Saturday, 10 May 2025
DonaldTrump

ลือสะพัด TikTok เตรียมปิดบริการในสหรัฐฯ จับตาทรัมป์ ต่ออายุให้อีกแบน 90 วัน หลังต้องปิดตัว 19 ม.ค.นี้

(16 ม.ค.68) รอยเตอร์อ้างแหล่งข่าวว่า TikTok วางแผนจะปิดการให้บริการแอปพลิเคชันในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผู้ใช้ถึง 170 ล้านคนหลังจากคำสั่งห้ามของรัฐบาลโจ ไบเดน ที่จะมีผลบังคับใช้ โดยจะไม่มีการผ่อนผันในนาทีสุดท้ายภายในวันที่ 19 มกราคมนี้

อย่างไรก็ตาม จากรายงานของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งใน 20 มกราคม หนึ่งวันหลังจากการบังคับใช้คำสั่งห้าม อาจพิจารณาออกคำสั่งบริหารเพื่อชะลอการบังคับใช้คำสั่งปิดแอปออกไปอีก 60 ถึง 90 วัน แต่ยังไม่ชัดเจนว่าทรัมป์จะดำเนินการอย่างไร

กฎหมายที่ลงนามในเดือนเมษายนกำหนดให้ต้องห้ามดาวน์โหลด TikTok ใหม่จากแอปสโตร์ของ Apple หรือ Google หาก 'ไบต์แดนซ์' บริษัทแม่จากจีนไม่ยอมขายกิจการ แต่ผู้ที่ดาวน์โหลดแอปไปแล้วยังสามารถใช้งานได้ต่อไป ยกเว้นว่ากฎหมายจะห้ามไม่ให้บริษัทในสหรัฐฯ ให้บริการหรืออัปเดตแอปตั้งแต่วันที่ 19 มกราคมนี้เป็นต้นไป

ทีมงานของรัฐบาลชุดใหม่ของทรัมป์ยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่าจะไม่มีการแทรกแซงการห้ามในช่วงวันสุดท้ายของการดำรงตำแหน่ง เว้นแต่จะมีการขายกิจการ TikTok ที่น่าเชื่อถือ

ในกรณีที่ TikTok ถูกแบน ผู้ใช้ที่พยายามเปิดแอปจะเห็นข้อความแจ้งที่นำไปสู่เว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการแบน พร้อมทั้งเสนอทางเลือกในการดาวน์โหลดข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อบันทึกข้อมูลไว้ ก่อนที่แอปจะปิดตัวลง

หากคำสั่งห้ามยังคงมีผลในอนาคต TikTok อาจประสบปัญหาในการให้บริการในประเทศอื่นๆ เนื่องจากผู้ให้บริการหลายร้อยรายในสหรัฐฯ ช่วยให้แพลตฟอร์มสามารถใช้งานได้ทั่วโลก

นอกจากนี้แอปฯ Xiaohongshu หรือที่รู้จักในชื่อ 'Red Note' ซึ่งเป็นแอปโซเชียลมีเดียจากจีน กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในสหรัฐฯ หลังจากมีข่าวการประกาศการปิดตัวของ TikTok โดยแอปนี้มีฟังก์ชันที่คล้ายกับ Instagram และ Pinterest โดยได้รับความสนใจจากผู้ใช้ที่ย้ายจาก TikTok มาใช้แพลตฟอร์มนี้

ถึงแม้จะมีการวิจารณ์เรื่องการขโมยข้อมูลส่วนบุคคล TikTok ก็ยังคงมีผู้ใช้จำนวนมากในสหรัฐฯ โดยบางคนไม่สนใจข้อกังวลเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลและยังคงใช้แอปอย่างต่อเนื่อง

เทียบภาพถ่ายเป็นทางการของ 'โดนัลด์ ทรัมป์' วาระแรก vs สมัยสอง ปธน.สหรัฐคนที่ 47

(16 ม.ค.68) โลกโซเชียลต่างฮือฮา เมื่อสำนักประธานาธิบดีสหรัฐ ได้เปิดเผยภาพถ่ายอย่างเป็นทางการของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคนที่ 47 ที่จะใช้ในโอกาสสถาปนารับตำแหน่งวันที่ 20 มกราคมนี้ ซึ่งทรัมป์มีท่าทางขึงขังอย่างชัดเจน แตกต่างกับภาพถ่ายอย่างเป็นทางการช่วงที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ สมัยแรกช่วงปี 2017-2021 ซึ่งเป็นภาพที่ทรัมป์แสดงรอยยิ้มอย่างชัดเจน

