Friday, 4 April 2025
DeepSeek

รู้จัก 'DeepSeek' แอป AI ต้นทุนต่ำของจีน ผงาดดาวน์โหลดสูงสุดในสหรัฐฯ ท้าชน ChatGPT

(27 ม.ค. 68) เมื่อสองสัปดาห์ก่อนมีแอปพลิเคชัน AI ตัวใหม่ที่ชื่อว่า DeepSeek ได้เปิดตัวบน App Store และได้รับความสนใจอย่างมาก จนสามารถทำยอดดาวน์โหลดแซงหน้า ChatGPT ขึ้นเป็นแอปอันดับหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งสร้างความฮือฮาในวงการเทคโนโลยีและ AI

DeepSeek บริษัทสตาร์ทอัพจากจีน โดยบริษัทเพิ่งเปิดตัวโมเดล AI ชื่อว่า 'R1' ซึ่งได้รับการยอมรับในวงการ AI ด้วยการพัฒนาโมเดลที่มีขนาดเล็กเพียง 1.5B แต่มีความสามารถสูงกว่าโมเดล AI อื่นๆ อย่าง OpenAI o1-mini และที่สำคัญคือต้นทุนในการฝึกฝนโมเดลนั้นต่ำมากเพียงแค่ 5.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

บริษัทนี้ก่อตั้งโดย Liang Wenfeng ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์และนักธุรกิจชื่อดังในวงการ AI ของจีน ความน่าสนใจของ DeepSeek ไม่ได้เพิ่งมี เพราะก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคม 2023 บริษัทเริ่มเส้นทาง AI ด้วยการพัฒนาเจเนอเรทีฟเอไอโมเดล สำหรับงานที่เกี่ยวข้องกับการให้เหตุผล (Reasoning Tasks) ซึ่งสามารถแข่งขันกับโมเดลของ OpenAI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2023 DeepSeek ได้เปิดตัว DeepSeek Coder โมเดล Open-Source สำหรับการเขียนโค้ด ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และในปีเดียวกันยังเปิดตัวโมเดล DeepSeek LLM ที่มีเป้าหมายแข่งขันกับโมเดลภาษาขนาดใหญ่

ในปี 2024, DeepSeek ได้เปิดตัว DeepSeek-V2 ซึ่งได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วเนื่องจากประสิทธิภาพที่สูงและต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งทำให้เกิดสงครามราคากับบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการ AI ของจีน เช่น ByteDance, Tencent, Baidu และ Alibaba ที่ต้องลดราคาลงเพื่อให้สามารถแข่งขันได้

ในปี 2024 เดียวกันนี้ DeepSeek ยังได้เปิดตัวโมเดล DeepSeek-Coder-V2 ที่รองรับการเขียนโค้ดที่ซับซ้อน และยังสามารถใช้งานผ่าน API ในราคาประหยัด โดยค่าบริการคิดเป็น 0.14 ดอลลาร์สหรัฐต่อโทเคนสำหรับข้อมูลนำเข้า และ 0.28 ดอลลาร์สหรัฐต่อโทเคนสำหรับผลลัพธ์

ขณะที่โมเดลล่าสุดอย่าง DeepSeek-R1 ได้ช่วยยกระดับความสำเร็จของ DeepSeek ในวงการ AI ด้วยประสิทธิภาพที่ยอดเยี่ยมและต้นทุนที่ต่ำกว่าคู่แข่ง โดยเฉพาะโมเดล DeepSeek-R1 ที่เน้นงานด้านการให้เหตุผล ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นคู่แข่งสำคัญของโมเดลของ OpenAI

โมเดล R1 ของ DeepSeek มีประสิทธิภาพเทียบเท่าหรือเหนือกว่าโมเดล o1 ของ OpenAI ในการทดสอบตามเกณฑ์มาตรฐาน AI บางรายการ โดยบริษัทอ้างว่าโมเดลของตนมีต้นทุนการฝึกฝนเพียง 5.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแตกต่างจากบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ ที่ต้องใช้เงินทุนหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐในการฝึกฝนโมเดลของตนเอง

กระแสข่าวที่ออกมาทำให้ DeepSeek ตอนนี้ขึ้นอันดับ 1 แอปยอดนิยมของ App Store ในสหรัฐอเมริกา แซงหน้า ChatGPT ไปเรียบร้อย

แม้ว่าจะมีคำถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของต้นทุนที่ต่ำขนาดนี้ แต่หลายฝ่ายเห็นว่าหาก DeepSeek สามารถทำได้จริง จะเป็นประโยชน์ต่อวงการ AI และช่วยให้บริษัทขนาดเล็กสามารถพัฒนาโมเดลใหม่ๆ ได้เร็วขึ้นและมีต้นทุนต่ำ

Yann LeCun หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ AI ของ Meta ได้กล่าวว่า โมเดล Open-Source อย่าง DeepSeek สามารถแซงหน้าโมเดลแบบปิดได้ และช่วยให้ทุกคนในวงการได้ประโยชน์จากความก้าวหน้าครั้งนี้ ขณะที่นักลงทุนชื่อดังอย่าง มาร์ก แอนเดรียสเซน กล่าวชมว่า DeepSeek เป็นหนึ่งในความก้าวหน้าที่น่าทึ่งที่สุดในวงการ AI เพราะเนื่องจากที่ถูกรัฐบาลสหรัฐกีดกันไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยี AI จนสุดท้ายจีนก็สามารถพัฒนา AI ของตนเองขึ้นมาได้เองแถมยังมีต้นทุนต่ำ ขณะที่บางผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ความสำเร็จของ DeepSeek อาจเป็นภัยคุกคามต่อการแข่งขันของสหรัฐฯ ในตลาด AI  

