'บางจาก' แทงสวน!! กระแสพลังงานยุคใหม่ เลี่ยมทอง 'ปิโตรเลียม-SAF' แง้ม!! เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน พาอนาคต 'รายได้-กำไร' พุ่ง

ในช่วงบ่ายของวันที่ (2 ก.ย. 67) ที่ผ่านมา กลุ่มบางจากได้จัดแถลงกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทบางจาก 'Bangchak Group Way Forward to 2030' นำโดย นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้นำแต่ละกลุ่มธุรกิจของเครือบางจาก 

หลักใหญ่ใจความของการแถลงหนนี้ มุ่งเน้นไปที่เป้าหมายในปี 2573 ของกลุ่มบางจากที่ตั้งเป้าจะต้องมีตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่แท้จริงของธุรกิจ ซึ่งไม่รวมค่าดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในระดับทะลุ 1 แสนล้านบาทให้ได้ (เป้ารายได้รวมทะลุ 1 ล้านล้านบาท)

แผนการสู่เป้าหมายระดับนี้จะต้องทำอย่างไร ?

>> การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
หากพิจารณาจากแผนการลงทุนระหว่างปี 2568-2573 ที่ปักไว้ที่ 1.2 แสนล้านบาท จะเป็นเม็ดเงินเพื่อขยายการลงทุนในทุก ๆ กลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ โดยงบลงทุนจะมาจากกระแสเงินสดในบริษัทบวกกับการกู้เงินเข้ามาเสริมศักยภาพ

เรื่องนี้น่าสนใจ เพราะในขณะที่บริษัทพลังงานอื่น ๆ เริ่มวางแผนการลงทุนสเตปต่อไป ด้วยการ 'ลด' การพึ่งพาของทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะ 'น้ำมัน' แต่ 'บางจาก' กลับสวนกระแสผ่านความเชื่อที่ว่า..

“ทรัพยากรธรรมชาติ ยังคงมีความจำเป็นต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ จะต้องมีการพัฒนาผ่านการเพิ่มศักยภาพของทรัพยากรเดิม ให้สะอาดขึ้น ควบคู่กับประสิทธิภาพที่สูงขึ้น"

เมื่อปักธงเช่นนี้ บางจาก จึงเลือกขยายการลงทุนในธุรกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ E&P (Exploration and Production) โดยปัจจุบัน OKEA ผู้ผลิตปิโตรเลียมในนอร์เวย์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบางจาก สร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ ถึง 2.8 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ยังเตรียมขยายการลงทุนในแหล่งปิโตรเลียมแห่งอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยอาศัยจุดแข็งผ่านการนำองค์ความรู้จาก OKEA มาต่อยอดความสำเร็จ โดยเฉพาะการยืดอายุแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นความเชี่ยวชาญหลัก เพื่อการ 'แก้มือ' จากที่เคยลงทุนล้มเหลวกับแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในประเทศอินโดนีเซียมาก่อน 

ทั้งนี้กลุ่มบางจากตั้งเป้ากับแผนการในกลุ่มธุรกิจ E&P โดยจะต้องสร้างกำลังการผลิตปิโตรเลียมทั้งจาก OKEA และกลุ่มบริษัทที่จะไปลงทุนในภูมิภาคอาเซียนนี้ให้ได้ไม่น้อยกว่า 100,000 บาร์เรลต่อวัน 

>> เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน 
อีกหนึ่งธุรกิจบางจากปักธง คือ การผลิต SAF (Sustainable Aviation Fuel) หรือ 'เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน' เพราะมองว่าในอนาคตข้างหน้า ธุรกิจการบินจะยังมีความต้องการใช้พลังงานน้ำมันอย่างต่อเนื่องต่อไป 

"ขนาดการพกพาวเวอร์แบงก์ขึ้นเครื่องบิน ยังเป็นเรื่องต้องห้าม ดังนั้นเครื่องบินที่ใช้พลังงานแบตเตอรี ก็น่าจะยังต้องใช้เวลาเดินทางอีกยาวไกล" คุณชัยวัฒน์ เปรียบเทียบให้เข้าใจ

