‘พิธา’ ร่วมวงถกนโยบายเศรษฐกิจพรรคการเมือง ชงแนวคิดกำหนดนโยบายต้อง ‘ถูกใจคนไทย-ตรงใจตลาดโลก’ ชู 'สร้างงาน-ซ่อมประเทศ' เปลี่ยนปัญหา-ความต้องการคนไทย เป็นอุตสาหกรรมใหม่-จ้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง พุ่งเป้าเศรษฐกิจเติบโตควบคู่ลดเหลื่อมล้ำ
(9 ก.พ. 66) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมแสดงวิสัยทัศน์พร้อมผู้นำพรรคการเมืองต่างๆ ในงานสัมมนา ‘อนาคตประเทศไทย Economic Drives เศรษฐกิจไทยสตาร์ทอย่างไรให้ก้าวนำโลก’ ซึ่งร่วมจัดโดยเครือโพสต์ทูเดย์และเนชั่น ให้ผู้นำพรรคการเมืองได้พูดถึงมุมมองของแต่ละพรรคที่มีต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน พร้อมนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจของแต่ละพรรค
พิธาเริ่มต้นการนำเสนอ โดยระบุว่าโจทย์ที่ได้รับมาวันนี้จากผู้จัดงาน คือเราจะกำหนดนโยบายเศรษฐกิจอย่างไรให้ตรงใจตลาดโลก แต่ในการนี้ตนต้องขอคิดต่าง ว่าคำถามที่ถูกต้อง คือเราจะกำหนดนโยบายเศรษฐกิจอย่างไรให้ตรงใจคนไทยและตลาดโลกไปพร้อมกัน เพราะที่ผ่านมาเรามีเศรษฐกิจที่ตรงใจตลาดโลกมามากแล้ว ทั้งของถูกและมีคุณภาพ แต่จะมีประโยชน์อะไร ถ้าสิ่งนั้นต้องแลกมาด้วยการเสียสละของคนไทย
ดังจะเห็นได้ว่าประเทศไทยที่ส่งออกข้าวเป็นอับดับ 1-3 ของโลกมาตลอด แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศยังยากจน คิดเป็นถึง 66% หรือ 2 ใน 3 ของคนจนอยู่ในภาคการเกษตร จะมีประโยชน์อะไรกับการที่รายได้การท่องเที่ยวของประเทศก่อนโควิด สูงถึง 2 ล้านล้านบาท แต่ 74% กระจุกตัวอยู่แค่ใน 5 จังหวัดจากทั้งประเทศ และจะมีประโยชน์อะไรกับการที่ประเทศไทยมีภาคธนาคารที่เข้มแข็งเป็นอันดับที่ 21 ซึ่งถือเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยพุ่งทะยานไปถึง 89% ของจีดีพีแล้ว
พิธากล่าวต่อไปว่า ธนาคารโลกล่าสุดคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปีหน้าจะโตช้าที่สุดในรอบ 30 ปี นี่คือโจทย์ที่รัฐบาลไทยต้องออกแบบนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ จะเอาแต่พึ่งการส่งออก การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ รวมถึงการท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่ได้แล้ว สิ่งที่เราต้องการวันนี้คือวิธีคิด ซึ่งพรรคก้าวไกลมีกระบวนการวิเคราะห์ กำหนดเป้าหมาย ที่จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายอย่างเป็นระบบ พรรคก้าวไกลเริ่มต้นจากการวิเคราะห์หาจุดแข็ง-จุดอ่อน-โอกาส-ภัยคุกคาม (SWOT analysis) ที่ทำให้เราได้เห็นภาพของประเทศไทยในปัจจุบัน
กล่าวคือ ประเทศไทยมีจุดแข็ง คือความสร้างสรรค์ ห่วงโซ่อุปทานที่ดีระดับหนึ่ง และมีเสถียรภาพทางการเงินการคลัง ในขณะเดียวกันก็มีจุดอ่อนคือการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว การมีระบบรัฐราชการรวมศูนย์ที่เต็มไปด้วยการคอร์รัปชัน และความเหลื่อมล้ำที่สูงมาก หากมองในแง่โอกาส แนวโน้มการลงทุนของโลกในขณะนี้กำลังมุ่งไปที่การกระจายความเสี่ยงออกจากฐานการผลิตเดิม ขณะเดียวกันกำลังจะเกิดการปฏิรูปภาษีโลกครั้งใหม่ (Global Minimum Tax) หรือ GMT แต่โลกก็กำลังมอบโจทย์ความท้าทายให้กับประเทศไทยในหลายด้านเช่นเดียวกัน ทั้งในเรื่องภาวะโลกร้อน ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์เช่นสงคราม และราคาโภคภัณฑ์ที่ผันผวน
พิธากล่าวต่อไปว่า เมื่อได้ภาพปัจจุบันของประเทศดังนี้แล้ว การกำหนดยุทธศาสตร์ของพรรคก้าวไกลจึงเกิดขึ้นภายใต้โจทย์เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไปพร้อมกับการลดความเหลื่อมล้ำ นำมาสู่นโยบาย 'สร้างงาน ซ่อมประเทศ' หรือการนำปัญหาร้อยแปดพันเก้าที่เรื้อรังมาข้ามทศวรรษ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไม่ถึงระบบขนส่งสาธารณะ น้ำประปาที่ไม่สะอาด ปัญหาพลังงาน ความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ เปลี่ยนให้เป็นโอกาสในการสร้างงาน เพื่อซ่อมประเทศ กล่าวคือ