Saturday, 19 April 2025
พีระพันธุ์_สาลีรัฐวิภาค

‘เศรษฐา’ ยัน!! เก็บเก้าอี้ รมต.ไว้ให้ ‘รทสช.’ ส่วนเรื่องกระทรวง เดี๋ยวค่อยคุยกัน ย้ำ!! มีจุดหมายเดียวกัน ทำงานเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี ของพี่น้องประชาชน

(18 พ.ค. 67) ที่สาธารณรัฐอิตาลี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าของตำแหน่งรัฐมนตรีที่ว่าง ลงในสัดส่วนของ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)ว่า ก็เก็บไว้ให้พรรครวมไทยสร้างชาติเขา แต่ถึงวันนี้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ยังไม่ได้มีการติดต่อมา หากมีการเสนอก็ต้องมีการพูดคุยกันต่อไป แต่ยืนยันว่าเป็นโควตาของพรรครวมไทยสร้างชาติ 

เมื่อถามว่าโควตาดังกล่าวหมายถึงจะยังคงเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเดิมใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุย แต่เราอยู่ด้วยกัน เราต้องรับฟังความคิดเห็นกันก่อน โดยเฉพาะความคิดเห็นจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ท่านอยากได้อะไร หรือมีความคิดอย่างไร 

“ผมเชื่อว่า ทั้งผมและท่านรองนายกฯพีระพันธุ์ ก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน หากคิดว่ากระทรวงที่ท่านเสนอมาจะทำงานได้ อย่างเหมาะสมในกระทรวงอะไร คิดว่าเราพูดคุยกันได้ แต่หากไปกระทบกับพรรคอื่นก็ต้องพูดคุยกันในวงกว้างขึ้นก็เท่านั้นเอง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

กองทุนน้ำมันแบกหนี้อ่วม 'ทุกยุค-ทุกรัฐบาล' เพื่อช่วยคนไทย ทางแก้!! ต้องกล้าทำระบบ SPR สำรองเชื้อเพลิงให้ประเทศ

วิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นรอบนี้เกิดขึ้นเพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครนตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2022 ต่อเนื่องมายาวนานกว่า 2 ปีแล้ว ประจวบกับการปะทะกันระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ปาเลสไตน์ ซ้ำบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและอิสราเอลเพิ่มขึ้น 

เงื่อนไขปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบในตลาดโลกเมื่อปลายปี 2021 ที่เคยอยู่ที่บาร์เรลละ 75-78 ดอลลาร์ ขยับขึ้นมาเป็นบาร์เรลละ 90-122 ดอลลาร์ในปี 2022 และบาร์เรลละ 75-91 ดอลลาร์ในปี 2023 ส่วนในปัจจุบันราคาน้ำมันดิบของโลกเฉลี่ยอยู่ที่บาร์เรลละ 80-90 ดอลลาร์ 

จากวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานในครั้งนี้ทำให้ประเทศไทยต้องใช้เงินจาก ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ เพื่ออุดหนุนชดเชยเพื่อตรึงราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉพาะน้ำมันดีเซล ซึ่งถือเป็นน้ำมันเศรษฐกิจของประเทศ เพราะรถโดยสารและรถบรรทุกขนส่งส่วนใหญ่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงทั้งสิ้น

โดย ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ มาจาก 3 ส่วน คือ...
- ส่วนของภาษีสรรพสามิตที่กรมสรรพสามิตเรียกเก็บจากผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ
- ส่วนของภาษีศุลกากรที่กรมศุลกากรเรียกเก็บจากผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
- ส่วนของผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและผู้รับสัมปทานที่ทำธุรกิจก๊าซ ซึ่งต้องนำส่งเงินให้แก่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ มีบทบาทและภารกิจที่สำคัญในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศ ในช่วงสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกมีความผันผวน เกิดสภาวะวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรักษาระดับของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ให้สูงเกินไปจนเกิดผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน และการเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้กรอบการดำเนินงานของแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563-2567 

โดย ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ได้กำหนดแนวทางสำคัญในการใช้เงินกองทุนฯ ไว้ 3 ประการ เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงดังนี้...

1. สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศสูงกว่า 30 บาท/ลิตร และราคาขายปลีก LPG เกิน 363 บาท/ถัง (15 กก.)

2. สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรง (1) ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นมากกว่า 5 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลใน 1 สัปดาห์ และส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกปรับขึ้นมากกว่า 1 บาท/ลิตร (2) ราคา LPG ตลาดโลกเปลี่ยนแปลงใน 2 สัปดาห์ เฉลี่ยมากกว่า 35 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน หรือ ราคา LPG ตลาดโลกเปลี่ยนแปลงใน 2 สัปดาห์ รวมกันมากกว่า 1 บาท/กก.

3. สถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงขาดแคลนและไม่เพียงพอต่อการใช้ในประเทศ

ทั้งนี้ในการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ จะมุ่งเน้นการอุดหนุนและชดเชยในระยะสั้นเพียงชั่วคราวโดยยึดถือระเบียบวินัยทางการเงินการคลังเป็นสำคัญ แต่ในปัจจุบันการณ์กลับกลายเป็นว่า ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ติดลบมหาศาลมีภาระดอกเบี้ยจ่ายเดือนละ 200-250 ล้านบาท หมายความว่า ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ มียอดติดลบมากกว่า 100,000 ล้านบาทแล้ว นับแต่วิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงจาดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปี 2022 ไทยได้ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการอุดหนุนน้ำมันดีเซล และ LPG มาโดยตลอด เพราะเชื้อเพลิงทั้งสองชนิดนี้เป็นเชื้อเพลิงที่มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม และมีผลกระทบโดยตรงต้องพี่น้องประชาชนคนไทยซึ่งต้องบริโภคใช้งานเชื้อเพลิงทั้งสองชนิดนี้ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม 

