Saturday, 10 May 2025
DonaldTrump

วันแรกที่เข้าทำเนียบขาว ผู้เชี่ยวชาญหวั่นกระทบสาธารณสุขโลก

(23 ธ.ค.67) คณะผู้เชี่ยวชาญทางสาธารณสุขเตือนผลกระทบระดับ 'หายนะ' ต่อสาธารณสุขทั่วโลกหากสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลก (WHO) หลังจากทีมเปลี่ยนผ่านอำนาจของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ กำลังหาทางทำการถอนตัวดังกล่าวในวันแรกของการเข้าทำงานบริหารประเทศ

รายงานระบุว่าสมาชิกทีมเปลี่ยนผ่านอำนาจของทรัมป์ได้แจ้งกับคณะผู้เชี่ยวชาญถึงเจตจำนงจะประกาศการถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลก ณ พิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ในวันที่ 20 ม.ค. 2025 ซึ่งการถอนตัวดังกล่าวจะทำให้องค์การฯ สูญเสียแหล่งเงินทุนขนาดใหญ่ที่สุดและส่งผลกระทบต่อความสามารถรับมือวิกฤตสาธารณสุข

ลอว์เรนซ์ กอสติน ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขประจำศูนย์กฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ชี้ว่าแผนการถอนตัวของสหรัฐฯ จะเป็น 'หายนะ' กับสาธารณสุขทั่วโลก ทำให้องค์การอนามัยโลกเผชิญช่วงเวลายากลำบากในการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข และอาจนำสู่การตัดลดบุคลากรทางวิทยาศาสตร์ครั้งใหญ่

ทรัมป์ปลุกประเด็นเดือด! ฟื้นไอเดียครอบครอง 'กรีนแลนด์' ย้ำเพื่อความมั่นคงโลก

(23 ธ.ค.67) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวผ่านแพลตฟอร์มโซเชียล Truth Social โดยยืนยันถึงการฟื้นแนวคิดการเป็นเจ้าของพื้นที่กรีนแลนด์ ซึ่งทรัมป์มองว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง

"เพื่อความมั่นคงและส่งเสริมเสรีภาพทั่วโลก สหรัฐอเมริกาเห็นว่าการเป็นเจ้าของและควบคุมพื้นที่กรีนแลนด์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง" 

ทรัมป์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า เขาได้เสนอชื่อนาย เคน ฮาวเวอรี อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสวีเดนและนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำเดนมาร์กคนใหม่ โดยทรัมป์เชื่อมั่นว่าฮาวเวอรีจะ "ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมในการเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของสหรัฐฯ"   

ย้อนไปในปี 2019 สื่อหลายแห่งรายงานว่าทรัมป์มีความสนใจที่จะซื้อกรีนแลนด์ ซึ่งต่อมาเขาเองยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่าเป็นความสนใจเชิงยุทธศาสตร์ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกรีนแลนด์ย้ำว่ากรีนแลนด์ไม่ใช่สินค้าที่จะขายได้ ขณะที่รัฐบาลเดนมาร์กแสดงความหวังว่าทรัมป์กำลังพูดเล่น และเรียกแนวคิดการขายกรีนแลนด์ว่า 'ไร้สาระ'

สำหรับกรีนแลนด์ปัจจุบันถือเป็นดินแดนอาณานิคมของเดนมาร์กถึงปี 1953 แม้ว่าจะยังเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรเดนมาร์ก แต่ในปี 2009 กรีนแลนด์ได้รับสิทธิ์ปกครองตนเองและสามารถตัดสินใจเรื่องนโยบายภายในประเทศได้อย่างอิสระ

ย้อนประเด็น 'กรีนแลนด์-ปานามา-แคนาดา' 'ทรัมป์' หมายตาคิดผนวกดินแดน

(24 ธ.ค.67) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังไม่ทันเข้าสาบานตนรับตำแหน่งสมัยสอง ก็ออกมาพูดหลายครั้งถึงประเด็นอธิปไตยในต่างแดนหลายต่อหลายครั้ง ที่แม้ฟังดูเป็นเรื่องติดตลก แต่ทรัมป์ก็ให้เหตุผลที่น่าคิดอยู่ไม่น้อยเลยที่เดียวตามแนวคิด 'อเมริกามาก่อน'  

