Friday, 26 April 2024
ECONBIZ

‘ผู้แทนการค้าไทย’ มั่นใจ!! ‘Sharp’ ลงทุนในไทยต่อเนื่อง เล็งดึง ‘Foxconn’ ตั้งบริษัท ปั้นรถ EV ส่งออกต่างประเทศ

(10 พ.ย. 66) นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า ตนได้หารือกับนายชูเฮย์ อาราอิ กรรมการผู้จัดการบริษัท ชาร์ป ไทยจำกัด และคณะ โดยชาร์ปได้ยืนยันที่จะรักษาฐานการผลิตในประเทศไทย หลังจากที่เริ่มทำธุรกิจและลงทุนในไทยมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2530 และยังสนใจที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งเป็นเป้าหมายของประเทศไทย โดยเฉพาะการตั้งโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์หรือสารกึ่งตัวนำเพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่ใช้ชิปที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น โดยในปี 2559 ชาร์ปได้ควบรวมกับบริษัท ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ผู้นำการผลิตและประกอบชิ้นส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลก และต่อมาในปี 2564 ฟ็อกซ์คอนน์ได้ร่วมลงทุนกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อก่อตั้งบริษัทและโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้ชื่อ Horizon+ ในไทย ซึ่งคาดว่าจะช่วยส่งเสริมการจ้างงาน และทำให้ไทยมีรถยนต์ไฟฟ้าเป็นสินค้าส่งออกได้ในอนาคต โดยชาร์ปจะเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตอุปกรณ์รถยนต์ไฟฟ้า เช่น แผงวงจร หน้าจอรถยนต์ 

ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า ชาร์ปเล็งเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยทั้งในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความได้เปรียบ และสามารถพัฒนาเป็นศูนย์กระจายสินค้าไปยังภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และอื่น ๆ ได้ รวมทั้งรัฐบาลยังมีสิทธิประโยชน์เพื่อการลงทุนที่น่าสนใจ ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคไทยก็เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในอนาคตชาร์ปสนใจที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น เครื่องซักผ้าที่ใช้น้ำน้อยและสามารถรีไซเคิลน้ำกลับมาใช้ใหม่ หรือไดร์เป่าผมที่มีเสียงเบาเหมาะกับคอนโดขนาดเล็กใจกลางเมือง 

ทั้งนี้ตนจะเดินทางไปเข้าร่วม งาน Sharp Tech Day ในโอกาสเฉลิมฉลองการก่อตั้งบริษัทครบรอบ 111 ปี ตามคำเชิญของชาร์ป ในระหว่างวันที่ 10 - 12 พ.ย. 66 ที่ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยจะมีโอกาสได้พบกับผู้บริหารระดับสูงของชาร์ป ตัวแทนของฟ็อกซ์คอนน์ และบริษัทอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นนำต่าง ๆ ที่มาร่วมงานนี้ เพื่อเจรจาเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในไทยด้วย

นางนลินี กล่าวว่า ผู้บริหารชาร์ปบอกด้วยว่าจะเป็นเรื่องที่ดีมากหากนายกรัฐมนตรีมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมบริษัทแม่ของชาร์ป ที่นครโอซากา ระหว่างการเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นในช่วงเดือน ธ.ค. 66 นี้ 

สำหรับบริษัทชาร์ป ไทย ปัจจุบันก้าวเข้าสู่ปีที่ 36 แล้ว โดยมีบริษัทในเครือ 7 แห่ง แบ่งเป็น บริษัทสาขาการขาย 4 แห่ง และโรงงาน 3 แห่ง สร้างยอดขายกว่า 3,500 ล้านบาทต่อปี และมีพนักงานมากกว่า 7,300 คน ที่ผ่านมาได้ช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงให้กับบุคลากรของไทย และยังคัดสรรนวัตกรรมคุณภาพเพื่อส่งมอบให้แก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง

ผลประกอบการ 9 เดือนแรกปี 66 พลิกทำกำไร 16,342 ลบ. เร่งเครื่องฟื้นฟูกิจการเต็มกำลัง พร้อมขานรับนโยบายฟรีวีซ่า

(10 พ.ย. 66) บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อย โดยระบุว่า...

ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย มีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 37,008 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 32,860 ล้านบาท หรือ 12.6% 

โดยมีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 3.27 ล้านคน เป็นส่วนของการบินไทย 2.19 ล้านคน และไทยสมายล์ 1.08 ล้านคน มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 77.3% (การบินไทย 77.1% และไทยสมายล์ 80.9%) ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเฉลี่ย 77.0% 

บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 29,289 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่าย 28,940 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น เป็นค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง 11,995 ล้านบาท (41% ของค่าใช้จ่ายรวม) 

โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 7,719 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 2565 ซึ่งมีกำไร 3,920 ล้านบาท 

ทั้งนี้ บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 3,722 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นค่าใช้จ่ายรวม 2,732 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 1,546 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อน ขาดทุน 4,780 ล้านบาท โดยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 8,360 ล้านบาท 

สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 115,897 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 65,567 ล้านบาท 

ในขณะเดียวกันมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 86,567 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวม 66,115 ล้านบาท บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 29,330 ล้านบาท ดีกว่างวดเดียวกันของปี 2565 ที่ขาดทุน 548 ล้านบาท โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อย มีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 11,237 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นค่าใช้จ่ายรวม 2,390 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 16,342 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนขาดทุน 11,237 ล้านบาท มี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 31,720 ล้านบาท 

ในปัจจุบัน บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 68 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินลำตัวแคบ 20 ลำ และเครื่องบินลำตัวกว้าง 48 ลำ โดยบริษัทฯ มีการรับเครื่องบินลำตัวกว้างจากการเช่าดำเนินการเข้ามาในฝูงบิน จำนวน 1 ลำ ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา รวมเครื่องบินที่รับเพิ่มในปีนี้ทั้งหมดจำนวน 3 ลำ บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 12.0 ชั่วโมงต่อวัน โดยเป็นส่วนของการบินไทย 13.7 ชั่วโมงต่อวัน และไทยสมายล์ 8.2 ชั่วโมงต่อวัน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 53.3% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 100.7% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 80.0% (การบินไทย 80.0% และไทยสมายล์ 80.4%) สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 61.1% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 10.13 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 77.4% เป็นส่วนของการบินไทยและไทยสมายล์ 6.50 และ 3.63 ล้านคน ตามลำดับ 

ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 234,290 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 36,112 ล้านบาท (18.2%) หนี้สินรวมจำนวน 288,996 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 19,794 ล้านบาท (7.4%) 

ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อยติดลบจำนวน 54,706 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 16,318 ล้านบาท และจากผลประกอบการที่เป็นบวก บริษัทฯ มีเงินสด ตั๋วเงินฝาก เงินฝากประจำและหุ้นกู้ที่มีระยะเวลาครบกำหนดชำระมากกว่า 3 เดือน แต่ไม่เกิน 12 เดือน จำนวน 63,387 ล้านบาท ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 

สำหรับในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ต่อเนื่องไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 แม้จะเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากหลายภูมิภาค แต่ด้วยสภาวะการแข่งขันที่คาดว่าจะปรับตัวรุนแรงขึ้นจากการที่สายการบินต่าง ๆ เริ่มทยอยนำเครื่องบินกลับมาทำการบินในระดับที่ใกล้เข้าสู่ภาวะปกติก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังจะเห็นได้จากการเปิดเส้นทางบินและเพิ่มความถี่เที่ยวบินของสายการบินในหลายเส้นทาง อาทิ การกลับเข้ามาทำการบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-กรุงโคเปนเฮเกนของสายการบินสแกนดิเนเวียนแอร์ไลน์ส การนำเครื่องบินแอร์บัสแบบ A380 กลับเข้ามาทำการบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-นครมิวนิกของสายการบินลุฟท์ฮันซ่า 

ปัญหาข้อพิพาทในภูมิภาคตะวันออกกลางและพื้นที่ฉนวนกาซาซึ่งส่งผลกระทบให้เกิดการชะลอตัวของการสำรองที่นั่งล่วงหน้าในหลาย ๆ เส้นทาง โดยเฉพาะเส้นทางทวีปยุโรปและเที่ยวบินกรุงเทพฯ-นครอิสตันบูล สาธารณรัฐทูร์เคีย 

ซึ่งการบินไทยมีกำหนดเปิดให้บริการในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจในสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เห็นได้จากการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นไปอย่างล่าช้า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ ค่าใช้จ่ายการบริการภาคพื้นในต่างประเทศ ทำให้บริษัทฯ ยังคงต้องมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการบริหารผลตอบแทนต่อหน่วย (Yield) ให้เป็นไปตามเป้าหมาย เช่นเดียวกับการจัดการด้านค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนดำเนินการตามแผนปฏิรูปองค์กรและการดำเนินธุรกิจอย่างเคร่งครัดและมีวินัย เพื่อให้การดำเนินการปรับโครงสร้างทุนด้วยการแปลงหนี้เป็นทุนและเพิ่มทุนได้สำเร็จตามกรอบเวลาที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ

การดำเนินตามแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ในไตรมาสนี้มีการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่

>>การหารายได้จากการขนส่ง 

เพิ่มจุดบินและความถี่เพื่อรองรับการเติบโตของปริมาณความต้องการ เดินทาง (Demand) ของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ในเส้นทางซัปโปโร ประเทศญี่ปุ่น

>>การดำเนินการตามแผนการปรับปรุงประสิทธิภาพฝูงบิน

รับมอบเครื่องบินแบบ A350-900 จำนวน 1 ลำ ซึ่งจะเริ่มทำการบินตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ในเส้นทางสู่ประเทศจีน เพื่อรองรับนโยบาย Free Visi ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season) และเพื่อขยายฝูงบินให้รองรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน 

รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการ บริหารจัดการต้นทุนให้สามารถแข่งขันได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

>>การหาประโยชน์จากทรัพย์สินรองที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ 

การบินไทยได้ขายเครื่องบินแบบ B747-400 จำนวน 2 ลำ และ A340-68) จำนวน 1 ลำ รวมทั้งเครื่องยนต์อะไหล่ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว จำนวน 1 เครื่องยนต์ ซึ่งส่งมอบให้กับผู้ซื้อแล้ว 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ ได้แก่ บ้านพักกรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซียและสำนักงานขายมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ซึ่งบริษัทฯ ได้รับเงินครบถ้วนและได้โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อแล้ว

>>การปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจกลุ่มธุรกิจการบินของกลุ่มบริษัทการบินไทย 

บริษัทฯ รับโอน เครื่องบิน A320-200 จากบริษัท ไทยสมายล์ฯ เพิ่มอีกจำนวน 3 ลำ รวมเป็น 6 ลำ เพื่อเตรียมทำการบินในเส้นทาง ระหว่างประเทศของบริษัทฯ ได้แก่ เดล, มุมไบ, ธากา รวมถึงกัลกัตตา (เริ่มบินตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม2566 เป็นต้นไป) 

บริษัทฯ ยังทำการบินทดแทนสายการบินไทยสมายล์ ในเส้นทางย่างกุ้ง, เวียงจันทน์, พนมเปญ, อาห์เมคา บัด รวมถึงเกาสงและปีนัง (เริ่มบินตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป) 

การบินไทยจะทยอยรับโอนอากาศยานจน ครบ 20 ลำ ภายในไตรมาส 1 ของปี 2567 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการอากาศยานได้อย่างเหมาะสม สามารถวางแผนและพัฒนาเครือข่ายเส้นทางบิน และจัดเที่ยวบินให้ครอบคลุมความต้องการของผู้โดยสารใน ภาพรวมได้ดียิ่งขึ้น โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการแก่ผู้โดยสาร

‘DTI’ เซ็น MOU ร่วม ‘THAICOM’ พัฒนาท่าอวกาศยาน เพิ่มขีดความสามารถด้านอวกาศไทยขึ้นไปอีกขั้น

(10 พ.ย.66) สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) หรือ ‘DTI’ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาท่าอวกาศยาน ภาครัฐเชิงพาณิชย์ (Commercial Governmental Spaceport) สิ่งอำนวยความสะดวกท่าอวกาศยานต่างๆ และ เทคโนโลยีทางอวกาศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่าง สทป. กับ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) 

โดยมี พลเอกพอพล มณีรินทร์ ประธานกรรมการ สทป. ร่วมเป็นสักขีพยานกิตติมศักดิ์ และมี พลเอกชูชาติ บัวขาว ผอ.สทป. และ นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ให้เกียรติในการลงนาม พร้อมด้วย ดร.ปิยะวัฒน์ จริยเศรษฐพงศ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการค้าร่วมเป็นสักขีพยาน เพื่อร่วมมือกันศึกษา วิจัย พัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุน การจัดตั้งท่าอวกาศยานภาครัฐเชิงพาณิชย์ หรือ ‘Commercial Governmental Spaceport’ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกท่าอวกาศยานต่างๆ และเทคโนโลยีทางอวกาศอื่นๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในด้านความมั่นคงทางการทหาร ด้านเศรษฐกิจและสังคม และด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและวิทยาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี Hall 9-12

สำหรับงานด้านอวกาศ ถือเป็นโอกาสที่จะทำให้ประเทศเกิดการพัฒนาและเติบโตขึ้นในหลายมิติ โดยสิ่งหนึ่งที่มีความจำเป็น หากต้องการแข่งขันทางด้านอวกาศในระดับนานาชาติ คือ การพัฒนา Spaceport หรือ ‘ท่าอวกาศยาน’ ซึ่งมีความคล้ายกับแอร์พอร์ต หรือท่าอากาศยาน แต่ Spaceport นี้จะถูกใช้เป็นฐานยิงจรวด ยิงดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ รวมทั้งเป็นจุดสำหรับรับจรวดรับดาวเทียมกลับสู่โลก

ทั้งนี้ ประเทศไทย อยู่ในฐานะประเทศที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ได้เปรียบและเหมาะสมในการสร้าง Spaceport ฉะนั้น การบุกเบิก Spaceport จะนำไปสู่เศรษฐกิจใหม่แห่งอนาคตที่เรียกว่า ‘เศรษฐกิจอวกาศ’ หรือ ‘Space Economy’ ต่อไป

‘สธ.-สสส.-MBK’ รวมพลังปลุกกระแส ‘อาหารไทยถิ่น กินเป็นยา’ กระตุ้นท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ-เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ-ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ

(9 พ.ย. 66) นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดงานเสวนาวิชาการและนิทรรศการอาหารเป็นยาครั้งที่ 1/2566 ภายใต้แนวคิด ‘อาหารไทยถิ่น กินเป็นยา’ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-12 พฤศจิกายน 2566 ที่ลาน MBK Avenue A ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ กรุงเทพมหานคร โดยมี นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รักษาราชการแทนรองปลัด สธ. นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ผู้บริหาร สธ.ภาคีเครือข่ายร่วมงาน พร้อมทั้งมอบป้ายโลโก้อาหารเป็นยา ให้กับสถานประกอบการ ทั้ง 20 แห่ง ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกผู้จำหน่ายอาหารที่มีเมนูสุขภาพจากวัตถุดิบในท้องถิ่น ปลอดสารพิษ

นายสันติกล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นภาคเศรษฐกิจและสร้างงานให้กับประชาชน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้านอาหารที่สร้างรายได้ให้กับประเทศนับแสนล้านบาท

ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ข้อมูลจากกรมการท่องเที่ยว ระบุว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวด้านอาหาร ถึงร้อยละ 20 ของรายได้การท่องเที่ยวทั้งหมด และในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้จากอาหารและเครื่องดื่มจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.74 สธ.จึงเห็นโอกาสในการขับเคลื่อนนโยบายอาหารเป็นยา เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อมั่น ให้กับประชาชนเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพด้วยการบริโภคอาหาร นำไปสู่สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ

“อาหารไทยได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอย่างแพร่หลาย ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดรายการอาหารยอดนิยมของนักท่องเที่ยวไว้ จำนวน 6 รายการ ได้แก่ ผัดไทย ต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวาน ส้มตำ มัสมั่น ต้มข่าไก่ และยังมีรายการอาหารไทยที่ควรส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักมากยิ่งขึ้น เช่น ผัดกะเพรา ผัดฉ่า เครื่องดื่มสมุนไพรซึ่งมีสรรพคุณตามรสยา เพื่อช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และบรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น” นายสันติกล่าว

นพ.สุรโชค กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของ สธ.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ และภาคีเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนการนำอาหารไทย สมุนไพรไทย มาช่วยสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ภายใต้แนวคิด ‘อาหารไทยถิ่น กินเป็นยา’ เป็นการสร้างกระแสให้ประชาชนหันมาใส่ใจการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเยาวชนรุ่นใหม่จะได้ตระหนักรู้ว่าอาหารไทย สมุนไพรไทยมีคุณค่า เป็นการผสม ‘ศาสตร์’ การดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กับ ‘ศิลป์’ ความพิถีพิถัน ความละเอียดอ่อนในการปรุงอาหาร ที่ช่วยสร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับอาหารไทย คาดว่าการจัดงานในครั้งนี้จะทำให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนจากการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมงานประมาณ 5-6 หมื่นคนต่อวัน

ด้าน นพ.ขวัญชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมากรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้จัดกิจกรรมอาหารเป็นยาโดยนำร่องจังหวัดที่เป็นเมืองสมุนไพร อาทิ สงขลา อุดรธานี จันทบุรี สระบุรี เชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งได้การตอบรับเป็นอย่างดี รวมถึงได้ร่วมมือกับ ‘การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย’ (ททท.) มอบป้ายโลโก้ให้ผู้ประกอบการ สตรีทฟู้ด ร้านอาหารเครื่องดื่ม และโรงแรม แล้วกว่า 200 ร้านค้า เพื่อเป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพ และเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่ามีเมนูสุขภาพที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ปลอดสารพิษ เป็นการช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย เวทีเสวนาวิชาการ ให้ความรู้เกี่ยวกับสรรพคุณทางสมุนไพรที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย กิจกรรมอาการเป็นยา เช่น กินยังไง? ไม่ให้ป่วย, กินสร้างสุข, กินลดโรค การออกร้านจำหน่ายอาหาร-เครื่องดื่มจากชุมชนทั่วประเทศ

'ฉางอัน ออโต' วางศิลาฤกษ์ 'โรงงานผลิต EV' ในไทย มองไกล!! ทุ่ม 2 หมื่นล้าน จ่อผลิต 2 แสนคันต่อปี

(9 พ.ย.66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ฉางอัน ออโต (Changan Auto) ผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำของจีน ได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์โรงงานผลิตยานยนต์แห่งแรกของบริษัทในไทย ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของการขยับขยายธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยโรงงานแห่งใหม่นี้ครอบคลุมพื้นที่ราว 1,520 ไร่ ตั้งอยู่ที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในจังหวัดระยอง ประกอบด้วยหน่วยทาสี ประกอบชิ้นส่วน ประกอบเครื่องยนต์ และประกอบแบตเตอรี่ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกสนับสนุนอันจำเป็น

รายงานระบุว่าการดำเนินงานระยะแรกมีกำหนดเริ่มต้นช่วงต้นปี 2025 โดยการออกแบบเบื้องต้นกำหนดกำลังการผลิตสูงแตะ 1 แสนคันต่อปี ส่วนการดำเนินงานระยะที่ 2 จะมีการลงทุนรวมสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท ทำให้กำลังการผลิตสูงแตะ 2 แสนคันต่อปี

อนึ่ง ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์แห่งสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเนิ่นนาน เนื่องจากมีข้อได้เปรียบด้านห่วงโซ่อุตสาหกรรมและที่ตั้งทางภูมิศาสตร์

การลงทุนของฉางอันในไทยสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลไทยที่มุ่งเพิ่มสัดส่วนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้สูงแตะร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2030 และจะครอบคลุมทั่วตลาดอาเซียน รวมถึงตลาดยานยนต์พวงมาลัยขวาทั่วโลก

ด้านนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทย กล่าวว่าการลงทุนของฉางอันสะท้อนศักยภาพและความพร้อมของไทยในการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าระดับภูมิภาคและระดับโลก

หวังฮุย รองประธานของฉางอัน ออโตโมบิล เผยว่าฉางอันมุ่งมีบทบาทเชิงรุกในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยานยนต์อันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น ขณะไทยเร่งปรับตัวสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว

การเข้าสู่ไทยของฉางอันไม่เพียงเสนอหลักประกันตามเป้าหมายจัดวางให้ไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าระดับภูมิภาคของฉางอัน แต่ยังมีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมการบูรณาการเชิงลึกของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ในจีนและไทย

ทั้งนี้ นอกเหนือจากฉางอันแล้ว กลุ่มผู้ผลิตยานยนต์ของจีน เช่น เกรตวอลล์ (Great Wall) และบีวายดี (BYD) ได้ก่อสร้างโรงงานและเปิดตัวยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นต่างๆ ในไทยเช่นกัน ด้านข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่าแบรนด์จีนครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของยอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าในไทยในช่วงครึ่งแรก (มกราคม-มิถุนายน) ของปีนี้

‘ไทย’ พลิกบทบาทฐานผลิต ‘รถยนต์สันดาป’ สู่ ‘EV’ ชั้นนำโลก เล็งดึงเม็ดเงินบริษัทต่างชาติลงทุน 1 ล้านล้านบาท ภายใน 4 ปี

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 66 เพจเฟซบุ๊ก ‘เดือดทะลักจุดแตก’ ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีที่เมื่อไม่นานนี้ ทางสำนักข่าวบลูมเบิร์กเทเลวิชัน ของสหรัฐอเมริกา รายงานข่าวว่า ‘ไทยแลนด์’ ฐานผลิตรถยนต์ (น้ำมัน) แห่งเอเชีย’ พลิกเดิมพัน EV หวังดูดเงินลงทุนมหาศาล 1 ล้านล้านบาท โดยระบุว่า…

