Friday, 9 May 2025
NEWS FEED

อุปนายก TSEA ชี้คดีตึก สตง. ถล่ม ใช้เวลาสู้ในชั้นศาลนานเกิน 10 ปี หวั่นเป็นคดีที่ไม่มีใครต้องรับผิด!! แม้สร้างความเสียหายใหญ่หลวง

เมื่อวันที่ (7 พ.ค.68) นายชูเลิศ จิตเจือจุน อุปนายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย (TSEA) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเกิดเหตุอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม เพื่อสังเกตการณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนและเก็บหลักฐาน โดยระบุว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อทำความเข้าใจแนวทางการเก็บหลักฐานในคดีนี้ให้ชัดเจน

นายชูเลิศแสดงความกังวลกรณีที่กรุงเทพมหานครเตรียมส่งมอบพื้นที่คืนให้ สตง. ภายใน 4 วันข้างหน้า อาจทำให้สังคมตั้งคำถามเรื่องความเร่งรีบและความสมบูรณ์ของการเก็บหลักฐาน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากคดีใหญ่เช่นนี้ต้องใช้เวลาต่อสู้ในชั้นศาลยาวนาน อาจเกินกว่า 10 ปี หากไม่มีหลักฐานที่ละเอียดและได้มาตรฐาน อาจทำให้ไม่สามารถเอาผิดผู้เกี่ยวข้องได้

อย่างไรก็ตาม นายชูเลิศระบุว่า ได้รับการยืนยันจากทีมพนักงานสอบสวนแล้วว่า ได้ทำหนังสือถึง สตง. ขออายัดพื้นที่ต่อหลัง กทม. ส่งคืนพื้นที่ เพื่อให้การเก็บหลักฐานเสร็จสมบูรณ์ โดยจะยังไม่คืนพื้นที่จนกว่ากระบวนการสอบสวนจะแล้วเสร็จ

อุปนายก TSEA กล่าวเพิ่มเติมว่า หากเจ้าหน้าที่มีเวลาในการตรวจสอบมากขึ้น อาจพบชิ้นส่วนคอนกรีตหรือหลักฐานทางวิศวกรรมอื่นที่สมบูรณ์ ซึ่งอาจเป็นกุญแจสำคัญในการไขปริศนาสาเหตุการถล่มของอาคารและช่วยผลักดันให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นได้ในอนาคต

กิจกรรมเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลก ณ เมืองโฮจิมินห์ เวียดนาม ครั้งที่ 20

หลวงพ่อพระพรหมบัณฑิต คือ พระมหาเถระที่ยืนหนึ่งบนเวทีระดับโลก สิ่งที่เห็นและเป็นไป ในกิจกรรมเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลก ณ เมืองโฮจิมินห์ เวียดนาม ครั้งที่ 20 โดยใช้สมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลกบน Platform ในการทำหน้าที่เป็นสะพานในการเชื่อมชาวพุทธนานาชาติ ทั้งสามนิกาย: เถรวาท มหายาน และวัชรยาน เชื่อมทั้งศรีลังกา ไทย พม่า จีน เกาหลี เวียดนาม สู่ภูฏานและอินเดีย ข้ามสู่ยุโรป อเมริกา อเมริกาใต้ ออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ ในขณะที่ประเทศจีน โดยพุทธสมาคมจีน และรัฐบาล ได้เดินทางมาพบทั้งประเทศไทย และเวียดนามในช่วงการจัดงานวิสาขบูชา เพื่อยืนยันถึงความพร้อมของประเทศจีนในการเป็นเจ้าภาพ ครั้งที่ 21 

วันวิสาขบูชาโลก  มุ่งสู่โอกาส World Wellness Complex: WWC  วันวิสาขบูชาโลก เป็นตลาดนัด หรือ Sunday Market ของชาวพุทธ ที่เดินทางมาพบปะแลกเปลี่ยน โดยใช้ความสัมพันธ์ที่ดีงามผ่านการทะลายกำแพง แล้วสร้างสะพานไปสู่ความร่วมมือในระดับพหุภาคี และทวิภาคีไปทำเรื่องอื่นๆ รวมถึงการนำหลักธรรม พลังความเชื่อ วัฒนธรรม วัดวาอาราม และวิถีปฏิบัติแบบสติ และสมาธิไปช่วยเป็นพลังในการเสริมสร้างความสุข สงบร่มเย็นเป็นสุขแก่ชีวิต โดยใช้การศึกษา การเผยแผ่ และสร้างสรรค์พลังร่วมมือและความสุขแก่ชาวโลก เวียดนาม ทุ่มงบ 200 กว่าล้าน ใช้วันวิสาขบูชาโลกเป็น Soft Power ดึงนักท่องเที่ยววิถีวัฒนธรรมและศาสนา

ประเทศไทยในปี 2548 โดยรัฐบาลไทย เคยใช้แนวนโยบายวิสาขบูชาโลกเป็น Soft Power มาก่อน ทุ่มงบประมาณกว่า 100 ล้าน ดึงพลังทุกกระทรวง รวมถึงดึงศักยภาพของเอกชนมาสนับสนุนให้ผู้นำศาสนา ทั้งมหาเถรสมาคมและมหาจุฬาฯ โดยหลวงพ่อพระพรหมบัณฑืต เมื่อครั้งเป็นพระเทพโสภณ จัดกิจกรรมยกระดับวิสาขบูชาโลก เปิดประเทศดึงชาวพุทธทั่วโลกมาร่วมกิจกรรม นำสู่การท่องเที่ยวเชิงพุทธ ในขณะที่เวียดนามนั้น คณะสงฆ์และรัฐบาลก็นำใช้โมเดลดังกล่าวมาใช้ยกระดับการสร้างแบรนด์เพื่อสร้างคุณค่าให้กับประเทศ

