Thursday, 10 July 2025
SPECIAL

ชลบุรี - สวนนงนุชพัทยา ประกอบพิธีเปลี่ยน “ธงมนตรา” 9 ผืน จากประเทศภูฏาน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งโชคลาภ

วันนี้ (14 ก.ค. 64)  เวลา 09.00 น. นายกัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุชพัทยา พร้อมด้วยผู้บริหารสวนนงนุชพัทยา ได้ร่วมกันประกอบพิธีเปลี่ยน “ธงมนตรา” จากประเทศภูฎาน จำนวน 9 ผืน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งโชคลาภ

นายกัมพล กล่าวว่า ที่ได้รับมอบธงมนตรามาจากสถานทูตภูฎาน ประจำประเทศไทย “เมื่อปี พ.ศ.2561” อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณ สถานทูตภูฎาน ประจำประเทศไทย ที่มอบธงมนตราและจะทำการเปลี่ยนธงตามอายุการใช้งาน สำหรับธงมนตรา ของประเทศภูฎาน ถือเป็นธงแห่งโชคลาภ โบกสะบัดปัดสิ่งที่ดีให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในสวนนงนุชพัทยา

ธงมนตรา เป็นธงที่จารึก บทสวดมนต์ไว้บนธง ธง 5 สี หมายถึง 5 ธาตุ ซึ่งจะพัดผ่านสายลม นำสิ่งดี ๆ มาสู่ชีวิต ดังนั้นนักท่องเที่ยวที่ได้มีโอกาสเข้ามาท่องเที่ยว ณ สวนนงนุชพัทยา นอกจากจะได้เข้าชมความสวยงามของสวนนงนุชพัทยาอย่างหลากหลายแล้ว  

ทั้งนี้ จากการที่สวนนงนุชพัทยา ทำการเปลี่ยนธงมนตราในวันนี้ เพื่อสื่อถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศแล้ว สวนนงนุชพัทยา ยังคงพัฒนาสวนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ สำหรับเยาวชนและบุคคลที่สนใจได้เข้ามาเยี่ยมชมอีกด้วย

ยะลา - เบตง เทศบาลเมืองเบตง เปิดจองคิวฉีดวัคซีนทางเลือก ซิโนฟาร์ม เพื่อจะได้เปิดเมืองทำให้เศรษฐกิจเดินหน้า ประชาชนจำนวนมากแห่จองคิวฉีด

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 14 ก.ค.64 ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เทศบาลเมืองเบตง อ.เบตง จ.ยะลา ประชาชนจำนวนมากได้แห่มายืนคอยต่อแถวตั้งแต่ช่วงเช้า ก่อนที่ทางเทศบาลเมืองเบตง จะเปิดให้ประชาชนจองคิวฉีดวัคซีนทางเลือก ซิโนฟาร์ม ในเวลา 09.00 น.ทำให้บริเวณรอบอาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา แน่นไปด้วยผู้คน จนแทบจะหาที่จอดรถไม่ได้  แต่ก็มีประชาชนบางส่วนที่ผิดหวัง ต้องกลับออกมาก่อน เพราะไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเทศบาลเมืองเบตง จึงไม่สามารถลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนได้

นายสกุล เล็งลัคน์กุล นายกเทศมนตรีเมืองเบตง เปิดเผยว่า เทศบาลเมืองเบตง ได้เปิดให้พี่น้องประชาชนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเทศบาลเมืองเบตง จองคิวฉีดวัคซีนทางเลือก ระหว่างวันที่ 14-16 ก.ค.64 ซึ่งเป็นวัคซีนที่ทางเทศบาลเมืองเบตง สั่งจากทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยส่งผ่านโรงพยาบาลศูนย์ยะลา จากนั้นโรงพยาบาลเบตงก็จะไปนำมาฉีดให้กับพี่น้องประชาชน วัตถุประสงค์ของการจัดหาวัคซีนตัวเลือกในครั้งนี้ เพื่อต้องการให้ประชาชนในเขตเทศบาลเมืองเบตงได้รับการฉีดวัคซีนเกินร้อยละ 70 ของประชากร เมืองเบตง เพื่อจะได้เปิดเมืองต้อนรับนักท่องเที่ยว และทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้

สำหรับหลักเกณฑ์ของผู้มีสิทธิลงทะเบียนจองวัคซีนตัวเลือก ต้องเป็นประชาชนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเทศบาลเมืองเบตง ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ไม่เป็นผู้ที่เคยจอง หรือฉีดวัคซีนหลัก ของทางรัฐบาล ถึงจะสามารถลงทะเบียนจองได้ ผู้ที่เคยจอง หรือฉีดวัคซีนหลัก ของทางรัฐบาลแล้วจะไม่สามารถลงทะเบียนวัคซีนของเทศบาลเมืองเบตงได้  เนื่องจากเทศบาลเมืองเบตง ได้รับความร่วมมือจากทางโรงพยาบาลเบตง ให้ใช้ระบบการลงทะเบียนฉีดวัคซีน (MOPH IC) ของทางโรงพยาบาลเบตง เพื่อป้องกันความซ้ำซ้อนสำหรับกลุ่มบุคคลที่อาศัยอยู่ในทะเบียนบ้านเดียวกัน สามารถส่งตัวแทนมาลงทะเบียนได้ โดยแนบสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของแต่ละบุคคลมาด้วย เพื่อลดความแออัดตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ส่วนขั้นตอนการลงทะเบียนจองนั้น หลังจากรับบัตรคิวแล้ว ให้นำบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านแสดงต่อเจ้าหน้าที่ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบสิทธิการลงทะเบียนในระบบ MOPH IC และแจ้งผลการตรวจสอบสิทธิ กรณีมีสิทธิ จะได้รับการกรอกเอกสารลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนทันที

ทั้งนี้จะสามารถฉีดวัคซีนได้เมื่อไหร่นั้นขึ้นอยู่กับการจัดส่งวัคซีนของทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หากส่งวัคซีนมาให้ไว ทางเทศบาลก็จะเร่งรีบฉีดให้พี่น้องประชาชนอย่างรวดเร็ว โดยทางเทศบาลเมืองเบตงจะแจ้งให้ประชาชนทราบอีกครั้ง

สุโขทัย – ไม่ทอดทิ้ง อบจ.สุโขทัย ร่วมใจธอส. ส่งมอบบ้านให้แก่ผู้ด้อยโอกาส อยู่ดีมีสุข

นายมนู พุกประเสริฐ นายก อบจ.สุโขทัย พร้อมด้วยนายสมพร นกหงส์ สมาชิกสภา อบจ.สุโขทัย อ.เมืองสุโขทัย เขต 4 นางกิตติพร ชุ่มชื่น ผอ.กองพัสดุและทรัพย์สิน และบุคลากรในสังกัด อบจ.สุโขทัย ร่วมพิธีส่งมอบบ้าน ตามโครงการ “สร้าง ซ่อม ที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ ผู้สูงอายุ และผู้พิการ” ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยประจำปี 2564

โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สนับสนุนงบประมาณจำนวน 204,000 บาท และ อบจ.สุโขทัย เป็นผู้ประสานงานในการก่อสร้างและซ่อมแซมที่อยู่อาศัยตามโครงการดังกล่าว ให้แก่ นางแฉล้ม อาจวง เนื่องจากบ้านพักอาศัยเดิมมีสภาพเก่าทรุดโทรม อยู่กันหลายคน และไม่มีความปลอดภัย มีความเสี่ยง และไม่คุ้มแดด ลม และฝน เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายคนในครอบครัวได้ และสุขภาพจิตวิตกกังวนของคนในครอบครัว ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย(อบจ.สุโขทัย) โดยนายมนู พุกประเสริฐนายก อบจ.หลังได้ทราบข้อมูลจากพื้นที่ จึงได้ดำเนินการประสานไปยัง ธนาคาร ธอส. เพื่อให้ความช่วยเหลือร่วมกัน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของครอบครัวนี้ รวมทั้งผู้ด้อยโอกาส ที่มีข้อมูล เพื่อให้มีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย สุขลักษณะ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ณ หมู่12 ต.บ้านสวน อ.เมือง จ.สุโขทัย เมื่อ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา


ภาพ/ข่าว  สุริยา ด้วงมา จ.สุโขทัย

ชลบุรี - กองทัพเรือเร่งแก้ไขปัญหาการให้บริการไฟฟ้าในพื้นที่อำเภอสัตหีบ แจงดำเนินการของกิจการไฟฟ้า สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ เป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงทางทหาร เช่นเดียวกับความมั่นคงด้านพลังงานเชื้อเพลิงปิโตรเลียม ที่ถือเป็นยุทธปัจจัย

วันนี้ (14 กรกฎาคม 2564) พลเรือเอก เชษฐา โฆษกกองทัพเรือ ชี้แจงกรณีที่ ผู้ใช้บริการไฟฟ้าในพื้นที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ร้องเรียนถึงกรณีการเกิดปัญหา ไฟตกและไฟดับบ่อยครั้ง ซึ่งกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความปลอดภัย ของประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ มีการปรับปรุงแก้ไข โดยเรียกร้องให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้ามาดำเนินกิจการแทน ผู้ให้บริการรายเดิมนั้น โฆษกกองทัพเรือได้ชี้แจงว่า

ปัจจุบัน หน่วยงานที่ให้บริการไฟฟ้าในพื้นที่อำเภอสัตหีบจังหวัดชลบุรี คือ กิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ซึ่งก่อตั้งด้วยเหตุผลความจำเป็นทางยุทธปัจจัยด้านปิโตรเลียม พลังงานไฟฟ้า พร้อมทั้งสาธารณูปโภคอื่น ๆ ที่ทุกฐานทัพ หรือเขตปลอดภัยทางทหารของเกือบทุกชาติในโลก ต่างต้องดำรงความพร้อมให้แก่กำลังทหารและยุทโธปกรณ์ โดยก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2483   เริ่มต้นได้สร้างเป็นโรงกำเนิดไฟฟ้า ประกอบด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จำนวน 3 เครื่อง เครื่องละ 275 กิโลวัตต์ เดินเครื่องจำหน่ายไฟฟ้าให้กับหน่วยราชการทหาร ฐานทัพเรือ ตลอดจนหน่วยราชการฝ่ายพลเรือน และตลาดสัตหีบ ซึ่งในขณะนั้น บ้านเรือนราษฎรยังเบาบาง มีเฉพาะหน่วยงานทางทหารเป็นส่วนใหญ่ และในพื้นที่ดังกล่าวยังไม่มีไฟฟ้าใช้ อยู่ในสภาวะกันดารด้วยเหตุที่การไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2509 Officer Incharge Construction Center (O.I.C.C.) ของ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เข้ามาช่วยเหลือด้านกิจการทหารของประเทศไทย โดยได้เพิ่มขีดความสามารถในการจำหน่ายกระแสไฟฟ้า ทำให้ฐานทัพเรือสัตหีบ กองทัพเรือ บริการกระแสไฟฟ้าให้แก่ประชาชนในตำบลสัตหีบได้เพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งในปี พ.ศ.2510 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ขยายเขตจำหน่ายไฟฟ้ามาถึงอำเภอสัตหีบ โดยได้ตั้งสถานีไฟฟ้าย่อยที่ 1 ขึ้นที่ตำบลบางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี กองทัพเรือ จึงได้ยกเลิก การเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และได้ซื้อกระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มาใช้ในหน่วยราชการทหาร และจำหน่ายให้แก่ประชาชนบริเวณใกล้เคียงที่มาร้องขอใช้บริการ

ทั้งนี้ กองทัพเรือ ได้รับสัมปทานให้ประกอบกิจการไฟฟ้าในการดำเนินการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2514 เป็นต้นมา มีการต่ออายุสัมปทานมาแล้วจำนวน 4 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี โดยมีข้อกำหนดและเงื่อนไขตามสัมปทานประกอบกิจการไฟฟ้าซึ่ง กองทัพเรือ ได้รับจากกระทรวงกระทรวงมหาดไทยให้สัมปทานประกอบกิจการไฟฟ้า จำนวน 4 ครั้ง ในปี พ.ศ.2513, 2524, 2533 และ2541 และกระทรวงพลังงานให้สัมปทานประกอบกิจการไฟฟ้า จำนวน 1 ครั้ง ในปี พ.ศ.2550 มีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายกระแสไฟฟ้าแทน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในเขตปลอดภัยในราชการทหารของฐานทัพเรือสัตหีบ กองทัพเรือ และประชาชน ในเขตที่ได้รับสัมปทาน โดยมีอาณาเขต ดังนี้ ทิศเหนือจรดเขตบ้านอำเภอ ทิศใต้จรดกรมปืนต่อสู้อากาศยาน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กองทัพเรือ ทิศตะวันออกจรดเขตคลองบางไผ่ ทิศตะวันตกจรดเขตฝั่งตะวันออกทั้งหมด   

การดำเนินการของกิจการไฟฟ้า สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ มีวัตถุประสงค์เป็นตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชน ได้มีกระแสไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึง และถูกต้องตามประกาศคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน (กกพ.) เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการไฟฟ้า พ.ศ.2558 และเรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ พ.ศ.2561 ซึ่งในประกาศดังกล่าวได้ให้นิยาม ผู้ให้บริการไฟฟ้าว่า หมายถึง การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กิจการไฟฟ้า สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ (กิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัตหีบ) ผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าเอกชนหรือผู้รับใบอนุญาตอื่นที่ กกพ. กำหนด

โฆษกกองทัพเรือกล่าวต่อไปว่า สำหรับ กิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ได้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าและใบอนุญาตระบบจำหน่ายไฟฟ้าจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน โดยกองทัพเรือยังคงมีความจำเป็นในการดำเนินการคือการไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงและปลอดภัยในราชการทหาร เช่นเดียวกับความมั่นคงด้านพลังงานเชื้อเพลิง หรือการปิโตรเลียมและสาธารณูปโภคที่สำคัญอื่น ๆ อีก โดยเฉพาะในเขตฐานทัพ ท่าเรือ และเนื่องจากเขตอำเภอสัตหีบเป็นเขตปลอดภัยในราชการทหาร ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณเขตปลอดภัยในราชการทหารแห่งกองทัพเรือ ในท้องที่อำเภอบ้านค่าย อำเภอบ้านฉาง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง และอำเภอบางละมุง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พ.ศ.2536 โดย กิจการไฟฟ้า สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ มีฐานทัพเรือสัตหีบเป็นหน่วยดูแลรับผิดชอบ 

นอกจากที่กล่าวแล้วปัจจุบันยังมีภารกิจที่กองทัพเรือได้รับมอบหมายจากรัฐบาลสำหรับการเตรียมการรองรับโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่ต้องดูแลสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาซึ่งเป็นทั้งสนามบินเชิงพาณิชย์และสนามบินทางทหารในพื้นที่เดียวกัน และท่าเรือจุกเสม็ดที่เป็นทั้งท่าเรือพาณิชย์และท่าเรือทางทหารที่สำคัญอีกด้วยซึ่งจะทำให้ยิ่งต้องเพิ่มมาตรการต่าง ๆ ในเขตปลอดภัยทางทหาร ที่กองทัพเรือดูแลและถือเป็นพื้นที่ทางความมั่นคงทางทหารที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจาก เป็นที่ตั้งของหลาย ๆ หน่วยขนาดใหญ่  ทั้งหน่วยกำลังรบและหน่วยสนับสนุนต่าง ๆ อันได้แก่ กองเรือยุทธการ ฐานทัพเรือสัตหีบ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กรมสรรพาวุธทหารเรือ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง กรมอู่ทหารเรือ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช และโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ซึ่งรับผิดชอบทั้งกำลังทางบก กำลังทางเรือ อากาศยาน ตลอดจนยุทโธปกรณ์พาหนะ และเครื่องมืออุปกรณ์รวมถึงการส่งกำลังบำรุงต่าง ๆ และเขตเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ  ไม่ใช่เพียงการมีขีดความสามารถทางความมั่นคงด้านไฟฟ้านี้ไว้สำหรับหน่วยขนาดเล็กๆ โดยการไฟฟ้า นับได้ว่าเป็นอีกยุทธปัจจัยหนึ่งที่กองทัพเรือต้องควบคุมให้ดำรงไว้ให้มีใช้ได้อย่างต่อเนื่องในพื้นที่สำคัญด้านความมั่นคง พื้นที่ปลอดภัยทางทหารของกองทัพ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเขตที่เป็นฐานทัพ  และทั้งนี้ กองทัพเรือโดยกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือได้มีการปรับปรุงและพัฒนาระบบจำหน่าย   การบริหารจัดการและการให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานที่ผู้ให้บริการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายกำหนด

จากปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นที่ทำให้ผู้รับบริการไฟฟ้าในพื้นที่ ได้รับความเดือดร้อนนั้น โฆษกกองทัพเรือกล่าวว่า กองทัพเรือไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้สั่งการให้กิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือเร่งแก้ไขและ ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง  พร้อมทั้งได้มีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ เพื่อปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่มีความชำรุด รวมถึงได้ทำการวิเคราะห์ หาสาเหตุของไฟฟ้าขัดข้องจากอุปกรณ์ตรวจจับที่มีความทันสมัย

สำหรับเหตุการณ์ไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้างติดต่อกันเมื่อช่วงวันที่ 8 - 11 กรกฎาคม 2564 บริเวณซอยจามจุรี ถึงกิโลเมตรที่ 6 ในพื้นที่อำเภอสัตหีบนั้น มีสาเหตุมาจากเหตุฝนฟ้าคะนอง ทำให้อุปกรณ์ชำรุด อีกทั้งระบบจำหน่ายบริเวณดังกล่าว เป็นพื้นที่ต้นไม้ชุกทำให้กระทบกับอุปกรณ์แรงสูงและช่วงเวลาฝนตกทำให้มีความเสี่ยงในการดำเนินการ และระบบตรวจจับไม่สามารถ แจ้งพิกัดได้ เนื่องจากสายไฟฟ้าไม่ได้ขาดออกจากกัน ซึ่งจะสามารถตรวจสอบได้ง่ายกว่า ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงต้องทำการวิเคราะห์ และกำหนดตำแหน่งเข้าตรวจสอบ จึงไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบสาเหตุไฟฟ้าดับบริเวณดังกล่าวได้ และเมื่อวันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม 2564 กิจการไฟฟ้าฯ ได้ดำเนินการ ตรวจสอบสายส่งไฟฟ้าบริเวณดังกล่าว พบว่าบริเวณดังกล่าวต้นไม้ชุกและส่งผลกับอุปกรณ์แรงสูง อีกทั้งในพื้นที่ใกล้เคียงมีอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูงชำรุดจึงได้เร่งดำเนินการแก้ไข และมีความจำเป็นต้องดับไฟในบางส่วนเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้จะดำเนินการดับไฟอีกครั้งในวันพุธที่ 14  กรกฎาคม 2564 ระหว่างเวลา 12.00 -  13.00 น.  เพื่อซ่อมทำอุปกรณ์แรงสูงที่ชำรุดบริเวณสถานีไฟฟ้าแรงสูง พร้อมทั้งได้มีการแจ้งกับผู้ใช้บริการในพื้นที่แล้ว ในการนี้กิจการไฟฟ้าฯ ขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ โอกาสนี้ และขอยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการและพัฒนาศักยภาพของกิจการไฟฟ้าฯ ในทุกรูปแบบเพื่อสร้างความพึงพอใจในการให้บริการแก่พี่น้องประชาชน  โดยคำนึงถึง ความพึงพอใจของผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ โดยกองทัพเรือได้ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายระบบไฟฟ้าในพื้นที่สัตหีบให้มีเสถียรภาพมาอย่างต่อเนื่องด้วยการสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูง 3 พร้อมทั้งปรับปรุงสถานีที่ 1และ 2 ในปี 2561 - 2563 และจะดำเนินการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูง4 เชื่อมกันทุกสถานีให้แล้วเสร็จในปี 2566


ภาพ/ข่าว  สมนึก เชื้อสนุก

ขอนแก่น – จัดให้เปิดโรงแรมกักตัวคนกลับจากพื้นที่กลุ่มเสี่ยง ขอเพียงส่งเสียงมา !! เทศบาลฯพร้อมทันทีด้วยระบบการบริการสาธารณสุขอย่างเข้มงวด ใครดื้อส่งต่อกองร้อย อส.ทั้งครอบครัว

เมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 14 ก.ค.2564 นายพงศ์ธร  พิศาพิทักษ์กุล นายกเทศมนตรีตำบลพระลับ พร้อมด้วย นายวินัย  ทองทัพ กำนัน ต.พระลับ ,พ.ต.ท.จิรัฐเกรียติ  ศรวิเศษ หัวหน้า สภ.ย่อยพระลับ และนายปัญญา  พระวงศ์  ผอ.รพ.สต.ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น นำกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง,เทศาล,ตำรวจ และ อสม. ในเขต ต.พระลับ เข้าทำการตรวจเยี่ยมผู้ที่เข้ารับการกักตัวที่โรงแรมฮอไรซั่น ซึ่งตั้งอยู่ ริม ถ.เลี่ยงเมืองสายขอนแก่น-กาฬสินธุ์ ปากทางเข้า บ.ผือ ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ภายหลังจากเทศบาลฯได้กำหนดให้โรงแรมแห่งนี้เป็นสถานที่กักตัว 14 วัน ของคนที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่ 10 จังหวัดสีแดงเข้ม ตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระดับพื้นที่โดยที่ขณะนี้มีผู้ทีเดินทางกลับมาจากพื้นที่ 10 จังหวัดสีแดงเข้มและเข้าสู่การกักตัวของเทศบาลฯแล้วรวม 5 ราย

นายพงศ์ธร พิศาพิทักษ์กุล นายกเทศมนตรีตำบลพระลับ กล่าวว่า ขณะนี้เทศบาลฯได้ขานรับนโยบายของกระทรวงมหาดไทยและทางจังหวัดในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่อย่างเข้มงวด โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายปกครอง,รพ.สต.ตำรวจ และ เทศบาลฯ ในการจัดระบบด้านสาธารณสุขจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งวันนี้ได้ทำทันที ด้วยการให้บุคลากรด่านหน้าใช้อำนาจตาม พรบ.ควบคุมโรคติดต่อ และประกาศของจังหวัด ในการกักตัวคนที่เข้ามาจากพื้นที่เสี่ยงสีแดงเข้ม 14 วัน ซึ่งคนพระลับ จากนี้ไปหากจะเดินทางกลับมาที่บ้านจะต้องรายงานให้กับครอบครัวได้รับทราบ และให้ครอบครัวแจ้งผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน หรือ เทศบาลฯในการเข้าสู่ระบบส่งต่อด้านสาธารณสุข เพื่อเข้ารับการกักตัว โดยขอย้ำว่าเป็นการกักตัวไม่ใช่การรักษาตัว

“ขณะนี้คนในชุมชนเข้าใจและรับทราบถึงแนวทางที่เทศบาลฯได้จัดทำขึ้นแล้ว โดยเป็นการกักตัว ไม่ใช่การรักษาตัว ซึ่งในการรักษาตัวนั้นหากคนในครอบครัวยืนยันติดเชื้อจากพื้นที่ใดและต้องการกลับบ้านมารักษาตัวที่ขอนแก่น ขอให้แจ้งผ่านระบบสาธารณสุขและ โรงพยาบาลให้ถูกต้อง ขณะที่คนที่จะเดินทางกลับมาที่บ้าน โดยเดินทางมาจากกลุ่มเสี่ยง นั้นขณะนี้เทศบาลฯได้ปรานงานร่วมโรงแรมฮอไรซั่น ในการกำหนดให้ห้องพัก 13 ห้อง เป็นห้องพักสำหรับการกักตัว 14 วัน สำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในระบบสาธารณสุขของเทศบาลฯ โดยในการกักตัว 14 วันนั้นเทศบาลฯจะดูแลอาหาร 3 มื้อ รวมไปถึงการจัดรถรับและส่ง อีกทั้ง รพ.สต.จะจัดเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม.มาประจำเพื่อตรวจติดตามอาการ และมีกำลังตำรวจและ อปพร.เฝ้าประจำเพื่อป้องกันไม่ให้ออกจากสถานที่กักตัวเด็ดขาด โดยงบประมาณดังกล่าวนั้นเบิกจ่ายตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ดีในระยะที่ 1 เราได้ใช้โรงแรมเป็นสถานที่กักตัวเพื่อแสดงให้เห็นว่าคนพระลับพร้อมรับคนพระลับด้วยกันเข้าสู่ระบบกักตัวอย่างถูกต้อง สะดวก สบาย ปลอดภัยและใกล้บ้าน”

