Friday, 4 April 2025
AI

‘ยูนนาน’ ใช้ ‘AI’ ช่วยตรวจสอบ ‘สถานีไฟฟ้าย่อย’ 621 แห่ง ชี้ ภารกิจเสร็จสิ้นไม่ถึง 5 นาที ต่างจากแรงงานมนุษย์ที่นานถึง 5 ชม.

เมื่อวานนี้ (13 มี.ค. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการตรวจสอบสถานีไฟฟ้าย่อย 621 แห่งแบบเป็นประจำ ซึ่งช่วยทดแทนความจำเป็นในการใช้กำลังคน

ทางด้าน บริษัท ไชน่า เซาธ์เทิร์น พาวเวอร์ กริด สาขาอวิ๋นหนาน ระบุว่า การตรวจสอบด้วยปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้กล้อง โดรน และหุ่นยนต์เดินได้ สามารถทำให้ภารกิจเสร็จสิ้นภายในไม่ถึง 5 นาที ลดลงจากการใช้แรงงานมนุษย์ที่นาน 5 ชั่วโมง

หวังซิน ผู้จัดการอาวุโสของบริษัทฯ สาขาอวิ๋นหนาน กล่าวว่า อวิ๋นหนานเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำและไฟฟ้าพลังงานสะอาดรูปแบบอื่นๆ ที่สำคัญ โดยมีสถานีไฟฟ้าย่อย 35 กิโลโวลต์ขึ้นไป จำนวน 1,937 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภูเขา และการเข้าถึงสถานีย่อยเกือบครึ่งหนึ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาเดินทางบนถนนมากกว่า 3 ชั่วโมง

หวังซิน เผยว่า การตรวจสอบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ คาดว่าจะทำให้แรงงานมนุษย์ไม่ต้องเดินทางยาวนานบนถนน ซึ่งช่วยลดต้นทุนได้อย่างมาก โดยบริษัทฯ ได้วางแผนส่งเสริมการตรวจสอบด้วยปัญญาประดิษฐ์ให้ครอบคลุมสถานีไฟฟ้าย่อยที่เหลือในอวิ๋นหนานในอีก 2 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ จีนกำลังหันไปใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อรับมือกับปัญหาขาดแคลนช่างเทคนิคในพื้นที่ภูเขาห่างไกล โดยเมื่อปีก่อน มณฑลกุ้ยโจวได้เริ่มใช้หุ่นยนต์ตรวจสอบสถานีไฟฟ้าย่อยที่เผชิญสภาพอากาศเลวร้ายจนการทำงานหยุดชะงักด้วยเช่นกัน

‘เนชั่นทีวี’ เตรียมเปิดตัวผู้ประกาศข่าว AI รายแรกของไทย หวังหนุนงานกองบรรณาธิการ-ผู้สื่อข่าว เริ่ม!! 1 เมษายนนี้

(28 มี.ค. 67) นับเป็นความสำเร็จอีกขั้น สำหรับ ‘เนชั่นทีวี ช่อง 22’ สถานีข่าว 24 ชั่วโมง เปิดเกมรุกชิงความเป็นผู้นำด้าน Tech พัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ด้วยการสร้างผู้ประกาศข่าว AI รายแรกของประเทศไทย พร้อมเปิดตัวเป็น 1 เมษายนนี้ ติดตามได้ในรายการ News Alert

ด้าน นางสาวอภิรวี พิชญเดชะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เนชั่น ทีวี จำกัด ให้ความเห็นว่า “ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Ai ถูกนำมาใช้กับภาคธุรกิจ และในหลากหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่งานข่าวแพลตฟอร์มทีวีและงานด้านสื่อสารมวลชน เห็นได้จากการเปิดตัวผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ในรูปแบบ AI ในประเทศจีน อินเดีย หรือการนำเทคโนโลยี Ai เข้ามาช่วยประมวลผล วิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมมากขึ้น เพื่อให้เกิดความแม่นยำในการนำเสนอข้อมูลสู่สาธารณชน”

เนชั่นทีวี ช่อง 22 เห็นโอกาสของการนำ Generative AI เข้ามาเพิ่มขีดความสามารถให้กับองค์กร โดยนำเทคโนโลยีมาพัฒนาใช้ในส่วนของผู้ประกาศข่าว หรือ Ai Reporter เป็นครั้งแรกในเมืองไทย ได้แก่ ผู้ประกาศ AI หญิง ‘ณัชชา’ และ ผู้ประกาศ AI ชาย ‘ณิชชาน’ 

โดยจะเผยโฉมให้เห็นบนหน้าจอในวันที่ 1 เมษายนนี้เป็นต้นไป ในรายการ Nation New Alert เวลา 14.05 น. และ เวลา 14.55 น. 

