Wednesday, 8 May 2024
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

‘สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ ประชุมเตรียมความพร้อมการรักษาความปลอดภัย และความสงบเรียบร้อย การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

วันนี้ (11 ม.ค. 2565) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. มอบหมายให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. เป็นประธาน ร่วมกับ พล.ต.ท.สราวุฒิ การพานิช ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ รอง จตช. ประชุมเตรียมความพร้อมการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แทนตำแหน่งที่ว่าง จำนวน 2 ครั้ง ซึ่งในครั้งแรกในวันที่ 16 ม.ค.65 เขตเลือกตั้งที่ 1 จว.ชุมพร, เขตเลือกตั้งที่ 6 จว.สงขลา รวมมีหน่วยเลือกตั้งจำนวน 495 หน่วย ส่วนในครั้งที่ 2 ในวันที่ 30 ม.ค.65 เขตเลือกตั้งที่ 9 (บางเขน) จว.กทม. มีหน่วยเลือกตั้งจำนวน 280 หน่วย

พล.ต.ท.สราวุฒิฯ กล่าวว่า ได้กำชับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ดังนี้

1. เป็นประชุมเตรียมความพร้อมและติดตามสถานการณ์ด้านการข่าว และกำชับการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่หน่วยเลือกตั้งโดยแบ่งภารกิจเป็นก่อนเลือกตั้ง ขณะเลือกตั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำผิด พรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562

2. ก่อนการเลือกตั้งให้มีการระดมกวาดล้างอาชญากรรมและความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในพื้นที่ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค.65 เป็นต้นไป ที่ผ่านมาพบ 3 เหตุ ที่ จว.ชุมพร

​2.1 การทำลายป้ายหาเสียง 2 เหตุ ของผู้สมัคร พ.ต.อ.ทศพล โชติคุตร์ ผู้สมัครฯ หมายเลข 5 พรรคกล้า อยู่ในระหว่างการสืบสวนถึงสาเหตุที่แท้จริง

​2.2 เหตุยิงปืนลงพื้นถนนขณะที่รถหาเสียงของ พ.ต.อ.ทศพล โชติคุตร์ ผู้สมัครฯ หมายเลข 5 พรรคกล้า จอดอยู่ใกล้เคียง จับกุมผู้กระทำผิดได้แล้ว จากการสอบสวนเหตุการณ์เกิดจากผู้กระทำผิด   เสพยาเสพติดเกินขนาดจึงเกิดอาการประสาทหลอนและก่อเหตุดังกล่าว

โฆษก ตร. เตือน!! "เมาแล้วขับ" คุก 10 ปี เพิกถอนใบขับขี่ เสี่ยง "อุบัติเหตุร้ายแรง"

11 ม.ค.65 พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ เหตุการณ์เริ่มต้นจากการที่มีพลเมืองดีแจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าพบผู้หญิงรายหนึ่งขับรถไม่ไปตามทิศทางที่กำหนด (ย้อนศร) และมีอาการคล้ายคนเมาสุรา เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเข้าไปตรวจสอบ เมื่อไปถึงพบรถยนต์คันดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเชิญตัวไปตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ แต่เจ้าของรถไม่ยินยอม จึงได้นำตัวไปที่สถานีตำรวจเพื่อตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ นั้น

พล.ต.ต.ยิ่งยศฯ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว เมื่อเจ้าหน้าที่นำตัวเจ้าของรถไปตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ แล้วพบว่ามีปริมาณเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงได้จับกุมตัว และแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีตามกฎหมาย จึงขอแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนว่า ห้ามขับขี่ขณะเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น เนื่องจากจะทำให้ไม่มีสติในการขับรถ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง เกิดความเสียหายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น จนทำให้เกิดความสูญเสีย ถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจเป็นความผิดตามกฎหมาย

>> พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522

>> มาตรา 43 (2) ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถ ในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น

>> มาตรา 160 ตรี ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 43 (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 100,000 บาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 6 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 บาทถึง 120,000 บาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 บาท ถึง 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

>> พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2557

>> มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 142 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2542 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

>> มาตรา 142 เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจสั่งให้ผู้ขับขี่หยุดรถในเมื่อ

(1) รถนั้นมีสภาพไม่ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 

(2) เห็นว่าผู้ขับขี่หรือบุคคลใดในรถนั้นได้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอันเกี่ยวกับรถนั้น ๆ

ในกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่ฝ่าฝืนมาตรา 43 (1) หรือ (2) ให้เจ้าพนักงานจราจรพนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ดังกล่าวว่าหย่อนความสามารถในอันที่จะขับหรือเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นหรือไม่

ในกรณีที่ผู้ขับขี่ตามวรรคสองไม่ยอมให้ทดสอบ ให้เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจกักตัวผู้นั้นไว้ดําเนินการทดสอบได้ภายในระยะเวลาเท่าที่จําเป็นแห่งกรณีเพื่อให้การทดสอบเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว หากผู้นั้นยอมให้ทดสอบและผลการทดสอบปรากฏว่าไม่ได้ฝ่าฝืนมาตรา 43 (1) หรือ (2) ก็ให้ปล่อยตัวไปทันที

ในกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น หากผู้นั้นยังไม่ยอมให้ทดสอบตามวรรคสามโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นฝ่าฝืนมาตรา 43 (2) การทดสอบตามมาตรานี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวง

โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการตั้งจุดตรวจ จุดสกัด เพื่อตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ของผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างเข้มงวด และมีการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนทุกคน ซึ่งในหลาย ๆ คดี ศาลได้มีคำพิพากษาจำคุก และเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ 

 

“ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่” มีโทษจำคุก! โปรดอย่าหาทำ! โฆษก ตร.ขอเตือน

12 ม.ค.65 พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า ในห้วงเวลาที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ระงับเหตุ สืบสวน หรือจับกุมผู้กระทำผิด ซึ่งบ่อยครั้งที่ผู้กระทำความผิดบางรายไม่พอใจในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้มีการสบประมาท ดูถูก อันเป็นการดูหมิ่น เหยียดหยามเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติตามหน้าที่ซึ่งทำให้มีพฤติกรรมเลียนแบบเกิดขึ้นหลายครั้ง นั้น

พล.ต.ต.ยิ่งยศฯ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม เพื่อความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชน ซึ่งอาจสร้างความไม่พอใจต่อผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย จนถึงขั้นด่าทอหรือใช้ถ้อยคำหยาบคาย พูดจาดูหมิ่น เหยียดหยามเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งในหลาย ๆ คดี ศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษไปแล้ว จึงอยากเตือนไปยังผู้ที่กระทำดังกล่าว หรือผู้ที่อาจจะมีพฤติกรรมเลียนแบบว่า อาจมีความผิดตามกฎหมาย

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 136 ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

“บิ๊กโจ๊ก” จับเข่าคุย!! ‘ประมงพื้นบ้าน’ ร่วมต้าน IUU

จากกรณีที่ประเทศไทยได้ถูกลดอันดับการรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์จากทางการสหรัฐฯ ลงเป็นอันดับประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) โดยมีข้อสังเกตในเรื่องการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์อย่างจริงจังในทุกภาคส่วน ปัญหาการบังคับใช้แรงงานและแรงงานข้ามชาติซึ่งเกิดขึ้นในหลายอุตสาหกรรมรวมถึงภาคการประมง รวมทั้งปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ตามที่ทราบแล้ว นั้นจากกรณีดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ                   รองนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และการบังคับใช้แรงงานในภาคการประมง โดยมี พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม เฝ้าระวังการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้แต่งตั้งชุดปฏิบัติการตรวจสอบและเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการประมง เพื่อการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวและประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานที่

ในการนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. จึงได้สั่งการให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการ              ตำรวจแห่งชาติ / ผู้อำนวยการ ศพดส.ตร. และ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ / รองผู้อำนวยการ ศพดส.ตร./ รองประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) โดยเร่งด่วน

