Wednesday, 8 May 2024
ECONBIZ

‘ปตท.’ ได้รับการประเมินการกำกับดูแลกิจการ ระดับดีเลิศ 15 ปีซ้อน สะท้อนการพัฒนามาตรฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างต่อเนื่อง

เมื่อไม่นานมานี้ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า ปตท. ได้รับการประเมินการกำกับดูแลกิจการในระดับ ดีเลิศ (Excellent CG Scoring) หรือ 5 ตราสัญลักษณ์ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 และติดหนึ่งใน Top Quartile ของบริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่าทางการตลาดไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ในโครงการสำรวจการกำกับการดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies: CGR) ประจำปี 2566 จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) โดยการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) 

ทั้งนี้ ปตท. ได้ผ่านหลักเกณฑ์ที่สำคัญด้านการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน รวมถึงครอบคลุมทั้งในด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) สะท้อนการพัฒนามาตรฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศสู่การยอมรับในระดับสากล

'พิมพ์ภัทรา' ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าศูนย์ทดสอบฯ มั่นใจ!! ไทยขึ้นแท่นฮับอาเซียน ด้าน 'ยานยนต์-ชิ้นส่วน'

(16 พ.ย.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (Automotive and Tyre Testing, Research and Innovation Center - ATTRIC) จังหวัดฉะเชิงเทรา ว่า รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อของไทย ไปสู่การเป็นซุปเปอร์คลัสเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นเป้าหมายของการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก สามารถดึงดูดนักวิจัย และนักลงทุนจากทั่วโลกสู่ประเทศไทย ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ 

แต่เมื่อมีการเปลี่ยนสมัยมาเป็นรัฐบาลของท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ก็ยังคงมีการสานต่อ พัฒนา และต่อยอด นโยบายได้เป็นอย่างดี โดยท่านนายกเศรษฐาก็ได้มีการกล่าวถึงการพัฒนาศูนย์สอบฯ แห่งนี้ เพื่อตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนยางรถยนต์ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความเชื่อมั่นในความสำเร็จของประเทศไทยที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ของอาเซียน ขณะนี้ศูนย์ทดสอบอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง และจะพร้อมเปิดให้บริการครบวงจรได้ในปี 2569 เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานโลกแห่งแรกในอาเซียน รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการทดสอบด้านมาตรฐานยานยนต์อันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับที่ 11 ของโลก สร้างรายได้เข้าประเทศไม่น้อยกว่าปีละ 1,000 ล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น 

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานหลักในการก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ภายในกรอบวงเงิน 3,705.7 ล้านบาท บนพื้นที่ 1,234.98 ไร่ ณ ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการแล้วเสร็จ คิดเป็นร้อยละ 55 ของวงเงินงบประมาณ โดยดำเนินการก่อสร้างสนามทดสอบแล้วเสร็จจำนวน 5 สนาม ได้แก่ 1) สนามทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 และทางวิ่ง 2) สนามทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน จำนวน 4 สนาม ได้แก่ สนามทดสอบระบบเบรกมือ / สนามทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง / สนามทดสอบระบบเบรก และสนามทดสอบพลวัต

ยังเหลือการก่อสร้างอีก 1 สนาม คือ สนามทดสอบความเร็วและสมรรถนะ และการป้องกันดินสไลด์ สู่สนามทดสอบยางล้อ รวมทั้งก่อสร้างทางวิ่งส่วนต่อขยายจากสนามทดสอบยางล้อเพื่อการทดสอบตามมาตรฐาน UN R117 และสถานีสำหรับเตรียมสภาพรถ ตลอดจนจัดซื้อชุดเครื่องมือทดสอบการป้องกันผู้โดยสาร เมื่อเกิดการชนด้านหน้าและด้านข้างของยานยนต์ ทั้งหมดนี้จะดำเนินการในช่วงปีงบประมาณ 2566 - 2568 ซึ่งคาดว่าศูนย์แห่งนี้จะสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมให้บริการอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2569

ด้าน นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการกำหนดมาตรฐานเพื่อรองรับการดำเนินงานศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้กำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบยางล้อ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์แล้ว จำนวน 18 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานรถยนต์ไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า สถานีชาร์จรถไฟฟ้า ยางล้อรถมอเตอร์ไซค์ ยางล้อรถยนต์ ยางล้อรถบรรทุก เข็มขัดนิรภัย และกระจกนิรภัย เป็นต้น ภายหลังการดำเนินการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ แล้วเสร็จสมบูรณ์ คาดว่าจะมีรายได้ ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท/ปี ลดระยะเวลาและช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายในการส่งผลิตภัณฑ์ ไปทดสอบที่ต่างประเทศ 30 - 50% สร้างเม็ดเงินสะพัดในพื้นที่ได้ไม่ต่ำกว่า 148 ล้านบาทต่อปี เพิ่มปริมาณการผลิตและการแปรรูปยางพารา รวมทั้งลดต้นทุนการผลิตยางล้อ ไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาทต่อปี รองรับ MRA ของอาเซียนด้านยานยนต์และยางล้อ ตลอดจนยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนและยางล้อ ให้เป็น Super Cluster สู่อุตสาหกรรม 4.0 ดึงดูดการลงทุนในพื้นที่เพิ่มขึ้น เกิดการจ้างงานในชุมชน ประชาชนในพื้นที่ มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็น Landmark แห่งใหม่ของจังหวัดฉะเชิงเทรา สร้างภาพลักษณ์ที่ดี และเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติอีกด้วย นายวันชัยฯ กล่าว

‘นายกฯ เศรษฐา’ ลั่น ‘การเมืองไทย’ มีเสถียรภาพ พร้อมต้อนรับนักลงทุนทั่วโลก เข้ามาลงทุนในไทย

(16 พ.ย. 66) (เวลา 13.30 น. วันที่ 15 พ.ย. 66 ตามเวลาท้องถิ่น นครซานฟรานซิสโก ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 15 ชั่วโมง) ณ Summit Hall ศูนย์การประชุม Moscone Center (West) นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปค (APEC CEO Summit 2023) เน้นย้ำว่า ขณะนี้ถึงเวลาที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว และไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรทุกรายจากทั่วโลก เพื่อพบปะและพูดคุยกับผู้นำธุรกิจ APEC ที่โดดเด่นจากทั่วภูมิภาค ซึ่งถือเป็นผู้ขับเคลื่อนที่สำคัญทางเศรษฐกิจ และด้วยบรรยากาศทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ รัฐบาลกำลังผลักดันอย่างเต็มที่ผ่านนโยบายทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่จะมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง โดยให้ความสำคัญกับการขยายการเติบโต กระตุ้นความสามารถในการแข่งขัน และ ยกระดับตำแหน่งของประเทศในฐานะจุดหมายปลายทางที่โดดเด่นสำหรับการค้าและการลงทุน การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและดึงดูดการลงทุน ส่งเสริมนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย

ทั้งนี้ ประเทศไทย โดยรัฐบาลกำลังวางแผนที่จะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อดำเนินโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) ซึ่งสิ่งนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของเราเท่านั้น แต่ยังจะยกระดับการรับรู้และทักษะด้านดิจิทัลอีกด้วย โดยในระยะยาว รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลดิจิทัล ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของบริการสาธารณะของประเทศ รวมทั้งพร้อมจะต้อนรับการลงทุนและแรงงานที่มีทักษะเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัล

นอกจากนี้ ไทยจะเร่งเดินหน้าเขตการค้าเสรีเอเชีย - แปซิฟิก (FTAAP) ยังคงเป็นปณิธานที่สำคัญ และจะทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย รวมทั้งการเร่งสถาปัตยกรรมการค้าทวิภาคีและภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อสร้างพันธมิตรใหม่ และไทยจะยกระดับ FTA เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อเสริมสร้างการเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจร่วมกัน ขณะเดียวกันได้เปิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนใหม่ ๆ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาสะพานข้ามทะเลเพื่อเชื่อมต่อทะเลอันดามันกับอ่าวไทย (Landbridge) ซึ่งจะช่วยลดเวลาการเดินทางระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคภายในทศวรรษนี้

