Sunday, 19 May 2024
ECONBIZ

'แบงก์ชาติ' เปิดให้บริการชำระเงินข้ามพรมแดน 'ไทย-ฮ่องกง' ผ่าน QR เอื้อประโยชน์ผู้ที่เดินทางระหว่าง 2 ประเทศกว่า 1.5 ล้านคนต่อปี

(4 ธ.ค.66) ธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority: HKMA) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดตัวการให้บริการชำระเงินข้ามพรมแดนผ่าน QR ระหว่างฮ่องกงและประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่เดินทางระหว่างฮ่องกงและประเทศไทยได้รับบริการชำระเงินที่รวดเร็ว ปลอดภัย และเข้าถึงได้ง่าย

บริการชำระเงินข้ามพรมแดนผ่าน QR ดังกล่าว จะทำให้ผู้ที่เดินทางระหว่างฮ่องกงและประเทศไทยสามารถทำรายการชำระเงินกับร้านค้าได้โดยง่าย โดยผู้ใช้บริการที่มาจากฮ่องกงสามารถใช้แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือสแกน QR มาตรฐานของไทย (Thai QR code) และผู้ใช้บริการที่มาจากไทยสามารถใช้แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือสแกน QR ของฮ่องกง (Hong Kong FPS QR code) ที่ร้านค้าได้แสดงไว้ ทำให้ผู้ใช้บริการมีช่องทางชำระเงินที่สะดวกและมีประสิทธิภาพ ขณะที่ร้านค้าจะได้รับเงินค่าสินค้าในทันที ทั้งยังเป็นการสนับสนุนธุรกิจการท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของฮ่องกงและประเทศไทยด้วย

นาย Eddie Yue ผู้ว่าการธนาคารกลางฮ่องกง กล่าวว่า ธนาคารกลางฮ่องกงมีความยินดีอย่างยิ่งต่อความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายในการพัฒนาช่องทางการชำระเงินข้ามพรมแดนรายย่อย ที่สะดวก ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ โดยการเปิดตัวบริการในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของระบบ Fast Payment System ในการขยายบริการชำระเงินข้ามพรมแดนในภูมิภาค

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ความร่วมมือกับฮ่องกงในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาด้านดิจิทัลของไทย และสะท้อนความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างการชำระเงินข้ามพรมแดนในภูมิภาค ให้มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เดินทางระหว่างฮ่องกงและไทยจำนวนประมาณ 1.5 ล้านคนต่อปี และต่อร้านค้าที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม

โครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งการผลักดันจากธนาคารกลาง คือ HKMA และ ธปท. ผู้ให้บริการระบบการชำระเงิน ได้แก่ Hong Kong Interbank Clearing Limited (HKICL) และ บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ (NITMX) ผู้ให้บริการชำระดุลระหว่างประเทศ ได้แก่ HSBC Hong Kong และธนาคารกรุงเทพ รวมทั้งผู้ให้บริการชำระเงินหลายรายที่เข้าร่วมให้บริการแอปพลิเคชัน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ 7 แห่ง และ Non-bank 2 แห่งของฮ่องกง และธนาคารพาณิชย์ 3 แห่งของไทย และอีกหลายแห่งของทั้งสองฝ่ายที่ร่วมให้บริการ QR แก่ร้านค้า โดยมีรายชื่อตามเอกสารแนบ

ธนาคารกลางทั้ง 2 แห่งเชื่อว่าการเชื่อมโยงการชำระเงินข้ามพรมแดนครั้งนี้ ให้ทางเลือกการชำระเงินที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม และจะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านนวัตกรรมทางการเงินในภูมิภาคมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

‘สว.วีระศักดิ์’ ปลุกพลังทุกภาคส่วนในเชียงใหม่ ร่วมป้องกัน - หยุดเผา คืนอากาศบริสุทธิ์ให้ชาวเชียงใหม่

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เป็นองค์ปาฐกถาพิเศษในเวทีการประชุมระดับชาติ เรื่อง มลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM2.5 ครั้งที่ 1 (Thailand National PM2.5 Forum) หัวข้อ ‘อากาศสะอาด : ความรับผิดชอบร่วมของรัฐ เอกชน และประชาสังคม’ ซึ่งจัดขึ้นที่อาคารศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดเชียงใหม่ 

โดยมีผู้บริหารและตัวแทนหน่วยงานของรัฐ เครือข่ายอากาศสะอาด สภาลมหายใจ และสถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน ตลอดจนนักวิชาการต่างๆเข้าร่วมอย่างคับคั่ง กว่าหนึ่งพันคน

การจัดการประชุมระดับชาตินี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ และสภาลมหายใจเชียงใหม่ พร้อมกับอีกกว่า 50 ภาคีเครือข่ายร่วมจัด

นายวีระศักดิ์ ชี้ว่า แม้จะกำลังมีร่างกฎหมายอากาศสะอาดเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในสมัยประชุมที่จะมาถึงนี้ แต่ฤดูเผา ฤดูฝุ่นก็กำลังจะเกิดก่อน รวมทั้งเป็นปีแล้งจากผลของปรากฏการณ์เอลนีโญ่ ป่าจะแห้ง เชื้อเพลิงใบไม้และทุ่งหญ้าจะเป็นเชื้อเพลิงที่อ่อนไหวมาก การร่วมมือทำความเข้าใจเหตุที่ทำให้เกิดการเผาทั้งในแปลงเกษตรและในพื้นที่ตามกฎหมายป่าไม้จึงต้องเร่งใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมในการป้องกันหรืออย่างน้อยก็ลดการจุดเผาลงให้ได้มากที่สุด การทำความเข้าใจเพื่อสร้างความรู้ในการวิเคราะห์จากข้อมูลดาวเทียม จะช่วยให้แต่ละพื้นที่จับทิศทางลม และที่ตั้งจุดเริ่มการเผาได้จากสถิติที่ดาวเทียมบันทึกไว้มาตลอด 20 ปีย้อนหลัง 

นอกจากนี้ ภาคประชาสังคมควรสื่อสารร่วมกับรัฐไปยังผู้ประกอบการนำเข้าเมล็ดข้าวโพดและอ้อยที่มาจากประเทศข้างเคียง ให้เร่งใช้มาตรการตรวจสอบย้อนกลับเพื่อปฏิเสธการรับซื้อผลผลิตที่มาจากพื้นที่เผา เพราะในหลายปีที่ผ่านมา จุดความร้อนในไทยลดลงเป็นลำดับแต่ในประเทศข้างเคียง ยังมีอัตราการพบจุดความร้อนเพิ่มขึ้นสวนทางกัน

“เราทุกฝ่ายควรเดินหน้าแก้ปัญหาร่วมกัน เพราะปอดของเราก็รอไม่ได้ อัตราตายจากโรคทางเดินหายใจทะยานสูงขึ้นมาก รอบบ้านทั้งภูมิภาคก็มีอัตราเร่งเผาสูงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น การบูรณาการใช้พลังหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ภาคชุมชน ภาคท้องถิ่น ภาควิชาการที่มีฐานทางวิทยาศาสตร์ และพลังสื่อสารที่เข้าถึงทั้งคนทั่วไป และลึกถึงกลุ่มที่ไม่ใช้ภาษาไทยจะมาจากไหน และจะไปถึงกลุ่มชายป่า ในไร่ ในโรงกลั่น และในรถยนต์ รถเก่า ตลอดถึงคนข้ามชายแดนกลุ่มต่าง ๆ ได้อย่างไร ผมคาดหวังว่า งานประชุมระดับชาติครั้งนี้ จะช่วยหาคำตอบ และแบ่งบทบาทการต่อสู่เพื่อสิทธิในอากาศสะอาดของเรา ที่ต้องใช้ความรู้รอบ และตอบสนอง อย่างมีระบบและทุ่มเท เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จให้ได้ครับ”

