ทั่วโลกจับตาเศรษฐกิจ ‘พญามังกร’ ฟื้นตัว ความหวังท่ามกลางความผันผวนรอบด้าน

(28 มี.ค.66) จากที่ World Maker ได้รายงานไปว่าทาง IMF ออกมาเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านการเงินโลกที่อยู่ในระดับสูงเป็นพิเศษ และมองว่าจีนจะกลายเป็นความหวังในการพยุงเศรษฐกิจโลกในปี 2023 นี้ ! ซึ่งล่าสุดก็มีรายงานออกมาอีกว่าตอนนี้รัฐบาลจีนกำลังกู้ยืมเงินในอัตราที่เร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์เพื่อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ!

จำนวนพันธบัตรที่รัฐบาลจีนออกขายในไตรมาสแรกของปี 2023 (กู้ยืมเงินจากการระดมทุน) มีมูลค่าอย่างน้อย 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1997 ที่เริ่มเก็บข้อมูลมาเลยทีเดียว คิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง +35% จากปี 2022

ซึ่งทางรัฐบาลจีนเองก็ประกาศแผนงบประมาณปี 2023 ว่าจะกู้ยืมเงินเพิ่มประมาณ +20% จากปีที่แล้ว โดยจะนำเงินเหล่านี้มาช่วยหนุนเศรษฐกิจในภาคท้องถิ่นให้สามารถจัดการกับความตึงเครียดด้านสภาพคล่องได้ และยังมีแผนขยายการลงทุนเชิงโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ เช่น การปรับปรุงระบบระบายน้ำ-สาธารณูปโภคในเมืองต่าง ๆ

เป้าหมาย GDP ของจีนถูกตั้งไว้ราว +5% ในปีนี้ สอดคล้องกับคาดการณ์ของ IMF ที่ราว +5.2% ซึ่งหากจีนทำได้ตามเป้าก็จะถือเป็น 1 ในเสาหลักที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ท่ามกลางความตึงเครียดในสหรัฐฯ ที่เกิดจากภาวะดอกเบี้ยสูงและวิกฤตต่าง ๆ เช่น Bank Run

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการฟื้นตัวในไตรมาสแรกของจีนจะอ่อนแอกว่าที่คาดหวังเอาไว้ไม่มากก็น้อย เนื่องจากผลกำไรภาคอุตสาหกรรมในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ร่วงลงถึง -22.9% เมื่อเทียบจากปี 2022 แม้ว่าการผลิตใน Sector นี้จะดีดตัวขึ้นจากการที่จีนเริ่มเปิดประเทศอีกครั้ง

การลดลงของรายได้นี้ อยู่ในระดับที่รุนแรงกว่าการลดลงของต้นทุน ซึ่งจะส่งผลต่อ 'อัตรากำไรขั้นต้น' ของบริษัทต่าง ๆ และชี้ให้เห็นว่า Demand ทางเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังไม่ได้กลับมาเร็วอย่างที่คาดหวัง ดังนั้นต่อให้การผลิตดีดตัวสูงขึ้น แต่ถ้าไม่มีการบริโภคก็จะไม่มีความหมายเลยต่อเศรษฐกิจ กลับกันอาจกลายเป็นแย่ยิ่งกว่าเดิม

นั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ IMF แนะนำให้จีนส่งเสริมภาคการบริโภคของประเทศ โดยตอนนี้บริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจในจีนดูเหมือนจะได้รับผลกระทบหนักสุดเพราะผลกำไรร่วงลง -35.7% ในช่วง 2 เดือนแรกของปี เทียบกับค่าเฉลี่ยทั้งประเทศที่ -9.5% ในขณะที่กำไรของบริษัทเอกชนจีนลดลง -19.9% และรัฐวิสาหกิจลดลง -17.5%

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อในผู้ผลิต (PPI -1.4%) และผู้บริโภค (CPI 1%) ของจีนก็ยังอยู่ในระดับต่ำมากทีเดียว โดยเฉพาะ PPI ที่ติดลบหรืออยู่ในภาวะเงินฝืด หมายความว่าต้นทุนการผลิตสินค้าต่าง ๆ ลดลง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง และโรงงานบางแห่งก็ได้ปรับลดราคาขาย ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้และกำไรที่ลดลงด้วย (ค่อนข้างดีต่อผู้บริโภค แต่ในแง่ของตัวเลขทางเศรษฐกิจและการเติบโตก็จะลดลงไปด้วย)

สาเหตุหนึ่งที่บริษัทต่าง ๆ ไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้นั้น เป็นเพราะว่า Demand ไม่ได้อยู่ในช่วงขยายตัวอย่างรวดเร็ว ดังนั้นหากขึ้นราคาสินค้าตอนนี้ก็จะกลายเป็นการลด Demand ลงอีก ซึ่งไม่ใช่คำตอบสำหรับบริษัทต่าง ๆ ในประเทศจีน