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565 พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ/รองประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ได้เดินทางมาพบปะและประสานความร่วมมือกับสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย นำโดย นายสะมะแอ เจ๊ะมูดอ, นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี, นายเจริญ โต๊ะอิแต และพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน ที่กลุ่มอนุรักษ์ประมงพื้นบ้านบ้านในถุง อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ในการต่อต้าน การทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) เพื่อให้การดูแลทรัพยากรทางทะเลมีความยั่งยืน อุดมสมบูรณ์ 

เกี่ยวข้อง

การทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรสัตว์น้ำในเขตทะเลประเทศไทยเป็นอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งเป็นเรือประมงขนาดเล็ก ใช้เครื่องมือประมงประสิทธิภาพต่ำในการจับสัตว์น้ำเพื่อการยังชีพ และจำหน่ายในท้องถิ่นเป็นหลัก มีวิถีการทำประมงที่ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร สามารถพึ่งพาตนเองได้แม้ในยามวิกฤต จนกระทั่งรัฐบาล นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เข้ามาแก้ไขปัญหา IUU โดยสามารถปลดใบเหลืองจากสหภาพยุโรปได้ ผลของการทำงานดังกล่าว ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในเขตชายฝั่งกลับสู่ความอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยในปีพ.ศ.2561 ชาวประมงพื้นบ้านสามารถจับปลาได้ 140,037 ตัน ปี พ.ศ.2562 ได้ 161,462 ตัน, ปีพ.ศ.2563 ได้ 250,622 ตัน และปีพ.ศ.2564 เพียง 9 เดือนแรก (ถึง ก.ย.) ได้ถึง 164,054 ตัน 

อย่างไรก็ตาม ชาวประมงพื้นบ้านยังคงประสบปัญหาการลักลอบเข้ามาทำการประมงในเขตชายฝั่งจากเรือประมงขนาดใหญ่และเรือประมงที่ใช้เครื่องมือประสิทธิภาพสูง เช่น อวนลาก คราดหอย อวนลากคู่ ซึ่งเป็นการทำประมงผิดกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปีพ.ศ.2563 และ 2564 ที่ผ่านมา ชาวประมงพื้นบ้านได้ร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงปัญหาดังกล่าว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขแต่ประการใด นอกจากนั้นยังถูกข่มขู่จากผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ซึ่งเป็นนายทุนเบื้องหลังพฤติกรรมทำประมงผิดกฎหมายเหล่านี้ ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านไม่เชื่อถือการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย โดยในรอบปีพ.ศ.2564 ที่ผ่านมา มีเรือประมงขนาดใหญ่ถูกดำเนินคดีความผิดประมงในทะเลเพียง 10 คดีเท่านั้น 

ในการพบปะครั้งนี้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ได้ให้ความมั่นใจกับชาวประมงพื้นบ้านว่า “ชาวประมงพื้นบ้าน เป็นผู้พิทักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำให้ยั่งยืนและอุดมสมบูรณ์ ผมได้รับข้อมูลและความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมง IUU อย่างดียิ่ง นอกจากเบาะแสของเรือประมงกลุ่มทุนแล้ว ยังรวมถึงการเลือกปฏิบัติ การละเว้นปฏิบัติของเจ้าหน้าที่อีกด้วย เห็นได้จากในรอบปี 2564 ที่ผ่านมา เรือประมงกลุ่มทุนถูกดำเนินคดีทำการประมงผิดกฎหมายในทะเลเพียง 10 คดี ท่านนายกรัฐมนตรี ท่านรองนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับชาวประมงพื้นบ้านมาก และได้กำชับให้ผมเข้ามาแก้ไขปัญหาผู้มีอิทธิพลในทะเล กลุ่มเรือนายทุน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่ “หลับตา” ละเว้นการปฏิบัติ หรือเลือกปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านไม่เชื่อมั่นการทำงานของภาครัฐ ผมได้จัดชุดปฏิบัติการ 4 ชุดระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีความชำนาญ มาเพื่อแก้ไขปัญหาที่พี่น้องเสนอข้อมูลมา ผู้มีอิทธิพล นายทุนประมง เจ้าหน้าที่รัฐที่รู้เห็นเป็นใจ จะต้องไม่มีที่ยืน เบื้องต้นผมได้จัดกำลังลงตรวจเรือประมงที่แจ้งว่า “งดใช้เรือ” ไม่ออกทำประมง และขอปิดเครื่อง VMS จำนวน 620 ลำ แต่มีบางลำลักลอบออกไปทำประมงผิดกฎหมาย หรือขนของเถื่อน ขนของหนีภาษี รวมถึงค้ามนุษย์ เรือประมงเหล่านี้ ลำไหน “จอดไม่ตรงจุดที่แจ้ง ไปตรวจแล้วไม่มีเรือ” ดำเนินคดีทุกลำพร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ด้วย ผมไม่ได้ทำงานเพราะเอาใจ EU แต่ตั้งใจมาทำงานนี้เพราะอยากให้ทรัพยากรสัตว์น้ำของเราอุดมสมบูรณ์ยั่งยืนไปชั่วลูกหลาน และขอขอบคุณที่พี่น้องประมงพื้นบ้านที่มาผนึกกำลังกับภาครัฐในการต่อต้านประมง IUU”

