Saturday, 10 May 2025
DonaldTrump

‘ทรัมป์’ จวกรัฐบาลเดโมแครตอ่อนแอ ไร้ประสิทธิภาพ เปิดชายแดนจนประเทศล้มเหลว ย้ำพบกัน 20 ม.ค. จะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

เมื่อวันที่ (2 ม.ค.68)โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์มทรูธโซเชียล หลังการเกิดเหตุคนร้ายขับรถพุ่งชนใส่ฝูงชนในเมืองนิวออร์ลีน รัฐฐลุยเซียนา โดยว่าที่ผู้นำสหรัฐกล่าวว่า  ประเทศของเราตกอยู่ในหายนะ เป็นที่ขบขันของทั่วโลก นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเปิดชายแดน ด้วยความเป็นผู้นำที่ไม่มีอยู่จริง อ่อนแอ และไร้ประสิทธิภาพ กระทรวงยุติธรรม (DOJ) สำนักงานสอบสวนกลาง (FBI) และอัยการรัฐและท้องถิ่นเดโมแครต ต่างไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตน ไร้สมรรถนะ และทุจริต ใช้เวลาทำงานทั้งหมดไปกับการโจมตีคู่แข่งทางการเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย คือผมเอง แทนที่จะมุ่งปกป้องชาวอเมริกัน จากคนเลวจากทั้งในและนอกประเทศที่ใช้ความรุนแรงและแทรกซึมอยู่ในทุกภาคส่วนของรัฐบาลและชาติของเรา"

ทรัมป์ ระบุอีกว่า "เดโมแครตควรละอายแก่ตนที่ปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นกับประเทศของเรา สำนักข่าวกรองกลาง (CIA) ต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องตอนนี้ ก่อนจะสายไป สหรัฐอเมริกากำลังแหลกสลาย ความปลอดภัย ความมั่นคงแห่งชาติ และประชาธิปไตย กำลังถูกเซาะกร่อนบ่อนทำลายอย่างรุนแรงทั่วทั้งชาติ ความเป็นผู้นำที่เข้มแข็งและทรงพลังเท่านั้นที่จะหยุดยั้งได้ แล้วพบกันวันที่ 20 มกราคม ผมจะทำให้อเมริกากลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง"

คำกล่าวของทรัมป์สะท้อนเสียงวิจารณ์ของชาวอเมริกันบางกลุ่มที่มองว่ากรณีเหตุที่นิวออร์ลีน จุดชนวนข้อถกเถียงขึ้นเกี่ยวกับนโยบายคนเข้าเมืองภายใต้รัฐบาลโจ ไบเดนว่าเป็นต้นเหตุของเรื่องดังกล่าว แม้ว่าจะยังไม่มีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนก็ตาม ทำให้บุคคลสำคัญฝั่งขวาหลายคนรีบเชื่อมโยงโศกนาฏกรรมครั้งนี้เข้ากับนโยบายคนเข้าเมืองของประธานาธิบดีโจ ไบเดน  

ทรัมป์ได้ทีชวนแคนาดาร่วมเป็นรัฐที่ 51 หลังทรูโดลาออกจากนายกฯ

(7 ม.ค. 68) ไม่นานหลังจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ประกาศลาออกจากตำแหน่ง โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้แสดงความคิดเห็นว่า แคนาดาควรเข้ามาเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ หลังจากที่ จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดาประกาศลาออกจากตำแหน่ง

ทรูโดได้ประกาศลาออกในวันจันทร์ที่ 6 มกราคม โดยอ้างถึง "การต่อสู้" ภายในพรรคลิเบอรัลของเขา แต่จะยังคงดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีไปจนกว่าจะมีการเลือกผู้นำพรรคคนใหม่ ซึ่งจะเข้ามาทำหน้าที่ในช่วงเลือกตั้งทั่วไปที่มีกำหนดจัดขึ้นปลายเดือนตุลาคม

"ผู้คนจำนวนมากในแคนาดาต้องการให้ประเทศของพวกเขากลายเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ" ทรัมป์โพสต์ผ่านโซเชียลแพลตฟอร์มของตัวเองในช่วงบ่ายวันจันทร์ "สหรัฐฯ อาจไม่สามารถทนกับการขาดดุลการค้าขนาดใหญ่และการอุดหนุนที่จำเป็นเพื่อให้แคนาดายังคงอยู่ได้อีกต่อไป และจัสติน ทรูโดก็รู้เรื่องนี้ดี"

"หากแคนาดารวมเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ จะไม่มีการเก็บภาษี แคนาดาจะจ่ายภาษีที่ต่ำลง และจะได้รับการปกป้องเต็มรูปแบบจากภัยคุกคามของกองเรือรัสเซียและจีนที่คอยคุกคามพวกเขา" ทรัมป์กล่าว "เมื่อรวมกันแล้วมันจะกลายเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่"

การลาออกของทรูโดเกิดขึ้นท่ามกลางแรงกดดันภายในพรรค ซึ่งส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นผลมาจากการคุกคามของทรัมป์ที่จะเก็บภาษี 25% ต่อสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโก โดยทรัมป์ได้กล่าวหาว่าผู้อพยพ, อาชญากร และพวกค้ายาได้ลักลอบเข้ามาในอเมริกา ขณะเดียวกันก็มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ผ่านการละเมิดสนธิสัญญาการค้าเสรี

นอกจากนี้ มาตรการเก็บภาษีของทรัมป์ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ คริสเตียน ฟรีแลนด์ รองนายกรัฐมนตรีแคนาดาลาออก และส่งผลให้เกิดความตึงเครียดในพรรคลิเบอรัลมากขึ้น

ผู้นำแคนาดาได้พยายามหารือเรื่องนี้กับทรัมป์โดยตรง ถึงขั้นเดินทางไปพบทรัมป์ที่มาร์อาลาโกในช่วงต้นเดือนธันวาคม อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ได้กล่าวติดตลกว่า ทรูโดควรจะเป็น "ผู้การรัฐ" และว่าแคนาดาควรเข้าร่วมเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ

ทรัมป์ยังได้พูดถึงความเป็นไปได้ที่แคนาดาอาจถูกแบ่งเป็นสองรัฐ โดยรัฐหนึ่งจะเป็นรัฐเสรีนิยมและอีกรัฐจะเป็นรัฐอนุรักษนิยม นอกจากนี้ เขายังเคยพูดถึงการซื้อเกาะกรีนแลนด์ที่อยู่ในอาร์กติก ซึ่งเป็นดินแดนปกครองตนเองของเดนมาร์กและตั้งอยู่ใกล้กับชายฝั่งแคนาดา

ถึงแม้ว่าผู้บริหารของออตตาวาจะปฏิเสธข้อเสนอในการรวมชาติตามที่ทรัมป์พูดถึง แต่เควิน โอเลียรี นักลงทุนและดาราดังของแคนาดา ได้กล่าวว่า ราวครึ่งหนึ่งของชาวแคนาดาให้การสนับสนุนแนวคิดนี้

โพสต์ล่าสุดของทรัมป์เกี่ยวกับแคนาดามีขึ้นไม่นานก่อนที่สภาคองเกรสจะรับรองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2024 โดยยืนยันว่าเขาจะสาบานตนเป็นประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า

ทรัมป์ปิ๊งไอเดีย เปลี่ยนชื่อ 'อ่าวเม็กซิโก' เป็น 'อ่าวอเมริกา' เผยฟังไพเราะดี แย้มแผนขยายดินแดนปานามา-กรีนแลนด์

(8 ม.ค.68) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สร้างกระแสฮือฮาอีกครั้งเมื่อวันอังคาร (7 ม.ค.) ด้วยการประกาศแผนเปลี่ยนชื่อ 'อ่าวเม็กซิโก' เป็น 'อ่าวอเมริกา' โดยถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่เขาเสนอเพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ของสหรัฐฯ ก่อนเข้ารับตำแหน่งในปลายเดือนนี้ 

พร้อมกันนั้น ทรัมป์ยังเปิดเผยถึงความเป็นไปได้ในการใช้กำลังทหารหรือมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อครอบครอง 'คลองปานามา' และ 'กรีนแลนด์' ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์การขยายดินแดนที่เขาพยายามผลักดันตั้งแต่ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 5 พ.ย.  

