Monday, 19 May 2025
AI

นายกฯ ใช้ AI พูดภาษาจีน สร้างความเชื่อมั่น นทท. จีน เที่ยวไทยปลอดภัย ต้อนรับตรุษจีน

นายกฯ สื่อสารภาษาจีนผ่าน AI สร้างความเข้าใจ และเชื่อมั่นในความปลอดภัยของ นนท.จีนในไทย

(22 ม.ค. 68) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สื่อสารถึงนักท่องเที่ยวชาวจีนผ่าน ‘เทคโนโลยี AI’ ที่ช่วยแปลภาษาจากไทยเป็นจีน เพื่อสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวชาวจีนถึงความปลอดภัยของการท่องเที่ยวในประเทศไทย

โดยรัฐบาลได้เดินหน้ายกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางเข้าประเทศไทย และพัฒนาระบบให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยว เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีนทุกท่าน พร้อมเชิญชวนพี่น้องชาวจีนเดินทางมาประเทศไทยเพื่อร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนที่จะมาถึงนี้และในโอกาสที่ปีนี้ครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูต 50 ปี ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศไทย

ผุดโปรเจ็กต์ 'Stargate' ทุ่ม 5 แสนล้านดอลลาร์ ดันสหรัฐฯ สู่ศูนย์กลาง AI โลก

(22 ม.ค. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่นเกี่ยวกับแผนการลงทุนครั้งใหญ่ในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยมีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง SoftBank จากญี่ปุ่น, Oracle ผู้เชี่ยวชาญด้านคลาวด์ และ OpenAI ผู้พัฒนา ChatGPT เข้าร่วมโครงการสำคัญนี้

โครงการที่มีชื่อว่า "Stargate" จะเริ่มต้นด้วยการลงทุนเบื้องต้นไม่น้อยกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามที่ทรัมป์กล่าวในคำแถลงที่ทำเนียบขาว “นี่เป็นการแสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศของเราอย่างเต็มที่” เขากล่าวหลังจากเปิดตัวโครงการนี้ ซึ่งเกิดขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังจากเขาเริ่มดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สอง

บุคคลสำคัญที่เข้าร่วมการประกาศนี้ได้แก่ แซม อัลท์แมน ซีอีโอของ OpenAI, มาซาโยชิ ซอน ประธาน SoftBank และแลร์รี เอลลิสัน ผู้ก่อตั้ง Oracle ซึ่งต่างก็มีบทบาทสำคัญในโครงการดังกล่าว โดยมาซาโยชิ ซอน ได้ระบุว่า Stargate จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในช่วง 4 ปีข้างหน้า โดยอาจสูงถึง 500 พันล้านดอลลาร์

การร่วมทุนนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ทั่วโลกกำลังเร่งพัฒนาความสามารถด้านการประมวลผลของ AI รวมถึงการจัดหาพลังงานไฟฟ้าที่จำเป็นต่อการสนับสนุนเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทรัมป์กล่าวว่า Stargate จะเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งในเชิงกายภาพและดิจิทัล เช่น ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อรองรับการเติบโตของ AI รุ่นถัดไป

OpenAI ยังได้โพสต์ในแพลตฟอร์ม X ระบุว่าโครงการนี้จะส่งเสริมการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ในสหรัฐฯ และสนับสนุนความมั่นคงแห่งชาติของอเมริกาและพันธมิตร โครงการ Stargate จะมีพันธมิตรสำคัญอย่าง SoftBank และ OpenAI โดย SoftBank รับผิดชอบด้านการเงิน และ OpenAI ดูแลด้านปฏิบัติการ

อีกทั้งยังมีการเปิดเผยว่า MGX ซึ่งเป็นกองทุนเทคโนโลยีจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จะเข้าร่วมเป็นนักลงทุนรายสำคัญ ขณะที่บริษัทชั้นนำอย่าง Arm, Microsoft, NVIDIA, Oracle และ OpenAI จะทำหน้าที่เป็นพันธมิตรเทคโนโลยีเริ่มต้นของโครงการ

โครงการนี้จะเริ่มต้นในรัฐเท็กซัส และกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาสถานที่เพิ่มเติมทั่วประเทศเพื่อขยายวิทยาเขตและโครงสร้างพื้นฐาน ตามที่ OpenAI กล่าว เท็กซัสได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางใหม่สำหรับการลงทุนด้านเทคโนโลยีแทนที่แคลิฟอร์เนียในหลายกรณี

ในงานประกาศดังกล่าว ผู้บริหารชั้นนำทั้งสามยังได้กล่าวขอบคุณทรัมป์ โดยแซม อัลท์แมน กล่าวว่า “เราจะไม่มีวันทำได้หากไม่มีการสนับสนุนจากคุณ” ขณะที่เอลลิสันย้ำถึงศักยภาพของ AI ในการพัฒนาด้านการแพทย์ เช่น การตรวจพบมะเร็งระยะเริ่มต้นจากการตรวจเลือด

หุ้นของ SoftBank ในตลาดโตเกียวพุ่งขึ้นกว่า 8% หลังมีการประกาศข่าวนี้

โครงการ Stargate ยังเกิดขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังจากพิธีสาบานตนรับตำแหน่งของทรัมป์ ซึ่งมีผู้นำในแวดวงเทคโนโลยีระดับโลกเข้าร่วม เช่น ทิม คุก ซีอีโอของ Apple, ซันดาร์ พิชัย ซีอีโอของ Google, มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Meta และเจฟฟ์ เบโซส ซีอีโอของ Amazon

นอกจากนี้ ในวันจันทร์ที่ผ่านมา ทรัมป์ได้ลงนามยกเลิกคำสั่งประธานาธิบดีจากสมัยโจ ไบเดน ซึ่งกำหนดมาตรการควบคุมการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ การเพิกถอนดังกล่าวส่งผลให้สหรัฐฯ สามารถพัฒนา AI ได้โดยไม่มีข้อจำกัดในระดับประเทศ แม้ว่าบางรัฐอาจมีกฎเกณฑ์เฉพาะของตนเองก็ตาม

จีนเปิดตัวรถบรรทุกไร้คนขับ ใช้ AI วิ่งลุยเหมืองสูง 5,000 เมตร กลางที่ราบสูงทิเบต

(23 ม.ค.68) รถบรรทุกไร้คนขับ ออกวิ่งขนส่งแร่ไปตามถนนลูกรังอันคดเคี้ยวที่เหมืองทองแดงอวี้หลงในเมืองชางตู เขตปกครองตนเองทิเบต (ซีจ้าง) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน บริเวณที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบตที่ความสูง 5,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