นอกจากนี้ ผู้ประกาศ AI ทั้ง 2 ท่าน สามารถต่อยอดสู่งานหลากหลายรูปแบบ อาทิ Influencer, พิธีกรงาน Event และ Virtual conference โดย Ai Reporter จะทำหน้าที่เสมือน Brand Ambassador ของเนชั่นทีวี ต่อไป

“ผู้ประกาศข่าว AI ทั้ง 2 ท่าน พัฒนามาเพื่อช่วยสนับสนุนงานข่าวให้กับกองบรรณาธิการ และเพื่อให้ผู้สื่อข่าวมีเวลาในการทำข้อมูลมากขึ้น ซึ่งการอ่านข่าวจะมีการทำโปรแกรมสร้างคำบรรยายเสียงอัตโนมัติ ที่จะทำให้รูปแบบการรายงานข่าวเป็นเสมือนผู้ประกาศจริงบนหน้าจอ ในขณะเดียวกันผู้ชมทางบ้านก็จะไม่รู้สึกว่ากำลังดู AI อ่านข่าวอยู่

ทั้งนี้ เนชั่น ทีวี มุ่งพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อเสริมศักยภาพงานข่าว พร้อมมอบประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ชม และในอนาคตสามารถนำมาต่อยอดงานข่าวได้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็น เครื่องมือสร้างบทความตามข้อมูลและเทมเพลตที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ช่วยสรุปข่าวอัตโนมัติรวมถึงการสร้างบทวิเคราะห์จากฐานข้อมูลเพื่อรายงานข่าว อีกทั้งยังสามารถประมวลเพื่อช่วยให้ผู้สื่อข่าวประหยัดเวลา สามารถมุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์เชิงลึกได้  ที่สำคัญ Ai ก้าวข้ามข้อจำกัดในด้านภาษา ผู้ชมสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างไร้ขีดจำกัด” อภิรวี กล่าวทิ้งท้าย

‘เทคนิคระยอง’ เปิดตัว AI Robot ‘น้องชะมวง’ ช่วยอ่านรายชื่อนักศึกษา ในงานรับใบประกาศนียบัตร แถมทำอย่างเต็มที่!! ‘ไม่มีบ่น-ไม่มีเหนื่อย’

เมื่อวานนี้ (28 มี.ค. 67) ที่โดมอาคารอเนกประสงค์ วิทยาลัยเทคนิคระยอง ต.ท่าประดู่ อ.เมือง จ.ระยอง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกิตติพงค์ อุตตมะเวทิน ผอ.วิทยาลัยเทคนิคระยอง เป็นประธานในพิธีมอบใบประกาศนียบัตรสำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2566 แก่ นศ. ระดับ ปวช. และ ปวส. จำนวน 1,489 คน โดยมีครูและผู้ปกครอง มาร่วมแสดงความยินดีจำนวนมาก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ครูและผู้ปกครอง ได้ร่วมแสดงความยินดีและเป็นกำลังใจให้กับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษา โดยในพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาดังกล่าว ได้มีการนำหุ่นยนต์ AI Robot ชื่อ ‘น้องชะมวง’ มาอ่าน หรือขานชื่อนักศึกษาที่เข้ารับใบประกาศนียบัตรสำเร็จการศึกษา ซึ่งสร้างความฮือฮาแก่ผู้ปกครองเด็กนักศึกษาอย่างมาก ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน

ด้าน นายกิตติพงค์ อุตตมะเวทิน ผอ.วิทยาลัยเทคนิคระยอง กล่าวว่า การใช้หุ่นยนต์ AI Robot มาขานชื่อนักศึกษาที่เข้ารับใบประกาศรับบัตรสำเร็จการศึกษาดังกล่าว สืบเนื่องจากวิทยาลัยเทคนิคระยอง เป็นสถานศึกษาที่เน้นเรื่องนวัตกรรม และเทคโนโลยีในการพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อที่จะให้ นศ. คนรุ่นใหม่ออกไปพัฒนาประเทศ ตามนโยบายของวิทยาลัยฯ ที่ต้องการให้ผู้เรียนเมื่อสำเร็จการศึกษาไปแล้วมีสมรรถนะสูง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการบ่งบอกว่า วิทยาลัยเทคนิคระยอง ก้าวล้ำทางด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่าง ๆ ในการพัฒนาประเทศ แถมการนำหุ่นยนต์ AI Robot ‘น้องชะมวง’ มาขานชื่อ นศ.เข้ารับใบประกาศนียบัตรสำเร็จการศึกษาดังกล่าว ยังมีข้อดีคือ น้องไม่มีบ่น ไม่มีเหนื่อย และยังไม่ต้องเปลี่ยนคนอ่าน หรือขานชื่อบ่อยๆ อีกด้วย

AI พัฒนาขึ้นมาก แต่ยังด้อยด้าน ‘เหตุผล-สามัญสำนึก’ คาดอีก 3-5 ปี ข้างหน้า อาจเข้ามาแย่งงานคน ในงานวิจัยขั้นสูง

เมื่อเร็ว ๆ นี้ Business Tomorrow รายงานว่า Human-Centered Artificial Intelligence (HAI) หน่วยงานศึกษาวิจัยด้าน AI ของมหาวิทยาลัย Stanford ออกรายงานประจำปีดัชนีด้าน AI ประจำปี 2024 โดยได้แบ่งการศึกษาออกเป็นดังต่อไปนี้

AI มีความสามารถเหนือมนุษย์ แต่ยังไม่ใช่ทุกอย่าง
ในการทดสอบ 9 หัวข้อ HAI พบว่า AI มีความสามารถที่เหนือกว่าค่ามาตรฐานของมนุษย์แล้วหลายอย่าง (บางอย่างแซงนานแล้ว) เช่น การจำแนกรูปภาพ, การอ่านจับใจความ, การให้เหตุผลจากรูปภาพ, การตีความภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ตามบางอย่าง AI ยังทำได้แย่กว่ามนุษย์ โดยเฉพาะงานที่ต้องอาศัยบริบทที่ซับซ้อนประกอบ เช่น การให้เหตุผลตามสามัญสำนึก หรือคณิตศาสตร์แก้โจทย์ปัญหาระดับแข่งขัน

งานวิจัย AI เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
งานวิจัยด้าน AI มีจำนวนเพิ่มขึ้นสูงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในปี 2020 งานวิจัยมีประมาณ 88,000 หัวข้อ ส่วนปี 2022 มีถึง 240,000 หัวข้อ ส่วนโมเดล Machine Learning ที่โดดเด่นนั้น ในปีที่ผ่านมามี 51 โมเดล ที่มาจากภาคเอกชน, 21 โมเดลจากความร่วมมือสถาบันการศึกษาและเอกชน และ 15 โมเดล ที่มาจากภาคการศึกษา ส่วนใหญ่โมเดลเหล่านี้มาจากสหรัฐอเมริกา ตามด้วยจีนในอันดับสอง

AI อาจแย่งงานมนุษย์ แต่ช่วยได้มากในฝั่งวิทยาศาสตร์ 
ผลสำรวจโดย Ipsos ต่อประชาชนทั่วโลกว่ามอง AI จะส่งผลกระทบอย่างไร พบว่าการตระหนักรู้ของผู้คนนั้นมีมากขึ้น 66% (เพิ่มจาก 60%) บอกว่า AI จะกระทบกับชีวิตพวกเขาภายใน 3-5 ปี, 52% กังวลในความสามารถของ AI ที่จะส่งผลกระทบเรื่องต่าง ๆ ถึงแม้ผู้คนจะกังวลกับ AI แต่วงการวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้นสูงนั้นได้ประโยชน์จาก AI มาก ในปี 2023 มีงานวิจัยหลายอย่างที่ใช้ AI ช่วยทำให้ได้ผลลัพธ์รวดเร็วมากขึ้น เช่น AlphaDev ที่สามารถเขียนอัลกอริทึม Sort ความเร็วสูงที่เกินกว่าคนทั่วไปเขียนได้, FlexiCubes กระบวนการขึ้นรูป 3D, GraphCast โมเดลพยากรณ์อากาศ, GNoME ที่ช่วยค้นพบวัสดุใหม่ และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ได้ AI มาช่วยเร่งความเร็วในการประมวลผล

