เปิดแผนลับเพนตากอน แม้ทรัมป์พลาดซื้อกรีนแลนด์ แต่เล็งส่งยามฝั่งคุม หวังปิดทางรัสเซียสู่อาร์กติก
(13 ม.ค. 68) การที่โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ สร้างความตะลึงไปทั่วโลกด้วยการป่าวประกาศว่าจะซื้อดินแดนกรีนแลนด์จากเดนมาร์กนั้น หากพิจารณาให้ลึกซึ้ง แนวคิดของทรัมป์แทบไม่ได้ต่างอะไรกับกลยุทธ์ของผู้นำสหรัฐคนก่อนหน้านี้ที่ให้ความสนใจในดินแดนกรีนแลนด์อยู่แล้ว
อิรินา สเตรลนิโควา นักวิเคราะห์ด้านการต่างประเทศจากมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งมอสโก กล่าวกับ Sputnik ตามแนวทางกลยุทธ์อาร์กติกที่เพนตากอนเผยแพร่กลางปี 2024 ระบุถึงบทบาทสำคัญของกรีนแลนด์ในแผนการของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ โดยการออกมาประกาศความสนใจซื้อดินแดนของทรัมป์ต่างเพียงบางจุดจากแผนการของเพนตากอนเพียงเท่านั้น
“กลยุทธ์ใหม่นี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการขยายศักยภาพของสหรัฐฯ สำหรับการดำเนินการในเขตอาร์กติก โดยเฉพาะด้านการสื่อสาร การข่าว การสอดแนม และความร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วน” เธอกล่าว
สำหรับแผนของทรัมป์นั้น “ถ้าพิจารณาว่าแผนนี้เป็นอะไรที่ใหม่หรือไม่คาดคิด คำตอบคือไม่ นี่เป็นเพียงวิธีการแสดงออกที่มีเอกลักษณ์ในแแบบเฉพาะตัวของทรัมป์เท่านั้น” สเตรลนิโควาอธิบาย
นักเคราะห์จากมอสโกยังกล่าวว่า เหตุผลหลักเนื่องจากกรีนแลนด์เป็นที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับการโจมตีด้วยขีปนาวุธ ซึ่งเป็นไปตามที่ระบุในแผนกลยุทธ์แอตแลนติกเหนือที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐเผยแพร่เมื่อช่วงกลางปี 2024 โดยเพนตากอนมีแผนจะปรับปรุงยกระดับฐานทัพ Thule Air Base อย่างครอบคลุม
อย่างไรก็ตาม รัสเซียรับรู้ถึงแผนของสหรัฐฯ ล่วงหน้าก่อนที่ทรัมป์จะมีบทบาท ซึ่งมอสโกได้เตรียมมาตรการเพื่อจัดการกับความเสี่ยงต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว
สเตรลนิโควาเชื่อว่าทรัมป์ไม่น่าจะประสบความสำเร็จในการซื้อกรีนแลนด์ แต่หากสำเร็จ สิ่งที่รัสเซียต้องกังวลอย่างยิ่งคือการลาดตระเวนของหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ในพื้นที่ใกล้เคียงกรีนแลนด์ซึ่งจะทวีความถี่บ่อยขึ้น
“การส่งกำลังของสหรัฐฯ เพิ่มเติมในกรีนแลนด์จะลดศักยภาพการปฏิบัติการของกองเรือเหนือของรัสเซีย (Northern Fleet) และทำให้ฐานทัพเรือในเขตอาร์กติกของรัสเซียมีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธ แต่เราพร้อมรับมือ อย่างไรก็ตามที่สำคัญคือ จะไม่มีใครยอมขายกรีนแลนด์” เธอกล่าว
สเตรลนิโควาชี้ว่า “หากสหรัฐไม่สามารถซื้อกรีนแลนด์ได้สำเร็จ สหรัฐจะใช่วิธีการส่งหน่วยยามฝั่ง (United States Coast Guard) เข้ามาลาดตระเวนในพื้นที่่แทน ซึ่งการกระทำนี้จะเป็นตัวกระตุ้นความตึงเครียดหลัก เพราะจากประสบการณ์และการกระทำของสหรัฐฯ ในทะเลจีนใต้และเอเชียตะวันออก หน่วยยามฝั่งเป็นเครื่องมือกดดันที่ถูกใช้งานบ่อยกว่ากองทัพเรือสหรัฐฯ และมีความก้าวร้าวในการสร้าง ‘พื้นที่สีเทาทางทะเล’ มากกว่า เนื่องจากมีต่อการเผชิญหน้าน้อยกว่า
หน้าที่หลักของรัสเซียคือป้องกันไม่ให้หน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นความตึงเครียดหลัก เข้าใกล้กรีนแลนด์
อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่าหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ จะมีศักยภาพในการเข้ามาในพื้นที่อาร์กติกได้เมื่อใด เนื่องจากโครงการต่อเรือตัดน้ำแข็งของหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ นั้นประสบปัญหาล่าช้ามาตลอด จึงทำให้หน่วยยามฝั่งฯ ยังไม่มีเรือที่พร้อมจะเข้ามายังพื้นที่ตอนในของกรีนแลนด์ได้