Monday, 21 April 2025
เศรษฐกิจจีน

‘จีน’ อวดจีดีพีไตรมาสแรก ปี 2024 โต 5.3% สะท้อนเศรษฐกิจแข็งแกร่ง-เปี่ยมด้วยศักยภาพ

(29 เม.ย. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวแกร่งในไตรมาสแรกของปี 2024 ชี้ถึงความแข็งแกร่งและความสามารถในการฟื้นตัวของจีน ตลอดจนการนำเสถียรภาพซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมาสู่ภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอน

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เผยว่าช่วงสามเดือนแรกของปี จีดีพีหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของของจีนขยายตัวร้อยละ 5.3 จากปีก่อนหน้า เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 5.2 ในไตรมาสก่อนหน้า 

ในการประชุมโต๊ะกลมทางเศรษฐกิจแห่งประเทศจีน (China Economic Roundtable) รอบที่ 4 ซึ่งเป็นเวทีเสวนาที่จัดโดยสำนักข่าวซินหัว วิทยากรหลายท่านกล่าวว่าตัวเลขข้างต้นถือเป็น ‘การเริ่มต้นที่ดี’ พร้อมกล่าวว่าจีนเผชิญหน้ากับกระแสลมต้านทางเศรษฐกิจ ด้วยการผสานนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างรากฐานที่มั่นคงแก่เศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาที่ดีและมั่นคงในปี 2024

รายงานจากสำนักงานฯ ระบุว่า การเติบโตของจีดีพีจีนในไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการเติบโตโดยรวมที่ร้อยละ 5.2 ของปี 2023 และสูงกว่าเป้าหมายการเติบโตในปีนี้ที่ตั้งไว้ที่ราวร้อยละ 5 และเมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส เศรษฐกิจจีนในช่วงสามเดือนแรกของปีขยายตัวร้อยละ 1.6 ทั้งยังเติบโตติดต่อกันเป็นไตรมาสที่เจ็ด

นอกจากนี้ ดัชนีชี้วัดอื่น ๆ เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ปริมาณการค้าต่างประเทศ และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ล้วนชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก

ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เป็นดัชนีสำคัญที่บ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจโดยรวมสำหรับภาคการผลิตและบริการ ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีรายงานการปรับปรุงดัชนีดังกล่าว โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของภาคการผลิตกลับมาอยู่สูงกว่าระดับ 50 เป็นครั้งแรกนับแต่เดือนกันยายน บ่งชี้ถึงการกลับมาขยายตัวของภาคส่วนนี้

ตัวเลขสถิติของไตรมาสแรก แสดงให้เห็นว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจีนมีทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ และก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพสูงและขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม 

จีนกำลังเปลี่ยนผ่านจากการผลิตแบบดั้งเดิมไปสู่ภาคส่วนที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูง ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและอุตสาหกรรมสีเขียวและคาร์บอนต่ำอย่างจริงจัง ในไตรมาสแรกนี้ ภาคการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงของจีนมีปริมาณการผลิตเติบโตร้อยละ 7.5 เร่งตัวขึ้นร้อยละ 2.6 จากไตรมาสก่อนหน้า

การลงทุนในอุตสาหกรรมการบิน ยานอวกาศและการผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.7 ช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม ขณะที่การผลิตหุ่นยนต์บริการและยานยนต์พลังงานใหม่เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 26.7 และ 29.2 ตามลำดับ

เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งผู้กำหนดนโยบายของจีนกล่าวไว้ว่าจะเป็นไปในลักษณะคล้ายลูกคลื่น เพราะจะมีการพลิกผัน เลี้ยวลด และยังไม่นิ่ง จีนจึงใช้นโยบายที่หลากหลายเพื่อมาหักล้างแรงกดดันขาลงและรับมือกับความท้าทายเชิงโครงสร้าง

จีนให้คำมั่นว่าจะเดินหน้าใช้นโยบายการคลังเชิงรุกและนโยบายการเงินที่รอบคอบต่อไปในปีนี้ และได้ประกาศใช้มาตรการส่งเสริมการเติบโตหลายประการ อาทิ การออกพันธบัตรรัฐบาลพิเศษระยะยาว (Ultra-Long) และมีการจัดสรรเงินทุนเบื้องต้น 1 ล้านล้านหยวน ในปี 2024

