Friday, 9 May 2025
WORLD

ถกงานเขียน 'อกาธา คริสตี' ที่ควรต้องถูกปรับใหม่ หลังหลายประโยคดูเชยๆ และดูหมิ่นเหยียดหยาม

ไม่นานมานี้ เพิ่งมีการถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนว่า หนังสือเด็ก ‘Charlie and the Chocolate Factory’ (ชื่อเล่มภาษาไทย: โรงงานช็อกโกแลตมหัศจรรย์, สำนักพิมพ์ผีเสื้อ) ของโรอัลด์ ดาห์ล ควรได้รับการแก้ไขเพื่อผู้อ่านวัยเยาว์ยุคปัจจุบันหรือไม่ เพื่อลบล้างหรือลดทอนคำและถ้อยความที่ตอนนี้ถูกมองว่ารุนแรงหรือก้าวร้าวเกินไป ส่วนใหญ่เกี่ยวกับคำซึ่งแสดงการเหยียดผิว การด้อยค่าดูแคลน และการพรรณนาถึงความรุนแรง แต่ทว่าสำนักพิมพ์ควร หรือได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนแปลงวรรณกรรมคลาสสิกหรือไม่ นี่ยังคงเป็นคำถามที่ดูเหมือนจะไม่มีคำตอบที่น่าเชื่อถือได้

ตอนนี้การถกเถียงที่คล้ายกันกำลังปะทุขึ้นอีกครั้งกับผลงานของอกาธา คริสตี-ราชินีแห่งอาชญากรรม นักเขียนอังกฤษมีผลงานนวนิยายตีพิมพ์จำนวน 66 เล่มตลอดช่วงชีวิตของเธอ และเป็นผู้ชุบชีวิตนักสืบชื่อดังอย่าง มิสมาร์เปิล และเฮอร์คูล ปัวโรต์ เธอเป็นหนึ่งในนักเขียนที่ประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมมากที่สุดมานานหลายทศวรรษ หนังสือของเธอได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากกว่า 100 ภาษา และหลายเล่มได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ จะว่าเธอเป็นนักเขียนเหยียดเชื้อชาติ-สีผิวคงไม่ได้ เพราะเธอใช้ชีวิตและเขียนหนังสือในช่วงเวลาที่ผู้คนจำนวนมากมีมุมมองต่อโลกแปลกปลอมภายนอกแตกต่างจากผู้คนในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้เธอมักจะใช้ตัวละครคลิเช คร่ำครึ และจมอยู่กับอคติในยุคสมัยของเธอ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่หนังสือของคริสตีถูกปรับเปลี่ยนภาษา ด้วยเหตุผลของ “ความถูกต้องทางการเมือง” นวนิยายระทึกขวัญแนวจิตวิทยา ‘Ten Little Niggers‘ ซึ่งมีชื่อมาจากเพลงกล่องเด็กโบราณ และเป็นคำปกติทั่วไปในปี 1939 แต่กลับกลายเป็นชื่อน่ารังเกียจสำหรับผู้อ่านในอีกไม่กี่ปีต่อมา เมื่อตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาปี 1940 จึงมีการเปลี่ยนชื่อปกเป็น ‘And Then There Were None’ ซึ่งเป็นห้าคำสุดท้ายของบทเพลง

‘ดิสนีย์’ ประกาศปลดพนักงานครั้งใหญ่ 7,000 คน หลังกำไรธุรกิจสตรีมมิ่งไม่ปังตามเป้า

ดิสนีย์ประกาศปลดพนักงาน 7,000 คน เพื่อควบคุมต้นทุนให้เกิดสภาพคล่องมากขึ้นในธุรกิจ หลังดิสนีย์ เข้าไปลงแข่งในวงการสตรีมมิ่ง และทำกำไรไม่ได้ตามเป้า 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บ็อบ ไอเกอร์ CEO ของวอลท์ ดิสนีย์ (Walt “Disney”) ออกจดหมายถึงพนักงานว่า ดิสนีย์ประกาศการปลดพนักงานจำนวน 7,000 คน โดยจะเริ่มแจ้งพนักงานกลุ่มแรกในอีก 4 วันข้างหน้า ส่วนในรอบที่ 2 ซึ่งจะเป็นการประกาศครั้งใหญ่จำนวนหลายพันคน จะมีในเดือนเมษายน

และรอบสุดท้ายจะประกาศก่อนช่วงฤดูร้อน ทั้งนี้ การประกาศดังกล่าว เป็นการตัดสินใจยากลำบากของบริษัท เนื่องจาก พนักงานหลายคนเลือกมาทำงานที่นี่ ด้วยความหลงใหลในดิสนีย์ที่มีมาตลอดชีวิต

เบื้องลึกกองกำลังประชาชนแห่งเมียนมา ไทย…'ผู้รับบุญ' หรือ 'แพะรับบาป'

ไทยเราได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ให้การดูแลชาวต่างชาติที่หนีร้อนมาพึ่งเย็นมาช้านานแล้ว

แต่หากนับในยุคปัจจุบันในรัชสมัยของพ่อหลวงล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ก็มี 'เหตุการณ์ที่ท่าแขก' หรือ 'วันท่าแขกแตก' ซึ่งเป็นกลุ่มชาวเวียดนามที่ทางการไทยเรียกว่า 'ญวนอพยพ' การหนีข้ามแม่น้ำโขงจากฝั่งลาวมาฝั่งไทยครั้งนี้เป็นการหนีการปราบปรามของกองกำลังฝรั่งเศสจากเวียงจันทน์ สะหวันเขตและท่าแขก แขวงคำม่วน มายังหนองคาย มุกดาหาร 

จาก 'เหตุการณ์ที่ท่าแขก' ในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2489 ครั้งนั้น นับเป็นการอพยพครั้งใหญ่ของชาวเวียดนามมายังไทย ทำให้ชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ที่ท่าแขกได้หนีข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งไทยประมาณ 50,000 คน รวมทั้งชาวลาวอีก 4,000 คน โดยชาวเวียดนามเกือบทั้งหมดยังคงลี้ภัยและพำนักอาศัยอยู่ในภาคอีสานของไทยต่อมาจวบจนปัจจุบัน หรือจะเหตุการณ์ที่คอมมิสนิสต์มีชัยในดินแดนอินโดจีนในช่วงประมาณปี 2517 ก็มีชาวเวียดนาม ลาว เขมรจำนวนไม่น้อยที่เดินทางมาลี้ภัยในประเทศไทย และไทยก็เปิดศูนย์รับผู้ลี้ภัยเพื่อรอวันที่พวกเขาเหล่านั้นเดินทางกลับ  และอีกหลายคนก็เลือกที่จะใช้ชีวิตในไทย

>> สงครามกะเหรี่ยงกับภาระของไทย
สงครามระหว่างกะเหรี่ยงกับกองทัพเมียนมามีมาตั้งแต่ปี 2492 โดยรัฐบาลไทยเคยใช้รัฐกะเหรี่ยงเป็นรัฐกันชนกับพม่า ซึ่งหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยเกรงภัยจากคอมมิวนิสต์ที่ได้ตั้งพรรคทั้งในไทยและเมียนมาหรือพม่าในขณะนั้น ที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน ไทยและสหรัฐฯ ที่สนับสนุนกบฏกะเหรี่ยง และในช่วง พ.ศ. 2503 – 2533 สหรัฐฯ ยังให้การสนับสนุนรัฐบาลเมียนมาในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ด้วย 

โบเมียะกล่าวว่า รัฐกะเหรี่ยงเป็นรัฐกันชนที่ไม่ให้คอมมิวนิสต์ในไทยและเมียนมารวมตัวกัน นโยบายของรัฐไทยเปลี่ยนไปในช่วง พ.ศ. 2533 เมื่อเมียนมาได้เป็นสมาชิกอาเซียนใน พ.ศ. 2540 ไทยจึงได้ยุติการให้ความช่วยเหลือกองกำลังกะเหรี่ยง ในแง่ของผู้อพยพจากสงครามพบว่ามีชาวกะเหรี่ยงเริ่มอพยพเข้าสู่ไทยใน พ.ศ. 2527 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงได้ประโยชน์จากค่ายผู้อพยพในไทยในฐานะเป็นที่หลบภัยและเป็นแหล่งสนับสนุนอาหารและวัสดุอื่นๆ ผ่านสมาชิกในครอบครัวที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย มีชาวกะเหรี่ยงราว 2 แสนคนอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมามีชาวกะเหรี่ยง 73,775 คน  และเมื่อหลังจากการปฎิวัติชาวกะเหรี่ยงและเมียนมาอีกจำนวนไม่น้อยที่อพยพมาตามชายแดน ซึ่งนี่ไม่รวมถึงผู้ที่ข้ามแดนมาอย่างผิดกฎหมาย

ในวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 14 อ.แม่สอด, กองกำลังนเรศวร, เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง จ.ตาก และฝ่ายปกครอง อ.แม่สอด พร้อมหน่วยข่าวด้านความมั่นคงนำกำลังเข้าควบคุม อาคารพาณิชย์ 4 ชั้น เกือบ 40 คูหา ย่านชุมชนหนาแน่น ถนนตาลเดี่ยว ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก

หลังจากสืบทราบว่ามีกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา กลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะ PDF ซึ่งหนีข้ามมาจากฝังเมียนมาเข้ามาเช่าบ้านหลบอาศัยอยู่ในพื้นที่แม่สอดกันอย่างอิสระจำนวนมาก เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยมีรายงานว่ามีชาวต่างชาติ และองค์กรระหว่างประเทศเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยเมื่อตรวจค้นภายในอาคารพบสัมภาระทางทหาร อุปกรณ์ทางทหาร เครื่องแบบทหาร โลโก้หน่วยทหารกลุ่มต่อต้านต่างๆ รวมทั้งโดรนขนาดต่างๆ อุปกรณ์ควบคุม อุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่สำคัญพบกระสุนปืนจำนวนหนึ่ง 

ชาวมุสลิมเชื้อสายปากีฯ คนแรกในประวัติศาสตร์ เตรียมนั่งแท่นนายกรัฐมนตรีของสกอตแลนด์

หลังจากที่อังกฤษเพิ่งได้ ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีคนล่าสุดที่มีเชื้อสายอินเดียคนแรกไปแล้ว คราวนี้ ที่สกอตแลนด์ ก็กำลังจะได้ผู้นำที่มีพื้นเพเป็นชาวเอเชียอีกคน นั่นคือ 'ฮัมซา ยูซาฟ' นักการเมืองดาวรุ่งวัยเพียง 37 ปี เชื้อสายปากีสถาน หลังคว้าชัยการเลือกตั้งผู้นำคนใหม่ของพรรคชาติสกอต (SNP) ซึ่งเป็นพรรคแกนนำหลักของรัฐบาลสกอตแลนด์ 

และทำให้นาย ฮัมซา ยูซาฟ ขึ้นแท่นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสกอตแลนด์ ต่อจาก นิโคลา สเตอร์เจียน อดีตหัวหน้าพรรค SNP และผู้นำสกอตแลนด์ ที่เพิ่งลาออกไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาหลังจากดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนานกว่า 8 ปี

ฮัมซา ยูซาฟ เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งที่สนับสนุน นิโคลา สเตอร์เจียนมาโดยตลอด โดยเฉพาะนโยบายการพาชาติสกอตแลนด์เป็นเอกราช ไม่รวมเป็นส่วนหนึ่งกับสหราชอาณาจักรอีกต่อไป และเขาได้ให้คำมั่นสัญญาว่า หากได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาจะผลักดันให้สกอตแลนด์เป็นเอกราชให้สำเร็จ แต่ทั้งนี้ ฮัมซา ยูซาฟ ไม่ได้ระบุว่าหมายถึงการจัดลงประชามติเพื่อขอแยกตัวจากสหราชอาณาจักรเป็นครั้งที่ 2 หรือไม่

ฮัมซา ยูซาฟ เกิดและเติบโตที่เมืองกลาสโกว์ ของสกอตแลนด์ บิดาของเขาเป็นชาวปัญจาบ จากปากีสถาน มารดาเป็นชาวเคนยา ทั้งคู่ย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากในสกอตแลนด์ โดยบิดาของยูซาฟ ทำงานเป็นนักบัญชี และพยายามส่งเสริมให้เขาได้เรียนโรงเรียนชั้นดี อย่าง Hutchesons' Grammar School หนึ่งในโรงเรียนเอกชนที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงมาก โดยหวังให้เขาเลือกเรียนสายวิชาชีพระดับสูง เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ หรือนักบัญชีอย่างบิดา

แต่จุดเปลี่ยนในชีวิตของ ฮัมซา ยูซาฟ เกิดขึ้นในวันที่สหรัฐอเมริกาถูกก่อวินาศกรรมในเหตุการณ์ 9/11 เขาถูกเพื่อนร่วมโรงเรียนมองเขาในสายตาที่เปลี่ยนไป และเข้ามาเค้นหาคำตอบจากเขาว่าทำไมชาวมุสลิมถึงเกลียดได้สหรัฐอเมริกาขนาดนี้

จากวันนั้นทำให้เขาหันมาสนใจการเมืองอย่างมาก และเลือกเรียนสาขารัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ทำกิจกรรมด้านสังคมมาโดยตลอด เป็นประธานสมาคมนักศึกษามุสลิม และยังเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรค SNP ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา

ทั่วโลกจับตาเศรษฐกิจ ‘พญามังกร’ ฟื้นตัว ความหวังท่ามกลางความผันผวนรอบด้าน

(28 มี.ค.66) จากที่ World Maker ได้รายงานไปว่าทาง IMF ออกมาเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านการเงินโลกที่อยู่ในระดับสูงเป็นพิเศษ และมองว่าจีนจะกลายเป็นความหวังในการพยุงเศรษฐกิจโลกในปี 2023 นี้ ! ซึ่งล่าสุดก็มีรายงานออกมาอีกว่าตอนนี้รัฐบาลจีนกำลังกู้ยืมเงินในอัตราที่เร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์เพื่อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ!

จำนวนพันธบัตรที่รัฐบาลจีนออกขายในไตรมาสแรกของปี 2023 (กู้ยืมเงินจากการระดมทุน) มีมูลค่าอย่างน้อย 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1997 ที่เริ่มเก็บข้อมูลมาเลยทีเดียว คิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง +35% จากปี 2022

ซึ่งทางรัฐบาลจีนเองก็ประกาศแผนงบประมาณปี 2023 ว่าจะกู้ยืมเงินเพิ่มประมาณ +20% จากปีที่แล้ว โดยจะนำเงินเหล่านี้มาช่วยหนุนเศรษฐกิจในภาคท้องถิ่นให้สามารถจัดการกับความตึงเครียดด้านสภาพคล่องได้ และยังมีแผนขยายการลงทุนเชิงโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ เช่น การปรับปรุงระบบระบายน้ำ-สาธารณูปโภคในเมืองต่าง ๆ

เป้าหมาย GDP ของจีนถูกตั้งไว้ราว +5% ในปีนี้ สอดคล้องกับคาดการณ์ของ IMF ที่ราว +5.2% ซึ่งหากจีนทำได้ตามเป้าก็จะถือเป็น 1 ในเสาหลักที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ท่ามกลางความตึงเครียดในสหรัฐฯ ที่เกิดจากภาวะดอกเบี้ยสูงและวิกฤตต่าง ๆ เช่น Bank Run

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการฟื้นตัวในไตรมาสแรกของจีนจะอ่อนแอกว่าที่คาดหวังเอาไว้ไม่มากก็น้อย เนื่องจากผลกำไรภาคอุตสาหกรรมในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ร่วงลงถึง -22.9% เมื่อเทียบจากปี 2022 แม้ว่าการผลิตใน Sector นี้จะดีดตัวขึ้นจากการที่จีนเริ่มเปิดประเทศอีกครั้ง

