Monday, 19 May 2025
AI

กฟผ. ผนึกกำลัง GISTDA เสริมศักยภาพนวัตกรรม-AI ใช้ข้อมูลสร้างความมั่นคงระบบพลังงานและไฟฟ้าไทย

เมื่อวันที่ (11 ต.ค. 67) ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ โดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาสร้างนวัตกรรมเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในภารกิจของ กฟผ. รวมถึงความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิชาการ การใช้นวัตกรรม และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระหว่างสองหน่วยงาน ณ กฟผ. สำนักงานใหญ่ จ.นนทบุรี

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า GISTDA เป็นหน่วยงานที่พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ โดยหนึ่งในภารกิจเป็นการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม Thailand Earth Observation Satellite 2 หรือ THEOS-2 และข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมอื่น ๆ ทั้งทางด้านการเกษตร ภัยพิบัติ จุดความร้อน (Hot Spot) ข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา และอุทกศาสตร์จากสถานีเรดาร์ชายฝั่งและดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา สำหรับจัดทำฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสามารถนำมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ รวมถึงการส่งเสริมนวัตกรรมที่จะช่วยสนับสนุนภารกิจของ กฟผ. ในทุกด้าน เพื่อให้ กฟผ. มีข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ พร้อมสนับสนุนการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับงานด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศอีกด้วย

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวเพิ่มเติมว่า GISTDA เป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญและมีศักยภาพในด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ โดยข้อมูลจากดาวเทียม และข้อมูลภูมิสารสนเทศ ประกอบกับความร่วมมือในการสร้างนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของ กฟผ. ได้เป็นอย่างดี เช่น 

การประเมินการประมาณการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ทั้งประเทศได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้ ยังใช้ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ เพื่อตรวจสอบการบุกรุกในเขตแนวสายส่งไฟฟ้า และพื้นที่ของ กฟผ. รวมถึงการประเมินศักยภาพพลังงานประเภทต่าง ๆ และการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพผลงาน รวมถึงเปิดโอกาสให้เกิดการพัฒนาศักยภาพบุคลากร กฟผ. อีกด้วย

‘รองนายกฯประเสริฐ’ ชี้ AI เครื่องมือสำคัญขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเติบโต ปลุกทุกฝ่ายร่วมกันยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ 

เมื่อวานนี้ (25 ต.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานในพิธีเปิดและปาฐกถาพิเศษ 'แนวรบประเทศไทยยุค AI 'New Business to New Economy' วิสัยทัศน์จากผู้นำองค์กรชั้นนำ' ในงานสัมมนาเชิงกลยุทธ์ Battle Strategy 'เศรษฐกิจยุค AI โอกาสของไทยและความเสี่ยง The AI Economy: Opportunity and Threat for Thailand' ซึ่งจัดโดยบริษัท เอสซีบี เอ็กซ์ จำกัด (มหาชน)  หรือ เอสซีบี เอกซ์ (SCBX) และพันธมิตรชั้นนำว่า  งานสัมมนานี้เป็นเวทีสำคัญยิ่งในการระดมสมองจากผู้นำหลากหลายภาคส่วน เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางและวางรากฐานอันมั่นคงให้กับประเทศไทย  ในยุคที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งยวดต่อเศรษฐกิจและสังคมโลก  โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่  เทคโนโลยี AI ได้เข้ามา Disrupt  ทุกอุตสาหกรรม  ธุรกิจ  และวิถีชีวิตของผู้คน  การปรับตัวให้เท่าทันกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง

"AI กำลังกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 ภาคส่วนหลัก  ได้แก่ ภาคการผลิต การนำ AI มาประยุกต์ใช้ในภาคการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต  ลดต้นทุน และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ภาคการดูแลสุขภาพ ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งนำมาซึ่งความท้าทายด้านการดูแลสุขภาพ AI จะมีบทบาทสำคัญในการยกระดับระบบการดูแลสุขภาพของประเทศ  ด้วยเทคโนโลยีการวินิจฉัยโรคด้วย AI การแพทย์ทางไกล และการรักษาแบบเฉพาะบุคคล  ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ แม่นยำ และรวดเร็ว ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา และภาคการเกษตร  ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม  มีประชากรจำนวนมากประกอบอาชีพเกษตรกร  AI จะเข้ามาช่วยพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ  เพิ่มผลผลิต  และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร  ด้วยเทคโนโลยีการเกษตรแม่นยำ  การตรวจสอบพืชผลด้วย AI  และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน" นายประเสริฐ กล่าว 

ด้านนายชาญชัย สงวนวงศ์ ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ ระบุว่า การจัดเวทีสัมมนานี้ ถือเป็นการจัดขึ้นเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ มุมมองด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในปีนี้ประเทศไทยและทั่วโลกเผชิญกับความท้าทาย เกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งกำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของโลกอย่างรวดเร็ว และกำลังกลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม การเงินการลงทุน การแพทย์สาธารณสุข หรือแม้กระทั่งการดำเนินชีวิตประจำวัน AI ได้เริ่มเข้ามามีบทบาท และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ยกระดับความสะดวกสบาย และสร้างสรรค์นวัตกรรมล้ำสมัยอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

สำหรับประเทศไทย การมาถึงของยุค AI นับเป็นทั้งโอกาสอันมหาศาลและความท้าทายที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือ โอกาสในการนำ AI มาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าและบริการ และแก้ไขปัญหาสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัวให้เท่าทันต่อวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

ขณะที่ นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน)  ได้นำเสนอวิสัยทัศน์ขององค์กรในประเด็น ‘AI-first Organization’  โดยมองว่า ในยุคปัจจุบัน AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกองค์กร ไม่เว้นแม้แต่ ‘สถานบันการเงิน’ ใช้ AI ในหลายด้านทั้งการทำความเข้าใจ การวิเคระห์ความสามารถในการขอสินเชื่อของลูกค้า และเมื่อเทคโนโลยีมาถึงจุดที่พัฒนาขีดความสามารถ SCBx ก็มีการนำมาใช้ในหลากหลายด้าน อาทิ การให้ AI เข้าไปตรวจบัญชีตามสามารถ ก็ทำให้ลดต้นทุนขององค์กร ทั้งในเรื่องของบุคลากร และเวลาในการทำงาน อีกทั้งมีความแม่นยำ และรวดเร็วมากขึ้น 

ส่วนการพัฒนาบุคลากรที่ถูก AI เข้ามา Disrupt  ในระบบการทำงาน  SCBx ได้ให้พัฒนากว่า 20,000 คนได้เรียนรู้การใช้ AI ในการทำงานภายในองค์กร ภายใต้แนวคิดที่ว่า ‘ทุกคนมีโอกาสที่จะอยู่กับ AI แทนที่จะกลัวและซ่อนงานไว้ ไม่เช่นนั้นงานขององค์กรก็ขยับไม่’

