Tuesday, 7 May 2024
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ตร.เตือน 3 ภัย!! ‘หลอกรักออนไลน์’ ช่วงวาเลนไทน์ รักมาก เปย์มาก สุดท้ายใจสลาย!!

วันที่ 14 ก.พ. 2565 พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้มีนโยบายให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนรู้เท่าทันถึงอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดนั้น

ด้วยในวันที่ 14 ก.พ. ของทุกปี เป็นวันเทศกาลวาเลนไทน์ หรือที่เรียกกันว่าเทศกาลแห่งความรัก ที่คู่รักทั่วโลก รวมถึงคู่รักในประเทศไทยจะใช้โอกาสนี้ในการแสดงออกถึงความรัก ด้วยการส่งดอกไม้ ของขวัญ เงิน ให้คนรักเนื่องในโอกาสพิเศษนี้

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนพี่น้องประชาชน ให้ระมัดระวังมิจฉาชีพที่อาศัยโอกาสจากเทศกาลแห่งความรัก มาหลอกลวงเอาทรัพย์สินจากพี่น้องประชาชน โดยอาชญากรรมออนไลน์ที่คนร้ายเป็นชาวต่างชาติใช้ความรักในการหลอกลวงเหยื่อหลัก ๆ มี 3 ประเภท ดังนี้

1. Romance Scam หลอกรักให้เปย์ แล้วเททิ้ง

คนร้ายเป็นแก๊งชาวผิวสี เริ่มต้นด้วยการสร้างบัญชีทางสื่อสังคมออนไลน์ปลอมโดยใช้รูปผู้อื่นส่วนใหญ่จะปลอมเป็นชาวยุโรป อเมริกัน หรือชาวตะวันออกกลาง ที่หน้าตาดี หล่อ รวย หน้าที่การงานดี มีการใช้ชีวิตที่หรูหราเข้ามาทักทายเหยื่อ(เป้าหมายคือหญิงไทยอายุ40ปีขึ้นไป)ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ แล้วสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันโดยอ้างว่าภรรยาเสียชีวิตหรือหย่าร้าง อยากใช้ชีวิตที่เหลือกับหญิงไทย โดยถูกใจเหยื่อมากใช้วิธีการแชทเรียกเหยื่อหวานหยดย้อย เช่น Darling, Sweetheart,My love พอเหยื่อหลงเชื่อและหลงรัก ก็จะเริ่มหลอกลวงเพื่อหวังเงินจากเหยื่อ

โดยจะใช้วิธีการต่าง ๆ ได้แก่ อ้างว่าจะส่งทรัพย์สินมีค่ามาให้ จากนั้นจะมีผู้ร่วมขบวนการซึ่งเป็นคนไทยจะติดต่อเหยื่อโดยอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรหรือบริษัทส่งของระหว่างประเทศ มีการเรียกเก็บภาษีหรือค่าปรับจากเหยื่อ , อ้างว่าป่วยแต่ประกันสุขภาพมีปัญหา ขอให้เหยื่อโอนค่ารักษาพยาบาลมาให้ , อ้างว่าได้รับมรดกจำนวนมากแต่ต้องมีการจ่ายภาษีมรดกก่อน ขอให้เหยื่อช่วยโอนเงินมาให้ และ อ้างว่าได้รับสัมปทานหรือทำสัญญากับภาครัฐ จะได้ผลกำไรจำนวนมาก ขอให้เหยื่อโอนเงินมาจ่ายให้กับภาครัฐก่อนทำสัญญา เป็นต้น เมื่อเหยื่อหลงเชื่อก็จะสูญเงินทั้งหมดไป