การลดลงของรายได้นี้ อยู่ในระดับที่รุนแรงกว่าการลดลงของต้นทุน ซึ่งจะส่งผลต่อ 'อัตรากำไรขั้นต้น' ของบริษัทต่าง ๆ และชี้ให้เห็นว่า Demand ทางเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังไม่ได้กลับมาเร็วอย่างที่คาดหวัง ดังนั้นต่อให้การผลิตดีดตัวสูงขึ้น แต่ถ้าไม่มีการบริโภคก็จะไม่มีความหมายเลยต่อเศรษฐกิจ กลับกันอาจกลายเป็นแย่ยิ่งกว่าเดิม

นั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ IMF แนะนำให้จีนส่งเสริมภาคการบริโภคของประเทศ โดยตอนนี้บริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจในจีนดูเหมือนจะได้รับผลกระทบหนักสุดเพราะผลกำไรร่วงลง -35.7% ในช่วง 2 เดือนแรกของปี เทียบกับค่าเฉลี่ยทั้งประเทศที่ -9.5% ในขณะที่กำไรของบริษัทเอกชนจีนลดลง -19.9% และรัฐวิสาหกิจลดลง -17.5%

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อในผู้ผลิต (PPI -1.4%) และผู้บริโภค (CPI 1%) ของจีนก็ยังอยู่ในระดับต่ำมากทีเดียว โดยเฉพาะ PPI ที่ติดลบหรืออยู่ในภาวะเงินฝืด หมายความว่าต้นทุนการผลิตสินค้าต่าง ๆ ลดลง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง และโรงงานบางแห่งก็ได้ปรับลดราคาขาย ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้และกำไรที่ลดลงด้วย (ค่อนข้างดีต่อผู้บริโภค แต่ในแง่ของตัวเลขทางเศรษฐกิจและการเติบโตก็จะลดลงไปด้วย)

สาเหตุหนึ่งที่บริษัทต่าง ๆ ไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้นั้น เป็นเพราะว่า Demand ไม่ได้อยู่ในช่วงขยายตัวอย่างรวดเร็ว ดังนั้นหากขึ้นราคาสินค้าตอนนี้ก็จะกลายเป็นการลด Demand ลงอีก ซึ่งไม่ใช่คำตอบสำหรับบริษัทต่าง ๆ ในประเทศจีน

ดังนั้นจึงชัดเจนว่าปัญหาหลักคือจีนจะทำอย่างไรให้การบริโภคฟื้นตัว ? จะเรียกความเชื่อมั่นของตลาดกลับมาได้อย่างไร ? ยิ่งไปกว่านั้น อัตราว่างงานของจีนตอนนี้ยังอยู่ในระดับสูงและการลงทุนในภาคอสังหาฯ ซึ่งคิดเป็นราว 25% ของ GDP ก็ยังตกต่ำจากวิกฤตที่เกิดขึ้นซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นหดหายไปอย่างมาก

Maersk หนึ่งในบริษัทขนส่งสินค้ายักษ์ใหญ่ที่สุดในโลก ก็ได้ออกมาเตือนว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนในตอนนี้อ่อนแอกว่าที่เคยคาดเอาไว้ โดยชี้ไปที่เหตุผลเดียวกันคือผู้บริโภคยังอยู่ในภาวะช็อก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจนั้นมีหลายมิติ ไม่ใช่แค่ว่าการผลิตฟื้นตัวแล้วจะแปลว่าเศรษฐกิจฟื้นตัว แต่ต้องมีการสนับสนุนผู้บริโภคควบคู่กันไปด้วย

ที่สำคัญคือเงินออมราว 70% ของจีนอยู่ในภาคอสังหาฯ ที่ยังคงตกต่ำและได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นเราคงพอจะเข้าใจเหตุผลว่าทำไมในปีนนี้รัฐบาลจีนประกาศว่าจะเริ่มกลับมาหนุนภาคการเงินและอสังหาฯ

ขณะเดียวกัน นักลงทุนต่างชาติและตลาดหุ้นของจีนก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงไม่ต่างจาก Real Estate ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากราคาหุ้นยักษ์ใหญ่หลายตัวของจีนร่วงลงมากกว่า -50% ไม่ว่าจะเป็น Alibaba, Tencent และอื่น ๆ พร้อมกับความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นจากสงครามยูเครนและความตึงเครียดกับสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ในแง่ดีคือการฟื้นตัวกำลังค่อย ๆ กลับมา และรัฐบาลจีนก็ดูเหมือนจะรู้ถึงปัญหาที่จะต้องส่งเสริมการบริโภคมากขึ้น โดยล่าสุดทาง PBOC ก็เริ่มปรับลดอัตราส่วนความต้องการทุนสำรองของธนาคาร (Reserve Requirement Ratio : RRR) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในตลาดการเงิน แต่ทั้งนี้ก็อาจต้องมีมาตรการหนุนผู้บริโภคมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวในภาคการผลิต

ปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนถือเป็น 1 ในความหวังหลักของโลกสำหรับปี 2023 นี้ และต่างชาติหลายประเทศก็ให้ความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในจีน โดยเฉพาะหากรัฐบาลเปิดกว้างมากกว่าเดิม ยกตัวอย่างเช่นล่าสุด Saudi Aramco ยักษ์ใหญ่น้ำมันจากซาอุฯ ก็พึ่งบรรลุดีลสร้างโรงกลั่นยักษ์ใหญ่ในประเทศจีนร่วมกับ North Huajin Chemical และ Panjin Xincheng โดยจะเริ่มโครงการในไตรมาสที่ 2 นี้ คาดว่าจะพร้อมใช้งานในปี 2026

ดีลดังกล่าวถูกประเมินเบื้องต้นว่าอาจมีมูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ มีขนาดการกลั่นอยู่ที่ 300,000 บาร์เรล/วัน โดยซาอุฯ จะถือหุ้น 30% ส่วน Norinco Group ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ North Huajin Chemical จะถือหุ้น 51% และ Panjin Xincheng จะถือหุ้นส่วนที่เหลือ ซึ่งจะทำให้ทั้งจีนและซาอุฯ ได้รับประโยชน์กันทั้ง 2 ฝ่าย และยังเป็นการเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระยะยาวให้แน่นแฟ้นขึ้นอีกด้วย

แผนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการที่ซาอุฯ ตั้งเป้าจะขยายกำลังการผลิตน้ำมันให้ถึง +1,000,000 บาร์เรล/วัน และจะเพิ่มการผลิตก๊าซอีกมากกว่า +50% ภายในปี 2030 พร้อมกับพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมกลั่นให้สามารถ 'ลดการปล่อยคาร์บอนให้ต่ำลงกว่าเดิม'

ขณะเดียวกัน ทางด้านรัสเซียกำลังผลักดันการใช้เงินหยวนของจีนเป็น 1 ในสกุลเงินหลักสำหรับทุนสำรองระหว่างประเทศและการค้ากับชาติพันธมิตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่รัสเซียจะใช้หลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ-ชาติตะวันตก และยังเตรียมสร้างขั้วอำนาจใหม่ที่หวังจะมาทุบอำนาจของเงินดอลลาร์ให้เสื่อมลงอีกด้วย

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้รัสเซียเป็นผู้นำในสิ่งที่หาดูได้ยาก คือการใช้เงินหยวนมากกว่าดอลลาร์-ยูโรในทุนสำรอง แต่ก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับรัสเซียด้วยเช่นกัน เพราะจีนเองเคยมีมาตรการลดค่าเงินอย่างกะทันหันและอาจทำให้ทุนสำรองหยวนที่รัสเซียถืออยู่มีมูลค่าลดลงได้อย่างรวดเร็วในกรณีที่มันเกิดขึ้นอีกครั้ง

มือปืนหญิง บุก รร.ประถมเมืองแนชวิลล์ สหรัฐฯ ก่อเหตุกราดยิง เด็กและ จนท. เสียชีวิตรวม 6 ราย

หญิงวัย 28 ปีพร้อมอาวุธครบมือ บุกสังหารเด็ก 3 รายและเจ้าหน้าที่ 3 รายในโรงเรียนประถมเอกชนของเมืองแนชวิลล์ ก่อนถูกตำรวจวิสามัญ ถือเป็นการก่อเหตุรุนแรงด้วยอาวุธปืนครั้งล่าสุดที่สร้างความตกตะลึงให้กับสหรัฐอเมริกา

