Tuesday, 7 May 2024
ECONBIZ

‘รถไฟฟ้าสีชมพู’ ได้ฤกษ์เปิดให้นั่งฟรี 30 สถานี 21 พ.ย.นี้ ส่วนค่าโดยสารจะเริ่มเก็บหลังเปิดทดลองใช้บริการ 1 เดือน

(20 พ.ย. 66) เพจ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู แจ้งว่า นับถอยหลังอีก 1 วัน เปิดทดลองให้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู โดยจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการครบทั้ง 30 สถานี ตั้งแต่ ศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) - มีนบุรี (PK30) ช่วงทดลองใช้บริการฟรี!! ไม่มีค่าใช้จ่าย

ข่าวแจ้งว่า ในวันที่  21 พ.ย.นี้ ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ครม. จะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม และเปิดทดสอบเดินรถเสมือนจริง ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร หลังจากนั้นในช่วงบ่ายวันเดียวกัน จะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการตลอดสาย 30 สถานี เป็นระยะเวลาราว 1 เดือน

ทั้งนี้ ในช่วงการเปิดทดสอบเดินรถเสมือนจริงในวันที่ 21 พ.ย.66 นี้ จะมีบางทางออก (Exit) ของบางสถานีที่ยังไม่พร้อมเปิดให้บริการ แต่สามารถเปิดให้บริการประชาชนและมีความปลอดภัย ทั้งนี้ยืนยันว่าจะเสร็จครบ 100% ก่อนเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ

สำหรับอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี รวม 30 สถานี ราคาเริ่มต้น 15 บาท สูงสุด 45 บาท ส่วนผู้สูงอายุ ราคาเริ่มต้น 8 บาท สูงสุด 23 บาท โดยช่วงทดลองใช้บริการฟรีไปจนถึง 18 ธ.ค.66 จากนั้นจึงจะเริ่มเก็บค่าโดยสาร

สำหรับ 30 สถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่เปิดให้บริการประกอบด้วย

1. สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สถานีต้นทางตั้งอยู่ริมถนนรัตนาธิเบศร์ บริเวณหน้าศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรีและบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) 
2. สถานีแคราย ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ บริเวณด้านหน้าสถาบันทรวงอก
3. สถานีสนามบินน้ำ ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ใกล้กับสามแยกสนามบินน้ำ
4. สถานีสามัคคี ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ ใกล้ทางแยกเข้าถนนสามัคคี ระหว่างคลองบางตลาดกับถนนสามัคคี
5. สถานีกรมชลประทาน ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ ใกล้กับโรงเรียนชลประทานวิทยา
6. สถานีแยกปากเกร็ด ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมทางแยกปากเกร็ด ก่อนเข้าสู่ถนนแจ้งวัฒนะ
7. สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าห้างบิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์และโฮมโปร ก่อนถึงทางแยกเลี่ยงเมืองปากเกร็ด
8. สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ใกล้กับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ บริเวณซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28
9. สถานีศรีรัช ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 35 ก่อนถึงทางด่วนศรีรัช ใกล้กับหมู่บ้านเมืองทองธานี
10. สถานีเมืองทองธานี ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าสำนักงานซ่อมบำรุงกรมทางหลวงและห้างแม็คโครซุปเปอร์สโตร์ สาขาแจ้งวัฒนะ
11. สถานีแจ้งวัฒนะ 14 ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ระหว่างบิ๊กซีแจ้งวัฒนะและซอยแจ้งวัฒนะ 14
12. สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้ากรมการกงศุล ใกล้กับศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
13. สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ระหว่างซอยแจ้งวัฒนะ 5 และซอยแจ้งวัฒนะ 7
14. สถานีหลักสี่ ตั้งอยู่บริเวณจุดตัดถนนแจ้งวัฒนะและถนนวิภาวดีรังสิต
15. สถานีราชภัฏพระนคร สถานีสุดท้ายบนถนนแจ้งวัฒนะ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
16. สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ 
17. สถานีรามอินทรา 3 สถานีแรกบนถนนรามอินทราตั้งอยู่บริเวณหน้าโครงการลุมพินี รามอินทรา-หลักสี่ และศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก
18. สถานีลาดปลาเค้า ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราระหว่างซอยรามอินทรา 21 และซอยรามอินทรา 23 ใกล้กับห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า
19. สถานีรามอินทรา กม.4  ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ระหว่างซอยรามอินทรา 33 และซอยรามอินทรา 37
20. สถานีมัยลาภ ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราหน้าปากซอยรามอินทรา 41 ใกล้กับสามแยกมัยลาภ
21. สถานีวัชรพล  ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ถัดจากทางพิเศษฉลองรัช บริเวณซอยรามอินทรา 59 และซอยรามอินทรา 61
22. สถานีรามอินทรา กม.6 ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ช่วงระหว่างซอยรามอินทรา 40 และซอยรามอินทรา 42
23. สถานีคู้บอน  ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราช่วงระหว่างซอยรามอินทรา 69 และซอยรามอินทรา 46
24. สถานีรามอินทรา กม.9 ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ใกล้กับโรงพยาบาลสินแพทย์ ช่วงระหว่างซอยรามอินทรา 54 และซอยรามอินทรา 56
25. สถานีวงแหวนรามอินทรา  ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราถัดจากถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก ใกล้ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ และ The Promenade
26. สถานีนพรัตน์ ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ใกล้ซอยรามอินทรา 103/1 และโรงพยาบาลนพรัตน์
27. สถานีบางชัน  ตั้งอยู่บนถนนบริเวณซอยรามอินทรา 113 และซอยรามอินทรา 115
28. สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราใกล้กับโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ระหว่างซอยรามอินทรา 121 และ ซอยรามอินทรา 123
29. สถานีตลาดมีนบุรี สถานีแรกบนถนนสีหบุรานุกิจ ตั้งอยู่บริเวณหน้าตลาดนัดจตุจักร 2
30. สถานีมีนบุรี ตั้งอยู่ริมถนนรามคำแหง บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงของระบบขนส่งมวลชนสายสีชมพูฯ ใกล้กับถนนรามคำแหง เป็นสถานีปลายทางของโครงการ 

‘พิมพ์ภัทรา’ จ่อชง ครม. เคาะราคาชดเชยตัดอ้อยสด 120 บาท/ตัน พร้อมหาแนวทางช่วยเกษตรกร แก้ปัญหาตัดอ้อยสดในฤดูกาลต่อไป

(20 พ.ย. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากที่ตัวแทนสมาคมเกษตรกรชาวไร่อ้อย 37 แห่ง เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อขอรับทราบถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ปีการผลิต 2565/2566 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอบรรจุวาระการพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

ในส่วนของการพิจารณาราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ซึ่งเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ร้องขอให้เร่งการประกาศราคาเพื่อให้โรงงานเบิกจ่ายได้อย่างรวดเร็ว โดยคณะกรรมการบริหาร (กบ.) ครั้งที่ 9/2566 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 และอยู่ระหว่างการเสนอต่อคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ในลำดับต่อไป 

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหาร (กบ.) ได้กำหนดการประชุมครั้งต่อไป โดยมีวาระพิจารณาเพื่อกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/2567 
ในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อเรียกร้องเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมการตัดอ้อยสดฤดูการผลิตปี 2566/2567 ในส่วนนี้ต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐโดยกระทรวงอุตสาหกรรม และพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อการหาแนวทางที่เหมาะสมร่วมกัน ให้การเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวอ้อยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่กระทบกับต้นทุนราคาอ้อย ทั้งยังจะช่วยให้ชาวไร่อ้อยมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้น โดยในช่วงท้ายของการหารือผู้แทนชาวไร่อ้อยได้กล่าวขอบคุณกระทรวงอุตสาหกรรม ที่สนับสนุนและรับฟังปัญหาของชาวไร่อ้อย พร้อมสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างสองฝ่ายเพื่อให้สามารถบรรลุความต้องการ

