Monday, 19 May 2025
AI

นักศึกษา ม.โคลัมเบีย ถูกพักการเรียน!! เพราะแอบพัฒนา AI ใช้โกง!! สัมภาษณ์งาน สำหรับ ‘วิศวกรซอฟต์แวร์’

(27 เม.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Extreme IT’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

นักศึกษาโคลัมเบียวัย 21 ปี ชุงอิน รอย ลี และเพื่อนของเขาโดนพักการเรียน เพราะแอบพัฒนาเครื่องมือ AI ที่ช่วยโกงการสัมภาษณ์งานสำหรับวิศวกรซอฟต์แวร์ โดยจะแสดงเบราว์เซอร์แบบลับ ๆ ที่ผู้คุมมองไม่เห็น 

โดยตัวของลีและเพื่อนมีบริษัทสตาร์ตอัปของเขาเองในชื่อ Cluely แถมยังสามารถระดมทุน Seed Funding ได้ถึง 5.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเป้าหมายพี่แกก็สุดซะเหลือเกิน คือการสร้าง AI ที่โกงได้ทุกสิ่งทุกอย่าง 

ปัจจุบันทั้งคู่ลาออกมาจากมหาวิทยาลัยเรียบร้อย ในขณะที่ตัวของ ลี เป็น CEO ของบริษัท Cluely ส่วนเพื่อนอีกคนเป็น COO ซึ่ง Cluely จัดเป็นสตาร์ตอัป AI ที่สร้างความขัดแย้งได้แบบสุดโต่ง เพราะรวม AI โกงหลายชนิดที่ร่วมพัฒนากับเพื่อนไว้

นอกจากนี้ตัวของลี ยังเคยพูดไว้ว่า ขนาดเครื่องคิดเลขหรือโปรแกรมตรวจคำผิดที่เคยถูกมองเป็นโปรแกรมโกง ปัจจุบันก็ยังได้รับการยอมรับแล้ว หรือจะสื่อแบบเข้าใจง่าย ๆ ว่าโปรแกรมโกงของแกที่กำลังโดนแอนตี้อยู่ตอนนี้ อนาคตจะต้องกลายเป็นที่ยอมรับแน่นอน

ACFTA 3.0 นำพาอาเซียนและจีนเข้าสู่ยุคใหม่ของการค้าเสรี สร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ขยายตลาดขนาดใหญ่รับมือวิกฤตการค้าทั่วโลก

(28 เม.ย. 68) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ท่ามกลางสถานการณ์การค้าโลกที่ไม่แน่นอน ผู้เชี่ยวชาญจากมาเลเซียและจีนได้ย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับจีน โดยเฉพาะในการใช้ประโยชน์จากตลาดขนาดใหญ่ร่วมกันเพื่อบูรณาการภูมิภาคและต่อต้านกระแสการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น ในเวทีสัมมนาอาเซียน-จีนที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วนได้เห็นพ้องกันถึงศักยภาพของการร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่าย

โลว์ เคียน ชวน ประธานสภาธุรกิจมาเลเซีย–จีน กล่าวว่าการที่มาเลเซียดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปีนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญในการผลักดันความร่วมมือระหว่างสองภูมิภาค และการลงนามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ฉบับ 3.0 จะเป็นจุดสำคัญในการเสริมสร้างการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ โดยช่วยขยายความร่วมมือในหลายมิติ

นับตั้งแต่การเปิดตัวเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนในปี 2010 ความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองฝ่ายเติบโตอย่างรวดเร็ว แม้จะเผชิญกับแรงกดดันจากการค้าโลก แต่ในไตรมาสแรกของปี 2025 มูลค่าการค้าระหว่างจีนและอาเซียนยังเติบโตขึ้นถึง 7.1% ซึ่งสะท้อนถึงความสำเร็จของความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

ในอนาคต ความร่วมมือระหว่างอาเซียนและจีนจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงการปรับโครงสร้างห่วงโซ่มูลค่าโลก โดยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างจริงจังจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในภูมิภาคนี้