เปิดโลกที่ไร้กรอบด้วย เทคโนโลยีการแก้ไขสายตาด้วย AI ( Smart Sight ) ศูนย์เลสิกโรงพยาบาลพญาไท3

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์เลสิกโรงพยาบาลพญาไท3 จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวเทคโนโลยีการแก้ไขสายตาด้วย AI  ( Smart Sight ReLEx  ) โดยงานนี้ได้รับเกียรติจาก นายแพทย์สุรพล โล่ห์สิริวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท3 กล่าวต้อนรับเปิดงานในครั้งนี้ ร่วมด้วยคณะผู้บริหารและทีมแพทย์  แสดงถึงความพร้อมก้าวไปอีกขั้นของการแก้ปัญหาด้านสายตาโดยการใช้เทคโนโลยี  AI เข้ามาช่วยควบคุมและคำนวณการแยกชั้นกระจกตาให้เป็นเลนส์ รวมถึงมีระบบการจดจำรูม่านตา ติดตามการเคลื่อนไหวและการหมุนของดวงตา ก่อนทำการผ่าตัดและขณะทำการผ่าตัด โดยทำงานร่วมกับการออกแบบและวางแผนการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของศูนย์เลสิกโรงพยาบาลพญาไท 3 ซึ่งวิธีนี้เป็นการรักษาภาวะสายตาผิดปกติแบบไร้ใบมีด แผลเล็กใน Version ล่าสุด ที่มีความแม่นยำสูงได้ผลการผ่าตัดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ พญ. กิตติกมล วงศ์ไพศาลสิน จักษุแพทย์เฉพาะทางด้านกระจกตาและการแก้ไขสายตา ศูนย์เลสิก โรงพยาบาลพญาไท 3 ยังได้ร่วมพูดคุยถึงเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย โดยเลือกใช้เครื่องรักษาสายตาผิดปกติด้วยเลเซอร์รุ่นใหม่ล่าสุดที่มีประสิทธิภาพในการรักษาสูงด้วยเทคนิคการรักษาที่ครบวงจรไม่ว่าจะเป็น เทคนิค Smart Surf ,  Smart Lasik Smart Sight , การผ่าตัดใส่เลนส์เสริม ICL ,  การรักษาภาวะตาแห้ง IPL หากคุณมีปัญหาด้านสายตาศูนย์เลสิก โรงพยาบาลพญาไท3ของเราพร้อมที่จะดูแลและพร้อมเปิดโลกที่ไร้กรอบที่ตอบโจทย์ทุกการแก้ไขปัญหาสายตาสำหรับคุณ

‘สหรัฐฯ’ วอน ‘จีน-รัสเซีย’ เร่งประกาศเจตนารมณ์ “การใช้นิวเคลียร์ต้องตัดสินใจโดยมนุษย์ ไม่ใช่ AI”

(2 พ.ค.67) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกมาเรียกร้องให้จีนและรัสเซียประกาศเจตนารมณ์ในลักษณะเดียวกับสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ว่าการใช้อาวุธนิวเคลียร์จะต้องอยู่ภายใต้การตัดสินใจโดยมนุษย์เท่านั้น ไม่ใช่โดยปัญญาประดิษฐ์ (AI)

นายพอล ดีน รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ประจำสำนักควบคุม ป้องปราม และเสถียรภาพอาวุธ กล่าวในงานแถลงข่าวออนไลน์ว่า รัฐบาลสหรัฐได้ให้คำมั่นอย่างชัดเจนและเด็ดขาดว่า มนุษย์เท่านั้นที่มีอำนาจควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด โดยฝรั่งเศสและอังกฤษก็ได้ประกาศเจตนารมณ์ในทำนองเดียวกัน

“เราหวังว่าจีนและสหพันธรัฐรัสเซียจะออกแถลงการณ์ในลักษณะเดียวกัน” นายดีนกล่าวและว่า “เราเชื่อว่านี่เป็นบรรทัดฐานสำคัญอย่างยิ่งของพฤติกรรมที่มีความรับผิดชอบ และจะเป็นที่ยินดีอย่างยิ่งในบริบทของ P5” 

ทั้งนี้คำกล่าวของ นายดีน ยังหมายรวมถึง 5 ประเทศสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติด้วย

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ความเห็นของนายดีนมีขึ้นในขณะที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน พยายามที่จะมีการหารือกับจีนอย่างละเอียด ทั้งในเรื่องนโยบายอาวุธนิวเคลียร์และการเติบโตของ AI

ประเด็นการแพร่กระจายเทคโนโลยี AI ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในการเจรจาครั้งสำคัญระหว่างนายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กับนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 26 เม.ย.

