วิกฤต Gen Z จีน 'หางานยาก-งานรายได้ต่ำ-มีไม่กี่คนที่จะได้งาน' สุดท้ายหันมาใช้ชีวิตแบบ 'ถ่างผิง' เรียบง่าย ไร้ความทะเยอทะยาน

Gen Z หรือ Generation Z หมายถึงเด็กที่เกิดในช่วงปลายทศวรรษ 1990 จนถึงกลางทศวรรษ 2010 ดูจากอายุอานามแล้ว เป็นคนรุ่นที่กำลังก้าวขึ้นมามีบทบาทในองค์กรต่าง ๆ

ทว่า ปัจจุบัน Gen Z ในจีน ได้พากันหันหลังให้กับชีวิตในบริษัทใหญ่ ๆ เหมือนคนรุ่นพ่อแม่ และปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่สนใจอาชีพการงานที่มั่นคง ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่ผันผวนอย่างหนัก

ปัจจุบัน จีนมี Gen Z ราว 280 ล้านคน ผลการสำรวจทัศนคติของ Gen Z เมื่อเทียบกับคนในช่วงอายุอื่นพบว่า Gen Z ถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่ ‘มองโลกแง่ร้ายมากที่สุด’

มหกรรมการหางานครั้งล่าสุดในกรุงปักกิ่งตอกย้ำสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เพราะตำแหน่งที่เปิดรับมีแต่งานที่ใช้ทักษะต่ำ เช่น การเป็นผู้ช่วยขายประกัน หรือไม่ก็ผู้ช่วยขายอุปกรณ์ทางการแพทย์

หากพูดถึงเงินเดือนคาดหวังในมหกรรมการหางานดังกล่าวแล้ว ค่าเฉลี่ยสำหรับพนักงานใหม่ได้ปรับลดลงใน 38 เมืองสำคัญ ถือว่าเป็นการปรับลดครั้งที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016

หนุ่มปริญญาโทวัย 25 ที่เรียนจบสาขาวิศวกรรมซอฟท์แวร์จากเยอรมนีคนหนึ่งเชื่อว่า ผู้ที่มีความสามารถจริง ๆ จะต้องหางานได้ เขาเชื่อว่า ‘อนาคตของโลกอยู่ที่จีน’

แต่พอกลับมาถึงจีนจริง ๆ เขาเริ่มไม่มั่นใจเมื่อเจอบรรยากาศเศรษฐกิจบ้านเกิดแม้ทักษะ และองค์ความรู้ที่เขามีจะเป็นที่ต้องการอย่างมาก แต่ในความเป็นจริง มีคนที่จบจากยุโรป และเรียนมาในสาขาเดียวกันจำนวนมาก

‘งานจึงไม่ได้หาง่ายอย่างที่คิด’ เขากล่าว

เพื่อนหลายคนของเขา จึงตั้งเป้าไปที่งานราชการแทน หลังมองว่างานบริษัทเอกชนนั้น ‘อนาคตมืดมน’ ทำให้ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หนุ่มสาวชาวจีนเข้าสมัครสอบคัดเลือกรับราชการมากเป็นประวัติการณ์ คือสูงกว่า 3 ล้านคน

เขากล่าวว่า “เด็กนับล้านต่างมองหางานแน่นอน มีไม่กี่คนที่จะได้งาน และคนโชคดีที่ได้งาน ก็เป็นงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับสาขาที่จบ”

หญิงสาวชาวจีนอีกคนที่จบจากมหาวิทยาลัยในประเทศ มีความมุ่งมั่นกับการหางาน และหาอะไรทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้งานที่ต้องการ เช่น การเป็นไกด์นำเที่ยวในอุทยานแพนด้า นครเฉิงตู หรือเป็นพนักงานขายเครื่องดื่ม และฝึกงานในโรงเรียนอนุบาลก็เคยมาแล้ว

“งานพวกนี้ไม่ค่อยมีอนาคตนัก” เธอกล่าว “งานทักษะต่ำ แน่นอนเงินเดือนย่อมต่ำ ที่สำคัญถูกแทนที่ง่ายมากหากคุณหยุดงานแค่ครึ่งวัน รุ่งขึ้นก็จะมีคนใหม่มาทำแทน เมื่อเป็นแบบนี้ เด็กส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะกลับไปอยู่บ้านกับพ่อแม่ หรือที่เรียกว่าประกอบอาชีพลูกเต็มเวลา”

ปัจจุบัน เธอเป็นพนักงานขายหนังสือและอุปกรณ์การศึกษา แม้จะไม่ใช่งานในฝัน แต่เธอมองว่ายังดีกว่าไม่มีอะไรทำ และคิดในแง่บวกว่าเป็นการสั่งสมประสบการณ์