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพบปะกับคู่ค้าทางธุรกิจระหว่างการเยือนต่างประเทศ ซึ่งจะนำทีมผู้นำธุรกิจจากประเทศไทยเพื่อสร้างเครือข่ายและการจับคู่ธุรกิจเพิ่มเติมที่นครซานฟรานซิสโก พร้อมมีความยินดีที่จะทำงานร่วมกันและสร้างความก้าวหน้าที่มีความหมายต่อไปสำหรับผู้คนในปัจจุบันและรุ่นต่อ ๆ ไป โดยเน้นย้ำว่า ‘ถึงเวลาแล้วที่จะลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น’ ซึ่งไทยพร้อมก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วและจะขยายความร่วมมือร่วมกันต่อไป

‘โฆษกรัฐบาล’ เผย ‘ไทย’ ติดอันดับ 43 นวัตกรรมโลกปี 66 ตั้งเป้า!! เดินหน้าสู่การเป็น ‘ชาตินวัตกรรม’ ในอนาคต

(16 พ.ย.66) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก ประจำปี 2566 (Global Innovation Index 2023) ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) ซึ่งไทยได้รับการจัดอันดับที่ 43 จากทั้งหมด 132 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ และถือเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมกำหนดนโยบายส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรม ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น ‘ชาตินวัตกรรม’

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ดัชนีนวัตกรรมโลกเป็นการจัดอันดับความสามารถทางนวัตกรรมของประเทศและเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั่วโลก ผ่านการประเมินตัวชี้วัดทั้งสิ้น 80 ตัว เน้นย้ำถึงบทบาทที่สำคัญของนวัตกรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาคและโลก ซึ่งในปีนี้ แม้ไทยยังคงอันดับที่ 43 เท่ากับปีที่แล้ว แต่มีปัจจัยย่อยที่ดีขึ้น ได้แก่ ปัจจัยย่อยการนำเข้าทางนวัตกรรม (Innovation input sub-index) อยู่ในอันดับที่ 44 (ดีขึ้น 4 อันดับ) และปัจจัยย่อยผลผลิตทางนวัตกรรม (Innovation output sub-index) อยู่ในอันดับที่ 43 (ดีขึ้น 1 อันดับ) นอกจากนี้ เมื่อพิจารณารายกลุ่มปัจจัย ไทยมีอันดับของกลุ่มปัจจัยดีขึ้น 5 จาก 7 กลุ่ม โดยกลุ่มที่มีอันดับดีขึ้นมากที่สุด คือ กลุ่มปัจจัยด้านระบบตลาด (Market sophistication) ซึ่งไทยอยู่ในอันดับที่ 22 (ดีขึ้น 5 อันดับ)

ผลการจัดอันดับดังกล่าวระบุว่า ไทยมีการเติบโตของเศรษฐกิจและนวัตกรรมที่สูงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยความสามารถในการผลิตนวัตกรรมมีมากขึ้น เนื่องจากการลงทุนในด้านนวัตกรรมภายในประเทศที่มากขึ้น และไทยมีจุดแข็งในการพัฒนานวัตกรรม ได้แก่ การส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ ค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนา ซึ่งลงทุนโดยภาคเอกชนหรือองค์กรธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงจุดแข็งในด้านการประยุกต์ใช้ผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์ตามถิ่นกำเนิด (Utility Models by origin) เป็นต้น

“ยืนยันความตั้งใจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งให้ความสำคัญต่อการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถทางด้านนวัตกรรมของประเทศ นายกรัฐมนตรีเดินหน้าผลักดันพัฒนาการทางนวัตกรรมเสมอมา โดยสอดคล้องกับผลของการจัดอันดับที่ระบุว่า ไทยมีพัฒนาการทางด้านนวัตกรรมที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายปัจจัย ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าภายใต้การดำเนินนโยบายของนายกรัฐมนตรีจะขับเคลื่อนไทยสู่การเป็น ‘ชาตินวัตกรรม’ และไทยจะก้าวสู่อันดับที่ 30 ของประเทศที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมของโลกภายในปี 2573” นายชัย กล่าว

‘นายกฯ’ ยัน ไม่ทอดทิ้งรถยนต์สันดาป ‘ญี่ปุ่น’ ในไทย พร้อมเล็งเปิดฟรีวีซ่าของทั้ง 2 ชาติ เอื้อนักธุรกิจลงทุน

(16 พ.ย.66) ที่โรงแรมเดอะริทซ์คาร์ลตัน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึงการหารือทวิภาคี กับนายคิชิดะ ฟูมิโอ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 ว่า หารือเรื่องของความสัมพันธ์ที่มีมานาน 50 ปี และหารือเรื่องการใช้รถยนต์สันดาป โดยตนให้ความมั่นใจกับทางญี่ปุ่นไปว่าจะไม่ทอดทิ้ง มีการพูดคุยกันว่าให้การประกอบรถยนต์สันดาปของญี่ปุ่น และกระบวนการจัดการผลิตอยู่ได้ ขณะที่รถไฟฟ้า (อีวี) ที่มีความต้องการสูง และได้พูดในหลายเวทีว่าประเทศญี่ปุ่นมีการลงทุนในประเทศไทยสูงที่สุดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จึงต้องมาดูแลช่วยเหลือกัน และทางญี่ปุ่นยืนยันว่าธุรกิจยานยนต์เป็นธุรกิจสำคัญและจะพัฒนาต่อในประเทศไทย และในระหว่างวันที่ 16 - 18 ธ.ค.นี้ ตนจะเดินทางไปร่วมประชุมอาเซียน ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นอกจากนั้นยังพูดคุยอีกหลายเรื่อง เช่น การฟรีวีซ่าสำหรับนักธุรกิจของสองประเทศ ที่ทั้งสองฝ่ายมีการตกลงเห็นตรงกันว่าไม่จำเป็นต้องขอเพื่อให้นักธุรกิจ ติดต่อธุรกิจและไปมาหาสู่สะดวกมากขึ้น เป็นเรื่องที่ดีที่สองฝ่ายเห็นตรงกัน 

ผู้สื่อข่าวถามเรื่องวีซ่านักธุรกิจ จะจำกัดจำนวนวัน ในการเข้ามาพำนักเพื่อประกอบธุรกิจหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ยังไม่มี เป็นหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศต้องไปศึกษา โดยการทำธุรกิจต้องใช้เวลานานเล็กน้อย ส่วนรายละเอียดคาดว่าจะตกลงกันได้ในระหว่างการไปร่วมประชุม 

‘กลุ่ม ปตท.’ ผนึกกำลังแสดงนวัตกรรมสร้างรอยยิ้มให้ชุมชน  ในงาน ‘PTT Group Innovation for Future Society 2023’ 

เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 66 ที่ผ่านมา บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) จัดงาน ‘PTT Group Innovation for Future Society 2023 จุดพลังสร้างอนาคต ขับเคลื่อนชุมชนสู่ความยั่งยืน’ แสดงนวัตกรรมและผลสำเร็จของโครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้ม กลุ่ม ปตท. โดยมี นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยผู้บริหารบริษัทใน กลุ่ม ปตท. ผู้นำชุมชนและสมาชิกชุมชนจาก 45 พื้นที่เครือข่าย รวมถึงเยาวชนจากโครงการ Restart Thailand เข้าร่วมงาน ณ ปตท. สำนักงานใหญ่ 

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า ‘โครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้ม กลุ่ม ปตท.’ เป็นอีกหนึ่งโครงการ ที่ ปตท. และบริษัทในกลุ่มรวมพลังกันเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยนำนวัตกรรม องค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญของแต่ละบริษัทมาพัฒนาชุมชนเครือข่าย 45 ชุมชน ใน 29 จังหวัดทั่วประเทศ ผ่านการพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทชุมชนใน 3 ด้านประกอบด้วย Smart Farming ยกระดับการเกษตรด้วยนวัตกรรมให้ผลผลิตที่มีคุณภาพในปริมาณที่สูงขึ้น Smart Marketing การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์โดยการแปรรูปและสร้างมาตรฐานให้ผลิตภัณฑ์ เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายให้แก่ชุมชน และ Community-Based Tourism ส่งเสริมการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนตามอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม 