ด้านคณะสงฆ์เวียดนาม ใช้วันวิสาขบูชาปลุกพลังศรัทธา ทุ่มพัฒนาการศึกษายกระดับสู่นานาชาติ การจัดพิธีเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา ณ มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาเวียดนาม หรือ Viet Nam Buddhist University ตีความเป็นอื่นไปไม่ได้  นอกจากการใช้พิธีนี้ เปิดมหาวิทยาลัยแห่งนี้อย่างเป็นทางการ ชี้นำให้ชาวโลกเห็นความพร้อมของการศึกษาพระพุทธศาสนาสมันใหม่ภายใต้การเชื่อมการศึกษาระดับนานาชาติของรัฐ สร้างความไว้ใจและแสดงความพร้อมสำหรับการศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาในระดับโลก

การสร้างชาติให้เติบโตอย่างมั่งคง ต้องไม่หลงลืมพลังศาสนา ไทยเคยแนวนโยบาย 3 พลังในการสร้างชาติไทย คือ การผนึกกำลังชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ หลอมรวมให้เป็นหนึ่งจนประเทศไทยเคยสามารถยืนหนึ่งในอาเซียนอย่างมั่นคง ในขณะที่เวียดนามได้รวมพลังสร้างชาติมาตลอด 50 ปี หลัง 30 เมษายน 2518 ที่เป็นวันแห่งการปลอดปล่อยเวียดนามรวมเป็นหนึ่ง แล้วใช้แนวทางชาติกับศาสนาเสริมพลังกัน ตนเห็นชัดเจนในการจับงานฉลอง 50 ปีการสร้างชาติเวียดนามใหม่มารวมกับการจัดพิธีวิสาขบูชาโลกครั้งที่ 20 หลังยื่นขอเป็นเจ้าภาพมาร่วม 5 ปี ทั้งการล๊อบบี้และพูดในเวทีต่างๆ

ทั้งหมดคือสิ่งที่เห็นจากการเข้ามาคลุกคลีและช่วยชาวพุทธเวียดนามเตรียมการจัดงานมาตลอดทั้งปัที่ผ่านมา และขอแสดงความชื่นชม ทั้งพี่น้องชาวพุทธเวียดนามที่มุ่งมั่นนำพุทธศาสนามาปักธงในประเทศนี้ โดยมีท่านติ๊ก กว่าง ดึ๊ก ได้เสียสละเผาตัวตายให้ชาวโลก และชาวเวียดนามได้ลืมตาตื่นขึ้นมารักษาภูมิปัญญาที่ยิ่งใหญ่ใหญ่ ทิ้งหัวใจไว้เตือนใจให้ชาวพุทธเวียดนามได้ตระหนัก รักษาพุทธให้คงอยู่คู่กับชาวเวียดนามและชาวโลกตลอดไป

วงถก ‘ธรรมศาสตร์’ ตีแผ่สถานการณ์ ‘ตายลำพัง’ ชี้ ต้องเร่งระดมสรรพกำลังดูแลปัญหา ‘สังคมสูงวัย’

'ธรรมศาสตร์' เปิดวงถกสถานการณ์ปัญหาสังคมสูงวัย นักวิชาการสะท้อนสังคมไทยประสบปัญหา คนแก่เยอะ แก่เร็ว แต่แก่ไม่ดี จี้ภาครัฐผลิตนักจัดการสังคมสูงวัยในชุมชนและให้สิทธิลา Family Caregiver ขณะที่ 'คณบดีสหเวชศาสตร์' ชี้โรค NCDs-พลัดตกหกล้ม-ข้อเสื่อมและสมองเสื่อม เป็นปัญหาสำคัญผู้สูงอายุ พร้อมหนุน อปท.- รพ.สต.ถ่ายโอนฯ ดูแลประชาชน ด้าน 'หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศฯ ด้านวิศวะ' นำเสนอซีรีส์นวัตกรรมฟื้นฟูร่างกาย ใช้งานง่าย-ราคาเข้าถึงได้-และมีมาตรฐาน ส่วน 'รองอธิการฯ ฝ่ายวิจัย' ประกาศยุทธศาสตร์ MOU ทำงานร่วม อปท.-กทม.-อบจ.ปทุมธานี ใช้งานวิจัยดูแลสังคม

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงานแถลงข่าว KICK OFF โครงการ TU Care & Ageing Society ‘ธรรมศาสตร์’ เพื่อนร่วมทางสังคมสูงวัย เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2568 ประกาศความพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลประชาชนและรับใช้สังคมท่ามกลางสถานการณ์ความท้าทายสังคมสูงวัย โดยภายในงานมีการจัดเวทีเสวนา Talk & Share: TU Care & Ageing Society ซึ่งมี 4 นักวิชาการธรรมศาสตร์ร่วมให้มุมมองถึงสถานการณ์ และแนวทางที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเป็นส่วนหนึ่งในการรับมือกับสังคมผู้สูงวัยในประเทศไทย