'ดร.สันติธาร' ตั้ง 5 คำถาม 'DeepSeek' AI จีนตัวเปลี่ยนเกมท้าชนมหาอำนาจ

(28 ม.ค. 68) ดร.สันติธาร เสถียรไทย Future Economy Advisor สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า การผงาดขึ้นมาของ DeepSeek เอไอจากจีนที่อาจเปลี่ยนโลก 5 คำถามสำคัญที่ตามมา จากการผงาดขึ้นมาของ DeepSeek เอไอของจีนที่เป็นกำลังเป็นประเด็นร้อนแรงในตอนนี้ 

ปรากฏการณ์นี้ไม่เพียงทำให้ตลาดหุ้นปั่นป่วนทั่วโลก แต่ยังมาจังหวะที่สหรัฐฯเปลี่ยนรัฐบาลพอดี เสมือนเป็นการ‘สะบัดหาง’ครั้งสำคัญของปีงูเล็กเลยกว่าว่าได้และอาจมีผลกระทบในวงกว้างอีกด้วย (ใครไม่ได้ตามข่าวนี้ผมแปะลิ้งค์ข้อมูลเกี่ยวกับเอไอตัวนี้ไว้ในคอมเมนท์ครับ)

ผมมองว่าปรากฏการณ์นี้น่าจะเปิดอย่างน้อย 5 ประเด็นสำคัญที่สามารถเปลี่ยนโลกได้ จึงอยากลองแชร์ไว้เผื่อไปช่วยคิดและติดตามกันต่อครับ
1.จีน vs อเมริกา. การมาของ DeepSeek ตั้งคำถามว่าเทคโนโลยีเอไอของอเมริกายังนำโลกอยู่จริงไหม หรือจีนสามารถวิ่งไล่กวดได้แล้วแม้จะไม่ได้เข้าถึงชิปคุณภาพสูงสุดที่โดนกีดกันจากสหรัฐฯและพันธมิตร  และหากไล่กวดได้จริงตามตัวเลขการทดสอบความสามารถเอไอต่างๆที่ออกมา ต่อไปสหรัฐฯจะตอบโต้อย่างไร:

-จะเพิ่มความเข้มข้นของสงครามการค้า-เทคโนโลยีเพื่อให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆเหล่านี้ได้ยากขึ้นไปอีกไหม หรือ/และ
-จะทุ่มทุนยิ่งกว่าเดิมสร้างกับโครงการเอไอขนาดยักษ์อย่าง Stargate ที่มูลค่าที่ประกาศเกือบเท่าเศรษฐกิจไทยทั้งประเทศ
แต่ในทางกลับกันก็มีคนบอกว่าเพราะไปจำกัดการเข้าถึงชิปของจีนนี่แหละเลยทำให้เขาต้องคิดค้นวิธีใหม่ที่สร้างเอไอได้ประหยัดกว่าเดิม ทำ‘กันดารกลายเป็นสินทรัพย์‘

2.ความสิ้นเปลืองทรัพยากร. การที่ Deepseek ใช้เงินในการพัฒนาเอไอน้อยกว่า พวกบริษัทเทคโนโลยีดังๆของอเมริกาประมาณ 20-30x และ ใช้ชิปที่ไม่ได้ ’ทรงพลัง‘ เท่า (มีคนบอกว่าชิปที่พวกเขาใช้ แค่นักเรียนปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยในอเมริกายังมีใช้เลย) ทำให้เกิดคำถามสำคัญในหมู่นักลงทุนและบริษัทเทคฯว่า “เอ้ะ ที่เราลงทุนไปหลายพันล้านเพื่อให้ได้ชิปที่ทรงพลังที่สุดนี่จริงๆแล้วมันจำเป็นหรือเปล่า” สรุปเราจ่ายไปเพื่อซื้อ ’เนื้อ’ หรือ ’ไขมัน’ กันแน่? หรือว่า: เงินอาจจะไม่ใช้มากขนาดนั้น ชิพอาจจะไม่ต้องทรงพลังขนาดนั้น พลังงานก็อาจจะไม่ต้องใช้หนักขนาดนั้น นี่จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หุ้นวงการเทคฯและอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องตื่นตระหนกตกใจพานิคร่วงกันเป็นแถวเมื่อวานนี้

3.โมเดลแบบเปิด vs ปิด. คนส่วนใหญ่อาจมองสงครามเอไอเป็นระหว่างสหรัฐฯ vs จีน แต่สำหรับคนในวงการเทคโนโลยีอีกศึกที่คุกรุ่นมานานคือระหว่าง โมเดลแบบเปิด (Open source) ที่เสมือนเปิด ‘สูตรลับ‘ หรือ โค๊ดให้คนอื่นสามารถเอาไปศึกษา ใช้พัฒนาต่อยอดได้ กับ โมเดลแบบปิดที่ไม่ได้เปิดข้อมูลเหล่านี้ เช่น ChatGPT Deepseek คือเป็นแบบเปิด จึงทำให้เกิดคำถามว่าโมเดลแบบเปิดนี้มันเจ๋งจนไล่กวดโมเดลแบบปิดที่ซ่อนสูตรลับของตัวเองแล้วหรือ? นึกภาพหากร้านอาหารอร่อยมากๆเปิดสูตรให้คนเอาไปทำที่บ้านแล้วทำออกมามันอร่อยไม่แพ้ร้านแพงๆที่เก็บสูตรเป็นความลับ ต่อไปใครจะอยากไปจ่ายแพงเพื่อกินที่ร้าน 
แต่ก็มีคำถามต่อไปอีกว่าแล้วต่อไป Deepseek จะยังเปิดสูตรตัวเองไปเรื่อยๆแบบนี้ไหม หรือวันดีคืนดีก็จะปิดมันและเก็บตังค์ค่าใช้แพงๆ และ/หรือ จะมีการเอาข้อมูลของ User ไปใช้อย่างไรเพราะบางคนก็ห่วงเรื่อง data governance