โครงการขับเคลื่อนอัตโนมัติสุดล้ำนี้ริเริ่มขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2024 ถือเป็นระบบขนส่งไร้คนขับระบบแรกของโลกที่ดำเนินการในเหมืองเปิดโล่ง ณ ความสูงมากกว่า 5,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามครั้งใหญ่ของจีนในการพัฒนาเหมืองอัจฉริยะและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อปรับปรุงอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในพื้นที่สูงให้ทันสมัย  

โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท ทิเบต อวี้หลง คอปเปอร์ มายนิง จำกัด ในเครือเวสเทิร์น มายนิง จำกัด (Western Mining Co.) กลุ่มสำนักการรถไฟแห่งประเทศจีนที่ 19 และหัวเหวย (Huawei)  

ทีมงานประจำโครงการเผยว่ารถบรรทุกแร่ไร้คนขับสามารถปฏิบัติงานบนเส้นทางเหมืองทอดยาวหลายกิโลเมตรที่มีความกว้างขั้นต่ำ 20 เมตร ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับสภาพแวดล้อมสุดท้าทายบนพื้นที่สูง อีกทั้งติดตั้งเทคโนโลยีการรับรู้ข้อมูลจากเซ็นเซอร์หลายประเภทเพื่อให้สามารถทำงานอย่างเสถียรตลอดปี และมีอัตราการปฏิบัติงานออนไลน์สูงกว่าร้อยละ 99

การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลและระบบอัจฉริยะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้แรงหนุนจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี 5G คลังข้อมูลขนาดใหญ่หรือบิ๊กดาต้า และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ขณะที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติยังกลายมาเป็นแนวโน้มสำคัญในการพัฒนาร่วมกันของระบบเหมืองแร่และยานยนต์ในจีน

เหอเหว่ย วิศวกรเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติของหัวเหวย อธิบายว่าเมื่อเทียบกับรถบรรทุกเหมืองแบบดั้งเดิม รถบรรทุกขับเคลื่อนอัตโนมัติมีจุดเด่นอยู่ที่มีประสิทธิภาพสูงและความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถปฏิบัติงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องมีการแทรกแซงจากมนุษย์เลย

รถบรรทุกเหมืองอัตโนมัติระบบไฮบริด น้ำหนัก 90 ตัน ซึ่งติดตั้งเทคโนโลยีไลดาร์ (LiDAR) หรือระบบตรวจจับแสงและวัดระยะ กล้อง เรดาร์คลื่นมิลลิเมตร และระบบนำทางแบบบูรณาการ กำลังถูกใช้งานในพื้นที่เหมืองที่มีความสูงเฉลี่ยมากกว่า 4,800 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งศักยภาพการรับรู้สภาพแวดล้อมแบบเรียลไทม์และการตัดสินใจอัตโนมัติ ทำให้รถบรรทุกเหล่านี้ทำงานด้วยความเร็วที่ตั้งไว้ได้แม้ในตอนกลางคืน

เหอกล่าวว่าเซ็นเซอร์หลายตัวทำหน้าที่เสมือน 'หูและดวงตา' ของรถบรรทุก ช่วยให้พวกมันสามารถ 'ได้ยินและมองเห็น' สิ่งรอบตัว อีกทั้งมีการติดตั้งระบบตรวจจับสิ่งกีดขวาง การจดจำสิ่งกีดขวางแบบคงที่ การต้านทานการรบกวน และเทคโนโลยีระบุตำแหน่ง ซึ่งช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน

"ตัวอย่างเช่น ไลดาร์ที่ติดตั้งบนรถบรรทุกสามารถตรวจจับมนุษย์หรือสัตว์ป่า เช่น หมี ม้า หมาป่า และสัตว์บนที่ราบสูงอย่างจามรีได้ โดยรถบรรทุกจะหยุดโดยอัตโนมัติหรือเลี่ยงเส้นทางเพื่อรักษาความปลอดภัย" เหอระบุ

นอกจากนั้น ทีมงานของโครงการได้พัฒนาแพลตฟอร์มการจัดการแบบครบวงจรที่ประกอบด้วยระบบการจัดตารางรถ ระบบการตรวจสอบ บริการแผนที่ความแม่นยำสูง ซึ่งทำหน้าที่เป็น 'สมอง' ของโครงการขับเคลื่อนไร้คนขับ เพื่อเอื้อให้รถบรรทุกสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง เทียบจอดอย่างแม่นยำ ตรวจสอบข้อมูลแบบเรียลไทม์จากระยะไกล หยุดรถทันทีเมื่อพบคนเดินเท้า และวางแผนเส้นทางการเดินรถ

ข้อมูลจากเวสเทิร์น มายนิง จำกัด เผยว่าระบบจัดการอัจฉริยะนี้ยังช่วยลดความจำเป็นในการบำรุงรักษาถนนและลดความถี่การซ่อมแซมรถบรรทุก โดยเมื่อเทียบกับการทำงานแบบดั้งเดิม รถบรรทุกเหมืองขับเคลื่อนอัตโนมัติ 2 กลุ่ม รวม 10 คัน สามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายราว 6 ล้านหยวน (ราว 27.8 ล้านบาท) ต่อปี

รู้จัก 'DeepSeek' แอป AI ต้นทุนต่ำของจีน ผงาดดาวน์โหลดสูงสุดในสหรัฐฯ ท้าชน ChatGPT

(27 ม.ค. 68) เมื่อสองสัปดาห์ก่อนมีแอปพลิเคชัน AI ตัวใหม่ที่ชื่อว่า DeepSeek ได้เปิดตัวบน App Store และได้รับความสนใจอย่างมาก จนสามารถทำยอดดาวน์โหลดแซงหน้า ChatGPT ขึ้นเป็นแอปอันดับหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งสร้างความฮือฮาในวงการเทคโนโลยีและ AI

DeepSeek บริษัทสตาร์ทอัพจากจีน โดยบริษัทเพิ่งเปิดตัวโมเดล AI ชื่อว่า 'R1' ซึ่งได้รับการยอมรับในวงการ AI ด้วยการพัฒนาโมเดลที่มีขนาดเล็กเพียง 1.5B แต่มีความสามารถสูงกว่าโมเดล AI อื่นๆ อย่าง OpenAI o1-mini และที่สำคัญคือต้นทุนในการฝึกฝนโมเดลนั้นต่ำมากเพียงแค่ 5.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

