Monday, 20 May 2024
พีระพันธุ์_สาลีรัฐวิภาค

หักปากกาเซียน!! 'ตุ๋ย-ปุ้ย' ควงอันดับกระทรวงงบฯ น้อยสุด สวนทางผลงาน 6 เดือนเข้าตา ช่วยย้ำ!! งบต่ำแต่โต ถ้าตั้งใจ

พลันเมื่อตัวเลขงบประมาณ 2567 ของประเทศไทยออกมาแล้วปรากฏว่า สองกระทรวงภายใต้การกำกับดูแลของพรรครวมไทยสร้างชาติ (ตั้งแต่ 1 กันยายน พ.ศ. 2566) ซึ่งได้แก่ กระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม ก็กลายเป็นสองกระทรวงที่ได้รับงบประมาณ 2567 น้อยที่สุดเป็นอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ 

'กระทรวงพลังงาน' ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ 'รองตุ๋ย' พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตผู้พิพากษา อดีต สส. 7 สมัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ มีพันธกิจสำคัญ คือ...

1) จัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการและกำหนดโครงสร้างราคาพลังงานให้มีความเหมาะสม 

2) พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานพลังงานให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ 

3) กำกับกิจการพลังงานให้มีมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัย 

4) ส่งเสริมการผลิต การใช้พลังงานสะอาดและการอนุรักษ์พลังงานเพื่อสอดรับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน 

และ 5) ส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงาน และเตรียมความพร้อมรองรับโอกาสธุรกิจพลังงานในอนาคต ด้วยการบริหารงานอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาล

ทว่า งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรหนนี้ น้อยที่สุดเพียง 1,856 ล้านบาท แต่ต้องรับผิดชอบภารกิจที่สำคัญอันยิ่งใหญ่ เพราะเป็นองค์กรหลักในการกำกับดูแลธุรกิจพลังงานของประเทศซึ่งเป็นต้นทุนและปัจจัยที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมากที่สุด ด้วยมูลค่าของธุรกิจพลังงานในประเทศมีมูลค่าปีละราวสองล้านล้านบาท มีหน่วยงานระดับกรมในสังกัด 6 หน่วยงาน และรัฐวิสาหกิจที่สำคัญ 2 หน่วยงาน และอีก 1 หน่วยงานที่กำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 

ถึงกระนั้น หากไล่ทวนผลงานของกระทรวงพลังงานภายใต้ 'รองตุ๋ย' จะพบว่า การออกมาตรการแบบเข้มข้นในช่วง 6 เดือนแรก ได้สร้างความมั่นคงด้านพลังงานแก่ประเทศและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทยแบบทันทีทันใด ดังนี้...

1) พลังงานไฟฟ้า ได้ผลักดันการลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนและสามารถตรึงราคาค่าไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องไม่ให้สูงขึ้นตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ มีการเร่งรัดในการแก้ไขปัญหาราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลและเขื่อนสิรินธรที่ยืดเยื้อมาหลายทศวรรษ 

2) น้ำมัน ทำการช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้น้ำมันโดยใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกลไกทางภาษีด้วยความร่วมมือจากกระทรวงการคลัง เร่งรัดในการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพลิงยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานและสร้างเสถียรภาพราคาเชื้อเพลิง มีการออกประกาศให้ผู้ค้าน้ำมันแจ้งข้อมูลต้นทุนน้ำมันเพื่อป้องกันการค้ากำไรเกินควร 

3) ก๊าซ มีการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ (Pool gas) เพื่อให้ต้นทุนก๊าซธรรมชาติในภาพรวมลดลงและเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซ ติดตามเร่งรัดการขุดเจาะและผลิตก๊าซจากอ่าวไทยเพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า มีการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบผู้ใช้ NGV โดยเฉพาะกลุ่มรถแท็กซี่ กลุ่มรถโดยสาร และรถบรรทุกด้วยความร่วมมือจาก ปตท.

ข้ามมาทางฟาก 'กระทรวงอุตสาหกรรม' ซึ่งได้รับงบประมาณ 2567 น้อยที่สุดเป็นอันดับ 2 ราว 4.5 พันล้านบาทนั้น อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีหญิงแกร่ง 'ปุ้ย' พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สส.นครศรีธรรมราช เขต 10 ผู้เป็นรัฐมนตรีว่าการสตรีคนที่ 2 ของกระทรวงแห่งนี้ 

จะว่าไปบทบาทหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมไทยที่ผ่านมาส่วนใหญ่ อาจจะเทไปในเชิงรับเสียมากกว่าเชิงรุก ทั้งๆ ที่เป็นองค์กรภาครัฐหลักในกำกับดูและจัดการอุตสาหกรรมของประเทศทั้งระบบ มีหน่วยราชการระดับกรมในสังกัด 8 หน่วย 2 รัฐวิสาหกิจ 12 สถาบันเครือข่าย และ 1 หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีฯ ซึ่งหน่วยงานทั้งหมดกว่า 20 หน่วยงานนี้ถือเป็นอวัยวะสำคัญในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมที่เป็นแกนหลักของความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย  

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาผลงานของ 'รมว.ปุ้ย' ในช่วง 6 เดือนที่ผ่าน ก็ทำให้ชื่อของกระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้ 'รมว.ปุ้ย' ไม่น้อยหน้ากระทรวงพลังงาน เช่นกัน อาทิ...