2. Hybrid Scam หลอกรักชวนลงทุน

คนร้ายเป็นแก๊งชาวจีน เริ่มต้นด้วยการสร้างบัญชีทางสื่อสังคมออนไลน์ปลอม โดยใช้รูปหญิงสาวสวยชาวเอเซีย น่าเชื่อถือ ลักษณะเหมือนนักธุรกิจ เข้ามาเข้ามาทักทายเหยื่อ(เป็นผู้ชายอายุ30ปีขึ้นไปที่เข้าใจระบบการลงทุนออนไลน์)ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ แล้วสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน พอเหยื่อหลงเชื่อหรือหลงรัก คนร้ายก็จะบอกกับเหยื่อว่ามีธุรกิจใหม่น่าลงทุน ผลตอบแทนสูง เช่น การเทรดค่าเงินต่างประเทศ อ้างว่าได้กำไรแน่นอน จากนั้นจะส่งลิงก์แอพพลิเคชัน มาให้เหยื่อติดตั้งในโทรศัพท์ และเริ่มมีการนำเงินมาลงทุน แรก ๆ จะได้กำไรจริง จากนั้นจะชักชวนเหยื่อให้เพิ่มวงเงินการลงทุน เมื่อเทรดแล้วได้กำไร การจะนำเงินออกจากระบบต้องจ่ายภาษี 30-40% เช่น ถ้าลงทุนได้กำไร 1,000,000 บาท ต้องโอนเงินประมาณ 400,000 บาท เจ้าระบบก่อน เมื่อเหยื่อโอนเงินเข้าระบบแล้ว ก็จะไม่สามารถถอนเงินออกได้ทำให้เหยื่อหลงเชื่อสูญเงินเป็นจำนวนมาก

3. Sextortion หลอกให้ถ่ายคลิปช่วยตัวเองแล้วเอามาแบล็คเมล์ (Blackmail) 

คนร้ายเป็นแก๊งชาวฟิลิปปินส์ เริ่มต้นด้วยการสร้างบัญชีทางสื่อสังคมออนไลน์ปลอม โดยใช้รูปหญิงสาวสวย เซ็กซี่ เข้ามาเข้ามาทักทายเหยื่อ(เป็นผู้ชาย ที่มีหน้าที่การงานมั่นคง มีฐานะดี เป็นที่นับถือในสังคม เป็นคนรักครอบครัว)ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ แล้วสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน พอเหยื่อหลงเชื่อจะขอ วิดีโอคอล ชักชวนให้เหยื่อถ่ายคลิปวิดีโอ ช่วยตัวเองหรือภาพลามกของเหยื่อส่งมาให้กับคนร้าย จากนั้นจะบันทึกภาพหรือคลิปของเหยื่อไว้ นำมาข่มขู่เอาเงิน หากไม่ยินยอมจะขู่ว่าปล่อยคลิปดังกล่าวสู่สาธารณะ หรือส่งให้ภรรยา ผู้บังคับบัญชาหรือเพื่อนของเหยื่อ จนเหยื่อต้องจำใจโอนเงินไปให้คนร้ายเพราะไม่อยากเสื่อมเสียชื่อเสียง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนผู้ประกอบการ ร้านค้าต่าง ๆ งดการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวันสำคัญทางพุทธศาสนา “วันมาฆบูชา” ประจำปี 2565

พ.ต.อ.หญิง วิชญ์ชยากร  ณิชาบวร รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า วันพุธ ที่ 16 ก.พ. 65 เป็นวันมาฆบูชา  ซึ่งถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ที่ตามประกาศ

>> สำนักนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยกเว้นการขายเฉพาะร้านค้าปลอดอากรภายในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติ  หากฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 39

แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551  คือระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในเรื่องนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์  แจ้งยอดสุข  ผบ.ตร. ได้มีหนังสือสั่งการให้สถานีตำรวจทุกแห่งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนผู้ประกอบการร้านค้าทุกประเภท ทั้งร้านค้าในชุมชน  ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  รวมถึงสถานบริการและสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ ให้งดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด  ทั้งชนิดขายส่งและขายปลีกทั่วราชอาณาจักร ตลอด 24 ชั่วโมง คือหลังเวลา 24.00 น. ของคืนวันที่ 15 ก.พ. 65  ไปจนถึงเวลา 24.00 น. ของคืนวันที่ 16 ก.พ. 65 พร้อมทั้งจัดสายตรวจ ออกตรวจตราสถานที่ที่อาจมีการฝ่าฝืนกฎหมาย ได้แก่ ร้านข้าวต้มโต้รุ่ง คาราโอเกะ ร้านอาหารตามสั่งในชุมชน ริมทาง  บริเวณสถานีขนส่ง สถานีรถไฟ และสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น หากตรวจพบผู้ที่ฝ่าฝืนให้ดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

 

‘สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ จับมือ ‘กสทช.’ ดึงผู้ประกอบการเครือข่ายโทรศัพท์ ร่วมมือแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และหลอกลวงทางออนไลน์!!