กรณีดังกล่าวเกิดจากการที่นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และตัวแทนจากสมาคมชาวไร่อ้อยทั่วประเทศประมาณ 200 คน เดินทางเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหารือถึงความชัดเจนเกี่ยวกับโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ตามมติ ครม. ที่จะจัดสรรงบประมาณเพิ่ม ค่าตัดอ้อยให้ตันละ 120 บาทต่อเนื่อง แต่ฤดูหีบปี 2565/66 ที่ผ่านมา ยังคงไม่ได้รับการพิจารณา 

นายนราธิป ระบุว่า ฤดูหีบปี 2566/67 ในเดือน ธ.ค.นี้ ก็ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว เพราะหากมีการเปิดหีบอ้อยแล้วยังไม่ชัดเจน เกรงว่าปัญหาอ้อยไฟไหม้ก็อาจจะไม่ได้ลดลง เพราะต้องยอมรับว่าการตัดอ้อยสดเพื่อส่งเข้าโรงงานยังมีต้นทุนสูง

‘บิ๊กเอ’ มุ่งดัน ‘มวยไทย’ สู่ซอฟต์พาวเวอร์โลกด้านกีฬา ยัน!! ภาครัฐพร้อมหนุน จ่อประเดิม ‘ยุโรป-อเมริกา’ ที่แรก

(20 พ.ย. 66) ผศ.ดร.พิมล ศรีวิกรม์ หรือ ‘บิ๊กเอ’ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ประธานอนุกรรมการด้านกีฬา ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า สำหรับเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ด้านกีฬาเราจะโฟกัสไปที่ ‘กีฬามวยไทย’ เป็นหลัก ซึ่งจากการที่ตนได้เดินทางไปประเทศอังกฤษเมื่อสัปดาห์ที่้ผ่านมา และได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับมวยไทยที่ประเทศอังกฤษ น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งว่า ที่อังกฤษมีค่ายมวยไทยกว่า 6,000 ค่าย กระแสตอบรับเรื่องมวยไทยดีมากๆ และเท่าที่ได้พูดคุยกับเจ้าของค่ายมวยไทยในอังกฤษ เขาอยากได้ครูมวยไทย รวมถึงการจัดการสัมมนาให้ความรู้เรื่องของมวยไทย ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งนับเป็นแนวทางที่ดี เราก็จะมีการนำครูมวยไทยดังๆ อาทิ สามารถ พยัคฆ์อรุณ ตำนานนักมวยไทยและครูมวยชื่อดัง ไปร่วมงานดังกล่าว โดยหลังจากได้รับมอบหมายงานดังกล่าวเราจะเรียกประชุมคณะอนุกรรมการฯ ภายในสัปดาห์นี้เพื่อที่จะเริ่มทำงานทันที

ประการแรกเราต้องกำหนดแผนยุทธศาสตร์การทำงานกันก่อน รวมถึงเป้าหมายว่า จะปักหมุดที่ภูมิภาคในเวลาเท่าใด เป้าหมายที่เป็นรูปธรรมเป็นอย่างไร จากนั้นเราจึงเดินตามแผนยุทธศาสตร์ เราคงทำที่ ‘มวยไทย’ อย่างเดียวก่อน เพราะกีฬามวยไทย ชัดเจนในเรื่องชื่อที่มีประเทศไทยต่อท้าย รู้กันทั่วโลกว่ามวยไทยมาจากประเทศไทย

ผศ.ดร.พิมล กล่าวต่อไปว่า เห็นควรว่าเราจะโฟกัสช่วงแรกไปที่ทวีปยุโรป และทวีปอเมริกาก่อนเพราะถือเป็นตลาดใหญ่ในการนำ ‘กีฬามวยไทย’ ไปสู่ซอฟต์พาวเวอร์ เท่าที่มีข้อมูลเบื้องต้นอย่างเช่น ในประเทศฟินแลนด์ เรามี ‘จ้าวสมุทร เกียรติช่องเขา’ นักมวยไทยที่มีภรรยาอยู่ที่ฟินแลนด์และทำธุรกิจค่ายมวยไทยที่นั่น ปรากฏว่า มีครูโรงเรียนในฟินแลนด์มาเรียนมวยไทยที่ค่ายของจ้าวสมุทรและประทับใจ จึงติดต่อให้จ้าวสมุทรไปสอนเด็กนักเรียนในฟินแลนด์เลย สิ่งต่างๆ เช่นนี้มันคือ ซอฟต์พาวเวอร์ของกีฬามวยไทยได้เป็นอย่างดี

“แน่นอนว่าในการดำเนินการ เราก็ต้องสนับสนุนเรื่องงบประมาณให้เขา แต่คงไม่ใช่ลักษณะถมเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม เราจะมาหารือกันในลักษณะภาครัฐเข้าไปช่วยสนับสนุนอีกแรงหนึ่ง แต่ทั้งนี้ คงต้องรอการตั้งตุ๊กตาแรกเริ่มของการทำงานอนุกรรมการด้านกีฬาก่อน ว่าจะกำหนดยุทธศาสตร์กันออกมาอย่างไร” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีกล่าว

‘กรมการข้าว’ เดินสายติวเข้ม ‘เกษตรกร’ หวังยกระดับการผลิตข้าวแบบลดโลกร้อน

(19 พ.ย.66) นายอานนท์ นนทรีย์ รองอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า กรมการข้าว มีเป้าหมายนำเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ หรือ Modern Agriculture Technology จากงานวิจัยมาส่งเสริมเกษตรกร เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน รวมถึงเกิดการผลิตข้าวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สอดคล้องกับนโยบายหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และแนวทางปฏิบัติของ นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว ที่เน้นให้เกิดการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ด้วยแนวทาง BCG Model 

“งานวิจัย ถือเป็นภารกิจต้นน้ำของกรมการข้าว แล้วนำมาต่อยอดในช่วงกลางน้ำ ด้วยการขยายผลนำเทคโนโลยีที่ได้มาเผยแพร่ สู่การยอมรับและนำไปใช้ของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร และปลายน้ำเป็นการนำมาปรับใช้และสร้างมูลค่าเพิ่ม ดั่งคำที่ว่าตลาดนำการผลิต และทำน้อยแต่ได้มาก ล้วนแล้วแต่เป็นการนำเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่มาใช้ทั้งสิ้น แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาเราจะมุ่งเน้นเพียงแค่เพิ่มของผลผลิตเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะหากการเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น แต่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคมโดยการทำลายสิ่งแวดล้อมย่อมทำให้การผลิตข้าวไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืน” นายอานนท์ กล่าว

การจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง หรือ AWD นับเป็นหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จ ของการส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ โดยเป็นองค์ความรู้ที่กรมการข้าวได้ดำเนินการวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งส่งเสริมให้ชาวนาได้นำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ปลูกข้าวนาชลประทาน ทั้งนี้ การจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง เป็นการจัดการน้ำที่ใช้น้ำในปริมาณที่ลดลงอย่างมาก ซึ่งจะใช้ประมาณ 850-900 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ต่อฤดูกาลเพาะปลูก

เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้น้ำแบบขังตลอดเวลาจะสามารถใช้น้ำลดลงได้มากถึงร้อยละ 30 แล้วยังเพิ่มผลผลิตข้าวได้อีกถึงร้อยละ10-15 ที่สำคัญเทคโนโลยีนี้ยังสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญอันก่อเกิดภาวะโลกร้อนลงได้ถึงร้อยละ 80 ทั้งนี้ตัวอย่างของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ยกมาให้เห็นนี้เป็นเพียงบางส่วนของงานวิจัยที่กรมการข้าวได้ดำเนินการ และขยายผลสู่เกษตรกรให้มีการผลิตข้าวแบบลดโลกร้อน