สำหรับการประชุมระดับชาติ เรื่องมลภาวะทางอากาศ ฝุ่น PM2.5 นี้ จัดขึ้น 2 วัน ระหว่างวันที่ 3-4 ธันวาคมนี้ โดยจะมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มารับข้อสรุปข้อเสนอจากการประชุมระดมข้อคิดที่มาจากกลุ่มผู้ติดตามสถานการณ์เรื่องฝุ่นในวันที่ 4 ธันวาคมเพื่อนำไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

‘รมว.ปุ้ย’ โปรยข่าวดีรับปีใหม่ ครม. อัดฉีดงบ 8 พันล้าน ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย 140,000 ราย ตัดอ้อยสดคุณภาพดี รับเงินเพิ่มตันละ 120 บาท

(4 ธ.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดหนองบัวลำภู กรณีกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เสนอวาระพิจารณาเรื่องโครงการเงินสนับสนุนตัดอ้อยสด ในโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ต่อคณะรัฐมนตรีในการประชุม ครม.สัญจรวันนี้ โดยในการประชุมพิจารณาที่ประชุม ครม.ได้มีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ คือเกษตรกรพี่น้องชาวไร่อ้อยจะได้รับเงินสนับสนุนตัดอ้อยสดตันละ 120 บาท ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดคือการเก็บตัดอ้อยสดมีคุณภาพ

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยชุดนี้จะมีชาวไร่อ้อยเข้าร่วมประมาณ 140,000 ราย ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ และเป็นผลสืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ตัวแทนสมาพันธ์ สมาคมชาวไร่อ้อยที่ได้ประสานงานเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง จนเห็นตรงกันคือเกษตรกรต้องควบคุมคุณภาพการตัดอ้อยสดมีคุณภาพดีไม่มีการเผาที่ก่อให้เกิด PM2.5 ต้นตอของปัญหาทางอากาศที่เกิดขึ้นในแทบทุกปี เมื่อเป็นไปตามมาตรฐานกำหนดจะมีการช่วยเหลือวงเงินสนับสนุนตันละ 120 บาท วงเงินส่วนนี้จะกระจายไปยังเกษตรกรชาวไร่อ้อย ราว 8 พันล้านบาท และยังส่งผลต่อการสร้างสมดุลทางกลไกราคาน้ำตาลทราย ปริมาณน้ำตาลในตลาดภายในประเทศ และตลาดส่งออก ให้มีเสถียรภาพมากขึ้น

“ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยทุกพื้นที่ ต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีทุกท่าน ที่ได้กรุณาร่วมกันพิจารณาเรื่องนี้และมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอ การสนับสนุนในกรอบที่ได้มีมติจะทำให้ชาวไร่อ้อยจะมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถบรรเทาภาระความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยในขั้นตอนการควบคุมคุณภาพให้มีการตัดอ้อยสดคุณภาพดี คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ถือเป็นข่าวดีของเกษตรกรชาวไร่อ้อยรับปีใหม่” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว 

‘พีระพันธุ์’ ดัน ‘พลังงานแสงอาทิตย์’ หนุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับชุมชน

‘พีระพันธุ์’ ดันพลังงานแสงอาทิตย์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับชุมชน มุ่งลดต้นทุนการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนของกลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ พร้อมเดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศ

(4 ธ.ค.66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ดำเนินสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการลดรายจ่ายให้แก่กลุ่มเกษตรกรในการนำแผง โซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตไฟฟ้าไปใช้กับเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ที่ต้องการน้ำในภาคเกษตรกร

โดยเฉพาะในฤดูแล้ง ทั้งระบบสูบน้ำจากบ่อบาดาลและการสูบน้ำจากแหล่งน้ำ ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายน้ำมันดีเซลได้ค่อนข้างมาก 

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนนำเทคโนโลยีด้านพลังงานมาใช้ในกระบวนการผลิต ทำให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้นั้นสามารถลดระยะเวลาในการผลิต ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมากขึ้น และผลิตภัณฑ์ที่ได้มีความสะอาด ผ่านมาตรฐานจนได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์ชุมชนดีเด่น

“เป้าหมายสำคัญนอกจากการลดรายจ่ายด้านพลังงานทั้งค่าน้ำมันและค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนทั่วไปแล้ว ยังต้องการให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรสามารถนำเทคโนโลยีพลังงานมาใช้ ในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชน”

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานก็ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีพลังงาน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซล่าเซลล์ในการสูบน้ำ รวมทั้งเทคโนโลยีโรงอบแห้งที่ใช้อบผลิตภัณฑ์ชุมชน 

นอกจากจะลดรายจ่ายค่าเชื้อเพลิงซึ่งต้นทุนในการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนแล้ว ผลิตภัณฑ์ที่ได้ยังมีความสะอาดได้มาตรฐาน จนหลายผลิตภัณฑ์ได้รับรางวัล OTOP และ ไทยเด็ด 

อย่างไรก็ตาม จะพยายามเร่งดำเนินการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีพลังงาน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้มีการสำรวจความต้องการของเกษตรกรผ่านพลังงานจังหวัด คาดว่าจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้

'พีระพันธุ์’ เชียร์นำเข้าไฟฟ้าจาก สปป.ลาว  จี้!! กฟผ. แจงเหตุผลที่จำเป็นแก่ประชาชน

เมื่อวานนี้ (3 ธ.ค. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงอุดรธานี 3 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ณ บ้านหนองแก ต.หนองนาคำ อ.เมือง จ.อุดรธานี ว่าโครงการนี้เป็นโครงการระบบส่งที่รับไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า IPP พลังน้ำจากเขื่อนน้ำงึม 2 เขื่อนน้ำเงี้ยบ 1 และเขื่อนน้ำเทิน 1 จาก สปป.ลาว มีกำลังการผลิตรวม 1,516 เมกะวัตต์ ก่อสร้างเสร็จเมื่อปี 2559 ด้วยมูลค่าก่อสร้าง 859 ล้านบาท ซึ่งการนำเข้าไฟฟ้าจาก สปป.ลาว จะช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า เป็นพลังงานสะอาดและสามารถลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติที่มีราคาผันผวนในระดับสูงอยู่ในปัจจุบันได้ ซึ่งในส่วนของจังหวัดอุดรธานี เป็นจังหวัดที่มีการใช้ปริมาณไฟฟ้าสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โดยสถานีไฟฟ้าแรงสูง 3 จังหวัดอุดรธานี ที่ได้เยี่ยมชมในวันนี้นับว่าเป็นโครงการที่ดี เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าที่กำลังเป็นประเด็นปัญหาในปัจจุบัน เพราะต้นทุนไฟฟ้าพลังงานจาก สปป.ลาว มีราคาค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับราคาก๊าซธรรมชาตินำเข้าในปัจจุบันที่มีราคาผันผวนในระดับที่สูง แต่กระทรวงพลังงานก็พยายามบริหารจัดการทั้งโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าและโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติให้เกิดความเป็นธรรม ไปพร้อมกับการจัดหาแหล่งพลังงานที่มีต้นทุนต่ำ สร้างความมั่นคงเพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่เป็นธรรม เหมาะสม และยั่งยืน

“ผมได้แสดงความห่วงใยถึงภาระหนี้ที่ กฟผ. แบกรับอยู่ ณ ปัจจุบัน พร้อมจะช่วยแก้ปัญหา รวมทั้งขอให้ กฟผ.ชี้แจงเหตุผลให้ประชาชนรับทราบถึงความจำเป็นในการรับซื้อไฟฟ้าจากลาว ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดและมีต้นทุนที่ต่ำ” นายพีระพันธุ์กล่าว