วันนี้(15 ก.พ.65) เวลา 15.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ(ศปอส.ตร.) หรือ ศูนย์ PCT และนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช., พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ฯ, พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ ผบก.สส.สตม./หน.ชุดปฏิบัติการ PCT ได้ประชุมหารือร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ เช่น AIS DTAC TRUE บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ 3BB

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ฯ กล่าวว่า วันนี้ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการมายัง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาประสานความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน กสทช. และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ในเรื่องการแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และอาชญากรรมทางออนไลน์ โดยในที่ประชุมมีการหารือความร่วมมือ ดังต่อไปนี้

1. การขอความร่วมมือให้สำนักงาน กสทช.และผู้ให้บริการ แจ้งประชาสัมพันธ์/ส่งข้อความเตือนภัย ให้ความรู้แก่ประชาชน ถึงรูปแบบอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จำนวน 14 รูปแบบ ได้แก่

(1)หลอกขายของออนไลน์ (2) คอลเซ็นเตอร์ (Call Center) ข่มขู่ให้เกิดความกลัว (3) เงินกู้ออนไลน์ ดอกเบี้ยโหด (4)เงินกู้ออนไลน์ ที่ไม่มีจริง (เงินกู้ทิพย์) (5)หลอกให้ลงทุนต่างๆ (6)หลอกให้เล่นพนันออนไลน์ (7) ใช้ภาพปลอมหลอกให้หลงรักแล้วโอนเงิน (Romance scam) หรือ หลอกให้ลงทุน (Hybrid scam) (8)ส่งลิงก์ปลอมเพื่อหลอกแฮ็กเอาข้อมูลส่วนตัว (9) อ้างเป็นบุคคลอื่นเพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว (10) ปลอม Line , Facebook หรือ Account หลอกยืมเงิน (11) ข่าวปลอม (Fake news) - ชัวร์ก่อนแชร์ (12) หลอกลวงเอาภาพโป้เปลือยเพื่อใช้แบล็คเมล์ (13) โฆษณาชวนไปทำงานต่างประเทศแล้วบังคับให้ทำงานผิดกฎหมาย (14) ยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) ซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน

2. การขอความร่วมมือผู้ให้บริการ ผู้รับใบอนุญาต ในการแก้ปัญหาการหลอกลวงประชาชนโดยใช้การปลอมหมายเลขโทรศัพท์ จากการใช้เทคโนโลยี VoIP (Voice over Internet Protocol) นั้น ผู้ให้บริการต่อสาย VoIP ไปยังปลายทาง (Call Termination) ต้องตรวจสอบการโทรที่มาจากต่างประเทศ หากเบอร์ที่โทรมานั้นมีรูปแบบเป็นเบอร์โทรศัพท์บ้าน เบอร์พิเศษ 3 หลัก หรือเบอร์พิเศษ 4 หลักของประเทศไทย ให้ผู้ให้บริการดังกล่าวตัดสายเพื่อไม่ให้ส่งต่อการโทรนั้นไปยังปลายทางในประเทศไทย และกำชับผู้ให้บริการต่อสาย VoIP ไปยังปลายทาง (Call Termination)ดังกล่าว ต้องแสดงเบอร์โครงข่ายของตนเองหรือโครงข่ายที่ตนเองเช่าใช้ ที่โทรศัพท์ที่รับสายปลายทางด้วย หากพบว่ามีการโทรเข้าโดยส่งเบอร์แปลกปลอมที่ไม่ใช่เบอร์ของตนเองเข้ามาให้ตัดสายนั้นทันที ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการปลอมแปลงเบอร์โทรเข้ามา รวมทั้งให้แสดงแหล่งที่มาของข้อมูลที่มาจากต่างประเทศ ให้ชัดเจน แตกต่างจากข้อมูลภายในประเทศ เช่น มีเครื่องหมาย + หรือสัญลักษณ์เฉพาะ ที่หน้าจอโทรศัพท์มือถือของประชาชน เพื่อจะได้ทราบในทันทีจะได้ไม่หลงเชื่อว่าเป็นหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐ

3. การตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูล/ช่องทางการส่งข้อมูล(Traffic) ที่คนร้ายใช้ในการติดต่อ เพื่อสืบสวนหาต้นตอในการจับกุม สืบสวน และปิดกั้นช่องทางการส่งข้อมูล(Traffic) ดังกล่าวต่อไป