ผศ. ดร.ณัฏฐพัชร สโรบล ภาควิชานโยบายสังคม การพัฒนาสังคมและการพัฒนาชุมชน สาขาเชี่ยวชาญสวัสดิการผู้สูงอายุ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า สถานการณ์และปัญหาสุขภาวะของสังคมไทยในปัจจุบัน กำลังประสบกับภาวะ ‘คนแก่เยอะ แก่เร็ว แต่แก่ไม่ดี’ ผู้สูงวัยจำนวนไม่น้อยกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์ ‘โคโดกุชิ’ หรือการตายอย่างลำพัง โดยไม่ได้รับความสนใจจากครอบครัว หรือคนรอบข้าง ซึ่งคล้ายคลึงกับประเทศญี่ปุ่น 

นอกจากนั้น ในช่วงขณะที่ยังมีชีวิตก็ประสบกับความว้าเหว่ รู้สึกโดดเดี่ยวจากการที่ลูกหลานต้องออกไปทำงาน อีกทั้ง ยังต้องพบกับสถานการณ์ ‘The Long Goodbye’ ซึ่งผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะมีภาวะสมองเสื่อมเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้ตายจากกันไป แต่ก็เสมือนว่าได้จากกันไปแล้วตลอดกาลทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ 

ผศ. ดร.ณัฏฐพัชร กล่าวต่อไปอีกว่า ที่ผ่านมาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้ทำหน้าที่เป็นเพื่อนร่วมทางกับสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาผู้สูงวัยมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีโปรเจกต์ที่ทำงานกับเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ชื่อว่า ‘SMART AND STRONG Project’ ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมด 39 แห่ง ทั่วประเทศ และตอนนี้ได้ขยายโครงการไปยังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) และหนึ่งในโมเดลที่อยากถอดบทเรียนเพื่อเอามานำเสนอ และสะท้อนไปยังภาครัฐ คือ โครงการ BYT SMART Health City การสร้างศูนย์ผู้สูงอายุ ของเทศบาลเมืองบึงยี่โถ จ.ปทุมธานี 

“ฐานรากของการดูแลดูผู้สูงวัย คือระบบการแพทย์ปฐมภูมิ (Primary Care) กับบริการที่มีอยู่ในชุมชน (Community Care) สิ่งที่รัฐควรลงทุนมากๆ ในเวลานี้คือการผลิตนักจัดการสังคมสูงวัยในชุมชน เพราะที่ผ่านมารัฐผลิตแต่นักปฏิบัติงานสายวิชาชีพ แต่นักปฏิบัติการด้านสังคมสูงวัยมีความเฉพาะทาง และมีปัญหาที่ซับซ้อน จึงจำเป็นต้องยกระดับบุคลากรวิชาชีพให้เป็นนักจัดการสังคมสูงวัย นอกจากนี้ผู้ดูแลครอบครัว (Family Caregiver) หรือคนในครอบครัวที่ต้องมาดูแลผู้สูงวัยที่อาจจะต้องเสียสละตัวเองมาทำหน้าที่นี้ รัฐควรมีสวัสดิการให้ หรือแก้ไขกฎหมายให้ Family Caregiver มีสิทธิ์ลางานเพื่อมาทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ สิ่งเหล่านี้จะเป็นการหนุนเสริมกำลังใจให้กับเดอะแบกของครอบครัว” ผศ. ดร.ณัฏฐพัชร กล่าว

รศ. ดร.ไพลวรรณ สัทธานนท์ คณบดีคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กลุ่มปัญหาสุขภาพที่สำคัญในประชากรผู้สูงอายุที่ส่งผลกระทบให้ผู้สูงวัยไม่สามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตนเอง และต้องพึ่งพาคนอื่น คือปัญหาเรื่องการพลัดตกหกล้ม ปัญหาสุขภาพกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และที่กำลังมาแรงในระยะหลังๆ คือโรคอ้วนลงพุงที่จะนำไปสู่โรคอื่นๆต่อไป นอกจากนี้ยังมีโรคที่เกี่ยวกับข้อเสื่อม สมองเสื่อม และโรคทางทันตกรรม

รศ. ดร.ไพลวรรณ กล่าวต่อไปว่า คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความพร้อมทั้งองค์ความรู้ เครื่องมือที่ทันสมัย และบุคลากรที่จะเข้าไปหนุนเสริมการแก้ไขปัญหาสุขภาพของคนไทยในมิติต่างๆ เพราะมีหลักสูตร และสาขาทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่หลากหลาย มีศูนย์บริการสุขภาพซึ่งให้บริการประชาชน ที่ได้รับการรับรองจากองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) เป็นอาทิ ความพร้อมต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้คณะสหเวชศาสตร์ สามารถออกไปให้บริการด้านสุขภาพในชุมชนต่าง ๆ 

อีกทั้ง ในระยะหลังมานี้ ทางคณะฯ เริ่มมีการขยายไปบริการไปยังหน่วยงาน อปท. เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ปทุมธานี และปริมณฑล รวมไปถึงเขตสุขภาพที่ 4 ในบางจังหวัด ซึ่งกรณีของปทุมธานี ได้ครอบคลุมการดูแลไปยังหลาย อปท. โดยได้รับการตอบรับจากชุมชนเป็นอย่างดี เพราะมีบริการที่แตกต่างไปจากหน่วยบริการอื่นๆ กล่าวคือ เมื่อศูนย์บริการลงไปตรวจประเมินสุขภาพแล้ว ยังได้มีการวิเคราะห์และรายงานผลสุขภาพเป็นรายบุคคล ที่จะนำไปสู่การปรับพฤติกรรมของผู้ป่วยและติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังสรุปให้เห็นภาพสุขภาพของชุมชน เพื่อจะนำไปสู่การออกแบบกลไกการดูแลสุขภาวะแบบองค์รวมให้กับท้องถิ่น