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า นอกจากนี้ ได้เดินทางไปยังโรงไฟฟ้าของบริษัท เรืองสิริวรรณ จำกัด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี โรงไฟฟ้าประเภทก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์ กำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 0.90 เมกะวัตต์ เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2561 โรงไฟฟ้าดังกล่าวถูกร้องเรียนจากประชาชนถึงมลภาวะทางกลิ่นและฝุ่น ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เขต 4 ร่วมกับสำนักงานพลังงานจังหวัดอุดรธานี สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 9 (อุดรธานี) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ได้เข้าร่วมตรวจสอบการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าและได้สั่งให้มีการแก้ไขปรับปรุงให้ได้มาตรฐานและไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนรอบโรงไฟฟ้า

“การเลือกดูงานที่โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพของบริษัท เรืองสิริวรรณ จำกัด เพราะได้รับรายงานว่าสร้างมลภาวะทางกลิ่นและฝุ่น ส่งผลกระทบกับประชาชนรอบโรงไฟฟ้า จากการรับฟังผู้ประกอบการได้รายงานแนวทางการแก้ไขปัญหา คาดการณ์ได้ว่าแก้ไขได้โดยเร็ว แต่ผมได้กำชับทั้งผู้ประกอบการและส่วนราชการในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่นี้รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ด้วย โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพนี้ แม้จะเป็นโครงการที่ดี สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านที่ปลูกหญ้าเนเปียร์ป้อนให้โรงไฟฟ้า และลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ แต่โรงไฟฟ้าก็ต้องมีมาตรฐาน ไม่สร้างมลภาวะให้กับประชาชนรอบโรงไฟฟ้าด้วย” นายพีระพันธุ์กล่าว

‘ADB-JICA-EXIM’ ไฟเขียว!! ปล่อยกู้ EA 3.9 พันล้านบาท เดินหน้าโครงการรถโดยสารไฟฟ้า ยกระดับขนส่งไร้มลพิษ

EA ลงนามสินเชื่อเงินกู้มูลค่า 3.9 พันล้านบาท กับ ADB JICA และ EXIM Thailand เดินหน้าโครงการรถโดยสารไฟฟ้า (EV Bus) ยกระดับการขนส่งไร้มลพิษอย่างยั่งยืน

(4 ธ.ค.66) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ผู้นำในธุรกิจพลังงานสะอาด ได้ร่วมลงนามสินเชื่อเงินกู้ มูลค่า 3.9 พันล้านบาท (เทียบเท่า 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) กับ 3 สถาบันการเงิน นำโดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Thailand) เพื่อลงทุนเช่าซื้อรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะ (EV Bus) จำนวนไม่เกิน 1,200 คัน ซึ่งรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะเหล่านี้ จะเข้ามาแทนที่รถโดยสารเครื่องยนต์สันดาป และช่วยเสริมบริการขนส่งสาธารณะของบริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด และบริษัทในเครือ ครอบคลุม 123 เส้นทาง ภายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รองรับการใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่สะอาดในประเทศไทย

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เปิดเผยว่า “การร่วมลงนามในสัญญาสนับสนุนสินเชื่อ มูลค่า 3.9 พันล้านบาท (เทียบเท่า 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เพื่อนำเงินไปบริหารจัดการธุรกิจเช่าซื้อรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะ (EV Bus) โดยระยะแรกเป็นการให้เช่าซื้อแก่ผู้ประกอบการที่ให้บริการรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ยกระดับการเดินทาง ลดปัญหามลพิษ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจได้จากผลตอบแทนจากการเดินรถนำไปสู่การแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตรถโดยสารไฟฟ้าเป็นโครงการแรกของเอเชีย”

“EA มุ่งเน้นในการขยายสู่ธุรกิจใหม่เพื่อต่อยอดการดำเนินงานธุรกิจปัจจุบันของกลุ่มบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง โดยการสนับสนุนสินเชื่อจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Thailand) ในครั้งนี้ เพื่อผลักดันนโยบายของบริษัทฯ ที่มุ่งสู่การเป็นบริษัทผู้นำนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาดของประเทศ ในการดำเนินธุรกิจที่มีความครอบคลุมทุกการบริหารจัดการด้านพลังงานไฟฟ้า สร้างนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EA’s EV Ecosystem) อย่างครบวงจร โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งช่วยสร้างความเชื่อมั่นและสร้างโอกาสการลงทุนร่วมกัน จะเป็นพลังสำคัญทำให้ EA เติบโตไปพร้อมกับการสร้างสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม สู่สังคมไร้มลพิษอย่างยั่งยืน” นายอมรกล่าว

‘รมว.ปุ้ย’ ให้ความเชื่อมั่นชาวไร่อ้อย “ทุกปัญหามีทางออก” แย้มข่าวดี!! เสนอ ครม.อนุมัติเงินหนุนตัดอ้อยสดคุณภาพดี

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ ให้คำมั่นต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “ทุกปัญหามีทางออก” และพร้อมช่วยเหลือเต็มที่ สั่งการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) หาแนวทางดูแลเกษตรกรอย่างใกล้ชิด แย้มข่าวดีหากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อนุมัติเห็นชอบเงินสนับสนุนตัดอ้อยสด ในโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 คาดว่าชาวไร่อ้อยจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยในช่วงที่ต้นทุนการผลิตอ้อยปรับตัวสูงขึ้นได้  

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 66 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในระหว่างการลงพื้นที่พบปะเกษตรกรชาวไร่อ้อยพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ สมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุดรธานี ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์ราคาอ้อยและน้ำตาลทรายในปัจจุบัน ล่าสุดราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานกิโลกรัมละ 21-22 บาท จากเดิมที่กิโลกรัมละ 19-20 บาท  

โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ จะใช้เป็นองค์ประกอบในการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้น จะทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ส่วนราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/67 ได้มีการผลักดันให้มีราคาที่ 1,400 บาท/ตันอ้อย เนื่องจากต้นทุนการผลิตอ้อยของชาวไร่สูงขึ้นและความต้องการน้ำตาลทรายในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ซึ่งการขึ้นราคาน้ำตาลทรายในครั้งนี้ ส่งผลดีต่อชาวไร่อ้อยโดยช่วยให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคบ้าง แต่จะทำให้น้ำตาลในประเทศมีปริมาณที่เพียงพอและมีเสถียรภาพมากขึ้นตามไปด้วย 

อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก ว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศอย่างไร พร้อมหาแนวทางช่วยเหลือดูแลปัญหาอย่างใกล้ชิด 

“ดิฉัน เชื่อว่าทุกปัญหาจะมีทางออกหากพวกเราร่วมมือกัน โดยกระทรวงฯ จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายในอนาคตที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความต้องการน้ำตาลทรายในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ เช่น สภาพอากาศและภาวะเศรษฐกิจโลก ก็อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำตาลทรายได้ เรื่องนี้เราก็จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเช่นกัน” นางสาวพิมพ์ภัทราฯ กล่าว 

