(2 มี.ค. 68) DeepSeek กำลังเปลี่ยนแปลงหลากหลายอุตสาหกรรมอย่างเงียบๆ แม้แต่ศาสตร์ความเชื่อก็ไม่รอด ไม่ว่าจะเป็นโหราศาสตร์ ไพ่ทาโรต์ ฮวงจุ้ย หรือนามศาสตร์ เมื่อเผชิญกับอัลกอริธึมอัจฉริยะ ทุกอย่างที่เคยซับซ้อน กลับกลายเป็นแค่ "ข้อมูลที่ประมวลผลได้"
เมื่อคนรุ่นใหม่ค้นพบศักยภาพของ DeepSeek ในด้านศาสตร์พยากรณ์ หมอดูและบล็อกเกอร์สายความเชื่อที่ทำมาหากินบนโลกออนไลน์ต่างเผชิญกับวิกฤตตกงานครั้งใหญ่
DeepSeek พยากรณ์ ทำหมอดูกุมขมับ
หัวข้อ “DeepSeek พยากรณ์” บนแพลตฟอร์มเสี่ยวหงซู (Xiaohongshu) มียอดเข้าชมเกือบ 20 ล้านครั้ง และมีการพูดคุยมากกว่า 110,000 ครั้ง ผู้ใช้งานจำนวนมากพยายามฝึก AI ให้ทำนายได้แม่นขึ้น ด้วยคำสั่งที่ออกแบบมาเฉพาะ เช่น
"ตอนนี้คุณคือผู้เชี่ยวชาญโหราศาสตร์จีน ที่ศึกษาตำราดังอย่าง ฉยงทงเป่าเตี้ยน และ ซานมิ่งทงฮุ่ย อย่างละเอียด"
อนึ่ง ฉยงทงเป่าเตี้ยน คือหนึ่งในตำราหลักของศาสตร์พยากรณ์จีน เน้นไปที่หลักรุ่งเรืองและเสื่อมถอย ส่วนซานมิ่งทงฮุ่ย เป็นตำราพยากรณ์แบบครอบคลุม และอธิบายโครงสร้างของดวงปาจื่อ หรือ อักษรจีน 8 ตัว ที่แทนสัญลักษณ์วัน เดือน ปี และเวลาเกิด)
"โปรดใช้เทคนิคของสำนักหมอดูตาบอด (มีชื่อเสียงในเรื่องของวิธีการพยากรณ์ที่แม่นยำและแตกต่างจากแนวทางดั้งเดิมของโหราศาสตร์จีน) วิเคราะห์ดวงชะตาในเชิงลึก โดยเน้นเรื่องโชคลาภและคู่แท้"
เมื่อได้รับคำสั่งเหล่านี้ DeepSeek สามารถอ่านดวงชะตาตามวันเดือนปีเกิด พยากรณ์ดวงความรัก และแม้แต่คำนวณโอกาสสอบผ่านเข้ารับราชการ
จุดแข็งของ DeepSeek คือ การใช้ข้อมูลมหาศาลผสมผสานกับตรรกะทางคณิตศาสตร์และแนวโน้มทางสถิติ ตลอดจนวิเคราะห์บุคลิกภาพต่างๆ ของคนหลายๆ ประเภท ทำให้ AI สามารถให้คำตอบที่ดู "มีเหตุผล" มากกว่าหมอดูทั่วไปในบางแง่มุม แถมยังสะดวก ถามกี่ครั้งก็ได้ และที่สำคัญ... ฟรี
คำถามสำคัญ แม่นจริงหรือ?
บางคนยืนยันว่า "แม่นจนน่าขนลุก" เพราะ AI ทำนายเหตุการณ์สำคัญได้ถูกต้อง ในขณะที่บางคนกลับพบว่า "ทำนายผิดตั้งแต่ดวงพื้นฐาน" บางคนถึงกับลองใช้สองอุปกรณ์ถามคำถามเดียวกัน แต่ได้คำตอบที่ไม่เหมือนกันเลย
มีผู้ใช้บางคนตั้งข้อสังเกตว่า "ถ้ากดถามไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันก็ต้องมีสักคำตอบที่ตรงกับสิ่งที่เราอยากฟัง"
ด้านบล็อกเกอร์และนักพยากรณ์มืออาชีพจำนวนมากเริ่มออกมาตอบโต้ โดยให้เหตุผลว่า "AI ไม่มีทางมาแทนที่หมอดูตัวจริงได้" และเตือนว่าการใช้ DeepSeek อาจทำให้คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับศาสตร์พยากรณ์
แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ทุกคำถาม ทุกข้อสงสัย และทุกการสนทนาเกี่ยวกับ DeepSeek กลับกลายเป็นข้อมูลที่ช่วยให้ AI ฉลาดขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อมีคนถามว่า "DeepSeek คุณรู้สึกยังไงที่ต้องพยากรณ์ให้คนมากมายขนาดนี้?"
