1 ปี 'พีระพันธุ์' ใต้หมวกเจ้ากระทรวงพลังงาน อะไรทำแล้ว? เรื่องไหนทำอยู่? แล้วไทยจะก้าวสู่ 'ความมั่นคง-เป็นธรรม-ยั่งยืน' ด้านพลังงานได้อย่างไร?
ครบวาระการทำงาน 1 ปี ในฐานะเจ้ากระทรวงพลังงานของ 'นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค' ประชาชนได้รับการดูแลแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานอย่างไร? มิติใหม่ในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของไทยคืบหน้าไปมากน้อยแค่ไหน? กฎหมายกำกับดูแลราคาพลังงานให้เป็นธรรมจะได้ใช้เมื่อไหร่? ราคาน้ำมัน-ค่าไฟ จะลดลงได้อย่างไร?
แล้วการทำงานในปีที่ 2 จะไปต่อแบบไหน? และมีอะไรใหม่ในการดูแลประชาชนด้านพลังงาน? ไปพบกับคำตอบทั้งหมดนี้ได้ในบทสัมภาษณ์พิเศษ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เจ้าของแนวคิด 'รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง' เพื่อความมั่นคง เป็นธรรม ยั่งยืน ของระบบพลังงานไทย เพื่อคนไทยทุกคน ดังนี้...
>> ลุยหาช่องทางแก้ปัญหาหมักหมม
"จากประสบการณ์ทํางานในราชการทางการเมือง ผมคิดว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ผมทํางานได้เยอะและเร็วพอสมควร ฟังดูเหมือนนาน 12 เดือน 1 ปี แต่ในความเป็นจริง ช่วง 2-3 เดือนแรก ผมต้องศึกษาข้อมูล ศึกษาปัญหา แล้วก็ศึกษาวิธีการแก้ไข ปัญหาของกระทรวงพลังงานซึ่งรับผิดชอบทั้งเรื่องน้ำมัน เรื่องค่าไฟฟ้า เรื่องของราคาแก๊ส แล้วก็อีกหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชนในเรื่องของพลังงาน มันเยอะมาก และเป็นปัญหาที่หมักหมมมา ไม่ใช่แค่ 5 ปี 10 ปี
"กระทรวงพลังงานปีนี้จะเริ่มปีที่ 22 แต่ปัญหาที่พูดมาทั้งหมด เกิดมาก่อนกระทรวงพลังงาน โดยเฉพาะเรื่องปัญหาน้ำมัน ไม่ต่ำกว่า 40-50 ปี ผมเองใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนแรก ในการศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไข ผมคิดว่าผมพอใจในการทํางานของผมเองที่ 2-3 เดือนแรกก็สามารถที่จะศึกษาทั้งหมดได้ครับ"
>> ออกประกาศให้ผู้ค้าแจ้งต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
"หลังจากศึกษาก็หาวิธีแก้ไข โดยเฉพาะอันดับแรกเลยก็คือเรื่องของน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งประหลาดมากที่เราไม่เคยรู้ต้นทุน และก็ไม่เคยขอให้ผู้ค้าบอกต้นทุนได้ ผมก็ต้องใช้เวลาในการหาวิธีที่จะดําเนินการ เพราะทุกฝ่ายมาบอกกับผมหมดเลยว่า 'ไม่มีอํานาจ' ซึ่งการจะมีอํานาจก็ต้องแก้ไขกฎหมายนะครับ และนอกจากแก้ไขกฎหมายธรรมดา ยังต้องแก้ไขกฎหมายอีกหลายอย่างซึ่งจะใช้เวลา ผมก็ต้องกลับมาใช้กฎหมายที่เป็นกฎหมายปัจจุบันมาศึกษาช่องทาง และผมทําเองทั้งหมด
"สุดท้ายก็เจอช่องทางตามกฎหมายปัจจุบัน ผมจึงหารือกับทางสํานักงานกฤษฎีกา ซึ่งก็เห็นตรงกัน เลยยกร่างเบื้องต้นขึ้นมา แล้วก็ให้คณะไปร่างต่ออีกทีนึง ก็ออกมาเป็นประกาศกระทรวงพลังงานที่กําหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งต้นทุน จากนั้น ก็มาเจอกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่า การจะประกาศได้ต้องผ่านกระบวนการ พูดง่าย ๆ ภาษาง่าย ๆ ประชาชนเข้าใจง่าย คือต้องประชาพิจารณ์อีก เพราะฉะนั้นก็ทําให้กระบวนการที่จะออกประกาศใช้เวลาอีก 3-4 เดือน สุดท้ายก็มีผลบังคับเมื่อประมาณเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งสามารถทําให้ผมรู้ต้นทุนราคาน้ำมัน และรู้ปัญหาที่จะต้องแก้ไขต่อไป"