จากนั้น คณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นายณัฐพล รังสิตพล) และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เยี่ยมชมนิทรรศการพันธุ์อ้อย ชมการสาธิตการใช้โดรนในการใส่ปุ๋ย พ่นยาฆ่าแมลง ชมการสาธิตเครื่องจักรกลการเกษตร การวิเคราะห์ดิน และการผสมปุ๋ย พร้อมมอบรางวัลให้กับชาวไร่อ้อยดีเด่น และมอบเครื่องสางใบอ้อยให้เกษตรกรชาวไร่ยืมไว้ใช้ในการดำเนินงาน 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังกล่าวปิดท้ายด้วยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (4 ธ.ค.66) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำเสนอโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดี เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งชาวไร่อ้อยจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 8,000 ล้านบาท จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยในขณะที่ต้นทุนการผลิตอ้อยปรับตัวสูงขึ้น 

ทั้งนี้ หากคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการดังกล่าว ชาวไร่อ้อยจะได้รับเงินสนับสนุนตัดอ้อยสดตันละ 120 บาท โดยที่คาดว่าจะมีชาวไร่อ้อยเข้าร่วมโครงการประมาณ 140,000 ราย

‘รมว.ปุ้ย’ เร่งรัด!! โครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี พร้อมกำชับ ‘กพร.’ กำกับดูแลกิจการให้เป็นเหมืองแร่ดีอยู่คู่ชุมชน

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ เร่งรัดโครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี คาดสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนในพื้นที่ สั่งกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลกิจการให้เป็นเหมืองแร่ดี อยู่คู่ชุมชน ขณะที่บริษัทฯ ผู้รับประทานบัตร เข้าพื้นที่เพื่อเตรียมการพัฒนาพื้นที่ทำเหมืองแล้ว โดยตั้งเป้าเร่งผลิตแร่โพแทชให้ได้ภายใน 3 ปี 

(3 ธ.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการเข้าตรวจเยี่ยมและ รับฟังการบรรยายสรุปความก้าวหน้าการดำเนินโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี จากบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) ซึ่งเป็นผู้ได้รับประทานบัตรในการทำเหมืองเมื่อเดือนตุลาคม 2565 ว่า เบื้องต้นบริษัทฯ ได้รายงานว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินโครงการฯ (Project Finance) ซึ่งหากสถาบันการเงินให้การอนุมัติทางบริษัทฯ ก็จะเร่งรัดการผลิตแร่โพแทชให้ได้ภายใน 3 ปี

“ส่วนกรณีการคัดค้านจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ที่กังวลต่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและเศรษฐกิจ ในพื้นที่ เช่น มลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ และมลพิษทางดิน ผลกระทบต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่นั้น ได้สั่งกำชับให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และ อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ร่วมกับบริษัทฯ ชี้แจงและจัดกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลโครงการและสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีร่วมกำกับดูแลการทำเหมืองของบริษัทฯ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว 

ทั้งนี้ กพร. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลโครงการฯ ได้กำหนดมาตรการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไว้หลายประการ เช่น การติดตั้งเครื่องบำบัดฝุ่นในบริเวณก่อสร้างอุโมงค์และเครื่องจักร การติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศในบริเวณพื้นที่เฝ้าระวัง การติดตามตรวจวัดเสียงไม่ให้เกินค่ามาตรฐานและติดตั้งแผ่นป้องกันเสียงในบริเวณที่คาดว่าอาจได้รับผลกระทบ การรังวัดการทรุดตัวของพื้นที่ทำเหมืองด้วยกล้องสมัยใหม่และโดรน การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั่วไป การใช้เทคโนโลยีวัดผลกระทบในการก่อสร้างอุโมงค์ และการใช้เทคโนโลยีการป้องกันผลกระทบจากน้ำไหลเข้าอุโมงค์ เป็นต้น 

โครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี คาดว่าจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน สรุปได้คือ ในส่วนของภาครัฐจะได้ค่าภาคหลวงแร่ร้อยละ 7 คิดเป็นเงินประมาณ 35,000 ล้านบาท ทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 1,000 อัตรา ขณะที่ชาวบ้านรอบพื้นที่โครงการฯ ก็จะได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากโครงการและกองทุนต่างๆ อีก 6 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมือง กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ กองทุนการศึกษาเพื่ออนาคตเยาวชน กองทุนประกันความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน และกองทุนช่วยเหลือค่าปุ๋ยเกษตรกรในพื้นที่ประทานบัตร รวมทั้งเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่ประทานบัตรยังได้รับเงินค่าทดแทน (ค่าลอดใต้ถุน) ในอัตราไร่ละ 45,500 บาท โดยแบ่งเฉลี่ยจ่าย 24 งวดตลอดอายุประทานบัตร 

นอกจากนี้ บริษัทฯ จะจัดสรรจำหน่ายปุ๋ยสูตร 0-0-60 ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี และเข้าร่วมโครงการมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining) และมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแร่ (CSR-DPIM) รวมทั้งประชาชนผู้มีส่วนได้เสียกับโครงการที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้มีสิทธิตรวจสอบการทำเหมืองสามารถร่วมตรวจสอบการทำเหมืองได้ตามมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 

โครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ดำเนินการประมาณ 26,000 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอประจักษ์ศิลปาคม และ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี โดยข้อมูลทางธรณีวิทยาพบว่าปริมาณสำรองแร่โพแทชในพื้นที่ประทานบัตรทั้งหมดรวม 267 ล้านตัน ซึ่งจะสามารถนำแร่ขึ้นมาผลิตเป๊นปุ๋ยโพแทชได้ประมาณ 34 ล้านตัน ทั้งนี้แร่โพแทชเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ย ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตหลักในภาคเกษตรกรรม 

“โครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานีจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนอย่างยั่งยืน โดยกระทรวงฯ จะกำกับดูแลโครงการฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ให้น้อยที่สุด โดยคำนึงถึงการจัดสรรผลประโยชน์ให้กับชุมชนในพื้นที่อย่างเป็นธรรมที่สุด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปิดท้าย

‘รมว.ปุ้ย’ ลุยใต้ เปิดงาน ‘MIND : Your Industrial Power’ หนุนผู้ประกอบการ-ยกระดับการลงทุน-เสริมศักยภาพอุตฯ ไทย

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ค 66 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดการสัมมนา ‘การส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรม ในพื้นที่ภาคใต้ MIND : Your Industrial Power’ โดยมี นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รักษาการแทนผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายเอกนิติ รมยานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาการแทนผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม, นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วม ณ โรงแรม แกรนด์ ฟอร์จูน จังหวัดนครศรีธรรมราช

ปลัดฯ ณัฐพล กล่าวว่า สํานักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการในทุกมิติ สร้างธุรกิจให้เข้มแข็งเติบโตอย่างแข็งแกร่ง นําไปสู่ความสําเร็จอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบความแนวคิดและทิศทางการทํางานด้วย ‘MIND’ ใช้ หัว และ ใจ เพื่อบรรลุเป้าหมาย การสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน เปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมวิถีใหม่

ซึ่งการดําเนินงานภายใต้กรอบแนวคิด ‘MIND’ ของกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น มุ่งเน้นความสําเร็จ 4 มิติ ประกอบด้วย มิติที่ 1 ความสําเร็จทางธุรกิจ, มิติ ที่ 2 ความอยู่ดีกับสังคมโดยรวม, มิติที่ 3 ความลงตัวกับกติกาสากล และมิติที่ 4 การกระจายรายได้สู่ชุมชนที่ตั้ง ผ่านการดําเนินการพัฒนาอุตสาหกรรม ไปสู่อุตสาหกรรมศักยภาพสูงและการสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก โดยการจะสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนได้นั้น จําเป็นต้องมีความเข้มแข็งของผู้ประกอบการในพื้นที่เป็นองค์ประกอบสําคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สําคัญอย่างยิ่ง ในการร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จึงให้ความสําคัญกับการเสริมสร้างองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมในประเด็นที่จะช่วยยกระดับการดําเนินธุรกิจอุตสาหกรรมให้แก่ผู้ประกอบการ

รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ มีความโดดเด่นในหลากหลายมิติ เช่น ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก เป็นทางเลือกในการพักผ่อนระยะยาว หรือ ‘Long Stay’ ของชาวต่างชาติที่มีกําลังซื้อสูง ในด้านการเกษตร ภาคใต้มีความโดดเด่นเช่นเดียวกัน โดยมีพืชเศรษฐกิจที่สําคัญมากมาย เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน และโกโก้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ภาคใต้ ยังเป็นศูนย์กลางการแปรรูปอาหารทะเล รวมทั้งอาหารฮาลาล และมีความโดดเด่นในด้านการค้าและโลจิสติกส์ เนื่องจากทําเลที่ตั้งของ ภาคใต้เป็นประตูสู่ตลาดมาเลเซียและสิงค์โปร์ ซึ่งการดําเนินงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่จะสอดคล้องกับนโยบายล่าสุดของรัฐบาล ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมฮาลาล ต่อยอดสู่สากล ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลให้ความสําคัญกับภาคใต้เป็นอย่างยิ่ง จึงได้มีการกําหนดทิศทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยได้มีการประกาศระเบียงเศรษฐกิจ ภาคใต้ หรือ ‘SEC’ ที่ครอบคลุมพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ได้แก่ จังหวัดระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ซึ่งรัฐบาลไทยต้องการผลักดันให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาค เพื่อรองรับการขนส่งทางทะเลและทางบก

นอกจากนี้ ยังกําหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สําหรับดําเนินโครงการ ‘Land Bridge’ ซึ่งเป็นโครงการสร้างท่าเรือน้ําลึกเชื่อมทะเลอ่าวไทยและอันดามัน เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการขนส่งและการค้าของไทย ซึ่งจะทําให้มีความสะดวก และสามารถเชื่อมต่อกับเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น กล่าวได้ว่าภาคใต้เป็นพื้นที่ศักยภาพและเต็มไปด้วยโอกาสด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานหลักในการสนับสนุนผู้ประกอบการในการดําเนินธุรกิจอุตสาหกรรม จึงมีความจําเป็นที่จะต้องส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการในด้านการเพิ่มขีดความสามารถ การประกอบการและการผลิตอย่างรอบด้าน เพื่อยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในภาพรวม

การดําเนินงานในปัจจุบันของกระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งเน้นไปที่การสร้างธุรกิจ ให้เข้มแข็งเติบโตอย่างแข็งแกร่ง นําไปสู่ความสําเร็จอย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพเชิงพื้นที่ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการสร้างงานและ อาชีพให้แก่ผู้คน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็ง ผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรม มีการดําเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน สร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมที่สังคมและอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี

สำหรับ การสัมมนา ‘การส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้ : MIND Your Industrial Power’ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ แนะนําช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จะเป็นประโยชน์ในการดําเนินธุรกิจ เปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการ ตลอดจนเป็นการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้ให้เข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ในจังหวัดพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด จํานวนกว่า 150 คน โดยมีกิจกรรม 3 กิจกรรม ประกอบไปด้วย

1.) การบรรยาย เรื่อง ‘การส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้’ โดยผู้แทนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ ‘BOI’

2.) การอภิปราย เรื่อง ‘การแนะนําช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุน’ โดยผู้แทนจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และผู้แทนจากธนาคารออมสิน

3.) การเสวนา เรื่อง ‘การส่งเสริมและยกระดับ อุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้ : แนวคิดและประสบการณ์’ โดย ผู้แทนจาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้แทนภาคการศึกษา ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้แทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยร่วมเสวนา

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเน้นย้ำความสําคัญทางเศรษฐกิจของพื้นที่ภาคใต้ สํานักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมยังได้มีการจัดกิจกรรมพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม สู่ต้นแบบอัจฉริยะ หรือ ‘MIND STAR’ เพื่อดําเนินการสร้าง ผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมในพื้นที่อีกด้วย

‘อ.พงษ์ภาณุ’ แนะ!! หวังสร้างท่องเที่ยวฯ ยั่งยืน ความปลอดภัยในไทยต้องยกเป็นวาระอันดับ 1

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'ผลักดันท่องเที่ยวไทย ความปลอดภัยต้องมาอันดับ 1’ การกลับมาทวงบัลลังก์สู้ศึกเลือกตั้งสหรัฐ 2024 ของ ทรัมป์' เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

อย่าหวังการท่องเที่ยวจะกลับมาเหมือนเดิม หากไม่ปรับปรุงภาพลักษณ์ด้านความสะดวก ความสะอาด และความปลอดภัย 

ควรดูญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง!!

น่าเสียดายที่ช่วงโควิด 3 ปี รัฐบาลชุดก่อนไม่ใช้โอกาสในการปรับปรุงด้านอุปทาน (Supply Side) ของการท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะในด้านภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย ซึ่งถือเป็นข้อด้อยของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก 

จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ World Economic Forum (WEF) ซึ่งจัดอันดับความปลอดภัยของไทยไว้ท้ายๆ ตารางเสมอมา และเป็นอันดับที่ต่ำกว่าประเทศในอาเซียนแทบทุกประเทศ รวมทั้งพม่าและลาว

วันนี้ต้องยอมรับว่าโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติ 30 ล้านคนในปี 2566 มีน้อยเต็มที การคาดการณ์ที่น่าจะเป็นไปได้อยู่ที่เพียง 20 ล้านคน แม้จะมีการออกมาตรการฟรีวีซ่ามา ซึ่งทำให้สูญเสียรายได้ไปมากพอควร โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ที่ก่อนโควิดเคยมีจำนวนสูงถึง 10 ล้านคนในปี 2562 อย่างเก่งปีนี้น่าจะทำได้แค่ 3 ล้านคน 

หากจำกันได้ ตอนนั้นจีนมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่มาเสียชีวิตในไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจากการจมน้ำตาย และรัฐบาลที่ผ่านมาก็ไม่ได้พยายามแก้ปัญหาและสื่อสารภาพลักษณ์ของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิผล 

มาวันนี้ยังมีปัญหาจีนเทา ยาเสพติด และอาวุธปืนผิดกฎหมายเข้ามาเพิ่ม ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสื่อมทรามลง และส่งผลให้มีการยกเลิกทริปมาไทยเป็นจำนวนมาก

ประเทศที่แย่งซีนไทยไปและสมควรยึดถือเป็นตัวอย่างคือ ญี่ปุ่น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก จากระดับที่แทบไม่มีความสำคัญเลย จนวันนี้ถือได้ว่าแซงหน้าไทยไปแล้ว 

มาตรการสำคัญ ได้แก่ ฟรีวีซ่า การคืนภาษีที่สะดวกรวดเร็ว การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวระดับท้องถิ่น ตลอดจนภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลสมควรจะนำมาเป็นบทเรียนในการพัฒนาการท่องเที่ยวไทยในระยะต่อไป

โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยนักท่องเที่ยว ควรจะมุ่งเน้นตลาดจีนเป็นหลัก เพราะรัฐบาลจีนมีความวิตกกังวลเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนมีจำนวนหนึ่งในสี่ของของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทย 

ดังนั้นภาครัฐควรกระตุ้นบทบาทในชี้นำภาคการท่องเที่ยว ผ่านกลไกของคณะกรรมการร่วมด้านการท่องเที่ยวไทย-จีน ซึ่งมีอยู่แล้ว และมีปลัดกระทรวงท่องเที่ยวของสองประเทศเป็นประธานร่วมกัน เป็นกลไกหลักในการปรับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยในตลาดจีนต่อไป

