Wednesday, 8 May 2024
พีระพันธุ์_สาลีรัฐวิภาค

'พีระพันธุ์' ชี้ ม็อบปฏิรูปผิดอาญาร้ายแรง จี้ ผู้รักษากฎหมายตามเช็กบิลกองหนุน

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความเห็นต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 โดยระบุว่า จบแล้วแต่ยังไม่จบ!!!

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 จับใจความได้ว่าการพูดถึงสถาบันหลักของชาติที่ปวงชนชาวไทยถวายความเคารพสักการะด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 มีลักษณะของการปลุกระดมและใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ เป็นการเรียกร้องโจมตีในที่สาธารณะที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและใช้ความรุนแรงในสังคม เป็นการทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ อีกทั้งเป็นการเซาะกร่อนเพื่อทำลายหรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ที่ดำรงอยู่คู่กันกับชาติไทยเป็นเนื้อเดียวกันนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน และจะต้องดำรงอยู่ด้วยกันต่อไปในอนาคตเพื่อธำรงความเป็นชาติไทย ต้องสิ้นสลาย ไม่ว่าจะโดยการพูด การเขียน หรือการกระทำต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทำลาย ด้อยคุณค่า หรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อ่อนแอลง ย่อมแสดงให้เห็นถึงการมีเจตนาเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

เป็นคำวินิจฉัยที่บอกว่าสิ่งที่กลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องพยายามตะโกนอธิบายว่าเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายตามรัฐธรรมนูญนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นการกระทำผิดกฎหมายและผิดรัฐธรรมนูญ ที่มิใช่เป็นเพียงแค่อาชญากรรมตามกฎหมายอาญาธรรมดา ๆ หากแต่เป็นการบ่อนทำลายชาติและสถาบันหลักของชาติที่จะต้องดำรงอยู่คู่กันกับชาติเพื่อธำรงความเป็นชาติไทยตลอดไปให้ต้องสิ้นสลาย อันเป็นความผิดอาญาที่ร้ายแรงยิ่ง 

เป็นการตอกย้ำว่าเมื่อไหร่ที่คนพวกนี้ต้องติดคุก พวกเขาคือ “นักโทษผู้กระทำความผิดอาญาร้ายแรง” ไม่ใช่ “นักโทษทางความคิด”

มันจบแล้ว...

จากนี้ไปการชุมนุมในลักษณะนี้รวมทั้งท่อน้ำเลี้ยงและอีแอบ ผู้เป็น “ชนกลุ่มน้อย” คือผู้ทำลายล้างรัฐธรรมนูญ คือผู้ทำลายล้างสถาบัน คือผู้ทำลายล้างชาติ คือผู้กระทำผิดอาญาร้ายแรง ไม่ใช่ผู้ใช้สิทธิเสรีภาพตามกฎหมายตามรัฐธรรมนูญอีกต่อไป ข้อคลางแคลงสงสัยของผู้รักษากฎหมายจนทำให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่นแบบที่ผ่านมาก็จบลงด้วย

แต่งตั้ง 'พีระพันธุ์' นั่งเลขาธิการนายกฯ แทน 'ดิสทัต' ปฏิบัติหน้าที่สำคัญตามนายกรัฐมนตรีมอบหมาย

(16 ธ.ค. 65) รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แทนนายดิสทัต โหตระกิตย์ ที่จะไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ให้มีผลภายหลังจากนำคำสั่งเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ คาดว่าจะเป็นวันอังคารที่ 20 ธันวาคม 2565

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้เก็บข้าวของของนายดิสทัตไว้ที่ตึกสำนักงานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี คาดว่าจะเป็นห้องทำงานของนายดิสทัต

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง นายดิสทัต โหตระกิตย์ เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

‘เพื่อไทย’ ตอก ‘บิ๊กตู่’ ตั้ง ’พีระพันธุ์’ เป็นเลขาฯ ลั่น!! ไม่ใช่เป็นนายกฯ แล้วจะทำอะไรก็ได้

(21 ธ.ค.65) ที่รัฐสภา นายสมคิด เชื้อคง พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แต่งตั้งนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ว่า ตนมองว่า เป็นเรื่องไม่มีมารยาททางการเมือง เนื่องจากคนเป็นเลขาธิการ ก็เหมือน ‘นายกฯ น้อย’ คนหนึ่ง ที่สำคัญเป็นการแต่งตั้งคนที่เป็นนักการเมืองอีกพรรคหนึ่ง ในขณะที่ ตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ย้ำว่าตนไม่ทราบระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ว่าลักษณะนี้จะเข้าข่ายการครอบงำพรรคการเมืองหรือไม่