ทรัมป์ยังกล่าวถึงแนวคิดการผนวก 'แคนาดา' ให้กลายเป็นรัฐหนึ่งของสหรัฐฯ พร้อมระบุว่าจะกดดันพันธมิตรในองค์การนาโต (NATO) ให้เพิ่มงบประมาณด้านกลาโหม และย้ำถึงความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนชื่อ 'อ่าวเม็กซิโก'  

แม้ยังมีเวลาอีกสองสัปดาห์ก่อนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ แต่ทรัมป์ได้เริ่มร่างนโยบายต่างประเทศเชิงรุก โดยไม่ได้คำนึงถึงหลักการทางการทูตหรือความกังวลจากประเทศพันธมิตร  

เมื่อถูกถามในงานแถลงข่าวที่รีสอร์ตในฟลอริดา ว่าจะรับประกันได้หรือไม่ว่าจะไม่ใช้กำลังทหารหรือมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อยึดคลองปานามาและกรีนแลนด์ ทรัมป์ตอบว่า  

“ผมรับประกันไม่ได้ แต่สิ่งเหล่านี้จำเป็นต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของเรา”  

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังวิจารณ์การที่สหรัฐฯ ต้องสนับสนุนแคนาดาโดยไม่ได้รับผลตอบแทน พร้อมกล่าวถึงเส้นพรมแดนระหว่างสองประเทศว่าเป็นเพียง 'เส้นที่ใครบางคนขีดขึ้นมา'  

เขายังขู่จะตั้งกำแพงภาษีกับเดนมาร์ก หากเดนมาร์กไม่ยอมขายกรีนแลนด์ให้สหรัฐฯ โดยอ้างว่ากรีนแลนด์มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ ขณะที่ก่อนการแถลงการณ์ ดอน จูเนียร์ บุตรชายของทรัมป์ได้เดินทางเยือนกรีนแลนด์เป็นการส่วนตัว  

ด้านเดนมาร์กแสดงจุดยืนชัดเจน โดยเมตเต เฟรเดอริกเซน นายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก ย้ำว่า 'กรีนแลนด์' ซึ่งเป็นดินแดนปกครองตนเองในราชอาณาจักรเดนมาร์ก ไม่ได้มีไว้ขาย  

“การใช้มาตรการทางการเงินมาต่อสู้กันไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสม เมื่อเรายังเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนที่ใกล้ชิด” เฟรเดอริกเซนกล่าวเพื่อตอบโต้แถลงการณ์ของทรัมป์ในคืนวันอังคารที่ผ่านมา

'ทรัมป์' ส่งลูกชายเยือนกรีนแลนด์ เชื่อหวังฮุบน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติ

(8 ม.ค.68) โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ บุตรชายของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ เดินทางเยือนกรุงนุก เมืองหลวงของกรีนแลนด์ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา หนึ่งวันหลังจากบิดาของเขากล่าวย้ำถึงความสนใจในเกาะกึ่งปกครองตนเองแห่งนี้ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของเดนมาร์ก

รายงานจากสำนักข่าวรอยเตอร์ส ระบุว่า ทรัมป์ จูเนียร์ ใช้เครื่องบินส่วนตัวเดินทางไปยังกรุงนุก โดยใช้เวลาอยู่ในพื้นที่ราว 4-5 ชั่วโมงโดยไม่มีการเข้าพบเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นแต่อย่างใด เกาะแห่งนี้มีประชากรราว 57,000 คน และเป็นจุดหมายที่เขาเผยว่าตั้งใจจะเยี่ยมชมตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา

ทรัมป์ จูเนียร์ โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์ม X พร้อมวิดีโอจากห้องนักบิน ขณะเครื่องบินกำลังลงจอดบนดินแดนที่ถูกปกคลุมด้วยหิมะว่า “กรีนแลนด์กำลังร้อน... แต่หนาวมาก!” เขาเสริมว่า การเดินทางครั้งนี้เป็นการมาเยือนในฐานะนักท่องเที่ยว และพ่อของเขาก็ฝากคำทักทายมายังชาวกรีนแลนด์ด้วย

ความสนใจของทรัมป์ต่อกรีนแลนด์สร้างความฮือฮา เนื่องจากเขาเคยกล่าวไว้ว่า การที่สหรัฐเข้าควบคุมเกาะแห่งนี้เป็นสิ่งที่ “จำเป็นอย่างยิ่ง” พร้อมโพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดียว่า “ทำให้กรีนแลนด์ยิ่งใหญ่อีกครั้ง!” แนวคิดดังกล่าวถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายต่างประเทศที่ไม่ยึดติดกับกรอบทางการทูตแบบดั้งเดิม