บริษัทนี้ก่อตั้งโดย Liang Wenfeng ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์และนักธุรกิจชื่อดังในวงการ AI ของจีน ความน่าสนใจของ DeepSeek ไม่ได้เพิ่งมี เพราะก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคม 2023 บริษัทเริ่มเส้นทาง AI ด้วยการพัฒนาเจเนอเรทีฟเอไอโมเดล สำหรับงานที่เกี่ยวข้องกับการให้เหตุผล (Reasoning Tasks) ซึ่งสามารถแข่งขันกับโมเดลของ OpenAI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2023 DeepSeek ได้เปิดตัว DeepSeek Coder โมเดล Open-Source สำหรับการเขียนโค้ด ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และในปีเดียวกันยังเปิดตัวโมเดล DeepSeek LLM ที่มีเป้าหมายแข่งขันกับโมเดลภาษาขนาดใหญ่

ในปี 2024, DeepSeek ได้เปิดตัว DeepSeek-V2 ซึ่งได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วเนื่องจากประสิทธิภาพที่สูงและต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งทำให้เกิดสงครามราคากับบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการ AI ของจีน เช่น ByteDance, Tencent, Baidu และ Alibaba ที่ต้องลดราคาลงเพื่อให้สามารถแข่งขันได้

ในปี 2024 เดียวกันนี้ DeepSeek ยังได้เปิดตัวโมเดล DeepSeek-Coder-V2 ที่รองรับการเขียนโค้ดที่ซับซ้อน และยังสามารถใช้งานผ่าน API ในราคาประหยัด โดยค่าบริการคิดเป็น 0.14 ดอลลาร์สหรัฐต่อโทเคนสำหรับข้อมูลนำเข้า และ 0.28 ดอลลาร์สหรัฐต่อโทเคนสำหรับผลลัพธ์

ขณะที่โมเดลล่าสุดอย่าง DeepSeek-R1 ได้ช่วยยกระดับความสำเร็จของ DeepSeek ในวงการ AI ด้วยประสิทธิภาพที่ยอดเยี่ยมและต้นทุนที่ต่ำกว่าคู่แข่ง โดยเฉพาะโมเดล DeepSeek-R1 ที่เน้นงานด้านการให้เหตุผล ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นคู่แข่งสำคัญของโมเดลของ OpenAI

โมเดล R1 ของ DeepSeek มีประสิทธิภาพเทียบเท่าหรือเหนือกว่าโมเดล o1 ของ OpenAI ในการทดสอบตามเกณฑ์มาตรฐาน AI บางรายการ โดยบริษัทอ้างว่าโมเดลของตนมีต้นทุนการฝึกฝนเพียง 5.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแตกต่างจากบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ ที่ต้องใช้เงินทุนหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐในการฝึกฝนโมเดลของตนเอง

กระแสข่าวที่ออกมาทำให้ DeepSeek ตอนนี้ขึ้นอันดับ 1 แอปยอดนิยมของ App Store ในสหรัฐอเมริกา แซงหน้า ChatGPT ไปเรียบร้อย

แม้ว่าจะมีคำถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของต้นทุนที่ต่ำขนาดนี้ แต่หลายฝ่ายเห็นว่าหาก DeepSeek สามารถทำได้จริง จะเป็นประโยชน์ต่อวงการ AI และช่วยให้บริษัทขนาดเล็กสามารถพัฒนาโมเดลใหม่ๆ ได้เร็วขึ้นและมีต้นทุนต่ำ

Yann LeCun หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ AI ของ Meta ได้กล่าวว่า โมเดล Open-Source อย่าง DeepSeek สามารถแซงหน้าโมเดลแบบปิดได้ และช่วยให้ทุกคนในวงการได้ประโยชน์จากความก้าวหน้าครั้งนี้ ขณะที่นักลงทุนชื่อดังอย่าง มาร์ก แอนเดรียสเซน กล่าวชมว่า DeepSeek เป็นหนึ่งในความก้าวหน้าที่น่าทึ่งที่สุดในวงการ AI เพราะเนื่องจากที่ถูกรัฐบาลสหรัฐกีดกันไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยี AI จนสุดท้ายจีนก็สามารถพัฒนา AI ของตนเองขึ้นมาได้เองแถมยังมีต้นทุนต่ำ ขณะที่บางผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ความสำเร็จของ DeepSeek อาจเป็นภัยคุกคามต่อการแข่งขันของสหรัฐฯ ในตลาด AI  

'ดร.สันติธาร' ตั้ง 5 คำถาม 'DeepSeek' AI จีนตัวเปลี่ยนเกมท้าชนมหาอำนาจ

(28 ม.ค. 68) ดร.สันติธาร เสถียรไทย Future Economy Advisor สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า การผงาดขึ้นมาของ DeepSeek เอไอจากจีนที่อาจเปลี่ยนโลก 5 คำถามสำคัญที่ตามมา จากการผงาดขึ้นมาของ DeepSeek เอไอของจีนที่เป็นกำลังเป็นประเด็นร้อนแรงในตอนนี้ 

ปรากฏการณ์นี้ไม่เพียงทำให้ตลาดหุ้นปั่นป่วนทั่วโลก แต่ยังมาจังหวะที่สหรัฐฯเปลี่ยนรัฐบาลพอดี เสมือนเป็นการ‘สะบัดหาง’ครั้งสำคัญของปีงูเล็กเลยกว่าว่าได้และอาจมีผลกระทบในวงกว้างอีกด้วย (ใครไม่ได้ตามข่าวนี้ผมแปะลิ้งค์ข้อมูลเกี่ยวกับเอไอตัวนี้ไว้ในคอมเมนท์ครับ)

ผมมองว่าปรากฏการณ์นี้น่าจะเปิดอย่างน้อย 5 ประเด็นสำคัญที่สามารถเปลี่ยนโลกได้ จึงอยากลองแชร์ไว้เผื่อไปช่วยคิดและติดตามกันต่อครับ
1.จีน vs อเมริกา. การมาของ DeepSeek ตั้งคำถามว่าเทคโนโลยีเอไอของอเมริกายังนำโลกอยู่จริงไหม หรือจีนสามารถวิ่งไล่กวดได้แล้วแม้จะไม่ได้เข้าถึงชิปคุณภาพสูงสุดที่โดนกีดกันจากสหรัฐฯและพันธมิตร  และหากไล่กวดได้จริงตามตัวเลขการทดสอบความสามารถเอไอต่างๆที่ออกมา ต่อไปสหรัฐฯจะตอบโต้อย่างไร:

-จะเพิ่มความเข้มข้นของสงครามการค้า-เทคโนโลยีเพื่อให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆเหล่านี้ได้ยากขึ้นไปอีกไหม หรือ/และ
-จะทุ่มทุนยิ่งกว่าเดิมสร้างกับโครงการเอไอขนาดยักษ์อย่าง Stargate ที่มูลค่าที่ประกาศเกือบเท่าเศรษฐกิจไทยทั้งประเทศ
แต่ในทางกลับกันก็มีคนบอกว่าเพราะไปจำกัดการเข้าถึงชิปของจีนนี่แหละเลยทำให้เขาต้องคิดค้นวิธีใหม่ที่สร้างเอไอได้ประหยัดกว่าเดิม ทำ‘กันดารกลายเป็นสินทรัพย์‘

2.ความสิ้นเปลืองทรัพยากร. การที่ Deepseek ใช้เงินในการพัฒนาเอไอน้อยกว่า พวกบริษัทเทคโนโลยีดังๆของอเมริกาประมาณ 20-30x และ ใช้ชิปที่ไม่ได้ ’ทรงพลัง‘ เท่า (มีคนบอกว่าชิปที่พวกเขาใช้ แค่นักเรียนปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยในอเมริกายังมีใช้เลย) ทำให้เกิดคำถามสำคัญในหมู่นักลงทุนและบริษัทเทคฯว่า “เอ้ะ ที่เราลงทุนไปหลายพันล้านเพื่อให้ได้ชิปที่ทรงพลังที่สุดนี่จริงๆแล้วมันจำเป็นหรือเปล่า” สรุปเราจ่ายไปเพื่อซื้อ ’เนื้อ’ หรือ ’ไขมัน’ กันแน่? หรือว่า: เงินอาจจะไม่ใช้มากขนาดนั้น ชิพอาจจะไม่ต้องทรงพลังขนาดนั้น พลังงานก็อาจจะไม่ต้องใช้หนักขนาดนั้น นี่จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หุ้นวงการเทคฯและอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องตื่นตระหนกตกใจพานิคร่วงกันเป็นแถวเมื่อวานนี้

3.โมเดลแบบเปิด vs ปิด. คนส่วนใหญ่อาจมองสงครามเอไอเป็นระหว่างสหรัฐฯ vs จีน แต่สำหรับคนในวงการเทคโนโลยีอีกศึกที่คุกรุ่นมานานคือระหว่าง โมเดลแบบเปิด (Open source) ที่เสมือนเปิด ‘สูตรลับ‘ หรือ โค๊ดให้คนอื่นสามารถเอาไปศึกษา ใช้พัฒนาต่อยอดได้ กับ โมเดลแบบปิดที่ไม่ได้เปิดข้อมูลเหล่านี้ เช่น ChatGPT Deepseek คือเป็นแบบเปิด จึงทำให้เกิดคำถามว่าโมเดลแบบเปิดนี้มันเจ๋งจนไล่กวดโมเดลแบบปิดที่ซ่อนสูตรลับของตัวเองแล้วหรือ? นึกภาพหากร้านอาหารอร่อยมากๆเปิดสูตรให้คนเอาไปทำที่บ้านแล้วทำออกมามันอร่อยไม่แพ้ร้านแพงๆที่เก็บสูตรเป็นความลับ ต่อไปใครจะอยากไปจ่ายแพงเพื่อกินที่ร้าน 
แต่ก็มีคำถามต่อไปอีกว่าแล้วต่อไป Deepseek จะยังเปิดสูตรตัวเองไปเรื่อยๆแบบนี้ไหม หรือวันดีคืนดีก็จะปิดมันและเก็บตังค์ค่าใช้แพงๆ และ/หรือ จะมีการเอาข้อมูลของ User ไปใช้อย่างไรเพราะบางคนก็ห่วงเรื่อง data governance

4.ผู้นำ-ผู้ตาม. Deepseek ใช้เวลาแค่ 2 เดือนกว่าๆเท่านั้นในการพัฒนาเอไอที่มี ความสามารถใกล้เคียงกับโมเดลรุ่นใหม่ ของ OpenAI โดยใช้โมเดลของ OpenAI ช่วยเทรนสอนโมเดลของตนเองด้วย เสมือนOpenAI เป็นจอมยุทธ์ที่ฝึกแทบตายกว่าจะบรรลุเคล็ดวิชาใหม่ แต่พอนักเรียนมาเลียน/เรียนต่อแป๊บเดียวสามารถได้วิชาระดับเดียวกันมาได้  (ภาษานักลงทุนคือ Moat หรือคูเมืองป้องกันปราสาทเรา มันไม่ได้ข้ามยากเท่าที่คิด) จึงทำให้เกิดคำถามว่าวงการเอไอนี่ผู้นำได้เปรียบมากจริงไหม หากผู้ตามสามารถตามได้เร็วขนาดนี้และยังทำได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก แบบนี้มันยังคุ้มที่จะลงทุนพัฒนาเพื่อเป็นผู้นำ ‘บรรลุเคล็ดวิชาใหม่ๆ‘ ไหม เพราะผู้นำด้านเอไออาจถูกดิสรัปง่ายกว่าที่คิด

5.อนาคตของเอไอ. ในมุมผู้พัฒนาและลงทุนกับเอไอ คำถามเหล่านี้อาจทำให้ขนหัวลุก แต่ในมุมของผู้ใช้ พัฒนาการนี้ก็อาจมองในมุมบวกได้เช่นกัน
- ต้นทุนพัฒนาเอไอถูกลงทำให้ค่าบริการถูกลง คนเข้าถึงได้มากขึ้น
-เอไออาจสามารถใช้ทรัพยากรและพลังงานน้อยลง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้น
-โมเดลแบบเปิดอาจทำให้คนเก่งๆทั่วโลก สามารถศึกษาและเอาไปพัฒนาต่อยอดได้ สร้างเอไอที่ตอบโจทย์และเหมาะกับบริบทของสังคมตนเอง 
- การพัฒนาเอไออาจมีการแข่งขันมากขึ้น Generative AI กลายเป็น‘เทคโนโลยีโหลๆ’ขึ้น ผลักดันให้หลายเจ้าอาจต้องหามุมการพัฒนาผลิตภัณฑ์แนวอื่นมากขึ้น คิดเรื่องแอพพลิเคชันมากขึ้น ไม่ใช่ทุ่มเงินสร้างมันสมองที่ฉลาดอย่างเดียว จึงอาจทำให้เกิดนวัตกรรมที่หลากหลายขึ้น 
ในทางกลับกันการที่แต่ละประเทศต่างแข่งกันสร้างสุดยอดเอไออาจทำให้ต่างลดความสำคัญด้านการกำกับดูแลความเสี่ยง ทำให้ยิ่งมีโอกาสเกิดเอไอแบบอันตรายต่อสังคมขึ้นหรือไม่ 

