ชาวมุสลิมเชื้อสายปากีฯ คนแรกในประวัติศาสตร์ เตรียมนั่งแท่นนายกรัฐมนตรีของสกอตแลนด์
หลังจากที่อังกฤษเพิ่งได้ ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีคนล่าสุดที่มีเชื้อสายอินเดียคนแรกไปแล้ว คราวนี้ ที่สกอตแลนด์ ก็กำลังจะได้ผู้นำที่มีพื้นเพเป็นชาวเอเชียอีกคน นั่นคือ 'ฮัมซา ยูซาฟ' นักการเมืองดาวรุ่งวัยเพียง 37 ปี เชื้อสายปากีสถาน หลังคว้าชัยการเลือกตั้งผู้นำคนใหม่ของพรรคชาติสกอต (SNP) ซึ่งเป็นพรรคแกนนำหลักของรัฐบาลสกอตแลนด์
และทำให้นาย ฮัมซา ยูซาฟ ขึ้นแท่นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสกอตแลนด์ ต่อจาก นิโคลา สเตอร์เจียน อดีตหัวหน้าพรรค SNP และผู้นำสกอตแลนด์ ที่เพิ่งลาออกไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาหลังจากดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนานกว่า 8 ปี
ฮัมซา ยูซาฟ เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งที่สนับสนุน นิโคลา สเตอร์เจียนมาโดยตลอด โดยเฉพาะนโยบายการพาชาติสกอตแลนด์เป็นเอกราช ไม่รวมเป็นส่วนหนึ่งกับสหราชอาณาจักรอีกต่อไป และเขาได้ให้คำมั่นสัญญาว่า หากได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาจะผลักดันให้สกอตแลนด์เป็นเอกราชให้สำเร็จ แต่ทั้งนี้ ฮัมซา ยูซาฟ ไม่ได้ระบุว่าหมายถึงการจัดลงประชามติเพื่อขอแยกตัวจากสหราชอาณาจักรเป็นครั้งที่ 2 หรือไม่
ฮัมซา ยูซาฟ เกิดและเติบโตที่เมืองกลาสโกว์ ของสกอตแลนด์ บิดาของเขาเป็นชาวปัญจาบ จากปากีสถาน มารดาเป็นชาวเคนยา ทั้งคู่ย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากในสกอตแลนด์ โดยบิดาของยูซาฟ ทำงานเป็นนักบัญชี และพยายามส่งเสริมให้เขาได้เรียนโรงเรียนชั้นดี อย่าง Hutchesons' Grammar School หนึ่งในโรงเรียนเอกชนที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงมาก โดยหวังให้เขาเลือกเรียนสายวิชาชีพระดับสูง เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ หรือนักบัญชีอย่างบิดา
แต่จุดเปลี่ยนในชีวิตของ ฮัมซา ยูซาฟ เกิดขึ้นในวันที่สหรัฐอเมริกาถูกก่อวินาศกรรมในเหตุการณ์ 9/11 เขาถูกเพื่อนร่วมโรงเรียนมองเขาในสายตาที่เปลี่ยนไป และเข้ามาเค้นหาคำตอบจากเขาว่าทำไมชาวมุสลิมถึงเกลียดได้สหรัฐอเมริกาขนาดนี้
จากวันนั้นทำให้เขาหันมาสนใจการเมืองอย่างมาก และเลือกเรียนสาขารัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ทำกิจกรรมด้านสังคมมาโดยตลอด เป็นประธานสมาคมนักศึกษามุสลิม และยังเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรค SNP ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา
ยูซาฟ ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนสกอตแลนด์ครั้งแรกในปี 2011 และเป็นผู้แทนที่อายุน้อยที่สุดในเวลานั้น (26 ปี) ได้รับเลือกเป็นรัฐมนตรีช่วยหลายกระทรวง ตำแหน่งล่าสุดคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการสังคมในสมัยของ นิโคลา สเตอร์เจียน
และหลังจากที่ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค SNP เขาประกาศว่าจะทุ่มเทสุดกำลังให้สกอตแลนด์ได้รับเอกราช และจะพาประเทศกลับเข้าร่วมในสหภาพยุโรปอีกครั้ง
และหาก ฮัมซา ยูซาฟ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีสกอตแลนด์อย่างเป็นทางการเมื่อไหร่ เท่ากับว่า สหราชอาณาจักรมีมุขมนตรีที่มีเชื้อสายเอเชียพร้อมกันถึง 2 คน แต่กลับมีนโยบายที่ยืนอยู่คนละด้านกันอย่างสิ้นเชิง ในขณะที่ ฮัมซา ยูซาฟ ชูนโยบายแยกประเทศ แต่ ริชี ซูนัค ชูประเด็นของพรรคอนุรักษ์ ที่จะนำความยิ่งใหญ่ของอังกฤษกลับมา และจะทำทุกทางเพื่อรักษาสหราชอาณาจักรให้คงอยู่เป็นปึกแผ่นเช่นนี้ต่อไปให้ได้ด้วยเช่นกัน
เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์
อ้างอิง: BBC / CNN / Sky News / Wikipedia