นอกจากนี้ กิจกรรมภายในงาน ยังสัมภาษณ์พิเศษ ผู้บริหารระดับสูงจาก Google Cloud ประเทศไทย และ Microsoft (ประเทศไทย) ร่วมเสวนาในหัวข้อ ‘AI Cloud: The Key to Unlocking Future Achievements’ และ ‘ความพร้อมของธุรกิจไทยกับ AI Opportunity’ เพื่อเปิดมุมมองของบริษัทไอทีชั้นนำของโลกถึงศักยภาพของเทคโนโลยีคลาวด์ AI และโอกาสของธุรกิจไทย

รวมถึงมุมมองจาก นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม บรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘Intelligent Economics: Leveraging AI Amid Climate Challenges’ ซึ่งนำเสนอแนวทางการประยุกต์ใช้ AI ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน ‘คาร์บอนเครดิต’

เผยอีก 3 ปีไม่ต้องพึ่งมนุษย์ AI แปลได้หมดทุกภาษา

(14 พ.ย. 67) Unbabel เปิดตัวบริการแปลภาษาใหม่ Widn.AI ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อก้าวเข้าสู่ตลาดแปลภาษาที่มีการแข่งขันสูง โดยซีอีโอของบริษัทเตือนว่าอีกเพียง 3 ปีข้างหน้า AI อาจพัฒนาได้ถึงขั้นที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการแปลโดยมนุษย์อีกต่อไป

Widn.AI สร้างขึ้นจากโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ที่บริษัทพัฒนาขึ้นเองในชื่อ Tower ซึ่งเป็นระบบ AI ที่คล้ายกับโมเดลเบื้องหลัง ChatGPT ของ OpenAI

วาสโก เปโดร ซีอีโอของ Unbabel ให้สัมภาษณ์กับ CNBC ว่า LLM ของบริษัททำให้ AI สามารถแปลได้ถึง 32 ภาษา แต่จากการตรวจสอบบนเว็บไซต์ของบริษัท บริการนี้ยังไม่รองรับภาษาไทย

เปโดรกล่าวว่า “เมื่อเราเริ่มก่อตั้ง Unbabel เมื่อ 10 ปีก่อน AI ยังไม่สามารถทำงานได้ถึงระดับนี้ เราจึงพัฒนาโซลูชันที่ผสานมนุษย์กับ AI … แต่ตอนนี้เป็นครั้งแรกที่เราเชื่อว่าการแปลภาษาอยู่ในขอบเขตที่ AI สามารถทำได้เต็มรูปแบบ โดยไม่ต้องพึ่งพามนุษย์”

ผลิตภัณฑ์เดิมของ Unbabel เคยใช้ระบบ Machine Learning ร่วมกับการตรวจสอบโดยมนุษย์เป็นขั้นตอนสุดท้าย อย่างไรก็ตาม เปโดรชี้ว่า Widn.AI นั้นไม่จำเป็นต้องใช้มนุษย์เข้ามาช่วยอีกต่อไป

“ผมคิดว่ามนุษย์ยังมีข้อได้เปรียบเล็กน้อยในกรณีการใช้งานที่ซับซ้อนมาก แต่นั่นเป็นข้อได้เปรียบที่เล็กน้อยจริง ๆ ยกเว้นในงานที่ยากและท้าทายอย่างมาก เราเชื่อว่า AI กำลังจะถึงจุดที่สามารถทำงานแทนมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์ และในอีก 3 ปีข้างหน้า ผมมองไม่เห็นว่าเราจะยังจำเป็นต้องใช้มนุษย์ในการแปลอีกต่อไป”

'พิชัย' เปิดงาน GCNT Forum 2567 ประกาศความสำเร็จ FTA ไทย-เอฟตา ดันเศรษฐกิจ เชื่อมั่น ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมใหม่ PCB และ AI โลก หนุนสร้าง SME รุ่นใหม่ ส่งออกสินค้าทั่วโลก

เมื่อวานนี้ (2 ธ.ค.67) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบหมายจาก นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในงาน UN Global Compact Network Thailand Forum (GCNT Forum) 2567 และกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Inclusive Business – A Catalyst for Change to an Equitable Society : ธุรกิจแบบมีส่วนร่วม – เร่งสร้างสังคมไทยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งภายในงานมีนายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย นางสาวมิเกลล่า ฟิลแบรย์-สตอเร่ ผู้ประสานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (Ms. Michaela Friberg-Storey, UN Resident Coordinator, Thailand) และสมาชิกจาก UN Global Compact Network Thailand ร่วมด้วยที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ESCAP Hall ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ โดยนายพิชัยได้ถือโอกาสนี้ประกาศความสำเร็จของการเจรจา FTA ไทย-เอฟตา ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย พร้อมเน้นย้ำถึงทิศทางของการค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ของไทย อาทิ PCB Data Center และการสนับสนุนเอสเอ็มอีไทยให้มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น 

นายพิชัย กล่าวว่า ท่านนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ตนมาเปิดงาน UN Global Compact Network Thailand Forum  (GCNT Forum) 2567 ในวันนี้ ซึ่งเป็นเครือข่ายของภาคธุรกิจที่ขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน วันนี้จีดีพีของประเทศเริ่มดีขึ้น เมื่อไตรมาสที่แล้วจีดีพีไทยโต 3% และการส่งออกของไทยตัวเลขล่าสุด (ต.ค.67) ขยายตัว 14.6% ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี แต่จะทำอย่างไรให้ดีขึ้นอีก ให้เกิดการค้าการลงทุนเพิ่มขึ้น เรื่องหนึ่งที่กระทรวงพาณิชย์ทำสำเร็จแล้วคือการเจรจา FTA ไทยกับเอฟตา หรือ สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป ที่ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ซึ่งกำลังจะลงนามกันที่ดาวอส โดยมีผู้นำหลายประเทศเข้าร่วม ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจาเขตการค้าเสรีฉบับต่อไป ขณะนี้มีหลายประเทศที่มาเร่งเรื่องการเจรจา FTA ทั้งกับ EU และ UAE และทางภาคเอกชน อย่างหอการค้าแห่งประเทศไทย แสดงความยินดีต่อความสำเร็จของรัฐบาลไทยและกระทรวงพาณิชย์ ในการเจรจา FTA ไทย-เอฟตา ที่จะช่วยเปิดโอกาส ทางการค้า ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้