นายบลิงเกนกล่าวว่า “ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะจัดการประชุมทวิภาคีเกี่ยวกับ AI เป็นครั้งแรกในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า โดยจะแลกเปลี่ยนมุมมองกันว่าจะบริหารความเสี่ยงและความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี AI ให้ดีที่สุดได้อย่างไร ในฐานะส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูการสื่อสารทางทหารให้กลับสู่ภาวะปกติ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และจีนได้กลับมาหารือเรื่องอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้งในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี คาดว่าจะยังไม่มีการเจรจาควบคุมอาวุธอย่างเป็นทางการในเร็ว ๆ นี้”

Microsoft ลุยสร้าง Generative AI ที่ไม่ต้องเชื่อมโลกอินเทอร์เน็ต ช่วยองค์กรลับสหรัฐฯ วิเคราะห์ข้อมูลลับสุดยอดได้อย่างปลอดภัย

(8 พ.ค. 67) Business Tomorrow เผย Microsoft กำลังสร้างโมเดล Generative AI ที่แยกออกจากโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งเตรียมเข้าไปใช้ในหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ เพื่อนำเทคโนโลยีอันทรงพลังเข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นความลับสุดยอดได้อย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ หน่วยงานสายลับทั่วโลกต้องการ AI เชิงสร้างสรรค์ เพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าใจและวิเคราะห์ปริมาณข้อมูลลับที่เพิ่มขึ้นทุกวัน แต่ยังคงต้องการข้อมูลโมเดลภาษาขนาดใหญ่ ทำให้เมื่อมีการเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ตอาจเสี่ยงการถูกแฮ็กหรือข้อมูลที่รั่วไหลออกไปได้

ทั้งนี้ Microsoft ได้ปรับใช้โมเดลที่ใช้ GPT4 และองค์ประกอบสำคัญที่รองรับบนคลาวด์ด้วยการแยกข้อมูลที่สำคัญและการวิเคราะห์ออกจากอินเทอร์เน็ตสำหรับองค์กรลับของสหรัฐฯ โดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม Microsoft ใช้เวลา 18 เดือนที่ผ่านมาในการพัฒนาระบบ รวมถึงการยกเครื่อง Super Computer AI ที่มีอยู่ในไอโอวาให้กับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ

‘จีน’ เดินหน้าสร้าง ‘ห้องปฏิบัติการ AI’ หวังงัดเทคโนโลยี ช่วยเหลือผู้พิการ

(17 พ.ค. 67) สหพันธ์คนพิการแห่งประเทศจีน และไอฟลายเทก (iFlytek) หนึ่งในบริษัทปัญญาประดิษฐ์ (AI) ชั้นนำของจีน ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือในนครเหอเฝย เมืองเอกของมณฑลอันฮุยทางตะวันออกของจีน เพื่อสร้างห้องปฏิบัติการร่วมด้านปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป สำหรับให้ความช่วยเหลือผู้พิการ

ทั้งนี้ ห้องปฏิบัติการจะช่วยพัฒนาองค์ประกอบด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์-คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ช่วยเหลือการฟื้นฟูสมรรถภาพอัจฉริยะ ดำเนินการวิจัยหลายหมวดหมู่เกี่ยวกับความช่วยเหลืออัจฉริยะสำหรับผู้พิการ และสร้างสถานการณ์การใช้งานเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้พิการ

โจวฉางขุย ประธานคณะกรรมการบริหารของสหพันธ์ฯ กล่าวว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถือเป็นความช่วยเหลือที่สำคัญสำหรับการสร้างชีวิตที่ดียิ่งขึ้นให้แก่ผู้พิการ และส่งเสริมการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงสำหรับประชากรกลุ่มนี้

อนึ่ง วันอาทิตย์ (19 พ.ค.) ที่กำลังจะถึงนี้ ตรงกับวันคนพิการแห่งชาติจีน (National Day of Disabled Persons) ครั้งที่ 34

ทีมผู้สร้างโปรแกรม AI ของ Stanford ยอมรับผิด หลังลอกผลงานของทีมนักพัฒนา AI จากจีน