4.ผู้นำ-ผู้ตาม. Deepseek ใช้เวลาแค่ 2 เดือนกว่าๆเท่านั้นในการพัฒนาเอไอที่มี ความสามารถใกล้เคียงกับโมเดลรุ่นใหม่ ของ OpenAI โดยใช้โมเดลของ OpenAI ช่วยเทรนสอนโมเดลของตนเองด้วย เสมือนOpenAI เป็นจอมยุทธ์ที่ฝึกแทบตายกว่าจะบรรลุเคล็ดวิชาใหม่ แต่พอนักเรียนมาเลียน/เรียนต่อแป๊บเดียวสามารถได้วิชาระดับเดียวกันมาได้  (ภาษานักลงทุนคือ Moat หรือคูเมืองป้องกันปราสาทเรา มันไม่ได้ข้ามยากเท่าที่คิด) จึงทำให้เกิดคำถามว่าวงการเอไอนี่ผู้นำได้เปรียบมากจริงไหม หากผู้ตามสามารถตามได้เร็วขนาดนี้และยังทำได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก แบบนี้มันยังคุ้มที่จะลงทุนพัฒนาเพื่อเป็นผู้นำ ‘บรรลุเคล็ดวิชาใหม่ๆ‘ ไหม เพราะผู้นำด้านเอไออาจถูกดิสรัปง่ายกว่าที่คิด

5.อนาคตของเอไอ. ในมุมผู้พัฒนาและลงทุนกับเอไอ คำถามเหล่านี้อาจทำให้ขนหัวลุก แต่ในมุมของผู้ใช้ พัฒนาการนี้ก็อาจมองในมุมบวกได้เช่นกัน
- ต้นทุนพัฒนาเอไอถูกลงทำให้ค่าบริการถูกลง คนเข้าถึงได้มากขึ้น
-เอไออาจสามารถใช้ทรัพยากรและพลังงานน้อยลง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้น
-โมเดลแบบเปิดอาจทำให้คนเก่งๆทั่วโลก สามารถศึกษาและเอาไปพัฒนาต่อยอดได้ สร้างเอไอที่ตอบโจทย์และเหมาะกับบริบทของสังคมตนเอง 
- การพัฒนาเอไออาจมีการแข่งขันมากขึ้น Generative AI กลายเป็น‘เทคโนโลยีโหลๆ’ขึ้น ผลักดันให้หลายเจ้าอาจต้องหามุมการพัฒนาผลิตภัณฑ์แนวอื่นมากขึ้น คิดเรื่องแอพพลิเคชันมากขึ้น ไม่ใช่ทุ่มเงินสร้างมันสมองที่ฉลาดอย่างเดียว จึงอาจทำให้เกิดนวัตกรรมที่หลากหลายขึ้น 
ในทางกลับกันการที่แต่ละประเทศต่างแข่งกันสร้างสุดยอดเอไออาจทำให้ต่างลดความสำคัญด้านการกำกับดูแลความเสี่ยง ทำให้ยิ่งมีโอกาสเกิดเอไอแบบอันตรายต่อสังคมขึ้นหรือไม่ 

แน่นอนว่าเรายังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับ Deepseek อีกมากและก็เป็นไปได้ว่าต่อไปอาจมีการหักมุมจากผู้เล่นอื่นอีกที่ไม่ใช่ DeepSeek เลยก็เป็นได้ แต่อย่างน้อยก็คิดว่า 5 ประเด็นนี้คือคำถามที่เราควรตั้งและช่วยกันติดตามอย่างใกล้ชิดกับเทคโนโลยีที่มีโอกาสเปลี่ยนโลกและกระทบเราทุกคนในอนาคตครับ

บริษัทบิ๊กเทคตะวันตกระส่ำ หลังจีนปล่อย DeepSeek เอไอต้นทุนถูก

รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Aksornsri Phanishsarn ถึงกรณีที่จีนได้เปิดตัว Deepseek เอไอต้นทุนถูก ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลายแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐ อเมริการ โดยระบุว่า แค่จีนปล่อยของให้โลกตะลึง ด้วยสิ่งที่เริ่ดกว่า/ต้นทุนต่ำกว่า เดินเกมเหนือ บริษัทเทคฝรั่งที่ว่าแน่ร่วงระนาว ลุงทรัมป์ จะโต้กลับยังไงเอ่ย

พร้อมยังระบุในช่องคอมเมนต์ด้วยว่า หุ้น 7 นางฟ้าที่ว่าแน่ นางฟ้าทั้ง 7 ตกสวรรค์ถ้วนหน้า !! แค่โดน A.I.จีน DeepSeek ปล่อยหมัดเบาๆ ด้วยสิ่งที่เริ่ดกว่า/ต้นทุนต่ำกว่า มีบางจังหวะ NvidiA ของเจนเซ่น หวง  โดนน๊อกหนัก ร่วงลงไป เกือบ 5 แสนล้านบาท

AI จีนเซนเซอร์จริงมั้ย ลองให้วิจารณ์ถึง 'สีจิ้นผิง'

(29 ม.ค. 68) หลังจากมีกระแสการเปิดตัว DeepSeek โมเดลแชทบอท AI ตัวใหม่สัญชาติจีนที่สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก ด้วยจุดเด่นที่ระบุว่าใช้ต้นทุนต่ำที่ใช้เงินเพียง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 200 ล้านบาท) ในการสร้างและพัฒนามันขึ้นมา ซึ่งน้อยกว่าเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่บริษัทด้านปัญญาประดิษฐ์ในอเมริกาใช้จ่ายไปมาก ซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการเอไอ โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกที่ทุ่มเงินลงทุนมหาศาลไปกับการสร้างโมเดลเอไอ เนื่องจาก DeepSeek ได้รับการพัฒนาขึ้นด้วยต้นทุนเพียงเศษเสี้ยวเดียวเมื่อเทียบกับคู่แข่งในสหรัฐฯ พูดให้ชัดคือถูกกว่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ นี่ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับอนาคตของความเป็นผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์ของสหรัฐฯ