ขณะที่นายวินัย ทองทัพ กำนัน ต.พระลับ กล่า;ว่า ในระยะที่ 1 ได้กำหนดไว้ที่ 13 ห้องของโรงแรมแห่งนี้ ซึ่งหากมีคนต้องเข้ารับการกักตัวเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ชุมชนได้กำหนดพื้นที่รองรับเพิ่มเติมอีกหลายจุด ประกอบด้วยที่ ศาลาการเปรียญวัดบ้านสว่างหนองไฮ ซึ่งรับคนได้ 20 คน,วัดป่าแสงอรุณ รับคนได้ 15 คน,ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ.โนนสวรรค์ รับคนได้ 10 คน และ ที่โรงเรียนบ้านผือ รับคนได้ 15 คน โดยทุกจุดได้ผ่านการประชาคมและเข้าสู่ขั้นตอนของการเตรียมการในด้านต่าง ๆ ไว้ในภาพรวมแล้ว อย่างไรก็ตามขอให้คนพระลับ ดำเนินการอย่างถูกต้องเพื่อเข้าสู่การกักตัวตามระบบที่วางเอาไว้ หากตรวจพบว่าลักลอบเข้าพื้นที่โดยไม่แจ้งให้รับทราบ ทางเจ้าหน้าที่จะเชิญตัวส่งต่อไปยัง กองร้อย อส.ขอนแก่น สถานที่ที่จังหวัดกำหนดเป็นจุดกักตัวกลางของจังหวัดตามขั้นตอนต่อไปและในการส่งต่อนั้นจะต้องไปทั้งครอบครัวเนื่องจากทุกคนมีการสัมผัสและจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงทั้งหมดแล้ว

ตราด - จัดกิจกรรมปันความสุขให้น้อง มอบสิ่งของอุปกรณ์การกีฬา อุปโภค,บริโภค ให้กับเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองม่วง

เมื่อเวลา 10.00 น. วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม 2564  ที่อาคารโรงเรียนบ้านหน่องม่วง โดยมี น.อ.ธวัชชัย กลางคํา หน.ชค.ทพ.นย.3 เป็นประธานมอบสิ่งของ อุปกรณ์การกีฬา พร้อมด้วย นายนรินทร์ หูทอง รักษาการแทนผู้อํานวยการโรงเรียนบ้านหนองม่วง พร้อมด้วยคณะครูอาจารย์และนักเรียน หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินตราด และกําลัง กปช.จต. ก้องร้อยทหารพรานจ้าวภูผา เข้าร่วมมอบสิ่งของอุปกรณ์การกีฬา อุปโภค,บริโภค ให้กับเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองม่วง เช่น ฟุตบอล ตะกร้อ ร่ม สีทาพร้อมอุปการณ์การทาสี และแมส 

โดยมีนายนรินทร์ หูทอง รักษาราชการแทนผู้อํานวยการโรงเรียนบ้านหน่องม่วง และคณะครูให้การต้อนรับ พร้อมด้วย น.ต.สวิท สุขสวัสดิ์ นายทหารกิจการพลเรือน กปช.จต.ได้กล่าวต้อนรับทั้งบรรยายสรุปถึงสถานภาพของโรงเรียนบ้านหนองม่วงเป็นโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก มีนักเรียนจำนวน 88 คน สอนในระดับอนุบาลและประถมศึกษา มีคณะครูและบุคลากรในสถานศึกษา จำนวน 4 คน และครูธุรการ 1 คน ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ใกล้กับหน่วยทหาร และในวันนี้เป็นโอกาสอันดียิ่ง ที่กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราดได้นำคณะฯมาเยี่ยมเยียนและมอบสิ่งของอุปกรณ์การกีฬา อุปโภค,บริโภค ให้กับเด็กนักเรียน ทั้งนี้หากทางโรงเรียนบ้านหน่องม่วงต้องการให้ช่วยเหลือในสิ่งใด กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราดและหน่วยงานในพื้นที่พร้อมให้การช่วยเหลือ ตามนโยบายของกองทัพเรือ ที่ว่า กองทัพเรือต้องปฏิบัติหน้าที่ปกป้อง สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถ ให้สมกับคำที่ว่า “กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจต่อไป


ภาพ/ข่าว วิเชียร ม่วงสี ผู้สื่อข่าว จ.ตราด

นายพรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก

สุรินทร์ - รพ.สุรินทร์ ส่ง 4 นางฟ้าชุดขาว สู้ภัยโควิด-19 เสริมทัพ โรงพยาบาลสนามพลังแผ่นดิน มงกุฎวัฒนะ

วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ที่บริเวณด้านหน้าอาคาร 100 ปี  โรงพยาบาลสุรินทร์ นายแพทย์ประวีณ ตัณฑประภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ เป็นประธานในพิธีส่ง 4 นางฟ้าชุดขาว สู้ภัยโควิด-19 เสริมทัพ โรงพยาบาลสนามพลังแผ่นดิน มงกุฎวัฒนะ โดยนายแพทย์ ประวีณ ตัณฑประภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ นำคณะผู้บริหาร แพทย์ พยาบาล พร้อมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลฯ ร่วมส่งและให้กำลังใจอย่างพร้อมเพียง พร้อมได้กล่าวแสดงความยินดีและชื่นชมในความเสียสละของนางฟ้าชุดขาวทั้ง 4 คน ที่ไปทำหน้าที่แทนชาวสุรินทร์ ในการช่วยสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบ 3 ด้วยเป็นภารกิจสำคัญกับการดูแลรักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาลสนามพลังแผ่นดิน มงกุฎวัฒนะ พร้อมอวยพรและมอบช่อดอกไม้ให้กำลังใจทั้ง 4 คน แทนชาวสุรินทร์ทุกคน

ด้าน นายแพทย์ประวีณ ตัณฑประภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ กล่าวว่า ทีมสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยที่โรงพยาบาลสนามพลังแผ่นดิน มงกุฎวัฒนะ เป็นพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 4 คน ที่ส่งไป ประกอบด้วย

1.นางสาววาสนา คำปาละ

2.นางสาวน้ำทิพย์ จานนอก 

3.นางสาวปาริชาติ โกดหอม และ

4.นางสาวรัชนีกร แก้วคูณ

โดยปฏิบัติภารกิจระหว่างวันที่ 13-28 กรกฎาคม 2564 ซึ่งมุ่งเน้นการช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 อย่างไรก็ตาม การเข้าปฏิบัติงานช่วยเหลือในพื้นที่ดังกล่าว ทางโรงพยาบาลสุรินทร์ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ทุกคน โดยได้เตรียมเวชภัณฑ์ยาและเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาในการดูแลรักษาผู้ป่วย สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉิน รวมถึงอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ (PPE) ให้กับบุคลากรทุกคน ซึ่งเพียงพอสำหรับการปฏิบัติงานในช่วงเวลาดังกล่าว และหลังจากปฏิบัติงานครบตามกำหนด คณะเดินทางกลับมา จะให้มีการกักตัว 14 วัน ตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคฯ ต่อไป


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์  แสนกล้า

กาฬสินธุ์ – พลังบวรร่วมสร้างโรงพยาบาลสนาม รับคนสหัสขันธ์กลับบ้าน

คณะสงฆ์อำเภอสหัสขันธ์ พร้อมผู้มีจิตศรัทธาและภาครัฐ ร่วมมือสร้างโรงพยาบาลสนามขนาด 50 เตียง รอรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เดินทางกลับภูมิลำเนา พร้อมตั้งศูนย์พักคอย ก่อนเข้า LQ สำหรับผู้ที่เดินทางมาจาก 10 จังหวัดพื้นที่เสี่ยง

ที่หอประชุมอำเภอสหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ นางสาวแววตา นระทัด นายอำเภอสหัสขันธ์ พร้อมด้วยพระครูสิริพัฒนนิเทศ รองเจ้าคณะอำเภอสหัสขันธ์ เข้าตรวจเยี่ยมจุดปรับปรุงก่อสร้างโรงพยาบาลสนาม อ.สหัสขันธ์ โดยใช้หอประชุมอำเภอสหัสขันธ์ ซึ่งสามารถรับผู้ป่วยได้ทั้งหมด 50 เตียง โดยคณะสงฆ์ และประชาชนได้ร่วมบริจาคเงินเพื่อสร้างโรงพยาบาลสนาม อ.สหัสขันธ์  โดยตั้งเป้าจะเริ่มเปิดรับผู้ป่วยที่ติดเชื้ออาการไม่หนักมาก เข้ามารักษาได้วันที่ 19 ก.ค. 2564 

ทั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากพระเทพมงคลวชิรมุณี หรือหลวงปู่หา สุภโร (หลวงปู่ไดโนเสาร์) วัดสักกะวัน (ภูกุ้มข้าว) พระครูกัลลยา ณ ทิวากร เจ้าคณะอำเภอสหัสขันธ์ พระครูสิทธิวราคม ดร. วัดเวฬุวัน เจ้าคณะ อ.สหัสขันธ์ (ธ) พระอาจารย์ณรงค์ ชยมงฺคโล วัดพุทธนิมิต (ภูค่าว) พระครูสิริพัฒนนิเทศก์  วัดพุทธาวาสภูสิงห์ และคณะสงฆ์ อ.สหัสขันธ์ ประชาชนผู้มีจิตศรัทธา และภาครัฐ ร่วมระดมทุมก่อสร้าง และมอบของใช้ที่จำเป็นให้กับโรงพยาบาลสนาม อ.สหัสขันธ์

นางสาวแววตา นระทัด นายอำเภอสหัสขันธ์ กล่าวว่า การตั้งโรงพยาบาลสนาม อ.สหัสขันธ์ ได้เลือกใช้หอประชุม อ.สหัสขันธ์ ซึ่งผู้นำชุมชนทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนเข้าใจและรู้ถึงเหตุผล ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี สำหรับโรงพยาบาลสนาม อ.สหัสขันธ์เกิดขึ้นจากพลัง “บวร” บ้าน/ชุมชน วัด และภาครัฐ โดยเฉพาะการที่ได้รับเมตตาจากคณะสงฆ์ ที่เห็นชอบให้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามของ อ.สหัสขันธ์ โดยวัตถุประสงค์เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19  ซึ่งเป็นคนสหัสขันธ์ กลับมารักษาที่ภูมิลำเนาของตนเอง เพื่อลดปัญหาเตียงไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยในเขตกรุงเทพและปริมณฑล 

นอกจากนี้ธารน้ำใจของคนสหัสขันธ์ยังล้นหลาม ได้ระดมทั้งทุนทรัพย์ แรงกาย และนำข้าวของเครื่องใช้สำคัญและจำเป็นในโรงพยาบาลสนามมาสมทบจำนวนมาก อย่างเช่นนายอำนวย พุ่มจำปา เจ้าของร้านถูกซุปเปอร์มาเก็ต ได้นำพัดลม 20 เครื่อง พร้อมน้ำดื่ม 50 แพ็ค / 600 ขวด มอบให้กับนายอำเภอสหัสขันธ์ เพื่อใช้ในโรงพยาบาลสนาม นายพิทักษ์ เทียมวงศ์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สิรินธร ร่วมบริจาคพัดลมอีก 10 เครื่อง ขณะที่เครื่องนอน 50 ชุด ร้านแม่ประกายเครื่องนอน ร้านนิโรจน์ค้าผ้า ร้านสุพจน์เครื่องนอน และร้านสุรพลเครื่องนอน ซึ่งเป็นญาติธรรมวัดพุทธาวาสภูสิงห์ ร่วมบริจาคสมทบเข้าโรงพยาบาลสนาม อ.สหัสขันธ์ ขณะที่การปรับปรุงก่อสร้างโรงพยาบาลสนามมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 60% ส่วนวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นมีความพร้อมสมบูรณ์แล้ว ทั้งพัดลม และเครื่องนอน

สำหรับพื้นที่ อ.สหัสขันธ์ มียอดผู้ป่วยสะสมแล้ว 40 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 11 ราย นอกจากนี้ยังมีผู้แจ้งความประสงค์จะเดินทางกลับมาภูมิลำเนาอีกจำนวนมาก ซึ่งต้องรอให้เตรียมพื้นที่รองรับให้เรียบร้อยก่อนจึงจะเริ่มเปิดรับ เพื่อให้คนสหัสขันธ์ได้กลับบ้านเกิด ปลอดภัย 100%


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

'ตร.เตือน'​ ควรตรวจสอบก่อนรับเพื่อนในโลกออนไลน์ หากเป็นบัญชีอวตาร อาจเป็นภัยกับตัวเองได้

ตร.เตือน ให้ตรวจสอบก่อนรับเพื่อนในโลกออนไลน์ หากเป็นบัญชีอวตาร อาจเป็นภัยกับตัวเองได้

เมื่อวันที่ 13 ก.ค.2564 พ.ต.อ.ศิริวัฒน์  ดีพอ รอง ผบก.ปอท. ในฐานะรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันพี่น้องประชาชนเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะแพลตฟอร์มที่เป็นที่นิยม เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ไอจี ทวิตเตอร์ เป็นต้น จึงมีการกดรับเพื่อนในโลกออนไลน์ มาเป็นเพื่อนในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งหลายๆ​ ท่านไม่มีการคัดกรองบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ที่มาขอแอด หรือ ขอเป็นเพื่อน ทำให้มีบุคคลที่ไม่หวังดี ใช้บัญชีอวตาร​ (Avatar) ในลักษณะที่เป็นบัญชีไร้ตัวตน อาจใช้รูปผู้อื่น ชื่อผู้อื่น ชื่อที่ไม่ใช่ชื่อคนทั่วไป เป็นคำกลอน หรือ ใช้รูปการ์ตูน รูปสิ่งของ หรือ ภาพวิวทิวทัศน์ ฯลฯ มาขอเป็นเพื่อนในโลกออนไลน์

ซึ่งหากเรารับบัญชีเหล่านี้เป็นเพื่อนในโลกออนไลน์ เราก็จะถูก​ 'ส่อง'​ หรือติดตามพฤติกรรม ทัศนคติที่เราโพสต์ สถานที่ที่เราไป หรือแม้กระทั่งบ้านที่พักอาศัย สมาชิกในครอบครัว กิจวัตรประจำวัน ฯลฯ ซึ่งมีความเสี่ยงที่ถูกประทุษร้ายทั้งในโลกออนไลน์และโลกความเป็นจริง เช่น ถูกเข้าถึงข้อมูลของเราโดยมิชอบ(Hack), การหลอกลวงฉ้อโกงในรูปแบบต่างๆ (Fraud, Romance Scam, Email Scam), การแชร์ข่าวหรือข้อมูลปลอม(Fake News), นำภาพหรือชื่อเราไปเปิดบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ปลอม อาจถูกข่มขู่ คุกคาม หรือ ประทุษร้ายต่อทรัพย์หรือร่างกาย เป็นต้น

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ฯ ยังได้กล่าวต่อไปว่า จากสถิติการรับแจ้งความของ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี​ (บก.ปอท.) ในครึ่งปีแรกของปี 2564 พบว่า สื่อสังคมออนไลน์ที่มิจฉาชีพใช้ประทุษร้ายมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ เฟซบุ๊ก,ไลน์,​ ไอจี ตามลำดับ  ซึ่งพล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้แสดงความห่วงใยประชาชน จึงได้มีนโยบายในการสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนในการป้องกันตัวเองมิให้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรในทุกรูปแบบ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงฝากเตือนพี่น้องประชาชนให้ระมัดระวังการรับเพื่อนในสื่อสังคมออนไลน์ ดังนี้... 