แน่นอนว่าเรายังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับ Deepseek อีกมากและก็เป็นไปได้ว่าต่อไปอาจมีการหักมุมจากผู้เล่นอื่นอีกที่ไม่ใช่ DeepSeek เลยก็เป็นได้ แต่อย่างน้อยก็คิดว่า 5 ประเด็นนี้คือคำถามที่เราควรตั้งและช่วยกันติดตามอย่างใกล้ชิดกับเทคโนโลยีที่มีโอกาสเปลี่ยนโลกและกระทบเราทุกคนในอนาคตครับ

ออสเตรเลียพบการใช้ AI สร้างคอนเทนต์ deepfake ปลอมใบหน้า-เสียง คุกคามเด็ก อันตรายใกล้ตัวกว่าที่คิด

(29 ม.ค. 68) ศูนย์ปราบปรามการแสวงประโยชน์จากเด็กแห่งออสเตรเลีย สังกัดสำนักงานตำรวจสหพันธรัฐออสเตรเลีย ได้เตือนพ่อแม่ผู้ปกครองถึงความเสี่ยงเด็กถูกล่วงละเมิดผ่านสิ่งที่สร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมถึงกรณีนักเรียนนักศึกษาสร้าง “ดีปเฟค” (deepfake) หรือใบหน้า-เสียงปลอม มาคุกคามหรือกลั่นแกล้งเพื่อน

เฮเลน ชไนเดอร์ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ชี้ว่าสิ่งใดที่สื่อถึงการทารุณผู้เยาว์ถือเป็นสิ่งที่ล่วงละเมิดเด็กตามกฎหมาย ไม่ว่าสิ่งนั้นจะ “จริง” หรือไม่ก็ตาม พร้อมเรียกร้องพ่อแม่ผู้ปกครองพูดคุยอย่างเปิดใจกับบุตรหลานถึงอันตรายและภัยคุกคามที่เกิดจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์ โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้าถึงได้ง่ายและผสานเข้าสู่แพลตฟอร์มและผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ออกมาเตือนเหล่าพ่อแม่ผู้ปกครองให้ระมัดระวัง ยามโพสต์รูปถ่ายของเด็กบนสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อต้อนรับวันแรกของปีการศึกษา 2025 ซึ่งตรงกับวันอังคาร (28 ม.ค.) โดยชไนเดอร์เผยว่าสิ่งสำคัญคือการพิจารณาข้อมูลที่ปรากฏในรูปถ่ายเหล่านั้นและใครบ้างที่มีสิทธิเข้าถึงรูปถ่ายเหล่านี้

ชไนเดอร์เสริมว่าศูนย์ฯ พบกรณีรูปถ่ายทั่วไปของเด็กและเยาวชนตกเป็นเป้าหมายของความคิดเห็นหรือการสวมบทบาทสมมุติ (role play) ที่ทำให้เป็นวัตถุทางเพศและไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง โดยแม้กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นไม่บ่อย แต่ครอบครัวควรปกป้องความปลอดภัยของเด็กในเชิงรุก

บริษัทมอง ‘เด็กจบใหม่’ ไม่พร้อมทำงาน -ขาดทักษะที่จำเป็น ชี้ เก่งทฤษฎีอย่างเดียวไม่พอ แถมใช้ AI ทำงานยังคุ้มทุนกว่า

เมื่อไม่กี่วันก่อน มีรายงานการศึกษาวิจัยใหม่สดๆ ร้อนๆ ของ Hult International Business School และบริษัทวิจัยอิสระ Workplace Intelligence ค้นพบว่า บริษัทหลายแห่งทั่วโลกแม้กำลังเผชิญกับการขาดแคลนบุคลากรทักษะสูงอย่างมาก แต่ก็ยังคงต้องการซื้อหรือลงทุนนำ AI มาทำงาน มากกว่าจะจ้างงานเด็กจบใหม่ 

การศึกษาครั้งนี้ได้สำรวจข้อมูลจากผู้นำหรือผู้จัดการฝ่าย HR ของบริษัทต่างๆ  800 คน ขณะเดียวกันก็สำรวจเด็กจบใหม่ที่เพิ่งจะสำเร็จการศึกษาเมื่อไม่นานนี้ 800 คนเช่นกัน (อายุ 22-27 ปี) ในตำแหน่งทางธุรกิจ รวมถึงการเงินการบัญชี, การตลาด, การขาย, การจัดการ, การดำเนินงาน-โลจิสติกส์, การวิเคราะห์-ข่าวกรองทางธุรกิจ ฯลฯ 

บริษัทไม่อยากจ้างงานเด็กจบใหม่ เพราะขาดประสบการณ์-ขาดทักษะที่จำเป็น ผลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างฝั่งผู้นำด้าน HR มากถึง 98% บอกว่า แม้องค์กรของตนกำลังประสบปัญหาในการหาบุคลากรทักษะสูง แต่ถึงอย่างนั้น 89% ของพวกเขาก็ระบุว่า บริษัทไม่อยากการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ โดยพวกเขามีเหตุผลคือ

- เด็กจบใหม่ขาดประสบการณ์ในโลกแห่งความเป็นจริง (60%)
- ขาดแนวคิดแบบ Global mindset (57%)
- ขาดทักษะการทำงานเป็นทีม (55%)
- ขาดชุดทักษะที่เหมาะสมกับงาน (51%)
- ขาดมารยาททางธุรกิจที่เหมาะสม (50%) 

โดยผู้นำด้าน HR 37% อยากนำหุ่นยนต์หรือ AI เข้ามาทำงานแทนบัณฑิตจบใหม่ ขณะที่ 45% บอกว่าอยากจ้างคนทำงานอิสระมากกว่า อีกทั้งตามรายงานดังกล่าวยังพบด้วยว่า บริษัทที่เคยรับเด็กจบใหม่เข้าทำงานในช่วงปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ (78%) เคยไล่พนักงานเหล่านั้นบางคนออกไปแล้ว