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการฯ เป็นไปตามเป้าหมาย ทุกชุมชนสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากฐานรายได้เดิม ร้อยละ 10 มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนรวม 45 รายการ พัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวโดยชุมชนจำนวน 6 พื้นที่ รวมถึงชุมชนมีทักษะและศักยภาพที่สามารถดำเนินการและพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งผลสำเร็จจากโครงการจะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท. ยังร่วมแก้ปัญหาการว่างงาน โดยจ้างบัณฑิตจบใหม่ผ่านโครงการ Restart Thailand กว่า 280 อัตรา เพื่อให้เป็นพลังร่วมขับเคลื่อนโครงการฯ พัฒนาและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีแก่ชุมชนบ้านเกิด เป็นโอกาสให้เยาวชนที่จบใหม่และอยู่ในพื้นที่โครงการฯ ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับท้องถิ่นและสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้รับจากกลุ่ม ปตท. พัฒนาพื้นที่บ้านเกิด นับเป็นผลสำเร็จของการพัฒนาชุมชนในทุกมิติ ให้ชุมชนในพื้นที่สามารถต่อยอด และพึ่งพาตนเองต่อไปได้

การจัดงาน PTT Group Innovation for Future Society 2023 ครั้งนี้ จึงเป็นการสรุปผลสำเร็จของโครงการฯ ที่ได้ดำเนินมาตลอดเป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2564 - 2566 รวมถึงเป็นการนำนวัตกรรมและองค์ความรู้ของ กลุ่ม ปตท. และองค์ความรู้ของชุมชนที่เกิดขึ้นในโครงการฯ พัฒนาเป็น ‘จุดเรียนรู้’ 12 พื้นที่ มาจุดประกายให้ผู้ที่ร่วมงานได้นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ เพื่อขยายพื้นที่สร้างรอยยิ้มให้กับชุมชนอื่น ๆ ได้ต่อไป เพราะทุกชุมชนคือรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ”

สำหรับการจัดงาน ‘PTT Group Innovation for Future Society 2023 จุดพลังสร้างอนาคต ขับเคลื่อนชุมชนสู่ความยั่งยืน’ จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 14-15 พฤศจิกายน 2566 โดยมีการจัดแสดงนวัตกรรมและผลสำเร็จของโครงการฯ ผ่านพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ 3 โซน ประกอบด้วย โซนที่ 1 นวัตกรรมเพื่อชุมชน โดย กลุ่ม ปตท. และพื้นที่เรียนรู้ชุมชน โซนที่ 2 การท่องเที่ยวโดยชุมชน ผลิตภัณฑ์ชุมชน และโซนที่ 3 ตลาดนัดชุมชน 

นอกจากนี้ ยังมีเวทีเสวนาเพื่อให้ชุมชนได้แบ่งปันประสบการณ์ในการดำเนินโครงการฯ รวมถึงได้รับเกียรติจากวิทยากรภายนอก อาทิ คุณสรกล อดุลยานนท์ ‘หนุ่มเมืองจันทร์’ เจ้าของสวนสันติเกษตรอินทรีย์ เป็นผู้ดำเนินเวที, คุณชารีย์ บุญญวินิจ จาก ฟาร์มลุงรีย์ Uncle Ree Farm, คุณนิพนธ์ พิลา จาก พิลาฟาร์มสตูดิโอ, คุณจรงศักดิ์ รองเดช จากภัตตาคารบ้านทุ่ง และคุณธราณิศ ประเสริฐศรี Co-Founder Technical จาก Varuna สตาร์ตอัปสายเขียวเกษตรกรยุคใหม่ ร่วมเติมเต็มเรื่องราวการพัฒนาชุมชนที่น่าสนใจอีกด้วย

“กลุ่ม ปตท. จะยืนหยัดมุ่งมั่นดูแลความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ พร้อมพัฒนาธุรกิจใหม่ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย ควบคู่ไปกับการดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 

ปตท. ได้นำส่งรายได้เข้ารัฐเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศ นับตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน (9 เดือนแรกของ ปี 2566) ในรูปแบบภาษีเงินได้และเงินปันผล แล้วกว่า 1.21 ล้านล้านบาท ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ปตท. ได้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมและชุมชน ทั้งในกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ  ทั้งด้านการส่งเสริมชุมชนเข้มแข็ง การแก้ปัญหาภัยพิบัติ การส่งเสริมการศึกษา และการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้ม กลุ่ม ปตท. แม้ว่าระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่เชื่อว่าองค์ความรู้ นวัตกรรม และวิถีการเกษตรครบวงจรจะยังดำเนินการและพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง” นายอรรถพล กล่าวปิดท้าย

‘พิมพ์ภัทรา’ ชี้ภาพรวมอุตสาหกรรมไทย ต้องเร่งปรับตัวรับระเบียบโลกใหม่ ตามเทรนด์ความยั่งยืนและดิจิทัล ยัน!! รัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รับมือการเปลี่ยนแปลง

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาประจำปี OIE Forum 2566 ‘MIND: set for Sustainability ปรับมุมคิด พลิกอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน’ เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2566 จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ว่า แนวโน้มการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในครึ่งปีหลังที่มีนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เซลส์แมนประเทศเดินทางเจรจาเชิงรุกเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการร่วมประชุมเอเปคที่สหรัฐ และติดตามความคืบหน้าการลงทุนที่สนใจเข้ามาตั้งฐานผลิตในไทย โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมถึงการเชิญชวนลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ซึ่งจะเป็นเมกะโปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐานใหม่ของประเทศ

โดยไทยมีความเข้มแข็งในเรื่องซัพพลายเชนในประเทศที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีมาตรการสิทธิประโยชน์ที่ส่งเสริมนักลงทุนใหม่ทั้งด้านภาษี และไม่ใช่ภาษี รวมถึงมาตรการที่สนับสนุนนักลงทุนในประเทศโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สำหรับการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ปัจจุบันมีรายใหม่ที่เข้ามาในประเทศไทย ทั้งค่ายรถยนต์และซัพพลายเชน โดยไทยจะยังดำเนินมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการยานยนต์เดิม และซัพพลายเชนในประเทศควบคู่กันไป

ทั้งนี้ สศอ. ได้ประมาณการอัตราการขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) และอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) อุตสาหกรรมปี 2567 จะขยายตัวได้ 2-3% เป็นผลมาจากการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงาน รวมทั้งผลจากการฟื้นฟูของภาคการท่องเที่ยวที่ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่า เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ยารักษาโรค อุตสาหกรรมแฟชั่น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งระหว่างประเทศภาระหนี้สินครัวเรือน และภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย ที่เป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และความสามารถในการชำระหนี้ของคนไทย โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีซึ่งจะมีการผลักดันเรื่องการพักหนี้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตามนโยบายรัฐบาล โดยหาแนวทางการช่วยเหลือที่เหมาะสม เช่น การพักเงินต้น การพักดอกเบี้ย โดยไม่สร้างปัญหาการจงใจผิดชำระหนี้ของลูกหนี้ (Moral Hazard)

ขณะที่ ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตร และส่งผลต่อเนื่องมายังวัตถุดิบที่จะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะพื้นที่อ่อนไหวสูงที่ต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกันระหว่างภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรอื่นๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างทันท่วงที

‘ดอยคำ’ เปิดตัวไอศกรีม ICE POP ‘รสฟรุตแอ๊บพันซ์’ มาพร้อมบรรจุภัณฑ์พิเศษ!! เก็บในอุณหภูมิห้องได้ ไม่ง้อตู้เย็น

‘ดอยคำ’ เปิดตัวไอศกรีมหวานเย็นรักษ์โลกสูตรใหม่ล่าสุด เอาใจคนรักสนุก กับดอยคำ ICE POP ‘ฟรุตแอ๊บพันซ์’ หวานเย็นเต็มรส 4 ผลไม้แท้ อร่อย หวาน หอม ซ่อนเปรี้ยว สไตล์ฟรุ้ตตี้สุด ๆ พร้อมแชร์ความสนุกให้กับทุกปาร์ตี้

หลังจากเปิดตัว ICE POP กลุ่มแรกออกไปไม่นาน กระแสตอบรับดีเกินคาด ถูกปาก ถูกใจ ผู้บริโภคทุกกลุ่ม ทุกช่วงอายุ ด้วยรสชาติที่ดึงจุดเด่นของผลไม้แต่ละชนิด แต่ละสายพันธุ์ออกมาช่วยชูรสชาติที่แตกต่าง แต่ลงตัว มาในรูปแบบหวานเย็น ที่สามารถเก็บในอุณหภูมิห้องได้ จึงกลายเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ลดการใช้พลังงานไปโดยปริยาย โดยให้ความสำคัญกับการออกแบบ หรือกระบวนการผลิต ที่เน้นความยั่งยืนและคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จนได้รับรางวัล ‘Creative Sustainable Product Award’ จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ที่ครองใจชาวโซเชียลมีเดีย เกณฑ์ตัดสินจากการค้นหาบนโลกออนไลน์