“FTA มีความสำคัญมากเพราะจะทำให้มีการลงทุนเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้นอีกมาก เมื่อไม่กี่วันก่อนนักลงทุนจาก USABC (สภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน) ก็สอบถามถึงความคืบหน้าการเจรจา FTA ฉบับต่างๆ ของไทย วันนี้ ต้องเรียนว่า รัฐบาล และกระทรวงพาณิชย์จะพยายามเจรจาให้สำเร็จให้มากที่สุด ไม่เช่นนั้นศักยภาพทางการแข่งขันของไทยจะสู้กับเวียดนามได้ยาก เพราะเวียดนามมี FTA ครอบคลุมแล้วถึง 56 ประเทศ ในขณะที่ไทยเพิ่งมี 19 ประเทศ เราต้องเร่งเจรจาเพิ่มขึ้น ไม่เช่นนั้นต้นทุนการผลิตสินค้าของเราจะสู้เวียดนามไม่ได้ เนื่องจากต้นทุนเวียดนามถูกกว่าของเราอยู่แล้ว 10% แต่ถ้าเราไม่มีเขตการค้าเสรีจะต้องเสียภาษีเพิ่มอีก 20% ทำให้ต้นทุนต่างกันถึง 40% ทำให้เราต้องเร่งเจรจา FTA เพิ่มขึ้น ดังนั้น การเดินหน้าเจรจา FTA จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ” รมว. พาณิชย์กล่าว

นายพิชัยกล่าวต่อว่า ตอนนี้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยกำลังไปได้ดี มีการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ PCB (แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์) ที่หลายประเทศบอกว่าในอนาคตไทยจะเป็นศูนย์กลาง PCB ของโลก และเราจะเป็นศูนย์กลางของ Data Center และ AI ซึ่งเป็นทิศทางของโลก ที่เราต้องเร่งส่งเสริมในเรื่องนี้ ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ก็พยายามส่งเสริมให้มีเอสเอ็มอีรุ่นใหม่ให้เกิดขึ้น เมื่อวันก่อนตนไปที่เชียงใหม่ได้พบกับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้เข้าไปให้การสนับสนุน พาไปออกบูธในต่างประเทศ พาไปขายของ และสำหรับบริษัทหรือแบรนด์ที่มีศักยภาพ ทางกระทรวงพาณิชย์มีแนวคิดที่จะสร้าง Thailand Brand เพื่อการันตีคุณภาพ ให้ผู้ประกอบการสามารถขายสินค้าและพัฒนาต่อยอดได้ ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อว่าเป็นสินค้าชั้นเยี่ยม

“กระทรวงพาณิชย์ พยายามส่งเสริมให้มีเอสเอ็มอีรุ่นใหม่ให้เกิดขึ้น เน้นการขับเคลื่อนทุกภาคธุรกิจแบบมีส่วนร่วม ตามแนวทางของรัฐบาลในการส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าสู่ความยั่งยืน ผ่านนโยบายสำคัญ อาทิ 1.สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพเพิ่มช่องทางการค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ให้เอสเอ็มอีเข้าถึงตลาดทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น 2.การบริหารให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้บริโภค เกษตรกรและผู้ประกอบการ สามารถเติบโตไปพร้อมกัน สร้างผลประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย 3.การขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และ 4.ส่งเสริมผู้ประกอบการให้เข้าถึงตลาดสินค้าสิ่งแวดล้อม ตอบสนองความต้องการของตลาดที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งขณะนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เราต้องเร่งพัฒนาให้ทันต่อต่อตลาด ใช้จุดแข็งต่างๆ ชูซอฟต์พาวเวอร์ของไทยให้สามารถขายสินค้าให้มากขึ้นได้ วันนี้โลกเปลี่ยนแล้วต้องกลับมาคิดใหม่ทำใหม่ คิดเหมือนเดิมไม่ได้แล้วเพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว” นายพิชัยกล่าว

‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ ประกาศความร่วมมือ ‘ดีอี-อว.- ศธ.’ และ ‘UNESCO’ เตรียมเป็นเจ้าภาพงาน ‘UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025’ ครั้งแรกในเอเชียแปซิฟิก ย้ำบทบาทประเทศไทย ผู้นำด้านจริยธรรม AI ในเวทีโลก

(4 ธ.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) แสดงวิสัยทัศน์ผ่านปาฐกถาพิเศษในการแถลงข่าวการจัดงานประกาศความร่วมมืออย่างเป็นทางการของกระทรวงดีอี กับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในการเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลก ‘The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025’ ภายใต้แนวคิด ‘Ethical Governance of AI in Motion’ ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-27 มิถุนายน 2568 ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ว่า ความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ที่ควรต้องเป็นไปตามหลักการสำคัญ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยมีแผนและการเตรียมการในการนำ AI มาใช้ในองค์กรเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2567 สูงถึง 73.3% ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาเกือบ 20% (ข้อมูลจากรายงาน AI Readiness Measurement 2024) ที่จัดทำโดย ETDA และ สวทช. นอกจากนี้ ประเทศไทยได้มีการประกาศ แนวทางการกำกับดูแลโดยมี ‘แนวทางการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับผู้บริหาร’ และ ‘คู่มือแนวทางการประยุกต์ใช้ Generative AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับองค์กร’ เพื่อประโยชน์ในการนำแนวทางและคู่มือไปประกอบการพิจารณาการนำ AI มาใช้ในระดับองค์กรเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น จากศักยภาพของประเทศในมิติต่างๆ จึงได้นำไปสู่ความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพร่วมเพื่อจัดงาน ‘UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025’ ในปีหน้านี้ จะมีทั้งเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ การส่งเสริมความร่วมมือในระดับพหุภาคี รวมไปถึงการเสริมสร้างความสามารถในการกำกับดูแล AI ในประเทศที่กำลังพัฒนา ที่ถือได้ว่าจะเป็นโอกาสในการสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาคมโลก ที่ไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้และความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก และแสดงให้เห็นว่าไทยเองมีความสามารถในการเป็น ‘แหล่งเรียนรู้’ ในด้าน AI Governance ที่พร้อมร่วมมือกับ UNESCO อีกด้วย 

ด้าน นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึง ความพร้อมของประเทศไทยจากบทบาทของ กระทรวง อว. ในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยี AI ไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยไม่เพียงเน้นสร้างนวัตกรรมเท่านั้น ยังให้ความสำคัญกับจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีหน่วยงาน ภายใต้กระทรวง อว. คือ สวทช. ที่ร่วมผลักดันการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม AI ที่จะช่วยตอบโจทย์ระดับประเทศ รวมถึงการมีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนากรอบจริยธรรม AI ที่มุ่งเน้นความสอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล ประกอบกับ ประเทศไทยได้มีการส่งเสริมและพัฒนาความพร้อมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ผ่านการเตรียมทำการประเมินความพร้อมด้าน AI ตามกรอบแนวทางของ UNESCO RAM ที่เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ไทยได้เข้าใจสถานการณ์ความพร้อม ซึ่งครอบคลุมในมิติต่างๆ 

อีกทั้งข้อมูลที่วิเคราะห์ได้ จะพัฒนาไปเป็นข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปสนับสนุนการวางแผนสำหรับประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนการปรับปรุงในมิติที่จำเป็น ภายใต้บริบทของไทยให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การร่วมจัดงาน Global Forum on the Ethics of AI 2025 ในปีหน้านี้ จะช่วยสะท้อนถึงการผนึกกำลังที่เข้มแข็งระหว่างกระทรวง อว. พร้อมด้วยกระทรวงดีอี และกระทรวง ศธ. จากประเทศไทย ในการทำงานร่วมกับ UNESCO เพื่อร่วมสร้างอนาคตที่เท่าเทียมและยั่งยืนสำหรับทุกคน

