Saturday, 10 May 2025
DonaldTrump

สั่งขึ้นภาษีโคลอมเบีย 25% หลังไม่รับเครื่องบินเนรเทศผู้ลี้ภัยที่สหรัฐส่งกลับ

(27 ม.ค. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ประกาศมาตรการตอบโต้โคลอมเบียอย่างรุนแรง หลังจากโคลอมเบียปฏิเสธไม่ให้เครื่องบินทหารสหรัฐ 2 ลำ ซึ่งขนผู้อพยพที่ถูกเนรเทศตามนโยบายเข้มงวดของรัฐบาลชุดใหม่ ลงจอดในโคลอมเบีย  

ทรัมป์โพสต์ผ่าน Truth Social ว่าการกระทำของนายกุสตาโว เปโตร ประธานาธิบดีโคลอมเบีย ที่ปฏิเสธเที่ยวบินดังกล่าว ถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐ พร้อมสั่งให้รัฐมนตรีพาณิชย์ปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากโคลอมเบีย 25% โดยระบุว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น  

สหรัฐเตรียมเพิ่มกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากโคลอมเบียเป็น 50% ภายในหนึ่งสัปดาห์ ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐบาลโคลอมเบียเดินทางเข้าสหรัฐ และเพิกถอนวีซ่า นอกจากนี้ ยังมีมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินและธนาคาร พร้อมเสริมความเข้มงวดในการตรวจสอบชายแดน  

ทรัมป์ย้ำว่า สหรัฐจะไม่ยอมให้โคลอมเบียละเมิดข้อผูกพันทางกฎหมายในการรับผู้อพยพกลับประเทศ ขณะเดียวกัน เขายังโพสต์ภาพของตัวเองพร้อมข้อความ FAFO ซึ่งสื่อถึงการตอบโต้ที่รุนแรง  

นายเปโตรแสดงความไม่พอใจต่อการกระทำของสหรัฐ โดยระบุว่าผู้อพยพไม่ควรถูกปฏิบัติเหมือนอาชญากร และโคลอมเบียพร้อมต้อนรับพลเมืองที่ถูกเนรเทศกลับบ้านบนเครื่องบินพลเรือน  

เปโตรยังเน้นว่า แม้จะมีชาวอเมริกัน 15,660 คนที่พำนักอย่างผิดกฎหมายในโคลอมเบีย แต่โคลอมเบียจะไม่ใช้วิธีการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนแบบเดียวกัน  

โคลอมเบียซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐในลาตินอเมริกา ตอบโต้โดยขู่ว่าจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ 50% เช่นกัน  

โคลอมเบียเป็นประเทศลาตินอเมริกาลำดับที่สองที่ปฏิเสธเครื่องบินทหารสหรัฐ ต่อจากเม็กซิโก แต่ทรัมป์ไม่ได้ใช้มาตรการตอบโต้ที่รุนแรงกับเม็กซิโก  

ในปี 2023 การค้าระหว่างสหรัฐและโคลอมเบียมีมูลค่า 33,800 ล้านดอลลาร์ โดยโคลอมเบียได้ดุลการค้า 1,600 ล้านดอลลาร์ สินค้าหลักที่สหรัฐนำเข้าจากโคลอมเบียได้แก่ น้ำมันดิบ ทองคำ กาแฟ และดอกกุหลาบ  

รัฐบาลของทรัมป์ยังคงเผชิญแรงกดดันจากประเทศในลาตินอเมริกาเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้อพยพ ซึ่งบางกรณีถูกมองว่าละเมิดศักดิ์ศรีและสิทธิมนุษยชน  

การใช้เครื่องบินทหารขนส่งผู้อพยพถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี โดยเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการย้ายถิ่นฐานของทรัมป์ ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันแรกที่เขารับตำแหน่งประธานาธิบดี

ตม.สหรัฐลุยขับไล่ผู้อพยพในชิคาโก เจอคนไทยถูกรวบ พบมีประวัติอาชญากรรม

(27 ม.ค. 68) เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ICE) ของสหรัฐฯ เริ่มปฏิบัติการขับไล่ผู้อพยพในนครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ตามคำสั่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งมุ่งเน้นการขับไล่ผู้ที่อยู่อาศัยผิดกฎหมายออกจากประเทศ โดยหนึ่งในผู้ถูกจับกุมเปิดเผยว่าเขามีพื้นเพมาจากประเทศไทย

โฆษกของ ICE กล่าวว่า ปฏิบัติการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองและเสริมสร้างความมั่นคงในชุมชน โดยเฉพาะการขจัดบุคคลที่มีประวัติอาชญากรรมที่อาจเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยสาธารณะ

เอมิล โบฟ รองอัยการสูงสุดของสหรัฐฯ กล่าวเสริมว่า “เราจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ชุมชนของเรามีความปลอดภัย และจะไม่หยุดจนกว่าภารกิจนี้จะสำเร็จ”

การจับกุมครั้งนี้ได้สร้างความวิตกกังวลในชุมชนผู้อพยพในชิคาโก โดยมีการรายงานจากกลุ่มองค์กรสนับสนุนผู้อพยพว่า มีผู้ถูกจับกุมจากหลายพื้นที่ในเมือง รวมถึงย่านอัลบานีพาร์กและเฮอร์โมซา

ในระหว่างการปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่ได้ร่วมมือกับดร.ฟิล แม็กกรอว์ นักจัดรายการสื่อฝ่ายขวาในการถ่ายทอดสดบางส่วนของการจับกุมทาง Merit TV โดยมีการถ่ายทำภาพชายคนหนึ่งที่ถูกควบคุมตัวพร้อมกับคำสัมภาษณ์จากดร.ฟิล

ชายผู้นั้นบอกว่าเขามีสัญชาติไทย และเกิดที่ประเทศไทย เมื่อถูกถามว่าเคยถูกตั้งข้อหาหรือไม่ เขาตอบว่า “ผมไม่อยากพูดอะไร ผมต้องการคุยกับทนายความ” พร้อมกับยืนยันว่าแม่ของเขาคือพลเมืองสหรัฐฯ แต่เขาไม่ได้รับสัญชาติ

ตามข้อมูลจาก Merit TV ชายคนนี้ถูกระบุว่าเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีล่วงละเมิดทางเพศและการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตจากประเทศไทย แต่รายละเอียดนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันจากทางการสหรัฐฯ

ทรัมป์สั่งสร้างโล่เหล็ก 'America Iron Dome' ป้องแผ่นดินสหรัฐฯ จากขีปนาวุธตามรอยอิสราเอล

เมื่อวันที่ (27 ม.ค.68) ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารในด้านการปฏิรูปกองทัพฯ หลายคำสั่ง โดยหนึ่งในคำสั่งที่ทรัมป์ลงนาม คือการริเริ่มให้มีการสร้างระบบป้องกันภัยทางอากาศ 'ไอรอนโดม' สำหรับสหรัฐฯ แบบเดียวกับที่อิสราเอลใช้สกัดขีปนาวุธหลายพันลูก 

“ภายใน 60 วันนับจากวันที่ออกคำสั่งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะต้อง  ส่งมอบแบบพิมพ์เขียวของระบบ ความต้องการตามขีดความสามารถ และแผนการดำเนินการสำหรับโล่ป้องกันขีปนาวุธรุ่นถัดไปให้แก่ประธานาธิบดี” คำสั่งฝ่ายบริหารของทรัมป์ระบุ

ระบบ America Iron Dome จะรวมถึงแผนการป้องกันขีปนาวุธร่อนแบบวิถีโค้ง ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง และขีปนาวุธล้ำหน้า เร่งการติดตั้งเซ็นเซอร์ติดตามขีปนาวุธจากอวกาศที่มีความเร็วเหนือเสียงและแบบวิถีโค้ง และพัฒนาและติดตั้งเครื่องสกัดกั้นขีปนาวุธจากอวกาศที่สามารถสกัดกั้นขีปนาวุธได้ในช่วงส่งเสริมการโจมตี เอกสารระบุ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเน้นย้ำว่าภัยคุกคามจากการโจมตีด้วยขีปนาวุธและการโจมตีทางอากาศขั้นสูงอื่น ๆ "ยังคงเป็นภัยคุกคามที่เลวร้ายที่สุดที่สหรัฐฯ ต้องเผชิญ"

ระบบป้องกันภัยทางอากาศแบบใหม่ที่คล้ายกับ Iron Dome ของอิสราเอลนี้จะใช้ชื่อว่า 'America Iron Dome' ระบบนี้จะสามารถป้องกันภัยจากขีปนาวุธทั่วไป ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิค ขีปนาวุธนำวิถี และรูปแบบใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเปิดเผยงบประมาณหรือกรอบเวลาการพัฒนาระบบนี้

"เราจำเป็นต้องเริ่มก่อสร้างโล่ป้องกันขีปนาวุธล้ำสมัย ไอรอนโดม ซึ่งจะสามารถปกป้องชาวอเมริกัน" ทรัมป์ บอกกับที่ประชุมระดมความคิดของรีพับลิกันในไมอามี พร้อมบอกว่า 'ระบบนี้จะผลิตที่นี่ ในสหรัฐฯ'