>> ร่างกฎหมายกำกับดูแลการขึ้นลงของราคาน้ำมัน สกัดผู้ค้าปรับราคาตามอำเภอใจ
"ต่อมา ผมก็คิดว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำมันของบ้านเรา ในเรื่องของการใช้ระบบที่เรียกว่า ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ มารักษาระดับหรือพยุงราคา ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งนอกจากจะเป็นภาระของประเทศแล้ว ยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่ตรงจุด ขณะเดียวกัน ผมก็พบว่าประเทศไทยไม่มีสํารองน้ำมันของ
ประเทศ ที่ว่ามี ๆ กันวันนี้ ไม่ใช่สํารองน้ำมันของประเทศ แต่เป็นสํารองของผู้ประกอบการ และวัตถุประสงค์หลักก็คือ เป็นการสํารองด้านการค้า ขั้นต่ำของการสํารองเพื่อความมั่นคงและปลอดภัยประเทศต้องอย่างน้อย 90 วันตามมาตรฐานสากล แต่ของเราไม่มี ที่มีอยู่ก็แค่ 20 วัน
"เพราะฉะนั้นเราก็ตกมาตรฐานสากล เป็นมาแบบนี้ 40-50 ปี ไม่เคยมีใครทํา ผมก็ต้องมานั่งคิดอีก แล้วก็มานั่งคิดว่า ตรงนี้จะแก้ปัญหาเรื่องกองทุนน้ำมันยังไง ก็ปรากฏว่ากองทุนน้ำมันไม่เคยมีกฎหมาย เพิ่งมีกันครั้งแรกเมื่อปี 2562 ซึ่งก็เป็นกฎหมายที่ไม่สมบูรณ์อีก ผมก็ต้องมานั่งคิดว่าจะวางระบบเรื่องสํารองน้ำมันประเทศยังไง แล้วก็มาเจอปัญหาเรื่องราคาน้ำมันขายปลีก
"ผมเองก่อนมาเป็นรัฐมนตรีก็สงสัย ทําไมราคาน้ำมันมันขึ้นลงกันได้ง่ายเหลือเกิน วันนี้อ้างราคาตลาดโลกขึ้น แต่เวลาลงทําไมมันไม่ลงง่ายเหมือนตอนขึ้น ก็ปรากฏว่าไม่มีกฎหมายอีกครับ กลายเป็นว่าการขึ้นลงของราคาน้ำมัน ชาวบ้านก็ไม่เข้าใจเหมือนผมในอดีต ก็หาว่าทําไมกระทรวงพลังงานปล่อย มันไม่ปล่อยได้ไงครับ มันไม่มีกฎหมายให้อํานาจทําอะไรเลย เพราะฉะนั้น ผมก็เลยเร่งทำกฎหมายในเรื่องนี้
"ที่ผมเคยบอกไว้ว่า ผมมีบันได 5 ขั้น ผมก็ไล่มาทีละขั้นนะครับ หลังจากเรื่องของต้นทุนราคาน้ำมันซึ่งเป็นบันไดขั้นที่ 2 ผมก็ต้องรีบมาแก้ปัญหาเรื่องการที่ผู้ประกอบการค้าน้ำมันสามารถทําอะไรก็ได้ตามอําเภอใจ ไม่มีกฎหมาย ผมก็มาแก้กฎหมายเพื่อกํากับดูแลการประกอบธุรกิจการค้าน้ำมัน ซึ่งเป็นบันไดขั้นที่ 3 และตอนนี้ผมยกร่างกฎหมายนี้เสร็จแล้วครับ
"ผมขออนุญาตทําความเข้าใจนิดนะครับว่า การขออนุญาตค้าน้ำมันกับการกํากับดูแลนี่ไม่เหมือนกัน ทุกวันนี้เรามีแต่กฎหมายที่มาขออนุญาตค้าน้ำมัน แต่เมื่อเราให้อนุญาตไปแล้ว ก็อิสระเลยครับ ในขณะที่ทางด้านไฟฟ้า มีคณะกรรมการ กกพ. หรือคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน เป็นผู้กํากับเรื่องของการประกอบกิจการ เรื่องของราคา เรื่องอื่น ๆ แต่น้ำมันไม่มี การกํากับดูแลสื่อก็ยังมี กสทช. แต่น้ำมันไม่มีครับ อันนี้เป็นเรื่องที่ประหลาด ปล่อยมาอย่างนี้ 40-50 ปี ผมคิดว่าอันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทําให้เกิดปัญหากับพี่น้องประชาชน