จากข้อมูลของทำเนียบขาวระบุว่า ภาพถ่ายของทรัมป์ ในสมัยแรกเมื่อปี 2017 ถูกถ่ายโดย Shealah Craighead หัวหน้าช่างภาพประจำทำเนียบขาวช่วงปี 2017 – 2021 ขณะที่ภาพถ่ายอย่างเป็นทางการของทรัมป์ที่ใช้ในปี 2025 นี้นั้นยังไม่ได้รับการเปิดเผยว่าช่างภาพคนใดเป็นผู้ถ่าย

อย่างไรก็ตาม หลังมีการเปิดเผยภาพถ่ายสมัยที่ 47 บรรดาชาวเน็ตอเมริกันหลายคนต่างแสดงความเห็นว่า การวางใบหน้าของทรัมป์คล้ายคลึงอย่างมากกับรูปถ่ายของทรัมป์เมื่อเดือนสิงหาคม 2023 ที่เรือนจำฟุลตันเคาน์ตี้ในแอตแลนตาหลังจากที่เขายอมมอบตัวในคดีกรรโชกทรัพย์เพื่อการเลือกตั้ง

ศึกษาพบชาวอเมริกันเลือก ‘ทำหมัน’ เพิ่มขึ้น ขณะเข้าสู่ ‘ยุคทรัมป์’ สมัยสอง

เมื่อวันพุธ (15 ม.ค. 68) เดอะวอชิงตันโพสต์รายงานแนวโน้มประชาชนในสหรัฐฯ จะเลือกทำหมันเพิ่มขึ้นเพราะหวั่นเกรงการถูกจำกัดการเข้าถึงการบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ระหว่างการบริหารประเทศสมัยที่ 2 ของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เตรียมเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

การวิจัยพบการผ่าตัดทำหมันชายและการผ่าตัดทำหมันหญิงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไม่กี่เดือนก่อนและหลังจากศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ตัดสินคดีด็อบส์ เวอร์เซิส องค์กรสุขภาพสตรีแจ็กสัน (Dobbs vs. Jackson Women’s Health Organization) ซึ่งมีคำวินิจฉัยในปี 2022 ที่ยุติสิทธิทำแท้งตามรัฐธรรมนูญที่มีมาเกือบครึ่งศตวรรษ

การศึกษาจากวารสารเฮลธ์ แอฟแฟร์ส (Health Affairs) พบว่าช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2022 มีการทำหมันชายเพิ่มขึ้นร้อยละ 95 และการทำหมันหญิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 70 ในกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 19-26 ปี โดยคณะนักวิจัยใช้เวชระเบียนมาวิเคราะห์และพบว่ารัฐที่มีแนวโน้มห้ามทำแท้งหลังจากคำตัดสินคดีด็อบส์ฯ มีการทำหัตถการคุมกำเนิดถาวรเพิ่มขึ้นมากกว่า

การวิจัยจากวารสารเจเอเอ็มเอ เฮลธ์ ฟอรัม (JAMA Health Forum) ที่เผยแพร่ช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 2024 ชี้ว่าการทำหัตถการคุมกำเนิดถาวรในกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 18-30 ปี เพิ่มขึ้นหลังจากคำตัดสินคดีด็อบส์ฯ เช่นเดียวกัน

ธุรกิจอเมริกันกระทบแน่หากแบน TikTok จับตาซีอีโอดีลทรัมป์ขอขยายแบนอีก 90 วัน

(17 ม.ค.68) ท่ามกลางกระแสความไม่แน่นอนว่า วันที่ 19 มกราคมนี้ ชี้ชะตาอนาคตแพลตฟอร์ม TikTok ในสหรัฐว่าจะถูกแบนหรือไม่ แต่ภายในองค์กรของ TikTok ที่สหรัฐเองก็ออกจดหมายเวียนเป็นการภายใน แจ้งข่าวต่อพนักงานว่าบริษัทมีแผนดำเนินการต่อไปอย่างปกติแม้จะมีความไม่แน่นอนจากการพิจารณาคดีของศาลสหรัฐฯ  

TikTok ระบุต่อพนักงานเป็นการภายในว่า บริษัทจะยังคงดำเนินงานต่อไปในตอนนี้ตามปกติ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับแอปก็ตาม ย้ำว่ากฎหมายนี้มีผลเฉพาะส่วนการใช้งานแอปของคนอเมริกา แต่ไม่มีผลกับการทำงานของพนักงานของ TikTok

