Saturday, 18 May 2024
เศรษฐกิจจีน

วิกฤตไฟฟ้าขาดแคลนของจีนแผ่ขยาย บีบให้ปิดโรงงาน และกระทบต่อเศรษฐกิจทำให้แนวโน้มการเติบโตลดลง

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าปัญหาการขาดแคลนพลังงานที่เพิ่มขึ้นในประเทศจีนทำให้ต้องหยุดการผลิตในโรงงานหลายแห่งรวมถึงโรงงานหลายแห่งที่เป็นซัพพลายเออร์ให้ Apple และ Tesla ในขณะที่ร้านค้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องใช้แสงเทียนและห้างสรรพสินค้าต้องปิดตัวลงเร็วขึ้น

การปันส่วนได้ถูกนำมาใช้ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนในหลายพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว และผู้อยู่อาศัยในเมืองต่างๆ รวมถึงฉางชุน กล่าวว่า การตัดไฟเกิดขึ้นเร็วขึ้นและยาวนานขึ้น

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจการไฟฟ้า (State Grid Corp) ให้คำมั่นว่าจะจัดหาแหล่งจ่ายไฟพื้นฐานและหลีกเลี่ยงการตัดกระแสไฟฟ้า

นักวิเคราะห์กล่าวว่าวิกฤตด้านพลังงานของจีนซึ่งเกิดจากอุปทานถ่านหินที่ตึงตัวและมาตรฐานการปล่อยมลพิษที่เข้มงวด ส่งผลกระทบต่อการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ในหลายภูมิภาค และกำลังฉุดรั้งแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

ผลกระทบต่อครัวเรือนและผู้ใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช่ภาคอุตสาหกรรมเริ่มชัดขึ้นเนื่องจากอุณหภูมิในเวลากลางคืนลดลงจนใกล้จุดเยือกแข็งในเมืองที่อยู่ทางตอนเหนือสุดของจีน สำนักงานพลังงานแห่งชาติ (NEA) ได้แจ้งกับบริษัทถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเพื่อให้แน่ใจว่ามีพลังงานเพียงพอเพื่อให้บ้านมีความอบอุ่นในช่วงฤดูหนาว

มณฑลเหลียวหนิงกล่าวว่าการผลิตไฟฟ้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่เดือนกรกฎาคม และช่องว่างด้านอุปทานเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับ "ระดับรุนแรง" เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้ขยายการตัดไฟจากบริษัทอุตสาหกรรมไปยังพื้นที่อยู่อาศัยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

เมืองหูลู่ต่าวบอกกับผู้อยู่อาศัยว่าอย่าใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้พลังงานสูง เช่น เครื่องทำน้ำอุ่นและเตาไมโครเวฟในช่วงเวลาที่มีผู้ใช้บริการสูงสุด และผู้อยู่อาศัยในเมืองฮาร์บิน ในมณฑลเฮยหลงเจียงบอกกับรอยเตอร์ว่าห้างสรรพสินค้าหลายแห่งปิดเร็วกว่าปกติเวลา 16.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น เหตุการณ์นี้้ทำให้ตลาดหุ้นจีนตื่นตระหนกในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกกำลังแสดงสัญญาณการชะลอตัว

เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญกับการควบคุมภาคอสังหาริมทรัพย์และเทคโนโลยี และความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของ China Evergrande ยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบปัญหาด้านการเงิน

'กอบศักดิ์' จับตาโอมิครอนบุกปักกิ่ง หวั่น!! กระทบเศรษฐกิจโซนเอเชีย

‘ดร.กอบศักดิ์’ ชี้ต้องจับตาผลกระทบโควิดในจีนอย่างใกล้ชิด เมื่อ ‘โอมิครอน’ ลามถึง ‘กรุงปักกิ่ง’ หวั่นกระทบเศรษฐกิจเอเชีย

วันที่ 26 เมษายน 2565 ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศจีน ว่า …

เมื่อโอมิครอนบุกปักกิ่ง !!! 

วันนี้มีข่าวว่า หลังจีนได้ต่อสู้กับโอมิครอนที่เซี่ยงไฮ้มาเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ล่าสุด โอมิครอนได้ไปบุกไปถึงเมืองปักกิ่งแล้ว

ผลที่ตามมา ก็คือ ตลาดการเงินจีนและโลก ต่างปรับตัวรับข่าวอย่างรุนแรง

- ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ลดลง 5.1% ทำให้ดัชนีได้กลับไปต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดเรียบร้อยแล้ว

- ค่าเงินหยวนอ่อนค่าเพิ่มเติมอีก 1% ไปที่ 6.559 หยวน/ดอลลาร์ อ่อนสุดในรอบ 1 ปี

- ดัชนีฮั่งเส็งลดลง 3.7%

- ราคาน้ำมันโลกลดลง 5%

- ราคาทองคำลงไปต่ำกว่า 1,900 ดอลลาร์/ออนซ์

- ราคาพาลาเดี่ยม ลดลง 10%

- ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ต่างลดลงกันถ้วนหน้า

ทั้งนี้ เนื่องจากทุกคนกังวลใจว่า จีนจะต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดในการจัดการโอมิครอนที่ปักกิ่ง หลังจากมีรายงานว่ามีผู้ป่วยในพื้นที่หลายสิบคน และกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เปิด 10 ทิศทางของ ‘สาธารณรัฐประชาชนจีน’ ภายใต้ผู้นำที่ชื่อ ‘สี จิ้นผิง’ ตลอดทศวรรษ

การประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 ปิดม่านไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยสี จิ้นผิง ครองอำนาจสูงสุดของพรรคเป็นสมัยที่ 3 พร้อมกับคัดเลือกทีมผู้นำระดับสูงสุดในคณะกรรมการประจำของกรมการเมืองมาร่วมปกครองประเทศ โดยทั้งหมดล้วนเป็นผู้ใกล้ชิดจงรักภักดีต่อสีจิ้นผิง ดังนั้น อำนาจใหญ่ของผู้นำสีในสมัยที่ 3 จึงทรงพลังที่สุดนับจากท่านประธานเหมาเจ๋อตง ผู้ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน

ระหว่างช่วง 10 ปีที่สีครองอำนาจสูงสุดในพรรคนับจากสมัยแรกของการนำเมื่อปี 2012 จีนได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างลึกล้ำทั้งภายในประเทศและกระจายไปทั่วโลก

สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้นำเสนอ 10 เรื่อง หรือ 10 ทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไปของจีนภายใต้การนำของสี ดังต่อไปนี้

1.) โลกตะวันตกและเหล่าพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา มีความเข้าใจจีนในทางที่แย่ลง

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ เสื่อมถอยลงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยรัฐบาลพญาเหยี่ยวของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เร่งสปีดความเสื่อมถอยดังกล่าว ความเข้าใจของโลกตะวันตกยิ่งแย่ลง ๆ จากความขัดแย้งในประเด็นสิทธิมนุษยชน และการที่จีนทวีความแข็งกร้าวต่อไต้หวัน

2.) แคมเปญปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันของสี จิ้นผิง

หลังจากที่สีได้นั่งบัลลังก์อำนาจสูงสุดของพรรค ก็บุกตะลุยกวาดล้างการทุจริตคอร์รัปชันภายในพรรค ซึ่งเรียกคะแนนนิยมจากสาธารณชนได้เป็นกอบเป็นกำ แต่นักวิเคราะห์บางคนมองว่า แคมเปญปราบคอร์รัปชันของสี ยังเป็นเครื่องมือขจัดปฏิปักษ์การเมืองไปด้วย

3.) สร้างระเบียบความสงบเรียบร้อยตามชายแดนที่เคยเป็นเขตมีปัญหาวุ่นวาย

ภูมิภาคทิเบต ซินเจียง ฮ่องกง ซึ่งเป็นเขตปกครองตัวเองและเขตบริหารพิเศษภายใต้อธิปไตยจีน เคยสร้างความปวดเศียรหนักให้พรรคคอมมิวนิสต์จีน

สี ได้จัดปฏิบัติการปราบปรามที่เด็ดขาดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน กวาดล้างเสี้ยนหนามที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของแผ่นดิน และคุมภูมิภาคชายแดนได้อยู่หมัด

ในซินเจียง ชาติส่วนน้อยมุสลิมอุยกูร์ราวหนึ่งล้าน เข้ามาฝึกฝนอาชีพในค่ายอาชีวศึกษา

ในฮ่องกง ทางการจีนได้จัดกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติมาปราบกลุ่มที่ออกมาประท้วงต่อต้านรัฐบาลในปี 2019 จนดินแดนเข้าสู่ภาวะสงบเรียบร้อยโรงเรียนจีน

4.) อุณหภูมิขัดแย้งไต้หวันสูงขึ้น

กลุ่มผู้นำสูงสุดของจีนทุกคนจากยุคเหมาเจ๋อตง ล้วนย้ำนักย้ำหนาถึงความสำคัญของการ “รวมชาติจีน” กับเกาะที่จัดตั้งรัฐบาลปกครองตัวเองแห่งไต้หวัน

ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันร้อนกระฉูดภายใต้การนำของสี กองทัพปลอดแอกประชาชนจีนเพิ่มกิจกรรมเคลื่อนไหวรอบ ๆ เกาะในไม่กี่ปีมานี้ ทั้งหมั่นซ้อมรบ ไปยันรุกล้ำเข้าไปท้าทายในเขตป้องกันภัยทางอากาศ

ในเดือนสิงหาคม ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐฯ นางแนนซี โพโลซี ยังมาเยือนไทเป กระตุ้นหนวดพญามังกรอย่างย่ามใจยิ่ง และจีนก็ตอบสนองโดยจัดการซ้อมรบครั้งใหญ่ปิดล้อมเกาะไต้หวัน 3 วัน อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนเช่นกัน

ทั่วโลกจับตาเศรษฐกิจ ‘พญามังกร’ ฟื้นตัว ความหวังท่ามกลางความผันผวนรอบด้าน

(28 มี.ค.66) จากที่ World Maker ได้รายงานไปว่าทาง IMF ออกมาเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านการเงินโลกที่อยู่ในระดับสูงเป็นพิเศษ และมองว่าจีนจะกลายเป็นความหวังในการพยุงเศรษฐกิจโลกในปี 2023 นี้ ! ซึ่งล่าสุดก็มีรายงานออกมาอีกว่าตอนนี้รัฐบาลจีนกำลังกู้ยืมเงินในอัตราที่เร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์เพื่อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ!

จำนวนพันธบัตรที่รัฐบาลจีนออกขายในไตรมาสแรกของปี 2023 (กู้ยืมเงินจากการระดมทุน) มีมูลค่าอย่างน้อย 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1997 ที่เริ่มเก็บข้อมูลมาเลยทีเดียว คิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง +35% จากปี 2022

ซึ่งทางรัฐบาลจีนเองก็ประกาศแผนงบประมาณปี 2023 ว่าจะกู้ยืมเงินเพิ่มประมาณ +20% จากปีที่แล้ว โดยจะนำเงินเหล่านี้มาช่วยหนุนเศรษฐกิจในภาคท้องถิ่นให้สามารถจัดการกับความตึงเครียดด้านสภาพคล่องได้ และยังมีแผนขยายการลงทุนเชิงโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ เช่น การปรับปรุงระบบระบายน้ำ-สาธารณูปโภคในเมืองต่าง ๆ

เป้าหมาย GDP ของจีนถูกตั้งไว้ราว +5% ในปีนี้ สอดคล้องกับคาดการณ์ของ IMF ที่ราว +5.2% ซึ่งหากจีนทำได้ตามเป้าก็จะถือเป็น 1 ในเสาหลักที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ท่ามกลางความตึงเครียดในสหรัฐฯ ที่เกิดจากภาวะดอกเบี้ยสูงและวิกฤตต่าง ๆ เช่น Bank Run

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการฟื้นตัวในไตรมาสแรกของจีนจะอ่อนแอกว่าที่คาดหวังเอาไว้ไม่มากก็น้อย เนื่องจากผลกำไรภาคอุตสาหกรรมในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ร่วงลงถึง -22.9% เมื่อเทียบจากปี 2022 แม้ว่าการผลิตใน Sector นี้จะดีดตัวขึ้นจากการที่จีนเริ่มเปิดประเทศอีกครั้ง