1) ให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ดำเนินการกับสินค้านำเข้าราคาถูกและด้อยคุณภาพเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค 

2) ติดตามเร่งรัดผู้ประกอบการในประเทศให้เพิ่มการผลิตแร่ 'โปแตช' วัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ย เพื่อแก้ไขปัญหาปุ๋ยแพงของพี่น้องเกษตรกร 

3) ส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องทั้งนักลงทุนรายใหม่และผู้ประกอบการรายเดิมซึ่งต้องปรับตัวจากการผลิตรถสันดาป 

4) ยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลด้วยมาตรการต่าง ๆ เพื่อยกระดับให้เกิดนวัตกรรมและความหลากหลาย เพิ่มคุณภาพ มาตรฐาน และปริมาณการผลิต 

5) สนับสนุน Green Productivity ทั้งการจัดหาไฟฟ้าสีเขียวด้วยกระบวนการรับรองอย่างมีมาตรฐานและมีปริมาณเพียงพอเพื่อรองรับความต้องการพลังงานสะอาดของภาคอุตสาหกรรม, แก้ปัญหาเรื้อรังในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นของอุตสาหกรรมน้ำตาล, ส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ให้ตรงกับความต้องการของผู้คนในยุคปัจจุบันเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยไปสู่ยุคใหม่

สนับสนุน SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นให้ได้รับวงเงินสินเชื่อธุรกิจเพียงพอในการต่อยอดธุรกิจ เป็นกลไกหมุนเวียนรายได้และกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนทั่วประเทศ, ส่งเสริมการสร้างต้นแบบ Smart Farmer สร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่ายด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงาน, เริ่มบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 สำหรับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ช่วยลดมลพิษจากฝุ่น PM2.5 และกำหนดยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงการแลนด์บริดจ์เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่

เมื่อเทียบงบประมาณที่ทั้ง 2 กระทรวงได้รับเป็น % กับภาระงานที่ต้องรับผิดชอบแล้ว จะเห็นได้ว่าทั้งสองกระทรวงได้รับงบประมาณน้อยมาก ๆ ทั้ง ๆ ที่ต้องกำกับดูแล รับผิดชอบทำเรื่องราวต่าง ๆ เยอะแยะมากมาย 

โดยกระทรวงพลังงานได้รับงบประมาณเพียง 0.1415% ของมูลค่าธุรกิจพลังงานในประเทศโดยรวม และกระทรวงอุตสาหกรรมยิ่งได้รับงบประมาณน้อยกว่าเพียง 0.045% ของมูลค่าการส่งออกโดยรวมของประเทศเท่านั้น 

จากผลลัพธ์ที่พูดได้ว่า 'สอบผ่าน' ของทั้งสองกระทรวงนี้ สะท้อนให้เห็นว่า คนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ตลอดจนคณะทำงาน และข้าราชการของทั้ง 2 กระทรวง ออกแววสานต่อสายเลือดลุงตู่ที่อยู่และทำเพื่อประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศชาติและประชาชนได้ชัดเจนพอดู 

ยิ่งได้เห็นตัวเลขงบประมาณอันน้อยนิดที่ได้รับ แต่ก็ไม่ได้มีการปรับท่าทีใด แถมยังพร้อมลุยงานตามเป้าหมายต่อทันที ก็ยิ่งดูเป็นนิมิตหมายอันดีของชาติ ที่มีคนกล้าเปลี่ยนแนวคิดและความเชื่อที่มีมาอย่างยาวนานในระบบราชการและการเมืองที่ว่า...

“งานจะสำเร็จได้ต้องมีงบประมาณมากพอเท่านั้น” มาเป็น “หากมี ‘ความตั้งใจ’ แล้ว แม้ ‘งบประมาณจะน้อย’ แต่งานก็สามารถสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีได้”

กกพ. เคาะ ‘ค่าไฟ’ งวดใหม่ 4.18 บาท  เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน

(27 มี.ค. 67) นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. มีมติเห็นชอบค่าเอฟทีเรียกเก็บในงวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2567 คงเดิมที่ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย 

ทั้งนี้ เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วยแล้ว ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็น 4.1805 บาทต่อหน่วย เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน

สำนักงาน กกพ. ได้เปิดรับฟังความเห็นผลการคำนวณค่าเอฟทีสำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2567 ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 8 - 22 มีนาคม 2567 