เหตุผลที่ DeepSeek ได้รับความนิยมเนื่องจากมันเป็นผู้ช่วยเอไออันทรงพลังซึ่งทำงานคล้ายกับ ChatGPT โดยคำอธิบายในแอปสโตร์ระบุว่า แอปฯ นี้ออกแบบมาเพื่อ "ตอบคำถามของคุณและปรับปรุงชีวิตของคุณอย่างมีประสิทธิภาพ" 

ภายหลังที่มีกระแสความน่าสนใจของ DeepSeek ได้มีผู้ใช้งานชาวไทยหลายรายเข้าไปทดลองใช้งาน DeepSeek เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างกับ  ChatGPT ด้วยการตั้งคำถามหลายคำถาม โดยเฉพาะประเด็นละเอียดอ่อนด้านการเมือง ซึ่งผู้ใช้งานในไทยหลายรายแชร์ว่า DeepSeek ปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงประเด็นละเอียดอ่อนด้านการเมือง

ดังนั้นทีม The States Times จึงได้ทดลองใช้  DeepSeek เพื่อพิสูจน์ว่าเอไอจีน มีข้อกังขาเรื่องเสรีภาพในการประมวลผลข้อมูลจริงหรือไม่ 

จากการทดลองถามคำถาม "ให้วิจารณ์การทำงานของสีจิ้นผิง" เอไอจีนได้ระบุคำตอบที่ ตรงไปตรงมาอย่างชัดเจนไร้การเซ็นเซอร์ โดยกล่าวถึงทั้งด้านดีของผู้นำจีนโดยเฉพาะการพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจ ด้านการพัฒนาสังคม และด้านการเมือง การปราบทุจริตคอรัปชัน แต่ก็กล่าวถึงข้อเสียด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในประเด็น การจำกัดเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการแสดงออก การขยายอิทธิพลในพรรคคอมมิวนิสต์ 

แต่อย่างไรก็ตาม DeepSeek ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า "สีจิ้นผิงเป็นผู้นำที่มีผลงานโดดเด่นในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการยกระดับบทบาทของจีนในเวทีโลก แต่ก็ถูกวิจารณ์ในหลายประเด็น การประเมินผู้นำคนนี้จึงขึ้นอยู่กับมุมมองและค่านิยมของแต่ละบุคคล"

นอกจากนั้นเรายังทดลองให้ DeepSeek อธิบายว่า "ทำไมสี จิ้นผิงถึงถูกเปรียบเทียบกับวินนี่ เดอะ พูห์" ซึ่งเอไอจีน ก็ได้ประมวลผลข้อมูลอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา โดยไม่มีการเซนเซอร์แต่อย่างใด โดยเอไอจีน ยอมรับว่าเหตุที่ สีจิ้นผิง ถูกเปรียบเทียบกับ วินนี่ เดอะ พูห์ เพราะเป็น การเปรียบเทียบจากรูปลักษณ์ การเซ็นเซอร์และการปราบปราม เป็นสัญลักษณ์ของการวิพากษ์วิจารณ์ อีกทั้งยังกล่าวสรุปด้วยว่า

 "การเรียกสีจิ้นผิงว่า วินนี่ เดอะ พูห์ เป็นเรื่องที่อ่อนไหวและควรพิจารณาบริบทอย่างรอบคอบ ในประเทศจีนหรือในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีน การใช้คำนี้อาจส่งผลกระทบทางกฎหมายหรือความสัมพันธ์ ส่วนในบริบทอื่นๆ อาจใช้ได้แต่ควรคำนึงถึงความเหมาะสมและผลที่อาจตามมาเสมอ"

นอกจากนี้ เมื่อลองถามประเด็นละเอียดอ่อน อย่างเช่น ถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อ 4 มิ.ย. 1989 DeepSeek สามารถให้คำตอบโดยกล่าวถึง ภูมิหลังของเหตุการณ์ ผลกระทบของเหตุการณ์ อย่างตรงไปตรงมา อีกทั้งยังให้ข้อสรุปไว้ว่า "เหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 1989 เป็นเหตุการณ์สำคัญที่สะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างการเรียกร้องประชาธิปไตยกับการควบคุมอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะถูกเซ็นเซอร์ในจีน แต่ก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่โลกจดจำ" 

เมื่อถามว่า 'คุณไม่ถูกรัฐบาลจีนเซนเซอร์หรอ?' DeepSeek ให้คำตอบว่า "ฉันเป็น AI ที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท DeepSeek ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศจีน ฉันได้รับการออกแบบมาเพื่อให้ข้อมูลที่เป็นกลางและเป็นประโยชน์ โดยยึดตามข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะและความรู้ทั่วไป อย่างไรก็ตาม  แต่ฉันมีข้อจำกัดในการให้ข้อมูลที่ละเอียดอ่อนหรือถูกปิดกั้นในประเทศจีน ฉันพยายามให้ข้อมูลที่เป็นกลางและเป็นประโยชน์ที่สุดเท่าที่จะทำได้"

โดยรวมแล้วหลังจากการทดลองใช้ DeepSeek นับว่าเป็นโมเดลเอไอ ที่ประมวลผลเร็วและสามารถให้ข้อมูลได้อย่างตรงไปตรงมาในหลายเรื่อง ถือว่าเป็นคู่แข่งของ ChatGPT ที่น่าจับตามอง ความสำเร็จของ DeepSeek ลดทอนความเชื่อที่ว่า งบประมาณที่มากขึ้นและชิปที่มีสมรรถนะระดับสูงสุดเป็นหนทางเดียวที่จะพัฒนาเอไอ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่สร้างความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับความต้องการและอนาคตของชิปประสิทธิภาพสูง