“กรมการข้าว ได้นำผลงานวิจัยดังกล่าว มาถ่ายทอดสู่เกษตรกร ผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ‘การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว’ ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงแรมวิสมา โฮเทล จังหวัดราชบุรี

โดยการฝึกอบรมดังกล่าว เป็นการจัดครั้งที่ 2 กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ของกรมการข้าว และเกษตรกรชั้นนำภายใต้กลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนในเขตภาคกลาง จำนวน 100 คน เข้าเรียนรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์ข้าวที่มีระบบรากแข็งแรงต้านทานภัยแล้ง เทคนิคการปรับพื้นที่ให้ราบเรียบด้วยเลเซอร์ การปลูกข้าวด้วยเครื่องหยอดข้าวงอกและข้าวแห้ง การใช้โดรนฉีดพ่นทางการเกษตรให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ และการใช้สารอินทรีย์รมกำจัดแมลงศัตรูข้าวในโรงเก็บซึ่งปลอดภัยต่อคนและสภาพแวดล้อมอีกด้วย” นายอานนท์ กล่าว

‘พิมพ์ภัทรา’ เร่งขับเคลื่อน ‘อุตสากรรมฮาลาล’ ตั้งเป้า!! GDP เติบโต 1.2% ภายใน 3 ปี

(19 พ.ย.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ได้มีการประชุม ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ได้เล็งเห็นโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยไปยังตลาดโลก

โดยจากข้อมูลในปี 2564 ตลาดอุตสาหกรรมฮาลาลโลกมีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าในปี 2567 จะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 2.325 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และในปี 2565 มูลค่าการส่งออกอาหารฮาลาลของไทยมีมูลค่า 213,816 ล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งในตลาดโลก ร้อยละ 2.7 เป็นอันดับที่ 11 ของโลก

ซึ่งอาหารฮาลาลส่งออกของไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 78 เป็นฮาลาลโดยธรรมชาติ ส่วนที่เหลือร้อยละ 22 ต้องผ่านการรับรองฮาลาล โดยเฉพาะกลุ่มเนื้อสัตว์และอาหารพร้อมรับประทาน

ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย ผ่านกลไกคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) และการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งภารกิจของศูนย์ดังกล่าวครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

โดยเร่งรัดจัดทำข้อตกลงทางการค้าเพื่อเปิดตลาด ส่งเสริมการขยายตลาดการค้าระหว่างประเทศ และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ (National Focal Point) และด้านพัฒนาการผลิตและมาตรฐาน ซึ่งเน้นการทำวิจัยนวัตกรรมเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ฮาลาล

โดยกำหนดสินค้าฮาลาลเป้าหมายในแต่ละปี พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ฮาลาล ให้คำปรึกษาและแนะนำทางวิชาการ และเป็นศูนย์กลางบูรณาการข้อมูลด้านการผลิตอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการของเรื่องดังกล่าว เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี/คณะรัฐมนตรี ต่อไป

ทั้งนี้ ศูนย์ฯ จะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาลในการขอรับรองมาตรฐานฮาลาลทั่วประเทศต่อไป

นอกจากนี้ กรอบการดำเนินงานของศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล ประกอบด้วย ด้านการขยายตลาดการค้าอุตสาหกรรมฮาลาลใหม่ ๆ ในต่างประเทศ ได้แก่ อาเซียน OIC/ GCC (เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย) แอฟริกา จีน ผ่านการเจรจาจัดทำกรอบความร่วมมือในการขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาล สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายฮาลาล (Thai Halal Network)

ส่งเสริมและขยายตลาดผ่านกิจกรรมจัดงาน Halal Expo 2024 และกิจกรรมทางการทูต เช่น งาน Thai Night เพื่อเผยแพร่สินค้าฮาลาลไทย ส่งเสริมประชาสัมพันธ์ และสร้างภาพลักษณ์ สินค้าและบริการฮาลาลไทยในภารกิจ MICE

รวมทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาลต้นแบบเพื่อผู้บริโภคมุสลิม ได้แก่ การจัดอบรม การวิจัยและพัฒนา (R&D) การยกระดับบุคลากร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาและจัดทำต้นแบบ (Role Model) เพื่อยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาลเพื่อการส่งออก เช่น โรงงานแปรรูป โรงฆ่าสัตว์ โดยผ่านการให้คำปรึกษา ตรวจประเมิน

โดยกำหนดสินค้าฮาลาลเป้าหมายในระยะแรก เช่น เนื้อสัตว์/อาหารทะเล อาหารแปรรูปพร้อมรับประทาน อาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ อาหารมุสลิมรุ่นใหม่ แฟชั่นฮาลาล เครื่องสำอาง ยา/สมุนไพร ท่องเที่ยว เป็นต้น ทั้งนี้ การดำเนินงานภายใต้ศูนย์ฯ คาดว่าจะทำให้ GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวได้ร้อยละ 1.2 ภายในระยะเวลา 3 ปี

'ทรัมป์' ทวงบัลลังก์สู้ศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 ใต้นโยบายที่สุ่มเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'การกลับมาทวงบัลลังก์สู้ศึกเลือกตั้งสหรัฐ 2024 ของ ทรัมป์' เมื่อวันที่ 19 พ.ย.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ประธานาธิบดีไบเดนกำลังจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค (APEC Summit) ที่เมือง San Francisco เร็ว ๆ นี้ ซึ่งถือเป็นเวทีหารือด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่สำคัญที่สุดของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก 

ประเทศไทยในฐานะสมาชิกก่อตั้ง ก็จะมีนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เข้าร่วมประชุม ที่สำคัญ APEC Summit จะเป็นโอกาสสำคัญที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง แห่งจีน จะมีโอกาสพบกับประธานาธิบดีไบเดน เป็นครั้งแรกในรอบปี เพื่อเคลียร์ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจเป็นชนวนนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 ได้

การประชุมสุดยอดเอเปคครั้งนี้มีขึ้นในระหว่างการเริ่มต้นกระบวนการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาครั้งต่อไป ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2024 ขณะนี้มีการคาดการณ์ว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้จะเป็นการต่อสู้กันระหว่างอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับประธานาธิบดีไบเดน และหากการเลือกตั้งมีขึ้นในวันนี้ โพลล่าสุดของ New York Time ก็ชี้ว่าทรัมป์มีโอกาสสูงที่จะชนะการเลือกตั้งได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งหนึ่ง

ในสมัยแรกที่เป็นประธานาธิบดี ทรัมป์ขึ้นชื่อว่าเป็นประธานาธิบดีที่กีดกันการค้ามากที่สุดคนหนึ่ง โดยใช้ภาษีนำเข้า (Import Tariff) และเงินดอลลาร์เป็นอาวุธในการจัดการประเทศที่เป็นศัตรูทางการเมืองและเศรษฐกิจ จนทำให้อัตราภาษีนำเข้าโดยเฉลี่ยของสหรัฐฯ สูงขึ้นกว่าเท่าตัว โดยเฉพาะสินค้าจากจีนที่ต้องเสียภาษีสูงถึงกว่า 20% ส่วนในการเลือกตั้งครั้งนี้ ข้อเสนอหลักของทรัมป์คือ การเก็บภาษีนำเข้า 10% across the board จากสินค้าทุกชนิดของทุกประเทศที่นำเข้าไปยังสหรัฐฯ

น่าจะเป็นการเข้าใจผิดของทีมงานทรัมป์ที่เชื่อว่าการใช้ภาษีขาเข้าจะเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจทุกอย่างที่สหรัฐฯ ประสบอยู่ได้ สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าต่อเนื่องทุกปีเป็นเวลากว่า 50 ปี เนื่องจากมีการใช้จ่ายเกินตัว แต่สหรัฐฯ ก็ยังคงความเป็น Superpower แต่เพียงผู้เดียวของโลกอยู่ได้ เพราะสหรัฐฯ ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยและการค้าเสรี ในทางตรงข้าม นโยบายของทรัมป์ดูเหมือนจะสวนทางกับหลักการนี้ และจะก่อเกิดผลเสียอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโลกและสหรัฐฯ เอง

‘นายกฯ’ ชู 3 แนวทาง แก้วิกฤติสภาพภูมิอากาศ บนเวทีเอเปค ‘ความยั่งยืน-การค้าการลงทุนที่เปิดกว้าง-ความเชื่อมโยงศก.’