เริ่มตั้งแต่ประเด็นกับชาติเพื่อนบ้านอย่างแคนาดา โดยทรัมป์ได้กล่าวเมื่อ 3 ธันวาคม ที่ผ่านมา ระหว่างการหารือมื้อค่ำกับ นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ที่มาร์อาลาโก้ บ้านพักตากอากาศของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในรัฐฟลอริด้า 

การเยือนครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านั้น โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาขู่ว่าแคนาดาอาจจะโดนกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโก 25% เมื่อกลับเข้าสู่ทำเนียบขาว เพื่อบีบบังคับให้เร่งจัดการกับปัญหายาเสพติดและผู้อพยพที่เข้ามาในสหรัฐ โดยเรื่องนี้ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าสงครามการค้าในภูมิภาคอาจจะเกิดขึ้น นายกทรูโดจึงรีบรุดหารือเป็นการส่วนตัวกับทรัมป์

ในระหว่างการหารือมื้อค่ำของสองผู้นำ นายกแคนาดาได้รับปากว่าจะแก้ปัญหาเรื่องภาษีศุลกากรแต่ก็อาจมีข้อจำกัดบางประการในประเด็นที่รัฐบาลท้องถิ่นในบางแคว้นของแคนาดาที่มีอาณาเขตติดกับพรมแดนสหรัฐฯ สามารถกำหนดอัตราภาษีศุลกากรได้ด้วยตนเอง

ทรูโดกล่าวกับทรัมป์ว่า เขาไม่สามารถเรียกเก็บภาษีนำเข้าได้เพราะจะทำลายเศรษฐกิจของแคนาดาอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งเป็นสิทธิ์ของรัฐบาลแคว้นท้องถิ่น ซึ่งทรัมป์ตอบเชิงติดตลกว่า

"ถ้าแคนาดาไม่สามารถจัดการปัญหาภาษีศุลกากรได้ ประเทศคุณก็คงไม่สามารถเลี่ยงกำแพงภาษีสหรัฐได้ เว้นเสียแต่บางแคว้นของแคนาดาจะเข้าร่วมเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ"

ต่อมา 20 ธันวาคม ทรัมป์ โพสต์ลงในแพลตฟอร์ม ทรูธ โซเชียล (Truth Social) แซวว่าเป็นความคิดที่ดี หากแคนาดาเข้าเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐอเมริกา และชาวแคนาดาเองก็เห็นด้วยกับไอเดียนี้ ซึ่งโพสต์ดังกล่าวมีใจความว่า "ไม่มีตอบได้ว่าทำไมเราต้องจ่ายเงินช่วยแคนาดาปีละ 100 ล้านล้านดอลลาร์ ไม่สมเหตุสมผล! ชาวแคนาดาอยากให้แคนาดาเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ เพราะคงช่วยประหยัดภาษีไปได้มากและได้ความคุ้มครองทางทหาร ผมคิดว่ามันเป็นไอเดียที่ดี รัฐที่ 51!"

ในประเด็นเรื่องคลองปานามา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้วิจารณ์รัฐบาลปานามาอย่างรุนแรง หลังจากที่เขาขู่ว่าจะยึดคลองปานามาคืน หากปานามาไม่สามารถแก้ไขปัญหาค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นที่เรียกเก็บจากเรือสินค้าของสหรัฐฯ ที่แล่นผ่านคลองดังกล่าว

ทรัมป์ได้โพสต์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ ทรูธ โซเชียล ว่า “กองเรือและการค้าของเราได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ค่าธรรมเนียมที่ปานามาเรียกเก็บนั้นไร้เหตุผลจริง ๆ” พร้อมทั้งระบุว่า การเอาเปรียบสหรัฐฯ “ต้องยุติลงทันที”

ประธานาธิบดียังกล่าวเพิ่มเติมว่า หากปานามาไม่สามารถรับประกันความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และความน่าเชื่อถือของคลองปานามาได้ "สหรัฐฯ จะขอเรียกคืนคลองปานามากลับมาเป็นของเราอย่างเต็มรูปแบบ"