ม.นานาชาติกวางตุ้ง ผลักดันโมเดล ‘ภาษา+เทคโนโลยี’ ส่งนักศึกษาเยือน Alibaba แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้าน AI และระบบคลาวด์ เพื่อพัฒนาการแปลในยุคดิจิทัล

(29 เม.ย. 68) มหาวิทยาลัยภาษาและการค้าต่างประเทศกวางตุ้ง (GDUFS) เดินหน้าปั้นนักแปลพันธุ์ใหม่ที่ไม่เพียงเก่งภาษา แต่ยังเข้าใจเทคโนโลยี ล่าสุดส่ง “หลี่ หมิงข่าย” นักศึกษาสายเทคโนโลยีและการแปล ร่วมภารกิจระดับโลกที่สำนักงานใหญ่ Alibaba และบริษัทเทคโนโลยี Xinfengwei เมืองหางโจว ประเทศจีน เพื่อแลกเปลี่ยนไอเดียด้าน AI กับเยาวชนจากนานาชาติ

ภารกิจครั้งนี้ หลี่ หมิงข่ายได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับนักศึกษาและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยคีล ประเทศเยอรมนี พร้อมนำเสนอโปรเจกต์ “แอป AI แบบไม่ต้องเขียนโค้ด” บน DingTalk ด้วยภาษาอังกฤษ และเข้าร่วมการถกประเด็นระดับโลก เช่น บทบาทของ AI ต่อการศึกษาและความร่วมมือข้ามชาติ ถือเป็นเวทีที่ผสมผสานทั้งนวัตกรรมและวัฒนธรรมอย่างลงตัว

ในการเยือน ซิน เฟิงเวย นักศึกษาจาก GDUFS ยังได้สัมผัสเวิร์กช็อปด้าน “AI แปลภาษาบนคลาวด์” ซึ่งร่วมพัฒนาโดย GDUFS และ Alibaba Cloud พร้อมเรียนรู้เบื้องหลังการจัดการระบบคลาวด์ แชทอัจฉริยะ และโมดูลการเรียนรู้แบบใหม่ ซึ่งทีมของหลี่หมิงข่ายกำลังนำกลับไปปรับใช้กับหลักสูตรของมหาวิทยาลัยอย่างเข้มข้น

ความร่วมมือดังกล่าวสะท้อนวิสัยทัศน์ของ GDUFS ที่ต้องการยกระดับการศึกษาด้านการแปลให้ทันสมัย ด้วยเทคโนโลยี AI และการเรียนรู้แบบประสานศาสตร์ โดยในเดือนธันวาคม 2024 ได้เปิดตัว “แพลตฟอร์ม AI แปลภาษาผ่านระบบคลาวด์” ที่ออกแบบตามมาตรฐาน CSE ของจีน มีฟีเจอร์ล้ำสมัย เช่น การวัดผลอัตโนมัติและ AI เพื่อนช่วยเรียน

ไม่หยุดแค่ในประเทศ GDUFS ยังขยายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเก๊า (MPU) และองค์การสหประชาชาติ เพื่อปั้นนักแปลที่มีทั้งอุดมการณ์ ความรู้รอบด้าน และศักยภาพในการทำงานระดับโลก โดยในปี 2023 ได้จัดการแข่งขันล่ามระดับนานาชาติ “อวิ๋นซานเปย” รอบชิงชนะเลิศครั้งที่ 3 อย่างยิ่งใหญ่

จากเวทีหางโจวสู่คลาสเรียนดิจิทัล GDUFS กำลังเขียนนิยามใหม่ของนักแปลมืออาชีพในศตวรรษที่ 21 ด้วยการผนวก “ภาษา+เทคโนโลยี” เข้าด้วยกัน เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาก้าวสู่โลกอนาคตที่ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างทักษะและนวัตกรรมอีกต่อไป

Microsoft รายงานผลประกอบการไตรมาส 3 สุดแกร่ง กำไรโต 18% จากปีที่แล้ว…หลังหนุนด้วยเทคโนโลยีคลาวด์และ AI