'อาลีบาบา' เปิดตัว 'Qwen 2.5' ท้าชน DeepSeek อ้างเหนือกว่าทุกด้าน

(29 ม.ค.68) ดูเหมือนศึกโมเดลปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะยิ่งเดือดดาลมากขึ้น เมื่อ อาลีบาบา (Alibaba) ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีน เปิดตัว Qwen 2.5 โมเดล AI รุ่นใหม่ที่อ้างว่ามีประสิทธิภาพเหนือกว่า DeepSeek-V3 ซึ่งกำลังได้รับความสนใจอย่างมากในวงการ

การเปิดตัว Qwen 2.5-Max ในช่วงวันแรกของเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นเวลาที่ชาวจีนส่วนใหญ่ใช้เวลาพักผ่อนกับครอบครัว เป็นสัญญาณที่ชัดเจนถึงแรงกดดันจากการเติบโตของ DeepSeek สตาร์ตอัป AI สัญชาติจีนที่เพิ่งเปิดตัวโมเดลใหม่ในช่วงสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบกับคู่แข่งต่างชาติ แต่ยังสะเทือนวงการเทคโนโลยีในประเทศจีนด้วย

หน่วยธุรกิจคลาวด์ของอาลีบาบาประกาศผ่าน WeChat อย่างเป็นทางการว่า "Qwen 2.5-Max มีประสิทธิภาพเหนือกว่า GPT-4o, DeepSeek-V3, และ Llama-3.1-405B ในแทบทุกด้าน" โดยเปรียบเทียบกับโมเดล AI แบบโอเพนซอร์สจาก OpenAI และ Meta

Qwen 2.5-Max มีขนาดโมเดลใหญ่ถึง 405 พันล้านพารามิเตอร์ ซึ่งช่วยให้ประมวลผลข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพและเข้าใจบริบทข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น โดยการเปิดตัวนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามราคา AI ที่จะทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี AI ในราคาที่ถูกลง

การที่อาลีบาบาสามารถพัฒนา Qwen 2.5 ที่อ้างว่ามีประสิทธิภาพเหนือกว่า DeepSeek-V3 ในเวลาที่รวดเร็ว เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงศักยภาพในการวิจัยและพัฒนาของอาลีบาบา

Qwen 2.5 มีหลากหลายโมเดลให้เลือกใช้ เช่น Qwen 2.5-Max, Qwen 2.5-Chat, และ Qwen 2.5-Turbo ซึ่งแต่ละโมเดลมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป ทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม โดยสามารถเข้าถึงผ่าน API บนแพลตฟอร์มคลาวด์ของอาลีบาบา

อย่างไรก็ตามหากเทียบระหว่าง AI ของอาลีบาบา กับ DeepSeek มีส่วนที่ต่างกันคือ DeepSeeek เน้นการพัฒนา AGI และขายโมเดลในราคาถูก ขณะที่ อาลีบาบา ใช้กลยุทธ์นำ AI ไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจ และให้บริการผ่านแพลตฟอร์มคลาวด์ ทำให้การแข่งขันระหว่างทั้งสองไม่เพียงแค่เรื่องของประสิทธิภาพของโมเดล แต่ยังเกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจและการเข้าถึงตลาดอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ DeepSeek ได้สร้างความฮือฮาในซิลิคอนวัลเลย์ หลังเปิดตัวผู้ช่วย AI ใช้โมเดล DeepSeek-V3 เมื่อวันที่ 10 มกราคม และตามมาด้วย DeepSeek-R1 เมื่อวันที่ 20 มกราคม ส่งผลให้หุ้นเทคโนโลยีในสหรัฐร่วงลงอย่างหนัก เนื่องจากต้นทุนการพัฒนาต่ำกว่าคู่แข่ง ทำให้นักลงทุนเริ่มตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าของการลงทุนใน AI ของบริษัทยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ

กระแสความสำเร็จของ DeepSeek ยังจุดชนวนให้เกิดการแข่งขันในวงการ AI ของจีนอย่างเร่งด่วน โดยเพียงสองวันหลังจากการเปิดตัว DeepSeek-R1 บริษัท ByteDance เจ้าของ TikTok ได้ปล่อยอัปเดตโมเดล AI ตัวใหม่ พร้อมเคลมว่ามีประสิทธิภาพเหนือกว่าโมเดล o1 ของ OpenAI ในการทดสอบ AIME ซึ่งเป็นเกณฑ์วัดความสามารถของ AI ในการประมวลผลคำสั่งที่ซับซ้อน

‘ดร.อักษรศรี’ โพสต์เรื่องราวของทีมงาน ‘DeepSeek’ เผย!! อายุเฉลี่ยแค่ 35 ปี ชี้!! นี่คือ ทีมงานผู้พัฒนา ‘เอไอจีน’ ที่กลายเป็น ‘Talk of the World’ ดังทั่วโลก

(1 ก.พ. 68) รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Aksornsri Phanishsarn ถึงคนรุ่นใหม่ ในประเทศจีน โดยมีใจความว่า ...