(18 พ.ย.66) ที่ศูนย์ประชุมมอสโคนีเซ็นเตอร์ (Moscone Center) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในรูปแบบ Retreat (APEC Economic Leaders’ Retreat (Session II)) หัวข้อ ‘Interconnectedness and Building Inclusive and Resilient Economies’ และร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ เอเปค ครั้งที่ 30 โดยนายกฯ กล่าวถ้อยแถลงเป็นลำดับที่ 18 ต่อจากผู้นำจีนไทเป ประธานาธิบดีเวียดนาม นาง Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) นำเสนอภาพรวมเศรษฐกิจโลกใน ค.ศ. 2023

นายกฯ กล่าวว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนของโลก ประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ต่อระบบการค้าพหุภาคีและเอเปค เพื่อมุ่งสู่ประชาคมเอเชีย-แปซิฟิก ที่เปิดกว้าง ยืดหยุ่นและสงบสุข โดยได้มีการหารือและสนทนาเกี่ยวกับวิธีการต่อสู้กับปัญหาสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเห็นพ้องกับผู้นำทุกคนว่า ถึงเวลาที่ต้องลงมือให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยเสนอ 3 มุมมอง ที่เป็นประโยชน์ต่อเอเปค คือ 1.ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสานต่อพัฒนาการเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ที่ปีนี้เอเปคมีความก้าวหน้าอย่างมาก โครงการมากกว่า 280 โครงการ ตอบสนองต่อเป้าหมายฯ นี้ ขณะที่ ABAC เดินหน้าผลักดันการจัดทำ BCG Pledge การจัดการประชุม Sustainable Future Forum ครั้งแรก เพื่อกระตุ้นธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น 

2.เปิดการค้าและการลงทุนอย่างเติบโตและรุ่งเรือง เอเปคสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดกฎเกณฑ์ โดยมีองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นแกนกลาง เป็นกุญแจสำคัญ รวมถึงการมีส่วนร่วมไปสู่ผลลัพธ์ที่มีความหมายในการประชุมรัฐมนตรีครั้งต่อไป (The Thirteenth Ministerial Conference (MC13))

นายกฯ กล่าวว่า ไทยผลักดันความพยายามอย่างต่อเนื่องในเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) เพื่อความก้าวหน้าในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค และไทยจะเร่งเจรจา FTA อื่นในเชิงรุก รวมทั้งยกระดับการเจรจาที่มีอยู่เพื่อรับมือกับความท้าทายทางการค้าที่จะเกิดขึ้นใหม่ 3. เสริมสร้างความเชื่อมโยง เพื่อเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่น โดย ไทยกำลังเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge) เชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย และยังรวมทั้งยังได้อนุมัติวีซ่าฟรี ส่งเสริมการท่องเที่ยว และสนับสนุนความต่อเนื่องของบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card) ให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อสนับสนุน MSMEs และสตาร์ตอัปอีกด้วย ทั้งนี้ยินดีกับสหรัฐฯ ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมที่เป็นประโยชน์ครั้งนี้ โดยไทยพร้อมร่วมประสานความร่วมมือกับเปรูเพื่อสานต่อความสำเร็จนี้ต่อไป  

‘ธนกร’ หนุนตั้ง ‘กาสิโนถูกกฎหมาย’ หวังแก้วิกฤติ ศก.ตกต่ำ เชื่อ!! ช่วยเพิ่มนทท.-สร้างงาน-สร้างรายได้ให้ประเทศเพิ่มขึ้น

(18 พ.ย.66) นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เปิดเผยว่า ตนสนับสนุนแนวคิดตั้งกาสิโนถูกกฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำของประเทศ ที่ปัจจุบันมีความจำเป็นให้ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการหาแหล่งที่มาของรายได้เพิ่ม เพื่อนำมาพัฒนาประเทศเชิงรุกด้านธุรกิจเกี่ยวกับสถานบันเทิงในประเทศไทย และเป็นแหล่งที่มีรายได้สูง เนื่องจากประเทศเรามีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูง และเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ แต่ในปัจจุบันพบว่ามีการลักลอบเปิดสถานบันเทิง บ่อนการพนันทำธุรกิจแบบผิดกฎหมาย ทำให้ประเทศขาดรายได้จำนวนมาก

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมามีการเสนอให้มีกาสิโนถูกกฎหมายแล้วหลายครั้งแต่ไม่ผ่านความเห็นชอบ นายธนกร กล่าวว่า ตนจึงสนับสนุนให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาศึกษาในการส่งเสริมธุรกิจบันเทิงครบวงจรเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ  ศึกษาผลดี และปิดช่องโหว่ผลเสียของกาสิโนถูกกฎหมาย เพราะหากมีการกำหนดหลักเกณฑ์จำกัดการออกใบอนุญาตอย่างเคร่งครัด,กำหนดหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษี,การจัดระเบียบการเข้าใช้บริการของผู้เข้าใช้ ต้องเป็นต่างชาติ หากเป็นคนไทยก็ต้องแสดงรายได้ที่มีเพียงพอ ไม่มีหนี้สิน เมื่อภาครัฐมีความเข้มแข็งในการควบคุมในเรื่องเหล่านี้ภายหลังการเปิดกาสิโนถูกกฎหมายแล้ว จะช่วยแก้ปัญหาการลักลอบเล่นการพนัน ปัญหาบ่อนเถื่อน ปัญหาเจ้าหน้าที่รับส่วยเงินใต้โต๊ะ รวมถึงปัญหาอาชญากรรมด้านสังคมและเศรษฐกิจได้ การเปิดกาสิโนถูกกฎหมาย จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้ภาครัฐสามารถเก็บภาษีได้จำนวนมาก

“ประเทศไทยมีการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่สวยงามทุกจังหวัด ทุกภาคของไทย หากมีกาสิโนถูกกฎหมายเข้ามาเพิ่ม ก็เชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างงาน สร้างรายได้และมีการจัดเก็บภาษีเข้ารัฐได้อีกจำนวนมาก” นายธนกร กล่าว

CP Seeding 'องค์ความรู้-ศักยภาพ' แห่งเครือ CP หนุน!! ผู้ประกอบการ SME ไทย GO INTER

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 18 พ.ย.66 ได้พูดคุยกับ คุณเอกชัย ตั้งรัตนาวลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ซีดดิ้ง โซเชียลอิมแพคท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ในฐานะขององค์กรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SME ไทยทั่วประเทศ ได้รับโอกาสทางธุรกิจผ่านแพลตฟอร์ม CPseeding.com และสามารถขยายธุรกิจไประดับโลกได้ ว่า...