โดยมีผู้เข้าร่วมแสดงความเห็นจำนวนทั้งสิ้น 147 ความเห็น แบ่งเป็นการแสดงความเห็นต่อค่าเอฟทีตามกรณีศึกษาที่ กกพ. เสนอรวมทั้งสิ้น 61 ความเห็น แสดงความเห็นโดยเสนอค่าเอฟทีอื่น ๆ นอกเหนือจากกรณีศึกษารวม 50 ความเห็น และความเห็นในลักษณะข้อซักถามหรือคำถามอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับค่าเอฟทีจำนวน 36 ความเห็น

นายคมกฤช กล่าวอีกว่า การใช้ไฟฟ้าในระบบของ กฟผ. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงจำเป็นต้องนำเข้า LNG เพื่อเป็นเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นในการผลิตไฟฟ้า ดังนั้น ในช่วงฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง สำนักงาน กกพ. จึงขอให้ผู้ใช้ไฟฟ้าร่วมกันตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ให้มีสภาพการใช้งานที่ดี เพื่อประหยัดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาที่มีสภาพอากาศร้อน

รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าได้ง่าย ๆ 5 ป. ได้แก่ ปลด หรือถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าลดการใช้ไฟฟ้าเมื่อใช้งานเสร็จ ปิด หรือดับไฟเมื่อเลิกใช้งาน ปรับ อุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้อยู่ที่ 26 องศา เปลี่ยน มาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟเบอร์ 5 ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นเพื่อลดอุณหภูมิภายในบ้าน 

ซึ่งทั้ง 5 ป. จะช่วยลดการนำเข้า LNG ลดการเกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดรอบใหม่ (New Peak Demand) ในระบบไฟฟ้าและยังช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้า

‘พีระพันธุ์’ ยัน!! ไม่มีทุจริตเชิงนโยบาย ลั่น!! ถ้าเจอหลักฐาน แจ้ง ป.ป.ช. ได้เลย ยินดีให้ความร่วมมือ

(3 เม.ย.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ได้ชี้แจงฝ่ายค้านในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ สรุปได้ว่า การทำงานของกระทรวงมุ่งสร้าง ‘พลังงานเป็นธรรม’ โดยปัจจุบันค่าไฟรอบใหม่คงไว้ได้ไม่เกิน 4.18 บาทต่อหน่วย ส่วนน้ำมันเป็นโจทย์ยาก แต่จากนี้เมื่อมีการให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนการนำเข้าและส่งออก ซึ่งไม่มีใครเคยทำมาก่อน และจะเริ่มแล้วในวันที่ 15 เม.ย.67 ก็จะส่งผลต่อการสร้างราคาที่เป็นธรรมต่อน้ำมันในอนาคตแน่นอน 

เกี่ยวกับกรณีที่ฝ่ายค้านขุดปมทุจริตเกี่ยวกับการประมูลสัมปทานผลิตไฟฟ้าให้ภาคเอกชน จนส่งผลให้รัฐต้องซื้อไฟจากเอกชนรายใหญ่ในราคาแพง สร้างภาระต่อเนื่องให้คนไทย แถมยังมีการกีดกัน กฟผ.ออกจากการประมูล ซึ่งกลายเป็นข้อครหาว่า เป็น ‘การประเคน’ มากกว่า ‘การประมูล’ นั้น นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ตนกำลังหาทางแก้ไขเรื่องนี้อยู่ เพราะรับไม่ได้กับผู้ที่ได้ประมูล โดยไม่ได้มาจากการกำหนดหลักเกณฑ์ แต่ใช้เพียงดุลพินิจเลือก 

“ทาง ก.พลังงาน ต้องการคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน และแน่นอนว่าเป็นอีกเรื่องที่ผมได้เข้ามาจัดการกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ฉะนั้นขอยืนยันว่า รัฐบาลและ ก.พลังงานในยุคของผม ไม่มีการทุจริตเชิงนโยบาย มีแต่หาทางลดภาระประชาชนให้มากที่สุด หากฝ่ายค้านมีหลักฐานยื่น ป.ป.ช. ได้เลย ผมยินดีให้ความร่วมมือด้วยอีกแรง” นายพีระพันธุ์ กล่าว

'พีระพันธุ์' ชี้!! 'ไม่มีดีลลับ-นายกฯ สำรอง-ปรับครม.' ส่วน 'ลุงตู่' ไม่ยุ่งการเมือง มุ่งทำงานเพื่อชาติ

(11 เม.ย. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงกระแสข่าวเตรียมเป็นนายกรัฐมนตรีสำรองว่า ไม่มี พูดกันไปเอง คิดกันไปเอง ไม่มีดีลอะไร ไม่มีทั้งนั้น

เมื่อถามว่า รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี ก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแล้วใช่หรือไม่? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ ลุงตู่ของพวกเราท่านทำภารกิจหลัก ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของประเทศถวายในหลวงในเรื่องงานต่าง ๆ อยู่แล้ว ท่านไม่ได้ยุ่งในเรื่องการเมือง"

