Friday, 4 April 2025
AI

ตะวันตกล้อมกรอบ 'DeepSeek'แห่ปิดกั้น-สั่งสอบ กล่าวหาขโมยเทคโนโลยี-เสี่ยงข้อมูลผู้ใช้งานรั่ว

(30 ม.ค.68) เพียงไม่กี่วันที่บริษัท DeepSeek ของจีนเปิดตัวโมเดล AI ที่ใช้ต้นทุนต่ำแถมมีประสิทธิภาพไม่แพ้ ChatGPT ของบริษัท OpenAI จนสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วซิลิคอนวัลเลย์ ถึงขั้นที่หุ้นของบรรดาบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติสหรัฐหลายแห่งร่วงระนาว แต่ล่าสุดดูเหมือนว่าบรรดาบริษัทเอกชนฝั่งตะวันตก และบรรดาชาติตะวันตกบางแห่งจะระแวงบริษัท AI จีนที่กำลังมาแรงในขณะนี้ 

ล่าสุดดูเหมือนว่าบริษัทเอกชนและรัฐบาลบางประเทศในตะวันตกเริ่มแสดงความกังวลต่อการเติบโตของบริษัท AI จากจีน โดยเฉพาะ DeepSeek ที่กำลังมาแรงในขณะนี้ มีรายงานว่า คณะกรรมาธิการการค้าของสหรัฐอเมริกา (FTC) กำลังเตรียมตรวจสอบธุรกิจคลาวด์ของไมโครซอฟท์ (Microsoft) เพื่อประเมินว่ามีการละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาดหรือไม่ 

แหล่งข่าวจากรอยเตอร์เปิดเผยว่า การตรวจสอบของ FTC จะมุ่งเน้นไปที่ข้อสงสัยว่าไมโครซอฟท์อาจใช้อิทธิพลในฐานะผู้ผลิตซอฟต์แวร์รายใหญ่ กำหนดเงื่อนไขที่อาจกีดกันไม่ให้ลูกค้าย้ายข้อมูลจากบริการคลาวด์ Azure ไปยังแพลตฟอร์มของคู่แข่ง นอกจากนี้ FTC ยังกำลังพิจารณาข้อกล่าวหาที่ไมโครซอฟท์ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมสมาชิกในราคาสูงสำหรับลูกค้าที่ต้องการยกเลิกบริการคลาวด์ และทำให้ผลิตภัณฑ์ Office 365 ไม่สามารถทำงานร่วมกับระบบคลาวด์ของคู่แข่งได้

ขณะเดียวกัน DeepSeek ก็กำลังถูกจับตาจากหลายประเทศเช่นกัน โดยหน่วยงานกำกับดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของอิตาลี (Garante) ได้สั่งให้ Apple และ Google ถอดแอปพลิเคชัน DeepSeek ออกจาก App Store และ Play Store ชั่วคราว ส่งผลให้ผู้ใช้งานในอิตาลีไม่สามารถดาวน์โหลดแอปได้ในขณะนี้ 

Garante ระบุว่ามีความกังวลเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน DeepSeek จึงได้ส่งคำถามไปยังผู้พัฒนาเพื่อขอคำชี้แจงภายใน 20 วัน พร้อมตรวจสอบเพิ่มเติมว่า DeepSeek ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับทั่วไปเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูล (GDPR) ของสหภาพยุโรปหรือไม่  

นอกจากอิตาลีแล้ว หน่วยงานกำกับดูแลข้อมูลของไอร์แลนด์ก็เริ่มตรวจสอบการเก็บข้อมูลของ DeepSeek เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาที่กำลังสืบสวนว่า DeepSeek ใช้ข้อมูลใดในการฝึกฝนโมเดลปัญญาประดิษฐ์ 

‘ดร.สุชัชวีร์’ ยกความมหัศจรรย์ AI พลิกโลกของ DeepSeek ชี้ เป็นความมุ่งมั่นของ "คนจีน" ที่ไม่ยอมแพ้ต่อทุกข้อจำกัด

(3 ก.พ. 68) ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายกสภามหาวิทยาลัย CMKL มหาวิทยาลัย AI แห่งแรกของไทย  โพสต์เฟซบุ๊กว่า  "DeepSeek AI กระบี่อยู่ที่ใจ" ทำไม AI จีนถึงเก่งได้ แล้วไทยจะอยู่อย่างไร

"ความมหัศจรรย์" และ "ความน่าสงสัย" ของ "แฟลตฟอร์ม AI" สะท้านโลก "DeepSeek" จากแดนมังกร คืออะไร ผมมีคำตอบ พยายามอธิบายเรื่อง "ยากมาก" แบบง่ายๆครับ

การพัฒนา AI  ระดับสูง จำเป็นต้องใช้ปัจจัย 3 ด้าน และทำไม "DeepSeek" ถึง "มหัศจรรย์" ปนความ "น่าสงสัย"

1. "พลังการคำนวน" จาก "ฮาร์ดแวร์" เครื่องซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ AI  ซึ่ง "Nvidia" คือ ผู้นำในการผลิต "GPU" หรือ หน่วยประมวลผลข้อมูล ยิ่งมี GPU เยอะ ก็ยิ่งมี "ประสิทธิภาพ" หรือ "ความเร็ว" ในการคำนวนมากยิ่งขึ้นตาม

มักใช้หน่วย "ความเร็ว PetaFLOPS (PFLOPS)" ซึ่งเป็นหน่วยวัดประสิทธิภาพของการคำนวณ โดย 1 PFLOPS = 1,000 ล้านล้าน (10¹⁵) เลขทศนิยมต่อวินาที

ปัจจุบัน "อีลอน มัสก์" กำลังจะติดตั้งซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ AI ของบริษัท xAI ที่รัฐเทนเนสซี โดยซื้อ GPU รุ่นล่าสุด "ทันสมัยสุด" B200 จาก Nvidia ของ "เจนเซ่น หวง"  ถึง 200,000 ชุด มากที่สุดในโลก โดยมีความเร็วในการคำนวน หลายแสน PetaFLOPS คือ "โคตรเร็ว"

แต่ "DeepSeek" ใช้ "ฮาร์ดแวร์" GPU รุ่นเก่า H800 ของ Nvidia เพียง 2,000 ชุด แถมยัง "ถูกลดสเปค" เพราะโดนกีดกันจากรัฐบาลสหรัฐ ความเร็วน้อยกว่าเครื่องของ "อีลอน มัสก์" เป็นร้อยๆเท่า

นี่จึงเป็น "ความมหัศจรรย์เรื่องแรก"  ที่ "ค่าย AI จีน" ใช้ทรัพยากรน้อยกว่านับร้อยเท่า เมื่อเปรียบเทียบกับ "ค่าย AI อเมริกัน"

