Tuesday, 7 May 2024
ECONBIZ

‘JETRO’ ชื่นชม ‘ไทย’ ให้ความสำคัญด้านความร่วมมือทาง ศก. พร้อมยกระดับห่วงโซ่อุตสาหกรรม ‘EV ไทย-ญี่ปุ่น’ อย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 66 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย เผยผลหารือกับ นายคุโรดะ จุน (Mr.KURODA Jun) ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ณ กรุงเทพฯ (Japan External Trade Organization : JETRO Bangkok) ว่า ประธานเจโทรชื่นชมนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการยกระดับห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญ

พร้อมกันนี้ ได้ขอบคุณในความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน ทั้งบริษัทข้ามชาติและบริษัทวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งจะเป็นรากฐานสำหรับการต่อยอดความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอื่นๆ โดยประธานเจโทรได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายการสนับสนุนการลงทุนของไทยเพื่อให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่บริษัท Startup และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

นางนฤมล กล่าวว่า ไทยให้ความสำคัญกับญี่ปุ่นในฐานะมิตรประเทศสำคัญขนาดใหญ่ร่วมกับจีนและสหรัฐอเมริกา และเป็นประเทศที่มีความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดกับไทยมาอย่างยาวนาน โดยหวังว่าจะสามารถกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

โดยได้ชี้แจงถึงนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN EV hub) กองทุนสีเขียว (Green Fund)

นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลไทยได้มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับ OECD โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้มีมีการดำเนินโครงการ Country PRogramme ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2568) ร่วมกับ OECD ที่จะช่วยส่งเสริมศักยภาพ และการพัฒนาขัดความสามารถด้านการแข่งขันของไทย พร้อมทั้งสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใส และการปฏิรูปกฎระเบียบภายในประเทศให้ดียิ่งขึ้น

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 13 - 17 พ.ย. 66  จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 20 - 24 พ.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงจากนักลงทุนเทขายทำกำไรและความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯ และจีนผ่อนคลาย 

-ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯ และจีนผ่อนคลาย ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 66 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Joe Biden และประธานาธิบดีจีน นาย Xi Jinping ได้ตกลงที่จะฟื้นฟูการเจรจาทางทหารระดับสูงตลอดจนการหารือระหว่างรัฐบาลเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ในการประชุม Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) ที่ซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐฯ

-สำนักสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานโรงกลั่นนำน้ำมันดิบเข้ากลั่น (Throughput) ในเดือน ต.ค. 66 ลดลงจากเดือนก่อน  2.8% MoM อยู่ที่ 15.12 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากอุปสงค์ในภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวและค่าการกลั่นลดลง ส่วนปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในประเทศลดลงจากเดือนก่อน 0.6% อยู่ที่ 4.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

-กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ซื้อน้ำมันดิบปริมาณรวม 1.2 ล้านบาร์เรล เพื่อเติมคลังสำรองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) โดยได้บรรลุข้อตกลงกับบริษัท 2 ราย ด้วยราคาเฉลี่ย 77.57 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และจะออกประมูลซื้อเพิ่มเติมอย่างน้อยจนถึงเดือน พ.ค. 67

-รายงานฉบับเดือน พ.ย. 66 ของ OPEC คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน  2.46 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 102.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้น 50,000 บาร์เรลต่อวัน จากคาดการณ์ครั้งก่อน) และในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 104.36 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้น 50,000 บาร์เรลต่อวัน จากคาดการณ์ครั้งก่อน)

-คาดการณ์ราคา ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ $80-85/BBL ติดตามบันทึกการประชุม FOMC ของธนาคารกลางสหรัฐฯ วันที่ 20 พ.ย. 66 ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา นาย Jerome Powell ส่งสัญญาณว่า Fed ไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจับตาการประชุม Joint Ministerial Monitoring Committee (JMMC) ของกลุ่ม OPEC และพันธมิตร (OPEC+) ในวันที่ 26 พ.ย. 66 โดย ตลาดคาดการณ์ซาอุดีอาระเบียจะขยายเวลาอาสาลดการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติม 1 MMBD จากเดิมสิ้นสุดเดือน ธ.ค. 66 (เริ่มต้นเดือน ก.ค. 66) ไปจนถึงอย่างน้อยไตรมาส 1/67 หรืออาจขยายถึงครึ่งแรกของปี 2567 และมองว่า OPEC+ จะมีมติคงนโยบายลดการผลิตน้ำมันดิบรวม 3.66 MMBD ไปจนถึงสิ้นปี 2567

‘อลิอันซ์ อยุธยา’ นำทีม ‘มาหามิตร’ กระตุ้นแยกขยะ-เลิกเทรวม ต่อยอดโครงการ ‘ปทุมวัน Zero Waste’ สู่งาน ‘THINK ทิ้ง..ชีวิต’

‘บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา’ นำทีม ‘มาหามิตร’ (Alliance for Sustainability) จัดกิจกรรม ‘THINK ทิ้ง ... ชีวิต’ ปลุกจิตสำนึกแยกขยะ เลิกเทรวม ทั้งระดับครัวเรือนและองค์กร ลดขยะไปสู่บ่อขยะฝังกลบให้น้อยที่สุด โชว์ผลงานรักษ์โลก 7 ศิลปินร่วมสมัย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหา ‘ขยะ’ เกิดจากพฤติกรรมของเราทุกคน ก่อให้เกิดการสะสมของขยะมูลฝอย ขยะสารเคมีที่เป็นอันตราย ขยะพลาสติกทั้งถุงหูหิ้ว ขวดน้ำ แก้วพลาสติก กล่องโฟม เศษอาหาร และอื่นๆ กระจายอยู่ในพื้นที่บ่อขยะ พื้นที่ฝังกลบ พื้นที่ที่มีการนำขยะไปเทกองรวมกัน รวมทั้งแม่น้ำลำคลอง ชุมชน และพื้นที่เมือง ฯลฯ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน

‘กลุ่มมาหามิตร’ นำโดย อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ร่วมด้วย กรุงเทพมหานคร, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โครงการ ‘Chula Zero Waste’ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง, เอ็ม บี เค, สยามพิวรรธน์, กลุ่มสยามกลการ, โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพ และ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในฐานะกลุ่ม ‘มาหามิตร’ (Alliance for Sustainability) ส่งเสริมการแยกขยะ ‘เลิกเทรวม’ เพื่อให้เกิดการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดกิจกรรม ‘THINK ทิ้ง ... ชีวิต’ งานใหญ่กลางกรุง โดยหยิบแนวคิดการใช้ศิลปะมาร่วมสร้างแรงบันดาลใจสู่การตระหนักคิด สร้างจิตสำนึก และเปลี่ยนแปลงสู่พฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของคนเมือง

งานนี้จัดขึ้น เพื่อตะโกนดังดังบอกทุกคนว่า ‘เลิกมักง่ายเถอะ’, ‘แยกขยะกันเถอะ’ เพราะปัญหาขยะจะไม่มีวันแก้ได้ ถ้าคนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ช่วยกัน อีกทั้ง การทิ้งของเราทุกคนมีผลต่อการเปลี่ยนชีวิตของใครคนใดคนหนึ่งเสมอ ถ้าคิดก่อนทิ้งเราอาจเปลี่ยนชีวิตได้มากมาย ดังนั้น