ขณะที่ นายซิง ฉวี่ รองผู้อำนวยการใหญ่ UNESCO ได้กล่าวชื่นชมประเทศไทยในความเป็นผู้นำด้านการส่งเสริมธรรมาภิบาลจริยธรรม AI และการผลักดันความร่วมมือระดับนานาชาติ พร้อมเน้นย้ำว่าภารกิจของยูเนสโก ในการสร้างสันติภาพผ่านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม มีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในยุคที่ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคม เศรษฐกิจ และชีวิตของผู้คน พร้อมยังกล่าวถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มาพร้อมกับความก้าวหน้าในโครงสร้างพื้นฐาน AI ของภูมิภาค จนอาจนำมาสู่ความท้าทายที่เกิดขึ้น เช่น ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และผลกระทบต่อการจ้างงานจากระบบอัตโนมัติอย่าง AI เป็นต้น ซึ่งการที่ประเทศไทยได้มีการนำกรอบแนวทางการประเมินความพร้อมด้าน AI ของยูเนสโก (UNESCO RAM) มาใช้นั้น ถือเป็นก้าวสำคัญของกรอบการทำงานในการประเมินความพร้อมด้านการประยุกต์ใช้ AI ของไทย ที่มีความแข็งแกร่งและพร้อมส่งเสริมการใช้ AI ด้วยโปร่งใส ตามกรอบธรรมาภิบาลและจริยธรรมตามมาตรฐานสากล โดย Global Forum on the Ethics of AI 2025 จะเป็นเวทีสำคัญสำหรับการเจรจาระดับโลกในการร่วมพัฒนาจริยธรรมการประยุกต์ใช้ AI ที่เคารพสิทธิมนุษยชน โปร่งใส เป็นธรรม พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับภูมิภาคด้านธรรมาภิบาลจริยธรรม AI อย่างแท้จริง

พร้อมกันนี้ ในการแถลงข่าวความร่วมมือครั้งนี้ ประเทศไทย ยังได้ประกาศจุดยืนต่อผู้นำโลก ถึงความพร้อมของการประยุกต์ใช้งาน AI อย่างมีจริยธรรมและธรรมาภิบาล ตามกรอบ UNESCO’s AI Readiness Assessment หรือ UNESCO RAM พร้อมเปิดเวทีเสวนาเชิงลึกโดยผู้นำและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง กับการเสวนาใน 2 ประเด็นที่สำคัญ ได้แก่

• "Thailand's Journey in Driving AI Ethics & Governance: Insights from Hosting the Global Forum on the Ethics of AI" เส้นทางของไทยในการขับเคลื่อนจริยธรรมและการกำกับดูแล AI: มุมมองจากการเป็นเจ้าภาพ Global Forum on the Ethics of AI โดย ดร.เวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผอ. NECTEC,
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส ETDA และ ดร.วีระ วีระกุล รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ที่จะมาร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์การใช้การประชุมระดับโลกครั้งนี้เป็นแพลตฟอร์มในการยกระดับบทบาทของไทยสู่การเป็นผู้นำด้าน AI ในระดับสากล

• “Policy and Strategic Frameworks”, in the Region Readiness Assessment Methodology (RAM)” นโยบายและกรอบยุทธศาสตร์” ในกรอบแนวทางการประเมินความพร้อมระดับภูมิภาค โดยนายอิราคลี โคเดลี หัวหน้าหน่วยจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ UNESCO ร่วมกับ ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผอ. ETDA, ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผอ. NECTEC ที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นการวางกรอบการประเมินความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ (UNESCO RAM) ที่จะเป็นเครื่องมือมาตรฐานสำหรับประเทศในภูมิภาค พร้อมแนวทางการจัดตั้งหอสังเกตการณ์จริยธรรมและการกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ระดับโลก ที่จะช่วยสร้างระบบนิเวศปัญญาประดิษฐ์ที่ยั่งยืน

จากสถานการณ์การเตรียมความพร้อมของประเทศ และกระแสการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI อย่างมีจริยธรรมและธรรมาภิบาลในเวทีระดับโลก ที่สะท้อนจากมุมมองในระดับนโยบายของประเทศ สู่ความร่วมมือจากหน่วยงานสำคัญของไทยและ UNESCO จึงได้นำสู่การร่วมดำเนินงานโครงการสำรวจความพร้อมด้านจริยธรรม AI ของประเทศไทยตามแนวทางแนะนำของ UNESCO (โดยติดตามความคืบหน้าในการจัดงานอย่างต่อเนื่อง ได้ผ่านเพจ https://www.ai.in.th/) รวมถึงการเตรียมจัดการประชุมระดับนานาชาติครั้งแรกในเอเซียแปซิฟิก “The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” ในแนวคิด “Ethical Governance of AI in Motion” ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-27 มิถุนายน 2568 ที่กรุงเทพฯ โดยติดตามความคืบหน้าในการจัดงานอย่างต่อเนื่อง ได้ผ่านเพจ ETDA Thailand

รมว.กต.เผยเยือนออสเตรเลียกระชับความร่วมมือรอบด้าน ทั้งความมั่นคงมนุษย์-อาหาร-พลังงาน-หลักสูตรส่งเสริมปัญญาประดิษฐ์ (AI) พร้อมชวนลงทุนในประเทศไทย 

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยระหว่างการเดินทางเยือนนครแอดิเลด รัฐเซาท์ออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย 'เพนนี หว่อง' เชิญเดินทางเยือน และได้มีการวางแผนการเยือนล่วงหน้าแล้วกว่า 3 เดือน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และส่งเสริมความร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ ระหว่างไทย และออสเตรเลีย ให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ก่อนที่การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ หรือ Thailand-Australia Biennial Foreign Ministers’ Meeting ซึ่งจัดขึ้นทุก ๆ 2 ปี ระหว่างไทย-ออสเตรเลียจะเริ่มต้นขึ้นว่า พัฒนาการความร่วมมือไทย-ออสเตรเลียนั้น ฝ่ายออสเตรเลียพร้อมสนับสนุนประเทศไทย ทั้งการจัดสรรงบประมาณจำนวน 222.5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย สำหรับโครงการ Mekong-Australia Partnership ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทั้งด้านการฝึกอบรม การบริหารจัดการน้ำ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมทั้งยังพร้อมสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพจัดประชุม OECD Southeast Asia Regional Programme หรือ SEARP ของไทย ซึ่งเน้นบทบาท และความมุ่งมั่นของไทยในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ และออสเตรเลีย ยังพร้อมจะร่วมมือกับประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการเกษตร อาหาร ยา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม

นายมาริษ ยังเปิดเผยอีกว่า ในการประชุมฯ ดังกล่าว ยังได้หารือเรื่องการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ โดยให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมกันขับเคลื่อนความร่วมมือด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะความมั่นคงของมนุษย์ อาหาร และพลังงาน ให้เป็นรูปธรรม โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดกับประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ และในภูมิภาค โดยตนเองได้นำเสนอศักยภาพ และข้อได้เปรียบของประเทศไทย ซึ่งมีที่ตั้งในทำเลยุทธศาสตร์ สามารถเสริมสร้างความเชื่อมโยง ระหว่างออสเตรเลียกับภูมิภาคเอเชียตะวันออก, เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ โดยได้ยกตัวอย่าง EEC ที่ท่าเรือระนอง ตลอดจนโครงการ Landbridge ให้ได้รับทราบ พร้อมทั้งยังได้เชิญชวนให้ฝ่ายออสเตรเลียมาลงทุน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย ได้ให้ความสนใจ และเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีท่ามกลางการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ 

นายมาริษ ยังเปิดเผยอีกว่า ก่อนประชุมฯ ดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย ได้นำชมสถาบัน Australian Institute for Machine Learning หรือ AIML ซึ่งเป็นสถาบันชั้นนำด้านการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ โดยเน้นประโยชน์ด้าน พลังงาน การจัดการข้อมูล และการคำนวณ ซึ่งตนเห็นว่า ภารกิจและความเชี่ยวชาญของสถาบันฯ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เรื่องการส่งเสริมอุตสาหกรรม และ Workforce สำหรับอนาคต โดยคำนึงถึงการหาสมดุล ระหว่างการจัดเก็บข้อมูลกับความเป็นส่วนตัว จึงได้มอบหมายให้เอกอัครราชทูตไทย ประจำออสเตรเลียแสวงหาแนวทางส่งเสริมความร่วมมือ ระหว่าง AIML กับสถาบันการศึกษาในไทย เพื่อจัดตั้ง School of AI ในการพัฒนาบุคลากร องค์ความรู้ และเทคโนโลยี AI ที่มีความรับผิดชอบ (Responsible AI) ต่อไป

ทั้งนี้ ประเทศออสเตรเลีย เป็นคู่ค้าอันดับ 7 ของไทย และไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 10 ของออสเตรเลีย ซึ่งระหว่างไทยและออสเตรเลียนั้น มูลค่าการค้ารวมกว่า 19,054.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยได้ดุลการค้ากว่า 5,375.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และประเทศไทย มีการส่งออกไปออสเตรเลียประมาณ 12,214.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าสำคัญได้แก่ รถยนต์, อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง, เม็ดพลาสติก และเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ส่วนประเทศไทย มีการนำเข้าสินค้าจากออสเตรเลีย จำนวนราว 6,839.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ พืช และผลิตภัณฑ์จากพืช สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะ และผลิตภัณฑ์ถ่านหิน และเครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ เป็นต้น

นอกจากนั้น ประเทศไทย มีภาคธุรกิจ และผู้ประกอบการลงทุนในออสเตรเลียโดยรวมประมาณ 7,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อาทิ ปตท.สผ., บริษัทมิตรผล, บริษัทราช เครือไมเนอร์ และบริษัทบ้านปู และออสเตรเลียเอง มีการลงทุนในประเทศไทย จำนวนประมาณ 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อาทิ บริษัท Linfox, บริษัท Anca Manufacturing 

สำหรับตัวเลขด้านการท่องเที่ยวนั้น มีนักท่องเที่ยวออสเตรเลีย เดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยรวม 687,745 คน ขณะที่นักท่องเที่ยวไทย ไปท่องเที่ยวที่ออสเตรเลียรวม 107,320 คน รวมทั้งยังมีคนไทยในออสเตรเลีย จำนวน 113,751 คน แบ่งเป็นเป็นนักเรียน-นักศึกษา 25,887 คน โดยถือเป็นประเทศที่มีจำนวนนักเรียน-นักศึกษาในออสเตรเลียมากเป็นอันดับ 7 รองจากจีน, อินเดีย, เนปาล, โคลอมเบีย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม รวมถึงยังมีร้านอาหารไทยในออสเตรเลีย ประมาณ 2,200 ร้าน และคนออสเตรเลียในประเทศไทย ประมาณ 35,000 คน ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ

‘ดร.เอ้’ ชี้!! อนาคต AI ชี้!! หากไทยไม่ทำวันนี้ อาจสายเกินไป

(14 ธ.ค. 67) ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้โพสต์ข้อความระบุว่า …

ถึงเวลา ‘จุดประกาย AI ในประเทศไทย’

ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัย CMKL ที่มุ่งมั่น สร้างคนไทยสู่เวทีระดับโลก ด้าน AI มาเป็น ‘Keynote Speaker’ องค์ปาฐก บรรยายเรื่อง ‘อนาคต AI’ ในงาน AI Summit 2024

เพราะวันนี้ หากไทยไม่สู้ อาจสายเกินไป เพราะประเทศอื่นก้าวกระโดดไปไกลมากแล้ว โดยเฉพาะเวียดนาม

เราจัดงาน AI Summit 2024 เพื่อรวมพลังสุดยอดคน AI ระดับโลก มาร่วมทีม AI ไทยแลนด์ พัฒนางานวิจัย และพัฒนา ‘คนรุ่นใหม่’ ให้เข้าสู่โลก AI ได้

และหมดยุค ‘แข่งกับตัวเอง’ หรือ ‘แข่งกันเอง’ เพราะทัศนคติแบบพูดเพียง ‘หล่อๆ’ นี้ ทำให้เราไม่คิดเปรียบเทียบ หรือแข่งกับ ‘คนเก่ง’ สุดท้ายเราก็ไม่พัฒนา สู้โลกไม่ได้ น่าเสียดาย

AI Summit 2024 จึงเป็นการ 'จุดประกาย' ให้คนไทย ตระหนักถึง ‘ยุค AI’ และ กลับมา ‘รวมพลัง’ คนเก่งของไทย ที่เก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก

แล้วท่านล่ะครับ พร้อมเข้าสู้ยุค AI หรือยังครับ

‘ดร.เอ้’ เผยสาเหตุ!! ทำไม ‘Nvidia’ บริษัท AI ระดับโลก ไปลงทุนที่ ‘เวียดนาม’ ชี้!! ‘พัฒนาคน – หนุนการลงทุน – มีนโยบายต่อเนื่อง - สามัคคี ช่วยเหลือกัน'

(21 ธ.ค. 67) นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ทำไม Nvidia บริษัท AI ระดับโลก ไปลงทุนที่ ‘เวียดนาม’ แล้ว ‘ไทยจะทำอย่างไร’ เมื่อ ‘เวียดนาม’ ขึ้นแท่น ‘ผู้นำเศรษฐกิจอาเซียน’