2. "โมเดล" หรือ "ซอฟต์แวร์" ที่ใช้เป็นชุดคำสั่งการคำนวน AI มีความสำคัญมาก เพราะยิ่งมีอัลกอริทึมที่มี "ตัวแปร" เยอะก็ครอบคลุมการคำนวณข้อมูลที่ "ละเอียด" ได้มากกว่า

โมเดลที่นิยมสำหรับการคำนวณ Generative AI ที่เราใช้กันอยู่หรือที่เรียกกันว่า LLM (Large Language Model) หรือ GPT (Generative Pre-trained Transformer) คือ โมเดลปัญญาประดิษฐ์ขนาดใหญ่มาก ที่ได้รับการฝึกฝนบนข้อมูลข้อความจำนวนมหาศาล เพื่อตอบสนองข้อความ ได้อย่างซับซ้อนและเป็นธรรมชาติ

"DeepSeek" เป็น LLM ที่มีตัวแปรมากถึง "685,000 ล้าน!" ตัวแปร ซึ่งมากกว่าตัวแปรของ LLM Opensource ตัวอื่น แต่ที่แตกต่างคือ DeepSeek เป็นโมเดลรุ่นแรกที่ฝึกด้วย 8-bit floating point (FP8) ที่ช่วยลดปริมาณการใช้ GPU แต่ยังสามารถมีตัวแปรจำนวนมาก ในขณะที่โมเดลก่อนหน้านี้ใช้ FP16 ซึ่งทำให้ต้องใช้ GPU ที่มีหน่วยความจำสูงกว่า DeepSeek กว่า 2 เท่า

นี่คือ "ความมหัศจรรย์เรื่องที่สอง" ที่ทำให้ "DeepSeek" มีประสิทธิภาพสูงในต้นทุนที่ต่ำกว่าค่ายอื่น 

3. "ข้อมูลขนาดมหึมา" หรือ Big Data ให้อัลกอรึทึม AI ได้ "เรียนรู้" เพื่อสร้างความฉลาดล้ำเมื่อถูกใช้งาน ซึ่งการได้มาของข้อมูลขนาดมหึมานี้ เป็นความ "น่าสงสัย" ในตัว "DeepSeek" และ แพลตฟอร์ม AI แทบทุกสำนัก เพราะแหล่งข้อมูลมีทั้งจากข้อมูลสาธารณะ ข้อมูลเฉพาะ ข้อมูลบุคคคล ข้อมูลธุรกิจ ข้อมูลมีลิขสิทธิ์ และข้อมูลที่ AI   สร้างเอง ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพการคำนวนทั้งสิ้น

นี่คือ "ความมหัศจรรย์เรื่องที่สาม" ว่า "DeepSeek" ได้ข้อมูลขนาดมหึมานี้ ในเวลาสั้นๆ จากแหล่งใด 

ดังนั้น "การไขความลับ" แห่งความสำเร็จของ "DeepSeek" จึงยังคงเป็นปริศนา และยังมีเรื่อง "งบประมาณ" ที่ใช้ซึ่งน้อยมากจนเหลือเชื่อ 

กระนั้นต้อง "ยอมรับ" ชื่นชมในความสามารถและความมุ่งมั่นของ "คนจีน" ที่ไม่ยอมแพ้ต่อข้อจำกัด #จะทำก็ทำได้ แล้ว "คนไทย" เราจะศิโรราบต่อ "ชะตา" เชียวหรือ ทิ้งท้ายไว้ให้คิดนะครับ

‘Apple’ เลือกใช้ AI ของ 'อาลีบาบา' หวังเพิ่มทางรอดธุรกิจ ในสมรภูมิ!! 'สงครามการค้า' ระหว่าง ‘สหรัฐฯ - จีน’

(16 ก.พ. 68) แอปเปิล (Apple) กำลังพยายามปรับโฉมใน “จีน” ครั้งใหญ่ด้วย เทคโนโลยี AI ที่จะเปิดตัวภายในกลางปี 2568 เพื่อเพิ่มยอดขายใจตลาดสำคัญ เดิมพันครั้งใหญ่ในการเพิ่มยอดขาย แต่ Apple ต้องเผชิญกับอุปสรรคสำคัญในการเปิดตัวฟีเจอร์ดังกล่าวในประเทศจีน เนื่องจากกฎระเบียบของรัฐบาลจีนไม่อนุญาตให้ Apple นำความร่วมมือกับ OpenAI ผู้ผลิต ChatGPT เข้ามาในประเทศได้

เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา “โจ ไช่” ประธานของอาลีบาบา (Alibaba) เปิดเผยว่า บริษัทจะร่วมมือกับ Apple ในด้านเทคโนโลยี AI สำหรับ iPhone ที่จำหน่ายในประเทศจีน 

ถึงแม้ความร่วมมือกับ Alibaba จะช่วยให้ Apple เข้าใกล้เป้าหมายการเปิดตัว Apple Intelligence ในประเทศจีนมากขึ้น แต่ก็ยังมีอุปสรรคด้านกฎระเบียบบางประการที่ต้องก้าวผ่านไปให้ได้ อาจเป็นเหตุผลให้ Apple Intelligence ซึ่งเป็น AI ที่บริษัทได้พัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 2566 จึงยังไม่ได้เปิดตัวสู่ตลาดต่างประเทศที่สำคัญที่สุดของ Apple

ก่อนหน้านี้ Apple ทดสอบโมเดลและหารือถึงความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำด้าน AI ของจีนหลายราย เช่น Baidu, ByteDance, Moonshot, Zhipu และ Tencent รวมถึงทดสอบโมเดลของ DeepSeek ด้วยเช่นกัน  

หลังจากที่ประธานาธิบดี “โดนัล ทรัมป์” ได้ประกาศมาตรการเก็บภาษีศุลกากรรอบใหม่กับจีน 10% ซึ่งเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของ Apple ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่า Apple จะได้รับการยกเว้นจากภาษีศุลกากรครั้งนี้หรือไม่ ในขณะเดียวกันทางการจีนกำลังดำเนินการตรวจสอบค่าธรรมเนียมและนโยบายการดำเนินงานต่างๆ ของ App Store

สิ่งที่สร้างความยุ่งยากมากกว่านั้นคือ การที่ Apple ถูกดึงเข้ามาอยู่ในสถานะผู้ต่อรองในสงครามการค้าโดยไม่เต็มใจ โดยมีรายงานว่า Apple ถูกรวมอยู่ในรายชื่อบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ที่อาจถูกจับตามองจากทางการจีน ในฐานะส่วนหนึ่งของการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลทรัมป์

หลังจากที่สหรัฐฯ เริ่มเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนในอัตรา 10% ไม่นาน ปักกิ่งได้ตอบโต้ด้วยการเปิดการสอบสวน Google ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Alphabet Inc. แม้การสอบสวนดังกล่าวจะถือเป็นเพียงการส่งสัญญาณเตือนเท่านั้น เนื่องจาก Google มีธุรกิจในจีนเหลืออยู่น้อยมาก แต่ในกรณีของ Apple นั้นแตกต่างออกไป เพราะบริษัทยังคงพึ่งพารายได้ส่วนใหญ่จากตลาดผู้บริโภคในจีน