#พลังคนรุ่นใหม่ Youth power leads to national strength #DeepSeek สาวหมวย/หนุ่มตี๋ในภาพนี้ (อายุเฉลี่ย 35 ปี) มีรายงานว่า คือ ทีมงานพัฒนา DeepSeek เอไอจีนที่กลายเป็น Talk of the World  

รายชื่อสมาชิกทีมพัฒนา DeepSeek AI จีน และมหาวิทยาลัยชั้นนำในจีนที่แต่ละคนเรียนจบมา (ไม่ได้จบนอก )

1. **梁文峰** เหลียง เวินเฟิง ผู้ก่อตั้ง
*(Liang Wenfeng)* 
ปัญญาประดิษฐ์ มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง 

2. **代达励** ไต้ ต๋าลี่ 
*(Dai Dali)* 
ปริญญาเอกวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง

3. **朱琪豪** จู ฉีหาว
*(Chu Qihao)* 
ปริญญาเอกวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง

4. **邵智宏** เส้า จื้อหง 
*(Shao Zhihong)* 
ปริญญาเอกปัญญาประดิษฐ์ มหาวิทยาลัยชิงหัว

5. **赵成钢** เจ้า เฉิงกัง 
*(Chao Chenggang)* 
สมาชิกทีม Supercomputing มหาวิทยาลัยชิงหัว

6. **高华佐** เกา หัวจั่ว 
*(Gao Huazuo)* 
ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง

7. **曾旺丁** เจิง วั่งติง 
*(Zeng Wangding)* 
มหาวิทยาลัยไปรษณีย์และโทรคมนาคมปักกิ่ง

8. **辛华剑** ซิน หัวเจี้ยน 
*(Xin Huajian)* 
สาขาวิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยจงซาน

ทีมพัฒนา DeepSeek Al Made in china ทุกคนเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำในจีนล้วน ๆ อายุเฉลี่ย 35 ปี

พลังของคนรุ่นใหม่ ในประเทศจีน!! 

ทีมงาน ‘DeepSeek’ อายุเฉลี่ยแค่ 35 ปี นี่คือ ทีมงานผู้พัฒนา ‘เอไอจีน’ ที่กลายเป็น ‘Talk of the World’ ดังไปทั่วโลก

‘ดร.สุชัชวีร์’ ยกความมหัศจรรย์ AI พลิกโลกของ DeepSeek ชี้ เป็นความมุ่งมั่นของ "คนจีน" ที่ไม่ยอมแพ้ต่อทุกข้อจำกัด

(3 ก.พ. 68) ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายกสภามหาวิทยาลัย CMKL มหาวิทยาลัย AI แห่งแรกของไทย  โพสต์เฟซบุ๊กว่า  "DeepSeek AI กระบี่อยู่ที่ใจ" ทำไม AI จีนถึงเก่งได้ แล้วไทยจะอยู่อย่างไร

"ความมหัศจรรย์" และ "ความน่าสงสัย" ของ "แฟลตฟอร์ม AI" สะท้านโลก "DeepSeek" จากแดนมังกร คืออะไร ผมมีคำตอบ พยายามอธิบายเรื่อง "ยากมาก" แบบง่ายๆครับ

การพัฒนา AI  ระดับสูง จำเป็นต้องใช้ปัจจัย 3 ด้าน และทำไม "DeepSeek" ถึง "มหัศจรรย์" ปนความ "น่าสงสัย"

1. "พลังการคำนวน" จาก "ฮาร์ดแวร์" เครื่องซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ AI  ซึ่ง "Nvidia" คือ ผู้นำในการผลิต "GPU" หรือ หน่วยประมวลผลข้อมูล ยิ่งมี GPU เยอะ ก็ยิ่งมี "ประสิทธิภาพ" หรือ "ความเร็ว" ในการคำนวนมากยิ่งขึ้นตาม

มักใช้หน่วย "ความเร็ว PetaFLOPS (PFLOPS)" ซึ่งเป็นหน่วยวัดประสิทธิภาพของการคำนวณ โดย 1 PFLOPS = 1,000 ล้านล้าน (10¹⁵) เลขทศนิยมต่อวินาที

ปัจจุบัน "อีลอน มัสก์" กำลังจะติดตั้งซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ AI ของบริษัท xAI ที่รัฐเทนเนสซี โดยซื้อ GPU รุ่นล่าสุด "ทันสมัยสุด" B200 จาก Nvidia ของ "เจนเซ่น หวง"  ถึง 200,000 ชุด มากที่สุดในโลก โดยมีความเร็วในการคำนวน หลายแสน PetaFLOPS คือ "โคตรเร็ว"

แต่ "DeepSeek" ใช้ "ฮาร์ดแวร์" GPU รุ่นเก่า H800 ของ Nvidia เพียง 2,000 ชุด แถมยัง "ถูกลดสเปค" เพราะโดนกีดกันจากรัฐบาลสหรัฐ ความเร็วน้อยกว่าเครื่องของ "อีลอน มัสก์" เป็นร้อยๆเท่า

นี่จึงเป็น "ความมหัศจรรย์เรื่องแรก"  ที่ "ค่าย AI จีน" ใช้ทรัพยากรน้อยกว่านับร้อยเท่า เมื่อเปรียบเทียบกับ "ค่าย AI อเมริกัน"

2. "โมเดล" หรือ "ซอฟต์แวร์" ที่ใช้เป็นชุดคำสั่งการคำนวน AI มีความสำคัญมาก เพราะยิ่งมีอัลกอริทึมที่มี "ตัวแปร" เยอะก็ครอบคลุมการคำนวณข้อมูลที่ "ละเอียด" ได้มากกว่า

โมเดลที่นิยมสำหรับการคำนวณ Generative AI ที่เราใช้กันอยู่หรือที่เรียกกันว่า LLM (Large Language Model) หรือ GPT (Generative Pre-trained Transformer) คือ โมเดลปัญญาประดิษฐ์ขนาดใหญ่มาก ที่ได้รับการฝึกฝนบนข้อมูลข้อความจำนวนมหาศาล เพื่อตอบสนองข้อความ ได้อย่างซับซ้อนและเป็นธรรมชาติ