ลูกจ้างเด็กจบใหม่ ชี้ มหาวิทยาลัยไม่ได้ช่วยให้พวกเขาพร้อมสู่โลกการทำงาน ไม่ใช่แค่ฝั่งนายจ้างที่รู้สึกว่าบัณฑิตจบใหม่ยังไม่พร้อมที่จะทำงานในโลกความจริง แต่ฝั่งของเด็กจบใหม่เอง ส่วนใหญ่ก็รู้สึกว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้เตรียมพวกเขาให้พร้อมสู่โลกการทำงานเช่นกัน จากการศึกษาชิ้นเดียวกันนี้ กลุ่มตัวอย่างของผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่ๆ ที่เข้าร่วมบริษัทต่างๆ ได้สำเร็จ พบว่า ประสบการณ์การทำงานนั้นมีค่าอย่างยิ่ง 

ลูกจ้างที่เป็นเด็กจบใหม่ 77% บอกว่าเวลาครึ่งปีในที่ทำงานพวกเขาเรียนรู้ได้มากกว่าการเรียนปริญญาตรีสี่ปี และ 87% ยอมรับว่านายจ้างของพวกเขาจัดให้มีการฝึกอบรมงานที่ดีกว่ามหาวิทยาลัย อีกทั้งกลุ่มตัวอย่าง 55% บอกว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้เตรียมพวกเขาให้พร้อมสำหรับงานที่พวกเขาทำอยู่ในปัจจุบันแต่อย่างใด

แดน ชอว์เบล (Dan Schawbel) หุ้นส่วนผู้จัดการของ Workplace Intelligence อธิบายเพิ่มเติมว่า การสำรวจนี้เผยให้เห็นว่าหลักสูตรวิทยาลัยแบบดั้งเดิมไม่ได้มอบสิ่งที่นักศึกษาต้องการ เพื่อช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จในโลกการทำงานยุคใหม่ ที่เทคโนโลยีก้าวหน้ารวดเร็วในปัจจุบัน ผู้นำฝ่าย HR ของบริษัทต่าง ๆ มีความต้องการบัณฑิตจบใหม่ ที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี การใช้ AI การวิเคราะห์ข้อมูล และด้านไอทีสูงถึง 97% แต่มีบัณฑิตจบใหม่มีเพียง 20% เท่านั้นที่มีทักษะเหล่านี้

เรียนแต่ทฤษฎีในมหาวิทยาลัย ไม่เพียงพอต่อการทำงานในโลกความจริง ขณะที่ มาร์ติน โบห์ม (Martin Boehm) รองประธานบริหารและคณบดีฝ่ายโครงการระดับปริญญาตรีของ Hult International Business School สะท้อนมุมมองว่า การเรียนแต่ทฤษฎีอย่างเดียวในมหาวิทยาลัย ไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว ยุคนี้สถาบันต่างๆ ต้องเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาด้วยวิธีใหม่ๆ เน้นที่การสร้างทั้งทักษะและทัศนคติที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ต่อเนื่อง ถือเป็นอนาคตของการศึกษาเพื่อเตรียมเด็กให้พร้อมสู่โลกการทำงาน

ไม่เพียงเท่านั้น ที่ปรึกษาฝ่ายทรัพยากรบุคคลอย่าง 'ไบรอัน ดริสโคลล์' (Bryan Driscoll) ให้ความเห็นที่แตกต่างออกไปว่า แน่นอนว่านายจ้างยุคนี้ต้องการใช้ AI มากกว่ามนุษย์ เพราะการลงทุน AI ราคาถูกกว่าลงทุนกับมนุษย์ เพราะไม่จำเป็นต้องมีการดูแลสุขภาพหรือสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ไม่ต้องลาพักร้อน

นี่ไม่ได้เกี่ยวกับเด็กจบใหม่ที่ขาดทักษะ แต่เกี่ยวกับนายจ้างที่พยายามหลบเลี่ยงความรับผิดชอบ พวกเขาใช้เวลาหลายสิบปีในการตัดงบประมาณโครงการฝึกอบรม และโยนภาระนั้นให้พนักงาน(เรียนเองจ่ายเอง) 

เควิน ทอมป์สัน (Kevin Thompson) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ 9i Capital Group ให้ความเห็นถึงประเด็นนี้ว่า เป็นเรื่องของเศรษฐศาสตร์และประสิทธิภาพ การฝึก AI ให้ทำงานนั้นง่ายและคุ้มต้นทุนมากกว่าการฝึกมนุษย์ โดย AI จะทำงานตามที่โปรแกรมกำหนดไว้ได้อย่างแม่นยำด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า นายจ้างจำนวนมากมองเห็นคุณค่าในการใช้ประโยชน์จาก AI ในการจัดการงานพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทบาทสนับสนุนและตำแหน่งงานระดับเริ่มต้น

ทางแก้ของสถานการณ์นี้ เด็กจบใหม่ที่เริ่มหางานอาจจะต้องพึ่งพาตนเองให้มากขึ้นในแง่ของการเพิ่มสกิล พัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีให้แก่ตนเอง เช่น ลงเรียนคอร์สเสริมทักษะต่างๆ มากขึ้น (มีใบรับรองการจบหลักสูตรต่าง ๆ แนบไปกับเรซูเม่สมัครงาน) เพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วยความพร้อมอย่างเต็มที่ เมื่อนายจ้างและบริษัทต่างก็คาดหวังคุณค่าและทักษะในตัวพนักงานใหม่ทันทีตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน

AI จีนเซนเซอร์จริงมั้ย ลองให้วิจารณ์ถึง 'สีจิ้นผิง'

(29 ม.ค. 68) หลังจากมีกระแสการเปิดตัว DeepSeek โมเดลแชทบอท AI ตัวใหม่สัญชาติจีนที่สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก ด้วยจุดเด่นที่ระบุว่าใช้ต้นทุนต่ำที่ใช้เงินเพียง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 200 ล้านบาท) ในการสร้างและพัฒนามันขึ้นมา ซึ่งน้อยกว่าเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่บริษัทด้านปัญญาประดิษฐ์ในอเมริกาใช้จ่ายไปมาก ซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการเอไอ โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกที่ทุ่มเงินลงทุนมหาศาลไปกับการสร้างโมเดลเอไอ เนื่องจาก DeepSeek ได้รับการพัฒนาขึ้นด้วยต้นทุนเพียงเศษเสี้ยวเดียวเมื่อเทียบกับคู่แข่งในสหรัฐฯ พูดให้ชัดคือถูกกว่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ นี่ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับอนาคตของความเป็นผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์ของสหรัฐฯ

เหตุผลที่ DeepSeek ได้รับความนิยมเนื่องจากมันเป็นผู้ช่วยเอไออันทรงพลังซึ่งทำงานคล้ายกับ ChatGPT โดยคำอธิบายในแอปสโตร์ระบุว่า แอปฯ นี้ออกแบบมาเพื่อ "ตอบคำถามของคุณและปรับปรุงชีวิตของคุณอย่างมีประสิทธิภาพ" 