เมื่อปีที่แล้ว หน่วยงานกำกับดูแลชั้นนำของจีนได้ระบุกับ Financial Times ว่า Apple จำเป็นต้องร่วมมือกับบริษัทจีนเพื่อให้สามารถผ่านขั้นตอนการอนุมัติได้ง่ายยิ่งขึ้น 

การผนึกกำลังด้าน AI ระหว่าง Alibaba และ Apple เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับ Apple ซึ่งกำลังเผชิญกับยอดขาย iPhone ที่ลดลงในประเทศจีน ท่ามกลางการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากคู่แข่งท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Huawei

นักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมชี้ให้เห็นว่า การขาดคุณสมบัติ AI ขั้นสูง ซึ่งเป็นจุดขายที่สำคัญของสมาร์ตโฟนรุ่นล่าสุด เป็นจุดอ่อนที่สำคัญสำหรับ Apple ในตลาดจีน

Apple สูญเสียตำแหน่งผู้นำในตลาดสมาร์ตโฟนจีนให้กับผู้ผลิตในประเทศ แสดงให้เห็นถึงการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดจีน และความท้าทายที่ Apple กำลังเผชิญอยู่ โดย Canalys พบว่ายอดขาย iPhone ในประเทศจีนลดลงถึง 17% ในปี 2024 

อีกหนึ่งความท้าทายที่ Apple เผชิญคือ การที่ฟีเจอร์ AI ใหม่ ๆ จะสามารถกระตุ้นให้ผู้บริโภคยอมจ่ายเงินซื้อผลิตภัณฑ์ของ Apple หรือไม่ เนื่องจากผู้บริโภคในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

นักวิเคราะห์บางคนคาดการณ์ว่า Apple Intelligence จะช่วยส่งเสริมให้บริษัทประสบความสำเร็จในประเทศจีนในช่วงที่ยอดขายสมาร์ทโฟนของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงจากผู้ผลิตสมาร์ทโฟนในประเทศ เช่น Huawei, Xiaomi และ Vivo

Ethan Qi รองผู้อำนวยการบริษัท Counterpoint กล่าวว่า ตลาดสมาร์ทโฟนของจีนมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี 2024 โดยยอดขายโดยรวมลดลง 3.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากผู้บริโภค “ระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น” และหลังจากมีข่าวลือเกี่ยวกับข้อตกลงระหว่าง Apple และ Alibaba นักวิเคราะห์จาก Jefferies ระบุว่า ข้อตกลงนี้ไม่น่าจะช่วยกระตุ้นยอดขาย iPhone 17 ในประเทศจีนได้

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช้ครั้งแรกที่ทั้ง 2 บริษัททำธุรกิจร่วมกัน ในปี 2557 ทิม คุก CEO ของ Apple ได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการ "แต่งงาน" ระหว่าง Apple Pay และแพลตฟอร์มการชำระเงินของ Alibaba อย่าง Alipay โดยแสดงความชื่นชมต่อผู้ก่อตั้งบริษัทอย่าง Jack Ma เขาบอกว่าเขาชอบทำงานร่วมกับ "คนที่ผลักดันเรา และเราก็ชอบผลักดันพวกเขา"

แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าจีนแห่ติดตั้ง AI ของ DeepSeek พลิกโฉม ตู้เย็น ทีวี หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ขึ้นแท่นอัจฉริยะตัวจริง

(27 ก.พ. 68) หลายแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านในจีนประกาศว่าจะนำโมเดลปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของบริษัทสตาร์ตอัป DeepSeek มาใช้ในผลิตภัณฑ์ของตน โดยขยายการใช้งานจากเดิมที่มีในทีวี ตู้เย็น และหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ซึ่งจะทำให้การยอมรับโมเดล AI ในจีนเติบโตไปอีกขั้น

ตามรายงานจากรอยเตอร์ โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ของ DeepSeek ได้กลายเป็นตัวเปลี่ยนเกมในวงการ AI ปีนี้ ด้วยประสิทธิภาพที่ไม่แพ้ระบบจากตะวันตก แต่ต้นทุนต่ำกว่ามาก ส่งผลให้ DeepSeek กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จและความภาคภูมิใจของจีน นอกจากนี้ยังถือเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการที่จีนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้ แม้จะเผชิญกับความพยายามจากสหรัฐฯ ในการขัดขวาง

แหล่งข่าวเผยว่า เหลียง เหวินเฟิง ผู้ก่อตั้ง DeepSeek ได้รับการยกย่องจากทางการจีน และบริษัทกำลังเตรียมเปิดตัว R2 ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดจากโมเดล R1 ในเร็วๆ นี้

ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านจากจีนหลายราย เช่น ไฮเออร์ (Haier), ไฮเซ่นส์ (Hisense) และทีซีแอล (TCL) ได้ประกาศใช้โมเดล AI ของ DeepSeek ตามรอยผู้ผลิตยานยนต์และบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ เช่น หัวเว่ย (Huawei) และเทนเซ็นต์ (Tencent)

แม้ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านจะมีความสามารถในการรับคำสั่งด้วยเสียงอยู่แล้ว แต่การใช้โมเดล AI ของ DeepSeek จะช่วยเพิ่มความแม่นยำและประสิทธิภาพในการใช้งาน

หลิว ซิงเหลียง นักวิเคราะห์อุตสาหกรรม กล่าวว่าหุ่นยนต์ดูดฝุ่นอัจฉริยะจะสามารถใช้ความสามารถในการแยกวิเคราะห์คำสั่งจาก DeepSeek-R1 เพื่อปรับตำแหน่งและหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางได้เร็วและมีความซับซ้อนมากขึ้น

เขากล่าวเสริมว่า “อุปกรณ์เหล่านี้จะสามารถเข้าใจคำสั่งที่ซับซ้อนได้ เช่น ขัดพื้นไม้ในห้องนอนใหญ่เบาๆ และระมัดระวังไม่ให้โดนตัวต่อเลโก้”

จีนปฏิวัติวงการยา!! ใช้ AI คิดค้นยารักษามะเร็งปอดสูตรใหม่ ชี้ประสิทธิภาพเหนือกว่ายา 'คีทรูดา' ของสหรัฐฯ

(27 ก.พ.68) ซินหัวรายงานว่า ในขณะที่ดีปซีก (DeepSeek) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของจีน ทำให้โลกตะลึงกับนวัตกรรมที่มีราคาน่าเหลือเชื่อ บริษัทไบโอเทคสัญชาติจีนที่ก่อตั้งมาเกือบสิบปีและไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนักอย่าง 'อะคีโซ' (Akeso) ได้สั่นสะเทือนวงการเภสัชกรรมด้วยยารักษาโรคมะเร็งปอดตัวใหม่