การลดลงของรายได้นี้ อยู่ในระดับที่รุนแรงกว่าการลดลงของต้นทุน ซึ่งจะส่งผลต่อ 'อัตรากำไรขั้นต้น' ของบริษัทต่าง ๆ และชี้ให้เห็นว่า Demand ทางเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังไม่ได้กลับมาเร็วอย่างที่คาดหวัง ดังนั้นต่อให้การผลิตดีดตัวสูงขึ้น แต่ถ้าไม่มีการบริโภคก็จะไม่มีความหมายเลยต่อเศรษฐกิจ กลับกันอาจกลายเป็นแย่ยิ่งกว่าเดิม

นั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ IMF แนะนำให้จีนส่งเสริมภาคการบริโภคของประเทศ โดยตอนนี้บริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจในจีนดูเหมือนจะได้รับผลกระทบหนักสุดเพราะผลกำไรร่วงลง -35.7% ในช่วง 2 เดือนแรกของปี เทียบกับค่าเฉลี่ยทั้งประเทศที่ -9.5% ในขณะที่กำไรของบริษัทเอกชนจีนลดลง -19.9% และรัฐวิสาหกิจลดลง -17.5%

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อในผู้ผลิต (PPI -1.4%) และผู้บริโภค (CPI 1%) ของจีนก็ยังอยู่ในระดับต่ำมากทีเดียว โดยเฉพาะ PPI ที่ติดลบหรืออยู่ในภาวะเงินฝืด หมายความว่าต้นทุนการผลิตสินค้าต่าง ๆ ลดลง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง และโรงงานบางแห่งก็ได้ปรับลดราคาขาย ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้และกำไรที่ลดลงด้วย (ค่อนข้างดีต่อผู้บริโภค แต่ในแง่ของตัวเลขทางเศรษฐกิจและการเติบโตก็จะลดลงไปด้วย)

สาเหตุหนึ่งที่บริษัทต่าง ๆ ไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้นั้น เป็นเพราะว่า Demand ไม่ได้อยู่ในช่วงขยายตัวอย่างรวดเร็ว ดังนั้นหากขึ้นราคาสินค้าตอนนี้ก็จะกลายเป็นการลด Demand ลงอีก ซึ่งไม่ใช่คำตอบสำหรับบริษัทต่าง ๆ ในประเทศจีน

ดังนั้นจึงชัดเจนว่าปัญหาหลักคือจีนจะทำอย่างไรให้การบริโภคฟื้นตัว ? จะเรียกความเชื่อมั่นของตลาดกลับมาได้อย่างไร ? ยิ่งไปกว่านั้น อัตราว่างงานของจีนตอนนี้ยังอยู่ในระดับสูงและการลงทุนในภาคอสังหาฯ ซึ่งคิดเป็นราว 25% ของ GDP ก็ยังตกต่ำจากวิกฤตที่เกิดขึ้นซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นหดหายไปอย่างมาก

Maersk หนึ่งในบริษัทขนส่งสินค้ายักษ์ใหญ่ที่สุดในโลก ก็ได้ออกมาเตือนว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนในตอนนี้อ่อนแอกว่าที่เคยคาดเอาไว้ โดยชี้ไปที่เหตุผลเดียวกันคือผู้บริโภคยังอยู่ในภาวะช็อก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจนั้นมีหลายมิติ ไม่ใช่แค่ว่าการผลิตฟื้นตัวแล้วจะแปลว่าเศรษฐกิจฟื้นตัว แต่ต้องมีการสนับสนุนผู้บริโภคควบคู่กันไปด้วย

ที่สำคัญคือเงินออมราว 70% ของจีนอยู่ในภาคอสังหาฯ ที่ยังคงตกต่ำและได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นเราคงพอจะเข้าใจเหตุผลว่าทำไมในปีนนี้รัฐบาลจีนประกาศว่าจะเริ่มกลับมาหนุนภาคการเงินและอสังหาฯ

ขณะเดียวกัน นักลงทุนต่างชาติและตลาดหุ้นของจีนก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงไม่ต่างจาก Real Estate ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากราคาหุ้นยักษ์ใหญ่หลายตัวของจีนร่วงลงมากกว่า -50% ไม่ว่าจะเป็น Alibaba, Tencent และอื่น ๆ พร้อมกับความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นจากสงครามยูเครนและความตึงเครียดกับสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ในแง่ดีคือการฟื้นตัวกำลังค่อย ๆ กลับมา และรัฐบาลจีนก็ดูเหมือนจะรู้ถึงปัญหาที่จะต้องส่งเสริมการบริโภคมากขึ้น โดยล่าสุดทาง PBOC ก็เริ่มปรับลดอัตราส่วนความต้องการทุนสำรองของธนาคาร (Reserve Requirement Ratio : RRR) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในตลาดการเงิน แต่ทั้งนี้ก็อาจต้องมีมาตรการหนุนผู้บริโภคมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวในภาคการผลิต

ปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนถือเป็น 1 ในความหวังหลักของโลกสำหรับปี 2023 นี้ และต่างชาติหลายประเทศก็ให้ความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในจีน โดยเฉพาะหากรัฐบาลเปิดกว้างมากกว่าเดิม ยกตัวอย่างเช่นล่าสุด Saudi Aramco ยักษ์ใหญ่น้ำมันจากซาอุฯ ก็พึ่งบรรลุดีลสร้างโรงกลั่นยักษ์ใหญ่ในประเทศจีนร่วมกับ North Huajin Chemical และ Panjin Xincheng โดยจะเริ่มโครงการในไตรมาสที่ 2 นี้ คาดว่าจะพร้อมใช้งานในปี 2026

ดีลดังกล่าวถูกประเมินเบื้องต้นว่าอาจมีมูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ มีขนาดการกลั่นอยู่ที่ 300,000 บาร์เรล/วัน โดยซาอุฯ จะถือหุ้น 30% ส่วน Norinco Group ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ North Huajin Chemical จะถือหุ้น 51% และ Panjin Xincheng จะถือหุ้นส่วนที่เหลือ ซึ่งจะทำให้ทั้งจีนและซาอุฯ ได้รับประโยชน์กันทั้ง 2 ฝ่าย และยังเป็นการเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระยะยาวให้แน่นแฟ้นขึ้นอีกด้วย

แผนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการที่ซาอุฯ ตั้งเป้าจะขยายกำลังการผลิตน้ำมันให้ถึง +1,000,000 บาร์เรล/วัน และจะเพิ่มการผลิตก๊าซอีกมากกว่า +50% ภายในปี 2030 พร้อมกับพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมกลั่นให้สามารถ 'ลดการปล่อยคาร์บอนให้ต่ำลงกว่าเดิม'

ขณะเดียวกัน ทางด้านรัสเซียกำลังผลักดันการใช้เงินหยวนของจีนเป็น 1 ในสกุลเงินหลักสำหรับทุนสำรองระหว่างประเทศและการค้ากับชาติพันธมิตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่รัสเซียจะใช้หลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ-ชาติตะวันตก และยังเตรียมสร้างขั้วอำนาจใหม่ที่หวังจะมาทุบอำนาจของเงินดอลลาร์ให้เสื่อมลงอีกด้วย

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้รัสเซียเป็นผู้นำในสิ่งที่หาดูได้ยาก คือการใช้เงินหยวนมากกว่าดอลลาร์-ยูโรในทุนสำรอง แต่ก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับรัสเซียด้วยเช่นกัน เพราะจีนเองเคยมีมาตรการลดค่าเงินอย่างกะทันหันและอาจทำให้ทุนสำรองหยวนที่รัสเซียถืออยู่มีมูลค่าลดลงได้อย่างรวดเร็วในกรณีที่มันเกิดขึ้นอีกครั้ง

‘ซีเค เจิง’ เปรียบ ‘เกษตรกรจีน’ เป็นได้แค่พนักงาน ไม่มีวันได้เป็นเจ้าของกิจการ เพราะไม่มีสิทธิ์ถือครองที่ดิน

(1 ก.ย. 66) ผู้ใช้งานบัญชีติ๊กต็อกชื่อ ‘ckfastwork’ ของ ซีเค เจิง นักธุรกิจรุ่นใหม่ เผยแพร่คลิปวิดีโอในหัวข้อ ‘ระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจของจีน’ โดยระบุว่า..

“โดยส่วนตัว ผมจะไม่มีวันไปลงทุนกับประเทศจีน ผมไม่คิดว่ามันจะเวิร์ก สิ่งที่รักษาประเทศจีนอยู่ถึงทุกวันนี้เป็นเพราะมีประชากรจีนเยอะมาก แต่จีดีพีต่อหัวยังถือว่าต่ำมาก แต่ประชากรเยอะเลยอยู่ได้ง่าย คุณขายน้ำ ก๋วยเตี๋ยว ไม่ต้องขายบ้านอื่น ขายแค่ในบ้านก็รวยแล้ว คนที่รวยที่สุดในประเทศจีนตอนนี้คือใครครับ? คนที่ขายน้ำเปล่า (Zhong Shanshan) แบรนด์น้ำของเขาไม่จำเป็นต้องขายบ้านอื่นเลย ซึ่งเขาเป็นคนที่รวยที่สุด เพราะว่าขายแค่ในบ้านตัวเอง”

ซีเค เจิง ระบุต่อว่า “การลงทุนของผมไม่ชอบอะไรอย่างนั้น ผมชอบทำธุรกิจที่เปลี่ยนโลก ผมไม่ชอบธุรกิจที่อยู่แค่ในบ้าน จีนทำสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วยหลายอย่าง ซึ่งผมไม่ชอบมาก การไม่ให้คนอื่นลงทุนต่างประเทศ คุณหาเงินที่จีน แต่คุณเอาเงินหยวนออกจากจีนไม่ได้นะ อย่างมาก 1 ปี ได้ 2 ล้านหยวน คือเขาบังคับให้คุณต้องลงทุนกับประเทศจีน แล้วจะซื้อที่ดินจีนก็ซื้อไม่ได้ด้วย อสังหาฯ จีนจะไปซื้อได้ไง ใครจะไปซื้อที่ดินจีน ซื้อไม่ได้ ครบ 70 ปี คุณก็ต้องคืน”

“เกษตรกรบ้านเขาจะเกิดได้ยังไง เป็นเหมือนระเบิดเวลา เดี๋ยวเกษตกรจีนก็ตาย เพราะเกษตรกรจีนเป็นเหมือนพนักงาน ไม่สามารถเป็นผู้ประกอบการ เพราะยังไงที่ดินก็เป็นของประเทศจีน ไม่ได้เป็นของพลเมืองจีน ถ้าพี่เป็นเกษตรกรจีนที่เก่งมาก พี่อยากอยู่ไหม? ไม่อยากอยู่หรอก จะเป็นพนักงานทั้งชีวิตเหรอ? ไม่มีทาง”

“ผมไม่ชอบประเทศจีนนะ ผมรู้นะว่าหลายคนบอกว่าจีนกำลังมาแรง หรือเรย์ ดาลิโอ เขามีหนังสือเขียนว่าเทรนด์จีนกำลังแซงหน้าสหรัฐฯ เข้าไปทุกที ผมไม่เห็นด้วยหรอกนะ คลิปของผมก็อยู่ในโซเชียลหมด ถ้าวันหนึ่งจีนเหนือกว่าอเมริกาจริง ๆ ค่อยมาหัวเราะใส่ผมแล้วกัน ผมจะไม่ลงทุนในประเทศจีน”

“ผมเป็นคนจีนนะครับ ต้องบอกว่าสำหรับผม ผมค่อนข้างที่จะละอายที่ประเทศจีนทำอย่างนี้ และหลายๆ อย่างที่ผมไม่ชอบมาก” ซีเค เจิง ทิ้งท้าย

อย่าตื่นตูม!! ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนหด 'ไม่มีใครผิด-ไม่ใช่แค่ที่ไทย' เหตุภาวะศก.ไม่เป็นใจ แม้แต่คนจีนยังเน้นท่องเที่ยวในประเทศตัวเอง

(27 พ.ย.66) จากเพจ 'World Forum ข่าวสารต่างประเทศ' ได้โพสต์ข้อมูลที่สะท้อนถึงการท่องเที่ยวในต่างแดนของคนจีนที่เริ่มเบาบางลงในช่วงนี้ โดยระบุว่า...