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางรายให้ความเห็นว่า ระบบไอรอนโดมอาจไม่เหมาะสมกับการรับมือภัยคุกคามทางอากาศของสหรัฐฯ เนื่องจากระบบที่ใช้ในอิสราเอลซึ่งเป็นแบบที่ทรัมป์อยากได้นั้น ถูกออกแบบมาเพื่อรับมือกับภัยคุกคามพิสัยใกล้ ทำให้มันไม่เหมาะสมสำหรับป้องกันการโจมตีใด ๆ ด้วยขีปนาวุธข้ามทวีป ที่เป็นตัวอันตรายหลักสำหรับสหรัฐฯ มากกว่า 

ทั้งนี้ นอกจากคำสั่งสร้าง America Iron Dome แล้ว ทรัมป์ยังลงนามคำสั่งปฏิรูปกองทัพสหรัฐในอีกหลายคนสั่ง เช่น การสั่งห้ามบุคคลข้ามเพศ หรือทรานส์เจนเดอร์ เข้ารับราชการในกองทัพสหรัฐฯ โดยทรัมป์เรียกคำสั่งนี้ว่า "การกำจัดลัทธิหัวรุนแรงทางเพศในกองทัพ" ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายและความเท่าเทียมในกองทัพ

ก่อนหน้านี้ ในสมัยแรกที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่ง เขาเคยประกาศห้ามกลุ่มทรานส์เจนเดอร์เป็นทหาร โดยให้เหตุผลว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของทหารข้ามเพศสูงเกินไป อย่างไรก็ตาม คำสั่งดังกล่าวไม่ได้ถูกบังคับใช้อย่างจริงจัง จนกระทั่งปี 2021 ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว ขณะที่ข้อมูลจากองค์กรเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศระบุว่า ในจำนวนทหารอเมริกันทั้งหมด 1.3 ล้านคน มีทหารที่ระบุว่าตนเองเป็นทรานส์เจนเดอร์ไม่ต่ำกว่า 15,000 คน แต่ทางการสหรัฐฯ ชี้ว่ามีเพียงไม่ถึงพันคน

ทรัมป์สั่งขยายคุกกวนตานาโม เตรียมขังผู้อพยพก่อคดี 30,000 คน

(30 ม.ค. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเมื่อวันพุธ (29 ม.ค.) ว่า จะสั่งให้กระทรวงกลาโหมและกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ จัดเตรียมศูนย์กักกันผู้อพยพที่อ่าวกวนตานาโม เพื่อรองรับผู้ถูกควบคุมตัวสูงสุด 30,000 คน  

ฐานทัพเรือสหรัฐฯ ในอ่าวกวนตานาโม ประเทศคิวบา มีสถานที่สำหรับกักตัวผู้อพยพอยู่แล้ว แยกจากเรือนจำที่ใช้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายจากต่างประเทศ โดยสถานที่ดังกล่าวเคยถูกใช้เป็นศูนย์กักกันชั่วคราวมาหลายทศวรรษ โดยเฉพาะชาวเฮติและคิวบาที่ถูกสกัดจับระหว่างพยายามเดินทางเข้าสหรัฐฯ ทางทะเล  

ทอม โฮแมน หัวหน้าทีมดูแลชายแดน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากทรัมป์ ระบุว่า รัฐบาลมีแผนขยายศูนย์กักกันที่มีอยู่แล้ว และมอบหมายให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรเป็นผู้ดูแล  

“วันนี้ผมจะลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร เพื่อให้กระทรวงกลาโหมและกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ เริ่มขยายสถานที่กักกันผู้อพยพที่อ่าวกวนตานาโมให้สามารถรองรับได้ถึง 30,000 คน” ทรัมป์กล่าวที่ทำเนียบขาว  

เขายังระบุว่า ศูนย์กักกันดังกล่าวจะใช้ควบคุม “บุคคลต่างด้าวผิดกฎหมายที่เป็นอาชญากรอันตราย ซึ่งคุกคามความปลอดภัยของประชาชนอเมริกัน” พร้อมเสริมว่า บางรายเป็นบุคคลที่อันตรายถึงขนาดที่สหรัฐฯ ไม่สามารถส่งตัวกลับประเทศต้นทางได้ เนื่องจากเกรงว่าจะหลบหนีและก่ออาชญากรรมอีก

หลังจากนั้นไม่นาน ทรัมป์ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงที่ไม่ได้ระบุตัวเลขจำนวนผู้อพยพที่แน่ชัด แต่เรียกร้องให้มี “พื้นที่กักกันเพิ่มเติม” ในศูนย์ที่ขยายใหม่  

เมื่อให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวในวันพุธ โฮแมนกล่าวว่า ศูนย์กักกันนี้จะใช้กับผู้ที่ “เลวยิ่งกว่าเลว”  

ด้านคริสตี โนเอม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ กล่าวกับสื่อว่า รัฐบาลกำลังหารือเรื่องงบประมาณกับคณะกรรมาธิการจัดสรรงบประมาณในสภาคองเกรส เพื่อพิจารณาเงินทุนสำหรับโครงการนี้  

