Saturday, 19 April 2025
พลังงานไทย

‘พีระพันธุ์’ เล็ง ‘รื้อระบบพลังงานไทย’ หลังวางแผนผิดมาหลาย 10 ปี

อยากรู้ อยากเคลียร์เบื้องลึก ว่าทำไม ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ถึงกล้าที่จะประกาศ ‘รื้อ’ โครงสร้างพลังงานทั้งระบบอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน!! ติดตามต่อเต็ม ๆ ได้ที่ >> ‘รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง’ 👉 https://youtu.be/WoVPPtVOM0c 

‘รมว.พีระพันธุ์’ เล็งแก้ กม. สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศไทยและประชาชน

(7 ก.พ. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซ เพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์และระบบรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ โดยมีนางสาวอรพินทร์ เพชรทัต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานนา และผู้บริหาร พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมประชุม

นายพีระพันธุ์ฯ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่แปลกที่ประเทศไทยมีการสำรองและควบคุมราคาน้ำมันและก๊าซโดยเอกชนมากว่า 40 ปี และราคาขึ้นลงเหมือนหุ้น ทำให้ไม่มีความมั่นคงด้านพลังงานกับประเทศและประชาชน จากนี้ไป คกก.ชุดนี้จะเร่งศึกษาและเร่งทำงานเพื่อแก้ไขกฎหมายที่เป็นธรรมให้ทุกฝ่าย เช่น เปิดการค้าน้ำมันเสรี การสำรองน้ำมันด้วยน้ำมัน และแก้ไขกฎหมายที่ล้าหลัง เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศและประชาชน

‘รมว.พีระพันธุ์’ ชี้!! ไทยต้องมีระบบสำรองน้ำมัน ลดปัญหาราคา 'ขึ้น-ลง' รายวัน ลั่น!! ถึงเวลาเดินหน้ารื้อโครงสร้างน้ำมันทั้งระบบ มั่นใจเป็นรูปธรรมภายในปีนี้

เมื่อวานนี้ (27 ก.พ.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ถึงการรื้อโครงสร้างพลังงานครั้งใหญ่ของประเทศไทย ในรายการ Smart Energy โดยระบุว่า...

ขณะนี้ได้ศึกษาถึงการปรับโครงสร้างพลังงานเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจากผลการศึกษาทั้งหมดพบว่า สามารถทำได้แน่นอน ทั้งนี้ หลังจากผ่านการศึกษาแล้ว จะเข้าสู่ระบบราชการ โดยได้ตั้งคณะกรรมการเข้ามาดูแล และได้ทำการประชุมไปแล้ว 4 ครั้ง คาดว่าภายใน 1-2 เดือนนี้ ระบบรูปแบบราชการเสร็จแน่นอน

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นจะดำเนินการใน 2 เรื่องใหญ่ นั่นคือ ค่าไฟฟ้า และน้ำมัน โดยค่าไฟฟ้า จะเข้าไปดูตั้งแต่ค่าก๊าซ เพราะเป็นต้นทุนหลักในการผลิตไฟฟ้า สำหรับสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว คือ ส่วนหนึ่งก็คือการโยกค่าก๊าซ ที่เอาไปใช้ทําปิโตรเคมีในราคาถูก มาใส่ใน Pool Gas เพื่อให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าลดลง ขณะเดียวกัน ยังมีแนวคิดที่จะทำระบบสำรองก๊าซ พร้อมกับระบบสำรองน้ำมัน เพื่อจะได้มีก๊าซสำรอง ซึ่งจะทำให้มีอํานาจในการควบคุมราคาได้ ซึ่งเรื่องนี้จะค่อนข้างซับซ้อนกว่าระบบสำรองน้ำมัน ดังนั้น เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว จึงจะเดินหน้าในส่วนของระบบสำรองน้ำมันก่อน

ส่วนในเรื่องน้ำมันนั้น จะจัดทำระบบที่เรียกว่า การสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (SPR) เนื่องจากตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่มีระบบสำรองน้ำมัน ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเป็นการสำรองเพื่อการค้าของบริษัทเอกชนเท่านั้น 