ด้านนายกฯ เมตต์ เฟรเดอริกสัน ของเดนมาร์ก ให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นว่า เธอไม่เห็นด้วยกับการต่อสู้กับพันธมิตรใกล้ชิดอย่างสหรัฐ และย้ำว่า “กรีนแลนด์ไม่ได้มีไว้ขาย” 

นายกฯ มิวต์ เอเกเด ของกรีนแลนด์เองก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า อนาคตของกรีนแลนด์ขึ้นอยู่กับชาวกรีนแลนด์ และการแสดงความคิดเห็นจากต่างชาติไม่ควรทำให้ดินแดนแห่งนี้เปลี่ยนทิศทางการพัฒนาของตัวเอง

กรีนแลนด์ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของกองทัพสหรัฐ และยังเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แร่ธาตุ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในปัจจุบันยังคงพึ่งพาการประมงและการสนับสนุนจากเดนมาร์กเป็นหลัก

สมาชิกสภาจากกรีนแลนด์ อาจา เคมนิตซ์ กล่าวชัดเจนว่า เธอไม่ต้องการให้เกาะแห่งนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความทะเยอทะยานทางการเมืองของทรัมป์ พร้อมย้ำถึงความสำคัญของการปกป้องดินแดนนี้จากอิทธิพลภายนอก

การเดินทางของทรัมป์ จูเนียร์ แม้จะถูกระบุว่าเป็นเพียงการเยือนส่วนตัว แต่ก็ยิ่งทำให้กรีนแลนด์กลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกจับตามองอย่างใกล้ชิด ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงในเวทีการเมืองโลก

ผู้นำเม็กซิโกสวนทรัมป์ เสนอเปลี่ยนชื่อ 'อเมริกาเหนือ' เป็น ‘เม็กซิกัน อเมริกา’ ยกประวัติศาสตร์บางรัฐในสหรัฐฯ เคยเป็นของเม็กซิโก

(9 ม.ค.68) ประธานาธิบดีคลอเดีย ไชน์บาว์มแห่งเม็กซิโกออกแถลงการณ์ตอบโต้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยเสนอว่าภูมิภาคอเมริกาเหนือควรกลับไปใช้ชื่อดั้งเดิมว่า 'เม็กซิกัน อเมริกา' หลังทรัมป์แสดงความเห็นอยากเปลี่ยนชื่อ 'อ่าวเม็กซิโก' เป็น 'อ่าวอเมริกา'

การแถลงข่าวดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม โดยไชน์บาว์มย้ำว่า รัฐบาลเม็กซิโกคาดหวังความสัมพันธ์เชิงบวกกับสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์ ซึ่งมีกำหนดเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคมนี้ อย่างไรก็ตาม ไชน์บาว์มใช้โอกาสนี้วิจารณ์แนวคิดของทรัมป์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนชื่อ พร้อมชูแผนที่โบราณจากศตวรรษที่ 17 เพื่อสนับสนุนข้อเสนอของเธอ

ไชน์บาว์มกล่าวว่า 'อ่าวเม็กซิโก' ได้รับการยอมรับในระดับสากลโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) และการเปลี่ยนชื่อดังกล่าวอาจก่อให้เกิดข้อโต้แย้งในวงกว้าง นอกจากนี้ เธอยังระบุว่าภูมิภาคอเมริกาเหนือ รวมถึงบางส่วนของอเมริกากลาง มีชื่อดั้งเดิมว่า 'เม็กซิกัน อเมริกา' ดังนั้น เธอจึงเสนอให้ทุกประเทศในบริเวณนี้กลับมาใช้ชื่อนี้ร่วมกัน เพื่อสะท้อนประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม

แถลงการณ์ของไชน์บาว์มมีขึ้นเพื่อตอบโต้คำพูดของทรัมป์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งทรัมป์กล่าวว่าจะเปลี่ยนชื่ออ่าวเม็กซิโกเป็น 'อ่าวอเมริกา' พร้อมทั้งวิจารณ์เม็กซิโกว่าเป็นประเทศที่ถูกครอบงำโดยขบวนการค้ายาเสพติด ไชน์บาว์มตอบกลับว่า “เม็กซิโกคือประเทศประชาธิปไตยที่ประชาชนมีอำนาจสูงสุด” และปฏิเสธคำกล่าวหาดังกล่าว

ทรัมป์ยังขู่ว่าจะเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโกถึง 25% และขึ้นบัญชีดำแก๊งค้ายาเสพติดในเม็กซิโกให้เป็น 'กลุ่มก่อการร้าย' ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ไชน์บาว์มมองว่าเป็นการบั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และไม่เป็นผลดีต่อทั้งสองฝ่าย

