัญหาภาษีศุลกากรได้ ประเทศคุณก็คงไม่สามารถเลี่ยงกำแพงภาษีสหรัฐได้ เว้นเสียแต่บางแคว้นของแคนาดาจะเข้าร่วมเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ" อย่างไรก็ตาม สื่อสหรัฐรายงานผลการหารือในมื้อค่ำเป็นเวลา 3 ชั่วโมงของสองผู้นำเป็นไปอย่างราบรื่น

ม.ทั่วสหรัฐเตือน นักศึกษา-บุคลากรต่างชาติ กลับเข้าประเทศก่อนทรัมป์รับตำแหน่ง

นิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานเมื่อ 5 ธ.ค. 2024 ว่า มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาชั้นนำในสหรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ได้ออกประกาศเตือนนักศึกษาและบุคลากรต่างชาติให้หลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกประเทศในช่วงนี้ พร้อมแนะนำให้กลับเข้าสหรัฐก่อนวันที่ 20 มกราคม 2025 ซึ่งเป็นวันเข้ารับตำแหน่งของโดนัลด์ ทรัมป์  

มหาวิทยาลัยเหล่านี้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบการตรวจคนเข้าเมืองและสถานะวีซ่า รวมถึงมาตรการห้ามเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งอาจกระทบต่อบุคลากรและนักศึกษาต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีนและอินเดีย  

ในประกาศของมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ระบุว่า “ภูมิทัศน์ของการย้ายถิ่นฐานมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีชุดใหม่” ขณะที่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ เช่น มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย และมหาวิทยาลัยเวสเลียนในคอนเนตทิคัต ได้ออกคำแนะนำให้นักศึกษาและคณาจารย์ต่างชาติเตรียมตัวสำหรับการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล พร้อมจัดเซสชันให้ข้อมูลและบริการให้คำปรึกษากฎหมายการย้ายถิ่น  

ย้อนกลับไปในปี 2017 ช่วงต้นสมัยแรกของทรัมป์ เขาเคยออกคำสั่งฝ่ายบริหารห้ามพลเมืองจากหลายประเทศ รวมถึงเกาหลีเหนือและเวเนซุเอลา เดินทางเข้าสหรัฐ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อนักศึกษาและนักวิชาการจากประเทศเหล่านี้ แม้คำสั่งดังกล่าวจะถูกศาลสั่งยกเลิกในภายหลัง แต่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์เตือนว่ามาตรการลักษณะเดียวกันอาจกลับมาใช้ได้ในไม่ช้าหลังจากทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง โดยรายชื่อประเทศที่ถูกจำกัดอาจขยายไปถึงอินเดียและจีน  

จากข้อมูลของสถาบันการศึกษานานาชาติ (Institute of International Education: IIE) พบว่ามีนักศึกษาต่างชาติกว่า 1.1 ล้านคนศึกษาอยู่ในสหรัฐในปีการศึกษา 2023 โดยนักศึกษาชาวอินเดียมีจำนวนมากที่สุด แซงหน้าชาวจีนเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี  

เบนจามิน สเทิร์น (Benjamin Stern) ที่ปรึกษาด้านการศึกษาสำหรับนักเรียนชาวอินเดีย ระบุว่า ลูกค้าของเขาหลายคนแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากชัยชนะของทรัมป์ โดยบางคนเริ่มพิจารณาสมัครเรียนในประเทศอื่นแทนสหรัฐเพราะความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ทรัมป์เสนอตั้ง 'เดวิด เปอร์ดู' นั่งทูตมะกันในปักกิ่ง อดีตสว.ผู้หนุนชาติเอเชียเป็นฐานผลิตสินค้านอกจีน

(6 ธ.ค.67) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่แถลงการณ์เสนอชื่อนายเดวิด เปอร์ดู นักธุรกิจและอดีตวุฒิสมาชิกจากรัฐจอร์เจีย ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศจีนคนใหม่ โดยขั้นตอนต่อไปนายเปอร์ดูจะต้องผ่านการพิจารณาคุณสมบัติจากวุฒิสภาเสียก่อน  

“ผมขอประกาศว่า อดีตวุฒิสมาชิกสหรัฐ เดวิด เปอร์ดู ได้ตอบรับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน คนต่อไป ด้วยประสบการณ์กว่า 40 ปีในวงการธุรกิจระหว่างประเทศในฐานะผู้บริหารบริษัท Fortune 500 และการทำหน้าที่ในวุฒิสภาสหรัฐ เขาจึงมีคุณสมบัติโดดเด่นที่จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเราและจีน” ทรัมป์ระบุ

หากวุฒิสภาให้การอนุมัติ เปอร์ดู วัย 74 ปี เขาจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการบริหารและจัดการความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งเป็นสองประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ท่ามกลางสถานการณ์ที่คาดการณ์ว่าจะเกิดความตึงเครียดทางการค้ามากขึ้น เนื่องจากทรัมป์เคยประกาศชัดเจนว่า จะเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตราขั้นต่ำ 10% และอาจสูงถึง 60% ตั้งแต่วันแรกที่กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี  

สำรับประวัติของเปอร์ดู เขามีประสบการณ์เกี่ยวกับการทำธุรกิจในเอเชียเป็นอย่างดี เคยอาศัยอยู่ในฮ่องกงและสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นของเขาแตกต่างจากทรัมป์ในประเด็นสำคัญหนึ่ง คือ เปอร์ดูสนับสนุนการใช้ชาติในเอเชียนอกประเทศจีนเป็นฐานการผลิตสินค้าบางชนิดเพื่อลดต้นทุนด้วยค่าแรงที่ถูกกว่า ในขณะที่ทรัมป์มุ่งเน้นให้สหรัฐผลิตสินค้าเองให้มากที่สุด เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

ทรัมป์ยังระบุเพิ่มเติมว่า ในฐานะสมาชิกพรรครีพับลิกันเพียงคนเดียวที่เคยทำงานในคณะกรรมการด้านการทหารและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสภา เปอร์ดูจะมีบทบาทสำคัญในการดำเนินกลยุทธ์เพื่อรักษาสันติภาพในภูมิภาค และสร้างความสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพกับผู้นำจีน 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top