เรื่องอื้อฉาวของแวดวง AI วันนี้ ต้องยกให้กับข่าวการโพสต์ข้อความขอโทษอย่างเป็นทางการจาก 2 สมาชิกในทีมนักพัฒนาโปรแกรม AI จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สถาบันการศึกษาระดับโลกในรัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐอเมริกา หลังจากที่ถูกจับได้ว่าลอกงานเขียนโปรแกรมของทีมนักพัฒนา AI ของจีน

2 สมาชิกคนดังกล่าวคือ Siddharth Sharma และ Aksh Garg หนึ่งในสมาชิกทีมพัฒนา Llama3-V ที่ใช้รูปแบบโมเดลภาษาของ Meta AI ซึ่ง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เคยกล่าวว่าเป็นรูปแบบภาษาที่มีความล้ำหน้า หลากหลาย ที่ใช้ไฟล์ขนาดเล็กกว่า GPT งานของ Open AI ค่ายคู่แข่งหลายเท่า 

ซึ่ง Llama3-V เพิ่งปล่อยออกมาในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 โดยทีม Stanford AI และได้เปิดหลักสูตรอบรม Llama3-V ตัวใหม่ ที่เคลมว่ามีศักยภาพเหนือกว่าโปรแกรมอื่น ๆ อย่าง GPT-4V Gemini Ultra และ Claude Opus ในราคาคอร์สละ 500 ดอลลาร์ 

แต่ต่อมา ผู้ที่เข้าร่วมคอร์ส Llama3-V ได้ตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมโครงสร้างโปรแกรมของ Llama3-V หลายจุด เหมือนกับ โปรแกรม MiniCPM-Llama3-V 2.5 ผลงานของบริษัท ModelBest ที่ร่วมกับทีมนักพัฒนาจาก มหาวิทยาลัยชิงหวาของจีน ไม่มีผิดเพี้ยน และได้นำโค้ดของทั้ง 2 โปรแกรมมาเทียบให้ดู เพื่อให้ชาวเน็ตผู้เชี่ยวชาญด้านโปรแกรมมาพิสูจน์ความเหมือน

จนกระทั่งวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมาบริษัท ModelBest ออกมาพูดถึงกรณีนี้ว่า โปรแกรมที่พัฒนาโดยทีมจากสแตนฟอร์ดนั้น ใช้โค้ดเหมือนกับ MiniCPM ของจีนจริง และยังมีความสามารถที่เหมือนกันคือ สามารถแยกตัวอักษรจีนโบราณได้ และมีจุดบกพร่องในตำแหน่งเดียวกันอีกด้วย จึงยืนยันได้ว่าเป็นการลอกผลงานจริง 

หลี ต้าไห่ ประธานบริษัท ModelBest ยังกล่าวอีกว่า "การได้รับการยอมรับจากทีมพัฒนาระดับนานาชาตินั้นเป็นเรื่องดี และเราเชื่อมั่นในการสร้างสังคมที่เปิดใจกว้าง มีความร่วมมือ และไว้วางใจซึ่งกันและกัน ซึ่งเราก็อยากให้ผลงานของทีมเราได้ถูกค้นพบ และได้รับการยกย่องอย่างที่ควรจะเป็น แต่ไม่ใช่ในลักษณะนี้”

เมื่อหลักฐานชัดเจน 2 สมาชิกจากทีมผู้พัฒนา Llama3-V ก็ได้ออกมาโพสต์ยอมรับความผิด และขอโทษทีมผู้สร้าง MiniCPM ผ่าน X จากการทำงานที่ขาดความรอบคอบ จนสร้างปัญหาให้กับทีมงานทั้งหมดของโปรเจกต์ Llama3-V และกับทีม MiniCPM ของจีน รวมถึงผู้ที่ติดตามผลงานวิชาการของทีมนักศึกษาสแตนฟอร์ด และสถาบัน ที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ข่าวนี้ก่อให้เกิดประเด็นถกเถียงในแวดวงนักพัฒนา AI เป็นวงกว้าง เริ่มจาก คริสโนเฟอร์ แมนนิ่ง ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ และ ภาษาศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด พ่วงตำแหน่งผู้อำนวยการห้องวิจัยปัญญาประดิษฐ์ของมหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความประณามผ่าน X ถึงเรื่องอื้อฉาวนี้ว่า "ปลอมตั้งแต่ยังไม่สร้าง ก็เป็นได้แค่สินค้าไร้ราคาในซิลิคอน วัลเลย์" 