เมื่อถามย้ำว่า กระแสข่าวที่ออกมาอาจเพราะเห็นว่านายพีระพันธุ์มีความใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ จึงทำให้มีข่าวจะมาเป็นนายกฯ สำรอง? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ไม่มีหรอก มาจากสื่อที่มั่วกันเอง"

เมื่อถามถึงกระแสข่าวปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังสงกรานต์ ในส่วนของ รทสช. จะมีการปรับเปลี่ยนอะไรหรือไม่? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ยังไม่มีการพูดคุยกันเรื่องนี้เลย เพราะฉะนั้นอย่างที่ตนเคยพูดตลอด อะไรที่ยังไม่มีการพูดกันอย่างเป็นทางการถือว่ายังไม่มี"

เมื่อถามอีกว่า ถ้ามีการปรับในส่วนของ รทสช. จะมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีหรือไม่? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ยังไม่มี ยังไม่มีการคุยอะไรกันเลย เพราะยังไม่มีการพูดคุยกันในรัฐบาล ดังนั้น ในพรรคจึงยังไม่มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้"

‘พีระพันธุ์’ สั่งติดตามการสู้รบในเมียนมาอย่างใกล้ชิด ยัน!! แหล่งก๊าซฯ 3 แห่งยังส่งก๊าซฯ มาไทยได้ตามปกติ

เมื่อวานนี้ (11 เม.ย. 67) แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้สั่งการให้กระทรวงพลังงานเฝ้าติดตามสถานการณ์การสู้รบในประเทศเมียนมาว่าจะส่งผลกระทบต่อการจ่ายก๊าซธรรมชาติในแหล่งยาดานา, เยตากุน และซอติก้า แปลง M9 มายังประเทศไทยหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้การสู้รบในประเทศเมียนมามีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

เบื้องต้นขณะนี้ก๊าซฯ จากทั้ง 3 แหล่งดังกล่าว ยังส่งเข้าไทยได้ตามปกติ ซึ่งที่ผ่านมาทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) ได้มีการซ้อมแผนรองรับวิกฤติก๊าซธรรมชาติทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ว่าจะเกิดปัญหากับก๊าซฯ ในจุดใด กรม ชธ. ก็จะสามารถบริหารจัดการก๊าซฯ เพื่อความมั่นคงทางพลังงานในประเทศให้ได้

อย่างไรก็ตามคาดว่าการสู้รบในเมียนมาจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งก๊าซฯ มายังไทย เนื่องจากการสู้รบเป็นคนละส่วนกับพลังงานที่จำเป็นต่อชีวิตประชาชนทั่วไป แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดและกระทบต่อการส่งก๊าซฯ มายังไทยจริง ก็อยู่ในวิสัยที่ไทยยังสามารถบริหารจัดการได้ เพราะแหล่งก๊าซฯ เอราวัณ ในอ่าวไทยเริ่มกลับมาผลิตได้มากขึ้นแล้ว

ทั้งนี้กระทรวงพลังงานได้สั่งการให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาเติมให้เต็มถัง เพื่อความมั่นคงด้านไฟฟ้าและพลังงานในประเทศ โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนนี้ด้วย

สำหรับข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เมื่อปี 2566 พบว่าไทยมีปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติรวมทั้งสิ้น 4,664 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งมาจากแหล่งในประเทศ 57% หรือ 2,653 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และนำเข้ามาจากต่างประเทศอีก 43% หรือ 2,010 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยเป็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) 31%  และก๊าซฯ จากเมียนมา 12%

สำหรับก๊าซฯ จากแหล่งในเมียนมาที่ส่งมายังไทย ได้แก่ ก๊าซฯ แหล่งยาดานา, แหล่งเยตากุน และแหล่งซอติก้า แปลง M9 ซึ่งทั้ง 3 แหล่งตั้งอยู่ในอ่าวเมาะตะมะ ของสหภาพเมียนมา โดยปัจจุบันแหล่งยาดานาส่งก๊าซฯ มาไทยประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน, ก๊าซฯ แหล่งเยตากุน ประมาณ 30 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และก๊าซฯ จากแหล่งซอติก้า แปลง M9 ประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมทั้งสิ้นประมาณกว่า 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

15 เมษายน 2567 วันสำคัญที่ควรจารึกไว้ในประวัติศาสตร์พลังงานไทย ครั้งแรกที่ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งต้นทุน 'นำเข้า-ส่งออก' ต่อจากนี้ทุกเดือน

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย!! กับนโยบายกำกับควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ราคาจำหน่ายเป็นไปตามต้นทุนจริงและให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชนคนไทย ภายหลัง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ออกประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567 