“หากต้องการให้ประเทศมีความมั่นคงทางด้านพลังงาน จำเป็นจะต้องรื้อทั้งระบบโครงสร้างราคาน้ำมัน ไม่ใช่ปรับแค่โครงสร้างเท่านั้น เพราะท้ายที่สุดก็หนีไม่พ้นราคาตลาดโลก ดังนั้น จึงต้องรื้อระบบทั้งหมด เพราะประเทศไทยไม่มีสํารองน้ำมันเพื่อความมั่นคงของประเทศและมาตรฐานสํารองเพื่อความมั่นคงของประเทศขั้นต่ำ ที่เป็นมาตรฐานสากล คือ 90 วัน แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณการสำรองอยู่แค่ 20 วันเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่จะต้องรื้อระบบการสำรองน้ำมันของประเทศใหม่ทั้งหมด”

นายพีระพันธุ์ ย้ำว่า การรื้อทั้งระบบ จะช่วยควบคุมราคาน้ำมันได้ทุกประเภท โดยจะพยายามทำในส่วนของหลักการให้เสร็จภายใน 2 - 3 เดือนนี้ จากนั้นจะเร่งดำเนินการให้เสร็จเป็นรูปธรรมทั้งหมดภายในปีนี้ ทั้งนี้ เมื่อทำสำเร็จแล้ว ผลดีจะเกิดกับประชาชนและประเทศชาติ ไม่ต้องกังวลถึงภาวะที่ราคาน้ำมันเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาเช่นทุกวันนี้ ซึ่งการกำหนดราคาจะเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับผู้ประกอบการ โดยจะรื้อระบบกลับไปใช้เป็นราคาคงที่ เหมือนกับเมื่อกว่า 40 ปีก่อน ไม่ใช่ระบบลอยตัวอย่างเช่นปัจจุบัน หากราคาน้ำมันโลกปรับตัวขึ้น ทางรัฐบาลกับผู้ประกอบการจะจัดการกันเอง 

แน่นอนว่า ระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ จะเป็นหัวใจหลักสำคัญ ในการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ไม่ต้องกังวลกับราคาน้ำมันขึ้น-ลงรายวันอีกต่อไป

‘ปตท.’ ผนึก ‘กฟผ.’ ร่วมทุนโครงการ LNG Map Ta Phut Terminal 2 หนุนนโยบายรัฐ ‘เสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติ’ สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน

เมื่อไม่นานมานี้ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.), นายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ ปตท. ในฐานะประธานกรรมการ PTTLNG, นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), นายรัตติกูล ปิยะวงค์วาณิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด และนายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)) ประกาศความสำเร็จการร่วมทุนใน บริษัท พีอี แอลเอ็นจี จำกัด (PE LNG) เพื่อดำเนินโครงการ LNG Map Ta Phut Terminal 2 (LMPT2) ระหว่าง บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ 

โดย PTTLNG และ กฟผ. จะถือหุ้นในสัดส่วนที่เท่ากัน (50:50) พร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เสริมความมั่นคงทางพลังงานแก่ประเทศ รวมทั้งแสวงหาโอกาสความร่วมมือและการลงทุนร่วมกันต่อไป

‘พีระพันธุ์’ ปัด!! กฤษฎีกาท้วง ตรึงราคาพลังงาน  ย้อนถาม!! ทำเพื่อประชาชนจะไม่ดีตรงไหน 

(8 พ.ค.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ให้สัมภาษณ์กรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเป็นห่วงมาตรการตรึงราคาพลังงานของรัฐบาล อาจส่งผลกระทบได้ในระยะยาว ว่า “ไม่มี ไม่มี ไปตามข่าวมาจากไหน ตนนั่งประชุมอยู่ในที่ประชุมครม.ก็ไม่มี” 

ผู้สื่อข่าวถามว่าในเอกสารมีความเห็นของกฤษฎีกาว่า ถ้าไปอุดหนุนบ่อยครั้ง จะเป็นการบิดเบือนราคาได้? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า “อันนี้ไม่เห็น” 

เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่าการช่วยเหลือประชาชนต้องเดินหน้าต่อไป? นายพีระพันธุ์ กล่าวย้อนว่า “การช่วยเหลือประชาชนไม่ดีตรงไหน” ส่วนข้อกังวลของหน่วยงานตนยังไม่เห็น 

เมื่อถามว่าสมาคมขนส่งมีข้อกังวลว่าหากปรับราคาดีเซลขึ้นไป 33 บาทต่อลิตร อาจจะกระทบภาคขนส่ง? รมว.พลังงาน กล่าวว่า “เราพยายามตรึงราคาให้มาตลอด แต่ก็ได้รับการร้องเรียนมาเหมือนกันว่า เวลาที่ลดราคาทำไมภาคขนส่งไม่ลดราคาให้ประชาชนบ้าง”