คลองปานามาได้รับการขุดเสร็จสมบูรณ์โดยสหรัฐฯ ในปี 1914 ก่อนที่จะส่งคืนให้กับปานามาภายใต้สนธิสัญญาในปี 1977 ที่ลงนามโดยอดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ และปานามาได้รับการควบคุมคลองนี้อย่างสมบูรณ์ในปี 1999

ในด้านของปานามา ประธานาธิบดีโฮเซ่ ราอูล มูลิโน ได้ตอบโต้ทรัมป์ในวิดีโอว่า “ทุกตารางเมตรของคลองปานามาคือของปานามาและจะเป็นเช่นนั้นต่อไป” ขณะที่ทรัมป์ได้โพสต์ตอบกลับในสื่อสังคมออนไลน์ของเขาว่า “เดี๋ยวได้รู้กัน”

ส่วนเรื่องกรีนแลนด์ ย้อนกลับไปในปี 2019 ที่ดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ สมัยแรก ทรัมป์เคยพูดเรื่องการซื้อกรีนแลนด์จากเดนมาร์ก โดยทรัมป์กลับมาฟื้นประเด็นนี้อีกครั้งหลังจากที่เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้เสนอชื่อนาย เคน ฮาวเวอรี อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสวีเดนและนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำเดนมาร์กคนใหม่ โดยทรัมป์เชื่อมั่นว่าฮาวเวอรีจะ "ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมในการเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของสหรัฐฯ"

โดนัลด์ ทรัมป์  กล่าวผ่านแพลตฟอร์มโซเชียล Truth Social โดยยืนยันถึงการฟื้นแนวคิดการเป็นเจ้าของพื้นที่กรีนแลนด์ ซึ่งทรัมป์มองว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง

"เพื่อความมั่นคงและส่งเสริมเสรีภาพทั่วโลก สหรัฐอเมริกาเห็นว่าการเป็นเจ้าของและควบคุมพื้นที่กรีนแลนด์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง"

ย้อนไปในปี 2019 สื่อหลายแห่งรายงานว่าทรัมป์มีความสนใจที่จะซื้อกรีนแลนด์ ซึ่งต่อมาเขาเองยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่าเป็นความสนใจเชิงยุทธศาสตร์ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกรีนแลนด์ย้ำว่ากรีนแลนด์ไม่ใช่สินค้าที่จะขายได้ ขณะที่รัฐบาลเดนมาร์กแสดงความหวังว่าทรัมป์กำลังพูดเล่น และเรียกแนวคิดการขายกรีนแลนด์ว่า 'ไร้สาระ'

สำหรับกรีนแลนด์ปัจจุบันถือเป็นดินแดนอาณานิคมของเดนมาร์กถึงปี 1953 แม้ว่าจะยังเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรเดนมาร์ก แต่ในปี 2009 กรีนแลนด์ได้รับสิทธิ์ปกครองตนเองและสามารถตัดสินใจเรื่องนโยบายภายในประเทศได้อย่างอิสระ

จากประเด็นทั้งหมด ด้านสตีเฟน ฟาร์นสเวิร์ธ อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์จาก University of Mary Washington ในรัฐเวอร์จิเนีย บอกว่า ทรัมป์ใช้แนวทางอันก้าวร้าวแบบนักธุรกิจในการหยิกแกมหยอกประเทศที่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ และมองว่าทั้งกรณีของแคนาดาและกรีนแลนด์ ทรัมป์เพียงแค่ต้องการเอาชนะ ไม่ว่าจะในเรื่องการค้า พรมแดน หรือในประเด็นอื่น ๆ กับประเทศพันธมิตร

โดนัลด์ ทรัมป์ อาจอนุญาต TikTok ทำธุรกิจในสหรัฐฯ ต่อไปได้

(24 ธ.ค.67) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ เปิดเผยว่าเขาอาจอนุญาตให้ติ๊กต็อก (TikTok) ดำเนินธุรกิจในสหรัฐฯ ต่อไป ขณะเขาเข้าร่วมงานที่จัดโดยเทิร์นนิง พอยต์ ยูเอสเอ (Turning Point USA) องค์กรอนุรักษ์นิยม ในเมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนาของสหรัฐฯ เมื่อวันอาทิตย์ (22 ธ.ค.) ที่ผ่านมา