โดยประกาศกระทรวงพลังงานฉบับนี้ได้กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 ต้องรายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบภายในวันที่ 15 ของเดือน ถัดจากเดือนที่มีการบันทึกบัญชีรายวัน โดยราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงพลังงานฉบับดังกล่าวเมื่อ 13 มีนาคม 2567 และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป

หมายความว่า ต่อจากนี้ ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ต้องแจ้งราคาต้นทุนเฉลี่ยและหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคำนวณต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงในทุกไตรมาส และในกรณีที่ผู้ค้าน้ำมันมีการปรับปรุงการบันทึกบัญชี หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลจะต้องแจ้งให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบภายใน 7 วัน โดยข้อมูลที่ได้รับมาจะถือเป็นข้อมูลลับของทางราชการและจะมีการเก็บรักษาเป็นความลับอย่างที่สุด

สำหรับต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งถือเป็นข้อมูลที่จำเป็นในการกำหนดนโยบายด้านการพลังงานที่เหมาะสมนั้น ประกอบด้วย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหมายความรวมถึงน้ำมันดิบ, ก๊าซธรรมชาติ, ก๊าซปิโตรเลียมเหลว, น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล และต้นทุนอื่นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น ค่าขนส่ง, ค่าประกันภัย, ค่าตอบแทนนายหน้า, ค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนและโอนเงิน, ค่าภาษี, อากร หรือค่าธรรมเนียมอื่นใด ซึ่งผู้ประกอบการได้บันทึกบัญชีและมีหน้าที่ต้องชำระ โดยคำนวณเฉลี่ยเป็นหน่วยต่อลิตรในแต่ละรายไตรมาสของปีบัญชี

ทั้งนี้ ด้วยเพราะน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นต้นทุนหลักของภาคธุรกิจในการประกอบกิจการ หากน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำหน่ายภายในประเทศนั้น มีการค้ากำไรเกินสมควร มีปริมาณการจัดจำหน่ายที่ไม่เพียงพอ หรือไม่ได้คุณภาพแล้ว ย่อมจะส่งผลกระทบในทางลบและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงทั้งต่อประชาชน และระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม 

ดังนั้นประกาศกระทรวงพลังงานฉบับนี้ จึงมีความจำเป็นต่อการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ภาครัฐโดยกระทรวงพลังงานมีข้อมูลที่จำเป็นสำหรับกำหนดนโยบายด้านพลังงานให้เกิดความถูกต้องเหมาะสม อันจะทำให้ราคาจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศนั้นมีความยุติธรรม ด้วยมีการสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และเป็นการคุ้มครองไม่ให้มีการค้ากำไรเกินสมควรในการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อมิให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รับความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันที่ไม่ถูกต้องและเป็นธรรม เป็นการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจทุกประเภทและทุกระดับให้มีขีดความสามารถอย่างเท่าเทียมสำหรับการแข่งขันทางการค้าในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลกได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ดังนั้น ในวันนี้ 15 เมษายน 2567 จึงเป็นวันแรกและครั้งแรกของประเทศไทยที่ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ต้องแจ้งข้อมูลต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทุกเดือน โดยประกาศฉบับนี้จะช่วยดำเนินการจัดการให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของราคาจำหน่ายของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องอิงกับราคาตลาดโลก 

เพราะทุกครั้งเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกขึ้นราคา ผู้ค้าน้ำมันทุกราย ก็จะประกาศขึ้นราคาตามราคาตลาดโลกทันที ทั้งๆ ที่ราคาน้ำมันในประเทศควรเป็นไปตามราคาที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ณ เวลานั้นๆ 

งานนี้ ก็คงต้องขอบคุณตรงๆ ไปยัง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ได้ออกประกาศกระทรวงพลังงานฉบับดังกล่าว ซึ่งนี่แหละที่จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชนคนไทยและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวมได้รับประโยชน์เต็มๆ จากประกาศฉบับนี้ ผ่าน...ราคาพลังงานที่เป็นธรรม!!

15 เมษา ถึงเวลา 'ปลดแอก' คนไทยจากราคาพลังงานแบบเดิมๆ เสียที...

ชาวเน็ตแห่ชื่นชม ‘พีระพันธุ์’ ป้องกันกลุ่มทุนค้ากำไรเกินควร หลังประกาศให้ ‘ผู้ค้าน้ำมัน’ ต้องแจ้งต้นทุนธุรกิจเป็นครั้งแรก

ชื่นชมคนทำงานจริง!! ชาวเน็ตแห่ให้กำลังใจ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ที่กล้าทำเพื่อประชาชน ป้องกันกลุ่มทุนค้ากำไรเกินควร หลังประกาศให้ ‘ผู้ค้าน้ำมัน’ ต้องแจ้งต้นทุนน้ำมันทั้งนำเข้า - ส่งออก เป็นครั้งแรก 

จากกรณี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกประกาศกระทรวงให้ผู้ค้าน้ำมันหรือโรงกลั่นน้ำมัน ต้องแจ้งข้อมูลต้นทุนน้ำมัน เพื่อป้องกันการค้ากำไรเกินควร โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา

โดยสาระสำคัญของประกาศฉบับดังกล่าว ได้กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 รายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการบันทึกบัญชีรายวัน พร้อมทั้งแจ้งราคาต้นทุนเฉลี่ยและหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคำนวณต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงในทุกไตรมาส และกรณีที่ผู้ค้าน้ำมันปรับปรุงการบันทึกบัญชี หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล จะต้องแจ้งให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบภายใน 7 วัน โดยข้อมูลที่ได้รับมาจะถือเป็นข้อมูลลับของทางราชการและมีการเก็บรักษาเป็นความลับอย่างที่สุด

แน่นอนว่า ภายหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว เท่ากับว่า วันที่ 15 เมษายน นี้ ผู้ค้าน้ำมันจะต้องส่งรายงานต้นทุนน้ำมันให้กับทางภาครัฐเป็นครั้งแรก ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา ภาครัฐไม่เคยทราบข้อมูลในส่วนนี้มาก่อนเลย ดังนั้น การที่ได้ทราบต้นทุนที่แท้จริง จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน และการกำหนดโครงสร้างราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายในอนาคต

ทั้งนี้ ภายหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ ปรากฏว่า มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมาก ได้แสดงความชื่นชมและให้กำลังใจ นายพีระพันธุ์ ผ่านสื่อโซเชียลในแพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า นายพีระพันธุ์ ถือว่ามีความกล้าหาญ และตั้งใจทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง โดยไม่เกรงใจกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่แต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานคนใดกล้าแตะเรื่องเหล่านี้เลย 

สำหรับตัวอย่างความคิดเห็นของชาวเน็ต ที่ส่งถึงนายพีระพันธุ์ เช่น...

“ขอบคุณลุงพีมากค่ะ ท่านเป็นรัฐมนตรีเพียงคนเดียวในรัฐบาลชุดนี้ทำงานเพื่อคนไทยอย่างจริงจัง”
“มีคนดีๆแบบนี้ควรสนับสนุน เป็นคนดีและเก่งอีกคนที่หายากมากครับ”
“ขอบคุณท่านพีระพันธุ์ครับ ประชาชนรอความหวังอยู่ครับ”
“ดีต่อใจ ขอให้ท่านพีระพันธุ์มีความสุข และกระทำการใดๆ ก็สำเร็จ”
“ขอให้ทำได้จริงเพื่อคนไทยนะครับ”
“ขอให้ท่านพีระพันธุ์ทำให้ได้ ประชาชนมองท่านอยู่”
“มันต้องแบบนี้พี่พี ทำเพื่อประชาชนโดยแท้”
“เกลือจิ้มเกลือ เฉียบขาดมันต้องอย่างนี้ ขอบคุณครับ ท่านพีระพันธุ์”
“คุณพีนี่แหละที่สมควรจะเป็นนายกมากกว่าใคร”
“ทำแล้ว ทำต่อให้เห็น พวกเราต้องช่วยท่านไปด้วยกัน”
“คิดดีทำดีทำได้เลยครับ ประชาชนจะสนับสนุนท่านเองตามผลงานที่ปรากฎ”
“ท่านทำงานแบบไม่ออกสื่อ ไม่เอาหน้า แต่ทำเพื่อประชาชน”
“ต้องแบบนี้สิถึงเรียกว่า พูดจริงทำจริง จะรอดูผลงานครับ”
“เยี่ยมครับท่านพี ทำดีทำต่อไปครับผม เป็นกำลังใจให้ท่านครับ”
“คนนี้แหละที่ชาติต้องการ”
“ไปถามดีๆ ไม่ยอมบอกก็ออกกฎซะเลย เก่งมากครับท่านพี”
“ขอสนับสนุนท่านและรอความหวังการแก้ปัญหาราคาพลังงานแพง”
“ขอให้ท่านทำได้จริงครับ ชาวบ้านจะได้มีกินมีใช้บ้าง”
“คนทำจริง แม้จะยากเย็น แต่ตั้งใจแก้ปัญหาให้ประชาชน คนจริงที่หายากในยุคนี้”
“ขอเป็น 1 กำลังใจให้ท่านพีระพันธุ์ มุ่งทำงานล้างระบบพลังงาน เพื่อประโยชน์ของประชาชน ชาวไทยทุกคนต้องรวมพลังเป็นกำลังหนุนให้สำเร็จให้ได้ครับ”

อย่างไรก็ตาม นายพีระพันธุ์ ระบุว่า การกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันแจ้งต้นทุนในครั้งนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การปฏิวัติโครงสร้างราคาพลังงานครั้งใหญ่ของประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว และ ภายหลังจากนี้ จะเริ่มมีมาตรการต่างๆ ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบาย ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ ที่ได้ประกาศเอาไว้ก่อนหน้านี้

