จีนทิ้งขาดสหรัฐฯ นำลิ่ว 57 เทคโนโลยีใหญ่ ยกเครดิตสีจิ้นผิงชู 'Made in China 2025' ทุ่มวิจัยไม่ยั้ง
(29 ม.ค.68) การเปิดตัวโมเดล AI ของ DeepSeek บริษัทสัญชาติจีนที่กำลังมาแรงและได้รับการพูดถึงในขณะนี้ ด้วยประสิทธิภาพที่ระบุว่ามีต้นทุนต่ำกว่า ทำงานได้เร็วกว่า แถมเป็นการพัฒนาแบบระบบโอเพ่นซอร์ส ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนวงการ AI ไปทั่วโลก จนส่งผลให้มูลค่าตลาดหุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐ หายไปกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์เพียงชั่วข้ามคืน ซึ่งนักวิเคราะห์บางรายถึงกับเรียกเหตุการณ์นี้ว่า 'Sputnik moment' อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าของจีนไม่ได้จำกัดอยู่แค่ AI เท่านั้น
รายงานวิจัยจากสถาบันนโยบายยุทธศาสตร์แห่งออสเตรเลีย (ASPI)ประจำปี 2024 ซึ่งศึกษาข้อมูลย้อนหลังถึง 20 ปี พบว่า จีนครองความเป็นผู้นำใน 57 จาก 64 เทคโนโลยีสำคัญ เพิ่มขึ้นจากเพียง 3 เทคโนโลยีเมื่อปี 2007 ในขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งเคยนำหน้าใน 60 สาขาเมื่อปี 2007 ปัจจุบันเหลือเพียง 7 สาขาเท่านั้น
จากการวิจัยของ ASPI ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยและสิทธิบัตรที่มีนวัตกรรมสูง ซึ่งตีพิมพ์โดยมหาวิทยาลัย ห้องปฏิบัติการ หน่วยงานของรัฐ และบริษัทต่างๆ ทั่วโลกพบว่า สาขาเทคโนโลยีที่จีนเป็นผู้นำโลกในเวลานี้ อาทิ การออกแบบและผลิตวงจรรวมขั้นสูง, กระบวนการตัดเฉือนความแม่นยำสูง , เครื่องยนต์อากาศยานขั้นสูง, โดรน หุ่นยนต์ฝูง และหุ่นยนต์ทำงานร่วมกัน, แบตเตอรี่ไฟฟ้า, เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ , การสื่อสารความถี่วิทยุขั้นสูง
ในขณะที่สาขาเทคโนโลยีที่สหรัฐเป็นผู้นำในขณะนี้ เช่น การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP), ควอนตัมคอมพิวติ้ง และวิศวกรรมพันธุกรรม
ASPI ตั้งข้อสังเกตว่าแผนการ 'Made in China 2025' ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ที่อัดฉีดเงินทุนโดยตรงจำนวนมหาศาลเพื่อการวิจัยและพัฒนาในเทคโนโลยีสำคัญ พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ "การครอบครองความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี" เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เทคโนโลยีจีนหลายด้านก้าวหน้า
นอกจากการลงทุนในงานวิจัยแล้ว รัฐบาลจีนยังส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ปรับปรุงห่วงโซ่อุปทาน และยกระดับภาคการผลิตเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับเทคโนโลยีภายในประเทศด้วย