ผมได้ยินจากปาก ‘เจนเซ่น หวง’ ประธานบริหาร Nvidia บริษัทผลิตคอมพิวเตอร์ AI ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ว่า "เราจะเปิดศูนย์ออกแบบและวิจัยที่เวียดนาม" ก่อนที่ Nvidia จะประกาศอย่างเป็นทางการเสียอีก

ผมถามกลับทันทีว่า ‘เวียดนาม’ เสนออะไรแก่คุณ ถึงไปลงทุน ‘ศูนย์ออกแบบ’ ที่เป็น ‘หัวใจ’ และ ‘มันสมอง’ ของอุตสาหกรรมไฮเทค ที่ทุกคนหวงแหน

คนสนิท เจนเซ่น หวง ขยับตัวทันที ห้ามไม่ให้นายพูดอะไรต่อ เจนเซ่นเลยตอบว่า "มันไม่สำคัญหรอก" (ไทยอย่าไปรู้เลย)

แต่ผมรู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ เพราะผมในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัย ‘CMKL’ ที่ Carnegie Mellon สถาบันระดับโลกด้าน AI มาก่อตั้งร่วม เราเป็น ‘ลูกค้าคนแรก’ ที่ซื้อ ‘ซุปเปอร์ AI คอมพิวเตอร์’ รุ่น DGX-A100 ความเร็วสูงสุดในประเทศจาก Nvidia เมื่อ 4 ปีที่แล้ว

ยิ่งผมนั่งตรงข้าม ‘ตามองตา’ กับ ‘เจนเซ่น หวง’ เราเป็นพันธมิตรกันมาหลายปี ‘รู้กัน’ จึงตอบคำถามได้ไม่ยากว่า มีอยู่ 4 ปัจจัยที่บริษัทระดับโลกไปลงทุนที่ ‘เวียดนาม’

1. เวียดนามพัฒนาคุณภาพคน

ประสบการณ์ของผม ทั้งที่มีเพื่อนชาวเวียดนามเมื่อครั้งเรียนที่ MIT และทั้งเคยสอนเด็กเวียดนามที่มาเรียนวิศวะลาดกระบัง ไม่ต้องอายแล้วที่จะบอกว่า "เด็กเวียดนาม" ฉลาด เก่ง และขยันมากกว่า ทั้งคะแนนวัดผล PISA ชี้ชัดว่าเด็กเวียดนามได้คะแนนสูงที่สุดในอาเซียน เป็นรองเพียงเด็กสิงคโปร์เท่านั้น

เวียดนามยังส่งเด็กรุ่นใหม่ ไปเรียนในสาขา ‘วิศวกรรม และคอมพิวเตอร์’ ในมหาวิทยาลัยระดับโลก ทั้งสหรัฐ ยุโรป และรัสเซีย มากกว่าชาติใดในอาเซียน เพื่อกลับมาสร้าง ‘นวัตกรรม’ พัฒนาเวียดนามสู่โลก AI เต็มรูปแบบ

พิสูจน์เวียดนาม ‘ทุ่มเท’ พัฒนาคุณภาพคน ตั้งแต่ ‘อนุบาลถึงปริญญาเอก’ จึงไม่แปลกที่บริษัทไฮเทค ทั้ง Nvidia Apple SpaceX และ Samsung ถึงยอมมาลงทุนที่เวียดนาม เพราะได้ ‘คนเก่ง’ ที่คุ้มค่ามาก เมื่อเปรียบเทียบกับ ‘ค่าจ้าง’

2. เวียดนามสนับสนุนการลงทุน
เพราะเวียดนามเรียนรู้จาก ‘จีน’ เรื่องการ ‘ดึงดูดทุนต่างชาติ’ ใช้วิธี "วันนี้ฉันยอมเธอก่อน" วันหน้าฉันทำได้เอง แล้วค่อยว่ากัน คือ ยอมสนับสนุน ให้สิทธิพิเศษมากมาย พอบริษัทไฮเทคมาลงทุนสร้างโรงงาน สร้างศูนย์วิจัย ให้ SME เวียดนามได้เป็นผู้จัดหาของ หรือ Supplier เรียนรู้จนทำได้เอง คราวนี้แหละ เดี๋ยวได้รู้กัน ฉันอาจจะชนะเธอก็เป็นไปได้ เลียนแบบกรณีจีนยอมเสนอให้ Tesla มาตั้งโรงงาน เพื่อให้ SME จีนเรียนรู้ สุดท้ายจีนกลายเป็น ‘เจ้าตลาด’ รถพลังงานไฟฟ้า ไปเรียบร้อย

3. เวียดนามมีนโยบายต่อเนื่อง

ไม่ว่า ‘ผู้นำ’ จะเป็นใครนโยบายเวียดนามไม่เปลี่ยน เพราะอะไรที่ดีต่อประเทศชาติ ยังไงก็ต้องสานต่อ

นโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจ 1986 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเศรษฐกิจเวียดนาม เปิดประเทศให้กับการลงทุนจากต่างชาติ นโยบายเดินไปอย่างต่อเนื่อง

ยิ่งเวียดนามเข้าร่วมองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2007 ซึ่งช่วยเสริมความมั่นใจให้แก่นักลงทุนต่างชาติ เวียดนามได้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Economic Zones) ตามแบบจีน ยิ่งเกิดการลงทุนแบบก้าวกระโดด จนถึงทุกวันนี้

ขณะที่แนวคิดสานต่อไม่ค่อยเห็นในสังคมไทย เราดีแค่ไหน คนใหม่มา เขาก็อยากเปลี่ยน อยากทำแบบของเขา สุดท้ายองค์กร ‘เสียหาย’ ไม่พัฒนาต่อเนื่อง หากไม่เปลี่ยน ‘ทัศนคติ’ ประเทศไทยสู้คนอื่นยากครับ

4. เวียดนามสามัคคี ช่วยเหลือกัน

‘เวียดนาม’ ประเทศสังคมนิยม ที่บอบช้ำจากสงครามยาวนาน เคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และเคยอยู่ใต้อิทธิพลของจีนมานานนับพันปี แต่วันนี้ผงาดขึ้นเป็นประเทศที่เติบโตเร็วที่สุด ทั้ง ‘ด้านเศรษฐกิจ’ เพราะรู้ว่า ‘ทางรอด’ มีทางเดียว คือ ‘ชาตินิยม’ เพราะไม่มีชนชาติใดรักเรา เท่าชนชาติเราเอง

คนเวียดนามไม่ว่าอยู่ที่ใดรวมกันติด และ ช่วยเหลือกัน ผลักดันทุกรูปแบบ ให้รัฐบาลสหรัฐ ยุโรป และรัสเซีย ต้องสนับสนุนเวียดนาม

‘ชาตินิยม’ แบบเวียดนาม จึงเป็นความรักชาติที่กลมกล่อม ไม่ไปรุกรานใคร แต่ก็พร้อมจะแข่งขันกับทุกคน ผมขอพยากรณ์ว่า เวียดนามจะเป็น ‘ผู้นำเศรษฐกิจอาเซียน’ และอาจขึ้นเทียบชั้นกับ 'เกาหลี' ในอนาคตได้

ที่จริงไทยเราจับ ‘สัญญาณ’ การก้าวกระโดดของเวียดนามได้มาหลายปี เพราะอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมากต่อเนื่อง แต่ไทยเรายังนิ่งไม่เข้าสู่โหมดแข่งขันอย่างจริงจังสักที ทำให้เสียโอกาสไปทุกวัน ที่ไม่อาจย้อนคืน

แม้ผมยังเชื่อมั่นว่า #คนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่ก็กังวลไม่น้อย เมื่อรู้แจ้งว่า เวียดนามและชาติอื่น วันนี้ไม่มีใครอยู่นิ่งเลย ทุกชาติ ‘พร้อมแข่งขัน’ แล้วไทยจะทำอย่างไร 

ทุกท่านคิดว่าไง แชร์กันได้นะครับ!!