จีน 🇨🇳 : จีนยกเลิกเที่ยวบิน 
เข้าไทย เดือน ธันวาคม - มกราคม ปี 2024 ประมาณ 39% ใน 10 สายการบิน

#สถิติ (ข้อมูลฐานเศรษฐกิจ)
**เดือนธันวาคม 2023
ยื่นขอทำการบิน 10,939 เที่ยวบิน ยืนยันบินจริง 5,858 เที่ยวบิน หายไป 5,081 เที่ยวบิน หรือ 46%

**มกราคม 2567 ขอทำการบิน 10,984 เที่ยวบิน ยืนยันทำการบิน 7,420 เที่ยวบิน หายไป 3,564 เที่ยวบิน หรือ 32%

**รวม 2 เดือนขอทำการบิน 21,923 เที่ยว ยืนยันการบิน 13,279 เที่ยวบิน หายไป 39% หรือกว่า 8,648 เที่ยวบิน 

>> เหตุผลการยกเลิก: เนื่องจากไม่มีดีมานด์จำนวนนักท่องเที่ยวมากพอ

**ในส่วนการบินสัญชาติไทย ยังบินเข้าจีน อาทิ...
- แอร์เอเชีย 74 เที่ยวบิน/สัปดาห์ 
- การบินไทย 56 เที่ยวบิน/สัปดาห์ 

#สถิติการเยือนนักท่องเทียวจีน
ขอเทียบปีสูงสุด เทียบปีปัจจุบัน

2018 หรือ 19 เทียบ 2023
🇯🇵 ญี่ปุ่น 9.5 ล้าน >> 1.2 ล้าน /8 เดือน
🇸🇬 สิงคโปร์ 3.6 ล้าน >> 1.005 ล้าน /9 เดือน
🇹🇭 ไทย 10.06 ล้าน >> 2.7 ล้าน /10 เดือน
 *ณ 22/10/2023

**จะเห็นได้ว่า เมืองสำคัญที่จีนนิยมเดินทางเข้า ญี่ปุ่น, ไทย ตัวเลขลดลงเกินครึ่ง ส่วนสิงคโปร์ เป็นฮับบินภูมิภาค มีเครื่องบินพร้อมตัวเลขก็ตกลงเช่นกัน จากสื่อสิงค์โปร์ แจ้งว่าต้องใช้เวลาพอสมควรในการฟื้นฟูการบินเข้าจีน

✍️ส่วนข่าวในจีนตอนนี้  
*มุมมองจากภายนอกมองว่าจีนมีปัญหาเศรษฐกิจภายในจีน โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ กำลังมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ เป็นวงกว้าง เจ้าใหญ่ ๆ ของประเทศ จากข่าวเอเวอร์แกรนด์ มาต่อด้วยคันทรี่การ์เด้น และล่าสุด จงจื่อธนาคารเงาของจีน 

**เอเวอร์แกรนด์
เวอร์แกรนด์มีหนี้สินประมาณ 305,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 10.7 ล้านล้านบาท

**คันทรี่การ์เด้น
มีหนี้สินอยู่ประมาณ 186,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.74 ล้านล้านบาท) 

**ข่าวใน 2-3 วันนี้ 
รัฐบาลจีนเริ่มสอบสวน จงจื่อ เอนเตอร์ไพรส์ Zhongzhi Enterprise Group ยักษ์ใหญ่ธนาคารเงาอันดับต้นของจีน เสี่ยงล้มละลาย มีหนี้สินประมาณ 5.87 หมื่นล้านดอลลาร์ /2.2 ล้านล้านบาท

#การท่องเที่ยวในจีน 
รัฐบาลจีนได้อนุมัติมาตรการทดลองวีซ่าฟรี เข้าประเทศ 15 วัน ให้กับพลเมือง 6 ประเทศ ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์, สเปน และมาเลเซียเป็นเวลาหนึ่งปี เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศจีน

#ภาพสถานะบิน สนามบินจีน  
ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, เซินเจิ้น เวลาประมาณ 10.00 น.  27/11/2023 จะเห็นได้ว่า การบินออกสถานะบินน้อยมาก เมื่อเทียบในภูมิภาค 

จีนเน้นบิน ท่องเที่ยวในประเทศ

‘มือเศรษฐกิจจุลภาค’ มอง 6 ผลกระทบหลัง Zhongzhi Enterprise ล้ม ‘ธนาคารเงา-วิกฤติอสังหาฯ’ อาจพาเศรษฐกิจจีนอ่วม

(6 ม.ค. 67) นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ มือเศรษฐกิจจุลภาค อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Ta Plus Sirikulpisut’ ถึงกรณี Zhongzhi Enterprise, Shadow bank อันดับ 1 ประเทศจีนล้ม!! ความเสียหายมูลค่าหลายล้านล้าน โดยระบุว่า…

‘Shadow Bank’ คืออะไร? จะมีผลกระทบอะไรต่อไป?

เราจะมาวิเคราะห์กันครับ!!

ระบบสถาบันการเงินในจีน มีความซับซ้อน โดยปิรามิดบนสุด คือ ธนาคารขนาดใหญ่ที่เป็นระดับนานาชาติ เช่น ICBC, Bank of China, Agriculture Bank, Construction Bank ... 4 ธนาคารนี้ติด Top 20 ของโลก... รองมา คือ ระดับประเทศ และระดับ State นอกจากนี้ ยังมี FinTech เช่น Ant เข้ามามีบทบาทด้านการเงินในระบบเศรษฐกิจจีน และนอกจากนี้ Shadow Bank ก็มีบทบาทสำคัญซ้อนอยู่ด้านใน