เมื่อถามย้ำว่า รัฐบาลจะตรึงราคาอยู่แค่ 33 บาทต่อลิตร จะไม่ขยายไปกว่านี้ใช่หรือไม่? นายพีระพันธุ์กล่าวว่า “เราพยายามตรึงราคาเท่าที่ตรึงได้ ที่ผ่านมาตรึงราคาได้ที่ 30 บาทต่อลิตร ก็ตรึงไว้ที่ 30 แต่ตอนนี้ยังทำไม่ได้ เพราะที่ผ่านมา 50 กว่าปี ใช้วิธีตรึงราคาด้วยเงิน ราคาจึงอยู่ที่เงินในกระเป๋าของรัฐ ถ้ามีเงินมากก็ตรึงได้มาก ถ้ามีน้อยก็ตรึงได้น้อย ตอนนี้เงินน้อยก็ตรึงน้อย ถ้าเก็บเงินได้ใหม่ก็ตรึงได้อีก”

“ระบบวิธีใช้เงินไปตรึงราคานี้ ผมพูดมาตลอดว่าไม่เห็นด้วย ต้องปรับระบบใหม่ ซึ่งกำลังทำอยู่ โดยตอนนี้ผมได้เขียนกฎหมายใหม่และจะใช้เวลาไม่นานเพราะเขียนไประดับหนึ่งแล้ว” รมว.พลังงาน เสริม

ผู้สื่อข่าวถามว่ากองทุนน้ำมันยังช่วยดูแลราคาไปได้อีกนานหรือไม่? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า “เดิมการดูแลเรื่องราคาน้ำมันตั้งแต่ปี 2516 เราตั้งกองทุนน้ำมัน แต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ จึงใช้คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 42/2547 โดยให้อำนาจกองทุนดูแลตรึงราคาหรือรักษาระดับน้ำมัน ได้ 2 ขา

…ขาหนึ่งใช้เงินกองทุน…อีกขาหนึ่งให้อำนาจในการกำหนดเพดานภาษี โดยกองทุนน้ำมันไม่มีอำนาจในการจัดเก็บภาษี แต่มีอำนาจในการกำหนดเพดานภาษี เราจึงใช้ตรงนี้ตรึงราคาช่วยดูแลประชาชนได้ นอกจากใช้เงิน ยังใช้เพดานภาษีมาเป็นตัวคุมได้ด้วย โดยเราเป็นคนกำหนดเพดานภาษี แต่คนเก็บคือ กระทรวงการคลัง แต่ต่อมาปี 2562 มีกฎหมายมารองรับยกฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ไปตัดอำนาจในการกำหนดเพดานภาษีของกองทุนฯ ออก เหลือแต่ใช้เงินอย่างเดียว ฉะนั้นนับตั้งแต่ปี 2562 ตัวเลขกองทุนฯ จึงเป็นหนี้ขึ้นมาจำนวนมากและติดลบ เป็นต้นมา เพราะการกำหนดเพดานภาษี ซึ่งเป็นอำนาจของกองทุนฯ ไม่มีแล้ว ทั้งนี้ผมได้พยายามขอให้กระทรวงการคลัง พิจารณาปรับลดเพดานภาษีสรรพสามิต แต่เขาไม่เห็นด้วย ทั้งที่เดิมเป็นอำนาจของกองทุนฯ ที่ระบุว่าอย่าเก็บเกินเท่านี้ ดังนั้นตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข”

เมื่อถามว่า หมายถึงจะเอาอำนาจการกำหนดเพดานภาษีกลับมาอยู่กับกระทรวงพลังงานใช่หรือไม่? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า “ก็ควรต้องกลับมาเป็นแบบเดิม โดยอำนาจในการเก็บภาษีไม่ใช่อำนาจของกระทรวงพลังงาน แต่สินค้าตัวนี้กระทรวงพลังงานเป็นคนดูแล ฉะนั้นอำนาจในการกำหนดเพดานภาษี ควรจะอยู่กับกระทรวงพลังงาน แต่เมื่อกำหนดแล้วกระทรวงการคลังจะเก็บเท่าไหร่ ก็ไปดำเนินการ”

‘ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์’ เข้ารับตำแหน่ง ‘เลขาฯ กกพ.’ พร้อมเดินหน้างานกำกับดูแลพลังงานไทยให้ราบรื่น-ไร้รอยต่อ