เราจะทิ้งเพื่อ ‘สร้างชีวิต’
เราจะทิ้งเพื่อ ‘ปลูกชีวิต’
เราจะทิ้งเพื่อ ‘ช่วยชีวิต’
หรือเราจะ ‘ทิ้ง ... ชีวิต’ ก็ขึ้นอยู่กับตัวของเราทุกคน

นางสาวพัชรา ทวีชัยวัฒนะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารงานลูกค้า บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ในฐานะตัวแทนกลุ่มมาหามิตร กล่าวว่า กลุ่ม ‘มาหามิตร’ เกิดจากการรวมตัวกันขององค์กรต่างๆ ทั้งภาคเอกชนและภาคสาธารณะในเขตปทุมวัน ร่วมแสดงเจตจำนง ตั้งเป้าหมายสู่ความยั่งยืนร่วมกัน ถือเป็นการสร้างความยั่งยืนจากภายในองค์กรเพื่อขยายผลสู่ภายนอก แต่ละองค์กรพันธมิตรอาจมีเป้าหมายธุรกิจที่ต่างกัน แต่เป้าหมายใหญ่ร่วมกัน คือ การสร้างความยั่งยืนให้แก่โลกในมิติต่างๆ

โดยเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวคือ เรื่องการจัดการขยะในองค์กร ซึ่งต่อมาเกิดเป็นโครงการ ‘ปทุมวัน Zero Waste’ ส่งเสริมการแยกขยะเพื่อให้เกิดการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่เขตปทุมวัน ที่มีเป้าหมายเพื่อลดขยะไปสู่บ่อขยะให้น้อยที่สุด และเพื่อเป็นการรณรงค์ให้เกิดการแยกขยะในวงกว้างขึ้น ปีนี้เราจึงต่อยอด สู่งาน ‘THINK ทิ้ง ... ชีวิต’ เพื่อสะท้อนสถานการณ์ขยะที่เกิดจากพฤติกรรมการทิ้งของพวกเรา และชี้ให้เห็นแนวทางการแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรม ให้ความสำคัญกับการ ‘แยกขยะ’ ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับองค์กร

นางสาวพัชรา กล่าวว่า ในส่วนของ บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา รณรงค์ให้พนักงาน 1,400 คน ของเราเข้าใจว่า “จริงๆ แล้ว ไม่มีอะไรเหลือเป็นขยะเลย มันสามารถบริหารจัดการได้ ถ้าแยกสิ่งที่ทิ้งให้มีที่ไป ซึ่งเราได้ทำแบบนี้มาหลายปีแล้ว โดยแยกขยะออกเป็น 4 สเตชั่น ได้แก่ พลาสติกที่รีไซเคิลได้ ขวดแก้ว ขยะเศษอาหาร และขยะที่ไปต่อไม่ได้ ต้องเผาเช่น พลาสติก ฟรอยด์ ฯลฯ วันนี้เราสามารถลดขยะไปบ่อฝังกลับได้ดี เราจึงอยากขยายขอบเขตการตระหนักรู้ สู่สาธารณชน จึงเริ่มจากการไปดูชีวิตของคนเก็บขยะ มาตีแผ่ให้ทุกคนได้เห็นว่าเขาทำงานกันอย่างไร และคุณเคยเป็นคนหนึ่งไหมที่ทิ้งโดยไม่คิด ว่ามันไปสร้างความลำบากให้กับคนเก็บขยะมากแค่ไหน เราเชื่อว่าถ้าทุกคนมีประสบการณ์จากมาแยกขยะเอง อย่างน้อยถ้าเขาไม่แคร์โลก เขาก็จะแคร์คนที่เก็บขยะ ที่ต้องทำหน้าที่อยู่หน้างานอันเกิดจากการทิ้งแบบไม่คิดของเขา”

“การแยกขยะ เป็นความลำบากคนทุกคนที่มีความเห็นแก่ตัวเป็นพื้นฐาน แต่พอเรามาสร้างจิตสำนึก ให้คิดได้ว่าการช่วยเหลือจากเราเล็กๆ น้อย มันมีผลมหาศาลต่อสัตว์ คน และสิ่งแวดล้อม ตอนนี้กรุงเทพมหานครใช้เงินหมื่นล้านบาทต่อปี ในการบริหารจัดการขยะ ถ้าเราทุกคนช่วยกัน ก็จะสามารถลดเงินตรงนี้ และมีเงินเหลือไปสร้างเมืองให้สวยงาม วัตถุประสงค์ของการจัดงานนี้คือสร้างความตระหนักรู้ เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของคน” นางสาวพัชรา กล่าว

นางสาวพัชรา ยังบอกด้วยว่า งานนี้เราได้เชิญศิลปิน 7 คน มาร่วมสร้างงานศิลปะ โดยการใช้วัสดุเหลือใช้มาประกอบร่างเป็นงานศิลปะ ที่มีแนวคิดแตกต่างกันไป ซึ่งถ้าเราไม่เรียกเขาว่าขยะ เราสามารถเอามาสร้างต่อให้มีคุณค่าได้ เราเชื่อว่าการดึงศิลปินเข้ามา มันจะสร้างการรับรู้ในเรื่องของขยะ ให้เป็นวงกว้าง เป็นสิ่งที่เราอยากให้คนจำนวนมากได้รับรู้และตระหนักได้ถึงความสำคัญในการจัดการขยะของตัวเอง เราหวังว่ากิจกรรมนี้จะสร้างความตระหนักรู้ว่า ถ้าคุณเทรวมมา มันเสียเวลาแยก แต่ถ้าคุณแยกมามันไปต่อได้ เพราะมีหน่วยงานที่สามารถรับขยะของคุณได้เลยทั้ง วงษ์พาณิชย์ เซอร์พลัส ส่วนขยะเศษอาหาร ซึ่งเราเรียกมันว่าขยะอินทรีย์ ก็สามารถหมักเองที่บ้าน โดยการนำใบไม้มาคลุมแล้วเอาปุ๋ยขี้วัวมาใส่ หมักไว้มันก็จะเป็นปุ๋ยที่สามารถบำรุงต้นไม้ได้อย่างดี ซึ่งโดยส่วนตัวก็เริ่มแยกขยะจากที่บ้าน ทุกวันนี้ก็แทบไม่มีขยะที่จะส่งไปบ่อฝังกลบเลย

นางสาวพัชรา กล่าวอีกว่า สิ่งที่อยากให้หลายคนตระหนักคือ สินค้าแฟชั่นเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่สร้างคาร์บอนฟุตปรินท์เยอะที่สุด เพราะการผลิตผ้าใช้พลังงานเยอะมาก เราจึงรณรงค์ ให้เอาเสื้อผ้ามารีไซเคิล มาแลกเปลี่ยนหมุนเวียนกันโดยไม่ต้องซื้อใหม่ เป็นการลดใช้พลังงาน โดยภายในงานก็มีกิจกรรมนี้ด้วย โดยมีเด็กสองคนที่มีหัวใจไม่สร้างคาร์บอนฟุตปรินท์ เพื่อสื่อให้คนเข้าใจว่า เสื้อผ้าใส่แล้วมันเบื่อก็เอามาแลกกัน โดยไม่ต้องซื้อ ลดการใช้พลังงาน

“อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ในฐานะผู้นำกลุ่มมาหามิตร มีความตั้งใจเป็นอย่างมากในการจัดงาน “THINK ทิ้ง...ชีวิต” ครั้งนี้ เพราะปัญหาขยะ คือ ปัญหาเร่งด่วน แต่เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ เมื่อทุกคนร่วมมือกัน” นางสาวพัชรา กล่าวย้ำ