ดังนั้นจึงชัดเจนว่าปัญหาหลักคือจีนจะทำอย่างไรให้การบริโภคฟื้นตัว ? จะเรียกความเชื่อมั่นของตลาดกลับมาได้อย่างไร ? ยิ่งไปกว่านั้น อัตราว่างงานของจีนตอนนี้ยังอยู่ในระดับสูงและการลงทุนในภาคอสังหาฯ ซึ่งคิดเป็นราว 25% ของ GDP ก็ยังตกต่ำจากวิกฤตที่เกิดขึ้นซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นหดหายไปอย่างมาก

Maersk หนึ่งในบริษัทขนส่งสินค้ายักษ์ใหญ่ที่สุดในโลก ก็ได้ออกมาเตือนว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนในตอนนี้อ่อนแอกว่าที่เคยคาดเอาไว้ โดยชี้ไปที่เหตุผลเดียวกันคือผู้บริโภคยังอยู่ในภาวะช็อก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจนั้นมีหลายมิติ ไม่ใช่แค่ว่าการผลิตฟื้นตัวแล้วจะแปลว่าเศรษฐกิจฟื้นตัว แต่ต้องมีการสนับสนุนผู้บริโภคควบคู่กันไปด้วย

ที่สำคัญคือเงินออมราว 70% ของจีนอยู่ในภาคอสังหาฯ ที่ยังคงตกต่ำและได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นเราคงพอจะเข้าใจเหตุผลว่าทำไมในปีนนี้รัฐบาลจีนประกาศว่าจะเริ่มกลับมาหนุนภาคการเงินและอสังหาฯ

ขณะเดียวกัน นักลงทุนต่างชาติและตลาดหุ้นของจีนก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงไม่ต่างจาก Real Estate ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากราคาหุ้นยักษ์ใหญ่หลายตัวของจีนร่วงลงมากกว่า -50% ไม่ว่าจะเป็น Alibaba, Tencent และอื่น ๆ พร้อมกับความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นจากสงครามยูเครนและความตึงเครียดกับสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ในแง่ดีคือการฟื้นตัวกำลังค่อย ๆ กลับมา และรัฐบาลจีนก็ดูเหมือนจะรู้ถึงปัญหาที่จะต้องส่งเสริมการบริโภคมากขึ้น โดยล่าสุดทาง PBOC ก็เริ่มปรับลดอัตราส่วนความต้องการทุนสำรองของธนาคาร (Reserve Requirement Ratio : RRR) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในตลาดการเงิน แต่ทั้งนี้ก็อาจต้องมีมาตรการหนุนผู้บริโภคมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวในภาคการผลิต

ปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนถือเป็น 1 ในความหวังหลักของโลกสำหรับปี 2023 นี้ และต่างชาติหลายประเทศก็ให้ความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในจีน โดยเฉพาะหากรัฐบาลเปิดกว้างมากกว่าเดิม ยกตัวอย่างเช่นล่าสุด Saudi Aramco ยักษ์ใหญ่น้ำมันจากซาอุฯ ก็พึ่งบรรลุดีลสร้างโรงกลั่นยักษ์ใหญ่ในประเทศจีนร่วมกับ North Huajin Chemical และ Panjin Xincheng โดยจะเริ่มโครงการในไตรมาสที่ 2 นี้ คาดว่าจะพร้อมใช้งานในปี 2026

ดีลดังกล่าวถูกประเมินเบื้องต้นว่าอาจมีมูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ มีขนาดการกลั่นอยู่ที่ 300,000 บาร์เรล/วัน โดยซาอุฯ จะถือหุ้น 30% ส่วน Norinco Group ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ North Huajin Chemical จะถือหุ้น 51% และ Panjin Xincheng จะถือหุ้นส่วนที่เหลือ ซึ่งจะทำให้ทั้งจีนและซาอุฯ ได้รับประโยชน์กันทั้ง 2 ฝ่าย และยังเป็นการเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระยะยาวให้แน่นแฟ้นขึ้นอีกด้วย

แผนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการที่ซาอุฯ ตั้งเป้าจะขยายกำลังการผลิตน้ำมันให้ถึง +1,000,000 บาร์เรล/วัน และจะเพิ่มการผลิตก๊าซอีกมากกว่า +50% ภายในปี 2030 พร้อมกับพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมกลั่นให้สามารถ 'ลดการปล่อยคาร์บอนให้ต่ำลงกว่าเดิม'

ขณะเดียวกัน ทางด้านรัสเซียกำลังผลักดันการใช้เงินหยวนของจีนเป็น 1 ในสกุลเงินหลักสำหรับทุนสำรองระหว่างประเทศและการค้ากับชาติพันธมิตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่รัสเซียจะใช้หลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ-ชาติตะวันตก และยังเตรียมสร้างขั้วอำนาจใหม่ที่หวังจะมาทุบอำนาจของเงินดอลลาร์ให้เสื่อมลงอีกด้วย

