‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’ ขึ้นแท่น ‘สถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน’ อนาคตจ่อเทียบชั้น ‘สถานีไทเป’ เล็งยกระดับบางซื่อสู่ ‘ชินจูกุเมืองไทย’

เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 66 นายชัชวาลย์ วัฒนะโชติ หรือ ‘อ.คิม’ นักลงทุนและผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของบริษัท W ASSET (Thailand) และเป็นเจ้าของช่องยูทูบ ‘Property Expert Live’ รวมถึงแฟนเพจเฟซบุ๊ก ที่มีผู้ติดตามรวม 500,000 คน ได้ออกมาโพสต์คลิปวิดีโอผ่านทางช่องยูทูบ ‘Property Expert Live’ ในหัวข้อ ‘เทียบสถานีกลางไทยเป! สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทำให้แถวนี้กลายเป็น ชินจูกุเมืองไทย?’ โดยระบุว่า…

‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’ ซึ่งในอดีตมีชื่อว่า ‘สถานีกลางบางซื่อ’ นั่นเอง หลายๆ คนอาจจะยังไม่ทราบ ว่า สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ กลายเป็น ‘สถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน’ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 136,000 คน เรียกได้ว่า เป็นชุมทางสายรถไฟขนาดใหญ่ที่รายล้อมไปด้วยรถไฟฟ้าและรถไฟจากทางหัวเมืองทางเหนือ ที่เมื่อก่อนหลายๆ คนอาจจะมีภาพจำ คือ ‘รถไฟหัวลำโพง’ นั่นเอง

แต่เนื่องจากที่สถานีหัวลำโพงเดิมนั้น มีขนาดค่อนข้างเล็ก จึงได้มีการโยกย้ายมายังฝั่งของบางซื่อแทน ทำให้การเดินทางต่างๆ นั้นเปลี่ยนไปจากในอดีตพอสมควร โดยสถานีกลางบางซื่อ หรือสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์นี้ จะมีรถไฟฟ้าเชื่อมเข้ามาหลายสาย เช่น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน, สายสีเขียว, สายสีแดง, สายสีม่วง และสายสีแดงอ่อน ซึ่งหมายความว่า หากผู้คนที่อยู่ต่างจังหวัดเดินทางผ่านทางรถไฟความเร็วสูง หรือรถไฟทางคู่ต่างๆ ลงมาจากทางเหนือ ก็จะมาเชื่อมต่อการเดินทางที่ชุมทางสายรถไฟตรงนี้ จากนั้นจึงเดินทางต่อด้วยรถไฟฟ้าเพื่อเข้าสู่ใจกลางเมืองและเขตธุรกิจได้ทันที

และด้วยพื้นที่ที่มีค่อนข้างมหาศาล รวมถึงอยู่ใกล้กับขั้วต่อแหล่งการเดินทางเชื่อมไปยังรถไฟฟ้าสายต่างๆ มากมายหลากหลายสาย จะเดินทางเชื่อมต่อไปยังสนามบินก็ง่ายดาย จึงทำให้เกิดโปรเจกต์ ‘เมืองอัจฉริยะ’ ขึ้นมา ที่สถานีกลางบางซื่อ หรือสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ตรงนี้นั่นเอง

ซึ่งเป็นที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะหากดูจากตำแหน่งจริงๆ นั้น จะเห็นว่า ตัวสถานีกลางบางซื่อนั้น มีขนาดค่อนข้างกว้างใหญ่มาก และกินพื้นที่ไปหลายสถานีเลยทีเดียว