'พีระพันธุ์' เตรียมเสนอปรับราคา 'น้ำมัน-ไฟฟ้า' ลดค่าใช้จ่าย ปชช. พร้อมเปิดทางนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรี ในราคาที่เป็นธรรม-เหมาะสม

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 66 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการลดราคาพลังงานตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะเมื่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีประกาศนโยบายดังกล่าวอย่างชัดเจนว่า ความจริงแล้วนโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายหลักที่สำคัญของพรรครวมไทยสร้างชาติด้วยอยู่แล้วและตนได้แจ้งต่อที่ประชุมร่วมกับพรรคเพื่อไทยในการประชุมทำนโยบายรัฐบาลเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา จึงเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะทำให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนไม่ใช่เฉพาะแค่ราคาพลังงานแต่รวมไปถึงค่าครองชีพอื่น ๆ ด้วย เพราะพลังงานเป็นต้นทุนการผลิตสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค การปรับลดราคาพลังงานให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรมจึงเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจึงได้กำหนดนโยบายดังกล่าวไว้ในนโยบายของรัฐบาลที่จะแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรแล้วเช่นกัน และมั่นใจว่า เมื่อนโยบายตรงกันทั้งในส่วนของนโยบายรัฐบาลและนโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติที่ตนรับผิดชอบอยู่ด้วยก็จะทำให้นโยบายนี้เกิดเป็นรูปธรรมได้มากขึ้นและเร็วขึ้น

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า แนวทางการดำเนินการในเรื่องราคาพลังงานนั้นมีเรื่องหลัก ๆ ที่ต้องเร่งดำเนินการคือ ราคาน้ำมัน และ ราคาไฟฟ้า ซึ่งมีองค์ประกอบของราคาหลายอย่าง เช่น เรื่องภาษี เรื่องค่าการตลาด เรื่องภาระการเงินและเงินกู้ และอีกหลายเรื่องที่มาประกอบกัน บางองค์ประกอบเป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ต้นทุนของก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า หรือต้นทุนของราคาน้ำมันดิบ เป็นต้น แต่สิ่งที่สามารถพิจารณาดำเนินการได้คือ โครงสร้างและองค์ประกอบที่มารวมกันจนเป็นราคาขายของพลังงานเหล่านี้ จะต้องมาดูว่าส่วนไหนที่สามารถตัดทิ้ง หรือปรับลดลงได้ก็จะทำทั้งหมด และเมื่อค่าใช้จ่ายลดลง ราคาของพลังงานต่าง ๆ ก็จะสามารถปรับลดลงได้ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมกับประชาชน

ในขณะเดียวกันยังมองถึงเรื่องของราคาน้ำมันราคาถูกพิเศษสำหรับประชาชนบางกลุ่ม เช่น ปัจจุบันกลุ่มชาวประมง สามารถซื้อน้ำมันที่เรียกว่า น้ำมันเขียวในราคาพิเศษ จึงเห็นว่า น่าจะดำเนินการเช่นเดียวกันนี้กับกลุ่มอื่น ๆ ด้วย เช่น กลุ่มเกษตรกร เป็นต้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อว่า นโยบายหลักสำคัญอีกประการหนึ่ง ตนเห็นว่า ควรจะให้โอกาสเสรีในการหาน้ำมันสำเร็จรูป ที่ไม่ใช่การนำน้ำมันดิบเข้ามากลั่นจนทำให้มีต้นทุน ค่าใช้จ่ายที่ควบคุมลำบาก แต่หากเป็นการนำน้ำมันสำเร็จรูปที่ ไม่ต้องมีค่าการกลั่น หรือค่าใช้จ่ายอื่น เพราะราคาทุกอย่างคำนวณจบแล้ว และถ้าหากใครสามารถนำพลังงานราคาถูกเข้ามาได้ ก็ควรเปิดโอกาสให้ทำได้ โดยภาครัฐควรจะเป็นผู้กำกับดูแลให้การจัดหาพลังงานเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็ว ไม่ใช่วางกฎกติกาจนทำไม่ได้

นายพีระพันธุ์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาแม้ว่าจะทำงานด้านกฎหมาย แต่ก็มีความสนใจเรื่องของพลังงานของไทย และศึกษาหาข้อมูลเรื่องพลังงานมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องน้ำมันของประเทศไทยมีประวัติน่าสนใจและได้รับรู้เรื่องราวของพลังงานมาจากบิดาคือ พลโท ณรงค์ สาลีรัฐวิภาค อดีตปลัดกระทรวงเศรษฐการ (ปัจจุบันคือกระทรวงพาณิชย์) และเจ้ากรมการพลังงานทหาร ที่ได้รับมอบหมายจาก จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม และจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัตชต์ ให้ไปสำรวจและขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย

กระทั่งค้นพบแหล่งน้ำมันที่ อ.ฝาง จ. เชียงใหม่ สามารถขุดเจาะน้ำมันขึ้นมาและสร้างโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของไทยขึ้นมากลั่นน้ำมันดิบนั้น จนประสบความสำเร็จโดย นอกจากจะจัดหาน้ำมันให้กับหน่วยงานของรัฐแล้ว ยังสามารถขายน้ำมันราคาถูกให้กับประชาชนด้วย นำมาสู่การก่อตั้งปั๊มน้ำมันสามทหาร  ซึ่งปัจจุบันองค์การเชื้อเพลิงของกรมการพลังงานทหารและปั๊มน้ำมันสามทหารได้ถูกแปรเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และเป็น บริษัท ปตท.จำกัด ในปัจจุบัน

“ที่มาของพลังงานในประเทศไทยมี 2 เรื่อง คือเรื่องความมั่นคงของประเทศ และ การหาน้ำมันราคาถูกให้ประชาชนใช้ ผมจึงคิดว่าภารกิจหน้าที่ของรัฐบาลและของกระทรวงพลังงานวันนี้ ไม่ใช่เรื่องของการทำธุรกิจน้ำมันแต่เป็นเรื่องการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศและการหาพลังงานให้ประชาชนในราคาที่เป็นธรรมและเหมาะสม ส่วนเรื่องการทำธุรกิจของบริษัทที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องของเขาไม่ใช่เรื่องของกระทรวง แต่กระทรวงพลังงานมีหน้าที่กำกับดูแล ให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมถูกต้องแล้วเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไป ได้เข้าถึงการหาพลังงาน หาน้ำมัน หาเชื้อเพลิงมาใช้ได้อย่างเสรี จะต้องไม่ปิดกั้นต้องให้โอกาสเพื่อให้ราคาถูกลงให้ได้ เป็นการลดต้นทุน เพราะพลังงานเป็นต้นทุนต่าง ๆ ในชีวิต ถ้าสามารถลดต้นทุนตรงนี้ลงได้ ค่าครองชีพก็จะลดลงตาม ฉะนั้นผมจึงคิดว่านี่คือภารกิจของกระทรวงพลังงาน ไม่ใช่การทำธุรกิจ” นายพีระพันธุ์กล่าว

รู้จัก ‘พลโทณรงค์ สาลีรัฐวิภาค’ ผู้บุกเบิกกิจการด้านพลังงานของไทย บิดาของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รมว.กระทรวงพลังงาน คนปัจจุบัน

ชื่อ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ที่ปรากฏในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของ ครม. ชุดใหม่อาจเป็นเซอร์ไพรส์ทางการเมืองที่หลายคนคาดไม่ถึง แต่สำหรับผู้ที่ติดตามแนวคิดและแนวทางของพรรครวมไทยสร้างชาติมาตลอดย่อมทราบดีว่า ‘พีระพันธุ์’ เคยนำเสนอหลักคิดและนโยบายด้านพลังงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้กลไกด้านกฎหมายที่เขาเชี่ยวชาญมาปรับปรุงโครงสร้างด้านพลังงานของประเทศให้มีประสิทธิภาพและสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ประชาชน เช่น นโยบายการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรีเพื่อลดราคาน้ำมัน เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น ‘พีระพันธุ์’ ยังมีพื้นฐานชีวิตที่เกี่ยวข้องกับผู้บุกเบิกกิจการพลังงานในอดีต ซึ่งมีส่วนปลูกฝังตัวตนของเขาในปัจจุบัน

ในอดีต คุณพ่อของเขา ‘พลโทณรงค์ สาลีรัฐวิภาค’ ถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกกิจการด้านพลังงานของไทย โดยดำรงตำแหน่งเจ้ากรมการพลังงานทหาร และผู้อำนวยการองค์การเชื้อเพลิง สังกัดกระทรวงกลาโหม ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเร่งรัดพัฒนาประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเป็นผู้บุกเบิกก่อสร้าง ‘โรงกลั่นน้ำมัน’ แห่งแรกของประเทศไทย ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2502 

และเป็นผู้ก่อตั้งปั๊มน้ำมัน ‘สามทหาร’ เพื่อจำหน่ายน้ำมันที่ขุดและกลั่นได้เองจากโรงกลั่นน้ำมันที่อำเภอฝางให้ประชาชนใช้ในราคาถูก และเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมสมัยใหม่ในประเทศในเวลาต่อมา โดยรัฐบาลสมัยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ได้แปรสภาพองค์การเชื้อเพลิงและปั๊มน้ำมันสามทหารให้กลายมาเป็น ‘การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย’ ซึ่งกลายมาเป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน

พลโทณรงค์ฯ เข้าดำรงตำแหน่งเจ้ากรมการพลังงานทหารและรักษาราชการผู้อำนวยการองค์การเชื้อเพลิงในปี พ.ศ. 2497 ก่อนดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเชื้อเพลิงเต็มตัวในปีถัดมา ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังเตรียมเจรจายกเลิกข้อผูกพันหลังสงครามที่ทำไว้กับบริษัทต่างชาติอย่างเสียเปรียบ โดยในข้อผูกพันดังกล่าวนั้นได้กำหนดเงื่อนไขให้บริษัทน้ำมันต่างชาติซึ่งเป็นบริษัทในเครือของประเทศผู้ชนะสงคราม สามารถเข้ามาทำการค้าขายน้ำมันในประเทศไทยได้อย่างเสรี และผูกขาดการขายน้ำมันให้แก่รัฐบาลไทย ขณะที่รัฐบาลไทยไม่สามารถทำธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมันและไม่สามารถจำหน่ายน้ำมันให้แก่หน่วยงานราชการและประชาชน ยกเว้นในกิจการทหาร

ต่อมารัฐบาลไทยสามารถเจรจาต่อรองปรับแก้สัญญาให้คนไทยสามารถเปิดดำเนินกิจการน้ำมันได้เองเช่นเดียวกับบริษัทต่างชาติ โดยมีพลโทณรงค์ สาลีรัฐวิภาค บิดาของ ‘พีระพันธุ์’ เป็นทั้งบุคลากรหลักในการเจรจาและเป็นทั้งผู้การวางรากฐานให้องค์การเชื้อเพลิงเป็นผู้ดำเนินการจัดหาและกลั่นน้ำมัน รวมทั้งดำเนินธุรกิจบริการน้ำมันเชื้อเพลิงให้ประชาชนในราคาถูกภายใต้ชื่อว่า ‘ปั๊มสามทหาร’ โดยต่อมา ‘องค์การเชื้อเพลิง’ และ ‘ปั๊มสามทหาร’ ก็ได้แปรสภาพมาเป็น การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และกลายมาเป็น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ส่วน ‘ปั๊มสามทหาร’ ทั้งหมด ก็กลายมาเป็น ‘ปั๊ม ปตท.’ ในปัจจุบัน

รัฐบาลไทยในขณะนั้นยังได้เชิญภาคเอกชนมาร่วมทำการสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียม และกลั่นน้ำมันในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง ซึ่งถือเป็นยุคบุกเบิกอุตสาหกรรมปิโตรเลียมสมัยใหม่ในประเทศ

เมื่อรัฐบาลไทยในช่วงเวลาดังกล่าวได้เข้ามาดำเนินธุรกิจปิโตรเลียมอย่างจริงจัง พลโทณรงค์ฯ จึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในนามของกรมการพลังงานทหารและองค์การเชื้อเพลิงในกิจการพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะการขุดเจาะน้ำมันที่เริ่มต้นเป็นครั้งแรกของประเทศที่ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันดิบแห่งแรกที่พบในประเทศไทย 

โดย พลโทณรงค์ฯ เป็นผู้ลงมือคุมการดำเนินการและการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของประเทศที่อำเภอฝางด้วยตนเอง จนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม นำความภาคภูมิใจมาให้คนไทยและกองทัพไทยอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ผลักดันให้เกิดการตื่นตัวเรื่องจัดหาและพึ่งพาทรัพยากรพลังงานในประเทศ จนพัฒนาไปสู่การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศไทยในปัจจุบัน

ในระหว่างการบุกเบิกการขุดเจาะน้ำมันที่อำเภอฝาง พลโทณรงค์ฯ ยังได้ถวายการต้อนรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จทอดพระเนตรกิจการของหน่วยสำรวจน้ำมันอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และทรงประทับแรม ณ พระตำหนัก ในบริเวณโรงกลั่นน้ำมันฝาง เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2501 ด้วย

ด้านชีวิตส่วนตัว พลโทณรงค์ สาลีรัฐวิภาค เกิดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2452 เป็นบุตรชายของ พระยาสาลีรัฐวิภาค และ คุณหญิงขนิฐา สาลีรัฐวิภาค จบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และได้เข้าศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนสำเร็จเตรียมแพทย์รุ่นเดียวกับ ศาสตราจารย์ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว โดยเขาเลือกที่จะไม่ศึกษาต่อด้านการแพทย์ แต่สอบทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาต่อ ณ ประเทศฟิลิปปินส์ จนได้รับปริญญาตรีด้านการประมงและด้านสัตววิทยา

หลังสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ พลโทณรงค์ฯ ได้เข้ารับราชการในกองการประมง กระทรวงเกษตราธิการ ก่อนขอโอนย้ายไปเป็นข้าราชการทหาร และได้ใช้ความสามารถช่วยเหลือราชการในการเจรจาการค้ากับต่างประเทศในยุคที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะปัญหาการค้าข้าวและน้ำมัน จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี รักษาการผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และ รักษาการปลัดกระทรวงเศรษฐการ และต่อมามีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงเศรษฐการ (ปัจจุบันคือกระทรวงพาณิชย์) ก่อนโอนมาดำรงตำแหน่งเจ้ากรมการพลังงานทหาร และ ผู้อำนวยการองค์การเชื้อเพลิงที่ดูแลเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศ ตั้งแต่ยุคสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนถึงยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ 

จากนั้นจึงย้ายไปช่วยปฏิบัติราชการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเมื่อ พ.ศ. 2509 จนเกษียณอายุราชการ ภายหลังเกษียณอายุ พลโทณรงค์ฯ ยังรับเป็นอาจารย์พิเศษในภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยไม่รับเงินเดือนด้วย

ด้านชีวิตครอบครัว พลโทณรงค์ฯ สมรสกับ นางโสภาพรรณ (สกุลเดิม สุมาวงศ์) บุตรีพระมนูเวทย์วิมลนาถ และคุณหญิงแฉล้ม มนูเวทย์วิมลนาถ มีบุตรธิดา 5 คน โดย ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ เป็นบุตรคนที่ 4

‘พีระพันธุ์’ เคยเล่าถึงแนวคิดและทัศนคติของคุณพ่อของเขาว่า “คุณย่าเคยเล่าเรื่องคุณพ่อสมัยหนุ่ม ๆ บางวันคุณพ่อกลับบ้านมาเท้าเปล่า คุณย่าก็ถามถึงรองเท้าเพราะนึกว่าคุณพ่อไปลืมไว้ คุณพ่อตอบว่า ไม่ได้ลืมที่ไหน แต่ตอนขับรถกลับบ้าน เห็นคนแก่เดินข้างถนน ไม่มีรองเท้าใส่ ก็เลยถอดให้เค้าไป...คุณพ่อคอยปลูกฝังผมกับลูก ๆ ทุกคนมาตลอดว่า เรามีความรู้ เรามีโอกาสที่ดีกว่าคนอื่น เราต้องเอาความรู้ เอาโอกาสของเราไปช่วยเหลือคนอื่น ถ้าหากว่าเราเอาแต่ตัวเราคนเดียว สุดท้ายเราอยู่คนเดียวไม่ได้ เราต้องแบ่งปันช่วยเหลือคนอื่นด้วย คุณพ่อจะสอนเราแบบนี้และเป็นแนวทางที่คุณพ่อรับมาจากคำสอนของคุณปู่อีกที...คุณพ่อเป็นคนที่ทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศจริง ๆ ผมไม่เคยเห็นวันไหนที่คุณพ่อไม่ทำงาน ผมเคยถามว่า พ่อไม่นอนเหรอ? คุณพ่อบอกว่า พ่อยังทำงานไม่เสร็จ ผมถามว่า พ่อทำอะไร? คุณพ่อตอบว่า ทำงานให้บ้านเมือง”

นอกจากการปฏิบัติหน้าที่และสร้างผลงานอันเป็นคุณูปการต่อแผ่นดินไทยไว้มากมายแล้ว พลโทณรงค์ฯ ยังได้ถ่ายทอดสปิริตของการทำงานเพื่อบ้านเมืองและการช่วยเหลือคนที่ด้อยโอกาสไว้ให้ทายาทรุ่นหลังอย่าง ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ได้ทำหน้าที่สานต่อสืบไปด้วย

เจ้ากระทรวงพลังงานคนใหม่นี้จึงน่าจับตาอย่างยิ่ง! 

‘พีระพันธุ์’ ส่งหนังสือเชิญ สส.ก้าวไกล  หารือปัญหาพลังงานที่ทำเนียบบ่ายวันนี้

(26 ก.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันศุกร์ (22 ก.ย. 66) ที่ผ่านมา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่นร 0403 (กร6)/8878 เพื่อเชิญ นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เข้าหารือที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 26 กันยายน เวลา 13.30 น. เนื่องจากเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 นายศุภโชติได้ยื่นกระทู้สดด้วยวาจาถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สภา เกี่ยวกับปัญหาพลังงาน แต่ในวันดังกล่าวนายพีระพันธุ์ไม่ได้เข้าร่วมประชุมสภาเนื่องจากติดภารกิจที่จังหวัดชุมพร

นายพีระพันธุ์จึงทำหนังสือเชิญให้นายศุภโชติเข้ามาร่วมหารือที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 26 กันยายนก่อนเพื่อหารือเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายด้านพลังงาน เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการสอบถามและการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับประชาชนร่วมกัน