(4 มิ.ย. 67) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ ได้เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการสำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2567 ต่อจาก นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ ที่เพิ่งครบวาระการดำรงตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบคัดเลือกและแต่งตั้งให้ ดร.พูลพัฒน์ เป็นเลขาธิการสำนักงาน กกพ. เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 โดย ดร.พูลพัฒน์ จบการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ จาก The George Washington University ประเทศสหรัฐอเมริกา มีประสบการณ์การทำงานเริ่มเข้ารับราชการครั้งแรกเมื่อปี 2541 ที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานกระทรวงพลังงาน ต่อจากนั้นในปี 2561 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน และได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เมื่อปี 2566

ดร.พูลพัฒน์ มีประสบการณ์การทำงานในกิจการก๊าซธรรมชาติและกิจการไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องทั้งการวางยุทธศาสตร์ การกำกับ และการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศด้านพลังงาน โดยที่ผ่านมาเป็นบุคลากรหลักที่สำคัญที่ร่วมอยู่ในคณะทำงานและคณะเจรจาทางด้านพลังงานระหว่างประเทศสำคัญ ๆ หลายคณะด้วยกัน อาทิ การเจรจาในระดับทวิภาคีกับประเทศที่มีศักยภาพด้านพลังงาน การเจรจาในระดับพหุภาคี เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของภูมิภาคและของประเทศ และการทำหน้าที่ประธานในการหารือแนวทางในการปรับปรุงข้อตกลงความมั่นคงด้านปิโตรเลียม (ASEAN Petroleum Security Agreement) เป็นต้น 

นอกจากนี้ ดร.พูลพัฒน์ ยังมีส่วนร่วมในการบริหารสัญญาและสัมปทานก๊าซธรรมชาติเพื่อส่งเสริมความมั่นคงและต่อเนื่องด้านเชื้อเพลิงของประเทศ และการร่วมแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศในด้านการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานด้วยเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) รวมทั้งการสนับสนุนให้ภาคการศึกษาพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานของประเทศในอนาคต

ทำไม 'ไทย' ต้องนำเข้าน้ำมัน ทั้งที่ยัง 'ผลิตได้-ส่งออกด้วย'

เมื่อวานนี้ (4 มิ.ย. 67) เว็บไซต์ศูนย์ข่าวพลังงาน ได้เผยแพร่บทความ ‘เขียนเล่าข่าว EP. 55 - ทำไมไทยยังต้องนำเข้าน้ำมัน แม้จะผลิตน้ำมันได้เองและมีน้ำมันส่งออก’ โดยระบุข้อความว่า…

คำถามเกี่ยวกับเรื่องน้ำมัน ซึ่งยังมีคนสงสัยและดูเหมือนจะยังไม่ได้รับคำตอบที่กระจ่างในใจสักที ว่าทำไมเราต้องนำเข้าน้ำมัน และทำไมถึงไม่สามารถขายน้ำมันในราคาถูกให้คนในประเทศใช้ได้ ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยมีแหล่งน้ำมันอยู่ในประเทศตัวเอง แถมยังมีการส่งออกอีกด้วย

คำตอบที่พยายามจะอธิบายให้คนที่ยังมีความสงสัยได้เกิดความกระจ่างในใจ ก็คือ ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าทั้งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปจากแหล่งผลิตในต่างประเทศมาใช้ ก็เพราะแหล่งน้ำมันที่เรามีอยู่ในประเทศนั้นผลิตน้ำมันดิบได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศเข้ามาทดแทนให้เพียงพอต่อความต้องการใช้

ส่วนการที่เรามีน้ำมันส่งออกด้วยนั้น ก็เป็นน้ำมันจาก 2 ส่วน ส่วนแรกคือน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตในประเทศ ที่คุณภาพไม่เหมาะกับโรงกลั่นในประเทศ เพราะมีสารปนเปื้อนสูง และส่วนที่สอง คือน้ำมันสำเร็จรูป ที่โรงกลั่นน้ำมันกลั่นออกมามากเกินความต้องการใช้ โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล

ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ระบุว่า ในปี 2566 ตัวเลขปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในประเทศ ทำได้ประมาณ 0.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน เท่านั้น แต่ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ประมาณ 1.13 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่าปริมาณที่ผลิตได้หลายเท่าตัว ดังนั้น จึงต้องมีการนำเข้าน้ำมันดิบเข้ามาเติมความต้องการอีกประมาณ 0.96 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ส่วนข้อมูลจากกรมธุรกิจพลังงาน รายงานว่า การผลิตน้ำมันสำเร็จรูปที่มาจากโรงกลั่นในประเทศในปี 2566 นั้น มีกำลังผลิตรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 174 ล้านลิตรต่อวัน (น้ำมันสำเร็จรูปส่วนใหญ่มาจากน้ำมันดิบที่นำเข้า) ในขณะที่ความต้องการใช้อยู่ที่ 152 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งน้ำมันสำเร็จรูปส่วนที่เกินกว่าความต้องการใช้ก็ได้ทำการส่งออก อย่างไรก็ตามมีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปที่ไม่ได้มาจากโรงกลั่นในประเทศเพื่อมาใช้ อีกประมาณเฉลี่ย 9 ล้านลิตร/วัน