"ดังนั้น ผมก็เลยยกร่างกฎหมายที่ว่า ซึ่งตอนนี้เสร็จแล้ว และจะประชุมคณะทํางานเพื่อจะตรวจร่างที่ผมร่างขึ้นมา กฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายใหม่ในการกํากับดูแลไม่ให้การประกอบกิจการน้ำมันของผู้ที่ได้รับใบอนุญาตค้าน้ำมันอยู่แล้ว สามารถทําอะไรได้เองตามอําเภอใจทั้งหมด แล้วสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน เราจะมีการกํากับดูแล แล้วก็จะวางระบบเรื่องกองทุนน้ำมันฯ ใหม่ ซึ่งระยะเวลาการทํากฎหมายนี้จนถึงวันนี้ ผมคิดว่าเร็วพอสมควรแล้วกับการแก้ไขปัญหาในระยะต่อไปครับ"
>> จัดตั้งระบบสำรองน้ำมันแห่งชาติ พลิกภาระหนี้สินกองทุนน้ำมันฯ ให้กลายเป็นทรัพย์สินของชาติ
"ผมกำลังทําเรื่องกฎหมายเรื่องสํารองน้ำมันของประเทศ ซึ่งผมจะเอาน้ำมันตัวนี้มาดูแลปัญหาราคาน้ำมันแทนกองทุนน้ำมันฯ เราจะมีน้ำมันมาดูแลน้ำมัน ผมจะเปลี่ยนกองทุนที่ใช้เงินและสร้างหนี้สาธารณะ ให้เป็น Asset หรือทรัพย์สินของประเทศ ต่อไปกองทุนน้ำมันฯ ที่มีน้ำมันสํารองของประเทศ จะเป็นทรัพย์สินของประเทศไม่ใช่ภาระหนี้สินอีกต่อไป ซึ่งตอนนี้ผมเริ่มต้นทําแล้วครับ”
>> ตรึงค่าไฟสุดกำลัง!! ยับยั้งความเดือดร้อนประชาชน
"เรื่องของค่าไฟฟ้า ในช่วงแรกที่ผมเข้ามาเป็นรัฐมนตรีพลังงานในรัฐบาลชุดนี้ ก็เป็นไปตามนโยบายของพรรคผม และของรัฐบาลตรงกัน คือลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้พี่น้องประชาชน มาถึงปั๊บเราก็แก้ไขปัญหาราคาไฟฟ้าให้อยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ทั้งประชาชนทั่วไป และประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วยต่อเดือน แต่ว่าเราสามารถตรึงตรงนี้อยู่ได้ช่วงหนึ่ง เพราะว่าราคาแก๊สในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น พอมาช่วงที่ 2 ก็คือ ช่วงต้นปีนี้ ก็มีข่าวทันทีครับว่าไฟฟ้าจะพุ่งขึ้น
"สิ่งที่ผมพยายามทําก็คือ 'ถ้าลดไม่ได้ ก็ไม่ขึ้นครับ ต้องตรึง' แต่ว่าในช่วงแรกเรามีความจําเป็นต้องขยับราคา เนื่องจากภาระหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่รับภาระหนี้แทนพี่น้องประชาชนในการที่ช่วยตรึงค่าไฟในช่วงแรกไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย เขาเพิ่มสูงขึ้น เราเลยจําเป็นต้องอนุญาตขยับราคาขึ้นมาเป็น 4.18
บาท ก็ขึ้นมานิดเดียวครับ จาก 3.99 บาท ซึ่งตอนแรกมีข่าวลือออกมาว่าจะขึ้นเยอะแยะ แต่ว่าในส่วนของพี่น้องประชาชนที่เป็นกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ก็ยังคงตรึงไว้ที่ 3.99 บาท เหมือนเดิมครับ
"หลังจากครบระยะ 4 เดือนตรงนี้ ก็มีข่าวขึ้นราคาอีก ซึ่งผมไม่อยากให้ขึ้น รัฐบาลก็ไม่อยากให้ขึ้น หรืออย่างน้อยเมื่อเราลดราคาไม่ได้ ก็ต้องตรึงไว้ที่เดิม นโยบายของเราก็ตรึงไว้ที่ 4.18 บาท ซึ่งการตรึงราคาครั้งที่สองนี้เหนื่อยกว่าครั้งแรกเยอะมากครับ เพราะอะไรครับ เพราะราคาก๊าซขึ้น ในขณะเดียวกันแก๊สในอ่าวไทยที่เราเคยผลิตได้ก็หายไปวันละ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต แล้วยังมีปัญหาอีกหลายอย่าง ผมก็ได้ไปกําชับเรื่องการขุดแก๊สจากอ่าวไทยเพิ่ม ทำให้แก๊สปริมาณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันที่หายไปก็สามารถกลับมาได้แล้ว และมีบริหารจัดการในอีกหลายเรื่องที่ทําให้เราสามารถตรึงราคาค่าไฟไว้ที่ 4.18 บาท ได้อีกเหมือนเดิม