(2 พ.ค. 68) ไมโครซอฟต์ (Microsoft) เผยผลประกอบการไตรมาสสามของปีงบการเงิน 2025 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม มีรายได้รวมอยู่ที่ 70.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.34 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

กำไรสุทธิในไตรมาสดังกล่าวแตะ 25.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.6 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 18% ขณะที่กำไรต่อหุ้นอยู่ที่ 3.46 ดอลลาร์ และรายได้จากการดำเนินงานรวม 32 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 16%

รายได้หลักยังมาจากกลุ่มธุรกิจ Productivity and Business Processes ที่ทำได้ 29.9 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 10%, คลาวด์อัจฉริยะ (Intelligent Cloud) 26.8 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 21% และกลุ่ม More Personal Computing ที่ 13.4 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 6%

บริษัทระบุว่าได้จ่ายเงินคืนแก่ผู้ถือหุ้นในรูปแบบการซื้อคืนหุ้นและเงินปันผลรวม 9.7 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสนี้ และย้ำว่าการเติบโตของธุรกิจคลาวด์และ AI เป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งการขยายตัวทางรายได้และประสิทธิภาพขององค์กร

สำหรับไมโครซอฟต์คลาวด์เพียงอย่างเดียวสร้างรายได้สูงถึง 42.4 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อน ตอกย้ำบทบาทของเทคโนโลยีคลาวด์และ AI ในการขับเคลื่อนธุรกิจยุคใหม่อย่างชัดเจน

‘รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา’ ชูบทบาทภาคเอกชนในเวทีประชุมคณะกรรมการ AI แห่งชาติ หนุนไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน เสนอแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยปัญญาประดิษฐ์ระยะ 2 ปี

เมื่อวานนี้ (1 พ.ค. 68) ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) ครั้งที่ 1/2568 โดยมี รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ตัวแทนจากหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเข้าร่วมประชุม เพื่อรายงานผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาและเสนอแนวทางขับเคลื่อนแผนระยะถัดไป

ที่ประชุมได้สรุปความก้าวหน้าของแผนปี 2566-2567 ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการต่อยอดสู่แผนระยะยาว โดยครอบคลุม 4 ด้านหลัก ได้แก่ การจัดทำกรอบจริยธรรมและศูนย์ธรรมาภิบาล AI การเปิดใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ LANTA เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างทั่วถึง การผลักดันหลักสูตร AI ในทุกระดับการศึกษา และความร่วมมือด้านวิจัย เช่น Medical AI ที่พัฒนาโดยใช้ข้อมูลภาพถ่ายทางการแพทย์กว่า 2.2 ล้านภาพ ครอบคลุม 8 กลุ่มโรคหลัก

ในขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังรายงานความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมของไทยเพื่อเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับโลก 'UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025' ซึ่งเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติด้านนโยบาย AI โดยคาดว่าจะช่วยยกระดับบทบาทของไทยในเวทีนานาชาติในฐานะผู้นำด้านจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ และส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศในเชิงบวก

จากพื้นฐานที่วางไว้ รัฐบาลจึงผลักดัน National AI Program ระยะ 2 ปี (2569–2570) โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้าน AI ในอาเซียน ผ่านการเร่งสร้างบุคลากรด้าน AI ให้ครบทั้ง 3 กลุ่มหลัก คือ AI User, AI Professional และ AI Developer พร้อมทั้งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบคลาวด์ ดาต้าเซ็นเตอร์ และแพลตฟอร์มโอเพ่นซอร์ส ที่เปิดให้นักพัฒนาใช้งานอย่างทั่วถึง

ภายใต้แผนนี้ ยังมีการกำหนดแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มจากอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น การแพทย์ การท่องเที่ยว และการเกษตร ด้วยการประยุกต์ใช้ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ยกระดับคุณภาพบริการ และสร้างผลผลิตอย่างตรงเป้า โดยรัฐจะสนับสนุนโครงการผ่านมาตรการจูงใจและงบประมาณสนับสนุนอย่างชัดเจน

