เบื้องลึกกองกำลังประชาชนแห่งเมียนมา ไทย…'ผู้รับบุญ' หรือ 'แพะรับบาป'
ไทยเราได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ให้การดูแลชาวต่างชาติที่หนีร้อนมาพึ่งเย็นมาช้านานแล้ว
แต่หากนับในยุคปัจจุบันในรัชสมัยของพ่อหลวงล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ก็มี 'เหตุการณ์ที่ท่าแขก' หรือ 'วันท่าแขกแตก' ซึ่งเป็นกลุ่มชาวเวียดนามที่ทางการไทยเรียกว่า 'ญวนอพยพ' การหนีข้ามแม่น้ำโขงจากฝั่งลาวมาฝั่งไทยครั้งนี้เป็นการหนีการปราบปรามของกองกำลังฝรั่งเศสจากเวียงจันทน์ สะหวันเขตและท่าแขก แขวงคำม่วน มายังหนองคาย มุกดาหาร
จาก 'เหตุการณ์ที่ท่าแขก' ในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2489 ครั้งนั้น นับเป็นการอพยพครั้งใหญ่ของชาวเวียดนามมายังไทย ทำให้ชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ที่ท่าแขกได้หนีข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งไทยประมาณ 50,000 คน รวมทั้งชาวลาวอีก 4,000 คน โดยชาวเวียดนามเกือบทั้งหมดยังคงลี้ภัยและพำนักอาศัยอยู่ในภาคอีสานของไทยต่อมาจวบจนปัจจุบัน หรือจะเหตุการณ์ที่คอมมิสนิสต์มีชัยในดินแดนอินโดจีนในช่วงประมาณปี 2517 ก็มีชาวเวียดนาม ลาว เขมรจำนวนไม่น้อยที่เดินทางมาลี้ภัยในประเทศไทย และไทยก็เปิดศูนย์รับผู้ลี้ภัยเพื่อรอวันที่พวกเขาเหล่านั้นเดินทางกลับ และอีกหลายคนก็เลือกที่จะใช้ชีวิตในไทย
>> สงครามกะเหรี่ยงกับภาระของไทย
สงครามระหว่างกะเหรี่ยงกับกองทัพเมียนมามีมาตั้งแต่ปี 2492 โดยรัฐบาลไทยเคยใช้รัฐกะเหรี่ยงเป็นรัฐกันชนกับพม่า ซึ่งหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยเกรงภัยจากคอมมิวนิสต์ที่ได้ตั้งพรรคทั้งในไทยและเมียนมาหรือพม่าในขณะนั้น ที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน ไทยและสหรัฐฯ ที่สนับสนุนกบฏกะเหรี่ยง และในช่วง พ.ศ. 2503 – 2533 สหรัฐฯ ยังให้การสนับสนุนรัฐบาลเมียนมาในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ด้วย
โบเมียะกล่าวว่า รัฐกะเหรี่ยงเป็นรัฐกันชนที่ไม่ให้คอมมิวนิสต์ในไทยและเมียนมารวมตัวกัน นโยบายของรัฐไทยเปลี่ยนไปในช่วง พ.ศ. 2533 เมื่อเมียนมาได้เป็นสมาชิกอาเซียนใน พ.ศ. 2540 ไทยจึงได้ยุติการให้ความช่วยเหลือกองกำลังกะเหรี่ยง ในแง่ของผู้อพยพจากสงครามพบว่ามีชาวกะเหรี่ยงเริ่มอพยพเข้าสู่ไทยใน พ.ศ. 2527 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงได้ประโยชน์จากค่ายผู้อพยพในไทยในฐานะเป็นที่หลบภัยและเป็นแหล่งสนับสนุนอาหารและวัสดุอื่นๆ ผ่านสมาชิกในครอบครัวที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย มีชาวกะเหรี่ยงราว 2 แสนคนอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมามีชาวกะเหรี่ยง 73,775 คน และเมื่อหลังจากการปฎิวัติชาวกะเหรี่ยงและเมียนมาอีกจำนวนไม่น้อยที่อพยพมาตามชายแดน ซึ่งนี่ไม่รวมถึงผู้ที่ข้ามแดนมาอย่างผิดกฎหมาย
ในวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 14 อ.แม่สอด, กองกำลังนเรศวร, เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง จ.ตาก และฝ่ายปกครอง อ.แม่สอด พร้อมหน่วยข่าวด้านความมั่นคงนำกำลังเข้าควบคุม อาคารพาณิชย์ 4 ชั้น เกือบ 40 คูหา ย่านชุมชนหนาแน่น ถนนตาลเดี่ยว ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก
หลังจากสืบทราบว่ามีกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา กลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะ PDF ซึ่งหนีข้ามมาจากฝังเมียนมาเข้ามาเช่าบ้านหลบอาศัยอยู่ในพื้นที่แม่สอดกันอย่างอิสระจำนวนมาก เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยมีรายงานว่ามีชาวต่างชาติ และองค์กรระหว่างประเทศเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยเมื่อตรวจค้นภายในอาคารพบสัมภาระทางทหาร อุปกรณ์ทางทหาร เครื่องแบบทหาร โลโก้หน่วยทหารกลุ่มต่อต้านต่างๆ รวมทั้งโดรนขนาดต่างๆ อุปกรณ์ควบคุม อุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่สำคัญพบกระสุนปืนจำนวนหนึ่ง
ในรายงานข่าวระบุว่า “เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงนายหนึ่ง แจ้งว่า ขณะนี้กลุ่มต่อต้านชาวเมียนมา หลบเข้ามาอาศัยในพื้นที่แม่สอดมากกว่า 5 หมื่นคน อาศัยทำงานตามพื้นที่ต่างๆ เปิดร้านอาหาร เปิดร้านค้า หลบอาศัยอยู่ตามบ้านเช่า โรงแรม อย่างอิสระเสรีไร้กฎหมายควบคุม ไม่สถานะอ้างอิง การรับรอง การขึ้นทะเบียน โดยเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่อ้างว่า คนกลุ่มดังกล่าวมีองค์กรระหว่างประเทศสนับสนุนไม่สามารถจับกุม หรือผลักดันออกไปได้”
ซึ่งนี่ก็ถือเป็นข้อมูลสำคัญว่า เจ้าหน้าที่ได้ทราบข้อมูลของคนเหล่านี้เป็นอย่างดี ก็คงต้องขึ้นกับรัฐบาลไทยชุดต่อไปแล้วว่า จะเป็นไก่รองบ่อนของต่างชาติที่รู้ทั้งรู้แต่ทำอะไรไม่ได้ หรือจะช่วยสนับสนุนไปเลย และตั้งตนเป็นศัตรูกับรัฐบาลทหารให้รู้แล้วรู้รอด หรือจะเลือกผลักดันออกไปจากไทย เพราะไม่ใช่ภาระหรือปัญหาของคนไทยที่ต้องมารับผิดชอบ
เรื่อง: AYA IRRAWADEE