​​​​​​​

ตั้งสติ!! “ห้ามโอนเงินโดยเด็ดขาด” โฆษก ตร. เตือนภัยออนไลน์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกโอนเงิน

13 ม.ค.65 พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ในห้วงเวลาปัจจุบัน ได้มีแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงพี่น้องประชาชนในหลายรูปแบบ อาทิเช่น หลอกว่าได้รับรางวัล หลอกว่าเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด หรือปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ แล้วให้เพิ่มเพื่อนผ่านแอปพลิเคชันไลน์ โดยปลอมเป็นไลน์ของสถานีตำรวจ เพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว หรือหลอกให้หลงเชื่อว่าทำผิดกฎหมายเพื่อโอนเงินแลกกับการไม่ดำเนินคดี ซึ่งในขั้นตอนสุดท้ายมิจฉาชีพจะโน้มน้าวให้ “โอนเงิน” ด้วยเหตุผลต่าง ๆ นั้น  ขอให้ท่านตั้งสติ และห้ามโอนเงินเด็ดขาด

พล.ต.ต.ยิ่งยศฯ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จากภัยร้ายทางโลกออนไลน์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีความมุ่งมั่นที่จะปราบปรามอย่างจริงจัง จึงได้ตั้ง ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) เพื่อปฏิบัติภารกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องดังกล่าว อย่างเข้มงวด เพื่อลดความสูญเสียทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน โดยมี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็น ผู้อำนวยการศูนย์ฯ

โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวต่อว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ฯ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มีนโยบายให้ประชาสัมพันธ์เตือนภัย และให้ความรู้กับพี่น้องประชาชน เพื่อให้รู้เท่าทันมิจฉาชีพ เสมือนเป็นวัคซีนเพื่อป้องกันภัยร้ายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (Cyber Vaccinated) และได้กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ปฏิบัติหน้าที่กวาดล้างมิจฉาชีพอย่างเข้มข้น รวดเร็ว เพื่อไม่ให้พี่น้องประชาชนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพอีกต่อไป จึงอยากขอเน้นย้ำกับพี่น้องประชาชนว่า หากท่านพบว่ามีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และดำเนินการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ให้สันนิษฐานว่าเป็นมิจฉาชีพ ขอให้ท่านตั้งสติ และห้ามโอนเงินโดยเด็ดขาด

 

โฆษก ตร.ห่วงใย! ใช้รถ - ใช้ถนน - ไม่บรรทุกสิ่งของ ความสูงเกินกฎหมายกำหนด "สุดอันตราย" วอนคำนึง "ความปลอดภัย" เพื่อนร่วมทาง

17 ม.ค.65 พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า จากกรณีที่มีการแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์ ปรากฏภาพรถยนต์เปิดฝากระโปรงท้าย แล้วบรรทุกถังน้ำขนาดใหญ่ไว้ท้ายรถโดยมีเชือกพันไว้กับตัวรถ นั้น