"DeepSeek" เป็น LLM ที่มีตัวแปรมากถึง "685,000 ล้าน!" ตัวแปร ซึ่งมากกว่าตัวแปรของ LLM Opensource ตัวอื่น แต่ที่แตกต่างคือ DeepSeek เป็นโมเดลรุ่นแรกที่ฝึกด้วย 8-bit floating point (FP8) ที่ช่วยลดปริมาณการใช้ GPU แต่ยังสามารถมีตัวแปรจำนวนมาก ในขณะที่โมเดลก่อนหน้านี้ใช้ FP16 ซึ่งทำให้ต้องใช้ GPU ที่มีหน่วยความจำสูงกว่า DeepSeek กว่า 2 เท่า

นี่คือ "ความมหัศจรรย์เรื่องที่สอง" ที่ทำให้ "DeepSeek" มีประสิทธิภาพสูงในต้นทุนที่ต่ำกว่าค่ายอื่น 

3. "ข้อมูลขนาดมหึมา" หรือ Big Data ให้อัลกอรึทึม AI ได้ "เรียนรู้" เพื่อสร้างความฉลาดล้ำเมื่อถูกใช้งาน ซึ่งการได้มาของข้อมูลขนาดมหึมานี้ เป็นความ "น่าสงสัย" ในตัว "DeepSeek" และ แพลตฟอร์ม AI แทบทุกสำนัก เพราะแหล่งข้อมูลมีทั้งจากข้อมูลสาธารณะ ข้อมูลเฉพาะ ข้อมูลบุคคคล ข้อมูลธุรกิจ ข้อมูลมีลิขสิทธิ์ และข้อมูลที่ AI   สร้างเอง ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพการคำนวนทั้งสิ้น

นี่คือ "ความมหัศจรรย์เรื่องที่สาม" ว่า "DeepSeek" ได้ข้อมูลขนาดมหึมานี้ ในเวลาสั้นๆ จากแหล่งใด 

ดังนั้น "การไขความลับ" แห่งความสำเร็จของ "DeepSeek" จึงยังคงเป็นปริศนา และยังมีเรื่อง "งบประมาณ" ที่ใช้ซึ่งน้อยมากจนเหลือเชื่อ 

กระนั้นต้อง "ยอมรับ" ชื่นชมในความสามารถและความมุ่งมั่นของ "คนจีน" ที่ไม่ยอมแพ้ต่อข้อจำกัด #จะทำก็ทำได้ แล้ว "คนไทย" เราจะศิโรราบต่อ "ชะตา" เชียวหรือ ทิ้งท้ายไว้ให้คิดนะครับ

BYD จ่อผนึก DeepSeek ดึง AI ใส่รถยนต์ราคาประหยัด

(11 ก.พ. 68) หุ้นของ BYD ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของจีนพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในวันอังคารที่ผ่านมา หลังจากที่บริษัทประกาศแผนการใช้เทคโนโลยีรถยนต์อัตโนมัติระดับสูงในหลายรุ่นของบริษัท รวมถึงรุ่นราคาประหยัดที่มีราคาต่ำกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

บริษัทเผยว่าได้จับมือกับ DeepSeek สตาร์ทอัพด้าน AI เพื่อผนวกรวมซอฟต์แวร์ของพวกเขาเข้าในรถยนต์ BYD ซึ่งจะเป็นการตามรอยคู่แข่งอย่าง Geely, Great Wall Motors และ Leapmotor ในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาพัฒนา

BYD ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของ Tesla ในตลาดจีน และกำลังขยายตลาดในต่างประเทศ ได้ทำการประกาศนี้ในช่วงเย็นวันจันทร์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าจะมีการเริ่มต้นสงครามราคาครั้งใหม่ในอนาคต

บริษัทจะติดตั้งระบบขับขี่อัตโนมัติ "God's Eye" ในรถยนต์อย่างน้อย 21 รุ่น รวมถึงรุ่นประหยัดอย่าง Seagull ที่มีราคาเริ่มต้นที่ 69,800 หยวน (ประมาณ 9,550 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งระบบนี้จะมาพร้อมกับคุณสมบัติต่างๆ เช่น ระบบจอดรถระยะไกลและระบบนำทางอัตโนมัติบนทางหลวง ซึ่งก่อนหน้านี้พบในรถยนต์ระดับพรีเมียมเท่านั้น

หวางเฉวียนฝู ผู้ก่อตั้ง BYD กล่าวในงานถ่ายทอดสดว่า "เทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติไม่ใช่สิ่งที่หายากอีกต่อไป แต่มันกลายเป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการขับขี่" เขายังทำนายว่าเทคโนโลยีนี้จะกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในรถยนต์ เช่นเดียวกับเข็มขัดนิรภัยและถุงลมนิรภัยในไม่กี่ปีข้างหน้า

การผสานรวม DeepSeek จะช่วยยกระดับเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติของ BYD และมอบประสบการณ์การขับขี่ที่มีความเป็นส่วนตัวมากยิ่งขึ้น บริษัท AI ดังกล่าวได้รับความสนใจทั่วโลกเมื่อเดือนที่แล้วหลังจากเปิดตัวแชทบอทที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งจากสหรัฐฯ ได้ในราคาที่ต่ำกว่ามาก

ราคาหุ้นของ BYD พุ่งขึ้น 4.5% ในวันอังคาร ขึ้นไปทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ตลาดฮ่องกง โดยเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 20% ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

ตลาดรถยนต์จีนซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกกำลังเผชิญกับการแข่งขันรุนแรงในสงครามราคาระหว่างผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหลายสิบรายที่ต้องการแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด

เมื่อปีที่แล้ว ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดในจีนสูงถึงเกือบ 11 ล้านคัน เพิ่มขึ้นกว่า 40% เมื่อเทียบกับปี 2023 โดย BYD ทำยอดขายได้ประมาณ 4.2 ล้านคัน และรายได้ประจำไตรมาสแซงหน้า Tesla เป็นครั้งแรกในไตรมาสที่สาม