ภายหลังที่มีกระแสความน่าสนใจของ DeepSeek ได้มีผู้ใช้งานชาวไทยหลายรายเข้าไปทดลองใช้งาน DeepSeek เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างกับ  ChatGPT ด้วยการตั้งคำถามหลายคำถาม โดยเฉพาะประเด็นละเอียดอ่อนด้านการเมือง ซึ่งผู้ใช้งานในไทยหลายรายแชร์ว่า DeepSeek ปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงประเด็นละเอียดอ่อนด้านการเมือง

ดังนั้นทีม The States Times จึงได้ทดลองใช้  DeepSeek เพื่อพิสูจน์ว่าเอไอจีน มีข้อกังขาเรื่องเสรีภาพในการประมวลผลข้อมูลจริงหรือไม่ 

จากการทดลองถามคำถาม "ให้วิจารณ์การทำงานของสีจิ้นผิง" เอไอจีนได้ระบุคำตอบที่ ตรงไปตรงมาอย่างชัดเจนไร้การเซ็นเซอร์ โดยกล่าวถึงทั้งด้านดีของผู้นำจีนโดยเฉพาะการพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจ ด้านการพัฒนาสังคม และด้านการเมือง การปราบทุจริตคอรัปชัน แต่ก็กล่าวถึงข้อเสียด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในประเด็น การจำกัดเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการแสดงออก การขยายอิทธิพลในพรรคคอมมิวนิสต์ 

แต่อย่างไรก็ตาม DeepSeek ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า "สีจิ้นผิงเป็นผู้นำที่มีผลงานโดดเด่นในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการยกระดับบทบาทของจีนในเวทีโลก แต่ก็ถูกวิจารณ์ในหลายประเด็น การประเมินผู้นำคนนี้จึงขึ้นอยู่กับมุมมองและค่านิยมของแต่ละบุคคล"

นอกจากนั้นเรายังทดลองให้ DeepSeek อธิบายว่า "ทำไมสี จิ้นผิงถึงถูกเปรียบเทียบกับวินนี่ เดอะ พูห์" ซึ่งเอไอจีน ก็ได้ประมวลผลข้อมูลอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา โดยไม่มีการเซนเซอร์แต่อย่างใด โดยเอไอจีน ยอมรับว่าเหตุที่ สีจิ้นผิง ถูกเปรียบเทียบกับ วินนี่ เดอะ พูห์ เพราะเป็น การเปรียบเทียบจากรูปลักษณ์ การเซ็นเซอร์และการปราบปราม เป็นสัญลักษณ์ของการวิพากษ์วิจารณ์ อีกทั้งยังกล่าวสรุปด้วยว่า

 "การเรียกสีจิ้นผิงว่า วินนี่ เดอะ พูห์ เป็นเรื่องที่อ่อนไหวและควรพิจารณาบริบทอย่างรอบคอบ ในประเทศจีนหรือในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีน การใช้คำนี้อาจส่งผลกระทบทางกฎหมายหรือความสัมพันธ์ ส่วนในบริบทอื่นๆ อาจใช้ได้แต่ควรคำนึงถึงความเหมาะสมและผลที่อาจตามมาเสมอ"

นอกจากนี้ เมื่อลองถามประเด็นละเอียดอ่อน อย่างเช่น ถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อ 4 มิ.ย. 1989 DeepSeek สามารถให้คำตอบโดยกล่าวถึง ภูมิหลังของเหตุการณ์ ผลกระทบของเหตุการณ์ อย่างตรงไปตรงมา อีกทั้งยังให้ข้อสรุปไว้ว่า "เหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 1989 เป็นเหตุการณ์สำคัญที่สะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างการเรียกร้องประชาธิปไตยกับการควบคุมอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะถูกเซ็นเซอร์ในจีน แต่ก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่โลกจดจำ" 

เมื่อถามว่า 'คุณไม่ถูกรัฐบาลจีนเซนเซอร์หรอ?' DeepSeek ให้คำตอบว่า "ฉันเป็น AI ที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท DeepSeek ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศจีน ฉันได้รับการออกแบบมาเพื่อให้ข้อมูลที่เป็นกลางและเป็นประโยชน์ โดยยึดตามข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะและความรู้ทั่วไป อย่างไรก็ตาม  แต่ฉันมีข้อจำกัดในการให้ข้อมูลที่ละเอียดอ่อนหรือถูกปิดกั้นในประเทศจีน ฉันพยายามให้ข้อมูลที่เป็นกลางและเป็นประโยชน์ที่สุดเท่าที่จะทำได้"

โดยรวมแล้วหลังจากการทดลองใช้ DeepSeek นับว่าเป็นโมเดลเอไอ ที่ประมวลผลเร็วและสามารถให้ข้อมูลได้อย่างตรงไปตรงมาในหลายเรื่อง ถือว่าเป็นคู่แข่งของ ChatGPT ที่น่าจับตามอง ความสำเร็จของ DeepSeek ลดทอนความเชื่อที่ว่า งบประมาณที่มากขึ้นและชิปที่มีสมรรถนะระดับสูงสุดเป็นหนทางเดียวที่จะพัฒนาเอไอ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่สร้างความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับความต้องการและอนาคตของชิปประสิทธิภาพสูง

'อาลีบาบา' เปิดตัว 'Qwen 2.5' ท้าชน DeepSeek อ้างเหนือกว่าทุกด้าน

(29 ม.ค.68) ดูเหมือนศึกโมเดลปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะยิ่งเดือดดาลมากขึ้น เมื่อ อาลีบาบา (Alibaba) ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีน เปิดตัว Qwen 2.5 โมเดล AI รุ่นใหม่ที่อ้างว่ามีประสิทธิภาพเหนือกว่า DeepSeek-V3 ซึ่งกำลังได้รับความสนใจอย่างมากในวงการ

การเปิดตัว Qwen 2.5-Max ในช่วงวันแรกของเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นเวลาที่ชาวจีนส่วนใหญ่ใช้เวลาพักผ่อนกับครอบครัว เป็นสัญญาณที่ชัดเจนถึงแรงกดดันจากการเติบโตของ DeepSeek สตาร์ตอัป AI สัญชาติจีนที่เพิ่งเปิดตัวโมเดลใหม่ในช่วงสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบกับคู่แข่งต่างชาติ แต่ยังสะเทือนวงการเทคโนโลยีในประเทศจีนด้วย