"พอมาครบ 4 เดือน ในงวดที่เพิ่งผ่านมา ก็มีข่าวมาอีกแล้วว่าจะขึ้นไป 4 บาท 50-60 สตางค์ หรือไปถึง 6 บาทเลยนะครับ ตรงนี้เราก็มาบริหารจัดการ สุดท้ายผมก็ยังสามารถตรึงราคาไว้ได้ที่ 4.18 บาท แล้วคณะรัฐมนตรีก็อนุมัติให้ดูแลกลุ่มเปราะบางที่ 3.99 บาท โดยใช้เงินงบประมาณมาเหมือนเดิม นี่ก็เป็นสิ่งที่เราทํามาในช่วงหนึ่งปีในการตรึงค่าไฟฟ้า ผมสามารถพูดได้เลยครับว่า ราคาค่าไฟในช่วงที่ผมเป็นรัฐมนตรีพลังงาน อย่างน้อยไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนนะครับ"
>> สร้างหนทางหลุดพ้นปัญหาค่าไฟแพงอย่างยั่งยืน
"ทําอย่างไรที่จะให้พี่น้องประชาชนสามารถใช้ไฟได้ถูกลง มีทางเดียวก็คือต้องใช้พลังงานที่เขาเรียกว่าพลังงานสะอาด ซึ่งก็มี 3 อย่าง คือ ลม, แดด, น้ำ ซึ่งสําหรับพี่น้องประชาชนทั่วไป วันนี้คงคุ้นเคยกับเรื่องของ Solar Rooftop หรือ การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคานะครับ
"เพียงแต่สิ่งที่เป็นปัญหาและทําให้เกิดปัญหามาตลอดคือ ความยุ่งยากในเรื่องของการติดตั้งและการขออนุญาต ซึ่งผมกําลังจะออกกฎหมายฉบับใหม่ ตอนนี้ยกร่างเสร็จแล้วเหมือนกัน เพื่อที่จะกํากับดูแลเรื่องของการติดตั้งให้ง่ายและสะดวกขึ้น ส่วนที่ผ่านมา ทําไมมันยุ่งยาก ก็เพราะมันไม่มีกฎหมาย พอไม่มีกฎหมาย ทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน ก็บอกว่าเป็นอํานาจของตนเองหมดเลย ประชาชนก็วิ่งไปทั่วเลย ไปหาหน่วยงานนั้น ไปหาหน่วยงานนี้ กว่าจะติดตั้งได้
"เพราะฉะนั้นผมจะออกกฎหมายฉบับนี้ ภายในปลายปีนี้ ผมคิดว่ากฎหมายนี้ก็จะเสร็จตามกฎหมายน้ำมันนะครับ ก็จะทําให้พี่น้องประชาชนสามารถติดตั้งระบบ Solar บนหลังคา หรือในพื้นที่บ้านได้สะดวกและง่ายขึ้นครับ"
>> แสวงหานวัตกรรมพลังงานราคาถูกเพื่อประชาชน
"แต่ว่าเมื่อติดตั้งแล้วก็มีประเด็นต่อไปครับ วันนี้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะเป็นระบบหลังคา Solar หรือระบบไฟฟ้า มันแพงครับ สิ่งที่ผมได้ดําเนินการในส่วนนี้ ก็คือ ให้คนที่เป็นนักประดิษฐ์คิดค้นมาดําเนินการวางระบบ Solar Rooftop ให้ประชาชนในราคาถูกครับ ปกติพลังงานแสงแดดที่มาผลิตไฟฟ้าจะใช้ได้เฉพาะกลางวัน เพราะกลางคืนไม่มีแดด ถ้าจะใช้กลางคืนจะต้องมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า แบตเตอรี่เก็บสํารอง ซึ่งแบตเตอรี่นี่แพงมากครับ อย่างน้อยก็เป็นหลักแสน
"ดังนั้น สิ่งที่กระทรวงพลังงานโดยผมได้ดําเนินการไปก็คือ เราได้ทําการประดิษฐ์คิดค้นแบตเตอรี่ขึ้นมา ตอนนี้อยู่ระหว่างทดลอง ซึ่งเบื้องต้นผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจ แบตเตอรี่นี้สามารถใช้กับเครื่องปรับอากาศได้ 3 เครื่อง ใช้กับตู้เย็นได้ 1 เครื่อง ในงบประมาณเพียงแค่ไม่เกิน 20,000 บาทเท่านั้น ระบบ Inverter ที่ต้องมาควบคุมระบบไฟฟ้าขายกัน 4-5 หมื่นบาท โดยเราสามารถประดิษฐ์ได้อยู่ที่ราคา 7-8,000 บาท ไม่เกินหมื่นบาท