‘จีน’ ส่ง BYD ตีชนะ!! Tesla ‘เวียดนาม’ เดินหน้า พัฒนาอุตสาหกรรม ‘เซมิคอนดักเตอร์’ ‘รัฐบาลไทย’ มุ่งสร้าง!! ฐานประชานิยม เน้นแค่หาเสียง เพื่อให้ได้กลับมาเป็นรัฐบาล

(5 ม.ค. 68) ข่าวส่งท้ายปี 2567 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่านายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ไม่ผ่านคุณสมบัติที่จะเข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะการเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จากการเปิดเผยของ นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง (24 ธ.ค.2567)

ซึ่งคงต้องมีการสรรหากันใหม่ คาดว่าน่าจะเป็นช่วงเดือนมกราคม 2568

แรงกดดันจากฝ่ายการเมือง ที่จะเข้าไปแทรกแซงการกำหนดนโยบายทางการเงิน การคลัง รวมทั้งเงินสำรองระหว่างประเทศ ก็คงซาไปอีกระยะ จนกว่าจะมีการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหากันอีกครั้ง

และข่าวเริ่มต้นปีมะเส็ง 2568 กับการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า วอลล์สตรีทเจอร์นัล (WSJ) รายงานว่า บีวายดี (BYD) ยังคงครองตำแหน่งผู้นำด้านยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั่วโลก โดยในไตรมาส 4 ของปี 2024 บีวายดีแซงหน้าเทสลา (Tesla) เป็นครั้งที่สอง

จากรายงานระบุว่า บีวายดี ผู้ผลิตรถ EV รายใหญ่ที่สุดของจีน ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ (All-Electric Vehicles) จำนวน 207,734 คันในเดือนธันวาคม 2024 เพิ่มขึ้นประมาณ 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ในไตรมาส 4 ปี 2024 บีวายดีส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบรวมประมาณ 595,000 คัน มากกว่าเทสลาที่ส่งมอบได้ 496,000 คัน แม้ตัวเลขดังกล่าวจะเป็นสถิติใหม่ของเทสลา แต่ยังต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 507,000 คัน

สำหรับยอดขายทั้งปี 2024 บีวายดีสามารถขายรถยนต์ไฟฟ้าได้รวม 1.768 ล้านคัน เพิ่มขึ้นราว 12% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่เทสลามียอดขายรวม 1.79 ล้านคัน ลดลงประมาณ 1% เมื่อเทียบกับปี 2023

ตามด้วยข่าว รัฐบาลเวียดนามเสนอเงินอุดหนุน 50% ของมูลค่าลงทุนให้กับโครงการวิจัยและพัฒนาหลักในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI)

โครงการที่มีสิทธิ์รับเงินอุดหนุนดังกล่าวซึ่งระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกาที่ออกเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2024 จะต้องมีการลงทุนขั้นต่ำ 3 ล้านล้านดอง (4.07 พันล้านบาท), ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อระบบนิเวศนวัตกรรม (innovation ecosystem), ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่ก้าวล้ำ และผู้พัฒนาโครงการจะต้องไม่มีภาษีค้างชำระหรือหนี้กับรัฐบาล โดยผู้พัฒนาโครงการจะต้องชำระทุนจดทะเบียนอย่างน้อย 1 ล้านล้านดอง (1.35 พันล้านบาท) ภายใน 3 ปีนับจากได้รับการอนุมัติการลงทุน

รัฐบาลเวียดนาม ยังคงเดินนโยบายด้านเศรษฐกิจ ดึงนักลงทุน และส่งเสริมการลงทุน ในส่วนโครงการเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อผลักดันการเติบโตของประเทศ ที่มั่นคง ยั่งยืน โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากร การวิจัยและพัฒนา การลงทุนในสินทรัพย์ การผลิต และโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจได้เป็นจำนวนมาก

หันกลับมาดูการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย กลับเป็นนโยบายประชานิยม ที่แทบจะสร้างฐานสำหรับอนาคตของประเทศไม่ได้ ซ้ำยังส่งผลเสียต่อวินัยทางการเงินของประชาชนไปเรื่อยๆ เน้นแค่หาเสียงเพื่อให้ได้กลับมาเป็นรัฐบาลในสมัยต่อไป 

มารอดูกันต่อว่า ประชาชนผู้เสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคล ที่มีอยู่ 4 ล้านกว่าคน ที่เหมือนต้องแบกการใช้จ่ายงบประมาณ ไปกับนโยบายประชานิยม จะทนต่อได้มากน้อยแค่ไหน หากคนกลุ่มนี้เริ่มส่งเสียง เก้าอี้รัฐบาล จะเริ่มสั่นคลอน ... สวัสดีปีใหม่ 2568 ครับ 

จุฬาฯ เติมหลักสูตร Non-Degree จบได้ใน 6 เดือนรับตลาดแรงงานอนาคตโลก

(9 ม.ค. 68) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมมือกับ World Economic Forum เผยรายงาน Future of Jobs 2025 ชี้ให้เห็นว่าอีก 5 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีจะเปลี่ยนโฉมตลาดแรงงานอย่างมหาศาล โดยอาชีพเก่าอาจหายไปถึง 92 ล้านตำแหน่ง ขณะเดียวกัน อาชีพใหม่ที่อาศัยทักษะด้าน AI และ Big Data จะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด มหาวิทยาลัยต้องเร่งปรับตัว โดยการออกแบบหลักสูตรระยะสั้น เพื่อสร้างบุคลากรที่มีทักษะเหนือกว่า AI  

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รายงานนี้อ้างอิงจากการสำรวจบริษัทกว่า 1,000 แห่ง ครอบคลุมพนักงาน 14 ล้านคนใน 22 อุตสาหกรรม และ 55 ประเทศทั่วโลก โดยมีข้อมูลสำคัญดังนี้  ตำแหน่งงานใหม่ 170 ล้านตำแหน่ง จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม,  92 ล้านตำแหน่งงานจะหายไป เนื่องจากระบบอัตโนมัติและการปรับตัวของเศรษฐกิจ, การเติบโตสุทธิของการจ้างงานทั่วโลก จะอยู่ที่ 7% หรือประมาณ 78 ล้านตำแหน่ง  