ประเทศไทยซึ่งได้รับฉายาว่าเป็น ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’ (Detroit of Asia) ในแง่ของการผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ระดับแถวหน้าของโลก ด้วยการตั้งเป้าหมายที่จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติถึง 1 ล้านล้านบาท (2.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ภายในระยะเวลา 4 ปี

โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ไทยได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ เพื่อดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่ให้มาลงทุนในอุตสาหกรรม EV และภาคส่วนอื่น ๆ ที่เป็นกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจของไทย โดยนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า กลุ่มผู้ผลิต EV ของจีนถือเป็นเป้าหมายหลักของไทย

นายนฤตม์กล่าวว่า อุตสาหกรรม EV, ยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์, ดิจิทัล, สำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาค และอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถือเป็น ‘5 อุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์’ ที่บีโอไอให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ

ข้อมูลจาก fDi Markets ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ติดตามการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมระบุว่า ในขณะที่ไทยสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากบริษัทจีนหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงบีวายดี, เกรท วอลล์ มอเตอร์ และเอสเอไอซี มอเตอร์นั้น ทิศทางด้านการลงทุนในอุตสาหกรรม EV ในปี 2565 แสดงให้เห็นว่าไทยต้องเร่งดำเนินการอย่างมากเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ขณะที่สหรัฐฯ, ฮังการี, เม็กซิโก, อินโดนีเซีย และเยอรมนี ได้รับเงินลงทุนจากมูลค่าทั้งหมดกว่า 1.06 แสนล้านดอลลาร์ที่ลงทุนในโครงการ EV ทั่วโลกเมื่อปีที่แล้ว

ศูนย์ปฏิบัติการพิเศษเพื่อการลงทุนเชิงกลยุทธ์ (Special Operation Center For Strategic Investment) ซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯนั้น กำลังทำงานเกือบจะตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อดึงดูดนักลงทุนที่มีศักยภาพสูง และจัดการประชุมระดับสูงให้กับรัฐบาล รวมทั้งคอยสนับสนุนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับทริปการเดินทางไปต่างประเทศที่สำคัญ เพื่อพยายามทำข้อตกลงด้านการลงทุน

ทั้งนี้ หลังจากที่นายเศรษฐาเดินทางเยือนสหรัฐฯ เมื่อเดือนที่แล้ว บีโอไอพยายามโน้มน้าวบริษัทรายใหญ่ ซึ่งรวมถึงไมโครซอฟท์, กูเกิล และอะเมซอน เว็บ เซอร์วิส ให้เข้ามาสร้างหรือเพิ่มฐานธุรกิจในประเทศไทยผ่านทางการลงทุนใหม่ ๆ

‘EA’ ได้รับการจัดอันดับหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ระดับ AA ปี 66 ตอกย้ำ!! ความใส่ใจ-รับผิดชอบสิ่งแวดล้อม-ดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืน

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ได้รับการจัดอันดับ ‘หุ้นยั่งยืน ระดับ AA’ ประจำปี 2566 (SET ESG Ratings : AA) จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สะท้อนให้เห็นถึงนโยบายและการให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืน ด้านสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม การบริหารงานตามหลักบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance: ESG) การเปิดเผยกระบวนการดำเนินธุรกิจและมีแนวทางการบริหารจัดการที่ชัดเจน เพื่อให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างโอกาสทางธุรกิจและเกิดประโยชน์กับผู้ถือหุ้นและทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งในปีนี้ EA ได้รับการคัดเลือกต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 นับตั้งแต่ปี 2560

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ผู้นำนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาด กล่าวว่า “EA มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้านนวัตกรรมพลังงานสะอาด ควบคู่ไปกับการรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่เป็น ‘Green Product’ เพื่อประโยชน์ต่อสังคมที่ยั่งยืน โดยครอบคลุมในทุกมิติด้านพลังงานสะอาด ทั้งธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจผลิตแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า ยกระดับนวัตกรรมฝีมือคนไทยสู่ระดับนานาชาติ 

นอกจากนี้ EA มุ่งมั่นสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าที่ครบวงจร เดินหน้าพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมระบบขนส่งทั้งรถหัวลากไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า ระบบขนส่งมวลชน ได้แก่โดยสารไฟฟ้า เรือโดยสารไฟฟ้า ยกระดับการเดินทางระบบขนส่งมวลชนสาธารณะของไทยที่มีความสะดวก ทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

‘สายสีชมพู’ ปลุก ‘แจ้งวัฒนะ-รามอินทรา-มีนบุรี’ คึกคัก ‘คอนโดใหม่’ ทะลัก 6.8 หมื่น ลบ. ราคาที่ดินพุ่งเท่าตัว

(8 พ.ย. 66) นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียมตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี หลังเตรียมเปิดบริการในวันที่ 18 ธันวาคม 2566 ส่งผลให้ตลาดคอนโดมิเนียมตลอดเส้นทางของรถไฟฟ้าสายนี้กลับมาคึกคักอีกครั้ง 

โดยพบว่าผู้พัฒนารายใหญ่มีการลงทุนเปิดตัวโครงการใหม่คึกคัก ทั้งย่านรามอินทรา แจ้งวัฒนะ และมีนบุรี โดย สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566  มีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายตลอดแนวสายสีชมพูแล้ว 38,192 ยูนิต มูลค่า 68,700 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่แนวถนนติวานนท์ และแจ้งวัฒนะมากสุดคิดเป็น 49.28 % ของจำนวนทั้งหมด และมีอัตราการขายเฉลี่ยของทุกพื้นที่อยู่ที่ 73.50%

“ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมของราคาคอนโดมิเนียมแนวสายสีชมพู ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 100% หรือเฉลี่ยปีละกว่า 10% โดยช่วงก่อนหน้าการกระจุกตัวของโครงการคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่อยู่ถนนติวานนท์-แจ้งวัฒนะ และรามอินทราเป็นส่วนใหญ่ แต่หลังรถไฟฟ้ามีความคืบหน้าพบว่าย่านมีนบุรี ถนนรามคำแหง 209 มีผู้พัฒนารายใหญ่ เช่น ออริจิ้น, แอสเซทไวส์ เข้าไปพัฒนาโครงการใหม่และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี” นายภัทรชัยกล่าว

นายภัทรชัยกล่าวว่า ตลาดคอนโดมิเนียมสายสีชมพูคึกขึ้น เกิดจากคอนโดมิเนียมในกรุงเทพมหานครชั้นในเริ่มมีมากขึ้นและราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องมายังโครงการคอนโดมิเนียมที่มีการปรับราคาขายที่สูงขึ้นในทุกปี ทำให้ผู้ซื้อระดับกลาง-ล่างที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดเริ่มหาซื้อคอนโดมิเนียมได้ยากขึ้น ด้านผู้พัฒนาก็ยังต้องการจับกำลังซื้อกลุ่มระดับกลาง-ล่างเอาไว้ให้มากที่สุด จำเป็นต้องมองหาทำเลใหม่ที่ราคาที่ดินยังไม่สูง ยังสามารถพัฒนาโครงการเพื่อรองรับกำลังซื้อกลุ่มนี้ได้ แต่ยังจำกัดอยู่ในบริเวณมีศักยภาพ มีศูนย์การค้า ศูนย์ราชการ ชุมชนขนาดใหญ่ เช่น แยกติวานนท์ ถนนแจ้งวัฒนะ ถนนรามอินทรา