นักวิชาการชี้แผนยึดกรีนแลนด์-คลองปานามา โอกาสทองจีนได้แต้มต่อครองใจนานาชาติ

(9 ม.ค. 68) ว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ดูเหมือนต้องการขยายอิทธิพลของสหรัฐฯ ด้วยการออกมาเผยความต้องกรของตนในการควบคุมกรีนแลนด์ ปานามา และแคนาดา ซึ่งถือเป็นแนวคิดการปรับแผนที่ของซีกโลกตะวันตกแบบใหม่อย่างแท้จริง

ชอว์น นาริน ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเซนต์โธมัสในแคนาดากล่าวกับ Sputnik  

"กรณีของกรีนแลนด์กลาวว่า กรีนแลนด์เป็นความหลงใหลที่แปลกประหลาดของเขาในอดีต ผมคิดว่าสำหรับเขา กรีนแลนด์เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติล้วน ๆ" นารินอธิบาย โดยชี้ว่าความหมกมุ่นนี้อาจเกี่ยวข้องกับการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีนในเรื่องแร่หายากและเส้นทางลอจิสติกส์ที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ 

นารินชี้ว่า แม้สหรัฐจะครอบครองกรีนแลนด์ได้จริง เพื่อหวังควบคุมห่วงโซอุปทาน แต่ก็ไม่สามารถแซงหน้าจีนในด้านนี้ได้ ในฐานะที่จีนเป็นชาติที่ควบคุมห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการแปรรูปทั้งหมด โดยเฉพาะในด้านทรัพยากรธรรมชาติที่ทรัมป์หวังได้จากกรีนแลนด์
 
ขณะที่คลองปานามา ทรัมป์เคยอ้างเหตุผลในการทวงคืนคลองปานามา โดยว่าพื้นที่แห่งนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของจีน ทำให้เก็บค่าผ่านทางอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งชอว์น นาริน กล่าวว่า "ไร้สาระสิ้นดี" นารินตอบโต้ "มันไม่มีความแตกต่างอะไรเลยต่อสหรัฐฯ ว่าจะควบคุมคลองนี้หรือไม่ ไม่มีใครพยายามขัดขวางการเดินเรือของอเมริกาผ่านคลองนี้"  

ขณะที่ประเด็นแคนาดาจากการที่ทรัมป์ต้องการให้แคนาดา กลายเป็นมลรัฐที่ 51 ของสหรัฐ พร้อมกับการขู่เรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม ได้สร้างความกังวลให้ชาวแคนาดา นารินกล่าวว่าคำพูดดังกล่าวเป็นเรื่อง "ไร้สาระ" และเปรียบเสมือนการขู่กรรโชก  

"คุณไม่ต้องการให้คนที่ไม่มีเสถียรภาพและคาดเดาไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจ เพราะมันสร้างความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองในความสัมพันธ์ที่ควรจะเป็นผู้ใหญ่" เขาเน้นย้ำ  

ในขณะที่ทรัมป์มองว่าจีนเป็นคู่แข่งสำคัญระดับโลกของสหรัฐฯ และพยายามโดดเดี่ยวจีน นารินชี้ว่า กลยุทธ์ในการเปลี่ยนแผนที่โลกเหล่านี้อาจผลักดันให้ประเทศอื่น ๆ เข้าใกล้ปักกิ่งมากขึ้น  

"จีนมีความน่าเชื่อถือและคาดการณ์ได้มากกว่าทรัมป์" เขากล่าว "นโยบายของปักกิ่งตรงไปตรงมา จีนละเมิดกฎหมายนานาชาติน้อยกว่าสหรัฐฯ หลีกเลี่ยงการแทรกแซง และใช้วิธีการทางเศรษฐกิจในการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศอื่น ๆ พร้อมเน้นย้ำถึงผลประโยชน์ร่วมกันเสมอ"  

รัสเซียซัดทรัมป์เล็งฮุบกรีนแลนด์ แต่ยังมองเป็นแค่ 'วาทกรรม' ไร้จริงจัง

(10 ม.ค.68) นายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน เผยว่ารัสเซียกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ แสดงความสนใจในเขตปกครองตนเองกรีนแลนด์ของเดนมาร์ก โดยระบุว่าเรื่องนี้ยังคงอยู่ในระดับวาทกรรม แต่รัสเซียย้ำความมุ่งมั่นในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในพื้นที่ พร้อมเรียกร้องให้รับฟังเสียงของชาวกรีนแลนด์  