(28 มี.ค.66) เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 28 มีนาคม 2566 กล่าวว่า เกิดเหตุกราดยิงอุกอาจในโรงเรียนของเมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมือปืนหญิงรายหนึ่งนำปืนไรเฟิลจู่โจมอย่างน้อย 2 กระบอกและปืนพก 1 กระบอกเข้าไปในโรงเรียน Christian Covenant School ทางประตูด้านข้าง ก่อนจะเปิดฉากยิงจนมีผู้เสียชีวิตรวม 6 ราย

ดอน อารอน โฆษกตำรวจแนชวิลล์กล่าวในการแถลงข่าวว่า ผู้ก่อเหตุซึ่งตำรวจเชื่อว่าเป็นอดีตนักเรียนของโรงเรียน ทำการกราดยิงหลายนัดโดยไม่เจาะจงเหยื่อ

เจ้าหน้าที่ตำรวจไปถึงที่เกิดเหตุภายในเวลา 15 นาทีหลังจากรับสายแจ้งเหตุครั้งแรกในเวลาประมาณ 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (22.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) และได้ยิงปะทะกับมือปืน ก่อนที่ผู้ก่อเหตุจะถูกตำรวจยิงเสียชีวิต

ดอน อารอน กล่าวว่า ตำรวจยังไม่พบข้อบ่งชี้เบื้องต้นเกี่ยวกับแรงจูงใจในการกราดยิง แต่เจ้าหน้าที่สามารถระบุตัวตนเบื้องต้นได้ว่า เด็กนักเรียน 3 รายที่เสียชีวิตมีอายุระหว่าง 8-9 ขวบ และผู้ใหญ่ 3 รายที่เสียชีวิตมีอายุระหว่าง 60-61 ปี เช่นเดียวกับตัวมือปืนเองที่ถูกระบุว่าเป็นหญิงข้ามเพศ

เขายังเสริมด้วยว่า นอกจากตำรวจบาดเจ็บ 1 นายแล้ว ก็ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บอื่นๆจากเหตุครั้งนี้ ส่วนนักเรียนที่เหลือทั้งหมดถูกนำตัวออกจากอาคารได้พร้อมกับอาจารย์และเจ้าหน้าที่โรงเรียนคนอื่นๆ โดยกลุ่มคนทั้งหมดที่อยู่ในเหตุการณ์อุกอาจนี้จะได้รับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพื่อตรวจสอบอาการให้แน่ใจ

The Covenant School เป็นสถาบันเพรสไบทีเรียนเอกชนที่มีนักเรียนมากกว่า 200 คนในระดับอนุบาลจนถึงอายุประมาณ 12 ปี และผู้ใหญ่ 3 รายที่ถูกยิงเสียชีวิตนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในโรงเรียนซึ่งมีจำนวนทั้งหมดราว 40-50 คน

ฮอนดูรัส ขีดเส้น ทูตไต้หวัน ออกจาก ปท.ใน 30 วัน หลังประกาศสะบั้นสัมพันธ์หันซบอก ‘จีน’ เต็มตัว

ไต้หวันต้องย้ายออกจากสถานทูตของพวกเขาในฮอนดูรัส ภายใน 30 วัน จากคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฮอนดูรัสในวันจันทร์ (27 มี.ค.) หลังจากประธานาธิบดีซิโอมารา คาสโตร ตัดความสัมพันธ์ไทเป แล้วหันไปเข้าข้างจีน ในความพยายามดึงดูดเงินลงทุนและการจ้างงานจากยักษ์ใหญ่เอเชียแห่งนี้

(28 มี.ค.66) อันโตนิโอ การ์เซีย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อออกคำสั่งดังกล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นแห่งหนึ่งในวันจันทร์ (27 มี.ค.) ตามหลังคำแถลงของรัฐบาลเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ ว่าพวกเขาได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับปักกิ่งอย่างเป็นทางการ พร้อมกับยุติความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานหลายทศวรรษกับไต้หวัน

ในเวลาต่อมา ฝ่านค้ายหลักของ คาสโตร แถลงว่าพวกเขาขอสงวนไว้ซึ่งการถอนการสถาปนาความสัมพันธ์กับจีน หากพวกเขาก้าวเข้าสู่อำนาจ

จีน กล่าวอ้างมาช้านานกว่าไต้หวัน เกาะปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตย เป็นส่วนหนึ่งของดินแดน และไม่มีสิทธิสานสัมพันธ์แบบรัฐกับรัฐ จุดยืนที่ไทเปปฏิเสธอย่างแข็งกร้าว ทั้งนี้ จีนที่ปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์ ระบุว่าประเทศต่างๆ ที่พวกเขามีความสัมพันธ์ด้วยจำเป็นต้องยอมรับจุดยืนของพวกเขา

การ์เซีย กล่าวว่า "30 วัน เป็นเวลาที่มากพอสำหรับแพกของเก็บกระเป๋าและเดินทางออกไป" พร้อมระบุเป้าหมายของเจ้าหน้าที่คือการเดินทางออกไปอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยและเป็นมิตร

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรายนี้ เน้นย้ำถึงความเป็นสำหรับการสานสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน ชาติเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก "เราจำเป็นต้องไปในจุดนั้น เพื่อเสาะหาโครงการยักษ์ใหญ่ต่างๆ ที่จีนสามารถมอบให้เรา" เขากล่าว พร้อมบ่งชี้ว่าจีนจะลงทุนราว 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในฮอนดูรัส ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับแรงงานท้องถิ่น

ปักกิ่ง เปิดให้บริการ ‘แท็กซี่ไร้คนขับ’ ย่านชานเมือง พร้อมเล็งขยายบริการสู่อีก 65 เมือง ภายในปี 2025

(27 มี.ค.66) หนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี สื่อทางการจีน เปิดเผยว่าขณะนี้รถแท็กซี่ไร้คนขับพร้อมให้บริการแล้วในเขตชานเมืองกรุงปักกิ่ง ซึ่งนับเป็นความคืบหน้าใหม่ในภาคการขนส่งอัจฉริยะ และเป็นครั้งแรกที่ฝูงยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติเต็มรูปแบบได้รับอนุญาตให้ดำเนินการในมหานครระดับโลก

ก่อนหน้านี้ ปักกิ่งมอบใบอนุญาตแก่ไป่ตู้ (Baidu) ยักษ์ใหญ่วงการอินเทอร์เน็ตจีน และโพนีดอตเอไอ (Pony.ai) สตาร์ตอัปด้านการขับเคลื่อนอัตโนมัติ ให้สามารถมอบบริการรถแท็กซี่ไร้คนขับได้อย่างเต็มรูปแบบ

ไป่ตู้และโพนีดอตเอไอ ซึ่งต่างเป็นบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมยานยนต์ไร้คนขับของจีน ได้จัดสรรยานยนต์ไร้คนขับบริษัทละ 10 คัน เพื่อออกวิ่งสัญจรในพื้นที่ 60 ตารางกิโลเมตรของเขตอี้จวง บริเวณชานเมืองทางตอนใต้ของปักกิ่ง

รายงานเสริมว่าไป่ตู้วางแผนขยายบริการเรียกรถโดยสารอัตโนมัติผ่านแพลตฟอร์มสู่อีก 65 เมืองภายในปี 2025 และ 100 เมืองภายในปี 2030

เบื้องลึกกองกำลังประชาชนแห่งเมียนมา  เส้นทางแห่งอุดมการณ์ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

หลังจากที่หนุ่มสาวหลายคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันเข้าป่าสู่พื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธที่เป็นแนวร่วมกับ NUG ในตอนนั้น…

- หลายคนได้ไปต่อหากมีเงินมีทองพอจะสามารถลี้ภัยต่อไปยังประเทศที่ 3 ได้ 
- หลายคนไปประเทศที่ 3 พร้อมกับทำตัว Low Profile เพื่อให้คดีการเมืองจบ จากนั้นค่อยกลับมาสู่มาตุภูมิเมียนมาอีกครั้งเมื่อทุกอย่างดีขึ้น
- บางคนไปแล้วก็กลายเป็น PDF ชั้นผู้นำ คอยจัดหาทุนจากต่างประเทศมาสนับสนุนกองกำลังที่ต่อสู้