และด้วยเทรนด์รถไฟในต่างประเทศที่ส่วนใหญ่นั้นออกมาแบบมาให้ใช้งานสะดวก หลากหลาย ต้องมีการเชื่อมต่อได้หลายการเดินทาง เชื่อมต่อกับสนามบินให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวสู่ตัวเมืองได้อย่างง่ายดาย และรองรับนักท่องเที่ยว นักเดินทางได้ในปริมาณมหาศาล หรือแม้แต่ประชาชนที่เดินทางไปทำงาน ก็จะเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ รถไฟและสนามบินเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้นั่นเอง ในปัจจุบันสนามบินดอนเมืองนั้น ไม่ได้ถูกเชื่อมต่อกับรถไฟที่ทันสมัย เมื่อลงเครื่องมาจึงต้องหารถแท็กซี่ หรือรถโดยสารอื่นๆ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดตามมาเป็นทอดๆ อีกด้วย

หากพูดถึงเรื่องขนาดแล้ว สถานีกลางบางซื่อ หรือสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ นับเป็นสถานีที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่หากพูดถึงในเรื่องของจำนวนผู้ใช้บริการก็คงต้องบอกว่ายังไม่ได้เป็นอันดับ 1 ขนาดนั้น เพราะเมื่อเทียบกัน จริงๆ แล้ว ‘สถานีรถไฟไทเป’ ที่เป็นสถานีรถไฟใต้ดินและสถานีรถไฟหลักในเมืองหลวงไทเป ของไต้หวัน ซึ่งมีผู้คนมาใช้บริการเฉลี่ยแล้ว 600,000 คนต่อวัน หรือเมื่อเทียบแล้ว คือ มากกว่าตัวของสถานีกลางบางซื่อถึง 4 เท่าเลยทีเดียว

หากพูดถึงเรื่องของทำเลนั้น ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน คือ สามารถเข้าถึงสนามบินได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีรถไฟฟ้าหลากหลายสายมาบรรจบในบริเวณพื้นที่รอบๆ สถานีเหมือนกัน ทำให้เดินทางเข้าสู่เมืองสะดวก เนื่องจากสถานีรถไฟไทเปนั้นตั้งอยู่ตรงกลาง เป็นเหมือนจุดเซ็นเตอร์เพื่อเชื่อมไปยังสถานที่อื่นๆ ต่อได้ อีกทั้งยังมีจุดแข็งที่โดดเด่น คือ มี ‘ห้างสรรพสินค้า’ อยู่ในสถานีรถไฟถึง 5 ห้าง ทำให้ผู้คนที่มาใช้บริการ นอกจากจะมาที่นี่เพื่อเดินทางแล้ว ยังเดินทางมาเพื่อจับจ่ายใช้สอย มาเพื่อชอปปิง มาเดินเที่ยว หรือใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่นี้ได้มากขึ้นจริงๆ

เพราะในส่วนของสนามบินหรือสถานีรถไฟฟ้านักท่องเที่ยว นักเดินทางแต่ละคนก็ล้วนแต่โฉบมาและโฉบไป ลงเครื่องบินเสร็จก็ขึ้นรถบัส ขึ้นรถไฟออกเดินทางต่อ ไม่ได้อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ตรงนั้นมากนัก แต่เมื่อมีห้างสรรพสินค้า ก็จะสามารถตรึงผู้คนให้อยู่ที่นี่ได้นานมากขึ้นนั่นเอง จึงทำให้ภายในสถานีรถไฟไทเปนั้น ถือเป็น ‘ศูนย์รวมขนส่งมวลชนทุกประเภท’ ตั้งแต่ MRT 2 สาย, รถไฟเชื่อมท่าอากาศยานนานาชาติไต้หวันเถา-ยฺเหวียน 2 สาย และยังมีรถไฟทั้งแบบธรรมดาและรถไฟไฮบริด รวมถึงมีสถานีรถโดยสารประจำทาง (Bus station) อีกด้วย เรียกว่า มีครบทุกอย่างในสถานีเดียว สมกับเป็นสถานีกลางจริงๆ