เปสคอฟยังกล่าวว่า รัสเซียมีบทบาทในภูมิภาคอาร์กติกมาอย่างยาวนาน และยืนยันว่าจะยังคงอยู่ต่อไป  

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีเมตเต เฟรเดอริกเซน ผู้นำเดนมาร์ก ได้เรียกประชุมแกนนำพรรคการเมืองและสมาชิกรัฐสภาจากกรีนแลนด์ เพื่อหารือเกี่ยวกับท่าทีของทรัมป์ แม้มีรายงานการติดต่อไปยังทรัมป์ แต่รัฐบาลเดนมาร์กยืนยันว่าไม่มีการสนทนาโดยตรงระหว่างเฟรเดอริกเซนกับว่าที่ผู้นำสหรัฐ  

ทั้งนี้ สหรัฐมีฐานทัพถาวรในกรีนแลนด์ตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น และทรัมป์เคยแสดงความต้องการครอบครองกรีนแลนด์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2562 แต่ก็ถูกปฏิเสธโดยรัฐบาลเดนมาร์กอย่างชัดเจน

เปิดแผนลับเพนตากอน แม้ทรัมป์พลาดซื้อกรีนแลนด์ แต่เล็งส่งยามฝั่งคุม หวังปิดทางรัสเซียสู่อาร์กติก

(13 ม.ค. 68) การที่โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ สร้างความตะลึงไปทั่วโลกด้วยการป่าวประกาศว่าจะซื้อดินแดนกรีนแลนด์จากเดนมาร์กนั้น หากพิจารณาให้ลึกซึ้ง แนวคิดของทรัมป์แทบไม่ได้ต่างอะไรกับกลยุทธ์ของผู้นำสหรัฐคนก่อนหน้านี้ที่ให้ความสนใจในดินแดนกรีนแลนด์อยู่แล้ว

อิรินา สเตรลนิโควา นักวิเคราะห์ด้านการต่างประเทศจากมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งมอสโก กล่าวกับ Sputnik ตามแนวทางกลยุทธ์อาร์กติกที่เพนตากอนเผยแพร่กลางปี 2024 ระบุถึงบทบาทสำคัญของกรีนแลนด์ในแผนการของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ โดยการออกมาประกาศความสนใจซื้อดินแดนของทรัมป์ต่างเพียงบางจุดจากแผนการของเพนตากอนเพียงเท่านั้น

“กลยุทธ์ใหม่นี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการขยายศักยภาพของสหรัฐฯ สำหรับการดำเนินการในเขตอาร์กติก โดยเฉพาะด้านการสื่อสาร การข่าว การสอดแนม และความร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วน” เธอกล่าว  

สำหรับแผนของทรัมป์นั้น “ถ้าพิจารณาว่าแผนนี้เป็นอะไรที่ใหม่หรือไม่คาดคิด คำตอบคือไม่ นี่เป็นเพียงวิธีการแสดงออกที่มีเอกลักษณ์ในแแบบเฉพาะตัวของทรัมป์เท่านั้น” สเตรลนิโควาอธิบาย  
 
นักเคราะห์จากมอสโกยังกล่าวว่า เหตุผลหลักเนื่องจากกรีนแลนด์เป็นที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับการโจมตีด้วยขีปนาวุธ ซึ่งเป็นไปตามที่ระบุในแผนกลยุทธ์แอตแลนติกเหนือที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐเผยแพร่เมื่อช่วงกลางปี 2024 โดยเพนตากอนมีแผนจะปรับปรุงยกระดับฐานทัพ Thule Air Base อย่างครอบคลุม

อย่างไรก็ตาม รัสเซียรับรู้ถึงแผนของสหรัฐฯ ล่วงหน้าก่อนที่ทรัมป์จะมีบทบาท ซึ่งมอสโกได้เตรียมมาตรการเพื่อจัดการกับความเสี่ยงต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว

สเตรลนิโควาเชื่อว่าทรัมป์ไม่น่าจะประสบความสำเร็จในการซื้อกรีนแลนด์ แต่หากสำเร็จ สิ่งที่รัสเซียต้องกังวลอย่างยิ่งคือการลาดตระเวนของหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ในพื้นที่ใกล้เคียงกรีนแลนด์ซึ่งจะทวีความถี่บ่อยขึ้น