'พีระพันธุ์' สร้างระบบน้ำมันสำรอง ช่วย 'ราคาพลังงานไทย' ไม่ผันผวน

(15 เม.ย.67) ผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก 'Kookkai Kookkai' ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

สงครามตะวันออกกลาง ประเทศไทยกระทบเต็มๆ

เมื่อวานดูข่าวสถานการณ์ในตะวันออกกลาง จากช่อง อัลจาซีรา ของประเทศกาตาร์ เจอข่าว อิหร่าน ยิงขีปนาวุธ และโดรนติดหัวรบ ใส่อิสราเอล ตอบโต้อิสราเอล

ความก่อนหน้านี้ อิสราเอล ก็เล่นถล่มสถานทูตอิหร่านในอิสราเอล ในประเทศซีเรีย ก่อนนี่นา

แต่ที่วิตกแทน คือ วันนี้เปิดตลาดซื้อขายน้ำมัน นักวิเคราะห์คาดว่า ราคาน้ำมันโลกพุ่งแน่นอน แต่จะไปตกราคาเท่าไรอยู่ที่สถานการณ์

เดาว่าดังนี้...

1.ถ้าอิสราเอล วิเคราะห์ว่าไปถล่มอิหร่านก่อน อิหร่านเอาคืนสมควรแล้ว หยุดตอบโต้ ราคาน้ำมันก็ไม่พุ่ง

2.ถ้าอิสราเอล ตอบโต้อิหร่านคืน รับรองว่าอิหร่าน คงให้กองกำลังใต้ดิน ถล่มอิสราเองยืดเยื้อ ราคาน้ำมันพุ่งกระฉูดแน่นอน

ประเทศไทยเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมัน และก๊าซ คงหนีราคาพุ่งไม่ได้ ประชาชนเดือดร้อน ไม่รอดแน่นอน

ย้อนมานึกถึง นโยบาย รมว.พลังงาน และรองนายก คนปัจจุบัน คุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เคยบอกว่าจะทำนโยบาย ยุทธศาสตร์สำรองน้ำมัน เออ!! น่าสนใจดี เพราะดูแล้ว มันก็ไม่ยากอะไร แต่ถ้าทำจริงน่าจะยากหน่อย

หลักคิดของ รมว.พลังงาน เท่าที่ทราบ คือ...

1.เราเป็นผู้นำเข้า ยังไงต้องซื้อราคาที่ผู้ผลิตขาย ข้อนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้

2.ทำยังไงราคาอย่าขึ้นลงผันผวนแบบตลาดหุ้น

3.ยามวิกฤติสงคราม คนไทยต้องมีสำรองใช้อย่างน้อย 90 วัน

4.ประเทศต้องไม่ขาดแคลนน้ำมัน ทั้งเอกชน รัฐ ประชาชน รวมถึงเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่สังกัด กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงอื่น

วิธีคิดและทำ ของรมว.พลังงาน น่าติดตามทีเดียว ถ้าทำได้ ประเทศรอดจากวิกฤติแน่นอน

วิธีแก้ไขของท่าน คือ...

1.ประเทศไทย ต้องมีน้ำมัน และก๊าซสำรอง เป็นของรัฐเอง อย่างน้อย 90 วัน

2.ปัจจุบัน มีสำรองแล้วจริง แต่เป็นของเอกชนทั้งหมด ประมาณ 25 วัน แต่รัฐไม่มีกฏหมายบังคับใช้ สรุปคือเป็นของเอกชน

3.ปัจจุบัน เวลาขนน้ำมันมาขาย ต้นทุนคือ 30 วันที่แล้ว แต่เวลาขายจริง เป็นไปตามตลาดสิงคโปร์ หรือ เอกชนอยากขาย ไม่ใช่ราคาที่ซื้อมา 30 วันที่แล้ว  ประชาชนเสียเปรียบ แบบโดนมัดมือชก

4. อ้างจากข้อ 3 รมว.พลังงาน จะทำให้ราคาที่ขายให้ประชาชน คือราคาที่ซื้อมาจริง ไม่ขึ้นราคาตามใจชอบ แบบวันต่อวัน แบบตลาดหุ้น

5.แนวคิดท่าน ทำ SPR หรือ Strategic Petroleum Reserve หรือการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ จะมีผลดี คือ ราคาน้ำมันไม่ผันผวน เอกชนเอาเปรียบขึ้นราคาไม่ได้แน่นอน และยามมีภัยสงคราม ประเทศไทยมีน้ำมันสำรองยามฉุกเฉินได้ทันที 3 เดือนเต็ม ซึ่งเป็นระดับเดียวกับมหาอำนาจ อย่าง ญี่ปุ่น, จีน, เกาหลีใต้, รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา เลยทีเดียว

อ้าว!! แบบนี้ น่าเชียร์ การเมืองเอาออกไปก่อน สลิ่ม, แดง, ส้ม, เหลือง ได้ประโยชน์ทุกคน จริงมั้ย?