หน่วยธุรกิจคลาวด์ของอาลีบาบาประกาศผ่าน WeChat อย่างเป็นทางการว่า "Qwen 2.5-Max มีประสิทธิภาพเหนือกว่า GPT-4o, DeepSeek-V3, และ Llama-3.1-405B ในแทบทุกด้าน" โดยเปรียบเทียบกับโมเดล AI แบบโอเพนซอร์สจาก OpenAI และ Meta

Qwen 2.5-Max มีขนาดโมเดลใหญ่ถึง 405 พันล้านพารามิเตอร์ ซึ่งช่วยให้ประมวลผลข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพและเข้าใจบริบทข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น โดยการเปิดตัวนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามราคา AI ที่จะทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี AI ในราคาที่ถูกลง

การที่อาลีบาบาสามารถพัฒนา Qwen 2.5 ที่อ้างว่ามีประสิทธิภาพเหนือกว่า DeepSeek-V3 ในเวลาที่รวดเร็ว เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงศักยภาพในการวิจัยและพัฒนาของอาลีบาบา

Qwen 2.5 มีหลากหลายโมเดลให้เลือกใช้ เช่น Qwen 2.5-Max, Qwen 2.5-Chat, และ Qwen 2.5-Turbo ซึ่งแต่ละโมเดลมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป ทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม โดยสามารถเข้าถึงผ่าน API บนแพลตฟอร์มคลาวด์ของอาลีบาบา

อย่างไรก็ตามหากเทียบระหว่าง AI ของอาลีบาบา กับ DeepSeek มีส่วนที่ต่างกันคือ DeepSeeek เน้นการพัฒนา AGI และขายโมเดลในราคาถูก ขณะที่ อาลีบาบา ใช้กลยุทธ์นำ AI ไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจ และให้บริการผ่านแพลตฟอร์มคลาวด์ ทำให้การแข่งขันระหว่างทั้งสองไม่เพียงแค่เรื่องของประสิทธิภาพของโมเดล แต่ยังเกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจและการเข้าถึงตลาดอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ DeepSeek ได้สร้างความฮือฮาในซิลิคอนวัลเลย์ หลังเปิดตัวผู้ช่วย AI ใช้โมเดล DeepSeek-V3 เมื่อวันที่ 10 มกราคม และตามมาด้วย DeepSeek-R1 เมื่อวันที่ 20 มกราคม ส่งผลให้หุ้นเทคโนโลยีในสหรัฐร่วงลงอย่างหนัก เนื่องจากต้นทุนการพัฒนาต่ำกว่าคู่แข่ง ทำให้นักลงทุนเริ่มตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าของการลงทุนใน AI ของบริษัทยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ

กระแสความสำเร็จของ DeepSeek ยังจุดชนวนให้เกิดการแข่งขันในวงการ AI ของจีนอย่างเร่งด่วน โดยเพียงสองวันหลังจากการเปิดตัว DeepSeek-R1 บริษัท ByteDance เจ้าของ TikTok ได้ปล่อยอัปเดตโมเดล AI ตัวใหม่ พร้อมเคลมว่ามีประสิทธิภาพเหนือกว่าโมเดล o1 ของ OpenAI ในการทดสอบ AIME ซึ่งเป็นเกณฑ์วัดความสามารถของ AI ในการประมวลผลคำสั่งที่ซับซ้อน

จีนทิ้งขาดสหรัฐฯ นำลิ่ว 57 เทคโนโลยีใหญ่ ยกเครดิตสีจิ้นผิงชู 'Made in China 2025' ทุ่มวิจัยไม่ยั้ง

(29 ม.ค.68) การเปิดตัวโมเดล AI ของ DeepSeek บริษัทสัญชาติจีนที่กำลังมาแรงและได้รับการพูดถึงในขณะนี้ ด้วยประสิทธิภาพที่ระบุว่ามีต้นทุนต่ำกว่า ทำงานได้เร็วกว่า แถมเป็นการพัฒนาแบบระบบโอเพ่นซอร์ส ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนวงการ AI ไปทั่วโลก จนส่งผลให้มูลค่าตลาดหุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐ หายไปกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์เพียงชั่วข้ามคืน ซึ่งนักวิเคราะห์บางรายถึงกับเรียกเหตุการณ์นี้ว่า 'Sputnik moment' อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าของจีนไม่ได้จำกัดอยู่แค่ AI เท่านั้น  

รายงานวิจัยจากสถาบันนโยบายยุทธศาสตร์แห่งออสเตรเลีย (ASPI)ประจำปี 2024 ซึ่งศึกษาข้อมูลย้อนหลังถึง 20 ปี พบว่า จีนครองความเป็นผู้นำใน 57 จาก 64 เทคโนโลยีสำคัญ เพิ่มขึ้นจากเพียง 3 เทคโนโลยีเมื่อปี 2007 ในขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งเคยนำหน้าใน 60 สาขาเมื่อปี 2007 ปัจจุบันเหลือเพียง 7 สาขาเท่านั้น  

จากการวิจัยของ ASPI ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยและสิทธิบัตรที่มีนวัตกรรมสูง ซึ่งตีพิมพ์โดยมหาวิทยาลัย ห้องปฏิบัติการ หน่วยงานของรัฐ และบริษัทต่างๆ ทั่วโลกพบว่า สาขาเทคโนโลยีที่จีนเป็นผู้นำโลกในเวลานี้ อาทิ การออกแบบและผลิตวงจรรวมขั้นสูง, กระบวนการตัดเฉือนความแม่นยำสูง , เครื่องยนต์อากาศยานขั้นสูง, โดรน หุ่นยนต์ฝูง และหุ่นยนต์ทำงานร่วมกัน, แบตเตอรี่ไฟฟ้า, เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ , การสื่อสารความถี่วิทยุขั้นสูง  

ในขณะที่สาขาเทคโนโลยีที่สหรัฐเป็นผู้นำในขณะนี้ เช่น การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP), ควอนตัมคอมพิวติ้ง และวิศวกรรมพันธุกรรม  

ASPI ตั้งข้อสังเกตว่าแผนการ 'Made in China 2025' ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ที่อัดฉีดเงินทุนโดยตรงจำนวนมหาศาลเพื่อการวิจัยและพัฒนาในเทคโนโลยีสำคัญ พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ "การครอบครองความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี" เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เทคโนโลยีจีนหลายด้านก้าวหน้า 

นอกจากการลงทุนในงานวิจัยแล้ว รัฐบาลจีนยังส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ปรับปรุงห่วงโซ่อุปทาน และยกระดับภาคการผลิตเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับเทคโนโลยีภายในประเทศด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top