"ส่วนแผงโซลาร์อย่างต่ำ 160 โวลต์ ปกติจะใช้ 4 แผง แต่เราสามารถดัดแปลงใช้แค่ 2 แผง ทั้งหมดนี้น่าจะอยู่ในวงเงินประมาณ 30,000 บาท ก็สามารถใช้ไฟได้ทั้งกลางวัน กลางคืน ตอนนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนที่ผมสั่งการให้มีการทดสอบทดลองอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งผมมั่นใจว่าในรอบปีที่ 2 ที่ผมดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีพลังงาน ผมจะทําตรงนี้ออกมา และจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายให้กับพี่น้องประชาชนในราคาที่ถูก ซึ่งจะช่วยพี่น้องประชาชนให้หลุดพ้นจากปัญหาค่าไฟแพง โดยไม่ต้องจ่ายค่าไฟ แต่ใช้แสงแดดของเราแทน
>> โยกระบบแก๊สแก้ปัญหาค่าไฟ
"ส่วนเรื่องค่าแก๊สนะครับ แก๊สที่ขุดจากอ่าวไทยผมขออนุญาตเรียนว่าไม่ได้ขุดมาแล้วใช้เป็นแก๊สหุงต้มสําหรับประชาชนได้หมดนะครับ มันต้องมาแยกก่อนและส่วนหนึ่งจะเป็นแก๊สหุงต้ม แต่ที่ผ่านมามีปัญหาว่า มีการนำแก๊สจํานวนหนึ่งไปใช้ในอุตสาหกรรม แต่ใช้ราคาเดียวกับราคาของแก๊สหุงต้ม ซึ่งเป็นการกําหนดราคาแบบไม่ถูกต้อง โดยก่อนหน้านี้ก็เคยมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้ แต่ไม่เคยมีใครลงมือทํา แต่ผมได้แก้ไขปัญหานี้ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2566 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 2567 นั่นคือ การโยกระบบแก๊สให้อยู่ถูกที่ถูกทาง โดยแก๊สที่ใช้เพื่ออุตสาหกรรมต้องอยู่ในราคาที่ถูกต้องเหมาะสม และตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทําให้ผมสามารถยันราคาค่าไฟไว้ได้ที่ 4 บาท 18 สตางค์ ด้วยการปรับโยกการใช้แก๊สจากอ่าวไทยให้อยู่ในราคาที่ถูกต้อง ไม่ใช่ไปใช้ราคาแก๊สหุงต้มของพี่น้องประชาชน"
>> ร่างกฎหมายกำกับดูแลราคาแก๊สหุงต้ม
“ในเรื่องแก๊สหุงต้ม เราก็ตรึงราคามาตลอดนะครับ 1 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 423 บาท ต่อ 15 กิโลกรัม มีคนร้องเรียนว่า บางร้านขายเกินราคา ซึ่งนี่ก็เป็นอีกปัญหาที่ว่า กระทรวงพลังงานไม่มีอํานาจไปกํากับดูแลตรงนี้
เพราะฉะนั้นพอย้อนกลับไปสิ่งที่ผมพูดก่อนหน้านี้ว่า ผมกําลังออกกฎหมายใหม่ในเรื่องของการกํากับดูแลเรื่องราคาน้ำมัน ก็จะครอบคลุมมาดูแลเรื่องราคาแก๊สนี้ด้วย ซึ่งจะทำให้ต่อจากนี้ไปกระทรวงพลังงานจะมีอํานาจตามกฎหมายใหม่ในการเข้าไปกํากับดูแล ไปตรวจสอบการขายแก๊สหุงต้มให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อให้อยู่ในระดับที่ไม่มีการไปโกงพี่น้องประชาชนก็ได้อีก อันนี้ก็เป็นเรื่องของกฎหมายใหม่ที่จะทําออกมา"
>> เขียนกฎหมายเอง ทำงานทุกวันถึงตี 3
"การจะเขียนกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเข้าใจเรื่อง และคนที่เข้าใจเรื่องก็ต้องเขียนกฎหมายเป็น ซึ่งต้องถือว่าเป็นโชคดีอย่างนึงที่เผอิญผมเขียนกฎหมายเป็น และเข้าใจเรื่องอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นกฎหมายที่ผมพูดเมื่อสักครู่ ผมเขียนเองหมดเลย ผมใช้เวลากลางคืนทุกคืน กฎหมายที่ผมบอกว่าจะกํากับดูแลกิจการพลังงานไม่ให้มีการปรับราคากันทุกวัน แล้วก็จะดูแลไม่ให้มีการเอาเปรียบพี่น้องประชาชนในเรื่องของน้ำมัน
"ผมเริ่มเขียนมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 หลังจากที่ผมได้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับต้นทุนราคาน้ำมัน ผมทํางานทุกวันทั้งวัน งานประจํา งานต้องเซ็น ผมไม่เคยค้าง ผมเซ็นทุกวัน ผมใช้เวลาเที่ยงคืนถึงตี 3 ทุกคืน ตั้งแต่เดือนเมษายน เพื่อร่างกฎหมายฉบับนี้ วันนี้ผมร่างเสร็จแล้ว และผมกำลังจะเชิญประชุมของคณะทํางานด้านกฎหมายของผม เพื่อตรวจสอบต่อไป กฎหมายนี้ผมร่างเองทั้งฉบับ ด้วยมือผมเอง ใช้เวลาเที่ยงคืนถึงตีสามทุกคืน"
>> ลงลึกตัวบทกฎหมายให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย
"อันดับแรกของกฎหมายก็คือ 'บทนิยาม' บทนิยามสําหรับกฎหมายอื่นไม่มีปัญหา เป็นเรื่องเบสิก แต่กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เลยครับ บทนิยามจะเป็นตัวกําหนดหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนราคาน้ำมันแบบไหน อย่างไร คิดอย่างไร
"จากบทนิยามก็จะมีเรื่องของการกําหนดว่า การประกอบกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและแก๊สจะต้องอยู่ภายในกฎหมายนี้อย่างไร กฎหมายนี้จะมีการกําหนดราคามาตรฐานอ้างอิง ว่าแต่ละเดือนราคาน้ำมันควรจะเป็นเท่าไร ถ้าหากผู้ประกอบการมีต้นทุนที่สูงกว่าราคากลางที่กําหนดออกมาตรงนี้จะต้องมาพิสูจน์อย่างไรว่า เขามีต้นทุนที่สูงขึ้นถึงจะปรับราคาได้ ไม่ใช่นึกจะปรับก็ปรับนะครับ เพราะฉะนั้นตรงนี้จะเป็นธรรมทุกฝ่าย ประชาชนก็ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ผู้ประกอบการก็ไม่ขาดทุน ขณะเดียวกันภาครัฐก็เข้าไปปรับดูแลได้
"สำหรับรูปแบบของกองทุนน้ำมันที่เป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้ ก็จะมีวางระบบใหม่เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและบรรลุเป้าหมายมากขึ้นกว่าเดิม และจะมีเรื่องของการให้ความเป็นธรรมเกี่ยวกับการร้องเรียนต่างๆ เพราะคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องอาจกําหนดอะไรออกมาแล้วไม่ถูกต้อง ก็มีระบบที่จะสามารถตรวจสอบได้"
>> เปิดช่องน้ำมันเสรีสำหรับผู้ประกอบการ
"ที่สําคัญ ผมจะอนุญาตให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ รวมไปถึงสหกรณ์ต่าง ๆ สามารถจัดหาน้ำมันมาใช้ได้เอง ที่ผมเคยตอบไปในสภาว่าโครงสร้างราคาน้ำมันที่ทําให้น้ำมันประเทศเราแตกต่างจากประเทศอื่น ไม่ใช่อยู่ที่เนื้อน้ำมัน แต่อยู่เรื่องนโยบายและภาษี ภาษีส่วนหนึ่งคือ ภาษี VAT ภาษี VAT อย่างน้อย 7% นะครับ ภาษี VAT จะเก็บจากการค้า แต่ถ้าเราไม่ได้เป็นการค้า เป็นการใช้ของเราเอง เอาเข้ามามันไม่มี VAT เมื่อไม่มี VAT อย่างน้อยราคาน้ำมันลดไปเลยครับ