โดยสรุป ประเทศไทยผลิตน้ำมันดิบได้เพียงประมาณ 10% ของปริมาณการใช้เท่านั้น และบางส่วนมีสารปนเปื้อนสูงเกินกว่าที่โรงกลั่นในประเทศจะรับได้ จึงจำเป็นต้องส่งออก ดังนั้นน้ำมันดิบส่วนที่ขาดจึงต้องมีการนำเข้าอีกกว่า 90% โดยประเทศไทยมีการนำเข้าน้ำมันดิบจากกลุ่มตะวันออกกลางประมาณ 57% ตะวันออกไกล 19% และแหล่งอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ลิเบีย ออสเตรเลีย อีกรวม 24%

การที่ไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบส่วนใหญ่กว่า 90% นั้นทำให้การกำหนดราคาขายต้องอ้างอิงกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลก ดังนั้นเมื่อราคาตลาดโลกสูงขึ้น ราคาขายในประเทศก็ต้องปรับขึ้นตาม ในทางกลับกัน หากราคาตลาดโลกปรับลดลง ราคาขายในประเทศก็จะปรับลดลงด้วย เพียงแต่ว่าการปรับราคาอาจจะไม่ได้สะท้อนต้นทุนจริงแบบเรียลไทม์ เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องนำมาคิดคำนวณด้วยอีกหลายประการ เขียนอธิบายมาถึงบรรทัดนี้ ก็หวังว่าผู้อ่านจะมีข้อมูลและความเข้าใจเรื่องความจำเป็นในการนำเข้าน้ำมันมากขึ้น

'มิสเตอร์เอทานอล' เตือนรัฐบาลอย่าทอดทิ้งเอทานอล พลังงานไทยจากหยาดเหงื่อของเกษตรกรกว่า1ล้านครัวเรือน

“อลงกรณ์”ห่วงอุตสาหกรรม
เอทานอลล่มสลายเกษตรกรล่มจม
เสนอ 5 มาตรการเดินหน้าอุตสาหกรรมเอทานอล

วันนี้นายอลงกรณ์ พลบุตร ฉายา“มิสเตอร์เอทานอล”(Mr.Ethanol)และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊ค“อลงกรณ์ พลบุตร”เรื่อง อย่าทอดทิ้งเอทานอล พลังงานไทยจากหยาดเหงื่อเกษตรกร“แสดงความกังวลต่อนโยบาย”เอทานอล“ของกระทรวงพลังงานพร้อมเสนอ 5 มาตรการเดินหน้าอุตสาหกรรมเอทานอลโดยมีข้อความดังต่อไปนี้

อลงกรณ์ขับรถไถจากสวนจิตรลดาบุกทำเนียบรัฐบาลในเดือนกันยายนปี2544เพื่อโปรโมทโครงการเอทานอลจนคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในสัปดาห์ถัดมา

”อย่าทอดทิ้งเอทานอล พลังงานสะอาดจากหยาดเหงื่อของเกษตรกรไทย“

ผมกังวลใจที่ทราบว่ากระทรวงพลังงานจะไม่สนับสนุนเอทานอลน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากอ้อยและมันสำปะหลังโดยการจำหน่ายน้ำมันจะเหลือเพียง น้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอล์95 (E10) ทั้งที่ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) สนับสนุนE20จะทำให้
การใช้เอทานอลลดลงถึง50%กระทบต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมเอทานอลที่ประเทศไทยเริ่มมาตั้งแต่ปี2544จนปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานเอทานอล28โรงมีกำลังการผลิต 6.8 ล้านลิตรต่อวัน เป็นอันดับ 7 ของโลก ซึ่งทุกวันนี้ผลิตเพียง3.1-3.2 ล้านลิตรต่อวัน หากในอนาคตปรับเหลือแค่ E10 ก็จะลดลงไปอีก50% อาจถึงการล่มสลายของอุตสาหกรรมเอทานอลและเกษตรกรล่มจม