ทรัมป์กล่าวว่าติ๊กต็อกที่เป็นแอปพลิเคชันแบ่งปันวิดีโอยอดนิยมอาจช่วยให้เข้าถึงกลุ่มผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงบางส่วนที่สำคัญในการเลือกตั้งประธานาธิบดี และแสดงความเป็นไปได้ของการอนุญาตให้ติ๊กต็อกดำเนินงานต่อไป “อีกสักพักหนึ่ง” โดยทรัมป์เสริมว่าเขาได้ดูแผนภูมิที่เผยให้เห็นยอดเข้าชมคลิปวิดีโอหาเสียงของเขาบนติ๊กต็อกด้วย

ก่อนหน้านี้เมื่อวันพุธ (18 ธ.ค.) ศาลสูงสุดสหรัฐฯ เห็นพ้องจะทบทวนคำร้องจากติ๊กต็อกและไบต์แดนซ์ (ByteDance) บริษัทแม่ของติ๊กต็อก เพื่อระงับกฎหมายที่กำหนดการจำหน่ายกิจการของติ๊กต็อกภายในวันที่ 19 ม.ค. 2025 มิเช่นนั้นอาจเผชิญการลงโทษแบน เนื่องด้วยเหตุผลความมั่นคงของชาติ

ศาลสูงสุดสหรัฐฯ จะรับฟังข้อโต้แย้งในวันที่ 10 ม.ค. 2025 เพื่อตัดสินว่ากฎหมายดังกล่าวจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกอันขัดกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ของสหรัฐฯ หรือไม่

ทั้งนี้ ติ๊กต็อกชี้ว่าการลงโทษแบนที่อาจเกิดขึ้นนั้นจะปิดหนึ่งในแพลตฟอร์มที่มีเสรีภาพในการแสดงออกที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของอเมริกาก่อนวันสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์เพียงหนึ่งวัน และปิดปากชาวอเมริกันจำนวนมากที่ใช้ติ๊กต็อกสื่อสารเกี่ยวกับการเมือง การค้า ศิลปะ และประเด็นอื่น ๆ ที่สาธารณชนสนใจ

เมื่อเดือนเมษายน โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกกฎหมายที่ให้เวลากับไบต์แดนซ์เพียง 270 วันในการจำหน่ายกิจการของติ๊กต็อก โดยอ้างอิงเหตุผลความมั่นคงของชาติที่ไม่มีมูลความจริง ซึ่งหากไบต์แดนซ์ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ผู้ให้บริการร้านค้าแอปพลิเคชันอย่างแอปเปิลและกูเกิลต้องถอดติ๊กต็อกออกจากแพลตฟอร์ม

ต่อมาเดือนพฤษภาคม ติ๊กต็อกยื่นฟ้องร้องรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อระงับคำสั่งแบนที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง และเมื่อต้นเดือนธันวาคม ศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ยกฟ้องคำกล่าวอ้างของติ๊กต็อกที่ว่าคำสั่งแบนขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ย้อนรอยการซื้อดินแดนของสหรัฐฯ หลังทรัมป์หวังผนวกกรีนแลนด์

(26 ธ.ค. 67) จากกรณีว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงความสนใจอยากได้กรีนแลนด์มาเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ โดยทรัมป์มีแนวคิดยื่นข้อเสนอซื้อกรีนแลนด์จากเดนมาร์ก ซึ่งแม้จะไม่ชัดเจนว่าเป็นมูลค่าเท่าใด แต่ดูท่าทางเดนมาร์กจะไม่มีวันยอมขายดินแดนกรีนแลนด์ให้สหรัฐอย่างแน่นอน

หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา เคยใช้วิธีการจ่ายเงินเพื่อซื้อดินแดนมาผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐมาแล้วในหลายครั้ง โดยมีเหตุการณ์สำคัญดังนี้