"ผมยกตัวอย่างกลุ่มของผู้ประกอบการขนส่ง ทุกวันนี้ ผู้ประกอบการขนส่งจะต้องเติมน้ำมันก็ไปที่ปั๊ม ดูราคาขึ้นลง แต่ที่ผมเคยบอกไว้ว่าผมจะเปิดเรื่องการค้าน้ำมันเสรี ผมก็เอามาลงอยู่ตรงนี้ คําว่าเสรีของผมหมายความว่า เราจะต้องไม่ปิดกั้นประชาชน ถ้าเขาสามารถหาน้ำมันมาใช้ได้เอง ก็ต้องเปิดโอกาส แต่เขาจะหาได้หรือไม่ได้เป็นเรื่องของเขา รัฐต้องไม่ห้าม เพราะนี่คือการค้าเสรี ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีในการหาพลังงานของตัวเองด้วย ตรงนี้จะทําให้ต้นทุนถูกลงและประหยัดเลยครับ เพราะฉะนั้น เงื่อนไขส่วนหนึ่งของกฎหมายฉบับนี้จะเปิดโอกาสให้พี่น้องเกษตรกร ซึ่งถ้ารวมตัวกันเป็นสหกรณ์ เป็นสมาคม ก็จะสามารถไปหาซื้อน้ำมันมาใช้เองได้ในราคาถูกลง
"ที่สำคัญคือเรื่องของการขนส่ง ซึ่งเป็นต้นทุนของการผลิตสินค้าหลายเรื่อง และเป็นต้นทุนการดํารงชีวิตของคน ก็จะเปิดโอกาสให้มีการตั้งเป็นสมาคม และสามารถไปหาน้ำมันมาใช้เอง ตรงนี้ก็จะหลุดพ้นจากเรื่องของการที่ต้องไปซื้อน้ำมันตามราคาที่คนนู้นประกาศ คนนี้ประกาศ เพราะฉะนั้นถ้าท่านสามารถหาน้ำมันที่ถูกกว่าในประเทศมาใช้ได้ เอาเลยครับ ผมอนุญาต เพราะตรงนี้จะช่วยลดภาระของพี่น้องประชาชนในเรื่องของต้นทุนสินค้า ลดภาระของผู้ประกอบการขนส่ง เพราะไม่ต้องไปจ่ายระบบภาษีเยอะ
"นี่เป็นสิ่งที่ผมได้เห็นทางออกจากปัญหาที่ว่า ทําอย่างไรจะให้หลุดจากปัญหาเรื่องภาษีได้ โดยที่เราก็ไม่ได้ไปแก้กฎหมายอะไร เพียงแต่ใช้ช่องที่ว่า เมื่อไม่มีการค้า ก็ไม่ต้องเสีย VAT อย่างน้อยตรงนี้ก็ลดภาษี VAT ไปได้ 2 ช่วงนะครับ ที่ผ่านมาโครงสร้างราคาน้ำมันวันนี้โดน VAT 2 ช่วง
"เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ประกอบการขนส่งสามารถหาน้ำมันมาเองในราคาถูกอยู่แล้ว และไม่ต้องมาเสีย VAT ต้นทุนของผู้ประกอบการขนส่งในเรื่องน้ำมันจะลดลงไปทันที แล้วเมื่อลดภาระเรื่องราคาน้ำมันแล้ว ก็ต้องลดราคาสินค้าให้ประชาชนด้วย ลดต้นทุนการผลิตด้วยนะครับ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผมดำเนินการอยู่ แต่ยังไม่จบ"
>> คุมค่าไฟหอพักให้เหมาะสมเป็นธรรม
"เมื่อกี้เราคุยกันว่า ค่าไฟเราตรึงไว้ที่ 4 บาท 18 สตางค์ ส่วนประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน คิดค่าไฟ 3.19 บาท แต่ปรากฏว่ามีอีกเรื่องหนึ่งที่ผมได้รับการร้องเรียนเข้ามาก็คือ ผู้ประกอบการที่เอาไฟ 4.18 บาท ไปขายต่อ เช่น หอพัก หรือกิจการอื่น ๆ ที่ไปเก็บค่าไฟเกินกว่า 4 บาท 18 สตางค์
"ตามกฎหมายต้องถือว่าท่านเป็นผู้ค้าไฟฟ้านะครับ เอาไฟฟ้าหลวงไปขายถือว่าเป็นการทําการค้า แล้วก็สร้างปัญหา ไม่มีใครมาคุมในส่วนนี้ บางรายขายจาก 4.18 บาท เป็น 8 บาท หรือ 9 บาท 12 บาทก็มี อันนี้ก็ต้องยอมรับความเป็นจริงนะครับ ผมเข้าใจว่าผู้ประกอบการก็ต้องทํา แต่ขณะเดียวกันประชาชนก็เดือดร้อน ทําอย่างไรจะอยู่ในราคาที่เหมาะสม เรื่องนี้ผมได้หารือกับทางสํานักงานคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน ก็คงจะออกเป็นมาตรการต่อไปในการช่วยดูแลปัญหาเรื่องการเอาค่าไฟไปเก็บแพงในหอพัก หรือในกิจการอื่น ๆ ซึ่งจะต้องมีการควบคุมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับพี่น้องประชาชนกลุ่มนี้เพิ่มเติมต่อไปอีกด้วยครับ"