ส่วนหนุ่มสาวอีกจำนวนหนึ่งที่เคยมีชีวิตเมืองแม้จะไปสู่อ้อมกอดของกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยอุดมการณ์ที่แน่วแน่ แต่ด้วยการใช้ชีวิตที่ต่างกันสุดขั้วหลายคนจึงเลือกที่จะถอนตัวออกมา บางคนยอมมามอบตัวภายใต้กฏอภัยโทษของรัฐบาลทหาร ในขณะที่อีกหลายคนอยู่ในค่ายที่เขาให้เข้าไม่ให้ออกและสุดท้ายเมื่อหนีออกมาแต่ก็ไม่ได้ถึงบ้าน

การดำเนินการของกลุ่ม PDF มีทั้งการก่อการกับทหาร พลเรือนที่ใกล้ชิดทหาร เจ้าหน้าที่รัฐบาล ไปจนถึงคนทั่วไปที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ แต่แค่สงสัยว่าเป็นสายลับให้ทหาร รวมไปถึงการสร้างกลุ่มกองกำลังโดยเกณฑ์ชาวบ้านในดินแดนห่างไกลมาเป็นพวก ซึ่งแรกๆ ก็มีการให้ความร่วมมือของชุมชนกับกลุ่ม แต่หลังจากที่มีการระเบิดโรงไฟฟ้า ทำลายเสาสัญญาณโทรศัพท์ ระเบิดสะพาน เผาโรงเรียน ทั้งหมดทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วยและเริ่มผละตัวออกจากการเป็นคนช่วยเหลือสนับสนุน NUG ไปอย่างช้าๆ

>> ในภาพของสงครามตัวแทน
จะเห็นได้ชัดว่ารัสเซียเป็นผู้เข้ามาช่วยสนับสนุนทางกองทัพรัฐบาลทหารของเมียนมาในขณะที่ฝั่ง NUG ก็ได้เข้าพบกับรองเลขาธิการของสหรัฐอเมริกาเพื่อขอการสนับสนุนและช่วยเหลือ แต่เหมือนการช่วยเหลือเหล่านั้นเริ่มถูกบีบให้แคบลงหลังจากที่ทางรัฐบาลทหารสั่งปิด NGO ต้องสงสัยว่าเป็นแหล่งเงินทุนให้กับฝ่ายต่อต้านของเมียนมา ทำให้กิจกรรมการสนับสนุนทุนถูกย้ายมาสู่ NGO ที่อยู่ในประเทศไทยที่เป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับเมียนมายาวที่สุดและยังเป็นประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีความเกรงอกเกรงใจเหล่าประเทศทางตะวันตกอยู่ ทำให้คนในแม่สอดหรือข้าราชการในแม่สอดได้เห็นเหล่า พณ ท่านทูตหรือเอกอัคราชทูตทั้งหลายต่างเดินทางมายังแม่สอดด้วยเหตุผลว่ามาเยี่ยมชมค่ายอพยพหรือมาพบกับ NGO ที่ตั้งอยู่แถวนี้ โดยที่ก็น่าสงสัยว่านี่ใช่ภารกิจของทูตที่ต้องมาเยี่ยมชมคนที่ไม่ใช่คนในประเทศตนเองนั้นหรือ

‘ชายญี่ปุ่น’ โปรโมตร้านเสื้อผ้าจัดเต็ม ‘ใส่สูท’ พิชิตเขาคินาบาลู โว!! ปีนเสร็จสูทยังเนี้ยบ พร้อมเข้าประชุมต่อได้ทันที

(27 มี.ค. 66) ช่างตัดเสื้อชาวญี่ปุ่นกลายเป็นไวรัลใน TikTok หลังใส่สูทเต็มยศ พร้อมรองเท้าคัทชูและกระเป๋าเอกสาร ปีนขึ้นไปพิชิตยอดเขาสูงที่สุดในมาเลเซีย เพื่อพิสูจน์ว่าแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองนั้นคุณภาพดีขนาดไหน

สัปดาห์ที่แล้ว โนบุทากะ ซาดะ (Nobutaka Sada) วัย 49 ปี ได้ปีนขึ้นไปถึงยอดเขาคินาบาลู ซึ่งมีความสูง 4,095 เมตรจากระดับน้ำทะเลในชุทสูทสีฟ้าของแบรนด์ตัวเอง ทำเอาบรรดานักปีนเขาและชาวเน็ตถึงกับอึ้งในความ ‘สุดจัด’ ของชายจากแดนอาทิตย์อุทัยคนนี้

จากคลิป TikTok ที่เพื่อนนักปีนเขาอีกคนถ่ายไว้ ซาดะเดินขึ้นไปตามเส้นทางแคบๆ บนเขาเช่นเดียวกับนักปีนเขาคนอื่นๆ แต่ในขณะที่คนอื่นต้องใช้ไม้เท้าปีนเขาเพื่อประคองตัว เขากลับจับเพียงสายคล้องกระเป๋าเอกสาร และเดินขึ้นสู่ยอดเขาด้วยความมั่นใจ

ก่อนหน้านี้ ซาดะเคยใส่สูทไปตกปลา เล่นสกี ขี่จักรยานและดำน้ำดูปลามาแล้ว ซึ่งทุกครั้งเขาจะถ่ายคลิปบันทึกประสบการณ์เอามาแชร์ไว้ในช่อง YouTube ส่วนตัว

หลังจากพิชิตยอดเขาสำเร็จ ซาดะได้แชร์ภาพถ่ายตนเองพร้อมทิวทัศน์อันสวยงามลงในเฟซบุ๊ก และยังเล่าด้วยว่า เขาได้นอนค้างคืนในกระท่อมบนเขา ก่อนจะปีนป่ายขึ้นเขาท่ามกลางแสงดาว และไปถึงยอดเขาทันดูพระอาทิตย์ขึ้นพอดี

ผู้บริหาร IMF เตือน!! ความเสี่ยงเสถียรภาพการเงินโลก ใต้ตัวแปร 'สงคราม-แบงก์รัน-น้ำมัน-เศรษฐกิจถดถอย'

เศรษฐกิจและการเงินโลกจะไปรอดหรือพังยับ ?!? นั่นคือคำถามสำคัญที่สุดในหัวของใครหลายคน ณ ตอนนี้เลยทีเดียว 

(27 มี.ค. 66) World Maker เผยว่า Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการของ IMF ได้ออกมาเตือนว่า “ความเสี่ยงเกี่ยวกับเสถียรภาพด้านการเงินโลกได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ”

โดยเฉพาะหลังจากเกิดวิกฤต Bank Run ในสหรัฐฯ ทำให้ IMF ต้องยกระดับการเฝ้าระวังวิกฤตทางการเงินให้สูงขึ้นกว่าเดิม ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความมั่งคั่งทางการเงินสูงกว่าตลาดเกิดใหม่ ซึ่งทาง IMF ย้ำว่าความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกตอนนี้อยู่ในระดับ 'สูงเป็นพิเศษ' ถือเป็นแผลซ้ำจากโควิด-19, เงินเฟ้อ และสงครามยูเครน

เมื่อ FED ขึ้นดอกเบี้ยและเริ่มทำ QT มาถึงระดับหนึ่ง เราจึงเริ่มเห็นรอยแตกร้าวเกิดขึ้นแล้ว ณ ปัจจุบันนี้ และแม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ-FED รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลทั่วยุโรปจะเร่งเข้ามา Take Action อย่างรวดเร็วพร้อมกับเสริมสภาพคล่องสำรองให้แก่ตลาด ซึ่งผ่อนคลายความตึงเครียดไปได้ระดับหนึ่ง แต่ทาง IMF ก็ย้ำว่าความไม่แน่นอนต่าง ๆ ยังอยู่ในระดับสูงมาก ทำให้สถานการณ์ตอนนี้ยังต้องเฝ้าระวังอย่างละสายตาไม่ได้เลย

IMF ปรับลดคาดการณ์ GDP โลกลงจากเดิม 3.4% เหลือ 2.9% ในปีนี้ และคาดว่าในปี 2024 จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.1% ขณะที่แถลงการณ์ล่าสุดชี้ว่าวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจนถึงตอนนี้จะทำให้คนจำนวนมากทั่วโลก 'ยากจนลงและมีความปลอดภัยน้อยลง'