ด้าน ลูคัส เบเยอร์ นักวิจัยประจำห้องแล็บ AI DeepMind ของ Google แสดงความเห็นผ่านโซเชียลเช่นกันว่า จากข่าวนี้ทำให้คนในวงการได้รู้จัก MiniCPM-Llama3-V 2.5 ซึ่งถือว่าเป็นโมเดลที่ดีทีเดียว เพียงแค่คนไม่ค่อยสนใจเพราะมองว่าเป็นผลงานของนักพัฒนาจีน ไม่ใช่งานของเด็ก Ivy League เท่านั้นเอง  

หลิว จือหยวน หัวหน้าทีมวิจัยของ ModelBest และรองศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยชิงหวา ได้โพสต์ข้อความผ่าน WeChat เช่นกันว่า ตอนที่เราเริ่มโครงการนี้ เรารู้ถึงช่องว่างที่ห่างมากระหว่างเทคโนโลยี AI ของจีนในตอนนั้น กับ งานพัฒนาชั้นนำของชาติตะวันตกอย่าง Sora และ GPT-4 แต่เราก็พัฒนาได้เร็วมาก จาก Nobody แห่งวงการเมื่อสิบปีก่อนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในกุญแจขับเคลื่อนสำคัญของนวัตกรรมเทคโนโลยี AI ได้ในวันนี้

ในขณะที่ข่าวนี้ ทำให้ทีมหนึ่งดับ แต่อีกทีมหนึ่งกำลังจะดัง เป็นที่รู้จักในวงการมากขึ้นว่า 'AI ของทีมจีนนั้นดูแคลนไม่ได้' เพราะยิ่งเทคโนโลยีล้ำหน้ามากเท่าไหร่ ยิ่งพิสูจน์ได้ชัดเจนว่า ทองแท้ย่อมไม่แพ้ไฟ

นักพัฒนา AI ของ OpenAI และ Google DeepMind ออกโรงเตือน ความเสี่ยงร้ายแรงจากเทคโนโลยีเหล่านี้ อาจทำ 'มนุษย์สูญพันธุ์'

เมื่อวันที่ (4 มิ.ย.67) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กลุ่มอดีตและพนักงานปัจจุบันของบริษัท AI ชั้นนำอย่าง OpenAI และ Google DeepMind ได้ออกจดหมายเตือนถึงอันตรายของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ขั้นสูง อาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของมนุษยชาติพนักงาน 13 คน ซึ่ง 11 คนเป็นอดีตหรือพนักงานปัจจุบันของ OpenAI บริษัทผู้สร้าง ChatGPT ได้ลงนามในจดหมายชื่อว่า 'สิทธิในการเตือนเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูง' (A Right to Warn about Advanced Artificial Intelligence) ส่วนอีก 2 คนเป็นอดีตและพนักงานปัจจุบันของ Google DeepMind โดยมี 6 คนไม่เปิดเผยตัวตน

รายละเอียดของจดหมายเตือนฉบับดังกล่าวระบุว่า เราเป็นทั้งพนักงานปัจจุบันและอดีตพนักงานของบริษัท AI ชั้นนำ และเราเชื่อมั่นในศักยภาพของเทคโนโลยี AI ที่จะมอบประโยชน์ที่ไม่เคยมีมาก่อนให้แก่มนุษยชาติ

อย่างไรก็ตาม เราก็ตระหนักถึงความเสี่ยงร้ายแรงที่เกิดจากเทคโนโลยีเหล่านี้ ความเสี่ยงเหล่านี้มีตั้งแต่การซ้ำเติมความไม่เท่าเทียมที่มีอยู่เดิม การบิดเบือนข้อมูลและข่าวสาร ไปจนถึงการสูญเสียการควบคุมระบบ AI อิสระ ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของมนุษย์ บริษัท AI เองก็ได้ยอมรับถึงความเสี่ยงเหล่านี้ เช่นเดียวกับรัฐบาลทั่วโลก และผู้เชี่ยวชาญด้าน AI อื่น ๆ

เราหวังว่าความเสี่ยงเหล่านี้จะสามารถบรรเทาได้อย่างเหมาะสมด้วยคำแนะนำที่เพียงพอจากชุมชนวิทยาศาสตร์ ผู้กำหนดนโยบาย และประชาชน อย่างไรก็ตาม บริษัท AI มีแรงจูงใจทางการเงินที่แข็งแกร่งที่จะหลีกเลี่ยงการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ และเราไม่เชื่อว่าโครงสร้างการกำกับดูแลกิจการขององค์กรเพียงอย่างเดียวจะเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ได้