“เมื่อปี2543เกิดวิกฤติการณ์น้ำมันประเทศไทยกระทบรุนแรงเพราะนำเข้าน้ำมันถึง90% ผมเสนอให้ประเทศไทยผลิตน้ำมันเอทานอล(แอลกอฮอล์)จากพืชซึ่งมีโรงงานต้นแบบของในหลวงในวังสวนจิตรลดาจึงได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ฯ.(ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์)เป็นประธานโครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชในต้นปี2544และเสนอรายงานต่อคณะรัฐมนตรี(ฯพณฯ.ชวน หลีกภัย)ให้ความเห็นชอบให้ผลิตเอทานอลเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่19 กันยายน 2544 เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ลดคาร์บอนและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยชาวไร่มันสำปะหลังซึ่งเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นน้ำมันเอทานอลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจนได้รับฉายา”มิสเตอร์เอทานอล“ 

นับเป็นเวลากว่า20ปีที่อุตสาหกรรมเอทานอลเติบโตและมีน้ำมันแก๊สโซฮอล์(เบนซิน-แก๊สโซลีนผสมเอทานอล-แอลกอฮอล์)จำหน่ายทุกปั้มทั่วประเทศ มีน้ำมัน E10 E20และE85 (EคือEthanol, E10คือเอทานอล10%เบนซิน90% E20และE85มีส่วนผสมเอทานอล 20%และ85%) โดยอุตสาหกรรมยานยนต์ยอมรับการปรับแต่งเครื่องยนต์และอุตสาหกรรมน้ำมันก็ให้การสนับสนุน

การที่รัฐบาลปัจจุบันโดยกระทรวงพลังงานจะลดการส่งเสริมสนับสนุนจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเอทานอลและเกษตรกรชาวไร่อ้อยชาวไร่มันสำปะหลังประสบความเดือดร้อนอย่างรุนแรงเพราะเพียงแค่มีข่าวว่าจะลดเหลือเพียงน้ำมันE10ชาวไร่ก็ถูกกดราคาแล้ว

ผมจึงขอเสนอมาตรการให้รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงพลังงานพิจารณา ดังต่อไปนี้
1. ส่งเสริมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานและยังคงจำหน่ายน้ำมัน E85
2. ขยายเวลาการบังคับ “มาตรการยกเลิกชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ” ตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 รอบ2 เป็นเวลา 2 ปี ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ก็เป็นราคาตามกลไกตลาดโลกและต้นทุนของเอทานอลอยู่แล้ว โดยกองทุนน้ำมันฯ ไม่ได้นำเงินไปช่วยชดเชยราคาแต่อย่างใด และยังเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ อีกด้วย
3. ส่งเสริมเอทานอลเกรดอุตสาหกรรมให้สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นได้ อาทิ ไบโอพลาสติก,อุตสาหกรรมยา,อุตสาหกรรมสีทาบ้านและอุตสาหกรรมเคมี เป็นต้นโดยแก้ไขหรือยกเลิก พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 เพราะปัจจุบันเอทานอลไม่สามารถนำมาใช้ด้วยเกรงจะถูกนำไปผลิตเป็นเหล้าเถื่อนกระทบบริษัทผลิตเหล้าและองค์การสุราทั้งที่มีมาตรการป้องกันได้เหมือนการนำเอทานอลมาใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง

4. ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมไบโอรีไฟนารี่(Biorefinery)คืออุตสาหกรรมพลังงานและเคมีชีวภาพซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเพื่อต่อยอดเพิ่มมูลค่าเอทานอล
5. เพิ่มศักยภาพการส่งออกเอทานอล โดยภาครัฐสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต(Productivity)ของโรงงานและชาวไร่ให้มีผลผลิตสูงขึ้นสามารถแข่งขันชิงตลาดโลกได้
ประเทศของเราผลิตเอทานอลได้เกือบ7ล้านลิตรต่อวันแต่กลับหยุดส่งออกเอทานอลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 หรือ11ปีมาแล้วโดยรัฐบาลขณะนั้นออกมาตรการระงับการส่งออกด้วยเกรงเอทานอลจะไม่พอใช้ในประเทศ โดยยกเว้นให้ส่งออกเป็นบางกรณี เช่น เดือนมีนาคม 2557 มีการส่งออกจำนวน 4 ล้านลิตรและเดือนธันวาคม 2563 ส่งออกเพียง 5.4 หมื่นลิตร มีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และอังกฤษ ปัจจุบันกำลังการผลิตใช้เพียงครึ่งเดียวเหลือวันละ 3 ล้านลิตร หากส่งออกได้ก็จะเพิ่มกำลังผลิตได้เต็มกำลังการผลิตจริง 