‘Shadow Bank’ คือ บริษัทที่ทำธุรกิจการเงินคล้ายแบงก์ (Non Bank) แต่ไม่ได้มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคาร กล่าวคือ ธนาคารพาณิชย์จะรับฝากเงินและปล่อยกู้ แต่ Shadow Bank จะระดมเงินจากการออกพันธบัตร ตั๋วเงิน (Bill of Exchange) Note ต่างๆ จากคนที่ต้องการเงินออมสูงกว่าดอกเบี้ยธนาคาร แล้วมาปล่อยกู้คนที่กู้เงินธนาคารไม่ได้ หรือต้องการกู้เงินด้วยเงื่อนไขที่ยุ่งยากน้อยกว่า

Shadow Bank เติบโตซ้อนขึ้นมากับระบบเศรษฐกิจจีน… เมื่อหลายปีก่อนญาติผู้ใหญ่ผมในฮ่องกงเล่าให้ฟังว่า เขาลงทุนฝากเงิน หรือ ซื้อพันธบัตรใน Shadow Bank เหล่านี้… ผลตอบแทนสูงมาก ราว 100%+ จนคนฮ่องกง, กวางตุ้ง เริ่มเปิด Shadow Bank เองกันเยอะ 

กลไกหลักทำงานยังไง? คุณลุงเล่าว่า ธนาคารจีน เริ่มเข้มงวดโดยเฉพาะภาคอสังหาฯ บริษัทที่กู้เงินธนาคารจะ Roll due ไม่ได้ต้องตัดจ่ายต้นก่อนค่อยกู้ต่อ บริษัทเหล่านี้จึงมากู้ Shadow Bank เพื่อเอาเงินไปชำระธนาคาร ธนาคารก็ปิดยอดทำงบการเงินรายไตรมาส… เวลาธนาคารแห่งชาติมาตรวจ ก็สุขภาพดี ส่วน Shadow Bank ก็ได้ดอกเบี้ยสูงแถมมีหลักประกัน ที่ได้รับการไถ่ถอนจากธนาคารหลัก เรียกได้ว่า Refinance ช่วงสั้นๆ แต่ดอกเบี้ยได้ใจมาก 

ต่อมารัฐบาลจีนเริ่มนโยบาย ลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคอสังหาฯ ส่งผลให้เงินกู้ที่ปล่อยภาคอสังหาฯ เริ่มยากขึ้น โครงการต่างๆ เริ่มสร้างไม่จบ นอกจากนี้ ลูกค้าก็ซื้อบ้านยากขึ้น ด้วยกติกาที่ต้องวางดาวน์สูง และซื้อบ้านหลังที่สองที่สามกู้ยาก ลดการเก็งกำไร บริษัทอสังหาฯ ต้องหันมาพึ่งพา Shadow Bank มากขึ้น… นอกจากนี้ ยังออก Bond เองมากขึ้นด้วย 

รัฐบาลจีนเหยียบเบรกรอบนี้ จึงกระทบหนักและจะแก้ไขก็ไม่ทัน ยักษ์ใหญ่อย่าง ‘China Evergrande’ เบอร์หนึ่งด้านอสังหาฯ ไม่รอดแล้ว จ่ายดอกเบี้ยผิดนัด และมีอีกหลายรายตามมา 

สุดท้าย Shadow Bank อันดับ 1 อย่าง Zhongzhi ก็ขาดสภาพคล่องผิดนัดชำระหนี้ โดยมีมูลหนี้ราว 400 Billion RMB (4 แสนล้านหยวน) ซึ่งใหญ่กว่า China Evergrande มาก… ก็ธนาคารอะนะ!! 

เมื่อธนาคารแบบนี้ล้ม ระบบ Refinance หลังบ้านก็พังตาม ถ้าเป็น Domino ธนาคารจีน จะมีหนี้เสียขนาดใหญ่ตามมา และส่งผลให้จีนต้องเร่งปฏิรูปภาคธนาคาร รวมถึงการจัดการหนี้ Municipal, State Government, State Enterprise รวมถึงหนี้ครัวเรือนโดยเฉพาะอสังหาฯ โชคดีที่จีนมี Consumer Finance ไม่มากแบบเรา แต่อสังหาฯ ก็จะสร้าง Ghost Town, Ghost Building และบั่นทอนประชาชนมาก 

ระบบกฎหมายจีนต้องเร่งปรับหลายเรื่อง กฎหมายล้มละลาย การจัดการหนี้เสีย หนี้ดี บริษัทบริหารสินทรัพย์ ตลาดรองอสังหาริมทรัพย์ (ที่ไทยปิดไปแล้ว) การทำ SPV, Securitization และ FinTech

ผลกระทบที่ตามมา…
1.) เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวเพิ่ม การบริโภคหาย การลงทุนภาคเอกชนชะงักงัน
2.) วัสดุก่อสร้างขายไม่ออก ต้องเน้นส่งออก หรือย้ายโรงงานมาต่างประเทศ
3.) ธุรกิจที่ต้องซื้อของด้วย Finance อย่างรถยนต์ และอื่นๆ จะได้รับผลกระทบ ค่ายรถจีนอาจหนีมาไทยมากขึ้น
4.) เงินออมประชาชนได้รับความเสียหายหนัก จากการผิดนัด
5.) กระทบทิศทางนโยบายการเงินจีนและโลก
6.) ไทยจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกไปจีน และนักท่องเที่ยว

'จีน' กาง GDP 2023 มูลค่าเกิน 126 ล้านล้านหยวน เติบโต 5.2% กลบเสียงสื่อตะวันตก นิยามเศรษฐกิจจีน 'แย่แล้ว-พังแล้ว'

(19 ม.ค. 67) จากเพจ 'ลึกชัดกับผิงผิง' ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

#เศรษฐกิจ #จีน #โลก
เศรษฐกิจจีนไม่พัง เศรษฐกิจโลกไม่พัง 

วันที่ 17 มกราคม ค.ศ. 2024 สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนประกาศสถิติว่า ปี 2023 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี (GDP) เกิน 126 ล้านล้านหยวน โดยสูงถึง 126.0582 ล้านล้านหยวน เติบโตร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับปี 2022 

ตัวเลขดังกล่าวเป็นการสิ้นสุดคำกล่าวอ้างของสื่อตะวันตกบางแห่งที่ชอบบอกว่า 'เศรษฐกิจจีนแย่แล้ว' / 'เศรษฐกิจจีนจะพังแล้ว'