พล.ต.ต.ยิ่งยศฯ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยและคำนึงถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้สั่งการกำชับไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศหากพบการกระทำผิดกฎหมาย ให้ดำเนินคดีอย่างเข้มงวดรวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนมีความปลอดภัยอย่างสูงสุด

โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการกวดขันจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายจราจรอย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้รถใช้ถนน และด้วยความห่วงใยอยากจะฝากถึงผู้ที่ใช้รถยนต์บรรทุกสิ่งของ หากมีสิ่งของขนาดใหญ่เกินกว่าตัวรถแล้ว ขอให้ปรับเปลี่ยนหรือใช้รถให้ถูกประเภท เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเองและผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน ซึ่งหากใช้รถยนต์บรรทุกสิ่งของเกินตัวรถมากกว่าที่กฎหมายกำหนด อาจเป็นความผิดตามกฎหมาย 

พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522

มาตรา 18 รถที่ใช้บรรทุกคน สัตว์ หรือสิ่งของ จะใช้บรรทุกในลักษณะใดโดยรถชนิดหรือประเภทใด ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

กฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522

ข้อ 1 รถโรงเรียน รถบรรทุก หรือรถบรรทุกคนโดยสาร บรรทุกของได้ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(3) สำหรับส่วนสูง

(ก) ในกรณีที่เป็นรถบรรทุก รถม้าสี่ล้อบรรทุกของ หรือเกวียน ให้บรรทุกสูงไม่เกิน 3.00 เมตร จากพื้นทาง

(ข) ในกรณีที่เป็นรถอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (ก) ให้บรรทุกสูงไม่เกิน 1.50 เมตร

(ค) ในกรณีที่เป็นรถชนิดที่ผู้ขับขี่อยู่หลังตัวรถ ให้บรรทุกสูงไม่เกินระดับที่ผู้ขับขี่มองเห็นพื้นทางข้างหน้าได้ในระยะตั้งแต่ 3.00 เมตร จากรถ หรือน้อยกว่า

มาตรา 150 ผู้ใด (3) ไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 18 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

 

‘สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ เตือนภัย!! แนะนำผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลาน เรื่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอปพลิเคชันหาคู่ อาจเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อ ถูกมิจฉาชีพหลอกลวง

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยจากแอฟพลิเคชันหาคู่ แนะนำผู้ปกครองควรดูแลการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเสี่ยงถูกมิจฉาชีพล่อลวงสร้างความเสียหายในหลายรูปแบบ

ในปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีบทบาทช่วยให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงเรื่องการหาคู่ก็เช่นกัน  จึงมีผู้คิดค้นแอปพลิเคชันหาคู่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และมีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่   ซึ่งแอปพลิเคชันหาคู่ที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมใช้กัน ได้แก่  Tinder ,Omi ,Bumble เป็นต้น แอปพลิเคชันเหล่านี้จะช่วยจับคู่หนุ่มสาวที่มีความชอบคล้ายๆกัน ให้ได้พูดคุยกันได้ง่ายมากยิ่งขึ้น แต่เหรียญก็มักจะมีทั้ง 2 ด้านเสมอ กลุ่มมิจฉาชีพมักใช้โอกาสจากช่องทางนี้ในการหลอกล่อเหยื่อเช่นกัน ซึ่งช่วงที่ผ่านมาได้เกิดเหตุในลักษณะดังกล่าวขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่เหยื่อเป็นเด็กและเยาวชน   ตามที่ปรากฎบนสื่อสังคมออนไลน์และสื่ออื่นๆ หากรูปแบบการกระทำความผิดในลักษณะนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ อาจจะพัฒนาจนเป็นการค้ามนุษย์และสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างมากขึ้นได้

ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ม.ค. 65 ในพื้นที่ จว.เชียงใหม่ ได้มีเด็กหญิงอายุ 14 ปี หายตัวไป จนผู้ปกครองได้เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน และได้ทำการติดตามค้นหาจนเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 65 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พบเด็กหญิงคนดังกล่าวอยู่กับชายอายุ 18 ปี ซึ่งทั้งสองได้พูดคุยกันผ่านแอพพลิเคชัน Litmatch และได้มีการนัดเจอกัน ซึ่งเป็นเหตุให้เด็กหญิงคนดังกล่าวหายตัวไป ต่อมาทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมชายคนดังกล่าวพร้อมกับแจ้งข้อกล่าวหา กระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีฯ และ พรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีไปจากบิดามารดาฯ ก่อนจะนำตัวส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป

และในกรณีเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 64 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ร่วมกันจับกุมตัวชายอายุ 28 ปี ในข้อหา รีดเอาทรัพย์,กรรโชกทรัพย์,    ทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ,ทำให้ผู้อื่นเกิดความหวาดกลัวหรือตกใจโดยการขู่เข็ญ สืบเนื่องจากได้รับแจ้งจากหญิงสาวหลายรายว่าได้รู้จักกับผู้ต้องหาผ่านแอปพลิเคชันหาคู่ชื่อดังก่อนจะนัดหมายเจอกัน จากนั้นก็ออกอุบายตีสนิท เมื่อคบหากันก็ได้ถ่ายคลิปตอนมีเพศสัมพันธ์ พอผ่านไปสักระยะก็จะขอยืมเงิน หากไม่ยินยอมให้ ก็จะขู่เผยแพร่คลิปดังกล่าว เมื่อฝ่ายหญิงขอเลิกผู้ต้องหาก็จะขอค่าเลิกเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท จะเห็นได้ว่าอันตรายไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงกับเด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกๆคน

ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการใช้บริการแอปพลิเคชันหาคู่ให้มากยิ่งขึ้น นอกจากมีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกล่อลวงไปกระทำชำเราแล้ว การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ก็เสี่ยงต่อการถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางที่ผิด หรืออาจถูกนำไปขายต่อบน Dark Web และนำไปใช้ในการกระทำความผิด ทำให้ท่านอาจตกเป็นผู้ต้องหา โดยท่านไม่รู้ตัวก็เป็นได้

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้กำชับและสั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย ในการป้องกันภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บช.สอท.) และ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) ให้เร่งสร้างการรับรู้ให้กับพี่น้องประชาชน ทราบถึงพิษภัยและรูปแบบการกระทำความผิดต่างๆ พร้อมเร่งทำการสืบสวนปราบปรามจับกุม  ผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี เพื่อเป็นการจำกัดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นและตัดโอกาสในการกระทำความผิดอย่างจริงจังต่อเนื่องโดยให้มีผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอฝากเตือนภัยและประชาสัมพันธ์แนะนำผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลาน            ถึงแนวทางการป้องกันหลีกเลี่ยงการถูกล่อลวงผ่านแอปพลิเคชั่นหาคู่ ดังนี้

1.ควรระมัดระวังในการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ไม่บอกข้อมูลทั้งหมดกับคนที่เพิ่งรู้จัก เมื่อใช้บริการแอปพลิเคชั่นหาคู่ออนไลน์ต่าง ๆ

2.ไม่ควรหลงเชื่อ หรือไว้ใจบุคคลใดง่าย ๆ หากมีความจำเป็นต้องนัดเจอควรมีเพื่อนหรือผู้ปกครองไปด้วยเพื่อความปลอดภัย

3.ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้ใช้สื่อสังคมออนไลน์หรือโทรศัพท์มือถือเพียงลำพัง, ควรพูดคุยทำความเข้าใจถึงขอบเขตการใช้งานว่าแอปพลิเคชั่นไหนใช้ได้บ้างหรือแอปพลิเคชั่นใดควรหลีกเลี่ยง, หมั่นเช็คประวัติการใช้งานอินเทอร์เน็ตหรือแอปพลิเคชั่นของบุตรหลานว่ามีการใช้งานที่ไม่เหมาะสมหรือมีการพูดคุยกับคนแปลกหน้าหรือไม่