บริษัท AI มีข้อมูลที่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะจำนวนมากเกี่ยวกับความสามารถและข้อจำกัดของระบบ มาตรการป้องกันที่เพียงพอ และระดับความเสี่ยงของอันตรายประเภทต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพวกเขามีภาระผูกพันเพียงเล็กน้อยที่จะแบ่งปันข้อมูลบางส่วนนี้กับรัฐบาล และไม่มีเลยกับภาคประชาสังคม เราไม่คิดว่าพวกเขาจะสามารถพึ่งพาให้แบ่งปันข้อมูลเหล่านี้โดยสมัครใจได้

ตราบใดที่ยังไม่มีการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาลต่อบริษัทเหล่านี้ พนักงานปัจจุบันและอดีตพนักงานจึงเป็นหนึ่งในคนไม่กี่คนที่สามารถทำให้พวกเขารับผิดชอบต่อสาธารณชนได้ แต่ข้อตกลงการรักษาความลับที่กว้างขวางขัดขวางไม่ให้เราแสดงความกังวล ยกเว้นกับบริษัทที่อาจล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ การคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสทั่วไปไม่เพียงพอ เพราะมุ่งเน้นไปที่กิจกรรมที่ผิดกฎหมาย ในขณะที่ความเสี่ยงหลายประการที่เราเกี่ยวข้องยังไม่ได้รับการควบคุม บางคนกลัวการตอบโต้ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างสมเหตุสมผล เนื่องจากประวัติของคดีดังกล่าวในอุตสาหกรรม เราไม่ใช่คนแรกที่พบหรือพูดถึงปัญหาเหล่านี้
 
ดังนั้น เราจึงขอเรียกร้องให้บริษัท AI ขั้นสูงให้คำมั่นสัญญากับหลักการเหล่านี้

1. บริษัทจะไม่เข้าร่วมหรือบังคับใช้ข้อตกลงใด ๆ ที่ห้าม 'การดูหมิ่น' หรือวิพากษ์วิจารณ์บริษัทสำหรับข้อกังวลที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยง หรือตอบโต้การวิพากษ์วิจารณ์ที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงโดยขัดขวางผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจใด ๆ

2. บริษัทจะอำนวยความสะดวกในกระบวนการที่ไม่เปิดเผยตัวตนที่สามารถตรวจสอบได้สำหรับพนักงานปัจจุบันและอดีตพนักงาน เพื่อแจ้งข้อกังวลที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อคณะกรรมการของบริษัท ต่อหน่วยงานกำกับดูแล และต่อองค์กรอิสระที่เหมาะสมที่มีความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง

3. บริษัทจะสนับสนุนวัฒนธรรมของการวิจารณ์อย่างเปิดเผย และอนุญาตให้พนักงานปัจจุบันและอดีตพนักงานแสดงความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงเกี่ยวกับเทคโนโลยีของบริษัทต่อสาธารณะ ต่อคณะกรรมการของบริษัท ต่อหน่วยงานกำกับดูแล หรือต่อองค์กรอิสระที่เหมาะสมที่มีความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ตราบใดที่ความลับทางการค้าและทรัพย์สินทางปัญญาอื่น ๆ ได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม

4. บริษัทจะไม่ตอบโต้พนักงานปัจจุบันและอดีตพนักงานที่เปิดเผยข้อมูลลับที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อสาธารณะหลังจากกระบวนการอื่นล้มเหลว เรายอมรับว่าความพยายามใด ๆ ในการรายงานข้อกังวลที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงการเปิดเผยข้อมูลลับโดยไม่จำเป็น ดังนั้น เมื่อมีกระบวนการที่เพียงพอสำหรับการแจ้งข้อกังวลต่อคณะกรรมการของบริษัท ต่อหน่วยงานกำกับดูแล และต่อองค์กรอิสระที่เหมาะสมที่มีความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องแล้ว เรายอมรับว่าควรแจ้งข้อกังวลผ่านกระบวนการดังกล่าวก่อน อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่มีกระบวนการดังกล่าว พนักงานปัจจุบันและอดีตพนักงานควรคงไว้ซึ่งเสรีภาพในการรายงานข้อกังวลของตนต่อสาธารณะ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top