ด้านนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล กล่าวว่า ทางสำนักงาน กสทช. ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี และได้มีความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อร่วมกันดำเนินการด้านเทคนิคเพื่อการป้องกันการใช้เทคโนโลยีของมิจฉาชีพไปสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน การประชาสัมพันธ์ข้อมูลเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงภัยอันตรายดังกล่าว และการให้ข้อมูลสนับสนุนการสืบสวน สอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งในเรื่องประเด็นการส่งข้อความสั้นหรือ SMS และการหลอกลวงของแก๊งคอลเซนเตอร์

‘สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ ยืนยัน! การปราบปราม 'การค้ามนุษย์' ดำเนินการตามหลักกฎหมาย และมุ่งมั่นในการดำเนินการปราบปรามอย่างต่อเนื่อง

‘สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ ยืนยัน! การปราบปรามการค้ามนุษย์ ดำเนินการตามหลักกฎหมาย และมุ่งมั่นในการดำเนินการปราบปรามอย่างต่อเนื่อง

พลตำรวจตรี ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากกรณี ส.ส.ฝ่ายค้าน อภิปรายประเด็นการปราบปรามจับกุมคดีค้ามนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่เกี่ยวข้องกับชาว "โรฮีนจา" เมื่อปี พ.ศ. 2558 ในทำนองว่าไม่ให้ความสำคัญ ไร้ประสิทธิภาพ และดำเนินการในลักษณะไม่มีมาตรฐานในการปฏิบัติที่เป็นธรรมนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอชี้แจง ดังนี้

1.คดีค้ามนุษย์ "โรฮีนจา" พื้นที่ สภ.ปาดังเบซาร์ จว.สงขลา เมื่อวันที่ 1 พ.ค.58 คดีนี้เป็นคดีที่เป็นความผิดนอกราชอาณาจักร ตาม ป.วิอาญา มาตรา 20 ซึ่งอัยการสูงสุดเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ต่อมาอัยการสูงสุดได้แต่งตั้งพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจและฝ่ายอัยการ เป็นคณะพนักงานสอบสวน ร่วมทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน  พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาในข้อหาค้ามนุษย์, อาชญากรรมข้ามชาติ และข้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวนได้ขอให้ศาลออกหมายจับผู้ต้องหาในคดีนี้ จำนวน 155 ราย จับกุมตัวได้แล้ว จำนวน 120 ราย เสียชีวิต จำนวน 2 ราย  และหลบหนี อยู่ระหว่างติดตามจับกุมเพิ่มเติม จำนวน 33 คน ซึ่งในส่วนของผู้ต้องหาที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีแล้ว ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไปแล้วหลายราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกา อย่างไรก็ตาม หากท่านใดมีข้อมูลหรือเบาะแสเพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์ ที่สามารถนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำผิดเพิ่ม ก็ขอได้โปรดแจ้งมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอยืนยันว่าจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ทุกรายโดยไม่มีละเว้น

2. สำหรับนโยบายการปราบปรามจับกุมการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้ การกำกับดูแลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และภายใต้การนำ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. มีความมุ่งมั่นปราบปรามจับกุม ตามนโยบายรัฐบาล อย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมามีการเร่งรัดปราบปรามจับกุมมาโดยตลอด มีผลการจับกุมและดำเนินคดีในปี 2564 จำนวน 182 คดี และ ปี 2565 จำนวน 11 คดี

เตือนภัยไซเบอร์!! มิจฉาชีพว่อนหลอกรับบริจาค อ้าง!! ช่วย ‘สงครามยูเครน-งานศพแตงโม’

10 มี.ค. 65 พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้มีนโยบายให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนรู้เท่าทันถึงอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดนั้น

ในขณะนี้ ได้มีแก๊งมิจฉาชีพฉวยโอกาสโดยใช้เหตุการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่อยู่ในความสนใจของพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิตของนักแสดงชื่อดัง น.ส.ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ หรือ ‘แตงโม’ และเหตุการณ์สู้รบระหว่าง ‘สหพันธรัฐรัสเซีย’ กับ ‘ยูเครน’ โดยหลอกลวงพี่น้องประชาชนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ให้โอนเงินบริจาคโดยอ้างว่าจะนำไปช่วยเหลือในการจัดงานศพ หรืออ้างว่าจะนำไปช่วยเหลือผู้อพยพที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยสงคราม หรือการหลอกรับเงินอ้างว่าต้องการเงินมาช่วยเหลือในการขนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่สงครามแล้วจะแบ่งทรัพย์สินให้ เป็นต้น

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดโครงการอุปสมบทหมู่เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 2 เม.ย.65