หากการแบนในวันที่ 19 ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ก็มีโอกาสสูงที่จะกลับมาให้บริการในไม่ช้า เนื่องจากนาย Shou Zi Chew ซีอีโอของ TikTok เป็นหนึ่งในบรรดาแขกวีไอพีที่เข้าร่วมงานพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในวันที่ 20 มกราคมนี้ ซึ่งมีรายงานข่าวว่านาย Shou Zi Chew ได้หารือกับประธานาธิบดีทรัมป์ในประเด็นนี้แล้ว แต่ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด

การแบน TikTok กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนในสหรัฐฯ เนื่องจากจะมีผลกระทบกับผู้ใช้งานกว่า 170 ล้านคน ขณะเดียวกัน ผู้ใช้งานในสหรัฐฯ เริ่มหันไปมองหาแอปทางเลือก โดยแอปที่ได้รับความนิยมมากขึ้นคือ RedNote (Xiaohongshu) ซึ่งกำลังเป็นกระแสในกลุ่มคนรุ่นใหม่ในสหรัฐฯ รวมถึงการเติบโตของแอปเรียนภาษาจีนอย่าง Duolingo ที่เพิ่มขึ้นกว่า 200%

อย่างไรก็ตาม การแบน TikTok อาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจขนาดเล็กและการทำการตลาดในอเมริกาเช่นกัน

ด้านสำนักข่าว AP ระบุว่าผลกระทบจากการแบน TikTok อาจส่งผลต่อธุรกิจขนาดเล็กในสหรัฐฯ โดย TikTok ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการโปรโมทธุรกิจให้กับเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก เช่น Desiree Hill เจ้าของธุรกิจซ่อมรถ Crown’s Corner Mechanic ในจอร์เจีย ที่สามารถขยายธุรกิจจากการใช้ TikTok และสร้างงานเพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันสั้น

รายงานจาก Oxford Economics ระบุว่า TikTok ส่งผลต่อการจ้างงานในสหรัฐฯ โดยสนับสนุนการจ้างงานกว่า 224,000 ตำแหน่ง และสร้างรายได้จากภาษีสูงถึง 5.3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2023

นอกจากการทำมาร์เก็ตติ้งแล้ว TikTok ยังเป็นแพลตฟอร์มสำคัญสำหรับบรรดาอินฟลูเอนเซอร์ ได้สร้างโอกาสในการสร้างรายได้จากการทำคอนเทนต์ และผู้สร้างคอนเทนต์หลายล้านคนกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงจากการแบนนี้ เช่น Joanne Molinaro และ Eli Rallo ที่พึ่งพา TikTok ในการสร้างชื่อเสียงและรายได้

ขณะเดียวกันหากเทียบกับแพลตฟอร์มอื่นแล้ว แม้ว่า Instagram และ YouTube จะพยายามเลียนแบบฟีเจอร์ของ TikTok เช่น Reels และ Shorts แต่ยังไม่สามารถทำได้ดีเท่ากับ TikTok ซึ่งมีอัลกอริธึมที่เข้าใจผู้ใช้และสามารถนำเสนอคอนเทนต์ที่ตรงใจได้เสมอ นอกจากนี้ TikTok ยังส่งเสริมการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบเหมือนแอปอื่น ๆ

การแบน TikTok จึงไม่ใช่แค่การลบแอปออกไป แต่เป็นการตัดโอกาสทางธุรกิจและการสร้างชื่อเสียงของผู้ใช้งานในสหรัฐฯ ที่ต้องการสร้างตัวตนและทำการตลาดผ่านแพลตฟอร์มนี้ด้วยเช่นกัน

TikTok กลับมาแล้ว ขอบคุณทรัมป์ พร้อมตั้งบริษัทร่วมทุนถือหุ้น 50%

(20 ม.ค. 68) TikTok ออกแถลงการณ์ว่า กำลังอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูการให้บริการในสหรัฐอเมริกา ตามข้อตกลงกับผู้ให้บริการ หลังจากถูกคำสั่งแบนมีผลบังคับใช้ราว 12 ชั่วโมง พร้อมแสดงความขอบคุณต่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มอบความชัดเจนและการรับรองที่จำเป็น เพื่อช่วยให้ TikTok สามารถให้บริการแก่ชาวอเมริกันกว่า 170 ล้านคนได้โดยไม่มีอุปสรรค รวมถึงสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจขนาดเล็กกว่า 7 ล้านแห่งในประเทศ  