นอกจากนี้ ในวันที่ 28 กันยายนนี้ นายพีระพันธุ์จะต้องร่วมเดินทางไปกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไปเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างเป็นทางการอีกด้วย จึงทำให้นายพีระพันธุ์ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมสภาในวันดังกล่าวได้อีกด้วย

‘พีระพันธุ์’ สร้างแรงบันดาลใจเยาวชน ทำเพื่อชาติ-สังคม หนุนเป็นผู้นำที่ดี ยึดมั่นใน ‘ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์’

รมว.พลังงาน ร่วมพูดคุยกับเยาวชนในโครงการ UTN Academy Young Leadership สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนเป็นผู้นำทางสังคมที่มีแนวคิดที่ดี ย้ำ ขอให้ใช้ความรู้ความสามารถเพื่อชาติบ้านเมือง โดยยึดสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นสำคัญ

เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 66 ที่อาคารรัฐสภา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ รศ.พิเศษ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค พร้อมสมาชิกรุ่นใหม่พรรครวมไทยสร้างชาติ ร่วมพบปะพูดคุยกับผู้นำทางสังคมยุคใหม่ ในโครงการ UTN Academy Young Leadership ที่เดินทางมาเยี่ยมชมการทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่รัฐสภา

นายพีระพันธุ์ ได้กล่าวต้อนรับเยาวชนผู้ร่วมโครงการ พร้อมทั้งร่วมพูดคุยอย่างเป็นกันเองโดยได้เล่าถึงประสบการณ์ในการเรียนและการทำงานของตนทั้งในฐานะผู้พิพากษา จนเข้าสู่การทำงานทางการเมือง กระทั่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยระบุว่าที่ผ่านมาตนทำงานโดยมีเป้าหมายต้องการทำงานให้กับประเทศชาติ และประชาชนจนลืมวันเวลา มาถึงวันนี้จึงรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วมาก ดังนั้น จึงอยากจะแนะนำกับเยาวชน ว่า เมื่อเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว จึงควรใช้เวลาให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ทั้งการให้ความสำคัญกับครอบครัว และประเทศชาติ เพราะประเทศชาติก็เปรียบเสมือนบ้านของทุกคน เมื่อดูแลครอบครัวอย่างดีแล้ว ขอให้ใช้ความรู้ความสามารถเพื่อบ้านเมืองด้วย

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า มาถึงวันนี้มีคนถามว่าคุณสมบัติของผู้นำที่ดีควรเป็นอย่างไร ส่วนตัวตนเห็นว่า การจะเป็นผู้นำที่ดีได้จะต้องทำตัวเองให้ดีก่อน นั่นคือ มีความรับผิดชอบกับตัวเอง เพราะหากนำตัวเองให้ดีไม่ได้ ก็ไม่สามารถจะไปนำคนอื่นได้

ขณะเดียวกัน ยังต้องเป็นผู้ที่มีระเบียบวินัย และมีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งต้องเชื่อมั่นในตัวเอง แต่ก็ต้องเป็นผู้ฟังที่ดี ยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่นอย่างมีเหตุผล จากนั้นจึงนำมาปรับปรุงตัวเอง ทุกอย่างนี้จะต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน

“สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องไม่ลืมความเป็นไทย ภาคภูมิใจในความเป็นประเทศไทยที่มีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณีที่ดีมายาวนาน และจะต้องการยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์”

นายพีระพันธุ์ ยังได้ตอบคำถามเยาวชนที่สอบถามถึงแนวนโยบายการแก้ปัญหาหนี้สินของคนไทยของพรรครวมไทยสร้างชาติว่า ปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกกประเทศในโลก ไม่เพียงเฉพาะคนไทย

ดังนั้น การแก้ปัญหาหนี้สิน จึงไม่สามารถแก้ไขได้ 100% เนื่องจากหนี้สินมีที่มาจากหลากหลายสาเหตุ โดยในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาตินั้น เรามีแนวนโยบายการแก้หนี้ให้กับกลุ่มผู้ที่มีความยากจน และผู้ที่มีความยากลำบากในการทำมาหากิน เช่น ชาวนา หรือเกษตรกร โดยเรามีนโยบายจัดตั้งกองทุนประชาชน เพื่อดูแลเรื่องหนี้สินของประชาชน เพื่อปลดหนี้ให้พ้นจากหนี้นอกระบบ