พล.ต.ต.ยิ่งยศ  เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดโครงการอุปสมบทหมู่ข้าราชการตำรวจเฉลิมพระเกียรติ เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพฯ ครบ 67  พรรษา 2 เม.ย. 65 ณ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร 

ในการนี้ มีข้าราชการตำรวจเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 63 นาย และประชาชนทั่วไปที่มีจิตศรัทธา จำนวน 5 คน ซึ่งได้รายงานตัว ปฐมนิเทศ และฝึกซ้อมขานนาคตั้งแต่ วันที่ 28 มี.ค.-1 เม.ย. ที่ผ่านมา และในวันนี้ (2 เม.ย.65) พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. มอบหมายให้ พล.ต.อ.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. เป็นผู้แทนในพิธีถวายราชสักการะและเจริญพระพุทธมนต์สมโภชนาค มอบบาตรและผ้าไตร หลังจากนั้นเป็นพิธีบรรพชาและอุปสมบท โดยมีเจ้าคุณพระเทพโมลี ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์  

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเดินทางพร้อมคณะตรวจเยี่ยมบำรุงขวัญข้าราชการตำรวจ สภ.บันนังสตา จว.ยะลา

วันนี้( 4 เม.ย.2565) เวลา 11.30 น. พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. พล.ต.ท.นันทเดช ย้อยนวล ผบช.ภ.9 ผบก.ภ.จว.ยะลา ผบก.สส.จชต. ผบก.ศพฐ.10 ผบก.ตชด.ภาค4 พร้อมคณะและเจ้าหน้าที่  ที่เกี่ยวข้องได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมบำรุงขวัญข้าราชการตำรวจ สภ.บันนังสตา จว.ยะลา พร้อมติดตามความคืบหน้าการสืบสวนสอบสวนกรณีเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดแสวงเครื่องทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตและบาดเจ็บ เมื่อวันที่ 30 มี.ค.65 บริเวณถนนสายบาเจาะ-เขื่อนบางลาง ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จว.ยะลา    

ในส่วนของเงินช่วยเหลือกรณีตำรวจเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ ผบ.ตร. ได้มีนโยบายให้จ่ายแบบกรณีเร่งด่วนเพื่อมอบให้กับครอบครัวหรือทายาทของข้าราชการตำรวจ รวมถึงได้สั่งการให้กองสวัสดิการ สำนักงานกำลังพล ให้เร่งดำเนินการปูนบำเหน็จ และสิทธิต่างๆให้กับทายาทผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่โดยเร็ว โดยในรายของ ส.ต.อ.วิวัฒน์  รักชาติ ได้รับสิทธิประโยชน์เลื่อนเงินเดือนกรณีพิเศษจำนวน 7 ขั้น เลื่อนชั้นยศกรณีพิเศษเป็น พ.ต.ท. ราย ส.ต.ต.ณัชพล  พรหมณี ได้รับสิทธิประโยชน์ เลื่อนเงินเดือนกรณีพิเศษจำนวน 7 ขั้น เลื่อนชั้นยศกรณีพิเศษเป็น พ.ต.ต. อีกทั้งในส่วนของข้าราชการตำรวจรายอื่นที่ได้รับบาดเจ็บก็ให้ดำเนินการดูแลสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่างๆตามระเบียบอย่างเต็มที่

ตำรวจ ออกโรงเตือนภัย 14 รูปแบบ อาชญากรรมทางออนไลน์ช่วงเทศกาลสงกรานต์

วันที่ 10 เมษายน 2565 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร.ในฐานะ ผอ.ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส. ตร.) เปิดเผยถึง พิษภัยในโลกออนไลน์ที่นับวันจะระบาดมากขึ้น สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยี จึงออกมาเตือนภัยประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ให้ทราบถึงวิธีการต่างๆ ที่มิจฉาชีพมักใช้ในการหลอกเหยื่อบนโลกออนไลน์ รวม 14 ข้อ ดังนี้

(1)หลอกขายของออนไลน์ 

(2)คอลเซ็นเตอร์ (Call Center) ข่มขู่ให้เกิดความกลัว 

(3)เงินกู้ออนไลน์ ดอกเบี้ยโหด

(4)เงินกู้ออนไลน์ ที่ไม่มีจริง (เงินกู้ทิพย์) 