หากย้อนกลับไป สถานีรถไฟไทเปแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในปี 1891 เมื่อเทียบกับประเทศไทยบ้านเรา คือ ในช่วงก่อนหน้าที่จะสร้าง ‘สถานีรถไฟหัวลําโพง’ เพียงแค่ 19 ปีเท่านั้น ต่อมา ไต้หวันก็เติบโตอย่างรวดเร็ว ประชากรชาวไต้หวันก็เติบโตขึ้นมาปรับปรุง พัฒนาประเทศมาโดยตลอด จนกระทั่งในปี 1980 GDP ของไต้หวันนั้น เติบโตจนถึงขีดสุด ผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาใช้บริการสถานีรถไฟไทเปแห่งนี้หนาแน่นขึ้นอย่างมาก

จนทำให้ในปี 1985 ทางรัฐบาลไต้หวันตัดสินใจรื้อสถานีรถไฟเก่า และสร้างสถานีรถไฟใหม่ตรงบริเวณเดิม แต่จัดวางโครงสร้างทั้งหมดขึ้นมาใหม่ โดยนำเอาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงรางรถไฟไปไว้ในใต้ดิน ทำให้ระบบใหม่นี้ สามารถเชื่อมโยงเมืองอื่นๆ ได้มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ในไต้หวัน ดำเนินกิจการไปอย่างราบรื่น และเติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้คนไม่จำเป็นต้องซื้อรถยนต์ เพราะว่าระบบขนส่งสาธารณะ การเดินรถไฟของเขานั้นดีมาก ทำให้การออกแบบผังเมืองถูกปรับเปลี่ยนตามไปด้วย ยิ่งผลักดันให้ไต้หวันเจริญมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

ซึ่งตรงจุดนี้ต่างจากเมืองไทยบ้านเรา เนื่องจากผู้คนในไทยนั้นยังคงชื่นชอบการขับรถยนต์อยู่ จึงทำให้โครงสร้างคมนาคมนั้น อยู่ที่ตัวถนนหนทางนั่นเอง ส่งผลให้เวลาสร้างตึก อาคาร สำนักงานต่างๆ ทุกที่จึงจำเป็นต้องมีที่จอดรถไว้เพื่อรองรับ ในขณะที่ในไต้หวัน ไม่ได้มีความจำเป็นต้องสร้างพื้นที่จอดรถ ทำให้สามารถนำเอาพื้นที่ส่วนนั้นมาทำเป็นสถานที่เอาไว้ปล่อยเช่าได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้ไต้หวันมีสัดส่วนที่จอดรถค่อนข้างน้อยกว่าเมืองไทยนั่นเอง

ทุกอย่างเหมือนเป็น ‘ผลกระทบแบบโดมิโน่’ (Domino Effect) เพราะการที่มีพื้นที่เพิ่มขึ้น ก็สามารถรองรับผู้คนได้มากยิ่งขึ้น คนก็หันมานั่งรถไฟกันมากขึ้น ธุรกิจกิจการโดยรอบสถานีก็เจริญเติบโตมากยิ่งขึ้น เป็นภาพลักษณ์ที่ดีต่อภาคการท่องเที่ยว จนช่วยสร้างรายได้อย่างมหาศาลให้กับประเทศอีกด้วย เรียกว่าเป็นเอฟเฟกต์ที่ดีด้วยกันทั้งระบบ และนอกเหนือจากการวางโครงข่ายการเดินทางที่ดีแล้ว ยังทำให้เกิดความเป็นเมือง สร้างแหล่งท่องเที่ยวในตัวของมันเองอีกด้วย

ซึ่งไอเดียหรือโมเดลนี้นั้น ก็มีความคล้ายคลึงกับทางประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น เนื่องจากสถานีรถไฟของญี่ปุ่นนั้น สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ด้วยตัวของมันเอง โดยสถานีที่โดดเด่นที่สุด คือ ‘สถานีรถไฟชินจูกุ’ ซึ่งถือเป็นสถานีที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดในโลก โดยมีผู้ใช้บริการสูงสุดอยู่ที่ 3.59 ล้านคนต่อวัน ทิ้งอันดับนำโด่งห่างจากทั้งสถานีรถไฟไทเปของไต้หวัน และสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ของไทยเราแบบไม่เห็นฝุ่นเลยทีเดียว