>> ทำทันที!! ไม่เคยกลัวอิทธิพลกลุ่มทุน
"ผมเคยเจอคําถามว่า 8 ปีที่แล้ว 9 ปีที่แล้วทําไมถึงไม่ทํา ผมฟังแล้ว ผมรู้สึกตลกนะ 8 ปี 9 ปีที่แล้ว ผมเป็นรัฐมนตรีพลังงานหรือเปล่าล่ะครับ ผมไม่ได้เป็น ผมเพิ่งมาเป็นได้แค่ปีเดียว แล้วคนที่ถามไปอยู่ไหนมาถึงไม่รู้ว่าผมไม่ได้เป็น แต่เมื่อเป็นปั๊บ ผมก็ทําทันทีนะครับ และถ้าผมอยู่ภายใต้อิทธิพลกลุ่มทุน 1 ปีที่ผ่านมา ที่ผมพูดมาทั้งหมดเมื่อกี้ คิดว่าผมทําได้ไหมครับ ผมไม่เคยกลัวครับ ผมทํางานในทางการเมืองมา 30 ปี ผมไม่เคยกลัว และไม่เคยมีผลประโยชน์ ผมทําทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติบ้านเมืองเท่านั้น ไม่เคยกลัว ทําได้ก็ทํา ทําไม่ได้ก็จะทํา ทําให้ถึงที่สุดครับ ผมไม่เคยกลัวอิทธิพลอะไรทั้งนั้น ถ้าผมทําไม่ได้นั่นแหละครับ คือสิ่งที่ผมกลัว กลัวไม่ได้ทํา"
>> ทำงานเยอะ ไม่เครียด ถ้าเครียด ก็เริ่มใหม่ได้
"มันเป็นเรื่องปกติของคนนะ ถ้าจะบอกว่าไม่เครียด มันเป็นไม่ได้หรอก มันก็มีปัญหาที่ทําให้เราเกิดความเครียดนะครับ แต่ความเครียดของผม ส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่บางครั้งคิดไม่ออก คิดไม่ออกว่าปัญหานี้จะแก้ยังไง ไม่ได้เครียดจากการทํางานเยอะนะครับ แต่จะเครียดจากการคิดไม่ออก ผมก็มีวิธีแก้ให้เราลดความเครียดลง เพราะผมคิดว่า เครียดไปมันก็ไม่มีประโยชน์ มันเป็นธรรมชาติของคน มันเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อเกิดแล้วเราต้องมีวิธีแก้ปัญหาให้เราลดความเครียดลง เพื่อจะเดินหน้าต่อไปได้ ถามว่าแก้ความเครียดยังไง ก็แล้วแต่สถานการณ์นะ บางครั้งผมก็ไปเช็ดรถ ล้างรถ ขัดรถ ทําบ้าน ก็ว่ากันไป นั่งดูยูทูบบ้าง ดูเว็บไซต์เรื่องที่เราสนใจ จะได้เปลี่ยนความคิดเปลี่ยนอารมณ์ ให้สิ่งที่มันทําให้เกิดปัญหาในความคิดในสมองมันลดระดับมา แล้วก็เริ่มต้นใหม่ได้ครับ"
>> ทำให้ดีที่สุดเพื่อประชาชน
"ผมอยากเรียนว่าทั้งหมดนี้ ในระยะเวลา 12 เดือน ผมทําได้แค่นี้ ผมคิดว่าผมพอใจ และจะพอใจมากกว่านี้ถ้าทําให้เสร็จหมดภายใน 1 ปีถัดไป ผมก็จะพยายามทําให้ดีที่สุด จะพยายามปรับปรุงและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของพี่น้องประชาชนในเรื่องของพลังงานให้มากขึ้น"
"สุดท้าย ต้องขอบพระคุณพี่น้องประชาชนนะครับ เพราะว่าที่ผ่านมาในอดีตทั้งหมดที่ผมทํางานการเมืองมา ไม่เคยมีคนมาเชียร์หรือมาช่วยอะไรมาก ผมเป็นคนทํางานแบบทําในสิ่งที่ต้องทํา ไม่ใช่ทําเพราะว่าคนเชียร์ หรือว่าทําเพราะคนด่า ผมไม่เคยสนใจ แต่ในช่วงที่ผ่านมา ผมรู้สึกแปลกใจ แล้วก็ดีใจ ที่มีคนเชียร์ผมเยอะ แล้วก็สนับสนุนการทํางานผมเยอะ ส่วนหนึ่งผมจําได้ ผมเคยไปออกรายการอาจารย์ยิ่งศักดิ์ ตั้งแต่แรก ๆ ที่ผมเป็นรัฐมนตรี ผมก็บอกว่าผมจะทําเพื่อประโยชน์ประชาชน ขอให้พี่น้องประชาชนเป็นผนังกําแพงให้ผมพิง ก็ต้องขอบพระคุณทุกท่านครับ" เจ้ากระทรวงพลังงานกล่าวทิ้งท้าย
เรื่อง: กองบรรณาธิการ THE STATES TIMES