(5)หลอกให้ลงทุนต่างๆ 

(6)หลอกให้เล่นพนันออนไลน์ 

(7)ใช้ภาพปลอมหลอกให้หลงรักแล้วโอนเงิน (Romance scam) หรือ หลอกให้ลงทุน (Hybrid scam) 

(8)ส่งลิงค์ปลอมเพื่อหลอกแฮ็กเอาข้อมูลส่วนตัว 

(9)อ้างเป็นบุคคลอื่นเพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว 

(10)ปลอม Line , Facebook หรือ Account หลอกยืมเงิน 

(11)ข่าวปลอม (Fake news) - ชัวร์ก่อนแชร์ 

(12)หลอกลวงเอาภาพโป้เปลือยเพื่อใช้แบล็คเมล์ 

(13)โฆษณาชวนไปทำงานต่างประเทศแล้วบังคับให้ทำงานผิดกฎหมาย 

(14)ยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) ซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติฝากความห่วงใยถึงประชาชน “เช็คลิสต์นิดหนึ่ง ก่อนบึ่งไปเที่ยวสงกรานต์”


 วันนี้(10 เม.ย.65) พล.ต.ต.หญิง วิชญ์ชยากร ณิชาบวร รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565 ระหว่างวันที่ 13 ถึง 17 เม.ย.2565 ประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนา และท่องเที่ยวในวันหยุดยาว สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความห่วงใยความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน จึงฝากประชาสัมพันธ์แนวทางการดูแลตัวเองและคนในครอบครัว รวมถึงการช่วยกันดูแลสังคมให้มีความปลอดภัย ด้วยการเช็คลิสต์นิดหนึ่ง ก่อนบึ่งไปเที่ยวสงกรานต์

 เช็คลิสต์แรก คือ เช็คคน ถ้าท่านทำหน้าที่ผู้ขับขี่ ต้องพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ มีสติอยู่กับตัวตลอดเวลา ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือเสพของมึนเมาต่างๆ และในสถานการณ์ที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่น่าไว้วางใจ ควรเตรียมหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์เช็ดมือให้พร้อม และเพียงพอตลอดการเดินทาง ปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

 สิ่งที่ควรเช็คลิสต์ต่อมาคือ เช็ครถ สภาพรถต้องพร้อมก่อนการเดินทาง ทั้งสภาพช่วงล่าง ระบบเบรก ระบบไฟส่องสว่าง รวมถึงแบตเตอรี่ เติมลมยางให้เหมาะสมกับยางรถยนต์ และอื่นๆที่เกี่ยวกับรถ

ผบ.ตร. เปิดสูตรแก้หนี้ตำรวจ เป้าปลดหนี้ผู้ใต้บังคับบัญชา 3 แสนล้านบาท ยกเคส ช่วย ‘ตร.หญิง’ หนี้ 1.8 ล้าน จากการค้ำประกัน

ผบ.ตร. เปิดสูตรแก้หนี้ตำรวจ เป้าปลดหนี้ผู้ใต้บังคับบัญชา 3 แสนล้านบาท ยกเคส ช่วย ‘ตร.หญิง’ หนี้ 1.8 ล้าน จากการค้ำประกัน

พล.ต.อ.สุวัฒน์ฯ เปิดสูตรแก้หนี้ตำรวจ ตั้งเป้าปลดหนี้ 3 แสนล้านบาท แก้แล้ว 2,000 ราย กลุ่มสีแดงหนี้ท่วมขั้นวิกฤต ยกเคส ตร.หญิง หนี้ 1.8 ล้านบาท จากการค้ำประกัน เล่าโครงการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน พร้อมไอเดีย “สร้างแบรนด์” เพิ่มรายได้ครอบครัวตำรวจ

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์ Policenewsvarieties เผยแพร่เมื่อ 1 พฤษภาคม 2565 ถึงการแก้ปัญหาหนี้สินของข้าราชการตำรวจ โดยระบุว่า ถึงเรื่องงานบริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ฝากเป็นการบ้านให้กับผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติรุ่นต่อไป 

“ในด้านการบริหารจะมีเรื่องแก้ปัญหาหนี้สินตำรวจ สร้างบ้านพักสวัสดิการ อยากให้ทำต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องหนี้ตำรวจ หลังจากรวมหลายรอบพบว่าตำรวจมีหนี้ 300,000 กว่าล้านบาท โดยแก้ปัญหาไปได้แล้ว 2,000 กว่าราย”