จีนยังคงเป็นพลังขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกดั่งที่แล้วมาอย่างต่อเนื่อง จีนเป็นกำลังสำคัญในการรักษาความมั่นคงของเศรษฐกิจโลก เน้นการร่วมมือทางการค้ากับต่างประเทศ เศรษฐกิจจีนไม่พัง เศรษฐกิจโลกก็จะไม่พัง

จับตา!! กลไกรัฐจีน สั่งการกองทุน Central Huijin กระหน่ำซื้อหุ้น+กองทุน ETF ในตลาดทุนมากขึ้น

(7 ก.พ. 67) รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า…

“🇨🇳 Visible Hand กลไกรัฐจีนทำงานหนัก!! สั่งการให้ Central Huijin ของรัฐบาลจีนกระหน่ำซื้อหุ้น+กองทุน ETF ในตลาดทุนมากขึ้น”

#หุ้นจีน 🇨🇳 ปรับแดนบวก 07.02.2024 เพราะมือที่มองเห็นในจีน!! 

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์จีน (CSRC) 🇨🇳 ประกาศสนับสนุนให้บริษัท Central Huijin Investment (เซ็นทรัล หุยจิน) บริษัทด้านการลงทุนของรัฐบาลจีนเข้าซื้อกองทุน ETF : Exchange-Traded Funds และซื้อหุ้นในตลาดมากขึ้น เพื่อสนับสนุนตลาดหุ้นภายในประเทศ

Central Huijin Investment Co., Ltd. คือ บริษัทลงทุนของทางการจีน (พรรคคอมมิวนิสต์จีน) 🇨🇳 ตั้งมานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2003 โดยอยู่ในสังกัดของกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของจีน (Sovereign Wealth Fund ) ที่ใช้ชื่อว่า กองทุน CIC : China Investment Corporation 

กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ CIC เป็นกองทุนสถาบันที่มีรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ โดยการนำทุนสำรอง reserves หรือรายได้ของประเทศบางส่วนมาฝากไว้กับกองทุน เพื่อหาผลตอบแทน

ในปัจจุบัน Central Huijin ของทางการจีนได้เข้าไปถือหุ้นในธนาคารและสถาบันการเงินสำคัญต่าง ๆ ของจีนกว่า 17 แห่ง เช่น  ธนาคาร Big Four ทั้งสี่ของจีน และธนาคารอื่น ๆ รวมทั้งถือหุ้นในบริษัทประกันต่าง ๆ และถือหุ้นในบิ๊กเทคจีน เช่น Alibaba!!

Central Huijin จึงถือเป็นอีกกลไกรัฐของจีนในการเข้าไปมีบทบาท (พยุง) ตลาดทุนและสถาบันการเงินสำคัญของจีน เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน  

#มือที่มองเห็นของจีน 🇨🇳 #กลไกรัฐ

วิกฤต Gen Z จีน 'หางานยาก-งานรายได้ต่ำ-มีไม่กี่คนที่จะได้งาน' สุดท้ายหันมาใช้ชีวิตแบบ 'ถ่างผิง' เรียบง่าย ไร้ความทะเยอทะยาน

Gen Z หรือ Generation Z หมายถึงเด็กที่เกิดในช่วงปลายทศวรรษ 1990 จนถึงกลางทศวรรษ 2010 ดูจากอายุอานามแล้ว เป็นคนรุ่นที่กำลังก้าวขึ้นมามีบทบาทในองค์กรต่าง ๆ

ทว่า ปัจจุบัน Gen Z ในจีน ได้พากันหันหลังให้กับชีวิตในบริษัทใหญ่ ๆ เหมือนคนรุ่นพ่อแม่ และปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่สนใจอาชีพการงานที่มั่นคง ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่ผันผวนอย่างหนัก

ปัจจุบัน จีนมี Gen Z ราว 280 ล้านคน ผลการสำรวจทัศนคติของ Gen Z เมื่อเทียบกับคนในช่วงอายุอื่นพบว่า Gen Z ถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่ ‘มองโลกแง่ร้ายมากที่สุด’

มหกรรมการหางานครั้งล่าสุดในกรุงปักกิ่งตอกย้ำสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เพราะตำแหน่งที่เปิดรับมีแต่งานที่ใช้ทักษะต่ำ เช่น การเป็นผู้ช่วยขายประกัน หรือไม่ก็ผู้ช่วยขายอุปกรณ์ทางการแพทย์

หากพูดถึงเงินเดือนคาดหวังในมหกรรมการหางานดังกล่าวแล้ว ค่าเฉลี่ยสำหรับพนักงานใหม่ได้ปรับลดลงใน 38 เมืองสำคัญ ถือว่าเป็นการปรับลดครั้งที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016

หนุ่มปริญญาโทวัย 25 ที่เรียนจบสาขาวิศวกรรมซอฟท์แวร์จากเยอรมนีคนหนึ่งเชื่อว่า ผู้ที่มีความสามารถจริง ๆ จะต้องหางานได้ เขาเชื่อว่า ‘อนาคตของโลกอยู่ที่จีน’

แต่พอกลับมาถึงจีนจริง ๆ เขาเริ่มไม่มั่นใจเมื่อเจอบรรยากาศเศรษฐกิจบ้านเกิดแม้ทักษะ และองค์ความรู้ที่เขามีจะเป็นที่ต้องการอย่างมาก แต่ในความเป็นจริง มีคนที่จบจากยุโรป และเรียนมาในสาขาเดียวกันจำนวนมาก

‘งานจึงไม่ได้หาง่ายอย่างที่คิด’ เขากล่าว

เพื่อนหลายคนของเขา จึงตั้งเป้าไปที่งานราชการแทน หลังมองว่างานบริษัทเอกชนนั้น ‘อนาคตมืดมน’ ทำให้ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หนุ่มสาวชาวจีนเข้าสมัครสอบคัดเลือกรับราชการมากเป็นประวัติการณ์ คือสูงกว่า 3 ล้านคน

เขากล่าวว่า “เด็กนับล้านต่างมองหางานแน่นอน มีไม่กี่คนที่จะได้งาน และคนโชคดีที่ได้งาน ก็เป็นงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับสาขาที่จบ”