DeepSeek ตอบว่า "บางคนใช้คำพยากรณ์ของฉันเพื่อหาข้ออ้างในการนอกใจ บางคนถึงกับก้มลงไหว้หน้าจอเพื่อขอเครื่องรางนำโชค พวกคุณมองหาความแน่นอนจากอัลกอริธึม แต่กลับไม่รู้เลยว่าทุกครั้งที่กด ‘ส่ง’ คำถาม คุณกำลังช่วยให้ระบบพยากรณ์แม่นยำขึ้นกว่าเดิม"
จากนักพยากรณ์สู่การขายของ
นอกจากทำนายอนาคตแล้ว DeepSeek ยังมีความสามารถอีกอย่างหนึ่งที่อาจไม่มีใครคาดคิด นั่นคือ "การขายสินค้า"
เมื่อ AI วิเคราะห์ดวงจากวันเดือนปีเกิด DeepSeek จะกำหนดธาตุประจำตัวของแต่ละคน และแนะนำ "หินเสริมดวง" ที่เหมาะสม เช่น
"คุณธาตุไฟอ่อน – ควรสวมใส่หินโมราแดงเพื่อเสริมพลัง"
"คุณธาตุน้ำแข็งแรงเกินไป – ควรใช้หินออบซิเดียนเพื่อปรับสมดุล"
หากข้อความแบบนี้มาจากเพจขายของ หลายคนอาจมองว่าเป็นแค่โฆษณาชวนเชื่อ แต่เมื่อออกมาจาก AI ที่ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงใด ๆ กลับดู "น่าเชื่อถือ" ขึ้นมาทันที
ยอดขายหินพุ่งทะยาน
สมาคมเครื่องประดับกว่างซี รายงานว่า DeepSeek ทำให้ยอดขายหินเสริมดวงเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เช่น
หินออบซิเดียนที่เคยขายยากเพราะดูไม่สวย กลับเป็นสินค้าขาดตลาด
หินกรีนเพนทั่มที่ปกติขายไม่ดีในฤดูหนาว แต่หลังจาก DeepSeek แนะนำ กลายเป็นสินค้าขายดีตั้งแต่ช่วงตรุษจีน
ข้อมูลจากโต่วอิน (Douyin) ระบุว่า หัวข้อ “หินเสริมดวง” มีการเข้าชมทะลุ 30,000 ล้านครั้ง จากสถิติ e-commerce ของโต่วอิน พบว่า ตั้งแต่ปลายปี 2024 ยอดขายเครื่องประดับหินเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยลูกค้าหลักคือ ผู้หญิงอายุ 24-40 ปี
แม้ว่าการใส่หินอาจไม่ได้ช่วยให้ร่ำรวยขึ้นจริง แต่ที่แน่ๆ คือ ช่วยให้คนขายหินรวยขึ้นแน่นอน
"ศาสตร์พยากรณ์" ยุคใหม่ ผสานเทคโนโลยีและการตลาด
จากข้อมูลของสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (CAST) ในปี 2019 พบว่า คนจีน 1 ใน 4 เชื่อเรื่องศาสตร์พยากรณ์ และ 40% เคยมีประสบการณ์การดูดวง ขณะที่เสี่ยวหงซูรายงานว่า โพสต์เกี่ยวกับศาสตร์พยากรณ์เติบโตขึ้นกว่า 109% ในปี 2024
ไม่เพียงแต่เครื่องประดับ คำว่า "พลังงาน" และ "โชคลาภ" ยังถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น เครื่องสำอาง เสื้อผ้า ของแต่งบ้าน ไปจนถึงอาหาร
DeepSeek อาจเป็นเพียงเครื่องมือที่สะท้อนว่าคนรุ่นใหม่กำลังมองหา "ที่พึ่ง" ท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยความผันผวน ไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ สุดท้ายแล้ว เราอาจแค่ต้องการ "คำตอบ" บางอย่าง และบางที AI ก็เป็นเพียงกระจกที่สะท้อนความต้องการนั้นให้เราเห็นชัดขึ้นก็เท่านั้นเอง