สะท้อนชีวิต… คนเก็บขยะ
ด้าน ‘นายน้ำพุ โต๊ะกา’ พนักงานขับรถขยะประจำสำนักงานเขตคลองเตย กล่าวว่า ตนรักในอาชีพเก็บขยะ เพราะได้คลุกคลีกับอาชีพนี้มาตั้งแต่เด็ก ไม่เคยคิดว่าเป็นอาชีพที่ต่ำต้อย แต่เป็นงานที่ต้องอาศัยความเสียสละ และอดทน ที่สำคัญเป็นงานสุจริตที่ทำให้พ่อมีเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวให้มีกินมีใช้ และเมื่อตนโตขึ้น ก็เลือกที่จะทำอาชีพนี้ และได้เข้าทำงานตั้งแต่อายุ 22 เริ่มจากเป็นพนักงานท้ายรถ จนเลื่อนตำแหน่งเป็นพนักงานขับรถขยะประจำสำนักงานเขตคลองเตย

“เป็นความใฝ่ฝันที่ผมมาจุดนี้ได้ เพราะมันมีสวัสดิการ มีความมั่นคงในชีวิต ผมทำอาชีพนี้มา 15 ปี วันนี้ผมมีเงินที่จะส่งลูก 4 คน ให้มีการศึกษา และเมื่อพ่อแม่ลูกเมียเจ็บป่วยก็สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ แม้ว่าในสายตาคนอื่นเป็นงานต่ำ แต่สำหรับผมถือเป็นเกียรติที่ทำงานนี้ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนมาทำงานจุดนี้และจะอยู่ได้นานนะ บางคนมาแล้วก็ไป ลองทำแล้วไม่ชอบเขาก็ไป แต่ผมรักงานนี้และทำงาน 7 วัน โดยไม่รู้สึกเบื่อ แม้ว่าจะต้องทำงานในเวลากลางคืนก็ตาม เพราะนอกจากมีเงินเดือนประจำแล้ว ยังมีรายได้จากการแยกและขายขยะ นำเงินมาแบ่งปันให้กับลูกน้องได้ด้วย” นายน้ำพุ กล่าวด้วยนัยน์ตาเป็นประกาย

นายน้ำพุ ยังได้กล่าวถึงความเข้าใจของหลายคนที่มีความคิดว่า จะแยกขยะทำไม เพราะ กทม.ก็นำไปเทรวมอยู่ดี โดยยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เพราะในแต่ละวันเมื่อเก็บขยะแล้ว ก็ต้องนำไปแยกที่สำนักงานเขต ซึ่งถ้าคนแยกมาก่อนแล้ว งานก็จะเร็วขึ้น แต่ถ้าไม่แยกก็จะทำให้เสียเวลา นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดอันตรายจนถึงต่อคนเก็บขยะ แม้ว่าจะมีอุปกรณ์ป้องกันทั้งถุงมือยางถุงมือผ้าแล้วก็ตาม เพราะไม่มีอุปกรณ์ใดสามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

“ที่เราเจอบ่อยคือ ไม้แหลม ไม้ลูกชิ้น เข็ม ที่สามารถทะลุถุงมือยางได้ คนเก็บขยะทุกคนเจอปัญหานี้ บางคนทิ้งขวดแตก กระจกแตก โดยไม่แยก ก็จะเป็นความลำบากของเรา เพราะเราทำงานแข่งกับเวลา ไม่ได้ดูละเอียด จึงอยากให้ทุกคนช่วยกัน แยกขยะโดยถ้าเป็นเศษกระจก หลอดไฟ ที่แตกก็ให้ห่อกระดาษก่อนหรือเขียนไว้ ส่วนไม้แหลมก็ให้หักปลายหรือใส่ขวดก่อนทิ้งก็จะช่วยได้มาก ขยะบางอย่างเช่น แพมเพิร์ส บางคนไม้ห่อไม่มัด เราก็ต้องเจอแบบเต็ม ๆ มือ เหล่านี้คนทิ้งมันง่าย แต่คนเก็บเราต้องเจอกับเชื้อโรค แบบตรงๆ จึงอยากวิงวอนว่า ถ้าสิ่งไหนไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็ขอให้ความร่วมมือ” นายน้ำพุ กล่าว

ต่อข้อถามที่ว่า การนำเข้าขยะจากต่างประเทศ มีผลกระทบกับประเทศไทยไหม นายน้ำพุ ยอมรับว่ามี ในฐานะที่คลุกคลีกับร้านรับซื้อขยะ ทำให้รู้ว่า ราคาการรับซื้อตกลง แต่ก็เข้าใจว่า เพราะเขานำเข้าขยะสะอาด ซึ่งถ้าประเทศไทยสามารถแยกขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ การนำเข้าขยะก็จะลดลง และผลประโยชน์ก็จะหมุนเวียนอยู่ในประเทศเรา

ผู้ร่วมจัดงานในกลุ่ม ‘มาหามิตร’ จึงขอเชิญชวน ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เพราะนอกจากจะได้รับรู้ถึงการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีแล้ว ภายในงานยังมีการ การจัดนิทรรศการและกิจกรรมให้ความรู้มากมายที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย เพื่อมุ่งเปลี่ยนพฤติกรรมทุกคนให้มีพฤติกรรมการทิ้งที่เปลี่ยนไป โดยมีการจำลองบ่อขยะ และเปิดประสบการณ์ชีวิตจริงของพนักงานเก็บขยะจากกทม. เริ่มจากห้องเปลี่ยนใจ ที่จะมาไขข้อข้องใจ ทลายความเชื่อ ว่าแยกขยะไปทำไม หากสุดท้ายนำไปเทรวม ต่อด้วย ‘กิจกรรมทิ้ง...ชีวิต’ ที่จะเปิดโอกาสให้คุณได้สวมบทบาทคนเก็บขยะ กับความท้าทายที่คุณไม่อาจเคยรู้ ต่อด้วยทางเลือกคนกรุง ตัวช่วยที่จะทำให้การแยกขยะของคุณมีค่า และชุมชนแลกเปลี่ยนแฟชั่น Swoop Buddy

นอกจากนั้น ยังได้นำเสนอผลงานของ 7 ศิลปินร่วมสมัยชั้นนำของไทย ประกอบด้วยผลงานของ คุณวิชชุลดา ปัณฑุรานุวงศ์ คุณจิรายุ ตันตระกูล คุณเอก ทองประเสริฐ คุณพงษธัช อ่วยกลาง คุณปรัชญา เจริญสุข คุณปฏิพัทธ์ ชัยวิเทศ คุณปิยาภา วิเชียรสาร และคุณชโลชา นิลธรรมชาติ จาก A Thing that is Pieces ที่ร่วมกันรังสรรค์ผลงานศิลปะ จากวัสดุส่วนเกินที่หลายคนไม่ต้องการ

ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ฟรี ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 ตั้งแต่ เวลา 10.00 – 19.00 น. ณ ลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ลานใบบัวเชื่อมรถไฟฟ้า สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ และ Meeting Point ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ บุกเมืองคอน งัดบิ๊กอีเวนต์ จัดงาน ‘อุตสาหกรรมแฟร์ฯ’ จับคู่ธุรกิจ-เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการ คาดเงินสะพัดกว่า 200 ลบ.!!