‘พีระพันธุ์’ ยัน!! ‘ค่าไฟฟ้า’ จะไม่แพงตามมติ กกพ. ลั่น!! จะดึงราคาลงมาให้ได้ เพื่อไม่ให้ปชช.ลำบาก

(2 ธ.ค. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์เฟซบุ๊กว่า "ขอให้มั่นใจค่าไฟจะไม่สูงอย่างที่เป็นข่าวครับ ผมเข้าใจถึงความกังวลใจของพี่น้องประชาชนที่ถามกันมามากเรื่องราคาค่าไฟฟ้าภายหลังจากสิ้นสุดระยะเวลามาตรการลดค่าไฟฟ้าในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ว่าราคาอาจกระโดดสูงขึ้นถึงหน่วยละ 4.68 บาท หรือ 17% จากราคาปัจจุบันหน่วยละ 3.99 บาทตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ได้เปิดให้มีการสอบถามและมีมติไป

ผมเองก็รับไม่ได้ถ้าราคาค่าไฟจะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดอย่างนั้น เพราะถึง กกพ.จะมีมติแบบนั้น แต่เราก็ต้องบริหารจัดการเอาราคาค่าไฟลงมาให้ได้ ซึ่งผมได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ เร่งประสานทุกจุดล่วงหน้าด้วยวิธีการใหม่ๆ หลายรูปแบบแล้ว เพื่อไม่ให้ประชาชนไม่แบกรับค่าไฟฟ้าที่มากเกินไป จะพยายามทำให้ใกล้เคียงกับที่จ่ายอยู่ในปัจจุบันให้มากที่สุด

ผมขอให้ความมั่นใจว่ากระทรวงพลังงานยุคนี้ไม่ได้นิ่งนอนใจและทำงานล่วงหน้ามาระยะหนึ่งแล้วเพื่อให้ราคาค่าไฟอยู่ในระดับที่ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก ซึ่งต้องใช้หลายกลไกพร้อมๆ กันภายใต้โครงสร้างในปัจจุบันที่ไม่ได้ให้อำนาจกับฝ่ายนโยบายมากนัก แต่จะพยายามทำอย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน

ทั้งนี้ การที่ กกพ.ประกาศให้ประชาชนเห็นชอบแนวทางในการปรับอัตราค่าไฟฟ้าก่อนหน้านี้ เป็นเงื่อนไขตามกฎหมายที่จะต้องมีการประกาศเพื่อให้ประชาชนแสดงความคิดก่อนที่จะมีมติ แต่ทั้งนี้ไม่ได้เป็นที่สุด จะต้องมีการบริหารจัดการเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดต่อไป ทั้งหมดนี้จะเตรียมการให้เสร็จสิ้นและประกาศโดยเร็วที่สุด

ผมพูดเสมอว่านี่คือการแก้ไขปัญหาระยะสั้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนภายใต้โครงสร้างแบบปัจจุบัน แต่ที่กำลังดำเนินการแบบเข้มข้นที่สุด และทำงานกันไม่หยุดหย่อนทุกวัน คือการเร่งรวบรวมข้อมูลทุกด้านเกี่ยวกับพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซ ไฟฟ้า พลังงานทดแทน และพลังงานสะอาด ให้ครบทุกมิติ เพื่อนำไปสู่การ รื้อ ลด ปลด สร้าง พลังงานให้มั่นคง เป็นธรรม และยั่งยืนทั้งระบบ

ไม่ยากครับถ้าแค่พูดเอาเท่ ฟังดูดีทรงภูมิ คนทำแบบนั้นมีเยอะแล้ว แต่ไม่เคยเห็นรูปธรรม พูดไปเรื่อยๆ ใช่ครับ อะไรๆ ก็แก้โครงสร้าง แต่จะแก้อะไร แก้อย่างไรครับ ส่งผลกระทบแบบไหน จะทดแทนด้วยอะไร ทั้งระบบต้องสอดคล้องและไม่ก่อภาระเพิ่มให้กับประชาชน

ย้อนกลับไปดูกันนะครับ กฎหมายแต่ละฉบับ รูปแบบที่ใช้กันอยู่ ใช้มานานเท่าไร ปล่อยกันมาสี่สิบปีแล้วนะครับ

ผมเองหลังแถลงนโยบายมาสองเดือนเศษ ผมไม่พูดมากแต่ลงมือทำ อย่างน้อยผมก็พยายามลดภาระให้ประชาชนไม่ว่าจะตามโครงสร้างแบบไหน ทั้งน้ำมันดีเซล เบนซิน ค่าไฟฟ้า ตรึงราคาค่าแก๊ส ผมดีใจที่พี่น้องประชาชนได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เวลาเดียวกันก็เร่งดำเนินการรวบรวมข้อมูลชนิดลงลึกทุกขั้นทุกตอน ทำงานกันหลายคณะ ทำมากกว่าพูดลอยๆ ว่า “ปรับโครงสร้างๆๆ”

เมื่อข้อมูลครบถ้วนแล้ว ไม่นานครับ เพราะผมและคณะจะร่างกฎหมายเอง เป็นชุดและครอบคลุมทั้งหมด ตอบได้ทุกคำถาม เพราะยึดเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ผมศึกษา หาข้อมูล ถกเถียง คิดวิเคราะห์ คืบหน้าไปมากแล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์ เพราะนี่คือการลงมือทำจริง ไม่ใช่เพียงแค่พูดแล้วเสกออกมา ขอให้มั่นใจ ผมเอาจริงแน่นอน"

'อ.เกียรติอนันต์' ชี้!! ความเป็นไปได้ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' กระตุ้นเศรษฐกิจไทย สร้างแรงทวีการจับจ่ายที่หดหาย แต่ต้องดีไซน์ไม่ให้ไปกองแค่กลุ่มทุน

(2 ธ.ค.66) จากรายการ 'ถลกข่าว ถลกปัญหา' ทาง THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.66 ได้พูดคุยกับ อ.ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในประเด็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ดีจริงหรือไหม? ว่า…

“ตัวอย่างแรกเลย…เศรษฐกิจต้องการการกระตุ้นไหม? คำตอบคือ 1.ต้องการ และ 2.หากไปดูอีกฝั่งคือนโยบายการเงินเขาพยายามที่จะเบรก ‘เงินเฟ้อ’ ด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ย แต่เวลาปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อเบรกเงินเฟ้อมันจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนและทําให้คนระมัดระวังในการใช้เงินมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้บัตรเครดิตหรือการกู้เงิน เพราะฉะนั้นเงินมันก็หายไป นอกจากนี้ พอมองอีกตัวคือเงินที่มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งก็เข้ามาแค่ประมาณ 50-60% ของที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้นโจทย์แรกคือในเมื่อคนซื้อของมันหายไปทั้งหมดเลย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจําเป็นไหม คำตอบคือจําเป็น…

ส่วนคําถามต่อมาคือเราจะกระตุ้นแบบไหน? เวลาเรากระตุ้นเศรษฐกิจแบบนี้มันจะผ่าน ‘ตัว C’ หรือ ‘ตัวการบริโภค’ ดังนั้นอะไรก็ตามที่จะทําให้คนบริโภคเยอะขึ้น มันจะเห็นผลเร็ว เพราะว่าตัว C เป็นเงินที่เดินทางเข้าสู่เศรษฐกิจเร็วที่สุด เช่น ออกไปตลาดเพื่อซื้อของอย่างนี้คือได้เงินเลย แต่ถ้าเป็นนักลงทุน อย่างอนุมัติการลงทุนวันนี้อีกปีกว่าเงินลงทุนจะมา ต้องรอหลายเดือน ส่งออก 6 เดือน 8 เดือนกว่าจะเข้า มันจึงไม่มีทางเลือก ดังนั้นเราจําเป็นต้องทำ