การซื้อดินแดนลุยเซียนา เมื่อปี 1803 ประธานาธิบดีโทมัส เจฟเฟอร์สัน ลงนามข้อตกลงกับฝรั่งเศส ซื้อดินแดนลุยเซียนา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 2.14 ล้านตารางกิโลเมตร ตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปีเริ่มต้นจากอ่าวเม็กซิโกจรดทางใต้ของแคนาดา ด้วยเงินจำนวน 15 ล้านดอลลาร์ในยุคนั้น พร้อมยกหนี้กว่า 3.7 ล้านดอลลาร์ให้ราชสำนักฝรั่งเศส หากคิดเป็นมูลค่าในปัจจุบัน ราคาดินแดนนี้จะสูงถึง 340 พันล้านดอลลาร์

การซื้ออะแลสกา ในปี 1867 สหรัฐฯ เคยซื้อดินแดนอะแลสกาจากจักรวรรดิรัสเซีย ในรัชสมัยของพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ด้วยราคา 7.2 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหากคิดเป็นค่าเงินปัจจุบันจะอยู่ที่กว่า 109 ล้านดอลลาร์ การซื้อครั้งนี้คุ้มค่าอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่สหรัฐขุดพบในห้วงเวลาต่อมา

สนธิสัญญากัวดาลูปอีดัลโก ในปี 1848 หลังสงครามเม็กซิโก-อเมริกา สหรัฐฯ และเม็กซิโกได้ลงนามในสนธิสัญญากัวดาลูปอีดัลโก ซึ่งระบุให้สหรัฐฯ จ่ายเงิน 15 ล้านดอลลาร์แก่เม็กซิโก เพื่อแลกกับการครอบครองดินแดนทางฝั่งตะวันตก เช่น แคลิฟอร์เนีย และรัฐอื่นๆ พร้อมกำหนดให้แม่น้ำริโอแกรนด์เป็นพรมแดนธรรมชาติ 

ขณะการซื้อฟลอริดา หรือที่รู้จักกันในชื่อ สนธิสัญญาอดัมส์–โอนิส (Adams–Onís Treaty) เป็นข้อตกลงที่ลงนามในปี ค.ศ. 1819 ระหว่างสหรัฐอเมริกาและสเปน สนธิสัญญานี้มีความสำคัญในการโอนดินแดนฟลอริดาจากสเปนมายังสหรัฐฯ  โดยสหรัฐจ่ายเงินมูลค่า 5 ล้านดอลลาร์แก่ราชสำนักสเปนเพื่อโอนกรรมสิทธิ์การครอบครองดินแดนฟลอริด้า

ภายใต้สนธิสัญญานี้ สเปนได้ยินยอมสละสิทธิ์ในฟลอริดา พร้อมทั้งปรับปรุงขอบเขตของดินแดนในทวีปอเมริกาเหนือเพื่อแก้ไขข้อพิพาทเรื่องพรมแดนระหว่างสองประเทศ การโอนดินแดนนี้ช่วยเสริมอำนาจและอิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของทวีป ในขณะที่สเปนเลือกที่จะมุ่งเน้นอำนาจไปที่ดินแดนในอเมริกาใต้แทน

แม้ว่าสหรัฐฯ จะมีประวัติศาสตร์การซื้อดินแดนที่สำคัญหลายครั้ง แต่ในกรณีของกรีนแลนด์ ดูเหมือนว่าการเจรจานี้จะไม่ง่าย เพราะเดนมาร์กยังคงยืนกรานไม่ขายดินแดนดังกล่าวให้สหรัฐฯ อย่างชัดเจน

ทรัมป์ลั่นดันกม.ประหารชีวิต เอาผิดนักโทษคดีข่มขืนและฆาตกรโหด

(26 ธ.ค. 67) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐประกาศว่า หลังเข้าสู่ทำเนียบขาว เขาจะมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการตามกฎหมายเพื่อผลักดันโทษประหารชีวิตสำหรับผู้ข่มขืนและฆาตกรที่ใช้ความรุนแรง

“เมื่อผมเข้ารับตำแหน่งในวันที่เข้าพิธีสาบานตน ผมจะสั่งให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการตามกฎหมายอย่างเต็มที่เพื่อผลักดันโทษประหารชีวิตเพื่อปกป้องครอบครัวและเด็กๆ ของชาวอเมริกันจากผู้ข่มขืน, ฆาตกร, และอาชญากรสุดโหด เราจะกลับมาเป็นประเทศที่มีระเบียบและกฎหมายอีกครั้ง!” ทรัมป์ระบุผ่าน Truth Social ตอบโต้หลังมีรายงานว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศอภัยโทษประหารชีวิตต่อฆาตกรที่ทำร้ายเด็กและฆาตรกต่อเนื่องหลายราย