ท้ายที่สุด นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการของแผน พร้อมมอบหมายให้กระทรวง อว. และกระทรวงดีอี จัดทำกรอบงบประมาณและรายละเอียดโครงการเสนอในที่ประชุมครั้งต่อไป พร้อมเน้นให้ National AI Program ระยะ 2 ปี เป็นวาระแห่งชาติ เร่งเดินหน้าทุกมิติ ทั้งการพัฒนาทรัพยากรบุคคล โครงสร้างพื้นฐาน และการต่อยอด AI เชิงอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก

‘ดร.อธิป’ เผย!! Jensen Huang ประธานบริษัท NVIDIA ผู้นำด้านชิปประมวลผล ให้ข้อมูลสำคัญ!! ‘จีน’ กำลังไล่ทัน ‘สหรัฐฯ’ ในเทคโนโลยี AI แล้ว

(5 พ.ค. 68) ดร.อธิป อัศวานันท์ นักเขียน อาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยชั้นนำ ผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพทางอินเทอร์เน็ต ที่ประสบความสำเร็จ ไดโพสต์คลิป โดยมีใจความว่า …

Jensen Huang ประธานบริษัท NVIDIA เพิ่งเปิดเผยว่าจีนกำลังไล่ทันสหรัฐในเทคโนโลยี AI แล้ว!!
ประเทศไทยของเรา โดยเฉพาะบอร์ด AI แห่งชาติ ควรจะเรียนรู้อะไรบ้างจากตรงนี้?

1: การทุ่มงบสนับสนุนสตาร์ทอัพด้าน AI! ... จีนตั้งกองทุนขนาดยักษ์กว่า 4.5 ล้านล้านบาทเพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพด้าน AI โดยเฉพาะ!
แล้วไทยล่ะ? เรายังทำแบบเล็กๆ แค่ร้อยถึงพันล้านบาทเท่านั้น ไม่ต้องเทียบกับจีน เทียบกับเพื่อนบ้านเราก็ยังสู้ไม่ได้
และไม่ใช่แค่ให้เงิน แต่เราต้องสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ตั้งแต่การลดภาษี จัดตั้งเขตนวัตกรรมพิเศษ ดึงผู้เชี่ยวชาญต่างชาติมาร่วมงาน และมี Sandbox ให้ทดลองผลิตภัณฑ์ AI ได้จริง

2: ลงทุนสร้าง "ทุนทางปัญญา"! ... Jensen Huang เน้นย้ำว่า "นักวิจัย AI ราว 50% ของโลกเป็นชาวจีน" และในสหรัฐเองก็มีนักวิจัย AI จีนมากกว่านักวิจัยอเมริกัน!!

นี่คือจุดเปลี่ยนเกม - ทุนมนุษย์สำคัญกว่าเทคโนโลยี!
ไทยต้องมีโครงการทุนการศึกษาระดับแสนคนต่อปีในด้าน AI ตั้งแต่มัธยมถึงปริญญาเอก
มีโครงการดึงคนเก่งกลับประเทศด้วยค่าตอบแทนที่แข่งขันได้จริงๆ
และสร้างสถาบันวิจัยด้าน AI แห่งชาติที่ให้เงินเดือนนักวิจัยแข่งกับบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ได้!
และเราต้องปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาทั้ง ระบบให้เน้น AI, Coding และ Data Science ตั้งแต่ประถม เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่คิดเป็นระบบ และพร้อมนำ AI ไปใช้ในทุกสาขาอาชีพ!!

3: เล่นเกมระยะยาวไร้เส้นชัย! ... Jensen Huang บอกว่า AI คือ "เกมที่ไม่มีวันจบ" ไม่มีวันที่คนใดคนหนึ่งจะชนะตลอดกาล!
ไทยต้องวางยุทธศาสตร์ AI 20 ปี ที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามรัฐบาล

มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องที่ไม่หวังผลเร็ว และมีความอดทนสูง เหมือนที่เกาหลีใต้ทำกับอุตสาหกรรม K-Pop ที่ใช้เวลากว่า 20 ปีกว่าจะประสบความสำเร็จระดับโลก!!