สั่ง Meta ควัก 25 ล้านดอลลาร์ชดใช้ทรัมป์ กรณีปิดบัญชีจากเหตุจลาจลรัฐสภา

(30 ม.ค. 68) บริษัท Meta ยินยอมที่จะจ่าย 25 ล้านดอลลาร์ให้กับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อยุติคดีความที่ทรัมป์ฟ้องร้องบริษัท หลังจากที่แพลตฟอร์มสั่งระงับบัญชีของทรัมป์หลังเหตุการณ์จลาจลที่รัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 รายงานข่าวดังกล่าวถูกเปิดเผยโดย  The Wall Street Journal และได้รับการยืนยันโดยโฆษกของ Meta 

จากรายงานของ The Wall Street Journal ระบุว่า เงินจำนวน 22 ล้านดอลลาร์ที่ Meta จ่ายให้ทรัมป์นี้จะถูกนำไปสมทบทุนสร้างหอสมุดประธานาธิบดี ส่วนที่เหลือจะถูกใช้จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมทางกฎหมายและชำระให้กับโจทก์รายอื่น ๆ ที่มีชื่อในคดีดังกล่าว ทั้งนี้ ทำเนียบขาวยังไม่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ 

การฟ้องร้อง Facebook ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้บริษัทแม่ Meta เป็นหนึ่งในหลายคดีที่ทรัมป์ยื่นฟ้อง สืบเนื่องหลังเหตุการณ์วันที่ 6 มกราคม ซึ่งนอกจาก Facebook แล้ว ทรัมป์ยังยื่นฟ้อง YouTube และ Twitter (ปัจจุบันคือ X) รวมถึงผู้บริหารของบริษัทเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม คดีฟ้องร้อง Twitter ถูกผู้พิพากษาของรัฐบาลกลางยกฟ้องไปแล้ว ขณะที่คดีฟ้องร้อง Google ถูกระงับคดีชั่วคราวไปในปี 2023 แต่ยังมีโอกาสที่จะนำกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง

หลังเหตุการณ์จลาจลที่รัฐสภาสหรัฐฯ Facebook ระงับบัญชีของทรัมป์ เนื่องจากเขาใช้แพลตฟอร์มเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการเลือกตั้งและอ้างว่าตนเป็นผู้ชนะในปี 2020 การตัดสินใจดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายของ Facebook ซึ่งก่อนหน้านี้มักปล่อยให้ผู้นำทางการเมืองใช้งานแพลตฟอร์มได้โดยไม่มีการควบคุมเข้มงวด แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์รุนแรง บริษัทได้ปรับปรุงกฎระเบียบใหม่เพื่อให้สามารถระงับบัญชีบุคคลสำคัญได้ในกรณี "พิเศษ" เช่น ภาวะความไม่สงบและความรุนแรงทางการเมือง

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Facebook ในเวลานั้นกล่าวว่า "เราเชื่อว่าความเสี่ยงจากการปล่อยให้ประธานาธิบดีใช้งานแพลตฟอร์มของเราต่อไปในช่วงเวลานี้นั้นสูงเกินไป" บริษัทจึงตัดสินใจลงโทษทรัมป์ขั้นสูงสุดตามกฎใหม่ โดยระงับบัญชี Facebook และ Instagram ของเขาแบบไม่มีกำหนด

"พวกเขาไม่ควรได้รับอนุญาตให้ทำแบบนี้ พวกเขากำลังเซ็นเซอร์และปิดปากเรา และสุดท้ายแล้ว เราจะชนะ ประเทศของเราไม่สามารถทนรับการกดขี่แบบนี้ได้อีกต่อไป!" ทรัมป์กล่าวในขณะนั้น และเสริมว่า "ครั้งต่อไปที่ผมอยู่ในทำเนียบขาว จะไม่มีมื้อค่ำที่ซักเคอร์เบิร์กและภรรยาของเขาร้องขออีกต่อไป ทุกอย่างจะเป็นเรื่องธุรกิจเท่านั้น!"

ไม่กี่เดือนต่อมา Facebook ปรับลดระยะเวลาการระงับบัญชีของทรัมป์เป็นสองปี และในปี 2023 เมื่อครบกำหนดสองปี บริษัทได้คืนสิทธิ์ให้เขากลับมาใช้งานแพลตฟอร์ม เช่นเดียวกับ Twitter และ YouTube ที่ยกเลิกการแบนบัญชีของทรัมป์

ล่าสุด ซักเคอร์เบิร์กดูเหมือนจะกลับมาเป็นที่โปรดปรานของทรัมป์อีกครั้ง โดยมีรายงานว่าเขาพบกับทรัมป์หลายครั้งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และนั่งแถวหน้าระหว่างพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดี ซักเคอร์เบิร์กยังเป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงระดับหรูให้กับทรัมป์ในช่วงเฉลิมฉลองวันเข้ารับตำแหน่ง

การเจรจายุติคดีเริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน เมื่อซักเคอร์เบิร์กไปรับประทานอาหารค่ำกับทรัมป์ที่บ้านพัก Mar-a-Lago ในฟลอริดา โดย The Wall Street Journal รายงานว่าทรัมป์ระบุว่าคดีความต้องถูกจัดการให้เรียบร้อยก่อนที่ซักเคอร์เบิร์กจะสามารถ "เข้าร่วมกลุ่มของเขา" ได้ ต่อมา ซักเคอร์เบิร์กกลับไปที่ Mar-a-Lago ในช่วงต้นเดือนมกราคมเพื่อการไกล่เกลี่ยที่กินเวลาทั้งวัน

หลังจากเดินทางไปฟลอริดาไม่นาน ซักเคอร์เบิร์กก็ประกาศนโยบายใหม่ของ Meta โดยระบุว่าบริษัทจะยกเลิกข้อจำกัดบางอย่างเกี่ยวกับเนื้อหาทางการเมือง และอนุญาตให้มีการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น โดยสะท้อนคำพูดของทรัมป์ว่า "การเซ็นเซอร์ออนไลน์มีมากเกินไปแล้ว ถึงเวลาที่เราจะกลับไปสู่รากฐานของเรา

ทรัมป์เจาะสื่อใหม่!! ไฟเขียวทำเนียบขาวรับอินฟลูฯ ทำข่าว ยอดขอรับบัตรสื่อทะลุ 7,400 ในวันเดียว

(31 ม.ค.68) ทำเนียบขาวสร้างกระแสใหญ่หลังประกาศเปิดโอกาสให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์ อินฟลูเอนเซอร์ และพอดแคสเตอร์ เข้าร่วมการแถลงข่าวได้อย่างเป็นทางการ ล่าสุด มีคำขอรับบัตรประจำตัวสื่อมวลชนมากกว่า 7,400 รายการ ในเวลาเพียงหนึ่งวันเท่านั้น หลังประกาศนโยบายนี้เมื่อวันอังคารที่ 25 มกราคม  

แคโรไลน์ เลวิตต์ โฆษกทำเนียบขาว เปิดเผยว่า การตัดสินใจครั้งนี้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคข่าวสารของชาวอเมริกัน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันมาเสพข่าวผ่านพอดแคสต์ บล็อก และโซเชียลมีเดีย แทนสื่อดั้งเดิมอย่างโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์  

ผลสำรวจล่าสุดจากศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) ยืนยันว่า อินฟลูเอนเซอร์และสื่อออนไลน์กลายเป็นแหล่งข่าวหลักสำหรับคนอายุต่ำกว่า 30 ปี โดยเกือบ 40% ของกลุ่มนี้พึ่งพาอินฟลูเอนเซอร์ในการติดตามข่าวสารและการเมือง การเปิดพื้นที่ให้สื่อทางเลือกเหล่านี้จึงเป็นโอกาสให้พวกเขาตั้งคำถามกับรัฐบาลได้โดยตรง  

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา พรรคเดโมแครตได้เชิญคอนเทนต์ครีเอเตอร์กว่า 200 คนมาร่วมรายงานข่าวการเลือกตั้ง ขณะที่สถานีโทรทัศน์เอ็นบีซีก็ร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์หลายสิบคนในการทำข่าวโอลิมปิกปารีส 2024 โดยมอบบัตรผู้สื่อข่าวให้เหมือนนักข่าวมืออาชีพ  

นอกจากนี้ กลยุทธ์การสื่อสารผ่านพอดแคสต์ของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังถูกมองว่าประสบความสำเร็จในการดึงดูดผู้มีสิทธิเลือกตั้งวัยรุ่นชายที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม โดยทรัมป์เคยให้สัมภาษณ์กับพอดแคสเตอร์ชื่อดังอย่าง โจ โรแกน, โลแกน พอล และธีโอ วอน ซึ่งช่วยเพิ่มความนิยมในกลุ่มนี้อย่างมาก

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของทำเนียบขาวไม่เพียงสะท้อนถึงการปรับตัวต่อเทรนด์สื่อสมัยใหม่ แต่ยังเป็นการท้าทายบทบาทของสื่อดั้งเดิมที่อาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในยุคที่ทุกคนสามารถเป็น 'ผู้สื่อข่าว' ได้

ผู้นำเม็กซิโกตอกกลับทรัมป์ ร้อง Google เปลี่ยนชื่อสหรัฐอเมริกาเป็น 'อเมริกาเม็กซิกัน'