📌 ปัจจัยเชิงบวกที่สำคัญที่สุดในการพยุงเศรษฐกิจโลกจากมุมมองของ IMF ก็คือการฟื้นตัวของจีน โดยคาดการณ์ GDP ไว้ที่ +5.2% (เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ปี 2022 ที่ 3%) ซึ่ง IMF คาดว่าการเติบโตของจีนจะคิดเป็นถึง 1 ใน 3 ของการเติบโตทั่วโลกในปี 2023 นี้ แม้ว่าความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนจะเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม

IMF ย้ำว่าหากต้องการให้โลกดีขึ้น สหรัฐฯ-จีนควรมุ่งเน้นไปที่การแข่งขันกันอย่างสร้างสรรค์ พร้อมเรียกร้องให้มีการร่วมมือกันในบางส่วนระหว่างสหรัฐฯ-จีน แม้จะขจัดความตึงเครียดและมุมมองที่เห็นต่างไม่ได้ทั้งหมดก็ตาม ซึ่งแน่นอนว่ามันถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่ว่าสหรัฐฯ-จีนจะเจรจากันได้ลงตัวหรือไม่ ? เพราะภาพที่ออกมาตอนนี้จะเห็นว่าทั้ง 2 ฝ่ายดูขัดแย้งกันในแทบทุกมิติ

นอกจากนี้ IMF เรียกร้องให้จีนใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มผลิตผลทางเศรษฐกิจพร้อมกับการปรับสมดุลใหม่ โดยเปลี่ยนจากการเน้นลงทุนไปสู่การเติบโตที่ขับเคลื่อนด้วยการบริโภคมากกว่าเดิม เนื่องจากจะมีความยั่งยืนมากกว่าและพึ่งพาระบบหนี้น้อยกว่า ยิ่งไปกว่านั้นจะช่วยพัฒนาในแง่ของความท้าทายด้านสภาพอากาศด้วย

IMF ขยายมุมมองว่าจีนควรยกระดับการคุ้มครองทางสังคม สวัสดิการสุขภาพ รวมไปถึงการรองรับภาคครัวเรือนจากภาวะฉุกเฉินต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น และขณะเดียวกันก็จะต้องปฏิรูปตลาดโดยมุ่งเน้นไปที่การยกระดับการแข่งขันระหว่างภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะต้องมีการลงทุนด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางผลผลิตให้ได้อย่างมีนัยสำคัญ

⚠️ ซึ่งขณะเดียวกันกับที่ IMF มองจีนเป็นความหวังพยุงเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ล่าสุดทางปูตินประกาศว่ารัสเซียจะติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในเบลารุส หลังประเมินว่ามีแนวโน้มว่าการเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ และชาติตะวันตกอาจทวีความรุนแรงขึ้น ขยายวงกว้างไปกว่าสงครามยูเครน

โดยปูตินกล่าวว่านี่เป็นการตอบโต้ที่สหรัฐฯ เองก็ได้มีการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในประเทศพันธมิตรมานานแล้ว เป็นเหตุผลให้รัสเซียทำเช่นเดียวกัน โดยคาดว่าจะการสร้างโรงเก็บอาวุธนิวเคลียร์จะแล้วเสร็จภายในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้

การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากพึ่งมีข่าวว่ารัสเซียจะเกณฑ์ทหารเพิ่มอีก 400,000 นายเพื่อเสริมกำลังสำรองในกรณีที่สงครามยืดเยื้อยาวนาน โดยก่อนหน้านี้ก็ได้เกณฑ์เพิ่มไปแล้วหลักแสนคน

ทั้งนี้ รัสเซียไม่ได้ประกาศที่จะติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในประเทศพันธมิตรนับตั้งแต่ยุคการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและวิกฤตขีปนาวุธคิวบา ขณะที่ปัจจุบันเองสหรัฐฯ และ NATO กำลังส่งอาวุธจำนวนมากให้ยูเครนใช้ต่อต้านกองกำลังของรัสเซีย และทางด้านอังกฤษก็กล่าวว่าจะส่งอาวุธที่เกี่ยวข้องกับยูเรเนียมให้แก่ยูเครน ซึ่งเป็น 1 ในเหตุผลที่ปูตินประกาศแผนติดตั้งนิวเคลียร์ในเบลารุส เนื่องจากเขามองว่านี่เป็นการขู่ยกระดับความขัดแย้งทางนิวเคลียร์ของชาติฝั่งตะวันตก

นั่นหมายความว่าทางรัสเซียก็ไม่ได้ยอมอ่อนข้อลงเลย ปูตินกล่าวว่ารัสเซียกำลังเพิ่มขีดจำกัดในด้านการผลิตอาวุธ และจะผลิตกระสุน-รถถังออกมาเป็นจำนวนมาก โดยเขาเคลมว่าปริมาณอาจจะมากกว่าที่สหรัฐฯ-พันธมิตรส่งให้ยูเครนถึง 3x เท่าตัว

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ไม่ใช่การยืนยันว่าโลกกำลังจะเกิดสงครามในระดับที่ยิงนิวเคลียร์ถล่มกัน เพราะดูเหมือนจะเป็นการเดินหมากเพื่อคานอำนาจกันในเชิงยุทธศาสตร์ที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญและการป้องกันเชิงเสียมากกว่า แต่ถึงกระนั้นก็ไม่มีอะไรแน่นอน จึงไม่มีใครกล้ารับประกัน ณ จุดนี้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรร้ายแรงขึ้นมาหรือไม่ ?

📌 นอกเหนือจากสงครามของรัสเซียแล้ว ในอีกมุมหนึ่งของโลก จีนได้ประกาศปล่อยตัวนักลงทุนชิปชั้นนำที่เคยถูกรัฐบาลจับกุมเอาไว้ เพื่อให้มาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมชิปของประเทศหลังจากโดนสหรัฐฯ สั่งคว่ำบาตรอย่างหนักไม่ให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีชิปขั้นสูง

บุคคลดังกล่าวก็คือ Chen Datong หัวหน้าฝ่ายการจัดการด้านการลงทุนของ Yuanhe Puhua (Suzhou) หรือที่รู้จักในชื่อ Hua Capital โดยก่อนหน้านี้ Chen ถูกควบคุมตัวท่ามกลางกระแสการสืบสวนอุตสาหกรรมชิปของรัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งดูเหมือนจะมีความไม่พอใจบางอย่างเกิดขึ้น หลังจากมีการใช้เงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์ไปกับการลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์แต่กลับยังไม่สามารถสร้างการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญได้

ดังนั้น การที่จีนตัดสินใจปล่อยตัว Chen และร้องขอให้เขามาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมชิปต่อนี้ น่าจะถือเป็นสัญญาณสำคัญว่าจีนกำลังจะเดินหมากแบบพึง่พาตัวเองในแง่ของเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งก็ต้องรอดูกันว่าจีนจะพัฒนาไปได้รวดเร็วแค่ไหน เพราะตอนนี้ยังคงติดชะงักอยู่ในการผลิตชิประดับ Hi-Ends เป็นของตัวเอง

Chen ถือเป็น 1 ในนักลงทุนมือฉมังสำหรับอุตสาหกรรมชิปของจีน แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าเขาจะเริ่มกลับมาทำงานเต็มตัวเมื่อไหร่ คาดว่าคงไม่นานเพราะจีนเองก็เร่งทุ่มเทพัฒนาชิปอยู่อย่างเต็มที่เพื่อให้ก้าวทันสหรัฐฯ ในแง่ของเทคโนโลยีขั้นสูงที่จะเป็น 1 ในเสาหลักของโลกอนาคต

แต่ถึงกระนั้น ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่าการกระทำของจีนถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการบีบบังคับหรือไม่ ? เพราะในจังหวะที่นึกจะจับก็จับ แต่ในช่วงเวลาที่รัฐบาลต้องการความช่วยเหลือก็กลับปล่อยตัวออกมาได้เสียง่าย ๆ ซะอย่างนั้น ! เราจึงต้องจับตามองกันอย่างใกล้ชิดว่ายุทธวิธีของจีนในครั้งนี้จะประสานรอยร้าวภายในและพัฒนาก้าวทันสหรัฐฯ ได้สำเร็จตอนไหน ?