TikTok ระบุเพิ่มเติมว่านี่เป็นการปกป้องสิทธิตามบทบัญญัติการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 (First Amendment) และเป็นการยืนหยัดต่อต้านการเซนเซอร์ที่ไม่เป็นธรรม พร้อมทั้งย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับประธานาธิบดีทรัมป์ในการหาทางออกระยะยาว เพื่อให้ TikTok สามารถดำเนินธุรกิจในสหรัฐอเมริกาได้อย่างยั่งยืน  

หนึ่งในแนวทางที่ถูกเสนอเพื่อรักษาการดำเนินงานของ TikTok ในสหรัฐฯ คือการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ ซึ่งจะมีบริษัทสัญชาติอเมริกันถือหุ้นไม่น้อยกว่า 50% โดยขณะนี้มีรายงานว่า ผู้ที่แสดงความสนใจถือหุ้นใน TikTok อาจรวมถึงบุคคลและองค์กรชื่อดัง เช่น อีลอน มัสก์ และบริษัท Amazon  

ทั้งนี้ TikTok ยังคงเดินหน้าหารือและแสวงหาทางเลือกที่จะช่วยรักษาการให้บริการแก่ผู้ใช้งานในสหรัฐฯ และสนับสนุนการเติบโตของชุมชนธุรกิจต่อไป

ผมต่อต้านการแบน TikTok มานานแล้ว เพราะขัดกับเสรีภาพในการพูด แต่การที่ TikTok ให้บริการในสหรัฐฯ ได้ แต่ X (Twitter) ให้บริการในจีนไม่ได้ นั้นมันไม่ยุติธรรม

(20 ม.ค. 68) อีลอน มักส์ มหาเศรษฐีเจ้าของเทสลา และสเปซเอ็กซ์ ทวีตข้อความถึงกรณีที่แพลตฟอร์ม TikTok ไม่สามารถใช้งานในสหรัฐได้เนื่องจากคำสั่งแบนของศาลสูงสหรัฐ โดยนายมักส์ ทวีตข้อความระบุว่า "ผมต่อต้านการแบน TikTok มานานแล้ว เพราะขัดกับเสรีภาพในการพูด
แต่การที่ TikTok ให้บริการในสหรัฐฯ ได้ แต่ X (Twitter) ให้บริการในจีนไม่ได้ นั้นมันไม่ยุติธรรม บางอย่างควรต้องมีการเปลี่ยนแปลง"

มัสก์ กล่าวถึงกรณีที่ TikTok มีโอกาสกลับมาให้บริการในสหรัฐได้อีกครั้งภายหลังที่ประธานาธิบดีทรัมป์เตรียมอนุญาตให้ TikTok กลับมาให้บริการในสหรัฐได้อีกครั้ง แต่ต้องเป็นไปภายใต้เงื่อนไขที่มีบริษัทสัญชาติอเมริกันถือหุ้นร่วมด้วย 50% แต่ในขณะที่แพลตฟอร์ม  X (Twitter) ไม่แม้แต่จะสามารถให้บริการในจีนได้

ทูตเยอรมนีปูดแผนทรัมป์สมัยสอง สั่นคลอนประชาธิปไตย-ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีร่วมกุมอำนาจ

(20 ม.ค. 68) แอนเดรียส มิคาเอลิส เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำสหรัฐฯ  ออกคำเตือนว่า รัฐบาลใหม่ของโดนัลด์ ทรัมป์ อาจส่งผลกระทบต่อความเป็นอิสระของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและสื่อมวลชนในสหรัฐฯ โดยมีแนวโน้มที่จะให้อำนาจกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ร่วมกำหนดทิศทางการปกครองประเทศ รายละเอียดดังกล่าวถูกเปิดเผยในเอกสารลับที่สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รับการตรวจสอบ

เอกสารลับฉบับนี้ลงวันที่ 14 มกราคม พร้อมลายมือชื่อของแอนเดรียส โดยเนื้อหาในเอกสารระบุว่า วาระซ่อนเร้นของทรัมป์ในสมัยที่สองจะสร้าง "การสั่นคลอนระบบครั้งใหญ่" และนำไปสู่ "การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐธรรมนูญ" ซึ่งจะรวบอำนาจไว้ที่ตำแหน่งประธานาธิบดี ขณะเดียวกันลดบทบาทของรัฐสภาและรัฐบาลมลรัฐ