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้รัสเซียเป็นผู้นำในสิ่งที่หาดูได้ยาก คือการใช้เงินหยวนมากกว่าดอลลาร์-ยูโรในทุนสำรอง แต่ก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับรัสเซียด้วยเช่นกัน เพราะจีนเองเคยมีมาตรการลดค่าเงินอย่างกะทันหันและอาจทำให้ทุนสำรองหยวนที่รัสเซียถืออยู่มีมูลค่าลดลงได้อย่างรวดเร็วในกรณีที่มันเกิดขึ้นอีกครั้ง

ตอนนี้รัสเซียถือเป็นประเทศอันดับ 4 รองจากอังกฤษ สิงคโปร์ สหรัฐฯ ซึ่งมีการใช้เงินหยวนของจีนมากที่สุด ขึ้นมาจากอันดับต่ำกว่า 15 ก่อนจะเกิดสงครามยูเครน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัสเซียหันมาพึ่งพาจีนเป็นหลักในการหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก

การค้าระหว่างรัสเซีย-จีนพุ่งทำ All Time High ใหม่ที่ 1.85 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2022 ขณะที่การใช้เงินหยวนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 16% ของการค้าระหว่างทั้ง 2 ประเทศ จากต่ำกว่าร้อยละ 1% ในช่วงก่อนเกิดสงครามยูเครน พร้อมกับการใช้เงินเยนของญี่ปุ่นก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน (แต่โดยรวมเงินดอลลาร์และยูโรยังคงเป็นสกุลเงินหลักในการค้าระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ณ เวลานี้)

ธนาคารของรัสเซียมากกว่า 50 แห่งเริ่มเสนอโครงการเงินฝากในสกุลหยวน โดยให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเป็นการดึงดูดให้ลูกค้าหันมาใช้หยวนแทนดอลลาร์ แต่ถึงกระนั้น ผลลัพธ์ก็ยังคงจำกัดอยู่มากในแง่ของการค้าโลก เพราะรัสเซียไม่ได้เป็นประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ แต่ที่หลายคนสนใจคือหลังจากนี้จะมีประเทศพันธมิตรของจีนใด ๆ ที่เริ่มหันมาใช้เงินหยวนแทนเงินดอลลาร์อีกหรือไม่ ? เพราะหากเป็นเช่นนั้นต่อไปในระยะยาว ก็หมายความว่าสกุลเงินของจีนจะมีการหมุนเวียนในการค้าโลกมากขึ้น

แต่ต้องย้ำว่านี่เป็นเรื่องระยะยาวทีเดียว เพราะปัจจุบันดอลลาร์ยังครองสัดส่วนการค้าโลกอยู่ราว 80-90% ส่วนเงินหยวนของจีนมีสัดส่วนไม่ถึง 10% และดูเหมือนว่าจีนเองก็ไม่ต้องการทำให้เงินหยวนกระจายไปทั่วโลก เพราะจะยากต่อการควบคุมภายใต้ระบอบการปกครองแบบจีน

และพร้อมกันนี้ รัสเซียได้ลดสัดส่วนเงินดอลลาร์และยูโรในทุนสำรองลงไปแทบจะหมดคลัง หันไปถือทองคำ เงินหยวน และสกุลเงินอื่น ๆ แทน ซึ่งรัสเซียไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องดำเนินกลยุทธ์นี้ต่อไป เนื่องจากโดนคว่ำบาตรอย่างหนักและทำให้เข้าถึงสกุลเงินของชาติตะวันตกได้ยากมาก

สัดส่วนเงินหยวนที่เทรดหมุนเวียนในตลาดหุ้น MOEX ของรัสเซียพุ่งขึ้นเป็นเกือบ 40% จากไม่ถึง 1% ในช่วงต้นปี 2022 หลังจากรัฐบาลของปูตินออกมาตรการต่าง ๆ ที่หนุนการใช้เงินหยวนมากกว่าดอลลาร์ แต่ในขณะเดียวกันรัสเซียก็ต้องแบกรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นอย่างมาก เพราะมีการแทนที่คู่ค้าหลายประเทศในตะวันตกด้วยประเทศจีนเพียงประเทศเดียว

นอกเหนือจากเรื่องนี้แล้ว ทางด้านมหาเศรษฐีจีนชื่อดังอย่าง Jack Ma ล่าสุดดูเหมือนเขาจะไม่ค่อยอยากกลับไปในประเทศจีนมากนัก หลังจากเขาวิพากษ์วิจารณ์ระบบของรัฐบาลคอมมิวนิสต์และโดนปราบปรามอย่างหนักตั้งแต่นั้นมา เขาก็ได้ลดการออกสื่อสาธารณะลงอย่างมาก และเดินทางออกนอกประเทศจีนไปยังประเทศอื่น ๆ (รวมถึงมาเยือนไทยด้วยเมื่อเร็ว ๆ นี้)