คุณชัยวัฒน์ เผยอีกว่า ในอนาคต SAF จะมีความจำเป็นต่ออุตสาหกรรมการบิน เนื่องจากมีคุณสมบัติที่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 80% เมื่อเทียบกับน้ำมันอากาศยานทั่วไป สอดคล้องกับเทรนด์โลก ที่ปัจจุบันสหภาพยุโรป (EU) กำหนดให้เครื่องบินที่จะบินเข้าไปในพื้นที่จะต้องมีการผสม SAF เข้าไปในเชื้อเพลิงไม่น้อยกว่า 2% และในปี 2,593 ทาง EU กำหนดให้ต้องมีส่วนผสมของ SAF ไม่น้อยกว่า 65%

"ปัจจุบันบางจากได้มีการลงทุนสร้างหน่วยผลิตน้ำมันอากาศยานยั่งยืน (SAF) ในพื้นที่ 8.9 ไร่ ภายในพื้นที่โรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง ภายใต้งบลงทุน 8.5 พันล้านบาท มีกำลังการผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน" คุณชัยวัฒน์ เสริม

ด้านนายธรรมรัตน์ ประยูรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบางจาก กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน ให้ข้อมูลถึงความได้เปรียบของบริษัทฯ จากการที่มีโรงกลั่นน้ำมันหลักเป็นของตนเอง จะทำต้นทุนการผลิต SAF ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยได้ถึง 3 เท่า 

โดยเบื้องต้นคาดว่า หน่วยการผลิตดังกล่าวจะแล้วเสร็จในวันที่ 31 มีนาคม 2568 ซึ่งได้มีการเจรจาซื้อขายไปแล้วประมาณ 30-40% ของกำลังการผลิต 

"ปัจจุบันทางกลุ่มบางจากอยู่ระหว่างการรวบรวมน้ำมันใช้แล้ว เพื่อเป็นสต๊อกในการผลิต SAF โดยสามารถรวบรวมได้ประมาณวันละ 5 แสนลิตรจากอัตราการใช้น้ำมันพืชของไทยที่มีการใช้วันละ 3 ล้านลิตร" คุณชัยวัฒน์เสริม พร้อมทั้งยังเปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า "ในอนาคตจะต้องมีการจัดหาวัตถุดิบอย่างน้ำมันใช้แล้วในประเทศข้างเคียงด้วย"

บางจาก เผยอีกว่า สำหรับภาพรวมในไตรมาสแรกของปี 2567 โดยกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน รายงานว่ามีปริมาณการใช้น้ำมันอากาศยานอยู่ที่เฉลี่ย 16.7 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งยังไม่กลับเข้าสู่ปริมาณการใช้งานปกติแบบช่วงก่อนโควิดที่มีการใช้น้ำมันอากาศยานในไทยเฉลี่ย 20 ล้านลิตรต่อวัน และทาง บางจาก คาดว่า SAF ที่ผลิตได้จะเข้าไปเสริมในช่องว่างของปริมาณการใช้น้ำมันอากาศยานดังกล่าว 

สำหรับกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ นอกจาก E&P และ SAF ก็ยังมีอุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่บางจากมีการลงทุนผ่าน บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG ซึ่งมีการลงทุนโรงไฟฟ้าใน 7 ประเทศ มีกำลังการผลิต 1,183.2 MW และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 776.2 MW

โดยในกลุ่มธุรกิจส่วนนี้ บางจากได้มีการปรับกลยุทธ์ เพื่อดำเนินการพัฒนาโครงการให้แล้วเสร็จ จากนั้นจะนำระดมทุนสู่ตลาด เพื่อนำกระแสเงินสดมาลงทุนเพิ่มในพื้นที่อื่น ๆ อีก โดย BCPG ตั้งเป้าว่าจะเข้าสู่ SET50 ในปี 2573 

นอกจากในกลุ่มอุตสาหกรรมดั้งเดิมของบางจากแล้ว อีกหนึ่งธุรกิจของบางจากที่มีความน่าสนใจ คือ ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง (Contract Development and Manufacturing Organization - CDMO) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานแห่งแรกของภูมิภาคอาเซียน โดยคาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องผลิตได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 

โดยในช่วงแรกธุรกิจนี้ จะมีกำลังการผลิต 200,000 ลิตรต่อปี ซึ่งระยะแรกจะผลิตเอนไซม์ และขยายการผลิตไปยังผลิตภัณฑ์ด้านชีววิทยาสังเคราะห์ (Synbio) ที่ล้ำสมัยอื่น ๆ ต่อไป โดยมีการตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตเป็น 1 ล้านลิตรต่อปีในปี 2571


เรื่อง: แทน ธนวัฒน์ บุญรวม