รายงานระบุว่าไอโวเนสซิแมบ (Ivonescimab) เป็นยาตัวใหม่ของอะคีโซที่ผ่านการทดลองในจีนและมีประสิทธิภาพเหนือกว่าคีทรูดา (Keytruda) ยารักษาโรคมะเร็งที่พัฒนาโดยเมอร์ค (Merck) และสร้างรายได้แก่บริษัทอเมริกันที่ครองตลาดการรักษาโรคมะเร็งมากกว่า 1.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.4 ล้านล้านบาท)

ข้อมูลทางคลินิกจากการประชุมโรคมะเร็งปอดระดับโลก (World Conference on Lung Cancer) เผยว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาตัวใหม่ของอะคีโซสามารถระงับการเติบโตอีกครั้งของเนื้องอกร้ายได้นาน 11.1 เดือน ซึ่งนานกว่ายาคีทรูดาที่มีระยะการระงับการเติบโตของเนื้องอกร้ายราว 5.8 เดือน

อะคีโซเผยผ่านสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่าการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ของอะคีโซเกิดจากความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับชีววิทยาของโรคและวิศวกรรมโปรตีน รวมถึงได้รับประโยชน์จากระยะเวลาการพัฒนาอันรวดเร็วและทรัพยากรผู้มีความรู้ความสามารถชั้นนำในจีน

รายงานเสริมว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพหรือไบโอเทคของจีนได้เริ่มต้นคิดค้นและพัฒนายาขั้นสูงที่สามารถแข่งขันโดยตรงกับผลิตภัณฑ์ยาจากตะวันตกเพิ่มขึ้น พร้อมกับลงนามข้อตกลงใบอนุญาตหลายฉบับมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐกับเหล่าหุ้นส่วนชาติตะวันตกเพื่อจัดจำหน่ายยาสู่ทั่วโลกด้วย

มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง 'สแตนฟอร์ดจีน' กับบทบาทผู้พลิกโฉมวงการ AI ผ่าน DeepSeek

(6 มี.ค. 68) The Economist รายงานว่า สื่อต่างประเทศกำลังพุ่งไปที่ มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง (Zhejiang University) ที่ได้กลายเป็นศูนย์กลางความสนใจของโลก หลังจากเป็นจุดกำเนิดของ DeepSeek บริษัท AI จากจีนที่กำลังท้าทายมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีระดับโลก ด้วยการเปิดตัวโมเดล DeepSeek-R1 ที่มีศักยภาพสูงและต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่งอย่าง OpenAI และ Google

ด้วยชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยเจ้อเจียงที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น 'สแตนฟอร์ดแห่งจีน' โดยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน Silicon Valley และสร้างสรรค์บริษัทเทคโนโลยีระดับโลก เช่น Google, Apple, Tesla และ NVIDIA

เป็นที่มาที่ทำให้มหาวิทยาลัยเจ้อเจียงถูกยกย่อง เนื่องจากนักวิจัยและศิษย์เก่าของที่นี่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา AI และเทคโนโลยีล้ำสมัย หนึ่งในนั้นคือ เหวินเฟิง (Liang Wenfeng) ผู้ก่อตั้ง DeepSeek ซึ่งต่อมากลายเป็นบริษัทสตาร์ทอัพด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่กำลังสร้างความฮือฮาในวงการเทคโนโลยี 

บริษัทนี้ได้รับความสนใจอย่างมากในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีหลังจากเปิดตัวโมเดล AI ชื่อ R1 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2025 โดย โมเดล R1 ของ DeepSeek มีความสามารถในการให้เหตุผลที่เทียบเท่าหรือเหนือกว่าโมเดล o1 ของ OpenAI โดยใช้ต้นทุนในการพัฒนาที่ต่ำกว่าอย่างมาก โมเดลนี้ใช้ชิป Nvidia H800 ประมาณ 2,000 ตัว คิดเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 5.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่ำกว่าการลงทุนของบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐฯ อย่างมาก

ความสำเร็จของ DeepSeek สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของมหาวิทยาลัยเจ้อเจียงในการผลิตบุคลากรที่มีความสามารถสูงในด้านเทคโนโลยี นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังมีเป้าหมายที่จะเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกภายในปี 2027 โดยใช้มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเป็นต้นแบบ เพื่อรองรับการเติบโตของ AI และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง 

สำหรับมหาวิทยาลัยเจ้อเจียงได้เปิดหลักสูตรเฉพาะด้านปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งสนับสนุนให้นักศึกษาได้ทดลองพัฒนาโมเดล AI ของตนเอง รวมถึงเรียนรู้แนวคิดขั้นสูง เช่น Machine Learning, Deep Learning และ Natural Language Processing (NLP) สิ่งนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บุคลากรจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีศักยภาพในการแข่งขันในระดับสากล

จีนกำลังผลักดันให้ AI กลายเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ โดย DeepSeek ถือเป็นตัวอย่างของบริษัทที่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรม AI ของโลกได้ ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าและแนวคิดการพัฒนาที่แตกต่าง

ความสำเร็จของ DeepSeek ไม่ได้เป็นเพียงจุดเปลี่ยนของมหาวิทยาลัยเจ้อเจียงเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นว่า จีนกำลังก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้าน AI ของโลกอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ วิลเลียม เคอร์บี้ (William Kirby) นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านจีนจาก Harvard Business School ได้กล่าวถึงการเติบโตของมหาวิทยาลัยในประเทศจีน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง เขาชี้ให้เห็นว่าการเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยเช่นเจ้อเจียง สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในแวดวงการศึกษาระดับโลก

‘Zuchongzhi-3’ คอมพิวเตอร์ควอนตัมใหม่ของจีน ทำลายสถิติของ Google ถึงล้านเท่า เร็วกว่า!! ‘ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ดีที่สุด’ ถึง 15 เท่า ถือเป็นการก้าวกระโดด ครั้งยิ่งใหญ่

(8 มี.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ โพสต์ข้อความระบุว่า ...