มีรายงานว่าทางรัฐบาลจีนกำลังพยายามหารือกับ Jack Ma ให้เขากลับเข้าไปช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของประเทศ แต่จนถึงตอนนี้เจ้าตัวยังเลือกที่จะอยู่ในต่างประเทศเป็นหลัก และได้ถอยห่างจากการบริหารบริษัทต่าง ๆ ภายในประเทศเช่น Alibaba และ Ant Group

(**อัปเดตล่าสุดมีรายงานว่า Jack Ma เดินทางกลับจีนแล้วเพื่อไปเยี่ยมชมโรงเรียนในเมืองหางโจว**)

นอกจากนี้ยังได้กล่าวกับผู้บริหารของ Alibaba และ Ant Group อีกว่าอย่าหมกมุ่นกับการที่เขาจะกลับไปประเทศจีน ในขณะที่ตัวเขาเองกำลังมุ่งมั่นในการ “พัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร” จากภายนอกประเทศ

โดยทั้งนี้ ดูเหมือนว่ารัฐบาลจีนจะเปลี่ยนแปลงกฎหมายการควบคุมครั้งใหญ่ ซึ่งทำให้หน่วยงานของพรรคคอมมิวนิสต์เข้าถือ 'หุ้นทองคำ' ในบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศ รวมถึง Alibaba, Ant Group, บริษัทย่อยของ Tencent และอาจมีการขยายไปยังบริษัทอื่น ๆ ที่มีความสำคัญต่อประเทศ

การถือหุ้นทองคำหมายความว่ารัฐบาลจะมีอำนาจเด็ดขาดในโหวตล้มมติใด ๆ ก็ตามของบริษัทที่ไม่เป็นไปตามความต้องการของพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้หลายคนมองว่านี่คือการยึดอำนาจการบริหารเอกชนยักษ์ใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางรัฐบาลจีนให้ความเห็นว่ามันคือการกำกับดูแลด้านเสถียรภาพและความปลอดภัยของประเทศ

แน่นอนว่ามันมีความหมายต่อผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนทั้งหมด รวมถึงตัว Jack Ma เองด้วย และก็มีความหมายต่อพรรคคอมมิวนิสต์เช่นกัน เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อการสร้างระบบสกุลเงิน CBDC ของจีนในอนาคตอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น Alipay และ WeChat Pay ซึ่งครองสัดส่วนแอปฯ ชำระเงินผ่านมือถือภายในประเทศมากกว่า 80% ดังนั้นการที่จีนจะเข้าสู่ยุค Digital Yuan ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบริษัทเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ตอนนี้ Ant Group กำลังเตรียมที่จะเสนอขายหุ้น IPO อีกครั้ง หลังจากได้เปลี่ยนแปลงบริษัทให้กลายเป็น Holding Company ซึ่งจะถูกกำกับดูแลคล้าย ๆ กับระบบธนาคารพาณิชย์ของจีน ขณะที่รัฐบาลจะมีการควบคุมอำนาจอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงิน การปล่อยสินเชื่อ และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ หลักทรัพย์ หรือภาคการเงินของจีน

ทั้งหมดนี้อาจเป็นเหตุผลให้ Jack Ma เลือกที่จะออกมาหาวิสัยทัศน์นอกประเทศจีนและเดินตามเส้นทางของเขาต่อไป ซึ่งก็น่าสนใจว่า Jack Ma กำลังจะพัฒนาอะไรในระบบเทคโนโลยีการเกษตร ซึ่งถือเป็น 1 ใน Megatrends ของโลกระยะยาว

ขณะเดียวกัน บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนทั่วประเทศก็ต้องเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการเข้ามามีบทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์ ต่อการกำหนดทิศทางและนโยบายของบริษัทต่าง ๆ ภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นเรื่องดีหรือเลวร้ายนั้น เราก็คงต้องติดตามรอดูผลลัพธ์กันต่อไปในอนาคต

โดยภาพรวม สิ่งที่ World Maker นำมาเล่าให้ฟังในบทความนี้ ถือเป็นเรื่องราวของจีนที่น่าจับตามองควบคู่กันไปกับการเปลี่ยนแปลงทางการเงิน เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีในระดับ Global เพราะจีนเองถือเป็น 2 มหาอำนาจสูงสุดทางเศรษฐกิจของโลกคู่กับสหรัฐฯ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงในจีนจะส่งผล Effect ต่อหลายประเทศทั่วโลกไม่ต่างจากการเปลี่ยนแปลงในสหรัฐฯ


ที่มา : World Maker