1.ไม่ควรรับคนที่ไม่รู้จักเป็นเพื่อน

2.หากต้องการรับที่ไม่รู้จักมาเป็นเพื่อนในโลกออนไลน์ ให้ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง มิใช่เป็นบัญชีอวตาร เช่น มีการโพสต์เป็นปกติหรือไม่ หรือมีแต่การแชร์ข่าวต่างๆ เป็นต้น และพิจารณาให้ดีก่อนว่าจะรับบุคคลดังกล่าวเป็นเพื่อนหรือไม่

3.ไม่ควรรับบัญชีที่ใช้ภาพวิวทิวทัศน์ หรือ ไม่ใช้ชื่อ นามสกุล เป็นเพื่อน

4.หากเป็นคำขอเป็นเพื่อนจากบุคคลที่เราไม่รู้จัก และบัญชีดังกล่าวใช้รูปโปรไฟล์ที่ดูดี หน้าตาดี มีฐานะ หรืออ้างว่าเป็นชาวต่างชาติ ให้ระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นผู้ไม่หวังดีแอบอ้างเป็นบุคคลตามภาพ เพื่อเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากเรา

5.ตรวจสอบประวัติการโพสต์ รูปภาพ การเชคอินสถานที่ต่างๆ ตลอดจนวันที่สร้างบัญชี หากเป็นบุคคลจริง มักจะมีการโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนตัว มีการแสดงความคิดเห็นในโพสต์โดยบุคคลในครอบครัว หรือเพื่อน และบัญชีดังกล่าวถูกสร้างมาเป็นเวลานานพอสมควร หากเข้าเงื่อนไขดังกล่าว ก็มีความเป็นไปได้สูงที่บัญชีดังกล่าวจะเป็นบัญชีของจริง

6.ไม่ควรตั้งค่าสาธารณะและไม่ควรเปิดเผยข้อมูลที่เป็นเรื่องส่วนตัวมากเกินไป เช่น ทรัพย์สินมีค่า บ้านพักอยู่ที่ใด มีสมาชิกในบ้านกี่คน ช่วงเวลาไหนที่อยู่บ้านคนเดียว หรือไม่มีคนอยู่บ้าน เป็นต้น

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอความร่วมมือมายังพี่น้องประชาชน หากพบเห็นการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าว กรุณาแจ้งเบาะแสไปยังสายด่วน 191 และสายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

กาฬสินธุ์ – โควิดพุ่งต่อเนื่อง ขยายเวลาปิดโรงเรียนอีก 14 วัน เตรียมตั้งรพ.สนามเพิ่ม

คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาฬสินธุ์มีมติขยายเวลาปิดโรงเรียนและสถานศึกษางดเรียนออนไซต์อีก 14 วัน พร้อมเตรียมเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มรองรับผู้ป่วย หลังสถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่ยังคงพบผู้ติดเชื้อที่กลับจากพื้นที่กรุงเทพฯและจังหวัดปริมณฑลเพิ่มสูงทุกวัน

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ที่ห้องประชุมฟ้าแดดสงยาง ชั้น 2 ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่ และกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเพิ่มเติม หลังปัจจุบันพบมีผู้ป่วยติดเชื้อกลับจากพื้นที่กรุงเทพฯและจังหวัดปริมณฑลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยพบยอดผู้ติดเชื้อสูงทุกวัน และล่าสุดวันนี้ (12 กรกฎาคม 2564) พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากถึงจำนวน 40 ราย ส่วนใหญ่กลับจากพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่แพร่ระบาด ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อของ จ.กาฬสินธุ์พุ่งสูงไปอยู่ที่ 548 ราย โดยกำลังรักษาอยู่ 349 ราย หายป่วยแล้ว 195 ราย ยอดผู้เสียชีวิตยังอยู่ที่ 4 รายเท่าเดิม โดยมีนายสนั่น พงษ์อักษร รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายพิชัย ส่งสุขเลิศสันติ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ นายสมเจตน์ เต็งมงคล นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ นพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผอ.โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ และคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.กาฬสินธุ์เข้าร่วมประชุม   

โดยจากสถานการณ์ดังกล่าวที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.กาฬสินธุ์มีมติขยายเวลางดจัดการเรียนการสอนแบบนั่งเรียน หรือออนไซต์ ปิดโรงเรียนและสถานศึกษาทุกระดับทั้งจังหวัดอีก 14 วัน จากเดิมได้ประกาศปิดมาตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน - 13 กรกฎาคม 2564 โดยเริ่มผลตั้งแต่วันที่ 14-27 กรกฎาคม 2564  โดยให้จัดการเรียนการสอนให้รูปแบบออนไลน์หรือรูปแบบอื่น อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ที่พบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ที่ประชุมยังได้เตรียมพร้อมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3 เพิ่มขึ้นอีกจำนวน 120 เตียง โดยเบื้องต้นจะใช้หอประชุมเอนกประสงค์มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พื้นที่ อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ เพื่อรองรับผู้ป่วย นอกจากนี้ยังได้ให้แต่ละอำเภอทั้ง 18 อำเภอ จัดเตรียมความพร้อมโรงพยาบาลสนาม หลังจากโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลประจำอำเภอ รวมทั้งโรงพยาบาลสนามทั้ง 2 แห่งรองรับผู้ป่วยเต็มแล้ว และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกตำบลจำนวน 135 ตำบลจัดเตรียมสถานที่กักตัวผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงอีกด้วย

นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า  จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ในขณะนี้ได้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มโดยแห่งที่ 3 จะเปิดในวันที่ 14 กรกฎาคม นี้ ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จำนวน 120 เตียง โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลนามนและโรงพยาบาลสมเด็จ และในขณะนี้พร้อมเปิดโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 4 อำเภอกมลาไสย ที่โรงเรียนกมลาไสย แห่งที่ 5 ที่โรงเรียนโนนสวรรค์ อำเภอกุฉินารายณ์ แห่งที่ 6 หอประชุมอำเภอท่าคันโท แห่งที่ 7 หอประชุมอำเภอยางตลาด แห่งที่ 8 หอประชุมอำเภอสหัสขันธ์ และเตรียมเปิดโรงพยาบาลสนามให้ครบ18 อำเภอ ภายในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ คาดว่าจะมีเตียงในโรงพยาบาลสนาม รวมทั้งหมดกว่า 1,000 เตียง รองรับผู้ป่วยโควิด -19 จังหวัดกาฬสินธุ์

นายทรงพล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในที่ประชุมยังได้พิจารณามาตรการยกระดับการป้องกันโรคโควิด-19 ตามคำสั่งของจังหวัดกาฬสินธุ์ ฉบับที่ 29 โดยขยายเวลาปิดการเรียนแบบ On-site ออกไปอีก 14 วันเริ่มวันที่ 14 - 27 กรกฎาคม 2564 งดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร การประชุมสัมมนา จัดได้ไม่เกิน 50 คน ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง 10 จังหวัด จะต้องรายงานตัวกับเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดอื่นให้รายงานตัวกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือ อสม.เพื่อทำการตรวจคัดกรองและประเมินความเสี่ยงโรคโควิด-19

ชลบุรี - ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ร่วมออกเรือกับ ร.ล.สายบุรี เพื่อติดตามการทดสอบความพร้อมหลังการซ่อมทำกำลังทางเรือที่มีความพร้อมรบ และพร้อมปฏิบัติการในทุกภารกิจ

วันที่ 12 ก.ค. 64 พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ , พล.ร.ท.สมัย ใจอินทร์ รองผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ , คณะฝ่ายอำนวยการฯ และผู้บังคับบัญชาของกองการฝึกกองเรือยุทธการ  ร่วมออกเรือ เพื่อทดสอบความพร้อมหลังการซ่อมทำของ ร.ล.สายบุรี ทั้งในด้านองค์บุคคล องค์วัตถุ และองค์ยุทธวิธี เนื่องจากเรือเข้ารับการซ่อมทำเป็นเวลานาน จึงต้องมีการตรวจสอบความพร้อมของเรือ เพื่อนำข้อมูลส่งให้หน่วยเทคนิคในฐานะหน่วยซ่อมบำรุง (ทางองค์วัตถุ) และทัพเรือภาคต่าง ๆ ในฐานะหน่วยผู้ใช้งาน โดยกองการฝึกกองเรือยุทธการจัดผู้ประเมินการทดสอบ โดยใช้พื้นที่บริเวณอ่าวไทยตอนบน