(31 ม.ค.68) นางคลอเดีย เชนบาม ประธานาธิบดีเม็กซิโก ร่อนจดหมายถึงบริษัท  Google เปิดเผยความไม่พอใจอย่างรุนแรง หลังบริษัทยอมปฏิบัติตามคำสั่งของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ในการเปลี่ยนชื่อ 'อ่าวเม็กซิโก' เป็น 'อ่าวอเมริกา' พร้อมกับเรียกร้องให้เปลี่ยนชื่อประเทศสหรัฐอเมริกาเป็น 'อเมริกาเม็กซิกัน'

นางเชนบาม ได้แสดงท่าทีคัดค้านอย่างหนักต่อการกระทำของ Google ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของทรัมป์ โดยเธอเห็นว่าการเปลี่ยนชื่อดังกล่าวเป็นการละเมิดอธิปไตยและประวัติศาสตร์ของเม็กซิโก เธอยังเรียกร้องให้ Google คืนชื่อเดิมของอ่าวเม็กซิโกและหยุดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชื่อทางภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับประเทศของเธอ

ความไม่พอใจของประธานาธิบดีเม็กซิโกเกิดขึ้นหลังจากที่ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สั่งให้เปลี่ยนชื่ออ่าวเม็กซิโกเป็นอ่าวอเมริกา โดย Google ได้ปรับปรุงชื่อดังกล่าวใน Google Maps ทันทีตามคำสั่ง

ก่อนหน้านี้ Google ได้ออกแถลงการณ์ผ่านแพลตฟอร์ม X ระบุว่า "การเปลี่ยนแปลงชื่อนี้เป็นไปตามนโยบายของเราในการอัปเดตข้อมูลตามเอกสารราชการของรัฐบาลสหรัฐฯ" โดยบริษัทอ้างว่าการเปลี่ยนแปลงชื่อจะเกิดขึ้นทันทีเมื่อมีการแก้ไขในเอกสารทางการของสหรัฐฯ

นอกจากนี้ Google ยังประกาศว่าจะ 'ดำเนินการทันที' ในการเปลี่ยนชื่อภูเขาเดนาลิในรัฐอะแลสกากลับไปเป็นภูเขาแมคคินลีย์ ตามคำสั่งของทรัมป์ ทันทีที่เอกสารทางการได้รับการอัปเดต แม้ว่าจะมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและชนพื้นเมืองก็ตาม

ทรัมป์ได้อธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงทั้งสองรายการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการ 'เชิดชูความยิ่งใหญ่ของอเมริกา' อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนชื่อภูเขาเดนาลิ ซึ่งเป็นชื่อที่ชนพื้นเมืองอะแลสกาให้ความสำคัญ ได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจในวงกว้าง

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของทรัมป์และ Google ได้รับการตอบรับอย่างไม่ดีจากทั้งเม็กซิโกและกลุ่มชนพื้นเมืองในสหรัฐฯ ซึ่งมองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการลบเลือนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่น

มักส์เล็งสั่งปิด 'USAID' องค์กรมนุษยธรรมโลก ซัด ไร้ประสิทธิภาพ-ผลาญเงิน-เกินเยียวยา

(4 ก.พ. 68) อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีและนักธุรกิจชื่อดัง  ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้นำกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล หรือ DOGE ได้ประกาศแผนปรับลดขนาดหน่วยงานรัฐ  โดยมีหนึ่งในเป้าหมายหลักคือการสั่งปิด องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ (USAID) โดยให้เหตุผลว่าหน่วยงานดังกล่าว "ไร้ประสิทธิภาพและไม่สามารถแก้ไขได้อีกต่อไป" ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

มักส์ โพสต์ในแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (X) ว่า กำลังหารือกับกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาลหรือ DOGE เรื่องปิดยูเอสเอด เนื่องจาก “เกินเยียวยา” แล้ว และว่าประธานาธิบดีทรัมป์เห็นด้วยว่าควรปิดหน่วยงานนี้

USAID เป็นผู้บริจาคเดี่ยวรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยได้บริจาคความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตามที่สหประชาชาติหรือยูเอ็นติดตามข้อมูลได้ในปี 2567 มากถึงร้อยละ 42 ของความช่วยเหลือทั้งหมด

ก่อนหน้าที่มักส์จะประกาศเรื่องดังกล่าว เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลทรัมป์ได้สั่งปลดเจ้าหน้าที่ระดับสูง 2 รายของ USAID หลังจากที่พวกเขาพยายามขัดขวางตัวแทนจาก DOGE ของมัสก์ไม่ให้เข้าถึงพื้นที่ควบคุมของหน่วยงานดังกล่าว