ทั้งนี้ แนวทางดำเนินการ คือ การใช้เงินจากหลายกองทุน ซึ่งปัจจุบันกองทุนเหล่านั้น ยังไม่ได้ใช้เงินส่วนดังกล่าว ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นกองทุนให้กับประชาชนได้กู้ยืมไปใช้ประโยชน์ก่อน เพื่อแบ่งเบาภาระ แทนการเป็นหนี้นอกระบบ ให้มาเป็นหนี้กับรัฐแทน ซึ่งรัฐสามารถช่วยเหลือยืดหยุ่นการใช้หนี้คืนให้ได้ เชื่อว่าจะช่วยแบ่งเบาภาระเรื่องหนี้ให้กับประชาชนได้

นายพีระพันธุ์ ได้กล่าวกับเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการในตอนท้ายว่า การทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองนั้นไม่จำเป็นต้องเข้ามาเป็นนักการเมือง เพราะไม่ว่าจะเป็นอาชีพใด ก็สามารถที่จะทำงานเพื่อประเทศชาติได้ แต่หากใครอยากจะเข้ามาทำงานด้านการเมือง ก็ขอให้มุ่งมั่น และมองเรื่องของส่วนรวมเป็นหลัก ที่สำคัญขอให้ยึดมั่นใน 3 สถาบันหลักของชาติเป็นสำคัญ

ด้าน รศ.พิเศษ ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าวว่า สำหรับโครงการ UTN Academy Young Leadership เป็นโครงการที่เกิดขึ้นตามนโยบายของ นายพีระพันธุ์ หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ต้องการสร้างผู้นำทางสังคมที่มีแนวคิดที่ดี เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ในการทำงานเพื่อส่วนรวมในอนาคต โดยครั้งนี้เป็นการริเริ่มครั้งแรก ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากกิจกรรมที่จัดขึ้นไม่ได้เป็นเพียงการประชุม แต่มีกิจกรรมที่ให้ทุกคนได้ทำอย่างสนุก มีการพูดคุยกับ ส.ส. หรือผู้นำทางสังคมต่างๆ ทำให้หลายคนประทับใจ

“โครงการ UTN Academy Young Leadership จะเกิดขึ้นอีกแน่นอน สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามกิจกรรมได้ผ่านสื่อของพรรครวมไทยสร้างชาติที่จะแจ้งให้ทราบต่อไป” รศ.พิเศษ ดวงฤทธิ์ กล่าว

‘พีระพันธุ์’ ถกแก้ กม. คุมราคาน้ำมันเบนซิน ลั่น!! ค่าการตลาดไม่ควรเกิน 2 บาทต่อลิตร

เมื่อวานนี้ (3 ต.ค. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ผลการหารือร่วมกับหน่วยงานในสังกัด เกี่ยวกับการควบคุมค่าการตลาดน้ำมันที่กำหนดไว้ที่ 2 บาทนั้น โดยได้เชิญผู้แทนสำนักงานกฤษฎีกา ปลัดกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานกระทรวงพลังงานในการหารือกรณีการดูแลราคาน้ำมันเบนซิน เพราะส่วนที่มีปัญหาและทำให้ราคาสูงขึ้น มาจากค่าการตลาด 

ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานของกระทรวงพลังงานได้คิดคำนวณจากข้อมูลพื้นฐาน พบว่าควรอยู่ที่ 2 บาทต่อลิตร แต่ความจริงตอนนี้ผู้ประกอบการกำหนดค่าไว้ในระดับที่สูงมาก โดยกระทรวงพลังงานได้เคยหารือกับกระทรวงพาณิชย์ว่า เมื่อน้ำมันอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม ก็ขอให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยดำเนินการในส่วนของค่าการตลาดนี้ เพื่อให้อยู่ในกรอบที่กระทรวงพลังงานกำหนด 

แต่กระทรวงพาณิชย์แย้งว่ากระทรวงพลังงานมีกฎหมายเฉพาะอยู่แล้ว และมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดว่า กระทรวงพลังงานมีกฎหมายเฉพาะอยู่แล้ว จึงไม่ได้ดำเนินการให้ โดยกฎหมายเฉพาะนี้ได้เข้าไปพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นกฎหมายเฉพาะที่อ้างอิง ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2562 ที่เกิดวิกฤตน้ำมัน คำพิพากษาศาลจึงออกมาในตอนนั้นกระทรวงพาณิชย์จึงคิดว่ายังเป็นกฎหมายเฉพาะอยู่ ทำให้ต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ

โดยหากกระทรวงพลังงานมองว่ากฎหมายแท้ ๆ ของกระทรวงไม่มีอำนาจ แต่กระทรวงพาณิชย์มองว่ามีและยืนยันว่ามี ทำให้ต้องหาทางดำเนินการต่อไป อาทิ การแก้ไขกฎหมาย ในการกำหนดค่าตลาดว่าให้กระทรวงพลังงานเป็นผู้กำหนด ซึ่งปัจจุบันกระทรวงพลังงานเห็นว่าค่าการตลาดที่เหมาะสมอยู่ที่ 2 บาทต่อลิตรในทุกผลิตภัณฑ์

