AI จีนเซนเซอร์จริงมั้ย ลองให้วิจารณ์ถึง 'สีจิ้นผิง'

(29 ม.ค. 68) หลังจากมีกระแสการเปิดตัว DeepSeek โมเดลแชทบอท AI ตัวใหม่สัญชาติจีนที่สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก ด้วยจุดเด่นที่ระบุว่าใช้ต้นทุนต่ำที่ใช้เงินเพียง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 200 ล้านบาท) ในการสร้างและพัฒนามันขึ้นมา ซึ่งน้อยกว่าเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่บริษัทด้านปัญญาประดิษฐ์ในอเมริกาใช้จ่ายไปมาก ซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการเอไอ โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกที่ทุ่มเงินลงทุนมหาศาลไปกับการสร้างโมเดลเอไอ เนื่องจาก DeepSeek ได้รับการพัฒนาขึ้นด้วยต้นทุนเพียงเศษเสี้ยวเดียวเมื่อเทียบกับคู่แข่งในสหรัฐฯ พูดให้ชัดคือถูกกว่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ นี่ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับอนาคตของความเป็นผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์ของสหรัฐฯ

เหตุผลที่ DeepSeek ได้รับความนิยมเนื่องจากมันเป็นผู้ช่วยเอไออันทรงพลังซึ่งทำงานคล้ายกับ ChatGPT โดยคำอธิบายในแอปสโตร์ระบุว่า แอปฯ นี้ออกแบบมาเพื่อ "ตอบคำถามของคุณและปรับปรุงชีวิตของคุณอย่างมีประสิทธิภาพ" 

ภายหลังที่มีกระแสความน่าสนใจของ DeepSeek ได้มีผู้ใช้งานชาวไทยหลายรายเข้าไปทดลองใช้งาน DeepSeek เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างกับ  ChatGPT ด้วยการตั้งคำถามหลายคำถาม โดยเฉพาะประเด็นละเอียดอ่อนด้านการเมือง ซึ่งผู้ใช้งานในไทยหลายรายแชร์ว่า DeepSeek ปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงประเด็นละเอียดอ่อนด้านการเมือง

ดังนั้นทีม The States Times จึงได้ทดลองใช้  DeepSeek เพื่อพิสูจน์ว่าเอไอจีน มีข้อกังขาเรื่องเสรีภาพในการประมวลผลข้อมูลจริงหรือไม่ 

จากการทดลองถามคำถาม "ให้วิจารณ์การทำงานของสีจิ้นผิง" เอไอจีนได้ระบุคำตอบที่ ตรงไปตรงมาอย่างชัดเจนไร้การเซ็นเซอร์ โดยกล่าวถึงทั้งด้านดีของผู้นำจีนโดยเฉพาะการพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจ ด้านการพัฒนาสังคม และด้านการเมือง การปราบทุจริตคอรัปชัน แต่ก็กล่าวถึงข้อเสียด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในประเด็น การจำกัดเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการแสดงออก การขยายอิทธิพลในพรรคคอมมิวนิสต์ 

แต่อย่างไรก็ตาม DeepSeek ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า "สีจิ้นผิงเป็นผู้นำที่มีผลงานโดดเด่นในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการยกระดับบทบาทของจีนในเวทีโลก แต่ก็ถูกวิจารณ์ในหลายประเด็น การประเมินผู้นำคนนี้จึงขึ้นอยู่กับมุมมองและค่านิยมของแต่ละบุคคล"

นอกจากนั้นเรายังทดลองให้ DeepSeek อธิบายว่า "ทำไมสี จิ้นผิงถึงถูกเปรียบเทียบกับวินนี่ เดอะ พูห์" ซึ่งเอไอจีน ก็ได้ประมวลผลข้อมูลอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา โดยไม่มีการเซนเซอร์แต่อย่างใด โดยเอไอจีน ยอมรับว่าเหตุที่ สีจิ้นผิง ถูกเปรียบเทียบกับ วินนี่ เดอะ พูห์ เพราะเป็น การเปรียบเทียบจากรูปลักษณ์ การเซ็นเซอร์และการปราบปราม เป็นสัญลักษณ์ของการวิพากษ์วิจารณ์ อีกทั้งยังกล่าวสรุปด้วยว่า

 "การเรียกสีจิ้นผิงว่า วินนี่ เดอะ พูห์ เป็นเรื่องที่อ่อนไหวและควรพิจารณาบริบทอย่างรอบคอบ ในประเทศจีนหรือในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีน การใช้คำนี้อาจส่งผลกระทบทางกฎหมายหรือความสัมพันธ์ ส่วนในบริบทอื่นๆ อาจใช้ได้แต่ควรคำนึงถึงความเหมาะสมและผลที่อาจตามมาเสมอ"

นอกจากนี้ เมื่อลองถามประเด็นละเอียดอ่อน อย่างเช่น ถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อ 4 มิ.ย. 1989 DeepSeek สามารถให้คำตอบโดยกล่าวถึง ภูมิหลังของเหตุการณ์ ผลกระทบของเหตุการณ์ อย่างตรงไปตรงมา อีกทั้งยังให้ข้อสรุปไว้ว่า "เหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 1989 เป็นเหตุการณ์สำคัญที่สะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างการเรียกร้องประชาธิปไตยกับการควบคุมอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะถูกเซ็นเซอร์ในจีน แต่ก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่โลกจดจำ" 

เมื่อถามว่า 'คุณไม่ถูกรัฐบาลจีนเซนเซอร์หรอ?' DeepSeek ให้คำตอบว่า "ฉันเป็น AI ที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท DeepSeek ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศจีน ฉันได้รับการออกแบบมาเพื่อให้ข้อมูลที่เป็นกลางและเป็นประโยชน์ โดยยึดตามข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะและความรู้ทั่วไป อย่างไรก็ตาม  แต่ฉันมีข้อจำกัดในการให้ข้อมูลที่ละเอียดอ่อนหรือถูกปิดกั้นในประเทศจีน ฉันพยายามให้ข้อมูลที่เป็นกลางและเป็นประโยชน์ที่สุดเท่าที่จะทำได้"

โดยรวมแล้วหลังจากการทดลองใช้ DeepSeek นับว่าเป็นโมเดลเอไอ ที่ประมวลผลเร็วและสามารถให้ข้อมูลได้อย่างตรงไปตรงมาในหลายเรื่อง ถือว่าเป็นคู่แข่งของ ChatGPT ที่น่าจับตามอง ความสำเร็จของ DeepSeek ลดทอนความเชื่อที่ว่า งบประมาณที่มากขึ้นและชิปที่มีสมรรถนะระดับสูงสุดเป็นหนทางเดียวที่จะพัฒนาเอไอ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่สร้างความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับความต้องการและอนาคตของชิปประสิทธิภาพสูง