ถัดมา มี 2 ประเด็น ที่ต้องคิดคู่กันคือ 1. เครื่องมือในการกระตุ้นมันดีหรือยัง? และ 2. การกระตุ้นแบบนี้ถูกออกแบบมาให้เงินมันฟู หรือที่เรียกว่าตัวคูณทวี (Multiplier Effect) มันมีพลังมากที่สุดหรือเปล่า? เพราะฉะนั้นถ้าเรามองอย่างแรกคือจะรู้เลยว่าต้องกระตุ้น แต่การกระตุ้นมันมีทั้งแบบเดิมคือนโยบายของรัฐบาลชุดก่อน ซึ่งก็คือ 'โครงการคนละครึ่ง' ซึ่งอันนี้ไม่ใช่คนละครึ่ง ไม่ใช่การเอาเงินต่อเงิน แต่เอาเงินไปเติมเงินด้วยนโยบาย 1 หมื่นบาท โดยตอนแรกเขาออกมาแค่ 1 หมื่นบาท แต่ว่าไม่ได้พูดถึงรายละเอียดมากนั้น จึงทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้น จากนั้นรัฐบาลได้เก็บคำวิจารณ์เหล่านี้มาปรับปรุงกระบวนการ อย่างเมื่อก่อนบอกเฉพาะในพื้นที่แต่ตอนนี้ใช้ได้ในอําเภอได้แล้ว หรือจาก 25,000 ก็ขยับเป็น 70,000 แล้ว ดังนั้น จะเห็นได้ว่าอย่างน้อยเสียงด่าถึงหูรัฐบาลซึ่งถือเป็นข่าวดี เพราะมีการปรับปรุงและใช้เงื่อนไขที่ตัดข้อกังวลหลายอย่าง เช่น สามารถใช้ซื้อของได้แค่บางอย่าง โดยมีของที่ใช้ในชีวิตประจําวันเป็นหลัก และข้อดีของสิ่งนี้คือมันช่วยให้เงินไปถึงคนที่ต้องการใช้จริง ๆ เพราะคนที่ต้องการใช้เงินและใช้ได้เร็วที่สุดคือคนที่หาเช้ากินค่ำ เพราะเขาสามารถเอาเงินตัวนี้ไปซื้อข้าวของแทนได้ แต่คนที่อาจจะเอ๊ะ…เขาไม่ได้ลําบากขนาดนั้น แต่ด้วยข้อบังคับตัวนี้ มันบังคับให้เขาไม่จําเป็นต้องใช้เงินก้อนนี้ก็ได้ เพราะว่าสิ่งอื่นที่เขาอยากจะซื้อ มันไม่จําเป็นต้องซื้อ เพราะฉะนั้นมันเหมือนกลยุทธ์ของรัฐบาลที่บอกว่าจะใช้เงิน 500,000 ล้าน แต่เอาเข้าจริงๆ พอใช้มันอาจจะไม่ถึงก็ได้

แต่สิ่งที่กังวลคือ…การบอกว่าตัวคูณทวีจะทรงพลังมากถึง 3 เท่า…ดังนั้น อย่างแรกต้องกลับไปเปิดตํานานเศรษฐศาสตร์มหภาคของปี 1 ก่อน เวลาเราคํานวณตัวคูณทวีมันจะมีสูตรคํานวณ และจะต้องคํานวณเป็นสิบ ๆ บรรทัดกว่าจะได้ตัวเลขมา คือ ฉันจ่ายให้เธอ เธอจ่ายต่อคนโน้นคนนี้ไปเรื่อย ๆ ยาวเป็นกิโล เพราะฉะนั้นสมมติฐานการคํานวณตัวคูณทวีคือเงินมันจะวิ่งหลายสิบทอดมากกว่าที่มันจะฟู อันนี้คือข้อที่กังวล เพราะเงินดิจิทัลบอกว่า ต้นทางเอาไปซื้อของจากพ่อค้า ไม่ต้องอยู่ในระบบก็ได้แต่ซื้อได้ สมมติได้ไป 500 บาท และทีนี้หากพ่อค้าคนนี้ไปซื้อของจากแม็คโคร โลตัส หรือว่าอะไรก็ตามที่เป็นบริษัทใหญ่เงินมันจะจบแค่นั้น… เขาสามารถเอาไปขึ้นเงินได้เลย ดังนั้น มันจะเดินทางเพียงแค่ 2 ต่อ แต่ในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์บอกว่าต้องเดินทางเป็นสิบ ๆ ต่อ แสดงว่าตัวฟูอาจจะไม่ฟูแล้ว ดังนั้น สิ่งนี้คือสิ่งที่กังวลอย่างมาก และคิดว่ามันอาจจะเกิดขึ้นได้…”

รู้จัก ‘น้องไตตั้น’ แชมป์กอล์ฟเยาวชนโลก วัย 12 มุ่งมั่นความฝัน ‘เทิร์นโปร-ก้าวสู่จักรวาล PGA’

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.66 ได้พูดคุยกับ ‘เจษฎา ช่วงประยูร’ หรือ ‘น้องไตตั้น’ หนุ่มน้อยวัย 12 ปี อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของเยาวชนไทยที่สามารถกวาดรางวัลมามากมายใน รายการ ‘สิงห์ ไทยแลนด์ จูเนียร์ เวิลด์ กอล์ฟ แชมเปี้ยนชิพ 2023’ ครั้งที่ 14 การแข่งขันระดับนานาชาติ ที่จัดขึ้นในไทย ที่ สนามกอล์ฟหลวงหัวหิน ซึ่งรายการนี้มีนักกีฬากอล์ฟจากนานาชาติเข้าร่วมกว่า 17 ประเทศ รวมนักกีฬาประมาณ 140 คน แบ่งเป็นหลายระดับ ตั้งแต่อายุไม่เกิน 12 ปี และ ไม่เกิน 18 ปี ครับ ซึ่งเด็กไทยกวาดได้ถึง 7 แชมป์ นับเป็นอีกรายการสำคัญที่เปิดโอกาสให้เยาวชนโชว์ฝีมือ และเติมประสบการณ์ ก้าวสู่เส้นทางนักกีฬาในอนาคต ‘ฝันให้ไกล แล้วไปให้ถึง’ 

สำหรับผลการแข่งขันในครั้งนี้ปรากฏว่า แชมป์โอเวอร์ออลโลว์กรอสส ซี-ดี ได้แก่ ‘น้องไตตั้น’ ที่มีความชื่นชอบกีฬากอล์ฟเป็นชีวิตจิตใจ โดยได้รับการสนับสนุนจากคุณพ่อ คุณรุ่งโรจน์ บุณยทรัพยากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์เจนิฟู้ด ซึ่งคุณรุ่งโรจน์กล่าวว่า กว่าจะมาถึงวันนี้ “ต้องหากิจกรรมให้ลูกได้ลองเล่นหลายๆ อย่าง เมื่อชอบแล้วก็สนับสนุนให้เรียนฝึกทักษะอย่างจริงจัง บังเอิญเค้าได้ลองเล่นกอล์ฟตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เลยสนับสนุนมาตลอดจนประสบความสำเร็จ หลายคนถามว่าหาตัวตนของลูกได้อย่างไร คำตอบก็คือ ต้องใช้ลูกเป็นตัวตั้งว่าเค้าชอบอะไรและสนับสนุนในสิ่งที่เค้าเก่ง สิ่งที่เค้าชอบ หาให้เจอว่าเค้าเก่งในด้านไหนจะได้ช่วยสนับสนุนได้”