(21 พ.ย. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมผนึกกำลังภาครัฐและเอกชน เตรียมจัดงาน ‘อุตสาหกรรมแฟร์ เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช’ โดยกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2566 เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ลานอเนกประสงค์ ตลาดเสาร์อาทิตย์ ถนนพัฒนาการคูขวาง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเปิดเป็นพื้นที่ส่งเสริมสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรม กิจกรรมจับคู่ธุรกิจและเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งคาดว่าตลอดการจัดงานทั้ง 5 วันจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 100,000 คน และเกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจกว่า 200 ล้านบาท

“เราจะมีกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจ และมอบเป็นของขวัญปีใหม่ส่งท้ายปีให้แก่ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ที่มีทั้งการจำหน่ายสินค้าคุณภาพ การจัดสัมมนาให้องค์ความรู้ และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายที่จะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคใต้ และระยะต่อไปมีแผนในการขยายพื้นที่การจัดงานในภาคอื่น ๆ ในอนาคต” รมว.อุตสาหกรรมกล่าว

นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ‘งานอุตสาหกรรมแฟร์ เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช’ จะจัดภายใต้แนวคิด ‘การส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจเขตพื้นที่ภาคใต้’ (Southern Industrial Fair) โดยกิจกรรมภายในงานแบ่งออกเป็น 5 โซนต่าง ๆ ได้แก่ โซนที่ 1 การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าคุณภาพกว่า 300 บูธในราคาสุดพิเศษ อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม สมุนไพรและเกษตรแปรรูป พร้อมโปรโมชันพิเศษเฉพาะภายในงาน เพื่อลดค่าครองชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ โซนที่ 2 นิทรรศการแสดงการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย อาทิ การจัดแสดงเทคโนโลยีเครื่องจักรกล การจัดแสดงต้นแบบรถยนต์ EV ต้นแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ และนวัตกรรมต่าง ๆ

โซนที่ 3 การบริการให้คำปรึกษาแนะนำในด้านต่าง ๆ จากหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน โซนที่ 4 การสัมมนาองค์ความรู้ต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาองค์ความรู้การประกอบธุรกิจในยุคใหม่ และโซนที่ 5 กิจกรรมพิเศษอื่น ๆ อาทิ การบริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องรถจักรยานยนต์ฟรี การเปิดรับสมัครงานในพื้นที่ภาคใต้ เป็นต้น

นอกจากนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้จัดสัมมนาให้ความรู้ด้านการมาตรฐาน (สมอ.) และมอบใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) มาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก.เอส) มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องบงกชรัตน์ โรงแรมทวินโลตัส จังหวัดนครศรีธรรมราช

รวมถึง กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ยังจัดกิจกรรมวิ่งเพื่อสิ่งแวดล้อม ในกิจกรรม ‘Walk & Run for Ozone and Climate 2065 Net zero’ และ ‘จิตอาสาเพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์’ ในวันที่ 2 ธันวาคม 2566 ณ เขาพลายดำ จังหวัดนครศรีธรรมราช

‘มาร์ส เพ็ทแคร์’ หนุนเกษตรกรปลูก ‘ข้าว-ข้าวโพด’ อย่างยั่งยืน หวังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นำร่อง ‘นครราชสีมา-ลพบุรี’

(21 พ.ย. 66) นายปิยรัฐ อมรฉัตร ผู้อำนวยการด้านการจัดซื้อ ภูมิภาคเอเชีย บริษัท มาร์ส เพ็ทแคร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินการร่วมกับ 6 พันธมิตรทางการค้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่การผลิตผ่านโครงการเกษตรกรรมฟื้นฟู

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้กิจกรรม Climate Actions For A Better Tomorrow โดยจะนำร่องโครงการในการปลูกข้าวโพดและข้าวนำร่อง ที่ จ.นครราชสีมา และ จ.ลพบุรี 

สำหรับการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการขับเคลื่อนเป้าหมายบริษัท ที่วางแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% ภายในปี 2573 และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 

ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้สามารถช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมีส่วนสำคัญในการเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์และฟื้นฟูดินควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

“มาร์ส เพ็ทแคร์ ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงภายใต้กรอบความยั่งยืนและหนึ่งในเป้าหมายความยั่งยืน คือ การลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยดำเนินโครงการเกษตรกรรมฟื้นฟู มุ่งยกระดับสุขภาพและความอุดมสมบูรณ์ของดิน เพื่อจัดเก็บคาร์บอนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปรับปรุงคุณภาพของลุ่มน้ำ และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งโครงการนี้จะเสริมสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งกับเกษตรกร เพื่อจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก้าวไปสู่การเกษตรแบบเท่าทันภูมิอากาศ ( Climate Smart Agriculture) โดยทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์และเกษตรกรส่งเสริมวิธีการทำเกษตรที่ดียิ่งขึ้น และการสนับสนุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มศักยภาพกระบวนการผลิตข้าวโพดและข้าวอย่างยั่งยืน” 

นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า การขับเคลื่อนเรื่องลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นวาระสำคัญของทุกภาคส่วน โดยภาครัฐพร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกจากกลุ่มภาคเกษตรกรรม เพราะเป็นอาชีพหลักของประชาชนในจังหวัดนครราชสีมา

สำหรับ 6 พันธมิตรที่ร่วมดำเนินการ ประกอบด้วย ร้านตรงพานิช, บริษัท ส.วิริยะอินเตอร์เทรด จำกัด ,บริษัท พูลอุดม จำกัด, บริษัท วชาไล จำกัด (แสงตะวัน), ห้างหุ้นส่วนจำกัดกรแก้วพืชผล และบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนลไรซ์ แอนด์โปรดักซ์ จำกัด

'มือเศรษฐกิจจุลภาค' ห่วง!! GDP ไทย Q3/66 โตต่ำ 1.5% แนะ!! ใช้คนให้ถูกกับงาน เพราะคนเก่งไม่กี่คนแบกประเทศไม่ได้

(21 พ.ย. 66) นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ มือเศรษฐกิจจุลภาค อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Ta Plus Sirikulpisut' ระบุว่า…

GDP Q3 ประเทศไทยที่เรารัก โต 1.5% ซึ่งต่ำมาก ๆ ครับ เรามาแกะตัวเลขกันว่าปัญหาอยู่ตรงไหนต้องแก้อะไรบ้าง

1.โครงสร้าง GDP ประกอบไปด้วย การบริโภคภาคเอกชน การบริโภคภาครัฐ การลงทุน และการส่งออก หักการนำเข้า เป็นความรู้พื้นฐานด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค โดยเราควรติดตาม Capital flow ในส่วน Leakage and injection ด้วย

เราอยากให้ประเทศมีเศรษฐกิจเติบโต และกระจายไปอย่างทั่วถึงเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน

2.ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ไม่ดี เราอยู่ในภาวะ Perfect strom ที่มีปัญหารุมมากมาย แต่ละประเทศก็แก้ไขต่างกัน แต่เรายังแก้ไขไม่ดีครับ ปัญหาที่โลกใบนี้เจอ คือ ของแพง จากราคาพลังงาน และอาหาร สาเหตุจากสงคราม รัสเซีย ยูเครน และ ฮามาสกับ อิสราเอล รวมถึงสงครามการค้าจีน สหรัฐ ยุโรป