USAID ถือเป็นองค์กรบริจาครายใหญ่ที่สุดของโลก โดยในปีงบประมาณ 2023 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ให้เงินช่วยเหลือทั่วโลกรวมกว่า 72,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท ครอบคลุมโครงการด้านสุขภาพ น้ำสะอาด การรักษาโรค HIV/AIDS ความมั่นคงด้านพลังงาน และมาตรการต่อต้านการทุจริต โดยคิดเป็น 42% ของความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทั้งหมดที่องค์การสหประชาชาติติดตามในปี 2024

ก่อนหน้านี้ไม่นานหลังโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาดำรงตำแหน่ง นโยบาย America First ของทรัมป์ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการให้ความช่วยเหลือระดับนานาชาติ โครงการสำคัญ เช่น โรงพยาบาลสนามในค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทย การเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่สงคราม และการแจกจ่ายยารักษาโรค HIV อาจถูกยกเลิกเนื่องจากมาตรการลดงบประมาณครั้งนี้

มัสก์คาดการณ์ว่ามาตรการลดงบประมาณดังกล่าวจะช่วยให้รัฐบาลสหรัฐฯ ลดการขาดดุลงบประมาณลงได้ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 34 ล้านล้านบาทในปีหน้า โดยเขากล่าวหาว่ามีกลุ่มอาชญากรทางการเงินจากต่างประเทศปลอมแปลงตัวตนเป็นพลเมืองสหรัฐฯ เพื่อฉ้อโกงเงินช่วยเหลือจำนวนมหาศาล อย่างไรก็ตาม มัสก์ไม่ได้ให้หลักฐานเพื่อสนับสนุนข้อกล่าวหานี้ หรืออธิบายว่าตัวเลข 1 ล้านล้านดอลลาร์นั้นถูกคำนวณอย่างไร

นอกจากนี้ มีข้อกังวลเกี่ยวกับการที่มัสก์สามารถเข้าถึงระบบการเงินของกระทรวงการคลัง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินมากกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีให้กับหน่วยงานรัฐบาลกลาง และยังมีข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนสหรัฐฯ ที่ได้รับเงินสวัสดิการทางสังคมและการคืนภาษี ซึ่งเรื่องนี้ ส.ว. ปีเตอร์ เวลช์ จากพรรคเดโมแครต ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลอธิบายว่าเหตุใดมัสก์จึงสามารถเข้าถึงระบบดังกล่าวได้ โดยกล่าวตำหนิมัสก์ว่า 

“นี่เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบของบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และสะท้อนให้เห็นว่าการเงินสามารถซื้ออำนาจในรัฐบาลทรัมป์ได้” 

ในขณะเดียวกัน เมื่อถูกถามเกี่ยวกับบทบาทของมัสก์ โดยเฉพาะการมุ่งทำงานเพื่อตัดลดงบประมาณของรัฐบาล ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า "ผมเห็นด้วยกับเขา เขาช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มาก แม้ว่าบางครั้งเราอาจมีความเห็นที่แตกต่างกัน แต่ผมคิดว่าเขากำลังทำงานได้ดี เขาเป็นคนฉลาดมาก และมีความมุ่งมั่นในการลดขนาดรัฐบาลกลางของเรา"

ผู้อพยพประท้วงรบ.ทรัมป์ บอยคอตหยุดงาน แสดงพลังเป็นเบื้องหลังผู้สร้างศก.อเมริกา

(4 ก.พ. 68) สื่อท้องถิ่นสหรัฐรายงานว่า บรรดาประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวและผู้อพยพ ต่างออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านนโยบายจับกุมและเนรเทศผู้อพยพของรัฐบาลภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเฉพาะที่นครลอสแอนเจลิส (LA) ซึ่งมีการรวมตัวประท้วงหลายจุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

รายงานระบุว่า การประท้วงทั่วเมืองใหญ่ในสหรัฐภายใต้แคมเปญ Day without immigrations ที่นครลอสแองเจลิส กลุ่มผู้ประท้วงเดินขบวนไปยังศาลากลาง LA พร้อมโบกธงและถือป้ายต่อต้านมาตรการแข็งกร้าวต่อผู้อพยพ ก่อนที่บางส่วนจะเคลื่อนตัวไปปิดกั้นทางด่วนหมายเลข 101 ส่งผลให้การจราจรเป็นอัมพาตในใจกลางเมืองนานหลายชั่วโมง ขณะที่เมืองริเวอร์ไซด์ ทางตะวันออกของ LA ก็มีการชุมนุมเช่นกัน โดยบางกลุ่มใช้รถยนต์เบิร์นยางกลางสี่แยกเพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจ อย่างไรก็ตาม การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบ

ส่วนที่เมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส กลุ่มภาคประชาสังคมได้เดินขบวนประท้วงนโยบายเข้มงวดของทรัมป์ ที่มุ่งเน้นจับกุมและเนรเทศผู้อพยพผิดกฎหมาย พร้อมเพิ่มงบประมาณปิดกั้นพรมแดน รายงานระบุว่ารัฐบาลทรัมป์จับกุมผู้อพยพเฉลี่ยวันละ 900-1,200 คน โดยเฉพาะในเมืองที่มีศูนย์พักพิงขนาดใหญ่ เช่น นิวยอร์กและชิคาโก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกาใต้ เปรียบเทียบกับยุครัฐบาลโจ ไบเดน ที่มีอัตราการจับกุมเฉลี่ยเพียง 311 คนต่อวัน

กลุ่มผู้อพยพหลายกลุ่มได้แสดงพลังในการสนับสนุนบทบาทของแรงงานต่างด้าวในฐานะกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยการบอยคอตการทำงานและการงดซื้อสินค้าต่างๆ เพื่อแสดงออกว่าแรงงานต่างด้าวมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ หากขาดแรงงานต่างด้าว สหรัฐฯ จะไม่สามารถสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงได้

ขณะเดียวกันนาย มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มีกำหนดการเดินทางเยือนปานามา ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับคลองปานามา ซึ่งทรัมป์เคยขู่ว่าจะใช้กำลังทหารเข้าควบคุม อ้างเหตุผลว่าค่าธรรมเนียมผ่านทางสูงเกินไปและปานามาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีน อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีโฮเซ ราอูล มูลิโน ของปานามายืนยันว่าคลองปานามาเป็นของประเทศตนและไม่สามารถเจรจาเปลี่ยนแปลงได้ แต่จะพิจารณาข้อกังวลของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการลงทุนของบริษัทจีนและฮ่องกง รวมถึงมาตรการควบคุมผู้อพยพ

รูบิโอยังมีกำหนดเดินทางเยือนเอลซัลวาดอร์ คอสตาริกา กัวเตมาลา และสาธารณรัฐโดมินิกัน เพื่อหารือเรื่องการผลักดันผู้อพยพกลับประเทศต้นทาง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเข้มงวดของทรัมป์ในการควบคุมการเข้าเมืองผิดกฎหมาย

โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวถึงประเด็นให้การสนับสนุนยูเครนเพื่อสู้ศึกรัสเซีย

เมื่อวันที่ (3 ก.พ. 68) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยว่า เขายังคงต้องการบรรลุข้อตกลงกับยูเครนในการสนับสนุนสู้ศึกรัสเซียแต่ต้องเป็นภายใต้เงื่อนไขที่ยูเครน ต้องอนุมัติการเข้าถึงแร่หายาก  (Rare Earth) ภายในประเทศ

ขณะผู้คุยกับผู้สื่อข่าวในห้องทำงานรูปไข่ ทรัมป์กล่าวว่า ที่ผ่านมาสหรัฐส่งความช่วยเหลือยู่เครนทางด้านการททหารและเศรษฐกิจมากกว่าประเทศพันธมิตรใดๆ ในยุโรป พร้อมเสริมว่า “เรากำลังมองหาข้อตกลงที่ยูเครนจะจัดหาแร่ธาตุหายากและทรัพยากรอื่น ๆ ให้แก่เรา”  

เขายังเผยว่า ทางการยูเครนแสดงความพร้อมที่จะทำข้อตกลงเพื่อให้สหรัฐฯ สามารถเข้าถึงแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง  

“ผมต้องการให้แน่ใจว่าเรามีแร่ธาตุหายากอย่างเพียงพอ เรามีงบประมาณหลายแสนล้านดอลลาร์ ขณะที่ยูเครนมีทรัพยากรเหล่านี้ในปริมาณมาก และพวกเขายินดีที่จะร่วมมือกับเรา” ทรัมป์กล่าว  

แม้ก่อนหน้านี้เขาเคยให้คำมั่นว่าจะเร่งยุติสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน แต่ทรัมป์ระบุว่าการเจรจากำลังดำเนินไป โดยกล่าวว่า “เรามีความคืบหน้าอย่างมากในเรื่องรัสเซียและยูเครน รอดูกันว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะยุติสงครามที่ไร้เหตุผลนี้ให้ได้”  

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ย้ำเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ว่า การเจรจาใด ๆ ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียที่ไม่มียูเครนอยู่ในวงหารือถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้  

“พวกเขาอาจมีความสัมพันธ์ในแบบของตนเอง แต่หากจะพูดถึงยูเครนโดยไม่มีเรา นั่นเป็นอันตรายสำหรับทุกฝ่าย” เซเลนสกีกล่าว  

ทั้งนี้ เขาระบุว่าทีมงานของเขาได้มีการติดต่อกับรัฐบาลทรัมป์แล้ว แต่เป็นเพียงการหารือในระดับเบื้องต้น และคาดว่าจะมีการพบปะกันโดยตรงในเร็ว ๆ นี้เพื่อกำหนดรายละเอียดของข้อตกลงต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top