CP Seeding เป็นหน่วยงานที่ CP สร้างขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SME เติบโตได้ ด้วยกลไกต่าง ๆที่ทาง CP พร้อมสนับสนุน เนื่องจากมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจประสบความสำเร็จมายาวนาน ซึ่งถ้านำองค์ความรู้ของ CP มาสนับสนุนผู้ประกอบการจะทำให้เติบโตได้เร็วขึ้น รวมทั้งกระบวนการพัฒนาและตลาดรองรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

คุณเอกชัย กล่าวว่า "เรามองผู้ประกอบการคนไทยเป็นดั่งพี่น้อง ดังนั้นการพัฒนาผู้ประกอบการ หรือธุรกิจ ของพี่น้องคนไทย ให้เติบโตไปด้วยกัน จะเป็นการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจทั้งประเทศให้ดีขึ้น และยกระดับสินค้าไทยให้มีมาตรฐานและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น"

คุณเอกชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า "ผมมอง Mindset เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะ Mindset เถ้าแก่ เราต้องสร้างความเข้าใจในธุรกิจ เข้าใจกลไกของธุรกิจ โดย CP Seeding มีการวางกรอบการพัฒนาผู้ประกอบการออกเป็น 3 กรอบ ได้แก่ 

1.การเรียนรู้ตลาดก่อน ว่าสินค้าของผู้ประกอบการจะไปในทิศทางไหน ตอบโจทย์ผู้บริโภคหรือไม่ 
2.การทำต้นแบบสินค้าจริง เพื่อทดลองตลาดจริงๆ แล้วนำมาพัฒนาปรับปรุง 
3.การเข้าสู่ตลาด เนื่องจากทาง CP มีฐานตลาดจำนวนมาก ทำให้วิเคราะห์ตลาดให้เหมาะสมกับสินค้าได้"

ปัจจุบัน CP Seeding ได้เปิดรับนักธุรกิจที่สนใจ ได้แก่ 
1.กลุ่มเริ่มคิดทำธุรกิจ หรือยังไม่มีไอเดีย 
2.กลุ่มเกษตรกร 
3.กลุ่มสตรีทฟู้ด 
4.กลุ่มร้านอาหารและโรงแรม 
5.กลุ่มที่มีโรงงานและอยากผลิตสินค้าเข้าห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ 
6.กลุ่มสินค้าที่ได้รับความนิยมอยู่แล้ว ซึ่งจะสามารถขยายเพิ่มเติมไปยังต่างประเทศได้ 

ในส่วนจุดเด่นของ CP Seeding คุณเอกชัย กล่าวว่า "เป็นเรื่องของการ Support ข้อมูลให้กับผู้ประกอบการ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดของผู้ประกอบการคือ ข้อมูล และเวลา จะเดินช้าไม่ได้ โดยผู้ประกอบการที่มาปรึกษากับเราส่วนใหญ่นิยาม CP Seeding ว่าเหมือนบันไดเลื่อน ช่วยให้สำเร็จรวดเร็วมากขึ้น ส่วนเป้าหมาย คาดหวังว่าจะช่วยผลักดันธุรกิจ หรือผมใช้คำว่าหาทีมชาติ 100 ผู้ประกอบการให้ไปตลาดโลกให้ได้ ซึ่งในปัจจุบันมีโครงการพาผู้ประกอบการไทยไปสำรวจตลาดที่ต่างประเทศ (Business Survey) ซึ่งเราจะพาไปดูตลาดจริง กับผู้รู้จริง ๆ สำรวจพฤติกรรมของผู้ซื้อในแต่ละประเทศว่าเป็นอย่างไร มี feedback กับสินค้าของเราอย่างไร ซึ่งตอนนี้มี แพลนพาผู้ประกอบการไปในรอบ ๆ บ้านเราก่อน เช่น กัมพูชา มาเลเซีย จีน เป็นต้น" 

สำหรับผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ https://www.cpseeding.com/ ทางบริษัทฯ เชื่อว่ากิจกรรมดังกล่าวจะช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ เติมเต็มองค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

‘ปตท. - GPSC - Nuovo Plus’ ร่วมมือ ‘TES’ ศึกษาการลงทุนตั้งโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ในไทย

เมื่อไม่นานมานี้ ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ Mr. John Jonghun Oh, Chief Strategy Officer, Total Environmental Solutions Company Limited (TES) ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาธุรกิจรีไซเคิลแบตเตอรี่ ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) บริษัท นูออโว พลัส จำกัด (Nuovo Plus) และ บริษัท โทเทิล เอนไวโรเมนทอล โซลูชั่นส์ จำกัด (TES) 

โดยมี ดร.ยุทธนา สุวรรณโชติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สถาบันนวัตกรรม ปตท. นายมนัสชัย คงรักษ์กวิน รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ GPSC นายทิติพงษ์ จุลพรศิริดี กรรมการ Nuovo Plus และ Mr. Luc Scholte van Mast, Managing Director, TES ร่วมลงนาม เพื่อแสวงหาโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีและศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ในประเทศไทย สนับสนุนการดำเนินธุรกิจแบตเตอรี่ครบวงจรในอนาคต พร้อมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีรีไซเคิลมาส่งเสริมธุรกิจด้านพลังงานสะอาดที่เกี่ยวข้องให้แก่กลุ่ม ปตท. นอกจากจะช่วยเสริมศักยภาพการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับประเทศไทยต่อไป

‘นฤมล’ เผย ‘ญี่ปุ่น’ สนใจลงทุนหลากอุตฯ ใหม่ในไทย พร้อมเสนอ ‘ไทย’ เป็นฮับผลิตรถยนต์ EV ของอาเซียน

เมื่อวานนี้ (16 พ.ย. 66) ศาสตราจารย์นฤมล ภิณโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้า เปิดเผยภายหลังต้อนรับและหารือกับนายนะชิดะ คะสุยะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย โดยเอกอัครราชทูตนะชิดะ ได้กล่าวแสดงความยินดีต่อการเข้ารับตำแหน่งของศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้า พร้อมกล่าวยืนยันว่าประเทศญี่ปุ่นทั้งภาครัฐและภาคเอกชนพร้อมที่จะทำงานร่วมมือกับรัฐบาลภายใต้การนำ ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ซึ่งประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์เป็นมิตรที่ดีต่อกันมายาวนาน

ผู้แทนการค้า กล่าวว่า เอกอัครราชทูตนะชิดะ เสนอไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ที่หลากหลายในช่วงของการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่การเป็นประเทศศูนย์กลางการผลิตรถ EV และสินค้าที่เชื่อมโยงเพื่อส่งไปยังประเทศอาเซียน อีกทั้ง ภายใต้นโยบาย Green Growth ของประเทศญี่ปุ่น ภาครัฐและเอกชนของญี่ปุ่นมีความสนใจร่วมลงทุนในธุรกิจที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกลุ่มใหม่ เช่น AI, Bio Technology, Modern Agriculture และ Clean Energy ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของท่านนายกฯ เศรษฐา ที่ต้องการส่งเสริม Green Economy & Clean Energy เช่นกัน 

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมพลังงานสะอาดจากแสงแดด ลม น้ำ และขยะ ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตอาจมีการนำพลังงานสะอาดเหล่านี้มาใช้ในภาคการผลิตมากขึ้น

นอกจากนี้ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) ยังมองว่า การเปลี่ยนผ่านนโยบายด้านพลังงานของไทยมีความเป็นรูปธรรมชัดเจน จึงพร้อมสนับสนุนนโยบายพลังงานสะอาดร่วมกับไทย และ METI จะเสนอกรอบความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยจะเน้นย้ำประเด็น Green Transition

ในส่วนเรื่องการพัฒนาทุนมนุษย์ของไทย ผู้แทนการค้า กล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นมีความตั้งใจที่จะให้การสนับสนุนด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลขั้นสูงต่อไป โดยหวังอย่างยิ่งว่านักธุรกิจรุ่นใหม่ในญี่ปุ่นและไทยจะได้มีการติดต่อแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้น ในลักษณะ Business Matching

“เดือนธันวาคม นายกฯ และคณะผู้บริหารรัฐบาล มีกำหนดการไปเยือนประเทศญี่ปุ่น เพื่อหารือและขยายกรอบการลงทุนร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่น ในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-ไทยในหลายด้านให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นไปอีก” ผู้แทนการค้าย้ำ