นอกจากของแพง ดอกเบี้ยก็ขึ้นสูงทำให้การบริโภคและการลงทุนทำได้ไม่คล่องเหมือนภาวะปกติ
การลดปริมาณเงินของสหรัฐที่อัดฉีดเงินมายาวนานสิ้นสุดลง และกระทบตลาดหุ้น ตลาดทุน ของที่เคยแพงสินทรัพย์ ราคาหุ้น ก็ลดลงแรง

3.ประเทศไทยเรายังมีการบริโภคที่ดี โดยภาคบริการ การท่องเที่ยว ช่วยค้ำยัน อาหาร โรงแรม ให้เติบโตดี แม้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวไม่มากเท่าก่อนโควิด แต่ก็เติบโตดีมาก

4.ภาคการผลิต เริ่มจากภาคเกษตร ราคาสินค้าไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก มีบางหมวดที่ปรับขึ้นได้ แต่ผลิตภาพไม่ดี คือผลผลิตออกมาได้น้อยเมื่อเทียบกับการลงทุนลงแรง ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรามุ่งอุดหนุนราคาเกษตรแต่ไม่ปรับผลิตภาพ (Productivity)

ภาคอุตสาหกรรม เน้นขายของในสต๊อกของใหม่ผลิตน้อยกลัวขายไม่ได้ และโดนสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาตี ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ และอีกหลาย Cluster ใหญ่ ๆ ทำให้ขายในประเทศก็ยาก ส่งออกก็ยากแม้ค่าเงินบาทจะอ่อนลงมากแต่ก็ขายไม่ได้ ขนาดในประเทศยังขายได้ยาก จะไปสู้ต่างประเทศยิ่งยาก ต้นทุนสูง ไม่ได้ Economic of scale แถมสินค้าเรากำลังตกยุคไม่ได้เป็นที่ต้องการตลาดโลก

5.ภาคส่งออกเป็นปัญหามายาวนาน ยุคอดีต รมว. พาณิชย์ พยายามปั้นแล้วแต่ไม่ฟื้น กระทรวงเศรษฐกิจแต่ไม่ได้คนเก่งเศรษฐกิจมาทำงานให้ข้าราชการทำงานเป็นหลัก คนให้ทิศทางไม่ชัดก็ไปต่อยาก วันนี้ได้เสาหลักมาจากท่องเที่ยวมาช่วย แต่ยังห่างไกลมากต้องทำงานอีกเยอะ ทีมเศรษฐกิจต้องแข็งจริง ร่วมมือกับเอกชน ถ้าตลาดในประเทศโดนต่างชาติมาตีตลาด ในบ้านขายไม่ออกส่งออกก็ยาก เพราะต้นทุนเฉลี่ยไม่ได้ Scale เอาใจช่วยมากครับ

6.การลงทุน และใช้จ่ายภาครัฐ สะดุดแรงช่วงเลือกตั้งและการตั้งรัฐบาล Q3 จึงสะดุดแรงมากใครขายของภาครัฐนิ่งสงบ คาดว่า Q4 จะดีขึ้นเล็กน้อยแต่ต้องเร่ง งบประมาณรายจ่ายให้ไว ไม่งั้นจอด 

ปัญหาวันนี้เป็นที่โครงสร้างต้องใช้คนเก่งมาก ๆ มาช่วยกันทำงาน หากเป็น ครม. แบ่งโควตาไม่เน้นความสามารถปัญหานี้แก้ยากมาก เรียนด้วยความสัตย์จริงไม่ได้ว่าพรรคไหน หรือแขวะใคร วันนี้ต้องทำงานไว มี รมต. เก่งไม่กี่คนไม่สามารถแบกทีม แมนยู ให้ไปแชมเปียนส์ลีกได้ ควรจัดทีมให้เหมาะครับ

ต๊ะ พลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์
บทความเชิงวิชาการส่วนตัว
ไม่ได้เกี่ยวข้องกับต้นสังกัดข้าพเจ้า

‘KTC’ ร่วมมือ 18 โรงพยาบาลมอบสิทธิพิเศษสมาชิก หลังซื้อแพ็กเกจตรวจสุขภาพประจำปี ตั้งแต่วันนี้-29 ก.พ. 67

(21 พ.ย. 66) นางสาวสิรีรัตน์ คอวนิช ผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต ‘เคทีซี’ หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “หมวดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่มียอดใช้จ่ายติดอันดับ 1 ใน 5 คือหมวดสุขภาพและโรงพยาบาล โดยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของทุกปี จะเป็นช่วงที่สมาชิกนิยมซื้อแพ็กเกจตรวจสุขภาพมากที่สุด เพราะเป็นช่วงที่ถึงรอบการตรวจสุขภาพประจำปีของคนส่วนใหญ่ และในปัจจุบันมีโรคระบาดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาการของโรคมีการเจ็บป่วยที่หนักขึ้นจนอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิต คนจึงหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพกันมากขึ้น เพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรงอยู่เสมอ” 

“เพราะการตรวจสุขภาพเป็นประจำ ทำให้เราสามารถป้องกันและรักษาก่อนเกิดโรคได้อย่างทันท่วงที เคทีซีจึงได้ร่วมกับ 18 โรงพยาบาล มอบสิทธิพิเศษให้กับสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซี เมื่อซื้อแพ็กเกจตรวจสุขภาพที่ร่วมรายการ สามารถลงทะเบียนรับของขวัญส่งท้ายปี อาทิ รับบัตรกำนัลสตาร์บัคส์ (Starbucks) เมื่อซื้อแพ็กเกจตรวจสุขภาพและชำระด้วยบัตรเครดิตเคทีซีที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ซอยศูนย์วิจัย / โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท / โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ / โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ / โรงพยาบาลในเครือพญาไท / โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน ตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไป ระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2566 - 29 กุมภาพันธ์ 2567 

หรือรับเครื่องฟอกอากาศ มูลค่า 3,590 บาท เมื่อมียอดใช้จ่ายตั้งแต่ 100,000 บาทขึ้นไปต่อเซลส์สลิป / รับกระเป๋าล้อลาก 20 นิ้ว มูลค่า 2,490 บาท เมื่อมียอดใช้จ่ายตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไปต่อเซลส์สลิป หรือรับกล่องใส่อาหารมูลค่า 169 บาท เมื่อมียอดใช้จ่ายตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไปต่อเซลส์สลิป 

สมาชิกที่สนใจสามารถซื้อแพ็กเกจตรวจสุขภาพได้ที่เครือโรงพยาบาลเปาโล / โรงพยาบาลกรุงเทพ พัทยา / โรงพยาบาลกรุงเทพ ราชสีมา / โรงพยาบาลกรุงเทพ หัวหิน / โรงพยาบาลมหาชัย 2 ตั้งแต่ 1 กันยายน 2566 ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2567 หรือ (ระยะเวลาขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาล) โดยดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://bit.ly/3SK23dI” 

ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ KTC Phone โทร. 0-2123-5000 สมัครบัตรเครดิตเคทีซีทุกประเภทคลิก https://ktc.today/apply-card หรือติดต่อศูนย์บริการสมาชิก ‘เคทีซี ทัช’ ทุกสาขาทั่วประเทศ

‘AOT’ เปิดงบรวมปี 66 โชว์ผลกำไร 8,790 ล้านบาท โต 179% อานิสงส์ธุรกิจการบิน-ฟรีวีซ่าช่วยหนุนแรง