เอกสารยังชี้ให้เห็นว่า หลักการประชาธิปไตยและกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลจะถูกลดทอนจนแทบไม่มีความหมาย หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย สื่อมวลชน และฝ่ายนิติบัญญัติจะถูกควบคุมให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ขณะที่บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่จะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายของประเทศ

เมื่อวันที่ 19 มกราคม อันนาเลนา แบร์บ็อค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ยืนยันว่า เยอรมนีจะยังคงรักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ แต่จะยืนหยัดปกป้องผลประโยชน์ของตนเองเช่นกัน เมื่อถูกถามถึงจุดยืนของเอกอัครราชทูตมิคาเอลิสต่อทรัมป์ แบร์บ็อคกล่าวว่า ท่านทูตเพียงปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบ
บทบาทสำคัญของฝ่ายตุลาการ

เอกสารลับยังระบุว่า ฝ่ายตุลาการ โดยเฉพาะศาลฎีกา จะมีบทบาทสำคัญต่อความพยายามของทรัมป์ในการผลักดันวาระต่าง ๆ แม้ว่าศาลฎีกาจะมีแนวโน้มสนับสนุนการขยายอำนาจของประธานาธิบดี แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายยังเชื่อว่า ศาลจะสามารถยับยั้งสถานการณ์เลวร้ายที่สุดได้

เอกสารยังกล่าวถึงความพยายามของทรัมป์ที่จะควบคุมกระทรวงยุติธรรมและ FBI เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง เช่น การกวาดล้างผู้อพยพ การล้างแค้นศัตรูทางการเมือง และการสร้างความคุ้มกันทางกฎหมายให้ตนเอง

แอนเดรียส มิคาเอลิส คาดการณ์ว่า ทรัมป์และอีลอน มัสก์ เจ้าของแพลตฟอร์ม X (ทวิตเตอร์เดิม) อาจมีบทบาทในการปราบปรามผู้วิพากษ์วิจารณ์ โดยใช้วิธีข่มขู่และบิดเบือนอัลกอริทึมบนแพลตฟอร์มออนไลน์

การสนับสนุนพรรคฝ่ายขวาจัดในเยอรมนีของมัสก์ก่อนการเลือกตั้งระดับชาติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้เกิดความไม่พอใจในรัฐบาลเยอรมนี แม้ว่าจะยังไม่มีการถอนตัวจากแพลตฟอร์มดังกล่าว

ในช่วงที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก ความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีและสหรัฐฯ เต็มไปด้วยความตึงเครียดจากนโยบายการค้าของทรัมป์ รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์เยอรมนีที่ไม่สามารถจัดสรรงบประมาณด้านการทหารให้เป็นไปตามเป้าหมายของนาโต

แม้การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในสหรัฐฯ อาจไม่ส่งผลให้เอกอัครราชทูตต้องพ้นตำแหน่งโดยอัตโนมัติ เอกสารลับฉบับนี้สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองที่ชัดเจนจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเยอรมนีต่อความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในสหรัฐฯ

อดีตทูตอังกฤษเผยวิธีดีลกับ 'ทรัมป์' แนะทิ้งทุกทฤษฎีการทูต พร้อมหมัดเด็ดรับมือ

(21 ม.ค. 68) ในที่สุดโดนัลด์ ทรัมป์ ก็กลับเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัยที่สองอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางการจับตาของบรรดาชาติเอเชียและตะวันตก ถึงการรับมือด้านนโยบายต่างๆ 

หนึ่งในประเทศพันธมิตรที่ใกล้ชิดสหรัฐที่สุดแต่ขณะนี้มีรัฐบาลที่มาจากคนละขั้วการเมืองคือ สหราชอาณาจักร ซึ่งนายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ จากพรรคแรงงาน ซึ่งมีแนวคิดฝ่ายซ้าย ขณะที่รีพับลิกันของทรัมป์ค่อนข้างมีนโยบายทางขวาจัด ส่งผลให้นายคิม ดาร์รอค (Kim Darroch) อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำสหรัฐฯ ระหว่างปี 2016 - 2019 ซึ่งเคยอยู่ในสมัยที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐสมัยแรกในปี 2017 ได้ออกมาให้คำแนะนำต่อ นายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ ถึงแนวทางการรับมือต่อท่าทีของทรัมป์ในสมัยที่สอง