ความพร้อมของเรือและอากาศยาน ถือเป็นนโยบายของผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการกองเรือยุทธการให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งในห้วงเดือนที่ผ่านมา ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการได้เชิญกองเรือต่าง ๆ มาบรรยายและนำเสนอข้อมูลความพร้อมของเรือที่อยู่ในความรับผิดชอบ ปัญหาอุปสรรคข้อขัดข้องต่าง ๆ รวมทั้งความก้าวหน้าของการซ่อมทำเรือ เพื่อที่จะร่วมหาแนวทางแกัไข และเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

หลังจากที่รับฟังข้อมูลจากกองเรือต่าง ๆ แล้ว เมื่อวันที่ 18 และ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา ก็ได้ลงพื้นที่อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ จ.ชลบุรี และอู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือ จ.สมุทรปราการ เพื่อประสานการปฏิบัติรวมทั้งเยี่ยมกำลังพล และตรวจดูสภาพของเรือที่อยู่ในระหว่างการซ่อมทำ เพื่อรับทราบปัญหา ข้อขัดข้องต่าง ๆ สำหรับประเมินความพร้อมของเรือภายหลังจากการเข้ารับการซ่อมทำ ต่อไปเรือที่เข้ารับการซ่อมทำจากหน่วยเทคนิค เมื่อซ่อมทำเสร็จ และส่งมอบเรือ ให้กองเรือยุทธการแล้ว จะให้มีการตรวจสอบความพร้อมของเรือโดยให้กองการฝึกกองเรือยุทธการดำเนินการตรวจสอบในสาขาต่าง ๆ เพื่อเป็นกระจกเงาสะท้อนความพร้อมของเรือภายหลังการซ่อมทำ ก่อนจะออกปฏิบัติราชการ เพื่อจะได้ช่วยกองเรือตรวจสอบ และรายงานผลของการซ่อมทำไปให้กับหน่วยเทคนิคต่าง ๆ ที่ดำเนินการซ่อมทำในแต่ละสาขาที่เกี่ยวข้องได้รับทราบต่อไป


ภาพ/ข่าว  สมนึก เชื้อสนุก

สตูล - สมาคมประชาคมคนตาบอดไทยมอบถุงยังชีพ 41 ชุด พร้อมเงินจำนวน 20,500 บาท ช่วยเหลือเยียวยาคนตาบอดในพื้นที่จังหวัดสตูล ที่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิด-19

ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ศาลากลางจังหวัดสตูล นายศักระ กปิลกาญจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล รับมอบถุงยังชีพ จำนวน 41 ถุง และเงินสดจำนวน 20,500  บาท จาก นายพัฒน์ธนชัย สระกวี นายกสมาคมประชาคมคนตาบอดไทยและคณะ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาคนตาบอดในพื้นที่จังหวัดสตูลที่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิด-19 จำนวน 41 ราย โดยให้ทางจังหวัดสตูลได้ไปจัดสรรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้พิจารณาคัดเลือกเพื่อส่งมอบถุงยังชีพพร้อมเงินสดช่วยเหลือรายละ 500 บาท ให้แก่คนพิการทางการมองเห็นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 องค์กรละ 1 ราย จำนวน 41 แห่ง โดยมีพันจ่าเอก สาคร สิทธิศักดิ์ ท้องถิ่นจังหวัดสตูล และนางประทุม อู่เจริญ คลังจังหวัดสตูล ร่วมรับมอบด้วย

ทั้งนี้ทางสมาคมฯ ยังคงต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อให้มีทรัพยากรเพียงพอที่จะช่วยเหลือคนตาบอดในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ ผู้สนใจสามารถร่วมบริจาคสมทบทุนโครงการช่วยเหลือคนตาบอดที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 โดยการโอนเงินผ่านบัญชี ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์ เลขที่บัญชี 4-8101-4002-4 ประเภทบัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนตาบอดในประเทศไทย หรือร่วมบริจาคเป็นสิ่งของ เพื่อใช้ในการจัดทำถุงยังชีพ สามารถบริจาคด้วยตนเอง หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ ที่ 63/374 หมู่บ้านบางใหญ่ซิตี้ ซอย 10/11 หมู่ที่ 6 ต.เสาธงหิน อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี 11140 สอบถามรายละเอียดโทร. 08-9994-6656


ภาพ/ข่าว  นิตยา แสงมณี / ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสตูล

สมุทรปราการ - ดับอดีตเซียนพระ เหยื่อโควิด !! เจ้าอาวาส เผย สงสารและเป็นห่วงประชาชน

ที่วัดบางพลีใหญ่กลาง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ท่านพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ (พระครูแจ้) เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ประกอบพิธีฌาปนกิจศพให้ผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 โดยมีข้าราชการตำรวจ พยาบาล และญาติผู้เสียชีวิตร่วมไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้ายแบบ New normal

โดยท่านพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ (พระครูแจ้) เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง กล่าวว่า วัดได้รับฌาปณกิจศพเหยื่อโควิดมาหลายศพแล้ว ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน 64 ซึ่งขณะนี้ทางวัดบางพลีใหญ่กลางได้เผาศพเหยื่อโควิด-19 ไปแล้วรวม 36 ราย และรู้สึกมีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนทุกคนรวมถึงสงสารครอบครัวของผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 และบุคลากรทางการแพทย์ อีกทั้งเมื่อวันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทางวัดบางพลีใหญ่กลาง ได้ประกอบพิธีทำบุญทักษิณานุปทานเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19

อีกทั้งขณะนี้ทางวัดบางพลีใหญ่กลาง ได้สั่งให้ทางคณะเจ้าหน้าที่วัดช่วยกันแพคข้าวสารอาหารแห้ง รวมถึงของใช้ที่จำเป็นต่าง ๆ มากมายเพื่อเตรียมไปบริจาคให้กับผู้ที่เดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และนำไปมอบให้กับผู้ป่วยติดเตียง คนพิการในพื้นที่ต่าง ๆ อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้เตาเผาศพที่ใช้เผาศพโควิดอาจมีการเสื่อมสภาพได้เพราะต้องใช้ความร้อนสูงมากและเผาอยู่ตลอดแทบทุกวันก็อาจมีการเสื่อมสภาพได้เป็นธรรมดา แต่ก็ไม่ใช่ปัญหา ทางวัดจะอนุเคราะห์เผาศพโควิดต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าเตาเผานั้นจะแตก หรือจนกว่าจะไม่สามารถเผาต่อได้ ขณะนี้วัดบางพลีใหญ่กลาง มีญาติผู้เสียชีวิตเข้ามาติดต่อขอให้ทางวัดช่วยเผาศพโควิด และมีคิวจองเผาศพโควิด-19  อยู่อีกหลายราย ทางวัดก็มีความยินดีรับอนุเคราะห์ทุกราย  แต่ทางวัดบางพลีใหญ่กลางจะไม่รับฌาปนกิจศพเฉพาะวันศุกร์เท่านั้น   


ภาพ/ข่าว  คิว-ข่าวสมุทรปราการ  รายงาน

ขอนแก่น - ประกาศชัดเศรษฐกิจขอนแก่นต้องรอด นำบุคลากรด่านหน้าด้านเศรษฐกิจตบเท้า เข้ารับการฉีดวัคซีนทางเลือกคึกคัก "ชาญณรงค์" กำชับผู้ประกอบการทุกแห่งปฎิบัติตามคำสั่งอย่างเข้มงวด ทุกคนต้องช่วยกันจึงจะก้าวผ่านวิกฤตินี้ไปได้

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 13 ก.ค. 2564 ที่ห้องประชุมชั้น 13 รพ.ราชพฤกษ์ ถ.มิตรภาพ เขตเทศบาลนครขอนแก่น สถานที่ที่ใช้ในการฉีดวัคซีนทางเลือกสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ใน เขต จ.ขอนแก่น ตลอดตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมามีประชาชนที่ได้รับการยืนยันรับวัคซีนทางเลือกจากหอการค้า จ.ขอนแก่น ทยอยกันมารายงานตัวและเข้ารับการฉีดวัคซีน "ชิโนฟาร์ม" วัคซีนทางเลือกที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ทำการจัดสรรให้กับหอการค้า จ.ขอนแก่น จำนวน 2,400 โดส โดยมีกำหนดการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรด่านหน้าด้านเศรษฐกิจในวันนี้และวันพรุ่งนี้ (14 ก.ค.)