(21 พ.ย. 66) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) เผย งบรวมปี 2566 พลิกทำกำไรสุทธิ 8,790 ล้านบาท เติบโต 179.28% จากงวดปี 65 ที่ขาดทุน 11,088 ล้านบาท แรงหนุนจากธุรกิจการบินที่ทำรายได้ 22,266 ล้านบาท โตทะลุ 205%

บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) และบริษัทย่อย รายงานงบการเงินรวมงวดปี 2566 (สิ้นสุด 30 ก.ย.66) มีกำไรสุทธิ 8,790.87ล้านบาท เพิ่มขึ้น 179.28% กำไรต่อหุ้น 0.62 บาทต่อหุ้น  เทียบกับงวดปี 2565 ที่ขาดทุนสุทธิ -11,087.86 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.78 บาท

โดยงบรวมงวดปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายหรือการให้บริการอยู่ที่ 48,140.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31,580.90 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 190.71% จากปี 2565 ที่มีรายได้ 16,560.02 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น

- รายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน 22,265.83 ล้านบาท เพิ่ม 14,975.78 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 205.43%เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสาร
- รายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน 25,875.09 ล้านบาท เพิ่ม 16,605.12 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 179.13%
- รายได้อื่น 304.58 ล้านบาท ลดลง 1,027.26 ล้านบาท หรือลดลง 77.13%

ด้านค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 5,422.70 ล้านบาท หรือเพิ่ม 18.81% ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงาน ค่าจ้างภายนอก ค่าสาธารณูปโภค และค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษา ในขณะที่ขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุ และค่าใช้จ่ายอื่นลดลง รวมทั้งต้นทุนทางการเงินลดลง 39.31 ล้านบาทหรือลดลง 1.34% สำหรับค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น 5,122.60 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 177.40% สอดคล้องกับผลการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น

‘พีระพันธุ์’ เบรก ‘กกพ.’ ขึ้นค่าไฟ 4.68-5.95 บาท ต้นปี 67 ลั่น!! ต้องได้ 3.99 บาท ช่วยลดภาระประชาชนให้มากที่สุด

(21 พ.ย. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงกรณีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออก 3 ทางเลือกขึ้นค่าไฟหน่วยละ 4.68 - 5.95 บ. งวดมกราคม-เมษายน 67 

จากปัจจุบัน (กันยายน-ธันวาคม 66) อยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. วันที่ 10 - 24 พฤศจิกายนนี้ ว่า 

ขณะนี้ได้สั่งการให้ทีมงานเข้าไปดูโครงสร้างต้นทุนค่าไฟเพื่อพิจารณาแนวทางช่วยเหลือประชาชน จะแยกต้นทุนรายตัว บางเชื้อเพลิงอาจปรับขึ้น

แต่คงไม่เท่าราคาที่ กกพ.ประกาศออกมา โดยจะพยายามทำให้ค่าไฟยังอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วยต่อไป 

ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 31 ธันวาคมนี้ เพราะถือเป็นนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงพลังงาน ที่ต้องการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนให้มากที่สุด 

อย่างไรก็ดี หากต้นทุนเพิ่มจริงก็อาจขยับเล็กน้อยแต่คงไม่สูงตามที่ กกพ. ประกาศออกมา

"โครงสร้างค่าไฟปัจจุบันที่ กกพ. นำมาใช้ตนไม่พอใจ เพราะไม่เป็นธรรมกับประชาชน หน่วยงานรัฐต้องดูแลประชาชน ต้องลดภาระ ต้องพิจารณาราคาที่เป็นธรรม เวลานี้ค่าไฟจึงยังไม่สรุป ไม่ใช่ราคาที่ กกพ. ประกาศออกมาแน่นอน"

‘อินเตอร์ลิ้งค์’ ขอบคุณผู้ถือหุ้น-นักลงทุนที่ไว้วางใจ สัญญา!! ผลประกอบการปลายปีนี้ดีเยี่ยมแน่นอน

(21 พ.ย. 66) สมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า…ขอขอบคุณนักลงทุนที่วันนี้เข้ามาชมการแถลงผลประกอบการของ ILINK (กลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)) และขอขอบคุณคำชมของผู้ถือหุ้น และพร้อมคำชื่นชมผลประกอบการของ ILINK ตลอดระยะเวลา 9 เดือนที่ผ่านมา และขอขอบคุณที่ให้ความไว้วางใจในหุ้นของ ILINK และ ITEL ซึ่งในภาวะผันผวนที่ผ่านมา ทั้งหุ้น ILINK และ ITEL ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสวนกระแสของตลาด ซึ่งหุ้นทุกตัวลดลง

“ผมอยากให้ความมั่นใจกับทุกท่านว่า ในสิ้นปีนี้ท่านจะได้เห็นผลประกอบการของกลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ฯ ที่ประสบความสำเร็จ และมีผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย กล่าวคือสามารถเติบโตทั้งรายได้และผลกำไรครับ” สมบัติกล่าวทิ้งท้าย

‘โตโยต้า’ เล็งหนุน ‘ไทย’ ศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หลัง ‘รบ.ไทย’ ตั้งเป้าผลิต EV เกินครึ่งในปี 2573

(20 พ.ย. 66) เพจเฟซบุ๊ก ‘AEC Connect’ โพสต์ข้อความในหัวข้อ ‘โตโยต้า’ จ่อหนุนไทยเป็นเมืองหลวง EV ความว่า…

ในเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยออกนโยบายจูงใจใหม่เพื่อกระตุ้นให้คนเปลี่ยนมาใช้รถ EV โดยตั้งใจเปลี่ยนการผลิตรถยนต์กว่าครึ่งหนึ่งของไทยให้เป็นรถ EV ภายในปี 2573

จากงานวิจัยของ Counterpoint Research พบว่า ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนมีอิทธิพลต่อตลาดรถ EV ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด ซึ่งไทยครองส่วนแบ่งเกือบ 79% ของจำนวนรถ EV ทั้งหมดที่ถูกขายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในไตรมาสแรกของปี 2566

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าตลาดรถ EV ของไทยจะใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ก็ยังคงมีการแข่งขันว่าแบรนด์รถ EV ใดจะขายได้มากสุดในประเทศ ซึ่งในปัจจุบัน แบรนด์รถ EV ที่ขายดีที่สุดในไทยคือ BYD ของจีน แต่แบรนด์รถสัญชาติจีนอื่น ๆ ก็เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ แบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ที่หวังว่าจะสร้างผลกระทบในตลาดรถ EV ในไทยอีกหนึ่งแบรนด์คือ โตโยต้าจากญี่ปุ่น ซึ่งเรียกว่าเป็นแบรนด์ประจำบ้านในไทยไปแล้ว โดยได้รับความนิยมจากรถเก๋งและรถกระบะ

ในฐานะศูนย์กลางรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 10 ของโลก ไทยเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ส่งออกรถยนต์โตโยต้าและฮอนด้า แต่เพื่อเปลี่ยน 1 ใน 3 ของยอดการผลิตรายปีจำนวน 2.5 ล้านคันให้เป็นรถ EV ภายในปี 2573 ระบบนิเวศทางที่ถูกต้องจะเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนแปลง

โดยรัฐบาลไทยมีความต้องการที่จะทำงานร่วมกับโตโยต้าเพื่อพัฒนารถ EV ในประเทศ ซึ่งรวมถึงการพัฒนารถยนต์ Eco Car และรถกระบะด้วย ทั้งนี้มาจากการที่โตโยต้าวางแผนทดสอบรถกระบะไฟฟ้าครั้งแรกในไทย เพื่อจะกระตุ้นยอดขายรถ EV ภายในประเทศ

อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยก็ออกแผนลดหย่อนภาษี 3 ปีให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์ที่ลงทุนในระบบ Automation และ Robotics หลังมีการลดเงินอุดหนุนผู้บริโภคสำหรับการซื้อรถ EV ลง

‘กระทรวงแรงงาน’ ตั้งเป้าปี 67 ส่งออกแรงงานไทย 1 แสนคน เผย ‘ไต้หวัน-อิสราเอล-เกาหลีใต้’ ติด 3 อันดับจัดส่งมากที่สุด

(20 พ.ย. 66) นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบนโยบายสำคัญให้กับกระทรวงแรงงานไว้ว่า ให้ส่งเสริมและขยายตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศ จำนวน 100,000 อัตรา ภายในปีงบประมาณ 2567

โดยรายชื่อประเทศกลุ่มเป้าหมายจัดส่งแรงงานไทยไปทำงาน 100,000 คน ในปีงบประมาณ 2567 พบส่งไปทำงานแถบเอเชียมากที่สุด รวมทั้งสิ้น 72,000 คน อันดับ 1 ไต้หวัน เป้าหมาย 20,300 คน ขณะที่ อิสราเอล ยังคงเป็นประเทศเป้าหมายจัดส่งแรงงานไทยไปทำงาน ในอันดับที่ 2 เป้าหมาย 7,700 คน ตามด้วย สาธารณรัฐเกาหลี เป้าหมาย 7,500 คน

นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ตนได้มอบให้กรมการจัดหางาน เตรียมแผนการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศไว้เรียบร้อยแล้ว เน้นส่งเสริมรักษาการจ้างงานในตลาดแรงงานเดิม ควบคู่กับการขยายตลาดแรงงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีความต้องการจ้างแรงงานในตำแหน่งที่กำลังขาดแคลน หรือประเทศที่มีแนวโน้มการจ้างแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น

ในปีงบประมาณ 2567 ตั้งเป้าหมายจัดส่งไปทำงานแถบเอเชียมากที่สุด รวม 72,000 คน รองลงมาคือแถบยุโรป 14,000 คน ตะวันออกกลาง 10,500 คน อเมริกาเหนือ 1,800 คน แอฟริกา 1,100 คน และอเมริกาใต้ ออสเตรเลียและโอเชียเนีย 600 คน

ขณะที่เป้าหมายอันดับหนึ่ง ในการจัดส่งยังคงเป็นตลาดแรงงานในไต้หวัน จำนวน 20,300 คน รองลงมาคือ อิสราเอล จำนวน 7,700 คน สาธารณรัฐเกาหลี จำนวน 7,500 คน ญี่ปุ่น และสวีเดน เป้าหมายจัดส่งจำนวนเท่ากันที่ 6,000 คน และมาเลเซีย 4,000 คน หากดูจากตัวเลขประมาณการ คาดว่าจะจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ ทั้งในตลาดแรงงานเดิมและตลาดแรงงานใหม่ได้รวม 100,000 อัตราแน่นอน

‘โซดาสิงห์’ แท็กทีม ‘Rubber Killer’ แบรนด์ไทยรักษ์โลก เปิดตัวคอลเลกชันใหม่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ 'ซ่าได้ไม่ทำร้ายโลก’

(20 พ.ย. 66) ธิติพร ธรรมาภิมุขกุล Chief Marketing Officer บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด เปิดเผยว่า Singha Soda Collection 2023 ของโซดาสิงห์ในปีนี้ เป็นการร่วมงานกับ 'Rubber Killer' แบรนด์แฟชันของไทยที่มีจุดเด่นในการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้คอนเซ็ปต์ 'ซ่าได้ไม่ทำร้ายโลก Less Waste, Recycle more' 

สอดคล้องกับแนวทางของแบรนด์โซดาสิงห์ ที่ตระหนักในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า กระบวนการผลิตต่างๆ มีการนำของเหลือใช้มาหมุนเวียน ใช้ซ้ำตามแนวทาง Circular Economy เช่น บรรจุภัณฑ์ขวดแก้วมาใช้ซ้ำ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สะท้อนถึง Brand Personality ของโซดาสิงห์ ซึ่งเป็นแบรนด์ของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

สำหรับ คอลเลกชัน Singha Soda Collection 2023 ร่วมกับ Rubber Killer เป็นการนำจุดแข็งของโซดาสิงห์ เรื่อง 'ความซ่า' ซึ่งมีจุดยืนในการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้บริโภคทุกกลุ่มเป้าหมาย กับการทำตลาดที่ไม่เคยหยุดนิ่ง พร้อมเชื่อในพลังความคิดสร้างสรรค์ ครีเอทสิ่งใหม่ๆ ให้กับตลาดและผู้บริโภคอยู่เสมอ ผนึกกับ Rubber Killer แบรนด์แฟชันแอ็กเซสซอรีที่มีจุดยืนเรื่องสิ่งแวดล้อมร่วมกันต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ ดีไซน์เป็นแฟชันไอเท็มเอาใจคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

‘รมช.คลัง’ เล็งพักหนี้เอสเอ็มอีทั้งระบบ ภายใต้กรอบภาระรัฐบาล ย้ำ!! พักหนี้ครั้งนี้ไม่เหมือนที่ผ่านมา ป้องกันเกิด ‘Moral Hazard’

(20 พ.ย. 66) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังกำลังศึกษาเรื่องการพักหนี้ของภาคเอสเอ็มอีทั้งระบบ แต่ก็ต้องดูให้อยู่ในกรอบที่รัฐบาลรับภาระไหว และยังต้องดูว่าการเข้าไปช่วยต้องไม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และไม่ให้เกิด ‘Moral Hazard’ ด้วย

“ยอมรับว่ามีเม็ดเงินค่อนข้างสูง หนี้ของเอสเอ็มอีเฉลี่ยต่อรายไม่ใช่แค่หลักแสนบาท ถือเป็นภาระที่หนัก ซึ่งก่อนหน้านี้โจทย์ของการช่วยเหลือเรื่องการพักหนี้เอสเอ็มอี ช่วยตามรหัส 21 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งคำอธิบายของกลุ่มนี้ มีแค่เอสเอ็มอีที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) แล้ว ซึ่งรัฐบาลให้ช่วยเหลืออย่างแน่นอน แต่ตอนนี้ยังมีเอสเอ็มอีอีกจำนวนมากที่ไม่ได้มีปัญหาหนี้สิน ยังไม่ถึงขั้นเป็นเอ็นพีแอล เราจึงต้องดูส่วนนี้ด้วย”

ทั้งนี้ ยอมรับว่า จากมาตรการพักหนี้ต่างๆ นั้น กังวลเรื่อง ‘Moral Hazard’ แต่ว่าในสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ ที่มีแรงกดดันทางเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อย เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องโยกแรงกดดันเหล่านี้ออก ให้ประชาชนสามารถเดินหน้าต่อไปได้ การพักหนี้ครั้งนี้ ยืนยันว่าไม่เหมือนพักหนี้ครั้งก่อน เพราะเรามีกลไกอื่นเข้าไปช่วยด้วย