พล.ต.อ.สุวัฒน์ฯ เผยว่า จากการสำรวจระดับหนี้ของข้าราชการตำรวจ พบว่า กว่า 97% เป็นสีเขียว คืออยู่ในวิสัยที่ยังผ่อนได้ 2% สีส้ม คือร่อแร่ และ 1% สีแดงที่เข้าขั้นวิกฤต ตอนนี้ความเร่งด่วนคือแก้ปัญหากลุ่มสีแดง ซึ่งกลุ่มนี้ช่วยแก้ปัญหาไปแล้ว 2,000 ราย

ผบ.ตร. เล่าว่า วันก่อน คุณรัตนาภรณ์ สีวลีพันธ์ นายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ มาเล่าให้ฟังว่า มีตำรวจหญิงคนหนึ่งมาเล่าให้ฟัง ดีใจจะร้องไห้บอกว่า เป็นหนี้อยู่ 1.8 ล้านบาท หนี้ที่ตัวเองไม่ได้ก่อ แต่เกิดจากการไปค้ำประกัน พอมีโครงการแก้ปัญหาหนี้ จึงสมัครเข้าโครงการ ก็เลยช่วยกันเจรจาปรับดอกเบี้ย ตัดลงไปเหลือ 400,000 บาท เขาดีใจมาก

“หลัก ๆ ของเราคือการทำรีไฟแนนซ์ สมมติว่าต้นทุนเงินกู้แพง ดอกเบี้ยเงินกู้ก็ต้องแพง โดยต้องดูดอกเบี้ยเงินฝากสหกรณ์ว่าเท่าไหร่ ถ้าดอกเบี้ยเงินฝากแพง แสดงว่าต้นทุนแพง เขาจะมาให้กู้ดอกเบี้ยถูก เป็นไปไม่ได้ เราก็พยายามหาสหกรณ์ที่อยากมาเข้าโครงการของเราเพื่อช่วยเหลือตำรวจ โดยกองบัญชาการตำรวจนครบาล สมัครเป็นสหกรณ์ต้นแบบ อาจจะแก้ปัญหาแรก ๆ ก่อน รายที่มีหนี้ท่วมมาก ๆ อาจทำรีไฟแนนซ์ให้เฉพาะรายนั้นไป”

“ธนาคารออมสินเขายินดีมาช่วยเรา ดอกเบี้ยเขาไม่เกิน 2 บาท สมมุติต้นทุนมาไม่เกิน 2 บาท ถ้าเราปล่อยสัก 4 บาท สหกรณ์ก็ยังอยู่ได้ แทนที่จะ 7 - 8 บาท แต่อย่างนี้ จะทำทุกคนไม่ได้ มันจำกัด และด้วยสัญญาเดิมที่มีต้นทุนเก่า เพราะฉะนั้นต้องค่อย ๆ ถ่ายเทกันไป ส่วนสหกรณ์ไม่ได้อยู่ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เขาเป็นอิสระ เขามีการเลือกตั้งประธานสหกรณ์ บางทีเป็นตำรวจที่เกษียณแล้ว จึงอยู่ที่การเจรจา” ผบ.ตร. เผยวิธีแก้ปัญหาหนี้ให้ผู้ใต้บังคับบัญชา

พล.ต.อ.สุวัฒน์ฯ ย้ำถึงการแก้หนี้ว่า ขอให้ผู้บริหาร ผู้บังคับการ ผู้กำกับการ เข้าใจหลักการ แล้วก็เอาหลักการไปประยุกต์ใช้เป็นราย ๆ ไป ไปคุยกับเจ้าหนี้ให้ลูกน้อง แต่เป้าหมายของเราไม่ใช่ 1 - 2% เป้าหมายเราคือ 97% กับเป้าหมายที่ 2 คือ คนที่ไม่ได้อยู่ใน 100% นี้ ที่เป็นตำรวจเข้าใหม่

ผบ.ตร. เผยว่า สำหรับ “ตำรวจเข้าใหม่” ใช้วิธีการสร้างภูมิคุ้มกันหนี้ ให้วัคซีนทางการเงิน ป้องกันการสร้างหนี้ 

“ตอนนี้ สมาคมแม่บ้านตำรวจไปให้ความรู้เกี่ยวกับการออม การบริหาร การใช้เงิน โครงการ Money Management & Investment เสียงตอบรับดี แล้วก็พยายามขยายไปทุก ๆ หลักสูตรการศึกษาของตำรวจ”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top