สำหรับ ICE POP ‘ฟรุตแอ๊บพันช์’ ดอยคำคัดเลือกผลไม้ 4 สายพันช์ มะม่วง เสาวรส ส้ม และทับทิม ที่พัฒนาและวิจัยจนได้อัตราส่วนที่เหมาะสมและลงตัวที่สุด ภายใต้เงื่อนไขผลผลิตคุณภาพจากเกษตรกรไทย บนมาตรฐานดอยคำ จึงเชื่อได้ว่าทุกการ ‘แช่ ฉีก ป๊อป’ ต้อง อร่อย ปลอดภัย มีมาตรฐาน และยังได้ช่วยเหลือเกษตรกรไทย

ICE POP ‘ฟรุตแอ๊บพันช์’ มาในรูปแบบซอง ขนาด 85 มล. ราคาซองละ 20 บาท หาซื้อได้แล้ววันนี้ ที่ร้านดอยคำ ทุกสาขา และทาง Doi Kham Shop ออนไลน์

พิเศษสุด ดอยคำชวนรักษ์โลกกับ กิจกรรม ‘แกะ ล้าง เก็บ’ เพียงนำกล่องน้ำผลไม้ UHT ตราดอยคำ หรือซองดอยคำ ICE POP ที่ผ่านการทำความสะอาดด้วยการ ‘แกะ’ ตัดมุมบรรจุภัณฑ์ทั้งสี่ด้าน ‘ล้าง’ ทำความสะอาด เพื่อง่ายต่อการ ‘เก็บ’ รักษา และนำไปแปรรูป นำมาใช้แลกเป็นส่วนลด 1 กล่อง/ซอง มีมูลค่า 1 บาท สำหรับซื้อสินค้าดอยคำ ที่ร้านดอยคำ ทุกสาขา รายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.doikham.co.th

‘ILINK’ โชว์ผลงานตลอด 9 เดือน ปี 2566 ธุรกิจโตอย่างมีคุณภาพ ทำกำไรรวม 522.15 ลบ.

(15 พ.ย. 66) บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK สร้างผลงาน 9 เดือน เป็นไปตามเป้าหมายที่แสดงถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน พร้อมกับตอกย้ำการเป็นบริษัทฯ ที่ประกอบธุรกิจด้านเทคโนโลยี ตามอุดมการณ์ที่จะนำเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศไทย ทำรายได้รวมยอดเยี่ยมอยู่ที่ 5,126.65 ล้านบาท ทำกำไรสูงสุด 522.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.16 % เทียบเป็นกำไรสุทธิ 10.18% ซึ่งเกิดจากการรับรู้รายได้ของการขยายตลาดของธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ และการเร่งส่งมอบงานโครงการเกาะเต่าของ ธุรกิจวิศวกรรมโครงการ รวมถึงเร่งผลักดันการรับรู้รายได้ของธุรกิจโทรคมนาคม และดาต้า เซ็นเตอร์ ซึ่งดำเนินงานโดย บมจ. อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม

โดยรายได้ของธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Cabling Distribution Business) ผลประกอบการ 9 เดือน ปี 2566 มีรายได้ตามการวางยุทธศาสตร์ของกลุ่มบริษัทฯ ที่เน้นการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน ส่งผลมีรายได้รวมในไตรมาสนี้ 2,234.96 ล้านบาท ทำกำไร 252.19 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 64.55% มีรายได้รวมเติบโต 14.82% สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอย่างโดดเด่น จากบริษัทฯ ที่เป็นผู้นำเข้าสายสัญญาณที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และเป็นผู้นำตลาดของระบบสายสัญญาณ โดยเป็นผู้ชี้นำตลาดของประเทศไทยและอาเซียน รวมถึงเป็นแบรนด์อันดับต้น ๆ ของโลก ที่ประกอบสายสัญญาณของ ILINK สหรัฐอเมริกา และ GERMAN RACK นับเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในตลาด High End ซึ่งมีการขยายตัวอย่างมาก พร้อมกับมีรายได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด จากหมวดของสาย LAN และสาย SOLAR ซึ่งได้อานิสงส์จากตลาดที่โตขึ้นของสาย LAN และคู่แข่งขันสาย SOLAR ที่ประสบปัญหา ประกอบกับเมื่อเปรียบเทียบคุณภาพกับราคาแล้ว ผลิตภัณฑ์ LINK American และ GERMAN RACK

สำหรับธุรกิจวิศวกรรมโครงการ (Turnkey Engineering Business) มีรายได้รวม 9 เดือน จากธุรกิจ 955.51 ล้านบาท มีกำไร 70.64 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 169.43% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่สามารถส่งมอบงานโครงการสายเคเบิลใต้ทะเลของที่ก่อสร้างของสายจากเกาะพะงันไปยังเกาะเต่า ที่คาดว่าบริษัทฯ จะติดตั้งสายเคเบิลใต้น้ำของโครงการสายเคเบิลใต้น้ำเกาะเต่า ที่มีมูลค่างานทั้งหมด 1.78 พันล้านบาท ให้แล้วเสร็จก่อนกำหนดเวลา และปัจจุบันยังคงมีงานโครงการในมือ (Back log) เพียงพอสำหรับปี 2023 และปี 2024 ที่กำลังรอโครงการขนาดเล็กที่ทยอยเซ็นต์สัญญาต่อไปในปีนี้อีก 1 โครงการ และงานโครงการในต้นปี 2025 อีก 1 โครงการขนาดใหญ่

ธุรกิจโทรคมนาคมและดาต้าเซ็นเตอร์ (Telecom & Data Center Business) โชว์ผลประกอบการ 9 เดือน ปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,936.19 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 199.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.88% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 186.47 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากบริษัทฯ มีการเติบโตในทุกธุรกิจ และความต้องการลูกค้าที่เพิ่มขึ้น สำหรับงบการเงินไตรมาส 3/2566 บริษัทฯ มีรายได้รวม 753 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 76 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38% จากไตรมาส 3/2565 ที่มีรายได้ 768 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 55 ล้านบาท โดยในเดือนตุลาคม 2566 บริษัทฯ ได้มีรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ ถึงรายการเข้าซื้อหุ้นของ บริษัท โกลบอล ลิโธทริปซี่ย์ เซอร์วิสเซส จำกัด หรือ Global Lithotripsy Services Company Limited โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น 100% เบื้องต้นคาดจะเริ่มรับรู้รายได้ ในไตรมาส 4/2566 เป็นต้นไป

อีกทั้ง บริษัทฯ ได้อยู่ในกระบวนการเตรียมยื่น FILING เพื่อนำบริษัทลูกของลูก ได้แก่ BLUE SOLUTIONS เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI) โดยกำหนด Tentative จะยื่นในวันที่ 22 พ.ย. 2566 นี้ และคาดว่าจะนำ บริษัท BLUE SOLUTIONS เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2024 รวมถึงบริษัทฯ ลูก (ITEL) และบริษัทลูกของลูก (BLUE SOLUTIONS) ได้ลงนามในสัญญาโครงการพัฒนาทักษะสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสู่สังคมดิจิทัล ในภารกิจบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคม กับ กสทช. ได้แก่ ITEL (ภาคใต้) มูลค่า 297.21 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และ BLUE SOLUTIONS (ภาคอีสานบน) มูลค่า 345.04 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) อีกด้วย

‘กลุ่ม ปตท.’ เผยผลดำเนินงาน 9 เดือน ปี 2566 ปรับตัวดีขึ้น - รวมนำเงินส่งรัฐกว่า 4.8 หมื่นล้านบาท

เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 66 ที่ผ่านมา นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงาน ปตท. และบริษัทย่อย ใน 9 เดือนแรกของปี 2566 มีรายได้ 2,337,438 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 79,259 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.3% จากช่วงเดียวกันของปี 2565 เนื่องจากขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบมีการปรับตัวลดลงจากความกังวลด้านสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เริ่มผ่อนคลาย รวมถึงความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) ของกลุ่ม ปตท. ปรับลดลง โดยหลักจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น จากกำไรขั้นต้นจากการกลั่น (Market GRM) ที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2565 และผลกำไรสต๊อกน้ำมันที่ลดลง ประกอบกับผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ปรับลดลงจากราคาขายเฉลี่ยที่ลดลง

โดยเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 คณะกรรมการ ปตท. มีมติอนุมัติการจ่ายปันผลระหว่างกาลส่งผลให้กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และกองทุนวายุภักษ์จะได้รับเงินปันผลรวมประมาณ 14,000 ล้านบาท และเมื่อรวมกับภาษีเงินได้นิติบุคคลของ ปตท. และบริษัทในเครือ อีกประมาณ 34,000 ล้านบาท รวมกลุ่ม ปตท. นำส่งรายได้จากการดำเนินธุรกิจ 9 เดือนแรกของปี 2566 ให้กับรัฐ เพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ แล้วประมาณ 48,000 ล้านบาท โดยการจ่ายเงินปันผลจะพิจารณาให้เหมาะสมกับกำไร สถานะทางการเงิน สภาพคล่อง รวมถึงแผนการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ที่สำคัญ เพื่อสร้างเสถียรภาพทางพลังงาน สนับสนุนประเทศไทยให้ก้าวหน้าอย่างมั่นคง ดังตลอดระยะเวลา 45 ปี ที่ผ่านมา พร้อมมุ่งจุดพลังชีวิต ขับเคลื่อนอนาคต สร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ผ่านการพัฒนาธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและก้าวสู่ธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน

ทั้งนี้ ปตท. ขานรับนโยบายลดผลกระทบค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชน โดยที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. วันที่ 19 ตุลาคม 2566 มีมติเห็นชอบให้ ปตท. เรียกเก็บค่าเชื้อเพลิงตามค่าควบคุม และยืดระยะเวลาการชำระหนี้ให้กลุ่มภาคไฟฟ้าในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2566 ตามมติ ครม. พร้อมให้ทยอยจ่ายคืนส่วนต่างในการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับรอบถัดไปตามที่ กกพ. เห็นชอบ มีผลย้อนหลังตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 โดยตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน ปตท. สนับสนุนงบประมาณบรรเทาผลกระทบต้นทุนด้านพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะวิกฤตต่าง ๆ ให้กับประชาชนแล้ว กว่า 25,000 ล้านบาท โดยเมื่อช่วงต้นปีนี้ ปตท. ยังได้มีการจัดสรรก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ตลอดจนจัดหา LNG ในราคาที่เหมาะสม ช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าเทียบเท่า 6,000 ล้านบาท รวมถึงช่วยเหลือผู้ใช้พลังงานในภาคส่วนอื่น ๆ ทั้ง LPG NGV และสนับสนุนเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อร่วมดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนอย่างสมดุล พร้อมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

‘BLC’ โชว์ผลงาน 9 เดือนแรก กำไรเน้นๆ 100.7 ลบ. เตรียมขยายช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสามัญใหม่

(15 พ.ย. 66) ‘บมจ. บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค’ หรือ ‘BLC’ ประกาศผลดำเนินงานไตรมาส 3/66 ทำรายได้ 347 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 37 ล้านบาท หนุนผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนมีรายได้รวม 1,011 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 100.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.3% และ 14.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ พร้อมวางเป้าหมายรายได้เติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 200 ล้านบาทต่อปี รับปัจจัยหนุนจากการขยายช่องทางการจัดจำหน่าย พร้อมสร้าง Brand Awareness และเตรียมรับรู้รายได้จากการผลิตและจำหน่ายยาสามัญใหม่ภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ 

ภก.สุวิทย์ งามภูพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) หรือ BLC ผู้ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน ประเภทยาสามัญ และยาสามัญใหม่ ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ยาสำหรับสัตว์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพครบวงจร ครอบคลุมกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เปิดเผยผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2566 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและบริการรวม 347 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.9% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการสร้าง Brand awareness และเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังมีการเติบโตขึ้น ขณะที่กำไรสุทธิทำได้ 37 ล้านบาท ลดลง 9.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการรับรู้ค่าใช้จ่ายในส่วนของผลประโยชน์พนักงานที่เพิ่มขึ้นและค่าที่ปรึกษาต่าง ๆ อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน (มกราคม-กันยายน) ของปี 2566 ยังเติบโตแข็งแกร่ง โดยมีรายได้จากการขายและบริการรวม 1,011 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.3% และมีกำไรสุทธิ 100.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.6% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ BLC ได้วางยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตเพื่อรับเมกะเทรนด์ด้านสุขภาพผ่านการสร้าง Brand Awareness ให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ โดยมุ่งเน้นการสื่อสารทางการตลาดผ่านทุกช่องทางเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลผลิตภัณฑ์บำรุงรักษาสุขภาพของบริษัทฯ รวมถึงการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง ทั้ง Modern trade และ e-Commerce นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาส 3/2566 บริษัทฯ ได้ผลิตและจัดจำหน่ายยาสามัญใหม่ (New Generic Drugs) 1 รายการ โดยบริษัทฯ ได้พัฒนาและจำหน่ายทันทีหลังจากสิทธิบัตรของยาต้นแบบ (Original Drugs หรือ Patented Drugs) หมดอายุ โดยเป็นยาที่มีคุณสมบัติการรักษาเหมือนกับยาต้นแบบแต่ราคาที่ถูกลงกว่ายาต้นแบบและมีอัตราการทำกำไรที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งจะสามารถรับรู้รายได้ภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

ทั้งนี้ หลังจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทฯ ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนสำหรับการนำเข้าเครื่องจักร และก่อสร้างอาคารโรงงานครบหมดแล้ว ปัจจุบันโครงการก่อสร้างอาคารโรงงานผลิตแห่งใหม่อยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติแบบก่อสร้างโรงงาน ซึ่งอาคารผลิตยาแผนปัจจุบันหลังใหม่จะใช้เทคโนโลยีทางด้านการผลิตที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต รวมถึงเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับการขยายธุรกิจของกลุ่มบริษัทในระยะยาว รวมทั้งการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Roof) ขนาด 500 กิโลวัตต์ เพื่อช่วยลดค่าไฟฟ้าประมาณ 2.6 ล้านบาทต่อปี โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างโรงงานได้ภายในไตรมาส 2/2567 นอกจากนี้บริษัทฯ ได้วิจัยและพัฒนายาสามัญ และยาสามัญใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นกลุ่มยาที่มีอัตราการเติบโตสูง สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และส่งผลให้ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ เติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BLC กล่าวว่า อุตสาหกรรมยามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่ประชาชนกลับมารักษาในโรงพยาบาลตามปกติของผู้ป่วย โดยคาดว่าปริมาณการผลิตและจำหน่ายยาในประเทศช่วงครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้นตามความต้องการใช้ยาเพื่อรักษาโรคที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และการปิดปีงบประมาณของโรงพยาบาลรัฐบาลจะทำให้ดีมานด์ของยาเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ทำให้ประชาชนหันมาใส่ใจการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง และป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคติดต่อไม่เรื้อรังและโรคอุบัติใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ส่งผลให้ดีมานด์ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพมีเติบโตอย่างต่อเนื่อง 

“เราวางเป้าหมายรายได้เติบโตเฉลี่ยปีละ 200 ล้านบาท โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นจะมาจากยาแผนปัจจุบันประเภทยาสามัญใหม่ (New Generic Drugs) เป็นหลัก เรามีศูนย์วิจัย BLC Research Center ที่จะวิจัยและพัฒนายาสามัญใหม่พร้อมจำหน่ายทันทีหลังจากสิทธิบัตรของยาหมดอายุ ซึ่งทำให้มีอัตราการทำกำไรที่สูง และวางแผนผลิตยาสามัญและยาสามัญใหม่อย่างต่อเนื่องอย่างน้อยปีละ 2 รายการ เพื่อรักษาอัตราการเติบโตของรายได้และอัตราการทำกำไรของบริษัทฯ ให้เติบโตอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ รวมทั้งสร้างความมั่นคงทางด้านยาและสุขภาพให้แก่ประเทศไทย เพื่อรองรับศักยภาพการเติบโตตามเมกะเทรนด์ของโลก” ภก.สุวิทย์ กล่าว

‘นายกฯ’ ปลื้ม!! ‘AWS-Google-Microsoft’ ลงทุนในไทย หวังยกระดับภาคอุตฯ ไทย ให้ได้รับการยอมรับในเวทีโลก