มากไปกว่านั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังมีความพร้อมอีกหลายด้านที่จะให้บริการสุขภาพแก่ผู้สูงอายุในหลายมิติ หนึ่งในนั้นคือสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมีการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ เพื่ออบรมและให้ความรู้การดูแลผู้สูงวัย ซึ่งปัจจุบันนี้มีการอบรมเข้าสู่รุ่น ที่ 14 แล้ว นอกจากนี้ยังมีศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อให้การดูแลผู้สูงอายุระยะสุดท้าย และให้บริการดูแลผู้ป่วยติดเตียง การบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยระยะกลาง และการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative care) อย่างครบวงจร

“ทิศทางของคณะสหเวชศาสตร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเข้าไปสนับสนุน ส่งเสริมการดูแลระบบสุขภาพผู้สูงวัย ให้กับท้องถิ่นต่างๆ ที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั้งการให้แนวทางการวางแผนการจัดการบริการสุขภาพ รวมไปถึงการสนับสนุนบุคลากรสายวิชาชีพ ที่ รพ.สต. กำลังขาดแคลน ผ่านการให้โควตาแก่นักเรียนที่อยู่ในท้องถิ่น เพื่อนำความรู้กลับไปทำงานให้กับพื้นที่ของตนเอง นอกจากนี้คือการพัฒนาศักยภาพของชุมชนในมิติต่าง ๆ เช่น การพัฒนาผู้ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง พัฒนาทักษะแรงงานที่อยู่ในวัยเกษียณ รวมถึงการเตรียมความพร้อมประชาชนก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ” รศ. ดร.ไพลวรรณ กล่าว

ผศ. ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ หัวหน้าศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการ ด้านการออกแบบและพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมอย่างสร้างสรรค์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า แม้หลายท้องถิ่น จะมีศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้สูงอายุอยู่ในชุมชน แต่ก็ถือว่าความสำเร็จในการฟื้นฟูยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร นั่นเป็นเพราะความขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ และขาดนวัตกรรมที่เหมาะสมสำหรับชุมชน ไม่ตอบโจทย์ในแง่ประสิทธิภาพและการใช้งาน

ทั้งนี้ โจทย์การออกแบบและพัฒนานวัตกรรมฟื้นฟูสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วย จะต้องสามารถลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ได้ โดยมีระบบเชื่อมโยงอินเทอร์เน็ต (IOT) สำหรับการประเมินผลทางไกล สิ่งที่สำคัญ คือ สามารถใช้งานและดูแลรักษาง่าย รวมไปถึงมีราคานวัตกรรมที่ไม่แพงมากนัก ทำให้ศักยภาพระดับชุมชนและครัวเรือนเข้าถึงได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ คือ เงื่อนไขที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใช้เป็นฐานคิดในการออกแบบนวัตกรรมให้กับผู้ป่วยและผู้สูงวัย

“ธรรมศาสตร์ มีการพัฒนานวัตกรรมเป็นซีรีส์ ครบวงจรการฟื้นฟู ตั้งแต่การฝึกยืนและฝึกเดิน โดยเริ่มตั้งแต่ ‘รถเข็นปรับยืน’ เพื่อฝึกให้ร่างกายมีความแข็งแรง สามารถลุกขึ้นยืนเองได้ โดยต่อมามีการพัฒนามาเป็นระบบไฟฟ้า ซึ่งอุปกรณ์ชิ้นนี้ มีผู้ป่วยคนหนึ่งยอมสั่งซื้อมาจากต่างประเทศ ในราคาที่สูงถึง 2 – 3 แสนบาท แต่เมื่อมองลองใช้ของเรา เขาบอกว่าดีกว่าที่สั่งซื้อเข้ามาเอง จึงนำของเราไปใช้แทน ถัดจากนั้น จะเป็นการฝึกเดินบนเครื่องที่ชื่อว่า ‘I – Walk’ แล้วไปฝึกเดินบนพื้นด้วยเครื่องมือ ‘Space Walker’ และล่าสุดได้ออกนวัตกรรมการพัฒนากำลังแขน ที่ชื่อว่า ‘Arm Booster’ นวัตกรรมที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ได้ผ่านมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ ซึ่งนำไปสู่การใช้งานจริงในระดับชุมชนผ่านศูนย์สุขภาพต่างๆ และเผยแพร่ในเชิงพาณิชย์แล้ว ซึ่งเป็นความพยายามที่ใช้เวลาพัฒนามากว่า 10 ปี กว่าที่จะได้รับการยอมรับเช่นนี้” ผศ. ดร.บรรยงค์ กล่าว

ด้าน รศ. ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า บทบาทของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการสนับสนุนทางด้านวิชาการ เพื่อขับเคลื่อนเรื่องสังคมผู้สูงวัย คือการเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ในการเชื่อมโยงทั้งแหล่งทุนภายในและภายนอก ให้กับนักวิจัย ซึ่งจุดเด่นของงานวิชาการในการผลักดันและพัฒนาเรื่องสังคมสูงวัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่างานวิจัยจะมีความเป็นสหศาสตร์เป็นอย่างมาก 