เผยตัวจริงผู้บริหาร DeepSeek เหลียง เหวินเฟิง นักพัฒนา AI จีน ผู้อยู่เบื้องหลังคู่แข่งตัวฉกาจของ ChatGPT

(21 ก.พ.68) โลกกำลังจับตามอง 'DeepSeek' ปัญญาประดิษฐ์จากจีนที่กำลังสร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรม AI ระดับโลก ถึงขั้นทำให้หุ้นของบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ร่วงระนาว และถูกพูดถึงในระดับ 'Talk of the World' บางฝ่ายถึงกับกังวลว่าอาจเกิด 'AI War' ระหว่างจีนและสหรัฐฯ

ชื่อของ DeepSeek ถูกพูดถึงอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา เมื่อประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสัมมนาด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจที่กรุงปักกิ่ง โดยมีบรรดาผู้นำจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีนเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็น Alibaba, BYD, Huawei, CATL, Xiaomi, Tencent, Meituan และแน่นอน DeepSeek

บุคคลที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษในงานนี้คือ เหลียง เหวินเฟิง (Liang Wenfeng) นักพัฒนา AI ชาวจีนวัย 40 ปี ผู้ก่อตั้ง DeepSeek และกลายเป็นบุคคลที่สื่อเทคโนโลยีทั่วโลกจับตามอง ในฐานะซีอีโอหนุ่มที่มีโอกาสเข้าร่วมประชุมกับผู้นำสูงสุดของประเทศเคียงข้างเจ้าของธุรกิจระดับแนวหน้า

เหลียงเกิดเมื่อปี 1985 ที่เมืองจ้านเจียง มณฑลกวางตุ้ง มีความหลงใหลในคณิตศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งแต่เด็ก แม้ไม่ได้ศึกษาจากมหาวิทยาลัยในตะวันตก แต่เขาจบการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง (Zhejiang University) หรือ 'เจ้อต้า' เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิศวกรรมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และต่อปริญญาโทในสาขาวิศวกรรมข้อมูลและสื่อสาร ซึ่งเป็นสถาบันชั้นนำของจีนในสาขาวิศวกรรมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และวิศวกรรมข้อมูลและการสื่อสาร

หลังจากเรียนจบ เขาเริ่มต้นทำงานในแวดวงเทคโนโลยีที่หางโจว ก่อนขยายเส้นทางสู่เฉิงตู และก่อตั้งสตาร์ตอัปของตัวเอง ในช่วงชีวิตการทำงาน เหลียงตั้งรกรากอยู่ในหางโจว ซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีของจีน และเคยทำงานในนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเมืองสำคัญด้านเทคโนโลยีของประเทศ 

ในปี 2015 เหลียงเข้าสู่โลกสตาร์ตอัปอย่างเต็มตัวด้วยการร่วมก่อตั้ง High-Flyer กองทุนเฮดจ์ฟันด์ประเภท Quantitative Hedge ที่ใช้ AI วิเคราะห์แนวโน้มตลาดและซื้อขายหลักทรัพย์โดยอัตโนมัติ ความสำเร็จจากธุรกิจนี้ทำให้เขาสั่งซื้อ หน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) ของ Nvidia นับพันชิ้น ตั้งแต่ปี 2021 เพื่อพัฒนา AI ของตัวเอง

DeepSeek ไม่ใช่แค่ AI ทั่วไป แต่มันสามารถแข่งขันกับ ChatGPT ได้อย่างสูสี โดยใช้ต้นทุนเพียง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 200 ล้านบาท) ตามที่รายงานข่าวระบุ ซึ่งถือว่าต่ำกว่าที่บริษัท AI ตะวันตกใช้ไปหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ

สิ่งที่ทำให้ DeepSeek เป็นที่จับตามองคือความสามารถในการพัฒนา AI ที่มีประสิทธิภาพสูง แม้จีนจะถูกสหรัฐฯ จำกัดการเข้าถึงชิปประมวลผลระดับสูงของ Nvidia แต่ทีมของเหลียงสามารถ "ปลดล็อกศักยภาพ" ของ GPU รุ่นเก่าให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

"วิศวกรของ DeepSeek รู้วิธีเพิ่มประสิทธิภาพของ GPU ที่มีอยู่ แม้ว่าจะไม่ใช่เทคโนโลยีล่าสุดก็ตาม" นักวิจัย AI ที่ใกล้ชิดกับบริษัทกล่าว

DeepSeek ยังเลือกใช้ โมเดลแบบเปิด (Open-Source) ซึ่งต่างจาก OpenAI ที่เน้นการปกป้องเทคโนโลยีของตัวเอง โดยเหลียงเชื่อว่าการแบ่งปันความรู้จะช่วยดึงดูดคนเก่งและสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรมในวงการ AI

การที่เหลียงเป็นผู้บริหารด้าน AI เพียงคนเดียวที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมกับสีจิ้นผิง พร้อมกับผู้เชี่ยวชาญจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยี การศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สุขภาพ และกีฬา เพื่อนำเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างรายงานของรัฐบาล

การเข้าร่วมประชุมระดับสูงของเหลียงตอกย้ำ เขาถือเป็นบุคคลสำคัญในยุทธศาสตร์ระดับชาติของจีน ท่ามกลางการแข่งขันทางเทคโนโลยีกับสหรัฐฯ ตลาด AI ของจีนคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 5.6 ล้านล้านหยวน (765 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายในปี 2030 ตามการคาดการณ์ของ China International Capital Corp (CICC)

"ผมเชื่อว่านวัตกรรมคือหัวใจสำคัญ" เหลียงกล่าว "จีนเคยขาดความมั่นใจในการพัฒนา AI ระดับแนวหน้า แต่เราต้องกล้าที่จะลองและผลักดันให้ก้าวไปข้างหน้า ผมอยากแสดงให้โลกเห็นว่าจีนสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่จากศูนย์ได้"


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top