ต้องสร้างวิสัยทัศน์ร่วมของชาติด้าน AI ที่ทุกภาคส่วนเห็นพ้องต้องกัน และยึดมั่นในเป้าหมายระยะยาว แม้จะมีอุปสรรคหรือความล้มเหลวระหว่างทาง
เพราะการพัฒนา AI ไม่ใช่การวิ่ง 100 เมตร แต่เป็นมาราธอนที่ต้องอาศัยความอดทนและการปรับตัวตลอดเวลา!
ถ้าจีนทุ่มงบกว่า 4 ล้านล้านบาทให้สตาร์ทอัพ AI ไทยจะให้แค่พันล้านไม่ได้อีกแล้ว! เราต้องทุ่มงบพัฒนาคนและสตาร์ทอัพแบบจริงจัง!
ถ้าเราไม่เริ่มตอนนี้ เราจะเป็นได้แค่ผู้บริโภคเทคโนโลยี ไม่ใช่ผู้นำด้านนวัตกรรม! และในยุคที่ AI กำลังเปลี่ยนโลก ประเทศที่ไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองได้ จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังอย่างไม่มีทางตามทัน!!

ขอบคุณสำหรับทุกความเห็น และเราจะร่วมกันผลักดันต่อเพื่อประเทศไทยของเราครับ

GIP ในเครือ BlackRock เตรียมลงทุนในไทยสูงสุด 175,000 ล้านบาท รองรับการใช้ Cloud และ AI จากทั่วโลก ยกระดับสู่ศูนย์กลาง GigaData Hub

(7 พ.ค. 68) บริษัท Global Infrastructure Partners (GIP) ในเครือ BlackRock ซึ่งเป็นกองทุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ใหญ่ที่สุดในโลก เตรียมลงทุนในประเทศไทยมูลค่า 105,000 ถึง 175,000 ล้านบาท ผ่าน True IDC เพื่อสร้าง GigaData Hub ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่แบบขยายได้ รองรับการใช้งาน Cloud และ AI จากทั้งในประเทศและทั่วโลก โดยสามารถเพิ่มกำลังไฟฟ้า และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดในอนาคต

เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (7 พ.ค. 68) นายศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอเครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายอาเดบาโย โอกุนเลซี ประธานและซีอีโอ GIP ได้เข้าหารือนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โดยมีรัฐมนตรีและผู้บริหารกระทรวงดิจิทัลฯ เข้าร่วมด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับการลงทุนดังกล่าว พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการยกระดับดาต้าเซ็นเตอร์ของประเทศ โดยมีเป้าหมายผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน พร้อมส่งเสริมพลังงานสะอาด และเตรียมยกระดับบุคลากรดิจิทัลผ่านความร่วมมือกับภาคเอกชนระดับโลก

ด้าน GIP ย้ำความมั่นใจในศักยภาพของประเทศไทยที่มีความพร้อมรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน ทรัพยากรมนุษย์ และนโยบายภาครัฐ พร้อมร่วมมือกับไทยในระยะยาว ทั้งด้านการลงทุน การพัฒนาคน และการสร้างระบบ AI & Cloud ที่แข็งแกร่งในภูมิภาค

นายศุภชัยระบุว่า การลงทุนครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ช่วยดึงดูดบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมในไทย ซึ่งรวมถึง Google, Microsoft และ ByteDance พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในระดับโลก

‘จีน-รัสเซีย’ จับมือหนุนสหประชาชาติ (UN) เป็นแกนกลางกำกับ AI หวังต้านอิทธิพลบางประเทศ…ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือแบ่งขั้วอำนาจโลก

(9 พ.ค. 68) จีนและรัสเซียร่วมแสดงจุดยืนสนับสนุนให้องค์การสหประชาชาติ (UN) รับบทบาทหลักในการกำกับดูแลเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยเน้นว่ากระบวนการดังกล่าวต้องดำเนินไปอย่างเคารพอธิปไตยของแต่ละประเทศ ยึดถือกฎหมายภายใน และยืนอยู่บนพื้นฐานของกฎบัตรสหประชาชาติ เพื่อส่งเสริมการใช้ AI อย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมในระดับสากล

สองชาติมหาอำนาจระบุว่า AI ควรเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ไม่ใช่อาวุธเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศใด พร้อมคัดค้านการผูกขาดความรู้ การจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยี หรือการสร้าง 'กำแพงเทคโนโลยี' ซึ่งจะยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในเวทีโลก และทำลายโอกาสของประเทศกำลังพัฒนา

จีนและรัสเซียยังคัดค้านการทำให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือแนวทางที่นำไปสู่การตัดขาดห่วงโซ่อุปทานระดับโลก พร้อมประกาศสนับสนุนซึ่งกันและกันในการจัดการประชุมสำคัญด้าน AI เช่น การประชุม AI โลก ปี 2025 และเวทีระดับสูงว่าด้วยการกำกับดูแล AI เพื่อส่งเสริมการสร้างมาตรฐานที่ทุกประเทศมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

รัสเซียยังชื่นชมจีนที่ผลักดันมติ “ส่งเสริมความร่วมมือด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถ AI” ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์จากสมัชชาใหญ่ UN และพร้อมเปิดรับข้อเสนอของจีนเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการ AI เพื่อทุกคน โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือผ่านเวทีระหว่างประเทศ อาทิ กลุ่ม BRICS และพันธมิตรความร่วมมือ AI พหุภาคี เพื่อผลักดันวิสัยทัศน์ AI ที่ยั่งยืน ยุติธรรม และเป็นสากล

มหาวิทยาลัยแห่งชาติฮานอย ปรับหลักสูตรใหม่ เรียนจบ ป.ตรี ใน 3 ปี และโอนตรงสู่ ป.เอก ได้

(14 พ.ค. 68) มหาวิทยาลัยแห่งชาติฮานอย เตรียมนำร่องโครงการลดระยะเวลาเรียนปริญญาตรีจาก 4 ปี เหลือ 2.5–3 ปี เริ่มปี 2025 เป็นต้นไป พร้อมเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่มีศักยภาพสูงสามารถโอนไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกได้โดยตรง โครงการนี้มีเป้าหมายในการผลิตบุคลากรคุณภาพสูง สนับสนุนยุทธศาสตร์ระดับชาติด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตามมาตรฐานสากล

สำหรับหลักสูตรใหม่นี้จะยืดหยุ่นขึ้น โดยกำหนด 3 ภาคการศึกษาต่อปี เพื่อให้นักศึกษาสามารถปรับความก้าวหน้าในการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง นักศึกษาที่มีผลการเรียนโดดเด่นสามารถสำเร็จการศึกษาได้ภายใน 2.5 ปี โดยจะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มวิจัยที่นำโดยอาจารย์ เพื่อเตรียมความพร้อมในสายวิชาการระยะยาว

ด้านโครงสร้างการเรียนการสอนจะบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ พร้อมเปิดสอนหลักสูตรเฉพาะทางและวิทยานิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษ ขณะที่วิชาพื้นฐานยังคงสอนเป็นภาษาเวียดนาม โดยรูปแบบการเรียนรู้จะหลากหลาย ทั้งการเรียนในห้องเรียน ออนไลน์ กลุ่มย่อย และการศึกษารายบุคคล

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาระยะยาวของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีโรงเรียนในเครือ 12 แห่ง และมีนักศึกษามากกว่า 20,000 คนในปัจจุบัน โดยตั้งเป้าผลิตบัณฑิตคุณภาพสูง 500–1,000 คนต่อปีภายใต้ระบบการศึกษารูปแบบใหม่ที่เทียบเท่ามาตรฐานนานาชาติ

‘ปฐม อินทโรดม’ แชร์มุมมอง ชี้ ’สาขาวิชาคอมพิวเตอร์‘ อดีตมนุษย์ทองคำวงการไอที อาจไม่สร้างความมั่นคงได้อีกต่อไป หลังบริษัทบิ๊กเทคทยอยปลดคน หากจะอยู่รอดต้องเจ๋งจริง สู้ AI ได้