นายภัทรชัยกล่าวว่า ปัจจุบันราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 65,000 บาท/ตารางเมตร(ตร.ม.) มีคอนโดมิเนียมเปิดขายตั้งแต่ระดับราคา 45,000 - 90,000 บาท/ตร.ม. ขึ้นอยู่กับทำเล รูปแบบโครงการ โดยราคาขายปรับขึ้นมาจากเมื่อปี 2556 มากกว่า 100% หรือเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 10% และหากสายสีชมพูเปิดอย่างเป็นทางการคาดการณ์ว่าคอนโดมิเนียมใหม่ที่เปิดขายหลังจากนี้คงมีราคาเริ่มต้นที่ไม่ต่ำกว่า 70,000 บาท/ตร.ม.แน่นอน เพราะราคาที่ดินเริ่มปรับขึ้นไปแล้วเช่นกันในช่วง 1-2 ปีนี้ โดยเพิ่มขึ้นมากกว่า 15% หรือมากกว่านี้ในบางทำเล ซึ่งราคาขายที่ดินอยู่ในช่วง 80,000-300,000 บาท/ตารางวา อนาคตคาดว่าจะพุ่งขึ้นเป็นเท่าตัว จึงเป็นที่คาดการณ์ว่าคอนโดมิเนียมหรือบ้านจัดสรรใหม่ ๆ ต้องมีราคาแพงกว่าปัจจุบันแน่นอน

‘JKN’ ยื่นคำร้องขอ ‘ฟื้นฟูกิจการ’ ต่อศาลล้มละลายกลาง แก้ปัญหาสภาพคล่อง-สร้างผลกําไรให้มั่นคงยิ่งขึ้นในอนาคต

(9 พ.ย.66) นายจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ หรือ แอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) หรือ JKN รายงานจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติให้บริษัทในฐานะลูกหนี้ ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และเสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลางภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 โดยในวันที 8 พฤศจิกายน 2566 บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทแล้ว ระบุรายละเอียดในเอกสารเอาไว้ดังนี้

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 เรื่อง การยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางของ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) เรียน กรรมการและผู้จัดการ

บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) (“บริษัท”) ขอเรียนแจ้งให้ทราบว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 10/2566 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ได้มีมติอนุมัติให้ บริษัทในฐานะลูกหนี้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการ และเสนอ ผู้จัดทําแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 (รวมที่แก้ไขเพิ่มเติม) โดยในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 บริษัทได้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทเรียบร้อยแล้ว

ในการนี้ บริษัทขอเรียนชี้แจงสรุปสาระสําคัญของคําร้องฟื้นฟูกิจการ ดังนี้

1. บริษัทในฐานะลูกหนี้เป็นผู้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง
2. บริษัทเสนอ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) เป็นผู้ทําแผน
3. แนวทางของแผนฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้น ดังนี้

3.1 การปรับโครงสร้างกิจการ และโครงสร้างทางการเงินให้สอดคล้องกับสมมติฐานทางการเงิน และสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ตลอดจนแก้ไขปัญหาของกิจการในส่วนของเงินทุนหมุนเวียน เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท รวมถึงการปรับโครงสร้างภายในองค์กร

3.2 การขยายระยะเวลาการชําระหนี้ การผ่อนผันในเรื่องอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้บริษัทสามารถ สร้างรายรับจากการประกอบกิจการและนํามาจัดสรรชําระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้อย่างครบถ้วนและบริษัทยังคงดําเนินกิจการต่อไปได้

3.3 การได้รับเงินสนับสนุนทางด้านการเงินจากแหล่งเงินทุน โดยได้รับจากผู้ลงทุนรายใหม่ หรือ สถาบันการเงินเพื่อเป็นการหมุนเวียนในกิจการของบริษัท

3.4 การจัดหาแนวทางการดําเนินการขายทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือก่อให้เกิดรายได้ เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินดังกล่าวมาชําระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย
3.5 การจัดเตรียมแผนงาน และกลยุทธ์ในการบริหารสภาพคล่องของบริษัท และการปรับปรุง ระบบ โครงสร้างภายในองค์กร และการพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ

การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัทจะช่วยให้บริษัทแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของบริษัทได้อย่างมี ประสิทธิภาพ โดยมีกฎหมายรองรับ และให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม อีกทั้งบริษัทยังสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ในระหว่างที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพื่อการแก้ไขปัญหาของบริษัท และเพื่อสร้างผลกําไร จากการดําเนินกิจการต่อไปในอนาคตได้อย่างมั่นคง

บริษัทจะแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับความคืบหน้าใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการฟื้นฟูกิจการของบริษัทต่อไป จึงเรียนมาเพื่อทราบ

ขอแสดงความนับถือ นายจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ผู้มีอํานาจรายงานสารสนเทศ

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา แอน จักรพงษ์ ได้ทำการขายหุ้น JKN จำนวน 116 ล้านบาท โดยแจ้งกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. ว่า บริษัทมีรายการขายหุ้นและรับโอนหุ้นหลายรายการ ทั้งนี้รายการขายหุ้นนั้นมาจากบัญชี มาร์จิ้น ถูกฟอร์ซเซลล์หรือบังคับขาย เนื่องจากราคาหุ้นตกแรงกว่า 50% ในช่วงเวลาดังกล่าว จึงอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ JKN ต้องทำเอกสารยื่นร้องขอฟื้นฟูกิจการนั่นเอง

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 30 ต.ค. - 3 พ.ย. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 6 - 10 พ.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบชะลอตัว หลังนักลงทุนกังวลภาวะเศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯ

• ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงจากความกังวลเศรษฐกิจจีน ซึ่งล่าสุดสำนักสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Purchasing Managers’ Index: PMI) ในเดือน ต.ค. 66 ลดลง 0.7 จุด จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 49.5 จุด ทั้งนี้ ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด บ่งชี้ภาวะหดตัว

• กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานอัตราว่างงาน (Unemployment Rate) ในเดือน ต.ค. 66 เพิ่มขึ้น 0.1% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 3.9% สูงสุดตั้งแต่เดือน ม.ค. 65 และภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัว หลังสหภาพแรงงานยานยนต์ (United Auto Workers: UAW) ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 400,000 ราย มีการประท้วงหยุดงานจำนวน 46,000 ราย เพื่อขอขึ้นค่าจ้างและสวัสดิการ ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 66

• วันที่ 31 ต.ค. - 1 พ.ย. 66 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% และมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมในการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 12 - 13 ธ.ค. 66

• ให้ติดตามการอ่อนค่าของเงินสกุลดอลลาร์ ซึ่งล่าสุดดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ (USDX) เทียบกับเงินสกุลหลักโลก 6 สกุล อยู่ที่ 104.8 จุด ต่ำสุดตั้งแต่ 20 ก.ย. 66 โดย CEO ของบริษัทจัดการลงทุน DoubleLine Capital ในสหรัฐฯ นาย Jeffrey Gundlach คาดการณ์ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุน (Fund Flows) จากเงินสกุลดอลลาร์สู่สกุลเงินต่างประเทศอื่น ทั้งนี้ การอ่อนค่าของดอลลาร์จะผลักดันอุปสงค์ของประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน

• รมว. กระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบีย เจ้าชาย Abdulaziz bin Salman ประกาศซาอุดีอาระเบียจะคงมาตรการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบโดยสมัครใจปริมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนสิ้นสุดเดือน ธ.ค. 66 (เริ่มตั้งแต่ ก.ค. 66) แม้ว่าจะเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ซึ่งตลาดกังวลว่าจะกระทบต่ออุปสงค์น้ำมัน ทั้งนี้ ปัจจุบันซาอุดีอาระเบียผลิตน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน

'พิมพ์ภัทรา' หารือ 'กมธ.อุตสาหกรรม' กรุยทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยก!! 'เปลี่ยนยุค EV - เหมืองโปแตซ - ฮาลาลสากล' วาระใหญ่

(9 พ.ย.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร นำเสนอแผนการขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน การปรับภารกิจเข้าสู่ดิจิทัลอย่างเป็นระบบ (Digital Government) การบูรณาการการกำกับดูแลโดยใช้กลไกทางกฎหมาย และกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรม ตลอดจนแผนการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัด ในโอกาสที่คณะกรรมาธิการฯ เดินทางเข้าพบ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นสำหรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในชั้นกรรมาธิการต่อไป

โดยที่ประชุมได้หารือในประเด็นต่างๆ อาทิ การส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเดิมให้สามารถปรับไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพความพร้อม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และการนำเสนอแนวโน้มทิศทางอุตสาหกรรมโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่พร้อมปรับแผนการผลิต รวมทั้งการสนับสนุนแหล่งเงินทุนสำหรับการเปลี่ยนผ่านจากกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรม และการส่งเสริมการทำเหมืองโพแตซ ให้สามารถผลิตปุ๋ยได้เองภายในประเทศ ซึ่งช่วยลดรายจ่ายจากการนำเข้าปุ๋ยปีละกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนนี้คณะกรรมาธิการฯ ได้เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ ประกอบธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ และบริหารความสัมพันธ์ให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างเป็นสุข

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งมาตรการควบคุมดูแลกากอุตสาหกรรม พร้อมชื่นชมการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง โดยขอให้พิจารณาเกณฑ์การรับรองมาตรฐานให้เหมาะสม และมีความรวดเร็วเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ในการยกระดับหน่วยงานดำเนินการขึ้นเป็น กรมอุตสาหกรรมฮาลาล

"อย่างไรก็ดี กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมให้ความร่วมมือกับ คณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ในการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน รวมทั้งการรับฟังเสียงสะท้อนจากภาคประชาชนเพื่อยกระดับการขับเคลื่อนนโยบายอย่างเต็มศักยภาพ" นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวทิ้งท้าย

‘ดร.วิรไท’ แนะ 4 แกนหลัก พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ชี้!! ปรับปรุงโครงสร้าง-แก้กม.ให้สอดรับโลกยุคใหม่คือคำตอบ

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 66 ภาพรวมเศรษฐกิจไทย มีพัฒนาการที่ดีและสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นช้าลง สะท้อนได้จากตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในช่วง 20 ปีย้อนหลัง พบว่าช่วงปี 2543-2552 จีดีพีขยายตัวเฉลี่ยที่ 4.3% ขณะที่ช่วงปี 2553-2562 จีดีพีขยายตัวชะลอลงมาเฉลี่ยที่ 3.6%

วิกฤตโควิด-19 กระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกเช่นเดียวกับเศรษฐกิจไทย ในปี 2563 จีดีพีหดตัว 6.1% อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้ต่อ จีดีพีขยายตัวที่ 1.5% และ 2.6% ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ สำหรับปี 2566 คาดการณ์จีดีพี โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดขยายตัว 2.8% ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดขยายตัว 2.8% ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดขยายตัว 2.7% ขณะที่ธนาคารโลก คาดขยายตัว 3.4% จะเห็นได้ว่าจีดีพีไทยเติบโตช้าลง ซึ่งเหตุผลไม่ใช่เพียงภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวเท่านั้น แต่ไทยยังเผชิญปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด

โดย ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า การจะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ในระดับที่ดีต่อเนื่องและโตได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เท่าทันกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปและเท่าทันกับความท้าทายใหม่

แก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจซึ่งทำผ่าน 4 แกนหลัก เรื่องสำคัญที่สุด คือ
1.) การเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ทั้งเรื่องคุณภาพการศึกษาเพื่อให้คนไทยเก่งขึ้น สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ทั้งนี้ต้องเพิ่มผลิตภาพในภาคเกษตร พัฒนาพันธุ์พืชใหม่และเพิ่มผลผลิตต่อไป ด้านภาคบริการ สามารถเพิ่มผลิตภาพโดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ภาคบริการในอนาคตต้องตั้งอยู่บนฐานเทคโนโลยี และควรเพิ่มผลิตภาพในด้านบริการภาครัฐ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจได้

2.) การกระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึง (Inclusivity) ซึ่งจะสะท้อนถึงการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของไทย ที่ผ่านมาภาครัฐพยายามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ เช่น การเก็บภาษีทรัพย์สินรูปแบบใหม่ ๆ การทำระบบสวัสดิการที่จะดูแลประชาชนที่อยู่ระดับฐานล่างของสังคม และปัจจุบันต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ทั้งโอกาสการในการเข้าถึงการศึกษาที่ดีและโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งจะจำเป็นมากสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต

3.) การสร้างภูมิคุ้มกัน (Immunity) เศรษฐกิจไทยสามารถรับแรงปะทะและความผันผวนได้ค่อนข้างดี เช่น วิกฤตโควิด เราสามารถทำมาตรการต่าง ๆ ออกมารองรับได้ เพราะภาคการคลัง หนี้สาธารณะของไทยไม่ได้สูงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศที่อยู่ในระดับการพัฒนาใกล้เคียง แต่ยังมีความท้าทายจากการที่เราเป็นสังคมสูงอายุ รายจ่ายด้านสวัสดิการจะทำให้ภาครัฐมีภาระการคลังมากขึ้นในอนาคต ส่วนภาคการเงิน เสถียรภาพด้านต่างประเทศค่อนข้างดี ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ด้านหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง น่าเป็นห่วงต้องเร่งแก้เพื่อให้คนสามารถออกจากกับดักหนี้ได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น เราควรสร้างและรักษาภูมิคุ้มกันในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประเทศลงไปถึงระดับครัวเรือน

เพราะความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตยังมีอีกมาก ถ้าเราทำนโยบายอะไรก็ตามที่ทำลายภูมิคุ้มกันของตัวเอง เราจะไม่สามารถรับแรงปะทะที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้และจะถูกกระแทกแรงมาก

4.) ความสามารถในการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลง (Adaptability) เพราะโลกในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงเร็ว ซึ่งจะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ทั้งพัฒนาการของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่อาจจะได้รับผลกระทบรุนแรง เพราะว่าประชาชนจำนวนมากอยู่ในภาคเกษตรและพึ่งดินฟ้าอากาศ การเปลี่ยนแปลงและความแปรปรวนจะส่งผลต่อระบบชลประทาน การขาดแคลนน้ำสะอาด มีปัญหาน้ำกร่อย น้ำเค็ม เป็นต้น ต้องปรับตัวรองรับให้ทัน เพราะเรื่องนี้กระทบกับวิถีชีวิตของพวกเราทุกคนและกระทบกับวิธีการทำธุรกิจของทุกธุรกิจ