“โจ ไบเดนเพิ่งลดโทษประหารชีวิตให้กับ 37 ฆาตกรที่โหดเหี้ยมที่สุดในประเทศของเรา เมื่อคุณได้ยินการกระทำของแต่ละคน คุณจะไม่เชื่อว่าเขาทำเช่นนี้ มันไม่มีเหตุผลอะไรเลย ญาติและเพื่อนๆ ของพวกเขาถูกทำลายยิ่งกว่าเดิม พวกเขาไม่เชื่อว่าสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้น!” ทรัมป์เขียนในโพสต์โดยวิจารณ์การตัดสินใจของประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 46

ในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2024 ทรัมป์ได้เรียกร้องให้มีโทษประหารชีวิตสำหรับผู้อพยพที่ฆ่าประชาชนชาวอเมริกันหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ เขายังกล่าวว่าโทษประหารชีวิตยังควรถูกใช้ต่อผู้ค้ายาเสพติดเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในสหรัฐด้วย

อย่างไรก็ตาม ในบรรดา 37 นักโทษคดีอุกฉกรรจ์ที่ไบเดน ไม่ได้ลดโทษให้คือ ดโจคาร์ ซาร์นาเอฟ ผู้ก่อเหตุระเบิดในงานมาราธอนบอสตันเมื่อเดือนเมษายน 2013 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน, ดายแลน รูฟ นักเหยียดผิวผู้ก่อเหตุยิงคนผิวสี 9 คนในโบสถ์ที่ชาร์ลสตันเมื่อเดือนมิถุนายน 2015, และโรเบิร์ต เบาเวอร์ส ผู้ก่อเหตุยิงที่โบสถ์ยิวในพิตต์สเบิร์กเมื่อเดือนตุลาคม 2018 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 11 คน

อีลอน มัสก์ชูแนวคิดปกครองดาวอังคาร คาดส่งมนุษย์แตะพื้นในอีก 4 ปี

(30 ธ.ค. 67) อีลอน มัสก์ เจ้าพ่อ SpaceX เสนอความคิดเห็นว่าหากมนุษย์มีการตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารในอนาคต ควรเลือกรูปแบบการปกครองด้วยหลักการประชาธิปไตยทางตรง

มักส์ กล่าวผ่านแพลตฟอร์ม X ว่า “ชาวดาวอังคารควรเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะปกครองกันอย่างไร แต่ผมขอแนะนำให้ใช้ประชาธิปไตยทางตรงแทนที่จะเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทน”  

มัสก์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ยานอวกาศ Starship แบบไร้คนขับอาจลงจอดบนดาวอังคารได้ภายในสองปีข้างหน้า และยานที่มีมนุษย์โดยสารอาจเดินทางไปถึงในอีกสี่ปีข้างหน้า  

ก่อนหน้านี้ในเดือนกันยายน มัสก์ได้กล่าวว่ามนุษยชาติต้องพัฒนาความสามารถในการเดินทางข้ามดวงดาว หากไม่สามารถทำได้ อาจเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในอนาคต เนื่องจากการขยายตัวของดวงอาทิตย์หรือการชนกันของโลกกับดาวเคราะห์น้อย

สื่อเผยรถยนต์ราคาถูกสหรัฐฯ ส่อวิกฤต คนอเมริกันต้องซื้อรถแพงขึ้นเพราะกำแพงภาษี

(30 ธ.ค. 67) เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานว่าการหาซื้อรถยนต์ราคาเอื้อมถึงในสหรัฐฯ กลายเป็นเรื่องท้าทายของชาวอเมริกันจำนวนมากที่มีงบประมาณจำกัด เนื่องจากการจัดเก็บภาษีนำเข้ายานยนต์ที่ผลิตในเม็กซิโกในอัตราใหม่อาจเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้เลวร้ายกว่าเดิม