‘พีระพันธุ์’ ยัน ‘เศรษฐา’ ยังไม่ส่งสัญญาณปรับครม. ย้ำ!! รมต.พรรคยังเป็น 4 คนเดิม จับมือกัน ทำงานเพื่อปชช. 

(21 เม.ย.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ประกาศในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 ดัน นายพีระพันธุ์ให้เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งหน้า ว่า เป็นเรื่องธรรมดาในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีก็ต้องพูดแบบนี้ ทุกพรรคการเมืองก็ต้องประกาศในความมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อจะชนะการเลือกตั้ง ซึ่งนั่นเป็นเรื่องของพรรคการเมือง แต่ในความเป็นจริงเป็นเรื่องของประชาชน เราไม่มีวันรู้อนาคตได้ แต่ที่สำคัญจะเป็นอะไรก็ต้องทำเพื่อประชาชน เพื่อประเทศไม่ใช่เพื่อตัวเอง ซึ่งยอมรับว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปและการขับเคลื่อนพรรคไม่ง่าย ไม่มีอะไรง่ายแต่ก็ต้องทำ

เมื่อถามว่า การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งหน้าเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะยังเป็นของพรรครวมไทยสร้างชาติใช่หรือไม่ นายพีระพันธ์ุ กล่าวว่า จะมีการปรับคณะรัฐมนตรีหรือไม่ตนไม่ทราบ เพราะนายกรัฐมนตรียังไม่เคยมาพูด ดังนั้นในฐานะที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองเมื่อยังไม่มีการพูดถึงการปรับครม.ก็ถือว่ายังไม่มี ถึงเวลาจริงค่อยว่ากัน แต่ตอนนี้ยังไม่มี และไม่ทราบถึงกระแสข่าวว่าจะมีการยืดปรับครม.ออกไปอีก 2 เดือน เพราะวันนี้ตนไม่มีหน้าที่ในเรื่องนี้ คนที่มีอำนาจคือนายกรัฐมนตรี เมื่อยังไม่มีการพูดอย่างเป็นทางการก็ถือว่าไม่มี ฉะนั้น 4 คนนี้ก็ยังอยู่

เมื่อถามว่า กรณีนางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการพรรค นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ปกติทุกพรรคการเมืองจะมีผู้อำนวยการพรรค แต่ผู้อำนวยการพรรครวมไทยสร้างชาติคนเดิมได้ถูกแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าพรรค ทำให้ตำแหน่งผู้อำนวยการพรรคว่างลง กรรมการบริหารพรรคจึงมีมติแต่งตั้งให้นางพิชชารัตน์ รองเลขาธิการพรรค ไปเป็นรักษาการผู้อำนวยการพรรค แต่ปัจจุบันมีการแต่งตั้งผู้อำนวยการพรรคคนใหม่ นางพิชชารัตน์จึงหมดหน้าที่ จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีอะไร ยืนยันว่า ในพรรคไม่มีปัญหาอะไร

‘พีระพันธุ์’ ขอบคุณ 'ลุงตู่' ผู้สร้างดีเอ็นเอให้พรรค รทสช. ลั่น!! ยืนหยัดสู้ทุกปัญหา เดินหน้าทุกนโยบายเพื่อ ปชช.

(21 เม.ย.67) ที่สโมสรราชพฤกษ์ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารพรรค สส. ตัวแทนสาขาพรรคจากทั่วประเทศ และสมาชิกพรรคเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 พรรครวมไทยสร้างชาติได้ประชุมใหญ่ครั้งแรกที่สโมสรราชพฤกษ์ วันนี้จึงเลือกใช้สถานที่แห่งนี้จัดประชุมใหญ่ เพราะในวันนั้นได้ประกาศ จะพาสส.เข้าในสภาฯ วันนี้เราทำสำเร็จแล้ว ถือว่าสำเร็จเกินความคาดหมาย ต้องขอบคุณคนสำคัญที่สร้าง DNA ให้กับพรรครวมไทยสร้างชาติคือ ลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วันนี้จึงถือเป็นนิมิตหมายที่ดีของพวกเรา ในปี 2567 พรรคจะทำงานเพิ่มมากขึ้น โดยพรรคได้รับเงินสนับสนุนจากประชาชนผ่านระบบภาษีในปี 2566 กว่า 4 ล้านบาท เชื่อว่าในปี 2567 จะได้รับบริจาคจากประชาชนเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ผลจากการทำงานหนักขึ้นรวมกับนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค พร้อมกับการทดลองทำโครงการอาสามาด้วยใจ ปรากฏว่า มีคนที่ไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองจากทั่วประเทศ มาช่วยทำงานถึง 400 คน เป็นการอาสามาด้วยใจอย่างแท้จริง อยากมาทำงานให้พรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งในปี 2567 จะทำกิจกรรมเหล่านี้ให้มากยิ่งขึ้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top