ดร.วิรไท กล่าวว่า การจะทำเรื่องทั้ง 4 แกนหลัก แก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ ต้องใช้เวลาและใช้ทรัพยากรจำนวนมาก เป็นเรื่องที่ไม่มี Quick Win ไม่ใช่เรื่องที่จะหวังผลในระยะสั้น ๆ ได้ ดังนั้น เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ต้องปฏิรูปโครงสร้างภาครัฐที่มีลักษณะเป็นไซโล ให้สามารถทำงานสอดประสานกันได้ รวมถึงเร่งปรับปรุงและแก้กฎหมาย (Regulatory Guillotine) โดยเฉพาะกฎหมายที่ไม่เอื้อกับโลกอนาคต การแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจต้องทำให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เพราะแต่ละกลุ่มก็จะมีปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป และต้องมีการจัดระบบแรงจูงใจให้ถูกต้อง และระมัดระวังการทำนโยบายแบบเหวี่ยงแห ที่มักจะทำให้เกิดแรงจูงใจที่ผิด ตัวอย่าง คือ นโยบายจำนำข้าว ที่ทำให้เกิดแรงจูงใจว่าคนต้องมาเร่งผลิตข้าวให้เร็วที่สุด เน้นเรื่องปริมาณแทนการเน้นผลิตภาพ เป็นการทำลายพันธุ์ข้าวดี ส่งผลต่อการยกระดับผลิตภาพในระยะยาวได้

“เศรษฐกิจไทยปัจจุบันเปรียบเหมือน ภูเขาน้ำแข็ง หรือ ‘Iceberg’ เราจะมองเห็นและให้ความสำคัญเฉพาะภูเขาน้ำแข็งที่ลอยอยู่เหนือน้ำหรือในด้านของ อัตราการเติบโตเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือสิ่งที่อยู่ใต้น้ำ สิ่งที่มองไม่เห็นซึ่งอาจจะทำให้เกิดภัยพิบัติขึ้นได้ นั่นก็คือเรื่องของโครงสร้างเศรษฐกิจ มองว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในสภาวะวิกฤต แต่อาจจะอยู่ในสภาวะที่เทคออฟได้ช้ากว่าเศรษฐกิจอื่น เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถก้าวต่อไปได้อย่างเข้มแข็งหากเราสามารถตั้งเข็มทิศได้ถูกต้อง ผมจึงให้น้ำหนักเรื่องระยะยาวเพราะความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของเราไม่รุนแรง

เหมือนกับความจำเป็นในการที่ต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อสร้างบุญใหม่ให้กับเศรษฐกิจ ถ้าเรายังคงอยู่กับโครงสร้างแบบเดิม ทำแบบเดิม ไม่สามารถที่จะปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ก็หนีไม่พ้นที่จะกินบุญเก่า ซึ่งบุญเก่าก็จะหมดลงเรื่อย ๆ” ดร.วิรไท กล่าว

เศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก หากเราสามารถเพิ่มผลิตภาพโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ปัจจุบันพัฒนาไปไกลมากและสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และใช้เทคโนโลยีสนับสนุนให้การทำธุรกิจสะดวกมากขึ้น ต้นทุนถูกลง สามารถแข่งขันได้ เอื้อกับการทำธุรกิจที่มีผลิตภาพสูง เชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการธุรกิจอีกจำนวนมากที่จะเข้ามาลงทุนต่อยอดกับสิ่งที่เรามี เช่น ภาคเกษตร ภาคการท่องเที่ยว บริการทางการแพทย์ เศรษฐกิจที่อิงกับความคิดสร้างสรรค์ที่เป็น ซอฟต์พาวเวอร์ไทย ตลอดจนธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับความยั่งยืนซึ่งเป็นเทรนด์ของโลก

นอกจากการให้ความสำคัญเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจแล้ว โจทย์ใหญ่อีกเรื่องที่ต้องเร่งแก้ปัญหาคือ เรื่องคอร์รัปชัน เพราะคอร์รัปชันเป็นตัวทำลายผลิตภาพ ทำลายการแข่งขันที่เป็นธรรม

การแข่งขันจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครเก่งกว่าใคร แต่การแข่งขันจะขึ้นอยู่กับว่าใครรู้จักใคร ใครยินดีที่จะจ่ายใต้โต๊ะมากกว่า ใครมีช่องทางในการเข้าถึงอำนาจรัฐและใช้อำนาจรัฐได้มากกว่า

ทั้งนี้ คอร์รัปชันทำให้ต้นทุนของทุกคนสูงขึ้น ต้นทุนการใช้ชีวิต ต้นทุนการทำธุรกิจ และยังเป็นปัจจัยทำลายความไว้วางใจ เวลาที่เราพูดถึงเศรษฐกิจไทย สังคมไทย ที่จะต้องปรับโครงสร้างให้เท่าทันกับโลกใหม่ ๆ ในอนาคต แปลว่า เราจะต้องมีความไว้วางใจกันในการที่จะเริ่มทำเรื่องใหม่ ๆ แต่หากเราอยู่ในสังคมที่มีคอร์รัปชันเป็นบรรทัดฐาน การเริ่มทำเรื่องใหม่จะทำได้ช้ามาก เพราะเกิดการตั้งข้อสังเกตว่าใครหวังอะไร ใครกำลังจะได้อะไร ใครจ่ายใต้โต๊ะ นโยบายที่กำลังจะทำเอื้อต่อใคร ซึ่งการจะเริ่มทำเรื่องใหม่ในประเทศไทยทำได้ช้า ขณะที่ประเทศอื่นสามารถที่จะก้าวไปได้เร็วกว่าเรา

ดังนั้น หากสถานการณ์คอร์รัปชันของเรายังไม่ดีขึ้น จะเป็นความเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจไทยเข้าสู่หลุมดำได้

‘ภูมิธรรม-นลินี’ เยือนนครเซี่ยงไฮ้ เดินหน้าหนุนเจาะการค้าจีนระดับท้องถิ่น จ่อคว้าโอกาสประชุม JC ‘ไทย-จีน’ ขยายตลาดใหม่-ส่งออกสินค้าไทยเพิ่ม

(8 พ.ย. 66) นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย กล่าวถึงการเดินทางไปเยือนนครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างวันที่ 4 - 6 พ.ย. 66 ว่า การได้พบกับนายหวัง เหวินเต้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของจีน เป็นโอกาสอันดีที่ได้กระชับความสัมพันธ์ทางด้านการค้าของทั้งสองประเทศ โดยในปีนี้จีนได้จัดงาน ‘China International Import Expo’ (CIIE) ครั้งที่ 6 ขึ้น ตามนโยบายการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจของจีนที่ให้ประเทศต่าง ๆ มีส่วนร่วม ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมงานใน 2 ส่วน คือ การจัดนิทรรศการ ‘Country Exhibition Thailand Pavilion’ ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ประเทศไทย และการจัดแสดงสินค้า ‘Enterprise and Business Exhibition’ เน้นนำเสนอผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตรของไทย ซึ่งมีผู้เข้าชมเป็นจำนวนมาก

ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง และทั้งสองฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เสร็จสิ้นแล้วจึงเป็นโอกาสอันดี ที่จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้าการลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (JC) ไทย - จีน ครั้งที่ 7 ในระยะอันใกล้นี้ เพื่อสานต่อเป้าหมายทางการค้าและจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมฉบับใหม่ การเปิดตลาดสินค้าเกษตร การอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างไทยและจีน เพื่อส่งเสริมการขยายมูลค่าการค้ากันระหว่างกัน

“ที่ผ่านมาไทยและจีนมีความร่วมมือทางการค้าลงไปถึงในระดับมณฑล/ท้องถิ่น โดยกระทรวงพาณิชย์ของไทยได้จัดทำบันทึกความเข้าใจกับเมืองหรือมณฑลของจีนแล้ว 4 ฉบับ คือ ไห่หนาน กานซู่ เซินเจิ้น และยูนนาน โดยในอนาคตจะทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางการค้ากับเมืองหรือมณฑลอื่นเพิ่มเติม เช่น เซี่ยเหมิน ซานซี เฮร์หลงเจียง และเหอเป่ย

ทั้งนี้ จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกันกับไทยสูงที่สุดติดต่อกันถึง 11 ปี ตั้งแต่ปี 2556 โดยปีที่แล้วมีมูลค่าการค้ารวม 105,196.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกหลักของไทยไปจีน ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก มันสำปะหลัง เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ส่วนประกอบ เป็นต้น” นางนลินี กล่าว

‘เอสซีจี’ ขยายผลความร่วมมือเพื่อความยั่งยืนในอาเซียน จัด ESG Symposium 2023 ที่อินโดนีเซียเป็นครั้งแรก

(8 พ.ย. 66) เอสซีจีจัดงาน ESG Symposium 2023 ที่ประเทศอินโดนีเซียเป็นครั้งแรก เป็นการต่อยอดความร่วมมือด้านความยั่งยืนสู่ภูมิภาค จากเวที ESG Symposium ในประเทศไทย โดยงาน ESG Symposium 2023 Indonesia จัดภายใต้แนวคิด ‘ความร่วมมือเพื่ออินโดนีเซียที่ยั่งยืน’ (Collaboration for Sustainable Indonesia)

เพื่อส่งเสริมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เร่งการบรรลุเป้าหมายการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ลดความเหลื่อมล้ำ ตามกลยุทธ์ ESG 4 Plus และมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2060 ตามเป้าหมาย Nationally Determined Contributions (NDC) ของอินโดนีเซีย

ทั้งนี้งานดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม และคนรุ่นใหม่กว่า 500 คน รวมพลังนำอินโดนีเซียสู่ความยั่งยืน ผ่านการแสดงวิสัยทัศน์ นโยบาย และนวัตกรรมเทคโนโลยี อาทิ โครงการด้านพลังงานสะอาด เชื้อเพลิงทดแทนจากขยะมูลฝอย โซลูชันพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ นวัตกรรมระบบบำบัดน้ำเสีย และแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการจัดการป่าไม้และการวัดปริมาณคาร์บอนเครดิต เป็นต้น

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากวิกฤตการณ์โลก เนื่องจากมีประชากรจำนวนมากและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันอินโดนีเซียกำลังเผชิญกับปัญหาระดับชาติ เช่น มลพิษทางอากาศ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น การจัดการขยะ และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

“ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ รวมถึงภาคอุตสาหกรรมที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว การดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนจึงเป็นภารกิจที่จำเป็นต้องทำไม่ใช่ทางเลือก อินโดนีเซียมีเป้าหมาย NDC การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2060 องค์กรธุรกิจจึงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว”

‘สุริยะ’ สั่ง!! ‘ทอท.’ เร่งลดความแออัดภายในสนามบิน พร้อมรับนักท่องเที่ยว ‘อินเดีย-ไต้หวัน’ 10 พ.ย.นี้

(8 พ.ย.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมรองรับผู้โดยสารชาวอินเดียและไต้หวันตามนโยบายฟรีวีซ่าของรัฐบาลนั้น ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติในหลักการฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวชาวอินเดียและไต้หวันให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยได้ไม่เกิน 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 - 10 พฤษภาคม 2567 ระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยวของชาวอินเดียและไต้หวัน เพื่ออำนวยความสะดวก และสร้างแรงจูงใจให้กับนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น รวมถึงกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศในช่วงปี 2566-2567

“ตนได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือในการเตรียมการรองรับนักท่องเที่ยวให้ดีที่สุด ตั้งแต่เดินทางเข้าสู่ประเทศตลอดจนถึงการเดินทางกลับออกจากประเทศไทย เบื้องต้นได้สั่งการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ รวมถึงหาแนวทางการดำเนินการ เพื่ออำนวยความสะดวกรองรับการเดินทางของผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอื่น ๆ พร้อมทั้งให้ประสานงานกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพื่อให้กระบวนการทุกขั้นตอนมีความสะดวกรวดเร็ว ไม่ให้ผู้โดยสารเกิดความแออัด หรือใช้เวลานานหลังจากลงจากเครื่องบิน”

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการร่วม (Single Command Center) เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานร่วมของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการในทุกขั้นตอนในท่าอากาศยาน ทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามการให้บริการ และกวดขันการบริหารการจราจรบริเวณหน้าท่าไม่ให้เกิดความแออัดหนาแน่น และเก็บบันทึกข้อมูลการให้บริการ ภาพถ่ายกล้องวงจรปิด เพื่อนำมาวิเคราะห์ประกอบการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมการในด้านต่าง ๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกสบายตลอดการเดินทางในประเทศไทย ประกอบด้วย การเตรียมความพร้อมท่าอากาศยานในภูมิภาค การเตรียมความพร้อมการเดินทางภายในกรุงเทพมหานคร (กทม.) การเตรียมความพร้อมการเดินทางไปต่างจังหวัดทางรถไฟและรถโดยสาร การเตรียมความพร้อมการเดินทางในต่างจังหวัด

ส่วนการเตรียมความพร้อมสำหรับความปลอดภัยในการท่องเที่ยวทางน้ำอีกทั้งให้ทุกหน่วยงานถือปฏิบัติตามหลักการเดียวกัน คือ การให้บริการที่มีประสิทธิภาพ สะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย สะอาดสวยงาม พนักงานให้บริการด้วยมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และมีอัตราค่าบริการที่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าบริหารจัดการทุกขั้นตอนการบริการที่เป็นประตูสู่ประเทศไทย พร้อมรองรับปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประตูและเป็นศูนย์กลางการเดินทางของภูมิภาค กระตุ้นการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และความมั่นคงของประเทศ

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทยนั้น จากข้อมูลกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬาข้อมูล กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 พบว่า ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2566 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวนทั้งสิ้น 557,554 คน คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเฉลี่ยวันละ 79,651 คน

โดยนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยมากที่สุด จำนวน 73,297 คน รองลงมา ได้แก่ จีน จำนวน 67,443 คน, รัสเซีย จำนวน 39,136 คน, อินเดีย จำนวน 30,547 คน และเกาหลีใต้ จำนวน 30,255 คน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้น 22,622,522 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว 954,239 ล้านบาท


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top