เอ็ดมันด์ส (Edmunds) เว็บไซต์ซื้อขายรถยนต์ วิเคราะห์ว่าเกือบหนึ่งในสามของยานยนต์ทั้งหมดที่มีราคาต่ำกว่า 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.02 ล้านบาท) และจำหน่ายในสหรัฐฯ นั้นผลิตในเม็กซิโก เช่น นิสสัน เซนตรา (Nissan Sentra) ฟอร์ด เมเวอริกค์ (Ford Maverick) และรถยนต์ยอดนิยมรุ่นอื่นๆ

ทั้งนี้ เม็กซิโกถือเป็นผู้ผลิตยานยนต์ราคาเอื้อมถึงได้ที่จำหน่ายในสหรัฐฯ ราวหนึ่งในห้าเมื่อสิบปีที่แล้ว

รายงานเสริมว่าเม็กซิโกเป็นจุดหมายที่บรรดาผู้ผลิตยานยนต์นึกถึง หากต้องการควบคุมต้นทุนการผลิตยานยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์รุ่นเล็กที่จำหน่ายในราคาต่ำกว่าและทำกำไรน้อยกว่ารถยนต์รุ่นใหญ่กว่าอย่างรถบรรทุกและรถเอสยูวี (SUV) ขนาดใหญ่

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขู่ว่าจะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ข้างต้นด้วยการกำหนดจัดเก็บภาษีนำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดาราวร้อยละ 25 ซึ่งอาจหมายถึงการล้มเลิกข้อตกลงการค้าเสรีที่เขาเคยเจรจาตอนดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ สมัยแรก

เหล่านักวิเคราะห์และตัวแทนจำหน่ายยานยนต์มองว่าต้นทุนที่เกี่ยวพันกับการจัดเก็บภาษีนำเข้าอัตราใหม่จะถูกโยนสู่ผู้บริโภคในระยะเวลาอันใกล้และส่งผลกระทบต่อรถยนต์ราคาเอื้อมถึงได้และรถยนต์เอสยูวีอย่างหนักที่สุด ขณะรถยนต์ราคาต่ำบางรุ่นและชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตในเม็กซิโกและแคนาดายังจะถูกคิดภาษีนำเข้าใหม่ ซึ่งกลายเป็นการเพิ่มต้นทุนของผู้ผลิตและผู้บริโภค

'เทสลา ไซเบอร์ทรัก' ระเบิด ดับ 1 ราย มัสก์เชื่ออาจเป็นเหตุก่อการร้าย

(2 ม.ค. 68) เกิดเหตุรถกระบะไฟฟ้า 'ไซเบอร์ทรัก' (Tesla Cybertruck) ระเบิดที่ลานจอดรถด้านนอกโรงแรมทรัมป์ อินเตอร์เนชันแนล โฮเทล (Trump International Hotel) เมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา เมื่อวันพุธที่ 1 มกราคม ตามเวลาท้องถิ่น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอย่างน้อย 7 ราย ขณะที่สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (FBI) กำลังเร่งตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าว

ภาพจากกล้องวิดีโอแสดงให้เห็นว่า รถไซเบอร์ทรักคันดังกล่าวเกิดระเบิดและไฟลุกท่วมในขณะที่จอดอยู่ด้านนอกของโรงแรมทรัมป์ อินเตอร์เนชันแนล โฮเทล

นายเควิน แมคมาฮิลล์ นายอำเภอเขตคล้ากเคาตี เปิดเผยกับสถานีโทรทัศน์ KSNV ซึ่งเป็นสื่อท้องถิ่นว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อเวลา 08:40 น. ตามเวลาท้องถิ่น ขณะที่รถคันดังกล่าวจอดอยู่บริเวณทางเข้าโรงแรม และเริ่มมีควันก่อนเกิดการระเบิดอย่างรุนแรง มีผู้เสียชีวิตภายในรถ 1 ราย

สำนักงานตำรวจลาสเวกัสได้โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์ม X ระบุว่า “เรากำลังสอบสวนเหตุการณ์ระเบิดรถไซเบอร์ทรักที่ทางเข้าอาคารทรัมป์ ทาวเวอร์ส ขณะนี้เพลิงถูกควบคุมแล้ว ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงพื้นที่ดังกล่าว”