ในทางกลับกัน ครอบครัวของเธอเป็นกังวลมาก เนื่องจากเธอเป็นลูกหลานคนแรกของครอบครัวที่จบมหาวิทยาลัย พ่อของเธอภูมิใจมากถึงขนาดจัดเลี้ยงโต๊ะจีนกว่า 30 โต๊ะในวันรับปริญญา

“พ่อแม่คาดหวังว่าหลังจากที่พวกเขาส่งเสียฉันเรียนหนังสือ อย่างน้อยฉันจะหางานได้ พวกเขาคาดหวังให้ฉันมีชีวิตที่ดี แต่ฉันยืนยันว่าจะเดินไปตามทางของตัวเอง และในความเร็วที่ฉันกำหนดเอง”

เธอตั้งเป้าหมาย ว่าต้องไปให้ไกลกว่านี้ และหวังว่าวันหนึ่งจะไปเรียนภาษาอังกฤษที่ออสเตรเลีย เธอเชื่อว่าช่วงชีวิต Gen Z แบบเธอง่ายกว่าคนรุ่นพ่อแม่มาก เพราะตอนนั้น จีนจนกว่านี้มาก ความฝันต่าง ๆ ก็ดูห่างไกลจากความเป็นจริงแบบฟ้ากับเหว

“ยังมีเวลาอีกมากสำหรับพวกเราเพื่อไปถึงจุดหมาย เราไม่ได้สนใจหรือทุ่มชีวิตไปกับการหาเงินเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อน เรามองไปที่วิธีการที่จะทำให้ฝันเป็นจริงยังไงมากกว่า”

เช่นเดียวกับหญิงสาวอีกคนที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัยในประเทศมาหมาด ๆ เธอตั้งเป้าจะทำงานในบริษัทแฟชั่นยักษ์ใหญ่ แต่หลังจากได้เข้าไปสัมผัสการทำงานจริงราว ๆ 2 ปี ความกดดัน และความสัมพันธ์ที่เลวร้ายกับหัวหน้างาน ทำให้เธอตัดสินใจลาออก และหันมาประกอบอาชีพ ‘ช่างสัก’

เธอและเพื่อนชาว Gen Z นับล้านคนกำลังรู้สึกไม่พอใจกับโอกาสในการทำงานมากขึ้นเรื่อย ๆ Gen Z ในจีนจึงพากันหันมาใช้ชีวิตแบบ ‘นอนราบ’ หรือ Lying Flat (ภาษาจีนเรียกว่า ‘ถ่างผิง’) ซึ่งหมายถึง การใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ไร้ความทะเยอทะยาน ทำงานเท่าที่จำเป็น และเอาเวลาว่างไปทำกิจกรรมที่ตนสนใจ

ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลจีนพยายามผลักดันตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิด COVID-19

อย่างไรก็ตาม การสำรวจเมื่อเดือนมิถุนายนปี ค.ศ. 2023 พบว่า อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวทั่วประเทศเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่เกือบ 22%

สอดคล้องกับข้อมูลจากสถาบันอุดมศึกษาที่ชี้ว่า ผู้ที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ยอมทำงานที่ต่ำกว่าวุฒิ เพื่อให้มีรายได้ประทังชีวิตไปวันวัน

สาวช่างสักบอกว่า ตอนนี้เธอมีความสุขมาก และเชื่อว่า การเดินออกมาจากบริษัทใหญ่ ไม่เพียงหลีกหนี ‘แรงกดดันที่ไม่จบ’ เท่านั้น แต่ยังเป็นการค้นพบตัวเองที่คุ้มค่ามาก

เมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าผู้จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ในเชิงกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ ‘กินของขม’ ซึ่งเป็นวลีภาษาจีนที่ใช้อธิบายความหมายของ ‘ความอดทนในช่วงเวลาที่ยากลำบาก’

ทั้งนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ออกมากระตุ้นเป็นระยะ ให้เด็กจบใหม่เลิกคิดว่าพวกเขาดีเกินกว่าจะใช้แรงงาน โดยบอกให้พวกเขา ‘พับแขนเสื้อขึ้น’ เพื่อไปทำงานที่ใช้แรง และให้ ‘กลืนความขมขื่น’

ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายสำหรับการกำหนดนโยบายของผู้นำจีน คือการทำให้กลุ่มคน Gen Z รู้สึกสงบลง ท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าที่สุดในรอบเกือบครึ่งศตวรรษ

ขณะที่เศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัว และตลาดแรงงานยังอยู่ในภาวะที่อึดอัด Gen Z เหล่านี้ต้องรับมือกับความท้าทายมากมาย อาทิ ความไม่เท่าเทียมทางสังคม การควบคุมทางการเมืองที่เข้มงวด และแนวโน้มทางเศรษฐกิจของจีนที่ยังดูไร้ความหวัง


ที่มา : ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน
https://www.salika.co/2024/04/16/attitudes-of-chinese-gen-z/