“การส่งกำลังของสหรัฐฯ เพิ่มเติมในกรีนแลนด์จะลดศักยภาพการปฏิบัติการของกองเรือเหนือของรัสเซีย (Northern Fleet) และทำให้ฐานทัพเรือในเขตอาร์กติกของรัสเซียมีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธ แต่เราพร้อมรับมือ อย่างไรก็ตามที่สำคัญคือ จะไม่มีใครยอมขายกรีนแลนด์” เธอกล่าว  

สเตรลนิโควาชี้ว่า “หากสหรัฐไม่สามารถซื้อกรีนแลนด์ได้สำเร็จ สหรัฐจะใช่วิธีการส่งหน่วยยามฝั่ง (United States Coast Guard) เข้ามาลาดตระเวนในพื้นที่่แทน ซึ่งการกระทำนี้จะเป็นตัวกระตุ้นความตึงเครียดหลัก เพราะจากประสบการณ์และการกระทำของสหรัฐฯ ในทะเลจีนใต้และเอเชียตะวันออก หน่วยยามฝั่งเป็นเครื่องมือกดดันที่ถูกใช้งานบ่อยกว่ากองทัพเรือสหรัฐฯ และมีความก้าวร้าวในการสร้าง ‘พื้นที่สีเทาทางทะเล’ มากกว่า เนื่องจากมีต่อการเผชิญหน้าน้อยกว่า 

หน้าที่หลักของรัสเซียคือป้องกันไม่ให้หน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นความตึงเครียดหลัก เข้าใกล้กรีนแลนด์ 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่าหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ จะมีศักยภาพในการเข้ามาในพื้นที่อาร์กติกได้เมื่อใด เนื่องจากโครงการต่อเรือตัดน้ำแข็งของหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ นั้นประสบปัญหาล่าช้ามาตลอด จึงทำให้หน่วยยามฝั่งฯ ยังไม่มีเรือที่พร้อมจะเข้ามายังพื้นที่ตอนในของกรีนแลนด์ได้

TikTok ปฏิเสธข่าวเล็งขายแอป ให้กับ Elon Musk เพื่อเลี่ยงการถูกแบน

(14 ม.ค. 68) สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างแหล่งข่าวว่า เจ้าหน้าที่จีนพิจารณาขาย TikTok ในสหรัฐฯ ให้กับอีลอน มัสก์ หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงคำสั่งแบนได้

เจ้าหน้าที่จีนกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการขายธุรกิจ TikTok ในสหรัฐฯ ให้กับอีลอน มัสก์ หากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชื่อดังไม่สามารถหลีกเลี่ยงคำสั่งแบนที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาจากรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ ตามรายงานของ Bloomberg เมื่อวันจันทร์  

แม้ทางการจีนต้องการให้ TikTok ยังคงอยู่ภายใต้การบริหารของ ByteDance Ltd ซึ่งเป็นบริษัทแม่ แต่พวกเขาได้เริ่มหารือเกี่ยวกับแผนสำรองที่รวมถึงการขายกิจการให้กับอีลอน  

ByteDance ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งแบนต่อศาลสูงสุดของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม จากการหารือล่าสุดพบว่าผู้พิพากษามีแนวโน้มที่จะสนับสนุนคำสั่งแบนดังกล่าว  

ความตึงเครียดเกี่ยวกับการแบน TikTok ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ใกล้เข้ารับตำแหน่ง พร้อมกับการประกาศนโยบายที่เข้มงวดต่อจีน  

ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ กำหนดเส้นตายให้ ByteDance จนถึงวันที่ 19 มกราคมนี้ เพื่อขาย TikTok มิฉะนั้นจะเผชิญกับคำสั่งแบนในสหรัฐฯ โดยมีข้ออ้างด้านความมั่นคงแห่งชาติ  

TikTok มีผู้ใช้งานในสหรัฐฯ ประมาณ 170 ล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรประเทศ ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติได้แสดงความกังวลว่า TikTok อาจเก็บข้อมูลของผู้ใช้ชาวอเมริกันและเป็นภัยต่อความมั่นคง สภาคองเกรสจึงลงมติสนับสนุนคำสั่งแบนนี้ในปีที่ผ่านมา  