(15 พ.ย. 66) เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 14 พฤศจิกายน (ตามเวลาท้องถิ่น นครซานฟรานซิสโก สหรัฐ ซึ่งช้ากว่าประเทศกรุงเทพฯ 15 ชั่วโมง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงผลหารือกับ ผู้บริหาร Walmart ห้างค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดย Walmart มีความต้องการที่จะเปิดตลาดในไทยมากขึ้น จึงได้มีการพูดคุยถึงซอฟพาวเวอร์ของไทย ที่เป็นอาหารพื้นเมือง ให้เข้าไปขายใน Walmart รวมทั้งอาหารฮาลาล ที่มีขายอยู่ในหลายรัฐในสหรัฐฯ

นายกฯ กล่าวว่า ส่วนการพบปะกับ เวสเทิร์น ดิจิทัล บริษัทผลิตฮาร์ดแวร์ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความต้องการลงทุนเพิ่มในไทย และต้องการจะย้ายฐานการผลิตจากประเทศฟิลิปปินส์ มาที่ประเทศไทย 

นอกจากนั้นได้พูดคุยกับผู้บริหารบริษัท AWS ซึ่งเป็นบริษัทในเครือแอมาซอน จัดทำคลาวเซอร์วิส ได้เซ็นสัญญาที่จะเข้ามาลงทุนแล้ว และจะเปิดดำเนินการเร็ว ๆ นี้เป็นดาต้าเซ็นเตอร์ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เป็นบริษัทแรกที่ลงทุนแล้ว และจะลงทุนเพิ่มอีกด้วย

ขณะที่การหารือกับ Google เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้มีการลงนามเอ็มโออยู่กันเรียบร้อยแล้วที่จะมาทำดาต้าเซ็นเตอร์ เช่นกัน

นายเศรษฐา กล่าวว่า สำหรับบริษัทยักษ์ใหญ่ 3 ราย ของโลก 3 ราย ที่มาทำดาต้าเซ็นเตอร์ได้แก่ AWS Google และไมโครซอฟท์ ที่ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลไทย จะยกระดับภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ให้ได้รับการยอมรับในอนาคตอันใกล้นี้

ทั้งนี้การเดินทางมาสหรัฐฯ ครั้งนี้ ถือว่ามีความพอใจ หลายอย่างจากที่ได้พบปะภาคเอกชนรายใหญ่ สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติ เช่น คุณภาพโรงเรียน โรงพยาบาลระดับโลก นักลงทุนต่างพูดว่าเป็นความสบายใจที่จะได้มาใช้ชีวิตที่ไทย ถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้ไทยสามารถยืนหยัดและแข่งขันได้ในเวทีโลก เป็นความภาคภูมิใจที่เป็นคนไทยและจะทำงานต่อไป

นายกฯ กล่าวว่า ตนได้สั่งให้ทีมงานสรุปแผนการชักชวนนักลงทุนต่างชาติในรอบ 3 เดือน ว่านักลงทุนรายใดลงทุนแล้ว ใครอยู่ลำดับไหน ใครเพิ่งจีบกัน หรือใครได้ชวนไปดูหนังแล้ว แต่ไม่อยากพูดถึงผลงาน หรือการตัดเกรดการทำงานของตนเอง ขอให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน ส่วนหน้าที่ของตนคือตื่นเช้าไปทำงาน

‘VRANDA’ เตรียมโอนโครงการ ‘วีรันดา พูลวิลล่า หัวหิน ชะอำ’ มั่นใจ!! ‘ธุรกิจโรงแรม-รีสอร์ท’ ไตรมาส 4/66 คึกคักรับไฮซีซั่น

(15 พ.ย. 66) บมจ.วีรันดา รีสอร์ท หรือ VRANDA ประกาศผลประกอบการมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 60 ลบ. แม้ว่าจะมีผลขาดทุนสุทธิ 20 ลบ. ในไตรมาส 3/66 หลังได้รับผลกระทบจากธุรกิจโรงแรมช่วงโลว์ซีซั่นซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังประเทศไทยน้อยกว่าคาดการณ์ ประกอบกับอยู่ในช่วงปรับโครงสร้างธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งตลาดได้ทยอยรับรู้ปัจจัยลบดังกล่าวไปบ้างแล้ว ชี้ตลาดธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท ในไตรมาส 4 ปี 2566 มีแนวโน้มคึกคัก รับนักท่องเที่ยวไทย-ต่างชาติช่วงไฮซีซั่น ประกอบกับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เตรียมโอนโครงการใหม่ ‘วีรันดา พูลวิลล่า หัวหิน-ชะอำ’ เริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาสสุดท้ายของปีหนุนรายได้ ต่อเนื่องไปถึงปี 2567

นายภวัฒก์ องค์วาสิฏฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีรันดา รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ VRANDA ผู้นำธุรกิจโรงแรม รีสอร์ทและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไลฟ์สไตล์การพักผ่อนแบบ Exclusive เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ทของไทยในไตรมาส 3 ปี 2566 ได้รับผลกระทบจากการธุรกิจท่องเที่ยวไทยยังมีปัจจัยลบจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนยังเดินทางมายังประเทศไทยน้อยกว่าคาดประกอบกับ VRANDA อยู่ในช่วงปรับโครงสร้างธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มซึ่งจะแล้วเสร็จในสิ้นปี 2566 นี้ 

อย่างไรก็ตามจากโดยสถิตินักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศไทยของ ททท. ในช่วง 9 เดือนแรก 19 ล้านคน โดยตั้งเป้าไว้ที่ 28 ล้านคน ซึ่งมั่นใจได้ว่าในไตรมาส 4/66 ช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวที่จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก อาทิ กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียที่เช่าเครื่องบินเหมาลำเดินทางมาประเทศไทย ฯลฯ เสริมให้ภาพรวมธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ทกลับมาคึกคักอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ VRANDA ยังคงมีปัจจัยพื้นฐานสนับสนุนการเติบโตที่แข็งแกร่ง โดยในไตรมาส 4/2566 จะเริ่มรับรู้รายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์โครงการวีรันดา พูลวิลล่า หัวหิน ชะอำ ด้านการเปิดขาย ‘โครงการวีรันดา วิลล่า แอนด์ สวีท ภูเก็ต’ ประกอบด้วย วิลล่า 6 หลัง และคอนโดมิเนียม 12 ยูนิต มูลค่าโครงการรวมประมาณ 850 ล้านบาท ที่มียอดจองแล้วกว่า 70% รวมทั้งยังได้ประโยชน์จากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยของภาครัฐ อาทิ มาตรการฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจากจีน คาซัคสถาน อินเดีย และใต้หวัน ล่าสุดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีนโยบายผลักดันรายได้การท่องเที่ยวไทยจากตลาดยุโรปให้มากกว่า ‘5 แสนล้านบาท’ ภายในปี 2567 ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท รวมถึงธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ VRANDA 

สำหรับผลการดำเนินงานของ VRANDA ในช่วง 9 เดือนปี 2566 (มกราคม-กันยายน) มีรายได้รวม 1,026 ล้านบาท มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 219 ล้านบาท โดยมีขาดทุนสุทธิ 28 ล้านบาท มีสาเหตุหลักจาก VRANDA อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มซึ่งจะสิ้นสุดภายในปีนี้ ขณะที่ไตรมาส 3/2566 มีรายได้รวม 329 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 20 ล้านบาท เนื่องจากเป็นช่วงโลว์ซีซันและอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 60 ล้านบาท

‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’ ขึ้นแท่น ‘สถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน’ อนาคตจ่อเทียบชั้น ‘สถานีไทเป’ เล็งยกระดับบางซื่อสู่ ‘ชินจูกุเมืองไทย’

เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 66 นายชัชวาลย์ วัฒนะโชติ หรือ ‘อ.คิม’ นักลงทุนและผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของบริษัท W ASSET (Thailand) และเป็นเจ้าของช่องยูทูบ ‘Property Expert Live’ รวมถึงแฟนเพจเฟซบุ๊ก ที่มีผู้ติดตามรวม 500,000 คน ได้ออกมาโพสต์คลิปวิดีโอผ่านทางช่องยูทูบ ‘Property Expert Live’ ในหัวข้อ ‘เทียบสถานีกลางไทยเป! สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทำให้แถวนี้กลายเป็น ชินจูกุเมืองไทย?’ โดยระบุว่า…

‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’ ซึ่งในอดีตมีชื่อว่า ‘สถานีกลางบางซื่อ’ นั่นเอง หลายๆ คนอาจจะยังไม่ทราบ ว่า สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ กลายเป็น ‘สถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน’ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 136,000 คน เรียกได้ว่า เป็นชุมทางสายรถไฟขนาดใหญ่ที่รายล้อมไปด้วยรถไฟฟ้าและรถไฟจากทางหัวเมืองทางเหนือ ที่เมื่อก่อนหลายๆ คนอาจจะมีภาพจำ คือ ‘รถไฟหัวลำโพง’ นั่นเอง

แต่เนื่องจากที่สถานีหัวลำโพงเดิมนั้น มีขนาดค่อนข้างเล็ก จึงได้มีการโยกย้ายมายังฝั่งของบางซื่อแทน ทำให้การเดินทางต่างๆ นั้นเปลี่ยนไปจากในอดีตพอสมควร โดยสถานีกลางบางซื่อ หรือสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์นี้ จะมีรถไฟฟ้าเชื่อมเข้ามาหลายสาย เช่น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน, สายสีเขียว, สายสีแดง, สายสีม่วง และสายสีแดงอ่อน ซึ่งหมายความว่า หากผู้คนที่อยู่ต่างจังหวัดเดินทางผ่านทางรถไฟความเร็วสูง หรือรถไฟทางคู่ต่างๆ ลงมาจากทางเหนือ ก็จะมาเชื่อมต่อการเดินทางที่ชุมทางสายรถไฟตรงนี้ จากนั้นจึงเดินทางต่อด้วยรถไฟฟ้าเพื่อเข้าสู่ใจกลางเมืองและเขตธุรกิจได้ทันที

และด้วยพื้นที่ที่มีค่อนข้างมหาศาล รวมถึงอยู่ใกล้กับขั้วต่อแหล่งการเดินทางเชื่อมไปยังรถไฟฟ้าสายต่างๆ มากมายหลากหลายสาย จะเดินทางเชื่อมต่อไปยังสนามบินก็ง่ายดาย จึงทำให้เกิดโปรเจกต์ ‘เมืองอัจฉริยะ’ ขึ้นมา ที่สถานีกลางบางซื่อ หรือสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ตรงนี้นั่นเอง

ซึ่งเป็นที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะหากดูจากตำแหน่งจริงๆ นั้น จะเห็นว่า ตัวสถานีกลางบางซื่อนั้น มีขนาดค่อนข้างกว้างใหญ่มาก และกินพื้นที่ไปหลายสถานีเลยทีเดียว

และด้วยเทรนด์รถไฟในต่างประเทศที่ส่วนใหญ่นั้นออกมาแบบมาให้ใช้งานสะดวก หลากหลาย ต้องมีการเชื่อมต่อได้หลายการเดินทาง เชื่อมต่อกับสนามบินให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวสู่ตัวเมืองได้อย่างง่ายดาย และรองรับนักท่องเที่ยว นักเดินทางได้ในปริมาณมหาศาล หรือแม้แต่ประชาชนที่เดินทางไปทำงาน ก็จะเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ รถไฟและสนามบินเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้นั่นเอง ในปัจจุบันสนามบินดอนเมืองนั้น ไม่ได้ถูกเชื่อมต่อกับรถไฟที่ทันสมัย เมื่อลงเครื่องมาจึงต้องหารถแท็กซี่ หรือรถโดยสารอื่นๆ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดตามมาเป็นทอดๆ อีกด้วย

หากพูดถึงเรื่องขนาดแล้ว สถานีกลางบางซื่อ หรือสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ นับเป็นสถานีที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่หากพูดถึงในเรื่องของจำนวนผู้ใช้บริการก็คงต้องบอกว่ายังไม่ได้เป็นอันดับ 1 ขนาดนั้น เพราะเมื่อเทียบกัน จริงๆ แล้ว ‘สถานีรถไฟไทเป’ ที่เป็นสถานีรถไฟใต้ดินและสถานีรถไฟหลักในเมืองหลวงไทเป ของไต้หวัน ซึ่งมีผู้คนมาใช้บริการเฉลี่ยแล้ว 600,000 คนต่อวัน หรือเมื่อเทียบแล้ว คือ มากกว่าตัวของสถานีกลางบางซื่อถึง 4 เท่าเลยทีเดียว

หากพูดถึงเรื่องของทำเลนั้น ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน คือ สามารถเข้าถึงสนามบินได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีรถไฟฟ้าหลากหลายสายมาบรรจบในบริเวณพื้นที่รอบๆ สถานีเหมือนกัน ทำให้เดินทางเข้าสู่เมืองสะดวก เนื่องจากสถานีรถไฟไทเปนั้นตั้งอยู่ตรงกลาง เป็นเหมือนจุดเซ็นเตอร์เพื่อเชื่อมไปยังสถานที่อื่นๆ ต่อได้ อีกทั้งยังมีจุดแข็งที่โดดเด่น คือ มี ‘ห้างสรรพสินค้า’ อยู่ในสถานีรถไฟถึง 5 ห้าง ทำให้ผู้คนที่มาใช้บริการ นอกจากจะมาที่นี่เพื่อเดินทางแล้ว ยังเดินทางมาเพื่อจับจ่ายใช้สอย มาเพื่อชอปปิง มาเดินเที่ยว หรือใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่นี้ได้มากขึ้นจริงๆ

เพราะในส่วนของสนามบินหรือสถานีรถไฟฟ้านักท่องเที่ยว นักเดินทางแต่ละคนก็ล้วนแต่โฉบมาและโฉบไป ลงเครื่องบินเสร็จก็ขึ้นรถบัส ขึ้นรถไฟออกเดินทางต่อ ไม่ได้อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ตรงนั้นมากนัก แต่เมื่อมีห้างสรรพสินค้า ก็จะสามารถตรึงผู้คนให้อยู่ที่นี่ได้นานมากขึ้นนั่นเอง จึงทำให้ภายในสถานีรถไฟไทเปนั้น ถือเป็น ‘ศูนย์รวมขนส่งมวลชนทุกประเภท’ ตั้งแต่ MRT 2 สาย, รถไฟเชื่อมท่าอากาศยานนานาชาติไต้หวันเถา-ยฺเหวียน 2 สาย และยังมีรถไฟทั้งแบบธรรมดาและรถไฟไฮบริด รวมถึงมีสถานีรถโดยสารประจำทาง (Bus station) อีกด้วย เรียกว่า มีครบทุกอย่างในสถานีเดียว สมกับเป็นสถานีกลางจริงๆ

หากย้อนกลับไป สถานีรถไฟไทเปแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในปี 1891 เมื่อเทียบกับประเทศไทยบ้านเรา คือ ในช่วงก่อนหน้าที่จะสร้าง ‘สถานีรถไฟหัวลําโพง’ เพียงแค่ 19 ปีเท่านั้น ต่อมา ไต้หวันก็เติบโตอย่างรวดเร็ว ประชากรชาวไต้หวันก็เติบโตขึ้นมาปรับปรุง พัฒนาประเทศมาโดยตลอด จนกระทั่งในปี 1980 GDP ของไต้หวันนั้น เติบโตจนถึงขีดสุด ผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาใช้บริการสถานีรถไฟไทเปแห่งนี้หนาแน่นขึ้นอย่างมาก

จนทำให้ในปี 1985 ทางรัฐบาลไต้หวันตัดสินใจรื้อสถานีรถไฟเก่า และสร้างสถานีรถไฟใหม่ตรงบริเวณเดิม แต่จัดวางโครงสร้างทั้งหมดขึ้นมาใหม่ โดยนำเอาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงรางรถไฟไปไว้ในใต้ดิน ทำให้ระบบใหม่นี้ สามารถเชื่อมโยงเมืองอื่นๆ ได้มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ในไต้หวัน ดำเนินกิจการไปอย่างราบรื่น และเติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้คนไม่จำเป็นต้องซื้อรถยนต์ เพราะว่าระบบขนส่งสาธารณะ การเดินรถไฟของเขานั้นดีมาก ทำให้การออกแบบผังเมืองถูกปรับเปลี่ยนตามไปด้วย ยิ่งผลักดันให้ไต้หวันเจริญมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