⚠️ พร้อมกันนี้ หลายประเทศที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ เริ่มสั่งแบนแอปฯ TikTok ออกจากสมาชิกรัฐบาล เนื่องจากความกังวลว่าตัวแอปฯ จะมีการส่งข้อมูลต่าง ๆ ไปให้รัฐบาลจีนใช้ ซึ่งฝ่ายตะวันตกมองว่าเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ

‘ปูติน’ กร้าว!! ‘รัสเซีย-จีน’ จับมือกันแบบโปร่งใส ย้อน ‘มะกัน-นาโต้’ ส่อแววรวมก๊ก เหมือน WW II

รัสเซียและจีนไม่ได้กำลังจัดตั้งพันธมิตรทหาร และความร่วมมือระหว่างกองทัพทั้ง 2 ชาตินั้น ‘มีความโปร่งใส’ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ให้ความเห็นที่มีการออกอากาศในวันอาทิตย์ (26 มี.ค.) ไม่กี่วันหลังเป็นเจ้าภาพต้อนรับ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ในเครมลิน พร้อมกล่าวหาย้อนกลับไปว่า เป็นสหรัฐฯ และนาโต้เองที่กำลังแสวงหาฝ่าย ‘อักษะใหม่’ คล้ายคลึงกับการจับมือกับระหว่างนาซี เยอรมนี ฟาสซิสต์ อิตาลีและจักรวรรดิญี่ปุ่น ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

ปูติน และสี ประกาศตัวเป็นพันธมิตร พร้อมสัญญาสานสัมพันธ์ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ในนั้นรวมถึงในขอบเขตด้านการทหาร ระหว่างการประชุมซัมมิตเมื่อวันที่ 20-21 มีนาคมที่ผ่านมา ในขณะที่รัสเซียกำลังประสบปัญหาในการรุกคืบในสมรภูมิรบ ในสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าเป็น ‘ปฏิบัติการพิเศษด้านการทหาร’ ในยูเครน

"เราไม่ได้กำลังสร้างพันธมิตรทหารใหม่กับจีน" ปูตินกับผ่านสื่อมวลชนแห่งรัฐ "ใช่แล้ว เรามีความร่วมมือกันในขอบเขตการทำงานร่วมกันทางเทคนิคด้านการทหาร เราไม่ได้ปิดบังในเรื่องนี้ ทุกอย่างมีความโปร่งใส มันไม่ได้เป็นความลับใดๆ"

จีนและรัสเซียลงนามในข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนแบบไร้ขีดจำกัด เมื่อช่วงต้นปี 2022 ไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้า ปูติน ส่งทหารหลายหมื่นนายบุกเข้าไปในยูเครน ปักกิ่งระงับไว้ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของปูติน และนำเสนอแผนสันติภาพสำหรับยูเครน อย่างไรก็ตาม ตะวันตกปฏิเสธข้อเสนอแผนสันติภาพดังกล่าว โดยบอกว่ามันเป็นอุบายซื้อเวลาช่วยปูติน สำหรับคืนชีพกองกำลังของเขาในยูเครน

เมื่อเร็วๆ นี้ วอชิงตันแสดงความกังวลว่าปักกิ่งอาจมอบอาวุธให้รัสเซียบางอย่างที่จีนปฏิเสธ

ระหว่างแสดงความคิดเห็นผ่านสถานีโทรทัศน์ ปูติน ปฏิเสธข้อสันนิษฐานที่ว่า การยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างมอสโกกับปักกิ่งในขอบเขตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านพลังงานและการเงิน อาจหมายความว่ารัสเซียกำลังพึ่งพิงจีนมากจนเกินไป โดยเขาบอกว่ามันเป็นมุมมองของคนขี้ระแวง "นานหลายทศวรรษแล้ว ที่มีความปรารถนาหันจีนให้อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับสหภาพโซเวียตและรัสเซีย" เขากล่าว "และในทางกลับกัน เราเข้าใจในโลกที่เราอาศัยอยู่ดี เราเล็งเห็นคุณค่าของความสัมพันธ์ร่วมระหว่างเรา และระดับของความสัมพันธ์พุ่งถึงจุดสูงสุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา"

นอกจากนี้ ปูตินยังกล่าวหาสหรัฐฯ และนาโต้ ว่ากำลังหาทางสร้าง "ฝ่ายอักษะ' ระดับโลกใหม่ ที่เขาบอกว่ามีส่วนคล้ายคลึงกับการจับมือเป็นพันธมิตรในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่าง นาซี เยอรมนี ฟาสซิสต์ อิตาลี และจักรวรรดิญี่ปุ่น

ปูติน เอ่ยชื่อออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ ว่ากำลังต่อแถวเข้าร่วม 'นาโต้โลก' และพาดพิงถึงข้อตกลงด้านกลาโหมที่ลงนามโดยสหราชอาณาจักรและญี่ปุ่นเมื่อช่วงต้นปี "นั่นคือเหตุผลว่าทำไมพวกนักวิเคราะห์ตะวันตกกำลังพูดถึงเกี่ยวกับการที่ตะวันตกกำลังสร้างอักษะใหม่ แบบเดียวกับที่เคยจัดตั้งขึ้นในช่วงยุคทศวรรษ 1930 โดยรัฐบาลฟาสซิสต์เยอรมนี และอิตาลี และลัทธิทหารนิยมญี่ปุ่น" เขากล่าว

‘อุทยานฯมณฑลซื่อชวน’ จับภาพ 'แพนด้ายักษ์' ขณะยกก้นถูต้นไม้ เผย เป็นการแสดงอาณาเขตเพื่อส่งสัญญาณ 'หาคู่'

(27 มี.ค. 66) เมื่อไม่นานนี้ สำนักงานข่าวซินหัวรายงานว่า กล้องอินฟราเรดที่ติดตั้งในอุทยานแห่งชาติแพนด้ายักษ์ มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน สามารถบันทึกคลิปวิดีโอและภาพแพนด้ายักษ์ป่าหลายตัวขณะออกทำกิจกรรมกลางแจ้ง

แพนด้าตัวหนึ่งได้วางขาหน้าลงบนพื้นแล้วยกก้นขึ้นถูกับต้นไม้ ซึ่งเป็นการทิ้งร่องรอยแสดงอาณาเขตของตัวเองไว้ จนเกิดเป็นภาพน่ารักชวนขบขันไม่น้อย

‘ซีเกมส์ 2023’ ใช้กรรมการเจ้าถิ่นทั้งหมด ‘กัมพูชา’ อ้าง!! ไม่มีงบให้ผู้ตัดสิ้นจากต่างชาติ

เข้าทำนองไม่พร้อมอย่าจัด แต่เอ๊ะหรือเป็นแผนของเจ้าภาพ กัมพูชา ที่ต้องการจะใช้กรรมการของตนเอง จึงอ้างว่าไม่มีงบให้กับผู้ตัดสินของชาติอื่น ๆ หรือชาติเป็นกลาง งานนี้ได้แต่งงว่าทำแบบนี้ก็ได้ด้วยเหรอ

(26 มี.ค.66)ความเคลื่อนไหวการแข่งขันกีฬา ซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 5-17 พฤษภาคมนี้ ที่มาอย่างไม่หยุดหย่อน โดยเฉพาะทางฝั่งเจ้าภาพ กัมพูชา ที่ไม่พร้อมสักอย่าง ล่าสุดมีปัญหาเรื่องผู้ตัดสินอีก

ผู้นำเยอรมนี ชี้ ธนาคารยักษ์ใหญ่ของประเทศยังแกร่ง แม้มีข่าว Deutsche bank จะกลายเป็นโดมิโน่รายต่อไป

ใครที่ตามข่าวในตลาดการเงินอย่างต่อเนื่องก็คงจะรู้ดีว่าตอนนี้ Deutsche Bank ธนาคารยักษ์ใหญ่ของเยอรมนีกำลังถูกจับตามองจากนักลงทุนทั่วโลก หลังมีข่าวว่า Credit Default Swap (CDS) ได้พุ่งขึ้นทำระดับ New High ใหม่เหนือ 200 จุดในสัปดาห์ที่ผ่านมา ! โดย CDS จะพุ่งขึ้นเมื่อตลาดกังวลว่าบริษัทมีความเสี่ยงที่จะผิดชำระหนี้มากขึ้น ทำให้ตอนนี้มีแรง Panic ว่า Deutsche Bank จะกลายเป็นรายต่อไปหลังจาก SVB และ Credit Suisse หรือไม่ ?