“ผมไปลงพื้นที่ตรวจงาน ได้ถามชาวบ้าน เกษตรกร ว่าพักหนี้มา 13 ครั้งแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ทุกคนก็บอกว่า ไม่ได้ดีขึ้น มันเป็นเพียงแค่การประวิงเวลาเท่านั้น แต่กลไกครั้งนี้ ประกอบกับนโยบายอื่นๆ ที่รัฐบาลใส่เข้าไป มันจะสามารถให้ประชาชน พลิกฟื้นกลับมาแข็งแรงได้”

ส่วนกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมแถลงมาตรการแก้ไขหนี้สินประชาชนรายย่อย ในช่วงปลายเดือน พ.ย. 66 นี้ เป็นมาตรการแก้หนี้คนละส่วนกับการมาตรการพักหนี้เกษตรกรที่เคยออกมาแล้ว โดยการพักชำระหนี้เป็นเพียงการต่ออายุ ต่อลมหายใจให้พี่น้องเกษตรกร

ทั้งนี้ มาตรการแก้ไขหนี้สินประชาชนรายย่อยนั้น เป็นการของอีกส่วนงาน โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ซึ่งเมื่อ 14 พฤศจิกายน ได้มีการประชุมนัดแรก และเห็นชอบแนวทางการแก้ปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ไปแล้ว

‘รถไฟฟ้าสีชมพู’ ได้ฤกษ์เปิดให้นั่งฟรี 30 สถานี 21 พ.ย.นี้ ส่วนค่าโดยสารจะเริ่มเก็บหลังเปิดทดลองใช้บริการ 1 เดือน

(20 พ.ย. 66) เพจ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู แจ้งว่า นับถอยหลังอีก 1 วัน เปิดทดลองให้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู โดยจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการครบทั้ง 30 สถานี ตั้งแต่ ศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) - มีนบุรี (PK30) ช่วงทดลองใช้บริการฟรี!! ไม่มีค่าใช้จ่าย

ข่าวแจ้งว่า ในวันที่  21 พ.ย.นี้ ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ครม. จะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม และเปิดทดสอบเดินรถเสมือนจริง ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร หลังจากนั้นในช่วงบ่ายวันเดียวกัน จะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการตลอดสาย 30 สถานี เป็นระยะเวลาราว 1 เดือน

ทั้งนี้ ในช่วงการเปิดทดสอบเดินรถเสมือนจริงในวันที่ 21 พ.ย.66 นี้ จะมีบางทางออก (Exit) ของบางสถานีที่ยังไม่พร้อมเปิดให้บริการ แต่สามารถเปิดให้บริการประชาชนและมีความปลอดภัย ทั้งนี้ยืนยันว่าจะเสร็จครบ 100% ก่อนเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ

สำหรับอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี รวม 30 สถานี ราคาเริ่มต้น 15 บาท สูงสุด 45 บาท ส่วนผู้สูงอายุ ราคาเริ่มต้น 8 บาท สูงสุด 23 บาท โดยช่วงทดลองใช้บริการฟรีไปจนถึง 18 ธ.ค.66 จากนั้นจึงจะเริ่มเก็บค่าโดยสาร

สำหรับ 30 สถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่เปิดให้บริการประกอบด้วย

1. สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สถานีต้นทางตั้งอยู่ริมถนนรัตนาธิเบศร์ บริเวณหน้าศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรีและบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) 
2. สถานีแคราย ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ บริเวณด้านหน้าสถาบันทรวงอก
3. สถานีสนามบินน้ำ ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ใกล้กับสามแยกสนามบินน้ำ
4. สถานีสามัคคี ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ ใกล้ทางแยกเข้าถนนสามัคคี ระหว่างคลองบางตลาดกับถนนสามัคคี
5. สถานีกรมชลประทาน ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ ใกล้กับโรงเรียนชลประทานวิทยา
6. สถานีแยกปากเกร็ด ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมทางแยกปากเกร็ด ก่อนเข้าสู่ถนนแจ้งวัฒนะ
7. สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าห้างบิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์และโฮมโปร ก่อนถึงทางแยกเลี่ยงเมืองปากเกร็ด
8. สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ใกล้กับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ บริเวณซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28
9. สถานีศรีรัช ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 35 ก่อนถึงทางด่วนศรีรัช ใกล้กับหมู่บ้านเมืองทองธานี
10. สถานีเมืองทองธานี ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าสำนักงานซ่อมบำรุงกรมทางหลวงและห้างแม็คโครซุปเปอร์สโตร์ สาขาแจ้งวัฒนะ
11. สถานีแจ้งวัฒนะ 14 ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ระหว่างบิ๊กซีแจ้งวัฒนะและซอยแจ้งวัฒนะ 14
12. สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้ากรมการกงศุล ใกล้กับศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
13. สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ระหว่างซอยแจ้งวัฒนะ 5 และซอยแจ้งวัฒนะ 7
14. สถานีหลักสี่ ตั้งอยู่บริเวณจุดตัดถนนแจ้งวัฒนะและถนนวิภาวดีรังสิต
15. สถานีราชภัฏพระนคร สถานีสุดท้ายบนถนนแจ้งวัฒนะ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
16. สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ 
17. สถานีรามอินทรา 3 สถานีแรกบนถนนรามอินทราตั้งอยู่บริเวณหน้าโครงการลุมพินี รามอินทรา-หลักสี่ และศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก
18. สถานีลาดปลาเค้า ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราระหว่างซอยรามอินทรา 21 และซอยรามอินทรา 23 ใกล้กับห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า
19. สถานีรามอินทรา กม.4  ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ระหว่างซอยรามอินทรา 33 และซอยรามอินทรา 37
20. สถานีมัยลาภ ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราหน้าปากซอยรามอินทรา 41 ใกล้กับสามแยกมัยลาภ
21. สถานีวัชรพล  ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ถัดจากทางพิเศษฉลองรัช บริเวณซอยรามอินทรา 59 และซอยรามอินทรา 61
22. สถานีรามอินทรา กม.6 ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ช่วงระหว่างซอยรามอินทรา 40 และซอยรามอินทรา 42
23. สถานีคู้บอน  ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราช่วงระหว่างซอยรามอินทรา 69 และซอยรามอินทรา 46
24. สถานีรามอินทรา กม.9 ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ใกล้กับโรงพยาบาลสินแพทย์ ช่วงระหว่างซอยรามอินทรา 54 และซอยรามอินทรา 56
25. สถานีวงแหวนรามอินทรา  ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราถัดจากถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก ใกล้ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ และ The Promenade
26. สถานีนพรัตน์ ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ใกล้ซอยรามอินทรา 103/1 และโรงพยาบาลนพรัตน์
27. สถานีบางชัน  ตั้งอยู่บนถนนบริเวณซอยรามอินทรา 113 และซอยรามอินทรา 115
28. สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราใกล้กับโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ระหว่างซอยรามอินทรา 121 และ ซอยรามอินทรา 123
29. สถานีตลาดมีนบุรี สถานีแรกบนถนนสีหบุรานุกิจ ตั้งอยู่บริเวณหน้าตลาดนัดจตุจักร 2
30. สถานีมีนบุรี ตั้งอยู่ริมถนนรามคำแหง บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงของระบบขนส่งมวลชนสายสีชมพูฯ ใกล้กับถนนรามคำแหง เป็นสถานีปลายทางของโครงการ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top