จีนเพิ่งแซงหน้าในการแข่งขันด้านควอนตัม ด้วยการเปิดตัว Zuchongzhi-3 ซึ่งเป็นเครื่องที่มีคิวบิต 105 ตัว ซึ่งทำให้โปรเซสเซอร์ Sycamore ของ Google ดูช้า

นักวิจัยกล่าวว่าเจ้าควอนตัมตัวนี้ทำการคำนวณได้เร็วกว่าผลลัพธ์ล่าสุดของ Google ถึง 1 ล้านเท่า และเร็วกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ดีที่สุดถึง 15 เท่า ด้วยอำนาจสูงสุดของควอนตัมที่อยู่ในสภาวะเสี่ยง ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของจีนกำลังก่อให้เกิดสัญญาณเตือนภัยในโลกแห่งเทคโนโลยี ด้าน The Independent เผย จีนก้าวกระโดดในการแข่งขันด้านอาวุธคอมพิวเตอร์ควอนตัม

Zuchongzhi-3 ของจีนเพิ่งจะแซงหน้าการประมวลผลแบบคลาสสิกไปเมื่อไม่นานนี้ โดยสามารถรันงานต่าง ๆ ได้เร็วกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์ชั้นนำในปัจจุบันถึงหลายล้านล้านเท่า 

ทำลายสถิติควอนตัมล่าสุดของ Google ได้ถึง 6 อันดับ ตามคำกล่าวของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน:

“เราได้ดำเนินการสุ่มวงจรในระดับที่ใหญ่กว่าที่ Google เคยทำได้สำเร็จก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างความสามารถในการคำนวณระหว่างการประมวลผลแบบคลาสสิกและแบบควอนตัมกว้างขึ้น”

นี่ไม่ใช่แค่ความยืดหยุ่น - จีนกำลังก้าวไปข้างหน้าในการแข่งขันด้านอาวุธควอนตัมด้วยความก้าวหน้าที่จะช่วยปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของ AI การค้นพบยา และอนาคตของการประมวลผลข้อมูล

ม.รังสิต ผนึกกำลัง 2 สำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES - SPUTNIK ระดมผู้เชี่ยวชาญร่วมถ่ายทอดความรู้พัฒนาวงการสื่อสารมวลชนยุค AI

ครั้งแรกในประเทศไทย กับการผนึกกำลังของ 2 หน่วยงานด้านสื่อออนไลน์ ระหว่างสำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES จากประเทศไทย กับ สำนักข่าว SPUTNIK ของรัสเซีย พร้อมด้วยวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต จัดสัมมนา THE FUTURE JOURNALISM 2025 'AI กับ สื่อสารศาสตร์ยุคใหม่' ร่วมขับเคลื่อนวงการสื่อสารมวลชนไทย

(14 มี.ค. 68) ผศ.ดร. สุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า อย่างที่เราทราบกันดีว่า AI ได้เข้ามามีบทบาทการทำงานในโลกของสื่อยุคใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้จากสื่อชั้นนำระดับโลก รวมถึงสื่อไทย ได้นำเทคโนโลยีด้าน AI มาช่วยประมวลผลข้อมูลที่ซับซ้อน รวมไปถึงขั้นที่นำไปสร้างคอนเทนต์ข่าวกันอย่างแพร่หลาย ในวันนี้ เราจะมาร่วมกันเสริมความรู้และแนวทางในการนำเสนอข่าวสารยุคใหม่ไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งจะทำให้เราได้เห็นถึงทิศทางการนำเสนอข่าวสารในโลกยุค AI ที่ต้องรู้เท่าทัน เพราะมีความหลากหลายและซับซ้อนในหลาย ๆ ด้าน ทั้งในการเสนอข่าวสารและการรับรู้ข่าวสาร

ด้าน ฯพณฯ นายเยฟกินี โทมิคิน เอกอัครราชทูตแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ประจำราชอาณาจักรไทย กล่าวว่า ขณะนี้เรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในวิธีการสร้างเผยแพร่และบริโภคข้อมูล ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้นำมาซึ่งโอกาสใหม่ที่น่าทึ่ง  แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความท้าทายที่สำคัญต่อความจริง ความเป็นกลางและจริยธรรมของสื่อมวลชนการเติบโตของสื่อที่สร้างข้อมูลด้วย ai ได้เปิดขอบเขตใหม่ในการเข้าถึงข้อมูล

อย่างไรก็ตามเราไม่ควรมองข้ามภัยคุกคามที่มากับความก้าวหน้าดังกล่าวการแพร่ระบาดของข่าวปลอมวิดีโอที่ใช้เทคโนโลยี deepfakes และการใช้ระบบอัลกอริทึมในการกำหนดเนื้อหาข่าวท้าทายความสามารถของเราที่จะแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงและเรื่องที่แต่งขึ้น 

ทั้งนี้ ในยุคที่ข้อมูลเท็จแพร่กระจายได้เร็วกว่าที่เคยเป็นมาบทบาทของนักข่าวและผู้แสวงหาความจริงจึงมีความสำคัญมากกว่าครั้งไหน ๆ หนึ่งในประเด็นเร่งด่วนที่สุดที่เราต้องเผชิญในวันนี้คือการใช้ข้อมูลเป็น อาวุธ ข่าวปลอมไม่ได้เป็นเพียงผลลัพธ์ของข้อผิดพลาดอีกต่อไปแต่มันได้กลายเป็นเครื่องมือเชิงกลยุทธ์ที่ใช้ในการกำหนดมุมมองมีอิทธิพลต่อความคิดเห็นของสาธารณะและบิดเบือนความเป็นจริงทางภูมิรัฐศาสตร์ ตัวอย่าง เช่น เทคโนโลยี deepfakes ที่ขับเคลื่อนด้วย ai สามารถปลอมแปลงคำพูดของผู้นำโลกบิดเบือนบันทึกทางประวัติศาสตร์และสร้างการบิดเบือนเหตุการณ์ปัจจุบันซึ่งอาจนำไปสู่ผลกระทบร้ายแรงต่อการทูต ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเสถียรภาพของสังคม

นอกจากนี้เราต้องยอมรับถึงอิทธิพลของสื่อกระแสหลักจากโลกตะวันตกที่ครอบงำการกำหนดกรอบเนื้อหาในระดับสากลหลายครั้งที่เหตุการณ์ระหว่างประเทศถูกนำเสนอผ่านมุมมองเพียงด้านเดียวโดยละเลยความหลากหลายของมุมมองที่มีอยู่ในโลกที่มีหลายขั้วทางอำนาจ  การนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความขัดแย้งเศรษฐกิจและการเมืองโดยสื่อกระแสหลักของตะวันตกมักจะสร้างความไม่สมดุลในการรับรู้ของผู้ชม สื่อสารมวลชนจึงควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรมความหลากหลายและการเปิดกว้างต่อมุมมองที่แตกต่างกันเพื่อให้เกิดสังคมโลกที่ได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน

“รัสเซียให้ความสำคัญกับหลักการอธิปไตยทางสื่อและความจำเป็นในการมีมุมมองทางเลือกมาโดยตลอด เราเชื่อว่า หาก ai ถูกใช้อย่างเกิดประโยชน์จะสามารถช่วยส่งเสริมความหลากหลายทางสื่อได้ โดยช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและเปิดโอกาสให้แนวคิดต่างๆไหลเวียนอย่างเสรี แต่การแก้ไขปัญหานี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างนักข่าว นักวิชาการ และภาครัฐที่ต้องร่วมมือกันกำหนดแนวทางด้านจริยธรรมสำหรับการใช้เอไอในวงการสื่อมวลชน พร้อมดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเข้มข้นและส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อเพื่อให้ประชาชนสามารถป้องกันตัวเองจากข้อมูลเท็จได้ ขณะที่เรากำลังก้าวสู่ยุคใหม่ของการสื่อสาร เราต้องยึดมั่นในความถูกต้องความรับผิดชอบและความเป็นธรรม อนาคตของสื่อสารมวลชนขึ้นอยู่กับความสามารถของเราในการปกป้องความจริงท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว” 

นายอนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีกิตติคุณวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่าเทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเราอย่างมาก รวมทั้งในวงการสื่อสารมวลชนด้วย ดังจะเห็นได้จากการเขียนบทความหรือเขียนข่าว เริ่มใช้ AI กันมากขึ้น แม้บทบาทการตัดสินใจเลือกประเด็นข่าวและกำรตรวจทานเนื้อหา ยังคงเป็นหน้าของบรรณาธิการ แต่กระบวนการเขียน โครงสร้างของบทความล้วนขับเคลื่อนด้วยพลังของ AI แทบทั้งสิ้น

รวมถึงกระบวนการคัดเลือกและจัดเรียงพาดหัวข่าวด้วย ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการสื่อ พบว่า สื่อไทยเปิดรับและปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยี AI ได้ค่อนข้างไวกว่าประเทศรอบข้าง ดังจะเห็นได้จากผลสำรวจล่าสุดที่สะท้อนมุมมองในแง่ดีของการนำ AI มาใช้ โดยผลสำรวจความคิดเห็นของนักข่าว 70 คนใน 4 ประเทศได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์และไทย พบว่านักข่าวส่วนใหญ่มีทัศนคติเชิงบวกต่อการนำ AI มาใช้ในวงการสื่อโดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีระดับการยอมรับและปรับตัวสูงถึง 95% เป็นรองแค่เพียงเวียดนามเท่านั้นที่ให้การยอมรับถึง 100% โดยผู้ตอบแบบสอบถาม ซึ่งเป็นสื่อในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มองว่า AI ส่งผลดีต่องานของตนถึง 84% ขณะที่ 4% มองว่าไม่มีผลใด ๆ และ 12% มองในแง่ลบ

ทั้งนี้สาเหตุหนึ่งที่นักข่าวไทยมีอัตราการมอง AI ในแง่บวกสูงอาจเป็นเพราะสื่อไทยใช้ภาษาไทยเป็นหลักจึงเกิดความรู้สึกว่า AI อาจคุกคามการทำงานของตนน้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค สวนทางกับฟิลิปปินส์ที่มีอัตราการมองในแง่บวกต่ำสุดและมองในแง่ลบสูงสุดเนื่องจากสื่อท้องถิ่นใช้ภาษาอังกฤษกันอย่างแพร่หลายนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการนำเสนอเทคโนโลยีข่าวสารด้วย AI  ได้นำไปสู่ปัญหาหลายประการที่กระทบต่อหลักจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อร้ายแรง ตัวอย่างที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในต่างประเทศ เช่น ข้อมูลผิดพลาด คำนวณเลขผิดพลาด ใช้ภาษาที่ไม่เหมาะ สมลอกเลียนเนื้อหาจากสำนักข่าวอื่นโดยไม่ใส่ที่อย่างชัดเจน เป็นต้น ดังนั้นความสามารถเฉพาะทางของมนุษย์ยังคงมีความสำคัญและถึงแม้ว่า AI จะเข้ามามีบทบาทในวงการสื่อสารมวลชนมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถมาทดแทนศักยภาพของมนุษย์ไปได้ โดยเฉพาะในด้านความคิดสร้างสรรค์และการตัดสินใจเชิงจริยธรรมการปรับตัวและพัฒนาทักษะให้เข้ากับยุค AI จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ที่ทำงานในวงการสื่อเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและโอกาสใหม่ๆ ที่กำลังจะมาถึง

ด้านนายวินท์ สุธีรชัย กรรมการปรับปรุงและยกร่างกฎหมาย กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในฐานะอยู่ทั้งในแวดวงการเมืองและธุรกิจ มองว่า โลกของข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันก้าวไปเร็วไปมากและเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่ง และที่สำคัญมีทั้งข่าวจริงและข่าวปลอม นั่นจึงเป็นเรื่องที่ทำให้ผู้ที่รับข้อมูลข่าวสารต้องเพิ่มความระมัดระวังในการรับรู้ข้อมูล ต้องกรองข่าวนั้นให้ดีก่อนจะเชื่อ อย่าเพิ่งไปเชื่อสิ่งที่เราเห็นในครั้งแรก ต้องหาข้อมูลให้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องจริง หรือเป็นสิ่งที่ AI สร้างขึ้นมาเป็นข่าวลวง จากนั้นจึงจะเป็นขั้นต่อไปว่า จะเผยแพร่ต่อหรือนำไปเตือนไปใช้อย่างไรต่อไป 

ขณะที่ นายวาซิลี พุชคอฟ ผู้อำนวยการด้านความร่วมมือระหว่างประเทศของสำนักข่าว SPUTNIK กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมการผลิตข่าวสารในปัจจุบันมีความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะการที่เทคโนโลยียิ่งมีความรวดเร็วทันสมัยยิ่งทำให้สำนักข่าวต่างๆ ต้องปิดตัวไปจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่าน ขณะที่ สำนักข่าว Sputnik เอง ได้พัฒนาตัวเองมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ก้าวทันเทคโนโลยีทั้งเว็บไซต์และโมบาย แอปพลิเคชัน และมีการแปลไปถึง 30 ภาษา 

และหากมองถึงในแง่การพัฒนาอุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสาร เทียบประเทศไทยกับรัสเซีย จะเห็นว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้า แต่ก็ยังมีความเป็นอนุรักษ์นิยมอยู่บ้าง ดังที่เห็นได้จากการยังคงมีหนังสือพิมพ์อยู่ ในขณะที่ในมอสโกแทบจะไม่มีหนังสือพิมพ์วางขายแล้ว โดยเฉพาะหลังจากสถานการณ์โควิดที่สำนักพิมพ์เกือบทั้งหมดยุติการพิมพ์ไปแล้ว

หรือแม้กระทั่งโทรทัศน์ก็แทบจะไม่ดูกันแล้วในรัสเซีย โดยหันมาใช้โปรแกรม Telegram ในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างแพร่หลาย เพราะฉะนั้น ในวงการสื่อสารมวลชนแทบจะไม่มีอะไรแน่นอน และอาจจะไม่คุ้มค่าในการลงทุนใหม่ๆ ในวงการสื่อ อีกทั้งยังพบว่า AI เป็นความท้าทาย โดยเฉพาะการใช้ทำข่าวปลอม ซึ่งหลาย ๆ ประเทศกำลังเผชิญอยู่ ถ้ามองโลกในแง่ดีก็คือการเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งใหม่ ๆ แต่หากมองในแง่ร้าย ก็ต้องยอมรับว่า สิ่งนี้กำลังจะทำลายวงการสื่อสารมวลชนได้เช่นเดียวกัน