เพื่อกระตุ้นการลงทุนและการบริโภค จีนเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่าในการส่งเสริมการอัปเกรดอุปกรณ์ขนาดใหญ่และการนำสินค้าอุปโภคบริโภคเก่ามาแลกเป็นส่วนลดหรือแลกเป็นของใหม่

นอกจากนี้ จีนตั้งเป้าว่าปริมาณการลงทุนด้านอุปกรณ์ในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การก่อสร้าง การขนส่ง การศึกษา วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการให้บริการทางการแพทย์ จะเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 25 ภายในปี 2027 เมื่อเทียบกับปี 2023

เพื่อผลักดันการเปิดกว้างระดับสูงและปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น จีนประกาศใช้มาตรการสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ 24 ข้อ เพื่อดึงดูดทุนต่างประเทศ และให้คำมั่นว่าจะปรับลดรายการกิจกรรมการลงทุนและกิจการต้องห้าม (Negative List) สำหรับบริษัทต่างชาติ รวมถึงเริ่มโครงการนำร่องต่าง ๆ เพื่อผ่อนคลายหลักเกณฑ์ในการเข้าสู่จีนของนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากต่างชาติ

จีนยังประกาศเพิ่มแรงจูงใจเชิงนโยบายอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนหลายธุรกิจ เช่น เศรษฐกิจสูงวัย สินเชื่อผู้บริโภค การจ้างงาน การพัฒนาสีเขียวและคาร์บอนต่ำ รวมไปถึงนวัตกรรมเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ และผู้ประกอบกิจการขนาดเล็ก

FDI 101 เปิดอีกด้าน!! เงินลงทุนจากต่างประเทศใน 'จีน-อาเซียน' ตัวเลขสะสมจีนยังใหญ่กว่าอาเซียน 20 เท่า ส่วน ศก.ใหญ่กว่า 5 เท่า

(5 ส.ค. 67) จากเฟซบุ๊ก 'Sompob Pordi' ของ นายสมภพ พอดี นิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ 'FDI 101' ระบุว่า...

FDI ย่อมาจาก Foreign Direct Investment ซึ่งคือ เงินลงทุนจากต่างประเทศในภาคเศรษฐกิจจริง เช่น สร้างโรงกลั่นนํ้ามัน โรงไฟฟ้า โรงงานอาหารกระป๋อง ฯลฯ

ถ้าบังเอิญไปเห็นข้อความในภาพปลากรอบ (https://www.facebook.com/share/p/Kb79wYUJj1FeA7AT/?mibextid=oFDknk) ที่ปั่นให้คนอ่านเข้าใจผิดว่า 'เศรษฐกิจจีนแย่แล้ว' ไม่มีใครสนใจหอบเงินไปลงทุนแล้ว จากตรงนี้ไปคือข้อเท็จจริงครับ

เป็นความจริงที่ ในปี 2022 กับ 2023 FDI ของอาเซียนพุ่งกระฉูดเป็น $229 bn ในขณะที่ของจีนลดลงจากที่พีคในปี 2021 ที่ $344 bn เหลือ $100+ ใน 2022 กะ 2023

แต่ถ้าเราเอาตัวเลข FDI สะสมของจีน กะ อาเซียน มาวางเทียบกัน จะตื่นตาตื่นใจเพราะ ตัวเลขของจีนใหญ่กว่าอาเซียนกว่า 20 เท่า 

ส่วนที่ว่าจะเติบโตนำจีนใน 10 ปี ผมไม่รู้จริงว่าเขาหมายถึงอะไร เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจจีนใหญ่กว่าอาเซียนเกือบ 5 เท่า คาดว่าเขาฝันไปมากกว่า

สิ่งที่ภาพปลากรอบบอกเรา ไม่ได้แปลกอะไรเพราะ...

1. ตอนนี้จีนมีทุนของตัวเองมากมหาศาลแล้ว ไม่ได้พยายามดึงเอา FDI เข้าประเทศ แถมตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีเรียบ ไม่เหลืออะไรแล้ว

2. จีนถูกฝรั่งควํ่าบาตร/กีดกันทางการค้าสารพัด แล้วทุนข้ามชาติที่ไหนจะขนเงินเข้าไปลงทุนสร้างโรงงานโน่นนี่อย่างในอดีต

ถ้าผมเป็นสื่อเพื่อแสวงหากำไร ผมคงหากินกับคนโง่เหมือนกันเพราะง่ายดี 

แต่คงไม่สนุกเพราะจะทำให้ผมโง่ลง ๆ ทุกวัน 5555


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top