ทั้งนี้ เพราะมหาวิทยาลัยฯ มีการออกแบบการสนับสนุนผ่านศูนย์วิจัยที่มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 80 ศูนย์ และศูนย์แห่งความเป็นเลิศ 20 ศูนย์ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ มีศูนย์ที่ดูแลประเด็นเกี่ยวกับสูงวัยเป็นการเฉพาะซึ่งครอบคลุมหลากหลายคณะ โดยมีนักวิจัยซึ่งสามารถผลิตงานวิชาการและนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลมากมาย 

“ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานวิจัยด้านสังคมสูงวัย ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การบริหารงานของ ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ อธิการบดี สิ่งหนึ่งที่พยายามจะผลักดันให้สำเร็จให้ได้ คือการทำให้งานวิจัยเป็นประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง หนึ่งในนั้นคือการทำงานร่วมกับ อปท. และ กทม. ซึ่งได้หารือกันไว้ว่าจะมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อผลักดันโครงการส่งเสริมสุขภาวะ โครงการหลักสูตรฝึกอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุ และโครงการออกแบบนวัตกรรมเพื่อสังคมผู้สูงอายุ ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันที่จะได้ทำงานร่วมกับ อบจ.ปทุมธานี ต่อไปในอนาคตด้วย” รศ. ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ กล่าว

อนึ่ง โครงการ TU Care & Ageing Society ‘ธรรมศาสตร์’ เพื่อนร่วมทางสังคมสูงวัย เป็นโครงการภายใต้การดูแลของ รศ. ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ ที่จะทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มในการบูรณาการทรัพยากรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แบบข้ามศาสตร์ ข้ามคณะ-สาขา ตามค่านิยม ONE TU เพื่อจัดบริการวิชาการและบริการสังคม ตลอดจนการสื่อสารสังคม โดยในปี 2568 ซึ่งเป็นเฟสแรกของการดำเนินโครงการ ธรรมศาสตร์จะทำงานร่วมกับ จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

'สมาคมช่างภาพผู้สื่อข่าวโทรทัศน์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์' แถลงข่าว คอนเสิร์ตไตรการ คอนเสิร์ตการกุศล เพื่อเชิดชูเกียรติประวัติครูเพลง สุรพล โทณวณิก ศิลปินแห่งชาติ 9 สิงหาคมนี้ ห้ามพลาด

บรรยากาศงานแถลงข่าวคอนเสิร์ต 'ไตรกาล' เพื่อเชิดชูเกียรติประวัติศาสตร์ครูเพลง สุรพล  โทณะวณิก ศิลปินแห่งชาติ จัดโดยสมาคมช่างภาพผู้สื่อข่าวโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมี แจ้ ดนุพล แก้วกาญจน์ ต้อมเรนโบว์ จิ๊บร.ด. นัทเลอทาน่า และ อลิศ ธนัชศลักษณ์ มาร่วมงานแถลงข่าวในวันนี้

โดยมี คุณพัฒนพงค์ หนูพันธ์ กรรมการผู้จัดการ ช่อง7HD ร่วมมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีในวันนี้อีกด้วย 

อนึ่งคือเดิมจะมีการจัดงานในวันเสาร์ที่ 17 พฤษภาคม 2568 เวลา 14.00-17.00 น. ณ mcc Hall เซ็ลทรัลลาดพร้าว

​แต่ด้วยการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว สร้างความตกใจและยังหวาดผวากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของแฟนเพลง 

พี่แจ้-นายดนุพล แก้วกาญจน์ ศิลปินที่รับการดำเนินงานจัดงานครั้งนี้ ได้ประชุมและมีความเห็นว่า  ควรต้องเลื่อนการจัดงานออกไป 

โดยกำหนดจัดงาน เป็นวันที่ 9สิงหาคม 2568 โดยจัดสถานที่เดิมคือ BccHall เซ็นทรัลลาดพร้าว   

ผู้ที่สนใจซื้อบัตรได้ทาง 👉https://m.thaiticketmajor.com/concert/trikarn-gawee-pleng-3-paen-din.html

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติประชุมคณะกรรมการส่งเสริมงานสอบสวน หาแนวทางแก้ไขปัญหา พัฒนาระบบงานสอบสวนให้ครบถ้วนทุกมิติ และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในอนาคต

เมื่อวานนี้ (7 พ.ค.68) เวลา 15.00 น. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมงานสอบสวน ครั้งที่ 1/2568 ณ ห้องประชุม ศปก.ตร. ชั้น 20 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมี พล.ต.อ.นิรันดร เหลื่อมศรี รอง ผบ.ตร.(รับผิดชอบงานกฎหมายและคดี) , พล.ต.ท.ณพวัฒน์ อารยางกูร ผู้ช่วย ผบ.ตร. , คณะที่ปรึกษาคณะกรรมการส่งเสริมงานสอบสวน ประกอบด้วย พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฒิ , พล.ต.ท.จักรทิพย์ กุญชร ณ อยุธยา, พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน และ พ.ต.อ.มานะ เผาะช่วย พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ทั้งในรูปแบบพบปะโดยตรงและผ่านระบบประชุมทางไกลอิเล็กทรอนิกส์ (Zoom)

ในการนี้ ผบ.ตร. ได้กล่าวเปิดการประชุม โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการรับฟังความคิดเห็น ปัญหา ข้อเสนอแนะ และแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพนักงานสอบสวนจากผู้เข้าร่วมประชุม รวมถึงแนวทางในการสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงานสอบสวนได้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดำรงตนในความยุติธรรมได้อย่างสมศักดิ์ศรี และได้ร่วมพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมอย่างยั่งยืนในการพัฒนาระบบงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ครบถ้วนทุกมิติ และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในอนาคต

'กองทุนดีอี' ไฟเขียวโครงการใหญ่ปี 68!! เดินหน้าขยายศูนย์ดิจิทัลชุมชน 125 จุดทั่วไทย พัฒนา ERP หนุนภาครัฐทันสมัยเพิ่มประสิทธิภาพบริการประชาชน

เมื่อวานนี้ (7 พ.ค.68) นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) เป็นประธานงานแถลงข่าว “ประกาศผลการพิจารณาโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567” โดยมีผู้บริหาร ผู้แทนหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนทุน จำนวน 24 โครงการ เข้าร่วมงาน ซึ่งจัดโดยกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี : DEF) สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) ได้กล่าวถึงบริบทของโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านการแข่งขันระดับโลก ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และการเตรียมทักษะแรงงานให้รองรับเทคโนโลยีใหม่ รวมทั้งสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่เอื้อต่อการเติบโต อย่างยั่งยืน ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ได้กำหนดนโยบาย The Growth Engine of Thailand : 3 เครื่องยนต์ใหม่ เพื่อสร้างแรงงานแห่งอนาคต ผ่านการส่งเสริมการเรียนรู้และทักษะดิจิทัล ในทุกช่วงวัย 

โดยตั้งเป้าหมายว่าสัดส่วนมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล Digital GDP ของประเทศไทย จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ในปี 2570 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กองทุนดีอี ได้ประกาศเปิดรับข้อเสนอโครงการภายใต้วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท โดยมีผู้เสนอเข้ามาทั้งสิ้น 509 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 32,168 ล้านบาท ก่อนผ่านการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์จนเหลือ 24 โครงการ ที่โดดเด่นทั้งด้านความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นไปได้ ความยั่งยืน และการสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ซึ่งโครงการทั้ง 24 นี้ไม่เพียงแต่เป็นต้นแบบที่สามารถนำไปขยายผลได้ในวงกว้าง แต่ยังเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการใช้เทคโนโลยี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นในภาคเกษตร ภาคสาธารณสุข การบริหารภาครัฐ หรือการพัฒนาทักษะแรงงานดิจิทัล 

ซึ่งเป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้คือก้าวสำคัญของประเทศไทยในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างแท้จริง โดยวางกรอบนโยบายการให้ทุน 4 ด้านหลัก ประกอบด้วย 1) Digital Manpower : การพัฒนาทักษะดิจิทัลทุกช่วงวัย เพื่อยกระดับแรงงานไทยให้พร้อมแข่งขัน 2) Digital Agriculture : การนำเทคโนโลยีเข้าช่วยภาคการเกษตรเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต 3) Digital Technology : การพัฒนานวัตกรรมและวิจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ และ 4) Digital Government : การปรับปรุงบริการรัฐให้ทันสมัย โปร่งใส และประชาชนเข้าถึงได้

“ความสำเร็จของโครงการเหล่านี้ อาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และภาคประชาชน ทุกโครงการที่ได้รับทุนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมไทยในยุคดิจิทัล โดยมีความมุ่งหวังว่ากองทุนดีอี จะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของประเทศไทยในการสนับสนุนโครงการด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มุ่งเป้าเพื่อสร้างประโยชน์แก่สาธารณะและเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง ก่อให้เกิดประโยชน์ ต่อประชาชน ส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลในภาพรวม ซึ่งจะเป็นโครงการต้นแบบที่สามารถนำไปขยายผลต่อยอดการพัฒนาประเทศต่อไป” นายเวทางค์ กล่าวทิ้งท้าย

ด้านนางสาววรรณศิริ พัวศิริ ผู้อำนวยการกองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม BDE กล่าวว่า “กองทุนดีอี ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2561 และได้ให้การสนับสนุนไปแล้วทั้งสิ้น 291 โครงการ งบประมาณรวม 10,800 ล้านบาทเศษ ซึ่งเป็นการสนับสนุนภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และยุทธศาสตร์การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งนี้ โครงการที่ผ่านการอนุมัติได้เข้าสู่กระบวนการลงนามในสัญญางบประมาณปี พ.ศ. 2567 ทั้ง 24 โครงการ กองทุนดีอี จะติดตามและประเมินผลการดำเนินงานบนหลักการความโปร่งใส และชัดเจน เพื่อให้มั่นใจว่าผลลัพธ์จะเกิดขึ้นอย่างคุ้มค่า ตรงตามวัตถุประสงค์ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณะ และการพัฒนาของประเทศอย่างแท้จริง” 

โดยกองทุนดีอี จะดำเนินการติดตามการดำเนินโครงการใน 2 รูปแบบ คือ 1) การรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานที่ผู้รับทุนจะต้องจัดส่ง ให้กองทุนฯ เป็นรายไตรมาส และ 2) การลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้า และประเมินผลโครงการ ทั้งนี้ ผู้รับทุนสามารถศึกษารายละเอียดขั้นตอนต่าง ๆ ได้จากคู่มือผู้รับทุน

โดยสามารถดาวน์โหลดได้ทางเว็บไซต์ : https://defund.onde.go.th หรือ Facebook : กองทุนพัฒนาดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม

อยุธยา - ตำรวจนครบาล ร่วม ตร.ภาค 1 ตร.อยุธยา ทลายโกดังพักยาเสพในพื้นที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา พบยาเสพติด จำนวนมาก