(26 มี.ค.66) World Maker เผยว่า Olaf Scholz ผู้นำของเยอรมนีได้ออกมาประกาศชัดว่าธนาคารยักษ์ใหญ่ของประเทศยังมีความแข็งแกร่งและความสามารถในการทำกำไรอย่างดี! ทำให้ไม่ต้องห่วงเลยว่าจะล้มเหมือนธนาคารอื่น ๆ ในก่อนหน้านี้ โดยเขาได้ปฏิเสธว่า Deutsche Bank มีสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกับ Credit Suisse จึงไม่มีเหตุผลให้ต้องกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้

ความเห็นของเขาเป็นไปเช่นเดียวกับ Jerome Powell ประธาน FED รวมถึง Joe Biden ผู้นำสหรัฐฯ และ Christine Lagarde ประธานของ ECB ที่พยายามออกมาสร้างความมั่นใจให้กับตลาดว่าภาคธนาคารของชาติตะวันตกยังคงมีความแข็งแกร่ง ในขณะที่ธนาคารกลางประกาศชัดเจนว่าได้เตรียมพร้อมสำหรับการ “จัดหาสภาพคล่อง” ในระดับที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

ทั้งนี้ ผู้ที่มองโลกในแง่ร้ายกล่าวว่าวิกฤตครั้งนี้จะลุกลามไปใหญ่โตแน่นอน และทำให้เกิดการล่มสลายในระดับมหากาพย์ แต่ผู้ที่มองโลกในแง่ดีกล่าวว่าวิกฤตในครั้งนี้แตกต่างจากวิกฤตใหญ่ ๆ ในอดีตอย่างเช่น Great Depression ปี 1930 และวิกฤตการเงินโลกปี 2008 ซึ่งครั้งนี้จะผ่านไปได้ไม่รุนแรงเช่นนั้น เพราะมีความแตกต่างกันหลายอย่างและระบบการเงินโลกก็ถูกพัฒนาไปมากแล้วจากในอดีต แม้ว่าอาจเกิดความเสียหายในบางส่วนแต่ก็จะไม่ใช่หายนะ 

คำกล่าวของ Scholz เกิดขึ้นหลังจากหุ้น Deutsche Bank ร่วง -14% เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ก่อนจะฟื้นตัวปิดตลาดที่ -8.53% พร้อมกับ CDS ที่พุ่งทำ New High และปรับตัวลดลงหลังจากนั้น ซึ่งโดยรวมแล้ว Deutsche Bank สูญเสีย Market Cap ไปราว 1 ใน 5 (-20%) ท่ามกลางความตึงเครียดทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น (ไม่ต่างจากธนาคารอื่นๆ ใน Wall Street ที่สูญเสียมูลค่าไปเช่นกัน)

นั่นทำให้นักลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาดจำนวนไม่น้อยยังไม่กล้าปักใจเชื่อคำกล่าวของกลุ่มผู้นำโลก แต่ก็ต้องบอกว่ามีนักวิเคราะห์บางคนที่มองในเชิงบวก ยกตัวอย่างเช่น Stuart Graham จาก Autonomous Research ที่ออกมากล่าวชัดเจนว่า Deutsche Bank จะไม่ใช่ Credit Suisse รายต่อไป

ขณะเดียวกันนี้ สถิติแสดงให้เห็นว่าลูกค้าแห่ถอนเงินอย่างน้อย -3.5 ล้านล้านบาทหรือ -1 แสนล้านดอลลาร์ออกจากธนาคารของสหรัฐฯ นับตั้งแต่เกิดวิกฤต Bank Run ขึ้นมา ซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นโดยรวมของตลาดเสียหายอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมกับที่กองทุน Hedge Funds บางกลุ่มเริ่มเข้า Short Sell สินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาฯ ! โดยมองว่าตลาดนี้จะได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่จากวิกฤตธนาคาร

ทั้งนี้ Hedge Funds จำนวนไม่น้อยกำลัง Short Sell ผ่านทางด้านหุ้นและอนุพันธ์เครดิต (Credit Deriavtives) โดยหุ้นเกือบ 40% ของ iShares US Real Estate ETF กำลังถูก Short Sell อยู่ ณ ตอนนี้

วิกฤตธนาคารที่เกิดขึ้นถือเป็นเพียงสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการ Short Sell ในตลาดอสังหาฯ สูงขึ้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ตลาดอสังหาฯ ก็เริ่มมีสัญญาณความตึงเครียดเกิดขึ้นมาสักระยะหนึ่งแล้ว อย่างที่ World Maker ได้เคยย้ำเตือนไปในหลายบทความที่ผ่านมา ว่านับตั้งแต่ดอกเบี้ย FED สูงขึ้น มันส่งผลให้ดอกเบี้ยบ้านสูงขึ้นตามไปด้วยในขณะที่ราคาบ้านเองก็อยู่ในระดับสูงลิ่วจนหลายคนเอื้อมไม่ถึงไปแล้ว

ดังนั้นเมื่อไปถึงจุดหนึ่งที่ตลาดตึงเครียดมาก ๆ ก็มีแนวโน้มที่ราคาอสังหาฯ จะร่วงลงได้ เนื่องจาก Demand หายไปเพราะดอกเบี้ยที่สูงขึ้นพร้อมกับราคาในก่อนหน้านี้ จนทำให้การซื้อบ้านแพงหูฉี่จนหลายคนไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับตลาดอสังหาฯ ณ ปัจจุบัน

ยิ่งเมื่อ FED ได้ทำ QT โดยการเทขายพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรจำนองบ้าน (Mortgage Backed Securities : MBS) มันก็ยิ่งทำให้ตลาดอสังหาฯ ตึงเครียดมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตธนาคาร ดังนั้นเมื่อมีวิกฤต SVB, Credit Suisse และความกังวลที่แพร่กระจายอย่างต่อเนื่อง ทำให้แรง Panic ในอสังหาฯ พุ่งขึ้นไปอีกระดับพร้อมกันอยากหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็ก-กลางในตลาด Real Estate อาจมีความเสี่ยงมากกว่าบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีงบการเงินแข็งแกร่ง เช่นเดียวกับที่วิกฤตเกิดกับธนาคารขนาดเล็ก-กลาง แต่ยังไม่เกิดกับธนาคารขนาดใหญ่เพราะมีการกำกับดูแลที่เข้มงวดกว่า

ภาพรวมทั้งหมดนี้แสดงให้เราเห็นว่าในขณะที่เกิดสถานการณ์ปั่นป่วนที่หลายคนมองว่าเป็นวิกฤต แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่กำลังแสวงหาโอกาสในการทำกำไรท่ามกลางข่าวร้าย โดยถ้าซื้อแล้วไม่ได้กำไร พวกเขาก็เลือกที่จะ Short Sell แทน ซึ่งก็ต้องมาดูกันว่าตลาดสินทรัพย์เสี่ยงต่าง ๆ เหล่านี้จะเคลื่อนตัวไปในทิศทางไหนต่อไปกันแน่ ? จะพังหรือพุ่ง ? จะรุ่งหรือร่วง ?

ทางด้าน FED และธนาคารกลางหลายแห่งเช่น ECB ล่าสุดยังคงตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยต่อไป โดยมองว่าทั้งระบบมีความยืดหยุ่นมากพอที่จะรับแรงกดดันด้านสภาพคล่องในระยะสั้น แม้มีวิกฤตด้านการธนาคารเกิดขึ้นให้เห็นเป็นรอยร้าวของระบบจากความตึงเครียดทางการเงินที่ถูกยกระดับขึ้นมา 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top