“สำหรับในส่วนของการนำเสนอข่าวของ Sputnik นั้น จะมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนจะนำเสนอข่าวออกไป โดยยึดมั่นในข้อเท็จจริงเป็นสิ่งสำคัญ โดยบรรณาธิการข่าวแต่ละคนจะต้องตระหนักในเรื่องเหล่านี้ เพื่อป้องกันการนำเสนอข่าวปลอมที่อาจจะสร้างความเสียหายให้กับผู้ที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารนั้นๆ และจะต้องไม่รับฟังแค่ข่าวด้านเดียว ต้องฟังอย่างรอบด้านก่อนจะนำเสนอออกไป และแม้ว่า AI อาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสื่ออย่างหนัก แต่เชื่อว่าสิ่งที่มนุษย์เหนือกว่า ก็คือการปรับตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทำได้เป็นอย่างดีมาตลอด”

ผศ.อนุสรณ์ ศรีแก้ว ชี้แนวทางการใช้ AI วงการข่าวอย่างมีจริยธรรม พร้อมสร้างความเข้าใจงานสื่อในงานสัมมนา ‘FUTURE JOURNALISM 2025’

เมื่อวันที่ (14 มี.ค.68) ณ อาคาร Student Center มหาวิทยาลัยรังสิต ได้มีการจัดสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “AI กับสื่อวารศาสตร์ยุคใหม่” ภายใต้งาน THE FUTURE JOURNALISM 2025 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์อนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีกิตติคุณวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นวิทยากรหลักในการบรรยายเกี่ยวเรื่อง “ทิศทางการนำเสนอข่าวยุค AI”

โดยการสัมมนาครั้งนี้ได้รับความสนใจจากนักศึกษา อาจารย์ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน และบุคคลทั่วไปที่สนใจเกี่ยวกับแนวโน้มของวงการข่าวในอนาคต ซึ่ง AI กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของสื่อมวลชนอย่างรวดเร็ว

ผศ.อนุสรณ์ ศรีแก้ว ได้กล่าวถึงบทบาทของ AI ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนงานข่าวในหลายมิติ ตั้งแต่ การสรุปข่าว การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก การตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact-checking) ไปจนถึงการสร้างผู้ประกาศข่าวเสมือนจริง (AI Anchors) ซึ่งช่วยให้กระบวนการนำเสนอข่าวเป็นไปอย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น

รวมถึงประเด็นด้านจริยธรรมที่มาพร้อมกับ AI เช่น Deepfake, ข่าวปลอม (Fake News), และอคติของอัลกอริทึม (Algorithmic Bias) ซึ่งอาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของข่าวสารได้ นักข่าวและองค์กรสื่อจำเป็นต้องพัฒนาแนวทางการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อรักษามาตรฐานทางจริยธรรมของวิชาชีพสื่อมวลชน

“ในยุคที่ AI ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการสื่อมวลชน นักข่าวและสำนักข่าวต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยี AI สามารถช่วยให้การสืบค้น วิเคราะห์ และนำเสนอข่าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่หัวใจสำคัญของวารสารศาสตร์ยังคงอยู่ที่ 'ความจริง' และ 'จรรยาบรรณ' ของผู้สื่อข่าว” ผศ.อนุสรณ์ กล่าว

นอกจากนี้ ผศ.อนุสรณ์ได้เสนอแนวทางการประยุกต์ใช้ AI ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในสายงานสื่อ เช่น การใช้ AI เพื่อช่วยรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมาก (Big Data Journalism) การพัฒนา Chatbot เพื่อสื่อสารกับผู้อ่าน การใช้ AI ตรวจสอบแหล่งข่าว รวมถึงการใช้ AI สร้างเนื้อหาที่ปรับให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายแบบเฉพาะบุคคล (Personalized News)

วิทยากรเน้นย้ำว่า AI ไม่ได้เข้ามาแทนที่นักข่าว แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสื่อมวลชน นักข่าวควรพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยี เช่น การใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล การตรวจสอบข่าวปลอม การทำงานร่วมกับระบบอัตโนมัติ และการนำเสนอข่าวที่เจาะลึกและสร้างคุณค่าให้กับสังคม

สำหรับงานสัมมนาครั้งนี้ช่วยให้ผู้เข้าร่วมมีความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับ การปรับตัวของวงการข่าวในยุค AI รวมถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรมและความรับผิดชอบ โดย ผศ.อนุสรณ์ ศรีแก้ว ได้เน้นให้เห็นว่าการผสมผสาน AI เข้ากับการทำข่าวอย่างเหมาะสม จะช่วยให้วงการสื่อสารมวลชนสามารถก้าวเข้าสู่อนาคตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

“แม้ว่า AI จะช่วยเขียนข่าวได้อย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่ AI ยังไม่สามารถแทนที่ได้ คือ วิจารณญาณของมนุษย์ การตั้งคำถาม และความสามารถในการถ่ายทอดเรื่องราวอย่างมีอารมณ์ความรู้สึก ดังนั้น นักข่าวยุคใหม่ต้องเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับ AI และใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่ละทิ้งจริยธรรมของวิชาชีพ” ผศ.อนุสรณ์ กล่าวปิดท้าย

ทั้งนี้ การสัมมนาเป็นส่วนหนึ่งของงาน THE FUTURE JOURNALISM 2025 ซึ่งเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้และแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาวงการข่าวในยุคดิจิทัล โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาเข้าร่วมแบ่งปันมุมมองและประสบการณ์ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของแวดวงสื่อสารมวลชนไทยในการก้าวสู่อนาคตของข่าวสารในปี 2025 และต่อไป

‘ผู้บริหาร SPUTNIK’ ชี้ AI เป็นความท้าทายใหญ่ในศตวรรษที่ 21 ท่ามกลางอุตสาหกรรมสื่อที่ต้องปรับตัวตอบโจทย์ผู้บริโภค

นายวาซิลี พุชคอฟ ผู้อำนวยการด้านความร่วมมือระหว่างประเทศของสำนักข่าว SPUTNIK กล่าวในงานสัมมนา THE FUTURE JOURNALISM 2025 'AI กับ สื่อสารศาสตร์ยุคใหม่' ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของสำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES จากประเทศไทย, สำนักข่าว SPUTNIK ของรัสเซีย และวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนของทั้ง 2 ประเทศ ว่า ปัจจุบัน บริบทของอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชน กำลังเข้าสู่ยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  สิ่งที่สื่อยักษ์ใหญ่กำลังทำอยู่ในขณะนี้ กำลังจะกลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยในอนาคตอันใกล้นี้ 

อีกทั้ง อยู่ที่ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมสื่อ ที่จะกำหนดทิศทางว่าจะเป็นไปอย่างไร เพราะไม่ว่าประเทศไหนในโลกไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย หรือสหรัฐ อเมริกา ล้วนตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน

อย่างที่ทราบกันดีว่า ในอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนในยุคที่ผ่านมานั้น จะใช้วิธีให้ผู้สื่อข่าวส่งข่าวเข้ามาสู่ถังข่าว หรือการซื้อข่าวจากสำนักข่าวต่าง เพื่อนำมาเสนอต่อ ซึ่งปัจจุบันวิธีการแบบนี้เริ่มไม่เป็นที่นิยม เพราะขาดทุน จากต้นทุนที่ซื้อขึ้น และไม่มีใครอยากจะซื้อข่าวกันแล้ว ดังนั้นการจะจ้างบุคลากรผลิตข่าวจากทั่วโลกจึงไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไปและแน่นอนว่า วิชาชีพสื่อสารมวลชนจึงไม่มีความมั่นคงอีกต่อไป โดยเห็นได้จากการที่สำนักข่าวหลายแห่งในระดับโลกที่ปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่ SPUTNIK เป็นสำนักข่าวที่รัฐให้เงินทุนสนับสนุน เพราะต้องยอมรับว่า ในศตวรรษที่ 21 นี้ เป็นเรื่องยากที่จะหาเงินทุนสนับสนุนจากภาคเอกชน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งเงินสนับสนุนจากรัฐ ในขณะเดียวกัน ก็มีเทคโนโลยีใหม่ในการติดตามข่าวไม่ว่าจะเป็นทางเว็บไซต์หรือโทรศัพท์มือถือ 

ทั้งนี้ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทาง SPUTNIK ได้ทุ่มเม็ดเงินจำนวนมากในการลงทุนพัฒนาสื่อในช่องทางออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์หรือโทรศัพท์มือถือ ในรูปแบบ Mobile Application เพื่อให้บริการถึง 30 ภาษา

แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้พัฒนาสื่อช่องทางออนไลน์มาหลายปี จึงได้พบข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่มีใครที่จะติดตามสื่อออนไลน์ รวมถึงการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันสำนักข่าวไว้ในมือถือ ซึ่งเป็นแนวโน้มเดียวกันทั่วโลกที่ไม่พึ่งการหาข่าวจากช่องทางนี้ช่องทางเดียวอีกแล้ว

“กล่าวได้ว่า เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าเลยสำหรับ SPUTNIK ที่ลงทุนไปกับการพัฒนา Mobile Application และการพัฒนาเว็บไซต์ เพราะไม่มีใครใช้ตามที่ประเมินไว้ ส่วนช่องทางโซเชียลมีเดีย กลายเป็นช่องทางที่ไม่ต้องเสียเงิน แต่ในขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่า โซเชียลมีเดียก็มีเจ้าของแพลตฟอร์มซึ่งก็เป็นเรื่องของธุรกิจ จึงไม่มีความเป็นอิสระในการนำเสนอข่าวสาร เพราะต้องยึดตามกฎที่เจ้าของแพลตฟอร์มนั้นๆ ตั้งไว้”

นอกจากนี้ ในศตวรรษที่ 21 นี้ เทคโนโลยี AI ยังได้สร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มช่างภาพ ดีไซน์ และแปลข่าว ซึ่งเทคโนโลยี AI สามารถทำหน้าที่แทนได้แล้วในระดับหนึ่ง 

และหากมองถึงในแง่การพัฒนาอุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสาร เทียบประเทศไทยกับรัสเซีย จะเห็นว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้า แต่ก็ยังมีความเป็นอนุรักษ์นิยมอยู่บ้าง ดังที่เห็นได้จากการยังคงมีหนังสือพิมพ์อยู่ ในขณะที่ในมอสโกแทบจะไม่มีหนังสือพิมพ์วางขายแล้ว โดยเฉพาะหลังจากสถานการณ์โควิดที่สำนักพิมพ์เกือบทั้งหมดยุติการพิมพ์ไปแล้ว

หรือแม้กระทั่งโทรทัศน์ก็แทบจะไม่ดูกันแล้วในรัสเซีย อาจจะมีเพียงกลุ่มผู้สูงวัยเท่านั้นที่ยังคงดูข่าวผ่านโทรทัศน์อยู่ โดยหันมาใช้โปรแกรม Telegram ในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างแพร่หลาย ซึ่งสื่อในประเทศรัสเซียทุกรายจะต้องมีช่องทาง Telegram ไม่เช่นนั้นจะไม่มีตัวตนอยู่บนสารบบสื่อ 

เพราะฉะนั้น ในวงการสื่อสารมวลชนแทบจะไม่มีอะไรแน่นอน และอาจจะไม่คุ้มค่าในการลงทุนใหม่ๆ ในวงการสื่อ หรือแม้แต่การลงทุนด้าน Ai ก็ไม่แน่ว่าในอนาคตจะสามารถตอบโจทย์ในแง่ของการนำเสนอข่าวได้หรือ ไม่อีกทั้งยังพบว่า AI เป็นความท้าทายและมีปัญหาอยู่พอสมควร โดยเฉพาะการใช้ทำข่าวปลอม ซึ่งหลาย ๆ ประเทศกำลังเผชิญอยู่ ถ้ามองโลกในแง่ดีก็คือการเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งใหม่ ๆ แต่หากมองในแง่ร้าย ก็ต้องยอมรับว่า สิ่งนี้กำลังจะทำลายวงการสื่อสารมวลชนได้เช่นเดียวกัน

“สำหรับในส่วนของการนำเสนอข่าวของ SPUTNIK นั้น จะมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนจะนำเสนอข่าวออกไป โดยยึดมั่นในข้อเท็จจริงเป็นสิ่งสำคัญ โดยบรรณาธิการข่าวแต่ละคนจะต้องตระหนักในเรื่องเหล่านี้ เพื่อป้องกันการนำเสนอข่าวปลอมที่อาจจะสร้างความเสียหายให้กับผู้ที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารนั้นๆ และจะต้องไม่รับฟังแค่ข่าวด้านเดียว ต้องฟังอย่างรอบด้านก่อนจะนำเสนอออกไป เพราะบางครั้งข่าวที่ได้รับมานั้นก็ไม่ใช่ข่าวปลอมไปทั้งหมด แต่เป็นการหยิบเอามานำเสนอในมุมของสื่อนั้นๆ มากกว่า เช่น สื่อรัสเซียนำเสนอในแง่มุมนี้ ส่วนสื่อตะวันตกหรือสหรัฐฯ อาจจะเสนอในมุมที่แตกต่างกันไป ในข่าวชิ้นเดียวกันนั้น เป็นต้น แต่ถึงอย่างไรก็ตามแม้ว่า เทคโนโลยี AI อาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสื่ออย่างหนัก แต่เชื่อว่าสิ่งที่มนุษย์เหนือกว่า ก็คือการปรับตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทำได้เป็นอย่างดีมาตลอดนั่นเอง”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top