4.พึงระลึกไว้เสมอว่า อะไรที่ดีเกินไป เร็วเกินไป มักจะลงเอยไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นโดยง่ายผ่านสื่อสังคมออนไลน์และขอให้เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นอุทาหรณ์ให้ระมัดระวังในเรื่องการมีความสัมพันธ์ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์หรือ Chat Application ในรูปแบบต่าง ๆ

 

ตร.แนะนำ แนวทาง “3 ไม่ 1 ควร” และชวนประชาชนร่วมเป็นเครือข่ายให้ข้อมูล ช่วยกำจัด ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’!!

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำชับให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะขึ้นแก่ประชาชน โดยเฉพาะการสูญเสียทรัพย์สินจากการถูกหลอกลวง โดยให้มีการบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัดและหากพบผู้กระทำความผิดจะต้องดำเนินคดีตามกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้น นั้น

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอประชาสัมพันธ์พี่น้องประชาชน ถึงแนวทาง “3 ไม่ 1 ควร” ซึ่งเป็นสิ่งที่จะช่วยป้องกันการถูกหลอกลวง และช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาชญากร เพื่อกำจัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่สร้างปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน ดังนี้

1. “ไม่ตกใจ” หากมีแจ้งว่าท่านหรือบุคคลในครอบครัวเกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือเกี่ยวกับการฟอกเงิน และท่านอาจถูกดำเนินคดี อย่าเพิ่งตกใจ ให้ตั้งสติให้ดี และระมัดระวังในการสนทนากับบุคคลดังกล่าว เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่าจะไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐจริง

2“ไม่เชื่อ” หากได้รับสายจากบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือองค์กรต่าง ๆ ให้สอบถามก่อนว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานใด มี ยศ ชื่อ-สกุล และตำแหน่งใด ถ้าหากมีพฤติกรรมที่น่าสงสัยควรสอบถามไปที่หน่วยงานดังกล่าวโดยตรง

3. “ไม่โอน” หากมีการอ้างว่า ต้องให้ท่านโอนเงินเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ห้ามโอนเงินให้เด็ดขาด เพราะเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีทางที่จะขอให้ท่านโอนเงินมาให้ตรวจสอบแน่นอน

4. “ควรแจ้งเจ้าหน้าที่” หากท่านได้รับสายที่น่าเชื่อว่าเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงพี่น้องประชาชน ควรแจ้งเบาะแสของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่โทรศัพท์มาหาท่านให้กับเจ้าหน้าที่ทราบ โดยเฉพาะเบาะแสเกี่ยวกับช่องทางการติดต่อ เช่นหมายเลขโทรศัพท์ และหมายเลขบัญชีธนาคาร เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถระงับหรืออายัดบัญชีธนาคารของคนร้ายและสามารถติดตามตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีได้อย่างรวดเร็ว

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์  กล่าวต่อไปอีกว่า ในขณะนี้มิจฉาชีพเหล่านี้ได้สร้างเดือดร้อน และความเสียหายให้กับพี่น้องประชาชนชาวไทยเป็นจำนวนมาก และมีการพัฒนาการหลอกลวงไปในหลายรูปแบบ สำหรับแนวทาง “3 ไม่ 1 ควร” เป็นเน้นและย้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อของแก๊งมิจฉาชีพ  

‘สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ ขอแสดงความเสียใจ รองสารวัตรสืบสวน สภ.หนองปลิง พลีชีพ! ระงับเหตุคนร้ายคลุ้มคลั่งใช้อาวุธปืนยิงผู้อื่น เตรียมปูนบำเหน็จ ดูแลสวัสดิการอย่างดีที่สุด!!

พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า เมื่อวันที่ 19 ม.ค.65 ได้เกิดเหตุการณ์อันน่าสลดใจเกิดขึ้น มีข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อพี่น้องประชาชนเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งเหตุมีคนร้ายคลุ้มคลั่งใช้อาวุธปืนยิงผู้อื่น ชุดสืบสวน สภ.หนองปลิง ตำรวจภูธรจังหวัดนครสวรรค์ จึงได้ออกติดตามคนร้ายผู้ก่อเหตุ แต่เมื่อถึงที่เกิดเหตุแล้วคนร้ายได้คลุ้มคลั่งยิงใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่งผลให้ ร.ต.อ.ชัยปติณญา แสงปาน รองสารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจภูธรหนองปลิง ถูกยิงได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัวคนร้ายไว้แล้ว และจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

พล.ต.ต.ยิ่งยศฯ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขอสดุดีวีรกรรมของ ร.ต.อ.ชัยปติณญา แสงปาน รองสารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจภูธรหนองปลิง ตำรวจภูธรจังหวัดนครสวรรค์ ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์ด้วยความตั้งใจ เสียสละ จนวาระสุดท้ายของชีวิต จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้กำชับไปยังผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ของ ร.ต.อ.ชัยปติณญาฯ ให้ดูแลสวัสดิการของครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างรวดเร็วและดีที่สุด

โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวต่อว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะพิจารณาการปูนบำเหน็จความชอบและดูแลในเรื่องของเงินสวัสดิการอย่างเต็มที่ รวมถึงเงินสวัสดิการของต้นสังกัด และสวัสดิการอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้เสียสละ และให้กำลังใจครอบครัวที่ได้รับความสูญเสียจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันดังกล่าวนี้ โดยในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ และผู้ได้รับเงินเยียวยาสามารถตรวจสอบข้อมูลสวัสดิการเพิ่มเติมได้ที่ แอปพลิเคชันแทนใจ 

“ตัดวงจรร้าย - วางสายทันที” รู้ทัน! คอลเซ็นเตอร์หลอกขอข้อมูลส่วนตัว ด้วยความห่วงใยจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า ในห้วงปัจจุบันได้มีมิจฉาชีพในรูปแบบของแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องในหลายรูปแบบ เช่น หลอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลอกว่าเป็นพนักงานส่งสินค้า หลอกว่าพัสดุของท่านไม่สามารถส่งได้ หรือใช้คำถามลวงขอทราบเลขพัสดุทำให้ผู้รับสายเกิดความสับสน และทำให้เชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริงเพื่อหลอกขอข้อมูลส่วนตัว เลขบัญชีธนาคาร หรือเลขบัตรประชาชน จนกระทั่งนำไปสู่การโน้มน้าวให้โอนเงินไปยังบัญชีของมิจฉาชีพ นั้น 

พล.ต.ต.ยิ่งยศฯ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จากมิจฉาชีพในรูปแบบคอลเซ็นเตอร์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องพล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีความมุ่งมั่นที่จะปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างจริงจัง จึงได้ตั้ง ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) เพื่อปฏิบัติภารกิจกวาดล้างอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือภัยร้ายทางโลกออนไลน์อย่างเข้มงวด เพื่อลดความสูญเสียทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน โดยมี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็น ผู้อำนวยการศูนย์ฯ

โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวต่อว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ฯ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มีนโยบายให้ประชาสัมพันธ์เตือนภัย และให้ความรู้กับพี่น้องประชาชน เพื่อให้รู้เท่าทันมิจฉาชีพเสมือนเป็นวัคซีนเพื่อป้องกันภัยร้ายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (Cyber Vaccinated) และได้กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ปฏิบัติหน้าที่กวาดล้างมิจฉาชีพอย่างเข้มข้น รวดเร็ว เพื่อไม่ให้พี่น้องประชาชนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพอีกต่อไป จึงอยากขอเน้นย้ำกับพี่น้องประชาชนว่า หากท่านรับสายโทรศัพท์จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่พยายามขอให้บอกข้อมูลส่วนตัว หรือขอให้โอนเงินทางโทรศัพท์ "ขอให้ท่านสันนิษฐานว่าเป็นมิจฉาชีพ และวางสายโดยทันที" เพื่อลดความเสี่ยงในการถูกมิจฉาชีพหลอกลวง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top