“รถจดทะเบียนสะสมมีกว่า 44 ล้านคัน ส่วนรถไฟฟ้ามีแสนกว่าคัน ดังนั้นน้ำมันสำหรับรถสันดาปภายในยังมีความต้องการอีกมาก การผลิตน้ำมันชีวภาพ(Biofuel)ทั้งเอทานอลและไบโอดีเซลมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงานและรัฐบาลใช้กองทุนน้ำมันอุดหนุนราคาดีเซลและแก๊สกว่าแสนล้านบาทโดยไม่ได้อุดหนุนราคาแก๊สโซฮอลล์มิหนำซ้ำกลับจะทำลายรากฐานของการพึ่งพาตัวเองของประเทศที่เราสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมเอทานอลจนเติบใหญ่เป็นอันดับ7ของโลกและช่วยลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ เรามาไกลเกินกว่าจะหันหลังกลับ ผมขอให้กระทรวงพลังงานและรัฐบาลทบทวนนโยบายเสียใหม่ อย่าทอดทิ้งเอทานอล พลังงานไทยจากหยาดเหงื่อของเกษตรกรกว่า1ล้านครัวเรือน “

ปตท.สผ.เร่งเจรจาต่อสัญญาผลิตก๊าซฯ แหล่งยาดานา เมียนมา หวังรักษาความมั่นคงพลังงานไทย ก่อนหมดสัญญาปี 2571

เมื่อวานนี้ (7 ส.ค. 67) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. อยู่ระหว่างเจรจาขอต่อสัญญาการผลิตก๊าซฯ ในโครงการยาดานา ของเมียนมา ที่จะสิ้นสุดสัญญาปี 2571 เหตุไทยมีความจำเป็นต้องรักษากำลังการผลิตเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานประเทศ  พร้อมปรับคาดการณ์ปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยทั้งปี 2567 เหลือ 501,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ตามทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว คาดราคาน้ำมันดิบครึ่งหลังปี 2567 อ่อนตัว เฉลี่ยทั้งปีอยู่ในกรอบ 80-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

นางสาวพรรณพร ศาสนนันทน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงิน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) เปิดเผยในงาน Oppday Q2/2024 PTTEP วันที่ 7 ส.ค. 2567 ว่า ความคืบหน้าโครงการยาดานา ในเมียนมา ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาลงในปี 2571 นั้น บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อขอต่อสัญญาการผลิตออกไป และยังมีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนรักษากำลังการผลิตก๊าซฯ เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน ดังนั้น ปตท.สผ.จึงเตรียมงบประมาณ 40-50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ใช้สำหรับลงทุนในช่วงปี 2568-2569  

สำหรับแนวโน้มการลงทุนของบริษัทฯ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 บริษัท คาดการณ์ทิศทางการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 3 ปี 2567 นี้ จะมีปริมาณการขายปิโตรเลียม อยู่ที่ 484,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ลดลงจากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เนื่องจากมีการปิดซ่อมบำรุงโครงการฯ ในอ่าวไทยตามแผนการดำเนินงานของบริษัทฯ

ขณะที่ทั้งปี 2567 จะมีปริมาณการขายปิโตรเลียม อยู่ที่ 501,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ซึ่งปรับลดลงจากคาดการณ์เมื่อช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา ที่มองว่าจะมีปริมาณการขายปิโตรเลียมอยู่ที่ 509,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน โดยเป็นการประเมินจากความต้องการใช้ก๊าซฯ ของลูกค้า ที่ลดลงสอดรับกับทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเล็กน้อย

ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติ ไตรมาส 3 และเฉลี่ยทั้งปี 2567 ยังอยู่ที่ 5.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู และมีต้นทุนต่อหน่วย(Unit Cost) เฉลี่ยอยู่ที่ 28-29 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และ EBITDA Margin จะอยู่ที่ระดับ 70-75%