‘3 Steps Plus’ พา ‘GC’ พลิกทำกำไรในช่วง ศก.โลกขาลง ‘ยกระดับการแข่งขัน-สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์-บูรณาการความยั่งยืน’

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC พลิกทำกำไร ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกถดถอยและตลาดเคมีภัณฑ์ขาลง เป็นผลมาจากการวางแผนเตรียมรับมือล่วงหน้า ทำมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยมาตรการภายในที่เข้มแข็ง ได้แก่ ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ รักษาวินัยทางการเงินเข้มแข็ง และกลยุทธ์ 3 Steps Plus ที่มาถูกทาง ช่วยขับเคลื่อนองค์กรท่ามกลางสถานการณ์ธุรกิจเคมีภัณฑ์ทั่วโลกที่ยังผันผวน

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า 

“อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ยังคงเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก และ Industry Landscape ที่เปลี่ยนไป ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ทั่วโลก ในขณะที่ GC ได้มีการวางแผนเตรียมรับมือล่วงหน้า มุ่งเน้นทำสิ่งที่เราควบคุมได้ และดำเนินมาตรการภายในที่เข้มแข็งมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 ผ่านโครงการกว่า 10,000 โครงการ ส่งผลให้เกิดผลประโยชน์สะสมเฉลี่ยมากกว่า 6,900 ล้านบาทต่อปี”

มาตรการภายในที่เข้มแข็งดังกล่าว ได้แก่
>>Business Enhancement: การเพิ่มประสิทธิภาพ เสริมขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิต ได้ผลประโยชน์สะสมเฉลี่ยมากกว่า 5,200 ล้านบาทต่อปี

>>Organization & Digital Transformation: ปรับกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพทั่วทั้งองค์กร นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ การปรับโครงสร้างองค์กร และเพิ่มศักยภาพบุคลากร ได้ผลประโยชน์สะสมเฉลี่ยประมาณ 1,700 ล้านบาทต่อปี

>>ดำเนินมาตรการทางการเงิน: คงวินัยทางการเงินที่เข้มแข็ง บริหารสภาพคล่อง ควบคุมค่าใช้จ่าย และ บริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

*ลด OPEX ต่อเนื่องทุกปี โดยในปี 2566 คาดว่าจะลดได้ 1,500-2,000 ล้านบาท
*ลด CAPEX ประมาณ 7,000 ล้านบาท โดยการเลือกลงทุนอย่างชาญฉลาดในโครงการที่ให้ผลตอบแทนที่ดี และในขณะเดียวกันสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
*การลดหนี้และบริหารต้นทุนทางการเงิน โดยการซื้อคืนหุ้นกู้ (US Bond buy back) ทำให้มีกำไรประมาณ 460 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาของปี 2566 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี

>>Asset Light Strategy: ปรับโครงสร้างธุรกิจ ลดการถือครองสินทรัพย์ที่เป็น Non-core Assets

“ผลจากการดำเนินตามกลยุทธ์ 3 Steps Plus ส่งผลให้ GC มีพื้นฐานที่ดี และมีผลบวกในด้านต่าง ๆ รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 3 ที่ดีขึ้น พร้อมกันนี้ GC ได้ทำการทบทวนและจัดลำดับความสำคัญให้สอดคล้องกับสถานการณ์ Industry Landscape ที่เปลี่ยนไป โดยกลยุทธ์ 3 Steps Plus ประกอบด้วย 

(1) Step Change ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์
(2) Step Out  มุ่งสู่ธุรกิจ High Value (Specialty Chemicals) and Low Carbon ( Bio and Circularity) 
(3) Step Up บูรณาการความยั่งยืนเข้าไปในธุรกิจ มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี พ.ศ. 2593 ซึ่ง GC มีการดำเนินงานได้ตามแผนที่วางไว้”

ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3/2566 ของ GC ปรับตัวดีขึ้น มีกำไรสุทธิ 1,427 ล้านบาท มี Adjusted EBITDA ที่ 12,307 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 80% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2/2566 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงขาลง มีการปรับตัวลดลงของ EBITDA ในไตรมาสที่ 3/2566 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสที่ 2/2566 ประมาณ 20 - 40 % 

GC องค์กรยั่งยืนได้รับการยอมรับในระดับสากลและระดับประเทศ
>>GC ได้รับรางวัล DJSI อันดับหนึ่งของโลก ในกลุ่มเคมีภัณฑ์ ต่อเนื่อง 4 ปีติดต่อกัน (2562-2565) และในปี 2566 ได้รับคะแนนสูงสุดในกลุ่มเคมีภัณฑ์ ณ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2566

>>นอกจากนี้ยังมีรางวัลเกียรติยศอื่น ๆ อาทิ รางวัล Platinum ระดับสูงสุดจาก Ecovadis, ดัชนีชี้วัดความยั่งยืน CDP Water and Climate ได้รับการจัดอันดับ A LIST, องค์กรต้นแบบด้านความยั่งยืนระดับสูงสุด (LEAD) ของโลกจาก UN Global Compact Lead, หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ประจำปี 2566 ที่ระดับ AAA

>>ล่าสุดได้ตอกย้ำศักยภาพการเป็น Sustainability Thought Leader จากการจัดงาน GC Sustainable Symposium 2023: We are GEN S ซึ่งเป็นเวทีแบ่งปันองค์ความรู้ด้านความยั่งยืนในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยมีผู้ชมการถ่ายทอดสดผ่าน LIVE ใน 125 ประเทศทั่วโลก ทั้งยังได้ต่อยอดธุรกิจเพื่อก้าวสู่การเป็น ‘องค์กรคาร์บอนต่ำ’ และเพิ่มโอกาสในการร่วมงานกับพาร์ตเนอร์ใหม่ ๆ ที่สำคัญ

“ความสำเร็จของ GC ไม่เพียงตอกย้ำการเป็นองค์กรชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ด้วยความรับผิดชอบต่อโลก แต่ยังสะท้อนถึงความร่วมมือของคณะผู้บริหารและบุคลากรทุกคนที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนการเติบโตให้กับองค์กร ควบคู่ไปกับการสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้กับผู้ลงทุน รวมถึงการสร้างคุณค่าระยะยาวให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม” ดร.คงกระพัน กล่าวสรุป

‘รัฐบาลเช็ก’ สนใจลงทุน ‘รถยนต์-การแพทย์’ ในไทย เล็งเดินหน้าเจรจา FTA ‘ไทย-อียู’ ให้เสร็จตามแผน

(17 พ.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยถึงการหารือกับนายปาเวล ปีเตล เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กประจำประเทศไทย ว่า ประเทศไทยถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพของเช็ก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ โดยเช็กมีความสนใจที่จะสร้างหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมยานยนต์กับไทย เพื่อดึงดูดให้บริษัทยานยนต์ของเช็กเข้ามาลงทุน พัฒนาเทคโนโลยี และตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย เช่นเดียวกับที่ได้ดำเนินการมาแล้วในอินเดีย เวียดนาม ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยบริษัทที่กำลังจะเข้ามาลงทุนในไทย คือ บริษัท สโกด้า (เครือโฟล์คสวาเกน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตยานยนต์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับอีวี ซึ่งแนวทางนี้สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของไทยด้วย 

นอกจากนี้ เช็กยังมีชื่อเสียงในด้านการผลิตสินค้าเพื่อการป้องกันประเทศ ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และเครื่องมือแพทย์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างส่งเสริมให้บริษัทด้านการแพทย์เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