น้องไตตั้น กล่าวว่า “รู้สึกดีใจและตื่นเต้นมากที่ได้แชมป์ในครั้งนี้ ซึ่งตอนนี้ผมก็กำลังเรียนในรูปแบบ Home School หลักสูตรของสหรัฐอเมริกาเพื่อจะได้มีเวลาในการฝึกซ้อมกอล์ฟมากขึ้น โดยตอนเช้าเรียนหนังสือ ตอนบ่ายซ้อมกอล์ฟ ซึ่งต้องมีการแบ่งเวลาเป็นอย่างดี”

เมื่อถามว่าทำไมถึงชอบกีฬากอล์ฟ? น้องไตตั้น เผยว่า “เพราะเคยไปลองตีกอล์ฟกับคุณพ่อตอนเด็ก ๆ เลยชอบมาถึงทุกวันนี้ ทุกวันนี้ซ้อมพัตต์อย่างเดียว วันละ 3-4 ชั่วโมง ตั้งแต่วันอังคาร-วันศุกร์ หยุดพักแค่วันจันทร์” 

เมื่อถามถึงเป้าหมายในอนาคต? น้องไตตั้น กล่าวอย่างมุ่งมั่นว่า “ผมตั้งใจจะสอบโปรให้ผ่าน และตั้งใจเข้า PGA ให้ได้ต่อไป”

ทั้งเรียนและเล่นกีฬาอย่างจริงจังในเวลาเดียวกัน ย่อมมีบ้างที่เด็กวัย 12 จะรู้สึกเหนื่อยล้า แต่เจ้าตัวก็ตอบปนเปื้อนรอยยิ้มว่า “เหนื่อยแต่มีความสุขในการซ้อม เพราะการเล่นกอล์ฟช่วยฝึกร่างกาย ฝึกความคิดและสภาพจิตใจได้ดีครับ” แชมป์กอล์ฟเยาวชนโลก วัย 12 ปีกล่าว

‘รมว.ปุ้ย’ ประสานช่วยแก้ปัญหาค่าตั๋วเครื่องบินแพง ปมกระทบเป็นลูกโซ่ ฉุดการค้าการลงทุนเมืองคอน

(1 ธ.ค.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังจากวันที่เริ่มงานอุตสาหกรรมแฟร์ที่นครศรีธรรมราช พบบุคคลสำคัญในสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวนครศรีธรรมราช, หอการค้านครศรีธรรมราช และอีกหลายภาคส่วน ได้บอกเล่าถึงความคับข้องใจ ไม่สบายใจเรื่องตั๋วค่าโดยสารเครื่องบิน จาก ‘กรุงเทพฯ-นครศรีธรรมราช’ หรือ ‘นครศรีธรรมราช - กรุงเทพฯ’ ที่มีราคาสูงในบางช่วงจนถึงขั้นหลายคนที่ต้องการโดยสารจำเป็นต้องขับรถไปจอดแล้วโดยสารเครื่องบินจากท่าอากาศยานจังหวัดใกล้เคียง ที่ทราบว่ามีราคาที่ต่ำกว่าครึ่งต่อครึ่ง หรือบางคนโดยสารมาลงแล้วต่อรถโดยสารหรือให้ญาติขับรถไปรับมาจังหวัดนครศรีธรรมราช 

จากปัญหาดังกล่าวนี้ ทาง ‘รมว.ปุ้ย’ ซึ่งได้รับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนในหลาย ๆ ส่วน กังวลว่าจะกลายเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในจังหวัดไม่มากก็น้อย อีกทั้งยังอาจลามเกี่ยวเนื่องไปอีกหลายส่วนเป็นลูกโซ่ กับภาคการค้าการลงทุนที่จะตามมาอีกเป็นขบวน 

“น้ายูร หรือ คุณประยูร เงินพรหม ประธานหอการค้านครศรีธรรมราช ได้เผยกับปุ้ยว่า ได้เดินทางบ่อยเฉพาะค่าตั๋วแต่ละเดือนสาหัสอยู่เหมือนกัน ขณะที่ พี่อุ้ม ศิริกมล แก้วแสงอ่อน นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวนครศรีธรรมราช ก็ได้เป็นตัวแทนทำหนังสือถึงความไม่สบายใจของหลายภาคส่วนเกี่ยวกับเรื่องนี้ และได้ยื่นหนังสือผ่านปุ้ย ซึ่งในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และยังเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นครศรีธรรมราช ปุ้ยได้รับหนังสือฉบับนี้ไว้เรียบร้อยแล้ว และจะนำไปประสานงานกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง”

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า ปัญหาเหล่านี้จะต้องมีเจ้าภาพหลักในการแก้ปัญหา และตนจะเป็นอีกแรงที่ช่วยเร่งประสานงานให้เร็วที่สุด เพื่อความสะดวกในการเดินทางโดยสายการบินต่าง ๆ ผ่านท่าอากาศยานนครศรีธรรมราชของพี่น้องประชาชน และไม่เกิดปัญหาลุกลาม ส่งผลกระทบอย่างที่ได้รับข่าวสารตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นต่อไป

'สุวัจน์' ลุ้น!! โคราชเจ้าภาพจัดงาน 'พืชสวนโลก 2029' เชื่อ!! ดัน 'ศก.-การท่องเที่ยว' โคราชและภาคอีสานพุ่ง

(1 ธ.ค.66) นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี จ.นครราชสีมา เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลกในปี 2572 ว่า...

"เป็นโอกาสที่ดีที่ประเทศไทยจะได้เป็นเจ้าภาพจัดงานในระดับโลกอีกครั้ง หลังจากที่เราเคยเป็นเจ้าภาพจัดมาแล้วที่เชียงใหม่ เมื่อปี 2549 ทั้งนี้ จ.นครราชสีมา มีความพร้อมทั้งทางด้านวิชาการ และพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และยังเป็นเมืองเก่าแก่ ที่มีอายุ 555 ปี มีวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามมากมาย ขณะเดียวกันในปี 2572 หรือในอีก 6 ปีข้างหน้า รถไฟความเร็วสูง มอเตอร์เวย์ ก็จะเสร็จสมบูรณ์ พร้อมอำนวยความสะดวกในการเดินทาง

"ถ้าโคราชได้รับเลือก ก็จะเป็นโอกาสที่ประชาสัมพันธ์ภาพใหญ่ของประเทศว่าเรามีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี เป็นเมืองทันสมัย ที่มีความพร้อมที่จะจัดงานระดับโลกได้ และจะสามารถดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ และ จ.นครราชสีมา จะเป็นผลดีกับเศรษฐกิจของโคราช และภาคอีสานโดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว" นายสุวัจน์ กล่าว 

ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวถึง กรณี แอนโทเนีย โพซิ้ว รองนางงามจักรวาล จะเดินทางกลับ จ.นครราชสีมา บ้านเกิด วันที่ 11 ธันวาคม ว่า แอนโทเนีย เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยและคนโคราช ที่สามารถสร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศไทย ในฐานะที่ได้ครองตำแหน่งระดับโลก ได้โปรโมตทั้งความสวย และความเก่งของสุภาพสตรีไทย ซึ่งกว่าจะได้มาเธอต้องต่อสู้อย่างเข้มแข็งมาก การได้ตำแหน่งของเธอในครั้งนี้ เป็นประโยชน์ต่อการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมาก เพราะเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐบาลเองก็ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยว จึงถือว่าแอนโทเนียมาถูกสถานการณ์มาก นอกจากนี้เธอยังมีบทบาทในการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ วัฒนธรรม ประเพณี อันดีงามของชาวโคราช ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลกด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top