จากเฟซบุ๊ก Pathom Indarodom โดย คุณปฐม อินทโรดม ได้โพสต์ข้อความว่า…

เรียน Computer Science ดีไหม?​ ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นคำถามที่ตอบได้ยากจริง ๆ ในวันนี้เพราะสาขาที่น่าเรียนและได้ผลตอบแทนสูงในอดีตต้องเจอความไม่แน่นอนอย่างรุนแรง 

ข่าวใหญ่วันนี้ (14 พฤษภาคม 2025) คือ Microsoft ที่เพิ่งทุ่มงบมหาศาลกว่า 2.7 ล้านล้านบาทสำหรับการลงทุนด้าน AI, Cloud, Data Center แต่เงินมันไม่ได้งอกมาได้เองจึงต้องลดค่าใช้จ่ายก็คือค่าแรงคนลงอีก 6 พันคน หลังจากลดไป 1 หมื่นคนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว

เพื่อนรักของผมคนหนึ่งสอบถามมาจะให้หลานเรียนวิทย์คอมดีไหม ผมจึงไม่ลังเลที่จะบอกว่าลองอย่างอื่นดูก่อนไหม โดยเฉพาะวิชาชีพพื้นฐานที่ยังพอมั่นใจได้ว่ายังไม่ถูกลดบทบาทในอนาคต 3-5 ปีข้างหน้า เพราะวันนี้สาขาวิชาคอมพิวเตอร์มันขึ้นอยู่กับความไม่แน่นอนจริง ๆ จนมันไม่ใช่สาขาวิชาที่จะสร้างความมั่นคงให้กับทุกคนได้อีกต่อไปยกเว้น...

- มี Passion เต็มเปี่ยมคือรัก Coding มีงานอดิเรกเป็น Coding และ/หรือมีรายได้จากการเขียนโปรแกรมอยู่แล้ว แบบนี้มั่นใจได้ว่าเขาจะสนุกกับมันและจะเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ ด้วยใจรักอยู่แล้ว บุคลิกแบบนี้ปรับตัวได้เสมอไม่ว่าจะเจออะไร และผมเชื่อว่าเขาจะเป็นดาวรุ่งได้แน่ ๆ

- เก่งจัด เข้ารอบโอลิมปิกวิชาการ ได้ทุนมาตั้งแต่เด็ก ๆ และเล็งมหาลัยท็อป ๆ ในต่างประเทศ แถมมีทุนรออยู่มากมาย อันนี้ไม่ต้องไปห่วงเขาครับ AI มากี่ตัวก็สู้ไม่ได้ 

- Logic ดีมาก ชอบแก้ปัญหาโดยเฉพาะโจทย์คณิตศาสตร์ยาก ๆ หรือใช้เครื่องมือในการจัดการปัญหาต่าง ๆ และรู้ความแตกต่างของแต่ละภาษาและเลือกใช้ได้อย่างถูกต้อง พวกนี้เรียนวิทย์คอมได้ชิว ๆ และหาทางไปได้แน่

- พ่อแม่มีฐานะ ส่งไปเรียนด้านนี้ในต่างประเทศโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยใกล้สำนักงานใหญ่ของสตาร์ตอัปชั้นนำและเล็งฝึกงานไว้กับบริษัทเหล่านี้เรียบร้อยแล้ว แบบนี้เขาจะได้ทั้งเรียนและทำงานเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ที่อื่น 

- ถ้าไม่ใช่ที่กล่าวมา คือคิดจะมาเรียนวิทย์คอมเพราะคิดว่าได้เงินดี มีงานมั่นคง เลือกตามเพื่อนตามแฟน หรือเลือกเรียนเพราะคะแนนมันถึง แบบนี้มั่นใจได้ครับ

มั่นใจได้ว่าเขาคงไปเปิดร้านกาแฟทันทีหลังเรียนจบ...


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top