หาก TikTok ถูกแบน อาจส่งผลดีต่อแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของสหรัฐฯ เช่น Instagram ของ Meta Platforms และ YouTube ของ Alphabet Inc ที่ต่างเปิดตัวฟีเจอร์วิดีโอสั้นเพื่อตอบรับการแข่งขันจาก TikTok  

การขาย TikTok ให้กับอีลอน มัสก์ อาจช่วยให้แพลตฟอร์มนี้มีแนวทางดำเนินงานที่สอดคล้องกับปรัชญาการบริหารของเขา ซึ่งเคยเปลี่ยนโฉม Twitter ให้กลายเป็น X หลังการเข้าซื้อกิจการในปี 2023

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีรายงานข่าวเกี่ยวกับการพิจารณาขาย TikTok ในสหรัฐฯ ให้กับอีลอน มัสก์ เว็บไซต์ Variety รายงานเพิ่มเติมว่า ตัวแทนของ TikTok ในอเมริกาได้ออกมาแถลงว่า บริษัทไม่สามารถให้ความเห็นต่อ "เรื่องราวที่มโนขึ้นมา" นี้ได้

คำแถลงดังกล่าวสะท้อนถึงท่าทีของ TikTok ที่ยังคงรักษาความเงียบเกี่ยวกับประเด็นที่มีการพูดถึงในวงกว้าง โดยไม่มีการยืนยันหรือปฏิเสธข่าวลือเกี่ยวกับการขายกิจการในครั้งนี้

พีท เฮกเซธ ว่าที่รมว.กลาโหมสหรัฐ ถูกจี้กลางสภา ปมขาดความรู้เรื่องอาเซียน

(16 ม.ค.68) วุฒิสภาสหรัฐได้จัดประชุมพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่เตรียมขึ้นดำรงตำแหน่งในคณะรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ โดยหนึ่งในผู้เข้ารับการพิจารณาคือ พีท เฮกเซธ อดีตทหารผ่านศึกและผู้ประกาศข่าวจากช่อง Fox วัย 44 ปี ซึ่งถูกเสนอชื่อเป็นว่าที่รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ  

ในการประชุม แทมมี ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิกสหรัฐสังกัดพรรคเดโมแครตได้สอบถามถึงความรู้ด้านยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศของเฮกเซธ โดยถามว่าเขาสามารถระบุชื่อประเทศสมาชิกอาเซียนได้หรือไม่ พร้อมอธิบายถึงความสัมพันธ์และข้อตกลงของสหรัฐกับประเทศเหล่านั้น  

เฮกเซธตอบกลับอย่างไม่ตรงคำถาม โดยระบุว่าเขาไม่ทราบจำนวนประเทศในอาเซียน แต่กล่าวถึงพันธมิตรของสหรัฐในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น รวมถึงข้อตกลง AUKUS ระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐ  

คำตอบดังกล่าวทำให้แทมมีสวนกลับทันทีว่า “ทั้งสามประเทศที่คุณกล่าวมาไม่ได้อยู่ในอาเซียน” และยังแนะนำให้เฮกเซธศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับภูมิภาคนี้  "ฉันแนะนำให้คุณทำการบ้านเพิ่มเติม"

รายงานระบุว่า คำถามของแทมมีเกิดขึ้นหลังจากเฮกเซธกล่าวถึงความสำคัญของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จีนกำลังแผ่อิทธิพลอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้ที่มีข้อพิพาทกับประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน อินโดนีเซียเองก็แสดงความกังวลเกี่ยวกับการละเมิดเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยจีน  

ที่ผ่านมาสหรัฐมีพันธมิตรตามสนธิสัญญากับไทยและฟิลิปปินส์ และพยายามเสริมสร้างความสัมพันธ์ในภูมิภาคเพื่อถ่วงดุลอำนาจจีน โดยทำเนียบขาวเน้นย้ำถึงการสร้างภูมิภาคที่ "เปิดกว้าง เจริญรุ่งเรือง ปลอดภัย และยืดหยุ่น"  

ประธานาธิบดีโจ ไบเดนย้ำว่า อาเซียนเป็นหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก โดยนอกจากจีนและสหรัฐ อาเซียนยังมีความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซีย อินเดีย ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป อังกฤษ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมถึงการประชุมอาเซียน+3 และอาเซียน+6 ที่มีผู้นำจากทั่วโลกเข้าร่วม  

นอกจากนี้ อาเซียนยังเป็นศูนย์กลางของข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ลงนามในปี 2563 และถือเป็นกลุ่มการค้าที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top