(7 พ.ค. 68) พล.ต.อ.ประจวบ วงศ์สุข รอง ผบ.ตร พล.ต.ต.ชยานนท์ มีสติ รอง ผบช.ภ.1 พล.ต.ต.โชติวัฒน์ เหลืองวิลัย  ผบก.สส.บช.น พล.ต.ต.นฤนาท พุทไธสง ผบก.ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา  เลขาธิการ ป.ป.ส. พ.ต.อ.พีรพัสส์ ชูช่วย ผกก.สืบสวน ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา  นายนิวัฒน์  รุ่งสาคร  ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุม แบ็ค  หรือ นายชัยนรินทร์  (นามสมมุติ)  อายุ 32 ปี   ชาว ต.โพทะเล อ.โพทะเล จ.พิจิตร ภายในบ้านหลังหนึ่ง ใน ต.ราชคราม อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา โดยหลังจากเมื่อวันที่ 21 มี.ค.68 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ร่วมกันจับกุม รถบรรทุกเทรลเล่อร์ขนยาเสพติด ในพื้นที่ อ.พยุหคีรี จ.นครสวรรค์ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก บเขก.สส.ก.1 ชุดขยายผลฯ ศอ.ปส.ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา และ กก.สส.ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา ได้สืบสวนขยายผล จนกระทั่งทราบว่า กลุ่มลูกค้าที่เคยรับยาเสพติดจากรถบรรทุกเทรลเล่อร์คันดังกล่าว ได้นำยาเสพติดมาเก็บซุกซ่อนไว้ภายในบ้านหลังหลังหนึ่ง ต.ราชคราม อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา จึงได้เฝ้าติดตามพฤติกรรมเรื่อยมาจนกระทั่ง ในวันที่ 7 พ.ค. 68  เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม ได้สนธิกำลังกันเข้าตรวจค้นบ้านเลขที่ 23/7 ม.5 ต.ราชคราม อ.บางไทร จ.พระมาหรือยุธยา ผลการตรวจคัน พบ ยาบ้า 40 กระสอบ คิดเป็นจำนวนยาบ้าประมาณ 8.712 ล้านเม็ด และยาไอซ์ 18 กระสอบ น้ำหนักรวมประมาณ  720 กิโลกรัม โดย แบ็ค หรือ นายชัยนรินทร์ ชมเชย อายุ 32 ปี รับว่าเป็นเจ้าของยาเสพติดทั้งหมด โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้ง ข้อกล่าวหา "จำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า และ ยาไอซ์) การมีไว้เพื่อจำหน่าย อันเป็นการกระทำเพื่อการค้า อันเป็นการกระทำเพื่อการค้า เป็นการก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน และทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยของปราชนทั่วไป" โดยผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา และหลังจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ จะได้ฟ้าการสืบสวนขยายผลหาผู้ร่วมกระทำความผิดต่อไป

ทั้งนี้การกวาดล้างยาเสพติดครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  โดยทาง รัฐบาลได้กำหนดให้ปัญหายาเสพติด เป็น 1 ใน 10 นโยบายเร่งด่วนที่จะต้องรีบดำเนินการ โดยมุ่งเน้นการปราบปราม การบำบัดเยียวยา ตลอดจนทำให้ผู้เสพกลับเข้าสู่สังคมได้ และพร้อมประกอบอาชีพหลังบำบัดหายแล้ว

สุจินดา อุ่นขาว รายงาน

GIP ในเครือ BlackRock เตรียมลงทุนในไทยสูงสุด 175,000 ล้านบาท รองรับการใช้ Cloud และ AI จากทั่วโลก ยกระดับสู่ศูนย์กลาง GigaData Hub

(7 พ.ค. 68) บริษัท Global Infrastructure Partners (GIP) ในเครือ BlackRock ซึ่งเป็นกองทุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ใหญ่ที่สุดในโลก เตรียมลงทุนในประเทศไทยมูลค่า 105,000 ถึง 175,000 ล้านบาท ผ่าน True IDC เพื่อสร้าง GigaData Hub ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่แบบขยายได้ รองรับการใช้งาน Cloud และ AI จากทั้งในประเทศและทั่วโลก โดยสามารถเพิ่มกำลังไฟฟ้า และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดในอนาคต

เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (7 พ.ค. 68) นายศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอเครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายอาเดบาโย โอกุนเลซี ประธานและซีอีโอ GIP ได้เข้าหารือนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โดยมีรัฐมนตรีและผู้บริหารกระทรวงดิจิทัลฯ เข้าร่วมด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับการลงทุนดังกล่าว พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการยกระดับดาต้าเซ็นเตอร์ของประเทศ โดยมีเป้าหมายผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน พร้อมส่งเสริมพลังงานสะอาด และเตรียมยกระดับบุคลากรดิจิทัลผ่านความร่วมมือกับภาคเอกชนระดับโลก

ด้าน GIP ย้ำความมั่นใจในศักยภาพของประเทศไทยที่มีความพร้อมรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน ทรัพยากรมนุษย์ และนโยบายภาครัฐ พร้อมร่วมมือกับไทยในระยะยาว ทั้งด้านการลงทุน การพัฒนาคน และการสร้างระบบ AI & Cloud ที่แข็งแกร่งในภูมิภาค

นายศุภชัยระบุว่า การลงทุนครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ช่วยดึงดูดบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมในไทย ซึ่งรวมถึง Google, Microsoft และ ByteDance พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในระดับโลก

ปลัดเทศบาลอุดรฯ แจงปมเครื่องออกกำลังกายสแตนเลส 32 ล้าน ยันราคาตาม TOR ‘โปร่งใส-คุ้มค่า’ ใช้งานได้นานกว่า 10 ปี

(7 พ.ค. 68) นายไพทูรย์ เหลืองอิงคะสุต ปลัดเทศบาลนครอุดรธานี ชี้แจงกรณีดราม่าเครื่องออกกำลังกายกลางแจ้งสแตนเลสราคาเฉลี่ยชุดละล้าน หลังถูกวิจารณ์อย่างหนักบนโซเชียล โดยระบุว่าโครงการใช้งบรวม 32 ล้านบาท ติดตั้งใน 30 ชุมชน แบ่งเป็นชุดเล็ก 8 ตัว ราคาชุดละกว่า 6 แสนบาท และชุดใหญ่ 16 ตัว ราคาชุดละกว่า 2 ล้านบาท ยืนยันอุปกรณ์มีความคงทน ใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 10 ปี

การจัดซื้อผ่านการสำรวจความต้องการจากชาวบ้าน 105 ชุมชน เหลือพื้นที่เหมาะสมเพียง 30 ชุมชน จากนั้นเทศบาลจึงบรรจุโครงการเข้างบปี 68 ผ่านสภาเทศบาล ตั้งคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง เปิดสอบราคาจาก 7 ร้านค้า มีผู้เสนอราคา 3 ราย โดยบริษัท ส.สิงห์อยู่สปอร์ต จำกัด เป็นผู้ชนะ

ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตั้งและยังไม่ตรวจรับเครื่องอย่างเป็นทางการ โดยในจุดที่เป็นข่าว เช่น ชุมชนพิชัยรักษ์ มีการติดตั้งจริงแต่ยังไม่เปิดให้ใช้งาน ชาวบ้านให้ความเห็นว่าเครื่องดูแข็งแรงแต่ควรเพิ่มไฟและหลังคาเพื่ออำนวยความสะดวก

ปลัดเทศบาลระบุว่า แม้ราคาอาจดูสูง แต่ผ่านกระบวนการตรวจสอบและประชาพิจารณ์ ย้ำว่าไม่ใช่ของฟุ่มเฟือย และเป็นอุปกรณ์ที่หลาย อปท. ก็ใช้งานอยู่ ทั้งยังช่วยส่งเสริมสุขภาพประชาชนอย่างยั่งยืน

สำหรับงบรวม 32.06 ล้านบาท แบ่งเป็นชุดเล็ก 26 ชุด รวม 17.5 ล้านบาท และชุดใหญ่ 7 ชุด รวม 14.5 ล้านบาท ซึ่งเทศบาลมั่นใจว่าเกิดความคุ้มค่าและโปร่งใสในการดำเนินการทุกขั้นตอน

นักท่องเที่ยวอิสราเอลลั่น ‘เงินฉันสร้างประเทศนี้’ หลังไม่ถอดรองเท้าเข้าร้านอาหาร จุดกระแสวิจารณ์ลามทั้งโซเชียล เจ้าตัวแจงคลิปถูกตัดต่อบิดเบือนความจริง

(7 พ.ค. 68) เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ เมื่อเพจ “Koh Phangan Conscious Community” เผยแพร่คลิปนักท่องเที่ยวหญิงชาวอิสราเอลรายหนึ่งกล่าวในลักษณะที่ถูกมองว่าเหยียดคนไทย โดยมีใจความว่า “เงินของนักท่องเที่ยวอย่างเธอใช้สร้างประเทศไทย” เหตุการณ์เกิดขึ้นขณะมีการถกเถียงในร้านอาหารเล็ก ๆ บนเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งมีข้อกำหนดให้ถอดรองเท้าก่อนเข้าใช้บริการ

ส่งผลให้นักท่องเที่ยวหญิงในคลิปแสดงความไม่พอใจเมื่อถูกขอให้ถอดรองเท้า และตอบโต้ด้วยถ้อยคำที่ถูกตีความว่าไม่ให้เกียรติวัฒนธรรมไทย คลิปถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2568 และมีรายงานว่ามีการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว

หลังคลิปกลายเป็นไวรัล ชาวเน็ตไทยจำนวนมากแสดงความไม่พอใจ มองว่าเป็นการไม่เคารพขนบธรรมเนียมท้องถิ่น และสะท้อนภาพจำด้านลบของนักท่องเที่ยวบางกลุ่มที่มองประเทศไทยเป็นเพียง “ประเทศราคาถูก” ที่ต้องพึ่งพารายได้จากต่างชาติ

ต่อมาในวันที่ 6 พฤษภาคม นักท่องเที่ยวหญิงในคลิปได้โพสต์ขอโทษ โดยอ้างว่าคำพูดของตนถูกนำเสนอผิดบริบท พร้อมชี้แจงว่าตนเจ็บเท้าและได้รับอนุญาตให้ใส่รองเท้าเข้าไปได้ อย่างไรก็ตาม คำชี้แจงดังกล่าวกลับยิ่งจุดกระแสถกเถียงถึงความเข้าใจผิดระหว่างวัฒนธรรมท้องถิ่นกับทัศนคติของนักท่องเที่ยว ที่อาจกำลังกลายเป็นปัญหาซ่อนเร้นบนเกาะพะงันที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top