อย่างไรก็ตาม งานบางส่วนที่ถูกดิสรัปไม่ได้หายไปโดยสิ้นเชิง แต่เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นดิจิทัล โดยต้องการแรงงานที่มีทักษะรอบด้านและสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ  

ปัจจัยสำคัญเปลี่ยนโฉมตลาดแรงงานในปี 2573  รายงานยังชี้ถึง 5 ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงาน ได้แก่:  
1. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เช่น AI หุ่นยนต์ และนวัตกรรมด้านพลังงาน  
2. สิ่งแวดล้อม การรับมือกับสภาพภูมิอากาศสร้างความต้องการแรงงานด้านพลังงานหมุนเวียน  
3. ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ  
4. การเปลี่ยนแปลงด้านประชากร เช่น ประชากรสูงอายุในประเทศพัฒนาแล้ว  
5. ภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลก การค้าระหว่างประเทศและข้อจำกัดทางการค้า  

ขณะที่ 10 ทักษะในอนาคตของประเทศไทยและประเทศต่างๆทั่วโลกภายในปี  2573 ประกอบด้วย

ทักษะด้าน AI และ Big Data
Analytical thinking ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์
Creative thinking ทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์
Networks and cybersecurity ทักษะด้านเครือข่าย และความปลอดภัยทางข้อมูล
Leadership and social influence มีความเป็นผู้นำ และสร้างอิทธิพลต่อสังคมได้
Resilience, flexibility and agility ปรับตัวไว ทำงานอย่างยืดหยุ่น และคล่องตัว
Empathy and active listening มีความเห็นอกเห็นใจ และมีทักษะในการรับฟัง
Motivation and self-awareness มีความเข้าใจตนเอง และมีแรงจูงใจในการทำงาน
Talent management ทักษะด้านการบริหารจัดการคนเก่งในองค์กร
Curiosity and lifelong learning มีความช่างสงสัย ใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต

ในปี 2573 ทักษะในอนาคตของประเทศไทยและประเทศต่างๆทั่วโลก โดยในไทย ทักษะที่โดดเด่น คือ ทักษะด้าน AI และ Big Data ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ ทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์ ทักษะด้านเครือข่ายและความปลอดภัยทางข้อมูล ในขณะที่ระดับโลกเน้นทักษะด้าน AI และ Big Data ทักษะด้านเครือข่ายและความปลอดภัยทางข้อมูล ความฉลาดในการใช้งานเทคโนโลยี และทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์

กลยุทธ์สำคัญ 4 ประการสำหรับประเทศไทย

1. สร้างการเปลี่ยนแปลง แบบ Holistic Skill Change:ยกเครื่องการ upskill ของบุคลากรในมิติไม่ใช่ทักษะใดทักษะหนึ่งเท่านั้น
2. สร้างองค์กร ให้เป็น Future-Ready Organization: มีระบบการพัฒนาทักษะอนาคตของบุคลากร
3. Human Replacement: งานที่ซ้ำชากควรเลิกใช้คนและทดแทนด้วยระบบ Automation 
4. Enhancing Dynamic Work Role: มีการส่งเสริมให้ไม่ยึดติดกับบทบาทการทำงานในแบบเดิมๆ แต่มีการปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร กล่าวเพิ่มเติมว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมุ่งสู่การเป็น The University of AI โดยมีเป้าหมายในการสร้าง คนพันธุ์ใหม่ หรือ ‘Future Human’ ที่ไม่เพียงแค่มีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) แต่ยังต้องมีทักษะพิเศษอย่าง II (Instinctual Intelligence) หรือ ‘ปัญญาสัญชาตญาณ’ ที่สามารถสร้างสรรค์ความรู้ที่ไม่สามารถประดิษฐ์ขึ้นได้ การเป็น ‘คนพันธุ์ใหม่’ ไม่ใช่แค่การมีสมองที่เฉลียวฉลาด แต่ยังต้องมีหัวใจที่ดีงาม เพื่อใช้พลังของเทคโนโลยีในการสร้างคุณค่าทั้งต่อตนเองและสังคม”

ประเทศไทยยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นในการเรียนรู้และพัฒนา AI โดยให้ความสำคัญกับการ Reskill และ Upskill เพื่อเตรียมแรงงานให้พร้อมสำหรับ "งานแห่งอนาคต" ซึ่งบุคลากรต้องมีทักษะที่หลากหลายและสามารถนำไปใช้ได้จริง

“สิ่งที่สามารถเอาชนะปัญญาประดิษฐ์ได้คือปัญญาสัญชาตญาณ ความเข้าใจโลก และการฝึกฝนจนชำนาญ” ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ กล่าว

ดร.วิเลิศเน้นย้ำว่า มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนบทบาทจากการสอนปริญญา 2-4 ปี มาเป็นหลักสูตรระยะสั้นที่ใช้เวลาเพียง 6 เดือน และมุ่งเน้นสร้าง “skill incubator” เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นในอนาคต โดยเน้นการสอนที่สามารถปรับตัวตามเทคโนโลยีและตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน

“มหาวิทยาลัยต้องสร้างบุคลากรที่ไม่เพียงแค่มีความรู้ แต่ต้องมีความฉลาดที่ไม่ล้าสมัย” ดร.วิเลิศ กล่าวเพิ่มเติม

ดร.วิเลิศระบุว่า ปัจจุบันหลักสูตรการศึกษาที่เน้นปริญญาและใช้เวลา 2-4 ปีไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานในอนาคตอีกต่อไป มหาวิทยาลัยต้องจัดให้มีหลักสูตร Non-degree ที่เน้นการศึกษาระยะสั้น 6 เดือน เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยการถ่ายทอดความรู้ผ่านเทคโนโลยี AI และเข้าใจศักยภาพของผู้เรียน การเปลี่ยนสถาบันให้เป็น “skill incubator” จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยต้องมุ่งบ่มเพาะพรสวรรค์และพัฒนาทักษะแห่งอนาคตให้แก่บุคลากร เพื่อให้พวกเขาเข้าใจศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ มหาวิทยาลัยต้องเป็นสถาบันที่ไม่เพียงแต่สอนความรู้ แต่ต้องเน้นการพัฒนาความฉลาดที่สามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างยั่งยืน

“วันนี้หากประเทศไทยต้องการคนที่มีทักษะใหม่ๆ ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นจากปริญญาตรี แต่อาจนำคนที่จบปริญญาตรีแล้วมาพัฒนาทักษะเพิ่มในเวลา 6 เดือน การศึกษาของมหาวิทยาลัยไม่ใช่แค่การถ่ายทอดความรู้ แต่ต้องนำความรู้เหล่านั้นไปสู่สังคม ทั้งในหลักสูตร Degree และ Non-degree”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top