นางนลินี กล่าวว่า เช็กเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย โดยไทยมีสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนให้กับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุน ทั้งภายใต้บีโอไอและอีอีซี ปัจจุบันรัฐบาลมีแผนพัฒนาประเทศ เพื่อก้าวไปสู่การเป็น World’s Wellness Capital จึงเชิญชวนให้บริษัทด้านการแพทย์ของเช็กเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และร่วมกันพัฒนาทักษะของแรงงานไทยให้มีมาตรฐานมากขึ้น สำหรับบริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนในเช็กปัจจุบันมีหลายบริษัท เช่น บริษัท อินโด รามาเวนเจอร์ ที่ตั้งโรงงานผลิตวัสดุเสริมแรงในยางรถยนต์ และในปี พ.ศ.2567 นี้ ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและสาธารณรัฐเช็กจะครบรอบ 50 ปี จึงเป็นโอกาสอันดีหากผู้บริหารระดับสูงของทั้งสองประเทศได้มีโอกาสพบหารือกัน

นางนลินี กล่าวว่า ทั้งสองประเทศเห็นพ้องกันว่า การเจรจาความตกลงเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป จะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าและส่งเสริมการเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างกัน อย่างไรก็ตามเอฟทีเอ ดังกล่าว ถือเป็นความตกลงที่มีมาตรฐานสูง ไทยจึงขอให้เช็กช่วยสนับสนุนการเจรจาให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ โดยแม้ความตกลงจะมีรายละเอียดมาก และอาจต้องใช้เวลาปรับตัวในช่วงเริ่มต้น แต่เมื่อผ่านไปได้จะเกิดประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและนักลงทุนเป็นอย่างมาก

'พีระพันธุ์' จ่อเสนอ นายกฯ รื้อระบบกองทุนน้ำมัน เข้าใจทุกข์ประชาชน เจอราคาไม่นิ่ง 'ขึ้น-ลง' เหมือนตลาดหุ้น

(16 พ.ย. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงความกังวลประชาชนที่ห่วงว่า ราคาอาจจะกลับไปอยู่ที่ราคาเดิมแม้รัฐบาลจะประกาศปรับลดราคาน้ำมันลงมาถึง 2 บาท ว่า เรื่องนี้ยังเป็นปัญหาซึ่งต้องเข้าใจผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต้องเข้าใจประชาชนกับรัฐบาลด้วยคิดว่าราคาพลังงานตอนนี้ มันไม่ใช่หุ้นที่ปรับขึ้นลงทุกวินาที ปรับทุกวัน แต่ยอมรับว่า ราคาพลังงานโลกก็เป็นแบบเดียวกันมีขึ้นลงตามสถานการณ์ ตนเองคิดว่า จะให้ประชาชนมารับภาระราคาที่วิ่งขึ้นวิ่งลงทุกวันแบบนี้ก็ไม่ถูกต้องจึงควรต้องมีระบบมาวางเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันที่ขายให้กับประชาชน

ส่วนการปรับราคาขึ้นลงเป็นเรื่องระหว่างผู้ประกอบการกับภาครัฐจะต้องมาหารือกันจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ไม่ใช่ว่า ราคาน้ำมันวิ่งขึ้นวิ่งลงอยู่ตลอดเวลาแบบนี้ แล้วรัฐก็คำนวณ และควบคุมไม่ได้ ตนเองจึงเห็นว่าเป็นระบบที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งตอนนี้กำลังศึกษาแก้ไขปัญหานี้อยู่ จะทำยังไงให้ราคาซื้อขายน้ำมันที่ประชาชนซื้อจากปั๊มมีเสถียรภาพ มีราคาที่แน่นอน

ส่วนราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นลงประจำวันแต่ละวันแต่ละนาทีก็ให้เป็นเรื่องระหว่างรัฐกับผู้ประกอบการไปว่ากัน ซึ่งตนเองกำลังคิดระบบนี้อยู่เพื่อประชาชนไม่ต้องมาแบกรับเหมือนอย่างที่ทุกวันนี้ พร้อมย้ำว่าทั้งหมดต้องศึกษาโครงสร้างกันใหม่ โครงสร้างที่มีก็ใช้มา 30 ปี จึงถึงเวลาต้องปรับปรุง

"อย่างอื่นยังปรับปรุงได้แล้วเรื่องนี้ทำไมไม่ปรับปรุง เอะอะก็มาอ้างเรื่อง เรื่องการค้าเสรีแต่ประชาชนมีปัญหาคิดว่ามันไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นแบบนี้ก็อย่ามีรัฐจะดีกว่า ผมเห็นว่าควรจะมานั่งคิดระบบที่จะให้ประชาชนมีความเดือดร้อนน้อยลงและปัญหาก็ให้เป็นเรื่องระหว่างผู้ประกอบการกับภาครัฐ"

ส่วนจะใช้เวลานานหรือไม่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า จะพยายามทำให้เร็วที่สุดเพราะไม่เคยมีใครทำมาก่อนตนเองคิดเป็นครั้งแรก ขณะเดียวกันก็เห็นว่า การปรับขึ้นราคาน้ำมันประจำวันแบบนี้เหมือนราคาหุ้น แล้วกองทุนน้ำมันก็มานั่งประชุมกันทุกวันแบบนี้ ก็ไม่ต้องทำอะไรกันเลย วัน ๆ มานั่งประชุมคิดแต่ว่าต้องปรับราคาขึ้นกี่สตางค์ งานก็มีตั้งเยอะ ไม่ใช่มานั่งคิดแต่เรื่องเดียว ซึ่งไม่ใช่วิธีการบริหารจัดการที่ถูกต้องแบบนี้ต้องปรับปรุงแก้ไข

ขณะเดียวกันก็ได้รายงานปัญหาทั้งหมดให้กับนายกรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ รวมถึงปัญหาเรื่องไหนบ้างที่ต้องแก้ไข ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็แสดงความคิดเห็นมา และก็สนับสนุนทุกเรื่อง เพราะทุกเรื่องที่ตนเองทำล้วนเป็นเรื่องที่ทำเพื่อประชาชนซึ่งตรงกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล จึงคิดว่าไม่มีปัญหาอะไรเพียงแต่ว่าทุกอย่างต้องคิดด้วยความรอบคอบ มันไม่ใช่คิดแล้วทำทันที แต่ต้องเริ่มคิด เพราะประชาชนได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ผู้ประกอบการที่เคยมีระบบแบบนี้มานาน รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เคยชินกับระบบแบบนี้ถ้าจะเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงก็ค่อย ๆ ดูรูปแบบว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้มีผลกระทบน้อยที่สุด

นายพีระพันธุ์ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ตนเองเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน จะให้นั่งเฉย ดูประชาชนเดือดร้อน ซึ่งแบบนี้ทำไม่ได้

‘กระทรวงพาณิชย์’ ประกาศหมัดเด็ด ‘5 ด้าน’ ดันยอดส่งออกไทยปี 67 ทะลุ 10 ล้านล้าน

(16 พ.ย.66) ที่กระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลการประชุมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อทำแผนการผลักดันการส่งออกของไทยในปี 2567 โดยภายหลังการหารือ ที่ประชุมได้รับทราบการตั้งเป้าหมายการส่งออกของไทยปีหน้า

เบื้องต้น ประเมินว่า จะขยายตัว 1.99% หรือประมาณ 2% โดยมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 287,754 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10 ล้านล้านบาท

นายภูมิธรรม ระบุว่า ในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์จะรักษารับการเติบโตในปีที่ผ่านมาให้เป็นบวกต่อไป หลังจากเห็นสัญญาณการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหนุนน่าจะมาจากกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล น่าจะจบลงในระยะเวลาอันใกล้ เพื่อให้การค้าระหว่างประเทศกลับมาอยู่ในสถานการณ์ปกติมีความเสี่ยงเกิดขึ้น

พร้อมกันนี้ยังได้ประกาศแผนการเร่งรัดการส่งออกของไทย โดยได้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน 5 ด้าน ดังนี้ 