นายชาญณรงค์ บุริสตระกูล ประธานหอการค้า จ.ขอนแก่น กล่าวว่า หอการค้าขอนแก่น จัดอยุ่ในกลุ่มองค์กรเอกชนขนาดใหญา ซึ่งในระดับจังหวัดยอมรับว่าองค์กรภาคธุรกิจเอกชนนั้นมีเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการได้รับการจัดสรรวัคซีนจากหน่วยงานภาครัฐอาจจะไม่ทั่วถึงเนื่องจากจะต้องใช้กับบุคลากรด่านหน้า แต่ตามการจัดสรรวัคซีนของทางจังหวัดและคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ และทันทีที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ให้องค์กรเอกชนได้ดำเนินการตามนโยบายและระเบียบที่กำหนด หอการค้าขอนแก่น จึงขอรับการจัดสรรวัคซีนทางเลือกในชุดแรก ซึ่งได้รับการจัดสรรทั้งสิ้น 2,400 โดส สำหรับการฉีดให้กับบุคลากรด่านหน้าด้านเศรษฐกิจ 1,200 คน

"วรรคซีนจากทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะช่วยเราได้อย่างมาก เนื่องจากเป็นการจัดสรรให้กับบุคลากรด่านหน้าด้านเศรษฐกิจ ที่ต้องออกเดินทางติดต่อหรือ ต้อนรับลูกค้า ต้องติดต่อส่วนราชการ หรือเดินทางไปต่างประเทศ กลุ่มนี้จึงมีความอ่อนไหวและมีความเสี่ยง หอการค้าจึงได้ติดต่อและขอรับวัคซีนซิโนฟาร์ม ด้วยการดำเนินการในส่วนของทุนภาคเอกชน  ในลักษณะการบริจาคให้กับทางสถาบัน และนำมาจัดสรรให้กับองค์กรสมาชิกของหอการค้า เพื่อให้ทุกคนได้ มีส่วนร่วมและการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการพยายามสนับสนุนให้ประชาชนคนขอนแก่นและคนไทยทั้งประเทศได้รับเร็วขึ้น เพราะเราต้องต่อสู้กับโควิดไปอีกนาน"

ประธานหอการค้า จ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า เมื่อคนจำนวนมากได้รับวัคซีนมากขึ้นแล้ว ก็จะเป็นภูมิคุ้มกันหมู่ขนาดใหญ่กระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดที่้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมด้านเศรษฐกิจที่เข้มข้น แต่โจทย์ที่สำคัญคือเมื่อมีคนเดินทางเยอะขึ้น จังหวัดจะต้องรับแขกหรือรับการประชุมสัมมนา หรือจัดงานขนาดใหญ่ เช่นที่ขอนแก่น ซึ่งเราเป็นจังหวัดแห่งการประชุม สัมมนาและจัดแสดงนิทรรศการ ประกอบกับการที่ขอนแก่นเป้นเมืองแห่งการแพทย์ หรือเมดิคอลฮับที่ชัดเจน  ซึ่งการที่ภาคเอกชนได้ให้การสนับสนุนทางการแพทย์ ที่แสดงให้เห็นแล้ววันนี้ จะเป็นภาพแห่งความเข้มแข็ง ที่เราทุกคนจะก้าวผ่านวิกฤติเหตุการณ์นี้ไปด้วยกัน

"เมื่อถึงวันที่เรามีภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งอาจจะสร้างขึ้นในกลุ่มก้อนขนาดเล็กและสะสมจนครบทั้ง 70% ของประชากรชาวขอนแก่น หรือประมาณ 1.2 ล้านคน จากทั้งหมด 1.8 ล้านคน ซึ่งหากเราพูดถึงเฉพาะในพื้นที่เมืองหรือเฉพาะย่านการค้าและย่านที่มีการจัดประชุมสัมมนา ขณะนี้กลุ่มนี้ได้รับวัคซีนที่อยู่ในระดับปลอดภัยและตัดการแพร่กระจายได้  ซึ่งทำให้คนที่จะเดินทางเข้ามาติดต่อนั้นได้มั่นใจว่าขอนแก่นปลอดภัย ขณะที่คนที่จะเดินทางเข้ามาในจังหวัด ก็ได้รับการฉีดวัคซีแล้วเช่นกัน

อย่างไรก็ตามชุดแรกจำนวน 2,400 โดส ซึ่งจะฉีดให้กับคน 1,200 คน  ซึ่งในชุดที่ 2 เราจะสำรวจว่าต้องการวัคซีนอยู่เท่าไหร่ เน้นหนักไปในกลุ่มเอสเอ็มอี โดยเฉพาะพ่อค้ารายเล็ก ที่รัฐอาจจะดูแลไม่ทั่วถึงเราก็จะพยายามดูแลเข้าไปจนถึงจุดนี้ เพราะจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงในด่านหน้าเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประกอบการในระยะนี้มีภาวะเสี่ยงมีการเคลื่อนย้ายของแรงงานแล้วก็การรับเชื้อที่เร็วกว่าเดิม ดูได้จากจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ในเขต จ.ขอนแก่น ที่มีมากขึ้น ทำให้การเรารณรงค์ให้ทุกคนระมัดระวังและป้องกัน รวมทั้งการปฎิบัติตามคำสั่งอย่างเข้มงวด เป็นสิ่งที่ต้องร่วมมือกัน เพราะเราอาจจะเลี่ยงไม่ได้และอาจจะเป็นเรื่องที่หนีไม่ได้ เราต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ต่อไปและทุกคนต้องปลอดภัย เข้มแข็ง และปฎิบัติตามคำแนะนำของทางการอย่างเคร่งครัด"

ปทุมธานี – ผู้ว่าฯ ร่วมกับบิ๊กแจ๊ส เปิดโรงพยาบาลสนามวิทยาลัยการอาชีวะ 450 เตียง

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เวลา 10:00 น. นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วย พลตำรวจโท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี พลอากาศตรี นายแพทย์สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมเปิดโรงพยาบาลสนาม 450 เตียง รองรับประชาชนที่ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโร่นา 2019 (COVID-19) ที่ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี ตำบลบางพูน อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยสถิติจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมจำนวน 13,105 ราย รักษาหายแล้วจำนวน 6,077 ราย อยู่ระหว่างการรักษาจำนวน 6,945 ราย ทำให้จำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยภายในโรงพยาบาลภาครัฐและโรงพยาบาลสนามมีไม่เพียงพอจึงทำให้ต้องเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่ม ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ดูแลตัวเองอยู่ที่บ้านอยู่ระหว่างรอเตียงจำนวนมากกว่า 2,500 ราย ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปทุมธานี จึงมอบหมายให้ องค์การบริหารส่วยจังหวัดปทุมธานี และวิทยาลัยการอาชีวะ บางพูน เปิดโรงพยาบาลสนามจำนวน 450 เตียง โดยมีบุคลากรทางการแพทย์จาก โรงพยาบาลปทุมธานี ดูแลผู้ติดเชื้อ

ด้าน นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือร่วมใจกันจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากปัจจุบันพี่น้องประชาชนทุกพื้นที่ได้เฝ้าระวังแล้วก็ยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทั้งหมดเป็นภาพรวมที่ทุกคนต้องร่วมมือกันในการทำงาน รวมถึงการเตรียมทำงานในชุมชน โดยทุกอำเภอจะมีสถานที่พักคอยเพื่อรอเตียง มีบุคลากรทางการแพทย์และทุกภาคส่วนเข้าไปดูแลพี่น้องประชาชน มีการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) ในสถานการ์เช่นนี้เป็นกำลังให้กันและกัน ให้บุคลากรทุกภาคส่วนได้ช่วยกันทำงานและทุกท่าน


ภาพ/ข่าว  ประภาพรรณ ขาวขำ รายงาน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top