'อรวดี' ชี้!! ชีพจรเศรษฐกิจไทย-โลก พร้อมทิศทางการลงทุนที่น่าจับตา

รายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 14 ก.ย.67 ได้พูดคุยกับคุณอรวดี ศิริผดุงธรรม Senior Investment Advisory ถึงทิศทางการลงทุนในจังหวะที่การเมืองเริ่มนิ่ง ว่า...

ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีทิศทางมากขึ้น รวมถึงนโยบายของภาครัฐที่เตรียมเดินหน้า ทำให้บรรยากาศการลงทุนโดยเฉพาะในตลาดหุ้นไทยกลับมาคึกคัก ในขณะที่กระทรวงการคลัง ก็ได้มีนโยบายระดมทุนผ่านกองทุนวายุภักษ์ ซึ่งจะเริ่มเปิดขาย 16-20 ก.ย.นี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกเสริมสร้างการออม และการลงทุนให้กับประชาชน ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาตลาดเงิน และตลาดทุน ทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นมากขึ้น 

แต่ในด้านของตลาดทองคำ ยังมีความผันผวน ถ้าพิจารณาให้ดีในช่วงกันยายนของทุกปี จะเป็นช่วงที่นักลงทุนนิยมขายสินทรัพย์มั่นคง เช่น ทองคำ สกุลเงินดิจิทัล ออกไปมาก เนื่องจากนักลงทุนอยากปรับพอร์ตและลงทุนในทรัพย์สินที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าในระยะสั้น ๆ 

ส่วนการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ คาดว่า ยังเติบโตในบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มตลาดบ้านและคอนโดมิเนียม พูลวิลล่า ระดับราคา 100 ล้านบาทขึ้นไป โดยเฉพาะที่จังหวัดภูเก็ตเติบโตมาก โดยได้รับความสนใจจากเศรษฐีรัสเซีย, ไต้หวัน, ฮ่องกง และสิงคโปร์ เป็นจำนวนมาก 

เมื่อถามถึงเทรนด์การทำธุรกิจในอนาคต? คุณอรวดี มองว่า ควรพิจารณาจากเมกะเทรนด์ให้มากขึ้น เช่น คนจีนยุคใหม่นิยม 'แข่งกันประหยัด' และหลายประเทศทั่วโลกก็เริ่มมาหันมาสนใจ หรือแม้แต่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้แนวคิด Zero Waste ตรงนี้ต้องจับตาให้ดี เพราะถ้าเราทำธุรกิจอะไรที่เกี่ยวข้องและตอบโจทย์เทรนด์เหล่านี้ก็มีโอกาสเติบโตสูง 

เมื่อถามถึงภาพรวมเศรษฐกิจโลก? คุณอรวดี กล่าวว่า เริ่มที่สหรัฐฯ ต้องจับตามองการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ ระหว่าง นางกมลา แฮร์ริส กับ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีนโยบายหาเสียงแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว โดยนักวิเคราะห์มองว่า ถ้านายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง คงหนีไม่พ้นที่จะขับเคลื่อนนโยบายด้านกำแพงภาษีแบบสุดโต่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกได้ ขณะเดียวกันหาก นางกมลา แฮร์ริส ได้เป็นประธานาธิบดี อาจส่งผลดีกว่า เพราะไม่ได้ชูนโยบายด้านกำแพงภาษีสุดโต่งแบบนายโดนัลด์ ทรัมป์ 

ส่วนเศรษฐกิจยุโรป ยังคงมีปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้น เนื่องจากภาวะวิกฤตด้านพลังงานซึ่งตอนนี้ยุโรปใกล้เข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ทำให้ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank) ประกาศลดดอกเบี้ยไปก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าเต็มที่ 

ส่วนจีน การบริโภคภายในประเทศลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการบริโภคน้ำมันเนื่องจากการขนส่งลดลง รวมถึงปัญหาอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงมีปัญหาต่อเนื่อง 

ส่วนอาเซียน มาเลเซียและอินโดนีเซีย มีการปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจเทรนด์ใหม่ เน้นธุรกิจ AI เพิ่มมากขึ้น 

ในด้านการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed (The Federal Reserve) คุณอรวดี เผยว่า จะมีการประชุมอีกครั้งประมาณกลางเดือนกันยายนนี้ โดยนักวิเคราะห์มองว่ามีโอกาสสูงที่ Fed จะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25 เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัวชัดเจน อัตราเงินเฟ้อเริ่มคลี่คลาย และที่สำคัญใกล้ช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมา ตลาดเงิน ตลาดทุน ส่วนใหญ่จะได้รับข่าวดีในช่วงนี้ ซึ่งจะทำให้ตลาดกลับมาคึกคักอีกครั้ง