1.เปิดประตูโอกาสทางการค้าสู่ตลาดใหม่ ควบคู่การรักษาตลาดเดิม 

โดยเดินสายสร้างสัมพันธ์ทั่วโลก เร่งผลักดันการเจรจา FTA ขยายการค้าไปยังเมืองรอง แผน 100 วัน ได้สร้างมูลค่าการสั่งซื้อรวมกันแล้วกว่า 490 ล้านบาท จากการผลักดันสินค้าไทยไปจัดแสดง ณ งาน CAEXPO ในหนานหนิงและงาน CIIE ในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และประเทศไทยได้ถูกเพิ่มในระบบ E-visa ของประเทศซาอุดิอาราเบียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

โดยแผน 1 ปี จะมีกิจกรรม Goodwill จำนวน 24 กิจกรรม กิจกรรมเปิดตลาดเชิงรุก มี Trade Mission 17 กิจกรรม ในประเทศมัลดีฟส์ อาเซียน ยุโรป UK รัสเซีย งานแสดงสินค้าไทย 12 กิจกรรม ในจีน อินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา รวมถึงการขยายการค้าไปยังเมืองรอง 6 กิจกรรม 

พร้อมทั้งจัดทำ MOU กับเมืองรองเพิ่ม เช่น แอฟริกา (โจฮันเนสเบิร์ก โมซัมบิก) จีน (กว่างซีจ้วง เจ้อเจียง ซานซี เฮยหลงเจียง ฝูเจี้ยน) ภายใต้ยุทธศาสตร์ ‘การค้าเชิงรุกรายมณฑลจีน’ และต่อยอด MOU ที่ลงนามแล้ว รวมไปถึงการขยายช่องทางการค้าใหม่ๆ เช่น การเจาะธุรกิจ Horeca ในยุโรปและเร่งสรุปผลการเจรจา FTA กับคู่เจรจาต่าง ๆ 

2.ทูตพาณิชย์ ทำงานเชิงรุก

โดยร่วมทำงานกับพาณิชย์จังหวัดให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เชื่อมโยงสินค้าท้องถิ่นสู่ตลาดโลก โดยได้มอบนโยบายต่อทูตพาณิชย์ในการเร่งหาช่องทางการค้าใหม่ๆ เช่น การค้นหา Influencer ทั้งในไทยและต่างประเทศที่มีผู้ติดตามมากเพื่อเพิ่มการรับรู้สินค้าไทย และใช้ร้านอาหาร Thai Select เป็นเสมือนที่จัดแสดงสินค้าภูมิปัญญาไทยและช่องทางส่งออกวัตถุดิบอาหารและเครื่องปรุงรสของไทย 

รวมทั้งบูรณาการทำงานเชิงรุกร่วมกันระหว่างทูตพาณิชย์ พาณิชย์จังหวัด และทัพหน้าของไทยในต่างแดน อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ BOI เพื่อช่วยขับเคลื่อนการส่งออกของไทย โดยในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 นี้ นายกรัฐมนตรีจะมอบนโยบายการทำงานให้กับทูตทั่วโลก โดยกระทรวงพาณิชย์จะนำเสนอการขับเคลื่อนนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกต่อนายกรัฐมนตรี สำหรับแผน 1 ปีจะดำเนินการหาช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ๆ ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ให้มากขึ้น เพื่อขยายส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทย ในประเทศประจำการเขตอาณาและเพิ่มบทบาททูตพาณิชย์ ให้เป็นคู่คิดของผู้ประกอบการ SMEs ‘พาณิชย์คู่คิด SMEs’ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะรายเล็กให้สามารถส่งออกได้เพิ่มมากขึ้น

3. ส่งเสริม SOFT POWER เป้าหมายรุกสู่เวทีโลก 

ด้วยการเพิ่มมูลค่าสินค้า/บริการไทยด้วยแบรนด์ นวัตกรรม และการออกแบบ และส่งเสริมสู่ตลาดโลก โดยมีเป้าหมายในกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ อาหาร ดิจิทัล คอนเทนต์ มวลไทย ท่องเที่ยว หนังสือ และเกม ล่าสุดจากการนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหาร Anuga ที่เยอรมนี สร้างมูลค่า 5,318.05 ล้านบาท และกลุ่มดิจิทัลคอนเทนต์ สร้างรายได้กว่า 2,620.13 ล้านบาท 

ทั้งนี้ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2566 นี้ จะจัดงาน Muay Thai Global Power ณ ไอคอนสยาม การร่วมงาน Asia TV Forum and Market ที่สิงคโปร์ รวมทั้งในวันนี้ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือ 3 ฝ่าย ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ เชื่อมโยงการค้าและการท่องเที่ยวไว้ด้วยกัน 

สำหรับแผน 1 ปี จะมีการเปิดตัว SOFT POWER Global Brand จำนวน 9 กิจกรรม ทั้งในส่วนของการ re-branding Thai select, เครื่องหมาย Thailand Trust mark, Demark เป็นต้น การส่งเสริมดิจิทัลคอนเทนต์ 19 กิจกรรม กลุ่มสินค้าอาหาร 76 กิจกรรม หนังสือ 2 กิจกรรม และสนับสนุนนักออกแบบไทยผ่านโครงการต่างๆ 

4.ปรับปรุงการทำงานของภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล 

โดยปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ปรับบทบาทเป็นรัฐสนับสนุน โดยแผน quick win 100 วันที่ได้ดำเนินการไปแล้ว อาทิ การปรับปรุง พ.ร.บ. สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ พ.ศ.2537 การปรับปรุงเว็บไซต์กรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ การหารือกับภาคเอกชนร่วม ยกร่างแผนเร่งรัดการส่งออกและการค้าชายแดน quick win 100 วัน 

ส่วนแผน 1 ปี จะเดินหน้าทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ในการแก้ไขปัญหา/อุปสรรคทางการค้า โดยต่อยอดคณะทำงานร่วมกระทรวงพาณิชย์

5. ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ 

เริ่มตั้งแต่การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว โดยแผน quick win 100 วันที่จะดำเนินการ เช่น การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 2 (ปี 2566 - 2570) การจัดเจรจาการค้าธุรกิจออนไลน์ และการส่งเสริมการขายสินค้า TOP Thai บนแพลตฟอร์มออนไลน์พันธมิตร อาทิ Shopee ในมาเลเซีย และ Rakuten ในญี่ปุ่น 

การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ อาทิ การสัมมนาเสริมสร้างทรัพย์สินทางปัญญาผู้ส่งออกไทย และการเสวนา export 5 F รวมทั้งการยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ อาทิ นำผู้ประกอบการร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ Automechanika ที่ยูเออี งาน APPEX ที่สหรัฐฯ และงาน Medica ที่เยอรมนี 

ส่วนกิจกรรมที่ได้ดำเนินการแล้ว ทั้ง การจัด Virtual Showroom และ Online Business Matching  ในสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหารกลุ่ม BCG สร้างมูลค่า 5.30 ล้านบาท และงานแสดงสินค้า AUTOMECHANIKA DUBAI 2023 มีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมกว่า 30 ราย มูลค่าการสั่งซื้อ 2,991.27 ล้านบาท

ขณะเดียวกันในปีนี้ได้เตรียมแผนงานรองรับไว้กว่า 300 กิจกรรม อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล 8 กิจกรรม เช่น การตั้งร้าน Top Thai บน Amazon ของอังกฤษ การขยายความร่วมมือกับ LetsTango.com ในยูเออี การส่งเสริมการขายกับแพลตฟอร์มพันธมิตร การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว 14 กิจกรรม 

โดยจะนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมสีเขียวในยุโรป ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา การยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ 108 กิจกรรม โดยการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในไทยและการนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ พร้อมกับการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ 177 กิจกรรม เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในด้านการค้าระหว่างประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top