“ที่ผ่านมาเคยขอความร่วมมือผู้ประกอบการในการกำหนดค่าตลาดที่ไม่เกิน 2 บาท แต่ผู้ประกอบการบางรายยังคิดค่าตลาดในบางสินค้าเกิน 4 บาทด้วย ทำให้เวลานี้คงมาดูในเรื่องการแก้ไขกฎหมายหากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษอย่างไร เพราะที่ผ่านมาเป็นการขอความร่วมมือผ่านการกำหนดราคาจากกระทรวงพลังงาน แต่หากผู้ประกอบการไม่ทำตามจะทำอย่างไร เพราะไม่มีกฎหมายกำกับควบคุมให้ดำเนินการตามในส่วนนี้” นายพีระพันธุ์กล่าว

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการหารือร่วมกับคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อวางแนวทางในการปรับแก้กฎหมายแล้ว โดยจะพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อดูแลราคาน้ำมันในประเทศ เพราะช่วงที่ผ่านมาได้พยายามหารือกับผู้ประกอบการไปแล้วว่าต้นทุนควรเป็นเท่าไหร่ แต่ไม่ได้รับการชี้แจงในรายละเอียด เพราะอ้างเป็นความลับทางการค้าซึ่งในส่วนนี้ยืนยันด้วยว่า ข้อมูลต่าง ๆ สามารถเปิดเผยได้ และไม่ควรอ้างการค้าเสรีเพื่อเป็นอุปสรรคต่อการกำกับดูแลค่าการตลาดที่เหมาะสมในทุกผลิตภัณฑ์น้ำมันในประเทศไทย

'พีระพันธุ์' ตั้งคณะทำงานรองนายกฯ 8 คน 'วิน-อิทธิพัทธ์-อาหมัด-อรัญญา' ร่วมทีม

(10 ต.ค. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ลงนามในคำสั่งรองนายกรัฐมนตรีที่ 5 /2566 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานรองนายกรัฐมนตรี ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายพีระพันธุ์ ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ และ รมว.พลังงาน เมื่อวันที่ 1 ก.ย.นั้น เพื่อให้การบริหารราชการในความรับผิดชอบของนายพีระพันธุ์ ดำเนินไปโดยมีประสิทธิภาพ มีผลสัมฤทธิ์ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และบังเกิดผลดีแก่ราชการ

จึงแต่งตั้งคณะบุคคลดังต่อไปนี้ เป็นคณะทำงานรองนายกฯ (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) โดยมีหน้าที่ให้ปฏิบัติงานและสนับสนุนภารกิจของนายพีระพันธุ์ ตามที่ได้รับมอบหมาย ดังนี้...

1. นายวินท์ สุธีรชัย
2. นายสมชาย แสงชมพูเพ็ญ
3. นายสฤษฎิ์เดช ธนาวุฒิ
4. นายสมหวัง อัสราษี
5. นายยศวริศ ชูกล่อม
6. นายอาหมัด บอสตา
7. นางสาวอรัญญา มณีแจ่ม
8. นายอิทธิพัทธ์ เศรษฐยุกานนท์

ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 28 ก.ย. 2566

'พีระพันธุ์' ตั้งคณะที่ปรึกษารองนายกฯ 11 คน  'ดร.หิมาลัย-แรมโบ้-ศิลัมพา-สายัณห์' ตบเท้าเข้าร่วม

(10 ต.ค.66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ลงนามในคำสั่งรองนายกรัฐมนตรีที่ 8 /2566 เรื่องแต่งตั้งคณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายพีระพันธุ์ ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ และรมว.พลังงาน เมื่อวันที่ 1 ก.ย.นั้น เพื่อให้การบริหารราชการในความรับผิดชอบของนายพีระพันธุ์ ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย บังเกิดผลดีแก่ทางราชการ จึงแต่งตั้งคณะที่ปรึกษารองนายกฯ

โดยมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและพิจารณาเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะ รวมทั้งสนับสนุนภารกิจของนายพีระพันธุ์ ตามที่ได้รับมอบหมาย ดังนี้...

1. นายสามารถ มะลูลีม 
2. นายโกวิทย์ ธารณา 
3. นายเจือ ราชสีห์ 
4. นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล 
5. นายหิมาลัย ผิวพรรณ 
6. นายประสิทธิ์ มะหะหมัด 
7. นายเสกสกล อัตถาวงศ์ 
8. นายชนะศักดิ์ อัตถาวงศ์ 
9. นายสายัณห์ ยุติธรรม 
10. น.ส.ศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ 
และ 11. นางกุสุมาวดี ศิริโกมุท 

ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 28 ก.ย.


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top