หญิงสาวชาวจีนอีกคนที่จบจากมหาวิทยาลัยในประเทศ มีความมุ่งมั่นกับการหางาน และหาอะไรทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้งานที่ต้องการ เช่น การเป็นไกด์นำเที่ยวในอุทยานแพนด้า นครเฉิงตู หรือเป็นพนักงานขายเครื่องดื่ม และฝึกงานในโรงเรียนอนุบาลก็เคยมาแล้ว

“งานพวกนี้ไม่ค่อยมีอนาคตนัก” เธอกล่าว “งานทักษะต่ำ แน่นอนเงินเดือนย่อมต่ำ ที่สำคัญถูกแทนที่ง่ายมากหากคุณหยุดงานแค่ครึ่งวัน รุ่งขึ้นก็จะมีคนใหม่มาทำแทน เมื่อเป็นแบบนี้ เด็กส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะกลับไปอยู่บ้านกับพ่อแม่ หรือที่เรียกว่าประกอบอาชีพลูกเต็มเวลา”

ปัจจุบัน เธอเป็นพนักงานขายหนังสือและอุปกรณ์การศึกษา แม้จะไม่ใช่งานในฝัน แต่เธอมองว่ายังดีกว่าไม่มีอะไรทำ และคิดในแง่บวกว่าเป็นการสั่งสมประสบการณ์

ในทางกลับกัน ครอบครัวของเธอเป็นกังวลมาก เนื่องจากเธอเป็นลูกหลานคนแรกของครอบครัวที่จบมหาวิทยาลัย พ่อของเธอภูมิใจมากถึงขนาดจัดเลี้ยงโต๊ะจีนกว่า 30 โต๊ะในวันรับปริญญา

“พ่อแม่คาดหวังว่าหลังจากที่พวกเขาส่งเสียฉันเรียนหนังสือ อย่างน้อยฉันจะหางานได้ พวกเขาคาดหวังให้ฉันมีชีวิตที่ดี แต่ฉันยืนยันว่าจะเดินไปตามทางของตัวเอง และในความเร็วที่ฉันกำหนดเอง”

เธอตั้งเป้าหมาย ว่าต้องไปให้ไกลกว่านี้ และหวังว่าวันหนึ่งจะไปเรียนภาษาอังกฤษที่ออสเตรเลีย เธอเชื่อว่าช่วงชีวิต Gen Z แบบเธอง่ายกว่าคนรุ่นพ่อแม่มาก เพราะตอนนั้น จีนจนกว่านี้มาก ความฝันต่าง ๆ ก็ดูห่างไกลจากความเป็นจริงแบบฟ้ากับเหว

“ยังมีเวลาอีกมากสำหรับพวกเราเพื่อไปถึงจุดหมาย เราไม่ได้สนใจหรือทุ่มชีวิตไปกับการหาเงินเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อน เรามองไปที่วิธีการที่จะทำให้ฝันเป็นจริงยังไงมากกว่า”

เช่นเดียวกับหญิงสาวอีกคนที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัยในประเทศมาหมาด ๆ เธอตั้งเป้าจะทำงานในบริษัทแฟชั่นยักษ์ใหญ่ แต่หลังจากได้เข้าไปสัมผัสการทำงานจริงราว ๆ 2 ปี ความกดดัน และความสัมพันธ์ที่เลวร้ายกับหัวหน้างาน ทำให้เธอตัดสินใจลาออก และหันมาประกอบอาชีพ ‘ช่างสัก’

เธอและเพื่อนชาว Gen Z นับล้านคนกำลังรู้สึกไม่พอใจกับโอกาสในการทำงานมากขึ้นเรื่อย ๆ Gen Z ในจีนจึงพากันหันมาใช้ชีวิตแบบ ‘นอนราบ’ หรือ Lying Flat (ภาษาจีนเรียกว่า ‘ถ่างผิง’) ซึ่งหมายถึง การใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ไร้ความทะเยอทะยาน ทำงานเท่าที่จำเป็น และเอาเวลาว่างไปทำกิจกรรมที่ตนสนใจ

ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลจีนพยายามผลักดันตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิด COVID-19

อย่างไรก็ตาม การสำรวจเมื่อเดือนมิถุนายนปี ค.ศ. 2023 พบว่า อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวทั่วประเทศเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่เกือบ 22%

สอดคล้องกับข้อมูลจากสถาบันอุดมศึกษาที่ชี้ว่า ผู้ที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ยอมทำงานที่ต่ำกว่าวุฒิ เพื่อให้มีรายได้ประทังชีวิตไปวันวัน

สาวช่างสักบอกว่า ตอนนี้เธอมีความสุขมาก และเชื่อว่า การเดินออกมาจากบริษัทใหญ่ ไม่เพียงหลีกหนี ‘แรงกดดันที่ไม่จบ’ เท่านั้น แต่ยังเป็นการค้นพบตัวเองที่คุ้มค่ามาก

เมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าผู้จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ในเชิงกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ ‘กินของขม’ ซึ่งเป็นวลีภาษาจีนที่ใช้อธิบายความหมายของ ‘ความอดทนในช่วงเวลาที่ยากลำบาก’

ทั้งนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ออกมากระตุ้นเป็นระยะ ให้เด็กจบใหม่เลิกคิดว่าพวกเขาดีเกินกว่าจะใช้แรงงาน โดยบอกให้พวกเขา ‘พับแขนเสื้อขึ้น’ เพื่อไปทำงานที่ใช้แรง และให้ ‘กลืนความขมขื่น’

ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายสำหรับการกำหนดนโยบายของผู้นำจีน คือการทำให้กลุ่มคน Gen Z รู้สึกสงบลง ท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าที่สุดในรอบเกือบครึ่งศตวรรษ

ขณะที่เศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัว และตลาดแรงงานยังอยู่ในภาวะที่อึดอัด Gen Z เหล่านี้ต้องรับมือกับความท้าทายมากมาย อาทิ ความไม่เท่าเทียมทางสังคม การควบคุมทางการเมืองที่เข้มงวด และแนวโน้มทางเศรษฐกิจของจีนที่ยังดูไร้ความหวัง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top