ตำรวจยืนยันว่า มีผู้บาดเจ็บเล็กน้อย 7 ราย โดย 2 รายต้องถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา ผู้พักอาศัยส่วนใหญ่ในโรงแรมทรัมป์ อินเตอร์เนชันแนล ได้รับการย้ายไปยังโรงแรมใกล้เคียงคือ รีสอร์ท เวิลด์ ลาสเวกัส

แหล่งข่าวจากเจ้าหน้าที่ที่ได้รับรายงานสรุปเหตุการณ์ เปิดเผยกับสำนักข่าว ABC News ว่า รถไซเบอร์ทรักคันนี้บรรทุกดอกไม้ไฟชนิดกระสุนปืนครก (fireworks-style mortars) ซึ่งฝ่ายสืบสวนกำลังหาสาเหตุว่าการระเบิดเป็นอุบัติเหตุหรือจงใจ

“การสืบสวนกำลังพุ่งเป้าไปที่ความเป็นไปได้ของการก่ออาชญากรรมและการก่อการร้าย จนกว่าจะพบแรงจูงใจที่ชัดเจน” รายงานระบุ

ด้านนายอีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลา โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์ม X ว่า “ทีมผู้บริหารระดับสูงของเทสลากำลังสอบสวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง เรายืนยันว่าเหตุการณ์เกิดจากดอกไม้ไฟขนาดใหญ่หรือระเบิดที่อยู่ในรถไซเบอร์ทรักที่เช่ามา และไม่เกี่ยวข้องกับระบบของรถเอง”

เหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความตื่นตระหนกแก่ผู้พักอาศัยในพื้นที่และผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าของเทสลา ซึ่งยังคงต้องติดตามผลการสืบสวนต่อไป

มัสก์บอกกระบะ 'ไซเบอร์ทรัก' กันระเบิดได้ บึ้มหน้าโรงแรมทรัมป์จึงเสียหายไม่มาก

(2 ม.ค. 67) จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม ตามเวลาสหรัฐฯ เมื่อรถกระบะไฟฟ้าไซเบอร์ทรักของเทสลาระเบิดบริเวณด้านนอกโรงแรมทรัมป์ อินเตอร์เนชันแนล โฮเทล (Trump International Hotel) ในเมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และได้รับบาดเจ็บหลายคน

เจ้าหน้าที่ตำรวจนครลาสเวกัสเปิดเผยว่า ภาพจากกล้องวงจรปิดระบุว่าแสงจากการระเบิดมีลักษณะคล้ายกับการระเบิดของพลุดอกไม้ไฟที่ใช้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งทำให้เชื่อว่าไม่ใช่การระเบิดจากระเบิดแสวงเครื่องที่มักใช้ในเหตุการณ์ก่อการร้าย อีกทั้งยังไม่พบความผิดปกติของตัวรถที่อาจทำให้เกิดการระเบิด

นายอีลอน มัสก์ เจ้าของบริษัทเทสลา ได้กล่าวผ่าน X ว่า "พวกหัวรั้นเลือกยานพาหนะผิดคันในการโจมตี รถกระบะ Cybertruck จริงๆ สามารถกักเก็บการระเบิดจากด้านข้างและส่งแรงระเบิดออกทางด้านบน ทำให้แม้แต่ประตูกระจกของล็อบบี้โรงแรมก็ไม่แตก"

มัสก์ยังกล่าวว่า ทีมระดับสูงของ Tesla กำลังสืบสวนเหตุการณ์นี้ โดยจากการสืบสวนพบว่า การระเบิดเกิดจาก "ดอกไม้ไฟขนาดใหญ่ที่เก็บไว้ในรถคันดังกล่าว ไม่ใช่ความผิดปกติของตัวรถที่ทำให้เกิดการระเบิด"

คำกล่าวของมัสก์สอดคล้องกับรายงานของตำรวจลาสเวกัส ที่พบถังแก๊สและดอกไม้ไฟขนาดใหญ่ในท้ายรถ Tesla Cybertruck ที่ระเบิดใกล้กับโรงแรม Trump International ในลาสเวกัส นายอำเภอเควิน แม็กมาฮิล ได้กล่าวในภายหลังและขอบคุณมัสก์และทีมงานสำหรับข้อมูลที่ให้มา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top