ความพิเศษของสถานีรถไฟชินจูกุนี้นั้น นอกจากจะมีขนาดที่ใหญ่มากแล้ว ยังเต็มด้วยสำนักงาน หรือก็คือแหล่งของคนวัยทำงาน ทำให้ในช่วงเช้าจะมีผู้คนวัยทำงานอยู่ในบริเวณนี้กันอย่างคับคั่ง แต่ในช่วงกลางคืนก็จะกลายเป็นแหล่งชอปปิงที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น อีกทั้งยังมีห้างสรรพสินค้าอีกมากมาย หลากหลายที่ให้นักท่องเที่ยวได้เดินเลือกจับจ่ายใช้สอย นอกจากนี้ สถานีรถไฟชินจูกุ ยังขึ้นชื่อในเรื่องความซับซ้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากตัวสถานีแห่งนี้มีทางเข้า-ออกมากถึง 200 ทางเลยทีเดียว

ทำให้หลายๆ คนมองว่า หากโปรเจกต์ ‘เมืองอัจฉริยะ’ บริเวณสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เกิดขึ้นจริงๆ พื้นที่นี้อาจจะกลายเป็น ‘ชินจูกุเมืองไทย’ ก็เป็นได้ เพราะว่าบริเวณโดยรอบก็มีคอมมูนิตี้ สำนักงาน แหล่งทำงาน แหล่งชอปปิง อีกทั้งการเดินทางก็แสนจะสะดวกสบาย เพราะมีชุมทางสายรถไฟเชื่อมต่อไปยังสนามบินต่างๆ มีรถไฟฟ้าหลายสายเชื่อมการเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองและเขตเศรษฐกิจมากมายอีกด้วย และที่สำคัญ คือ มีพื้นที่ใช้สอยขนาดใหญ่ไม่แพ้ใคร เป็นอันดับ 1 ของอาเซียน

ถึงแม้โครงสร้างของไทยจะแตกต่างจากโครงสร้างของประเทศอื่น แต่ว่าประชากรของไทยนั้นก็มีมากกว่าเช่นกัน โดยไทยมีประชากรมากกว่าไต้หวันถึง 3 เท่าเลยทีเดียว ดังนั้น หากวางระบบให้ดี สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์อาจมีผู้ใช้บริการสะพัดมากกว่า 600,000 คน อย่างสถานีรถไฟไทเปก็เป็นได้…

นอกจากนี้ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ยังมีจุดแข็งอีกอย่าง คือ ไม่เพียงแค่เชื่อมกับฝั่งของกรุงเทพมหานครอย่างเดียว แต่ยังเป็นการจุดศูนย์รวมของ ‘รถไฟความเร็วสูง’ ที่เชื่อมโยงการเดินทางกับประเทศจีน และยังเชื่อมการเดินทางกับอีกหลายประเทศ เช่น เวียดนาม, สปป.ลาว และเมียนมา จนสุดท้ายมาบรรจบจุดสิ้นสุดที่กรุงเทพมหานครนั่นเอง จากนั้นจึงรวมสายการเดินทางเชื่อมลงไปสู่ภาคใต้ ซึ่งมีทั้งประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์อีกด้วย ซึ่งหมายความว่าเส้นทางการเดินรถนี้ สามารถเติบโตต่อไปได้อีกมากเลยทีเดียว

และเรื่องของการเช่าพื้นที่ภายในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์นั้น ก็ได้มีธุรกิจมากมายหลายเจ้า เช่น ทางเครือซีพีเอ็น หรือ ‘เครือเซ็นทรัล’ รวมถึงคิงเพาเวอร์ และแพลน บี มีเดีย เข้ามาขอยื่นซองประมูลบริหารพื้นที่เช่นเดียวกัน

ซึ่งทั้งหมดนี้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปว่า ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’ นั้น จะสามารถเทียบชั้น ‘สถานีรถไฟไทเป’ หรือจะกลายเป็น ‘ชินจูกุเมืองไทย’ ได้หรือไม่