คิม ดาร์รอค ได้เขียนบทความแนะนำการรับมือของรัฐบาลอังกฤษภายใต้การนำของพรรคแรงงานผ่านเว็บไซต์เดอะการ์เดี้ยน โดยระบุว่า รัฐบาลอังกฤษควรทิ้งทุกตำราการทูตที่รู้มา เพื่อรับมือกับทรัมป์ 2.0 

ดาร์รอคแนะนำแนวทางสำคัญที่รัฐบาลอังกฤษควรใช้ในการจัดการกับการกลับมาของทรัมป์ โดยระบุว่า หากมีการพูดคุยแบบทวิภาคี ควรเน้นการพูดคุยที่กระชับ เข้าประเด็น และนำเสนอแนวคิดของสหราชอาณาจักรที่จะเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐอเมริกา มากกว่าที่จะเน้นความสัมพันธ์แบบพิเศษระหว่างสองประเทศในแบบที่อังกฤษนิยมทำมาในอดีต

ดาร์รอค ยกตัวอย่างว่า หากจะพูดคุยเรื่องสหรัฐตั้งภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมของยุโรป ควรพูดคุยกับทรัมป์โดยชี้ให้เห็นถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็อาจโน้มน้าวได้ง่ายขึ้น เช่น พูดถึงสินค้าอะไร ภาษีเท่าไร หากเก็บภาษีจะกระทบสหรัฐอย่างไร

ตามคำแนะนำของดาร์รอค หากไปบอกการขึ้นภาษีของสหรัฐจะทำร้ายเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอย่างไร ทรัมป์จะไม่สนใจ คู่เจรจรต้องพยายามโน้มน้าวให้ทรัมป์เห็นว่าการขึ้นภาษีจะทำร้ายอเมริกาอย่างไรจึงจะได้ผล 

ดาร์รอค ยังแนะนำอีกว่า ในยุคทรัมป์ 2.0 ควรหลีกเลี่ยงการตอบโต้กับบรรดาผู้ใกล้ชิดทรัมป์ อาทิ หากเกิดประเด็นปะทะคารมกับอีลอน มักส์ ให้หลีกเลี่ยงการปะทะคารมผ่านโซเชียลมีเดีย โดยดาร์รอคชี้ว่าความคิดเห็นของมัสก์ส่วนใหญ่มาจากความโกรธภายในมากกว่าจะมีผลต่อการเมืองจริงจัง

อดีตทูตอังกฤษ ยังระบุว่า ทรัมป์เป็นคนไม่ชอบการพูดยาวเวิ่นเว้อ หากต้องการโน้มน้าวเขา ควรใช้วิธีการอธิบายให้ตรงประเด็นว่า แนวคิดของคุณจะเป็นประโยชน์ต่อเขาอย่างไร โดยเฉพาะการอธิบายว่าแนวคิดนี้จะช่วยผลักดันนโยบาย “America First” ได้อย่างไร

เขาแนะนำว่า ประธานาธิบดีทรัมป์เกลียดบทสนทนายืดยาว ถ้าคุณเริ่มพูดอะไรยืดเยื้อเมื่อไหร่ ทรัมป์จะแทรกตัดบทหรือไม่ก็เบือนหน้าหนีทันที แล้วอำนาจต่อรองก็จะหายไปทันที และหากคุณนำเสนอหลายข้อเสนอ ทรัมป์อาจไม่สนใจเลย แต่หากคุณยื่นข้อเสนอที่ไม่มากเกินไป และอธิบายถึงประโยชน์ที่เขาจะได้รับ ก็จะมีโอกาสสำเร็จ

ดาร์รอค ยังให้ความเห็นว่า ในยุคทรัมป์ 2.0  การทูตระหว่างประเทศที่มีความซับซ้อนจะไม่สามารถใช้ได้ในยุคนี้ ทรัมป์อาจจะเป็นสัญญาณของการฟื้นฟูแนวคิดแบบสร้าง "เขตอิทธิพล" เหมือนที่บรรดาชาติยุโรปเคยทำในในยุคศตวรรษที่ 19 กลับมาใช้ในยุคศตวรรษที่ 21