ซึ่งตรงจุดนี้ต่างจากเมืองไทยบ้านเรา เนื่องจากผู้คนในไทยนั้นยังคงชื่นชอบการขับรถยนต์อยู่ จึงทำให้โครงสร้างคมนาคมนั้น อยู่ที่ตัวถนนหนทางนั่นเอง ส่งผลให้เวลาสร้างตึก อาคาร สำนักงานต่างๆ ทุกที่จึงจำเป็นต้องมีที่จอดรถไว้เพื่อรองรับ ในขณะที่ในไต้หวัน ไม่ได้มีความจำเป็นต้องสร้างพื้นที่จอดรถ ทำให้สามารถนำเอาพื้นที่ส่วนนั้นมาทำเป็นสถานที่เอาไว้ปล่อยเช่าได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้ไต้หวันมีสัดส่วนที่จอดรถค่อนข้างน้อยกว่าเมืองไทยนั่นเอง

ทุกอย่างเหมือนเป็น ‘ผลกระทบแบบโดมิโน่’ (Domino Effect) เพราะการที่มีพื้นที่เพิ่มขึ้น ก็สามารถรองรับผู้คนได้มากยิ่งขึ้น คนก็หันมานั่งรถไฟกันมากขึ้น ธุรกิจกิจการโดยรอบสถานีก็เจริญเติบโตมากยิ่งขึ้น เป็นภาพลักษณ์ที่ดีต่อภาคการท่องเที่ยว จนช่วยสร้างรายได้อย่างมหาศาลให้กับประเทศอีกด้วย เรียกว่าเป็นเอฟเฟกต์ที่ดีด้วยกันทั้งระบบ และนอกเหนือจากการวางโครงข่ายการเดินทางที่ดีแล้ว ยังทำให้เกิดความเป็นเมือง สร้างแหล่งท่องเที่ยวในตัวของมันเองอีกด้วย

ซึ่งไอเดียหรือโมเดลนี้นั้น ก็มีความคล้ายคลึงกับทางประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น เนื่องจากสถานีรถไฟของญี่ปุ่นนั้น สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ด้วยตัวของมันเอง โดยสถานีที่โดดเด่นที่สุด คือ ‘สถานีรถไฟชินจูกุ’ ซึ่งถือเป็นสถานีที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดในโลก โดยมีผู้ใช้บริการสูงสุดอยู่ที่ 3.59 ล้านคนต่อวัน ทิ้งอันดับนำโด่งห่างจากทั้งสถานีรถไฟไทเปของไต้หวัน และสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ของไทยเราแบบไม่เห็นฝุ่นเลยทีเดียว

ความพิเศษของสถานีรถไฟชินจูกุนี้นั้น นอกจากจะมีขนาดที่ใหญ่มากแล้ว ยังเต็มด้วยสำนักงาน หรือก็คือแหล่งของคนวัยทำงาน ทำให้ในช่วงเช้าจะมีผู้คนวัยทำงานอยู่ในบริเวณนี้กันอย่างคับคั่ง แต่ในช่วงกลางคืนก็จะกลายเป็นแหล่งชอปปิงที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น อีกทั้งยังมีห้างสรรพสินค้าอีกมากมาย หลากหลายที่ให้นักท่องเที่ยวได้เดินเลือกจับจ่ายใช้สอย นอกจากนี้ สถานีรถไฟชินจูกุ ยังขึ้นชื่อในเรื่องความซับซ้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากตัวสถานีแห่งนี้มีทางเข้า-ออกมากถึง 200 ทางเลยทีเดียว

ทำให้หลายๆ คนมองว่า หากโปรเจกต์ ‘เมืองอัจฉริยะ’ บริเวณสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เกิดขึ้นจริงๆ พื้นที่นี้อาจจะกลายเป็น ‘ชินจูกุเมืองไทย’ ก็เป็นได้ เพราะว่าบริเวณโดยรอบก็มีคอมมูนิตี้ สำนักงาน แหล่งทำงาน แหล่งชอปปิง อีกทั้งการเดินทางก็แสนจะสะดวกสบาย เพราะมีชุมทางสายรถไฟเชื่อมต่อไปยังสนามบินต่างๆ มีรถไฟฟ้าหลายสายเชื่อมการเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองและเขตเศรษฐกิจมากมายอีกด้วย และที่สำคัญ คือ มีพื้นที่ใช้สอยขนาดใหญ่ไม่แพ้ใคร เป็นอันดับ 1 ของอาเซียน

ถึงแม้โครงสร้างของไทยจะแตกต่างจากโครงสร้างของประเทศอื่น แต่ว่าประชากรของไทยนั้นก็มีมากกว่าเช่นกัน โดยไทยมีประชากรมากกว่าไต้หวันถึง 3 เท่าเลยทีเดียว ดังนั้น หากวางระบบให้ดี สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์อาจมีผู้ใช้บริการสะพัดมากกว่า 600,000 คน อย่างสถานีรถไฟไทเปก็เป็นได้…

นอกจากนี้ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ยังมีจุดแข็งอีกอย่าง คือ ไม่เพียงแค่เชื่อมกับฝั่งของกรุงเทพมหานครอย่างเดียว แต่ยังเป็นการจุดศูนย์รวมของ ‘รถไฟความเร็วสูง’ ที่เชื่อมโยงการเดินทางกับประเทศจีน และยังเชื่อมการเดินทางกับอีกหลายประเทศ เช่น เวียดนาม, สปป.ลาว และเมียนมา จนสุดท้ายมาบรรจบจุดสิ้นสุดที่กรุงเทพมหานครนั่นเอง จากนั้นจึงรวมสายการเดินทางเชื่อมลงไปสู่ภาคใต้ ซึ่งมีทั้งประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์อีกด้วย ซึ่งหมายความว่าเส้นทางการเดินรถนี้ สามารถเติบโตต่อไปได้อีกมากเลยทีเดียว

และเรื่องของการเช่าพื้นที่ภายในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์นั้น ก็ได้มีธุรกิจมากมายหลายเจ้า เช่น ทางเครือซีพีเอ็น หรือ ‘เครือเซ็นทรัล’ รวมถึงคิงเพาเวอร์ และแพลน บี มีเดีย เข้ามาขอยื่นซองประมูลบริหารพื้นที่เช่นเดียวกัน

ซึ่งทั้งหมดนี้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปว่า ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’ นั้น จะสามารถเทียบชั้น ‘สถานีรถไฟไทเป’ หรือจะกลายเป็น ‘ชินจูกุเมืองไทย’ ได้หรือไม่

‘ครม.’ เคาะงบฯ 5.37 ล้านเหรียญฯ พัฒนาพลังงาน ‘ไทย-มาเลย์ฯ’ หวังสร้างความมั่นคง-เสถียรภาพด้านพลังงาน-เศรษฐกิจให้ประเทศ

(14 พ.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณ จำนวน 5,375,000 เหรียญสหรัฐ และแผนการดำเนินงานประจำปี 2567 ขององค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย

แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน จำนวน 5,250,900 เหรียญสหรัฐ และค่าใช้จ่ายที่เป็นทุน จำนวน 124,100 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 375,000 เหรียญสหรัฐ

-ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) เพิ่มขึ้น 8.6% เทียบเท่า 414,800 เหรียญสหรัฐ
-ค่าใช้จ่ายที่เป็นทุน (CAPEX) ลดลง 24.3% เทียบเท่า 39,800 เหรียญสหรัฐ

นางรัดเกล้ากล่าวว่า โดยแผนการดำเนินงานในปี 2567 ประกอบด้วย ด้านการสำรวจและการประเมินผล ด้านการพัฒนาปิโตรเลียม และด้านการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย - มาเลเซีย เช่น เจาะหลุมพัฒนา จำนวน 8 หลุม รักษาระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติที่เรียกรับสูงสุดในอัตรา 869 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ดำเนินการเจาะหลุมพัฒนาตามแผนพัฒนาแหล่งในระยะที่ 6 จำนวน 17 หลุม รักษาระดับอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติที่เรียกรับสูงสุดในอัตรา 308 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซ่อมแซมหลุมผลิตเดิมและเจาะผนังหลุมเพิ่ม เพื่อรักษาอัตราการผลิตของหลุม

นางรัดเกล้ากล่าวว่า ทั้งนี้ให้รับความเห็นของกระทรวงการคลังที่ให้คำนึงถึงประเด็นความคุ้มค่า ต้นทุนและผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม

ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย และความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดการเสนองบประมาณและแผนการดำเนินงานประจำปีขององค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย ต่อคณะรัฐมนตรีตามกรอบระยะเวลา ข้อ 3 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย พ.ศ. 2533 กำหนด ไปดำเนินการอย่างเคร่งครัดต่อไปด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top