“ช่วงครึ่งหลังของปี 2567  ทาง IEA ได้ปรับลดคาดการณ์การใช้น้ำมันของโลกลง 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกโตช้าลง ทำให้ ปตท.สผ.คาดว่า ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยครึ่งปีหลังจะอยู่ที่ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงจากครึ่งปีแรก แต่เฉลี่ยทั้งปี จะอยู่ที่ 80-85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงทั้งสภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจโลก, นโยบายลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจของโอเปกพลัส,มาตรการตอบโต้กลับของอิหร่านว่าจะส่งผลให้เกิดซัพพลายซ็อกในตลาดหรือไม่ และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจและนโยบายพลังงานในอนาคต ขณะที่ราคาก๊าซLNG จะเข้าสู่สมดุลในปีนี้มากขึ้น และราคาในครึ่งปีหลังจะไม่ปรับสูงขึ้นมากเท่ากับช่วง 2 ปีก่อน โดยคาดการณ์ราคาก๊าซฯ เฉลี่ยทั้งปีนี้ จะอยู่ที่ 9-13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู”

สำหรับแผนการลงทุนในช่วง 5 ปี ข้างหน้า ปตท.สผ. ยังเดินหน้าเพิ่มปริมาณการผลิตปิโตรเลียม โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพอร์ตการลงทุนในต่างประเทศให้มีสัดส่วนการผลิต อยู่ที่ระดับ 42% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนการผลิต ในประเทศอยู่ที่ 76% และต่างประเทศอยู่ที่ 24% จากการเข้าไปลงทุนใน 12 ประเทศ กว่า 50 โครงการทั่วโลก ขณะเดียวกัน ปตท.สผ.ได้ตั้งงบลงทุนสำหรับขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ ใน 5 ปีข้างหน้า ที่สัดส่วน 10% ของงบลงทุนรวม

ทั้งนี้ ปตท.สผ. มองว่า การลงทุนของบริษัท ยังมีโอกาสเติบโตเฉลี่ยปีละ 3-5% ตามการคาดการณ์ของโลก ที่มองว่า ความต้องการใช้พลังงานจะยังเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 3-5% ไปจนถึงปี 2573

ขณะที่ โครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน ซึ่งตั้งอยู่นอกชายฝั่งทะเลของประเทศโมซัมบิก ปัจจุบัน ทางผู้ดำเนินโครงการฯ ขอเวลาอีก 2-3 เดือน ในการประเมินแผนเพื่อเตรียมการกลับเข้าพื้นที่ เพื่อไปดำเนินการก่อสร้างโครงการภายในปีนี้ และคาดว่า จะสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)เชิงพาณิชย์ครั้งแรกได้ในช่วงปี 2571-2572

‘พีระพันธุ์’ แจ้ง!! ร่างกฎหมายโครงสร้างพลังงานใหม่เสร็จแล้ว ชี้!! ผ่านบันไดขั้นที่ 3 เตรียมมุ่งสู่บันไดขั้นสุดท้าย

เมื่อวานนี้ (21 ส.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแจ้งข่าวสำคัญ ไว้ดังนี้...

สวัสดีครับ วันนี้ผมได้มีการประชุมคณะทำงานพิเศษ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายและพลังงาน เพื่อจะให้พิจารณาร่างกฎหมายที่ผมได้พูดไว้ว่า “ผมร่างมาตลอดทุกวัน” ตอนนี้ร่างเสร็จเรียบร้อยแล้วนะครับ ร่างกฎหมายนี้ถือเป็นร่างแรก ซึ่งผมร่างขึ้นมาอย่างเต็มที่ มีทั้งหมด 95 หน้า 180 มาตรา และกำลังให้คณะผู้เชี่ยวชาญนำไปตรวจสอบในรายละเอียดและปรับปรุงต่อไป

ในระหว่างรอการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ผมอยากให้พี่น้องประชาชนสบายใจและมั่นใจว่าผมไม่ได้ทิ้งงานนะครับ ระหว่างนี้ผมยังทำงานเต็มที่ให้กับพี่น้องประชาชนทุกเรื่อง และทุกเรื่องที่บอกไว้ ผมยังทำอยู่ ทำต่อ เรื่องนี้เป็นบันไดขั้นที่ 3 ที่ผมเคยบอกไว้ว่า ผมจะมีบันได 5 ขั้น ก่อนหน้านี้เสร็จไปแล้ว 2 ขั้น วันนี้ขั้นที่ 3 เสร็จแล้วครับ และกำลังจะเดินหน้าสู่ขั้นที่ 5 ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และความเป็นธรรมในการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซให้กับพี่น้องประชาชนต่อไปในอนาคตครับ

ขอให้มั่นใจว่า ผมจะทำงานทุ่มเทสติปัญญาและกำลังความสามารถทุกอย่าง เพื่อพี่น้องประชาชนในประเทศไทยของเรา ตลอดไปครับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top