ทรัมป์ไม่เอ่ยถึง ‘ยูเครน’ ในสปีชรับตำแหน่ง จับตา 'ปูติน' ส่งสัญญานพร้อมเจรจา

(21 ม.ค. 68) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งเมื่อวันจันทร์ (20 ม.ค.) ไม่ได้เอ่ยถึงความขัดแย้งในยูเครนโดยตรงระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ ขณะวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย แสดงความเต็มใจจะร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ในการจัดการความขัดแย้งดังกล่าว

“สหรัฐฯ เคยมีรัฐบาลที่จัดสรรเงินเพื่อปกป้องพรมแดนของต่างประเทศแต่ปฏิเสธจะปกป้องผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอเมริกันหรือประชาชนของตัวเอง” ส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์จากทรัมป์ที่เหมือนพาดพิงถึงนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโจ ไบเดน ซึ่งสนับสนุนยูเครนเพื่อชัยชนะของยูเครนในความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย

ทรัมป์ระบุว่าสหรัฐฯ จะวัดความสำเร็จทั้งด้วยชัยชนะในการสู้รบและการยุติสงครามที่ไม่เคยเข้าไปข้องเกี่ยว โดยทรัมป์นั้นกล่าวอ้างหลายครั้งว่าความขัดแย้งเรื้อรังในยูเครน ซึ่งเริ่มต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2022 จะไม่เกิดขึ้นตั้งแต่แรก หากเขาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเวลานั้น

บรรดานักวิเคราะห์ของสื่อมวลชนสหรัฐฯ พากันขบคิดหาสาเหตุว่าทำไมทรัมป์ดูเหมือนจงใจไม่เอ่ยถึงยูเครนโดยตรง ทั้งที่เขาเคยคุยโวก่อนหน้านี้ว่าเขาจะยุติความขัดแย้งในยูเครนโดยเร็วหลังจากเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ โดยเมื่อไม่นานนี้ ทรัมป์เผยว่ามีการเตรียมการประชุมหารือระหว่างเขากับปูติน

แถลงการณ์จากทำเนียบเครมลินของรัสเซียระบุว่าปูตินกล่าวระหว่างการประชุมกับสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งรัสเซียเมื่อวันจันทร์ (20 ม.ค.) ว่ารัสเซียไม่เคยปฏิเสธการเจรจาและเปิดกว้างสู่ความร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐฯ มาโดยตลอด พร้อมใช้โอกาสนี้แสดงความยินดีกับทรัมป์ที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ทรัมป์ขู่!! หากปูตินเมินเจรจายุติขัดแย้งยูเครน เตรียมเจอมาตรการคว่ำบาตรสุดโหด

(22 ม.ค.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ กล่าวถึงสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ดำเนินมายาวนานเข้าสู่ปีที่ 3 โดยระบุว่า หากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ปฏิเสธการเข้าร่วมเจรจาเพื่อยุติสงคราม รัฐบาลสหรัฐอาจพิจารณาขยายมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อรัสเซีย

ทรัมป์ชี้ว่า การที่ปูตินยังไม่บรรลุข้อตกลงสันติภาพถือเป็นการสร้างความเสียหายให้กับรัสเซียเอง และกระตุ้นให้ปูตินเข้าร่วมกระบวนการเจรจาโดยเร็ว เพราะหากต้องเผชิญมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม เศรษฐกิจของรัสเซียที่อ่อนแอจากผลกระทบของสงครามจะได้รับความเสียหายหนักขึ้นไปอีก

ในขณะเดียวกัน ปูตินแสดงความชื่นชมต่อความตั้งใจของทรัมป์ที่จะหลีกเลี่ยงการนำโลกเข้าสู่ความเสี่ยงของสงครามโลกครั้งที่ 3 และได้แสดงความยินดีกับการเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่

เกี่ยวกับแนวทางการยุติสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ปูตินเน้นย้ำว่า การหยุดยิงชั่วคราวไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน เพราะอาจเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายรวบรวมกำลังพลกลับมาอีกครั้ง แต่ควรมุ่งสู่ 'ข้อตกลงสันติภาพระยะยาว' บนพื้นฐานของการเคารพต่อ 'ผลประโยชน์อันชอบธรรม' ของประชาชนในพื้นที่ขัดแย้ง

ในอีกด้านหนึ่ง ประธานาธิบดีปูตินได้ต่อสายตรงพูดคุยกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ในการหารือแบบทวิภาคี โดยการพูดคุยดังกล่าวเกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังจากการแถลงการณ์ของทรัมป์ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายของผู้นำสหรัฐคนใหม่


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top