กรณีการติดลบมหาศาลของ ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ นี้ มีความพยายามที่จะป้ายความผิดให้กับ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ว่า การเข้ามารับผิดชอบดูแลกระทรวงพลังงานระยะเวลา 9 เดือนทำให้ ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ เกิดปัญหาใหญ่เช่นนี้ขึ้น หากแต่พิจารณาด้วยเหตุและผลอย่างเป็นธรรมและมีตรรกะแล้ว จะพบว่าที่ผ่านมาชั่วนาตาปี รัฐบาลทุกชุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานทุกคนต่างก็ใช้ ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และเป็นเครื่องมือที่สามารถทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุดเพียงเครื่องมือเดียวที่ภาครัฐมีอยู่ 

เพราะเครื่องมืออื่น ๆ ไม่ว่าจะ บทบาท อำนาจหน้าที่ และกฎหมาย ที่มีอยู่ไม่สามารถใช้งานแก้ไขปัญหาราคาเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพได้ รองฯ ‘พีระพันธุ์’ จึงต้องใช้ ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ซึ่งเป็นเครื่องมือเดียวที่มีอยู่แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจากวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อเป็นการลดทอนและบรรเทาความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ LPG ของพี่น้องประชาชนคนไทยไปพลาง ๆ ก่อน พร้อมกับออกนโยบาย ‘รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง’ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป

ทั้งนี้ นโยบาย ‘รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง’ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของ รองฯ ‘พีระพันธุ์’ ก็ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว มีทั้งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการ และอยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อดำเนินการ

ดังนั้นในส่วนของ ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ เมื่อวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงได้เบาคลายลงแล้ว สถานการณ์การติดลบก็จะกลับมาดีขึ้นเรื่อย ๆ จนกลับเข้าสู่สภาวะปกติ แล้วจะค่อย ๆ ลดบทบาทลง โดยจะมี SPR : Strategic Petroleum Reserve หรือ การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ ของรองฯ ‘พีระพันธุ์’ เข้ามามีบทบาททำหน้าแทนที่มากขึ้น 

พูดง่าย ๆ ก็คือ ในอนาคตเมื่อรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานได้กลายเป็นผู้ถือครองปริมาณน้ำมันมากที่สุดในประเทศเพียงพอสำหรับการใช้งาน 50-90 วันแล้ว รัฐบาลย่อมสามารถนำปริมาณน้ำมันสำรองเข้าไปมีส่วนในการบริหารจัดการราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศได้ หลังจากที่ผ่านมาปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจากวิกฤตเชื้อเพลิงมีการใช้ ‘เงิน’ จาก ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ในการแก้ไขปัญหา 

ทว่าเมื่อ SPR เกิดขึ้น ‘เงิน’ จากกองทุนน้ำมันก็จะถูกลดทอนบทบาทและต้องมาเป็นคำตอบหลักในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอีกไป เพราะในบางสถานการณ์ต่อให้มี ‘เงิน’ ก็อาจไม่สามารถหาซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงหรือไม่สามารถขนส่งมาประเทศไทยได้ 

ดังนั้น SPR ด้วยการถือครอง ‘น้ำเชื้อเพลิงสำรอง’ โดยรัฐที่มากพอ (สำหรับการใช้งาน 50-90 วัน) จนกระทั่งวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงคลายตัวลง จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุดในยามนี้

'รทสช.' น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวงรัชกาลที่ 7 พระมหากษัตริย์ ผู้ริเริ่มระบอบประชาธิปไตยสู่ประเทศไทย

(30 พ.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ, นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารพรรค ข้าราชการการเมือง และ สส. ร่วมวางพวงมาลาถวายราชสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันระลึกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประจำปีพุทธศักราช 2567 ณ พิพิธภัณฑ์รัฐสภา อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ถือเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย การสละพระราชอำนาจของพระองค์ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยจวบจนปัจจุบัน

‘พีระพันธุ์’ วางระบบคุมราคาน้ำมันที่เป็นธรรม ‘ผู้ค้าฯ’ ต้องพิสูจน์ต้นทุน ก่อนขอรับเงินชดเชย

เมื่อวานนี้ (4 มิ.ย. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ และระบบรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ ครั้งที่ 14/2567 เพื่อพิจารณาแนวทางการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ หรือ SPR  (Strategic Petroleum Reserve) ของประเทศไทย

นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ยังได้มอบนโยบายเกี่ยวกับแนวทางการกำกับราคาน้ำมันให้มีความเป็นธรรมและป้องกันการค้ากำไรเกินควร โดยในแนวทางนี้รัฐจะเป็นผู้กำหนดราคากลาง หรือ Benchmark ในขณะที่ผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องนำหลักฐานต่าง ๆ มาพิสูจน์ต้นทุนที่แท้จริง ทั้งหลักฐานที่กรมศุลกากร หลักฐานที่แบงก์ชาติ หลักฐานที่ธนาคารพาณิชย์ รวมถึงหลักฐานที่แสดงต่อกรมสรรพากร เพื่อขอรับเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในกรณีที่ขาดทุนจากจำหน่ายตามราคาที่รัฐกำหนด

“ทุกวันนี้เราต้องนั่งรอข้อมูลจากผู้ค้าฯ แต่ต่อไปผู้ค้าฯ ต้องมาพิสูจน์ว่าขาดทุนตรงไหน? อย่างไร? พร้อมหลักฐานที่จะต้องตรงกันหมด ทั้งหลักฐานที่กรมศุลกากร หลักฐานที่แบงก์ชาติ หลักฐานที่ธนาคารพาณิชย์ และหลักฐานที่แสดงต่อกรมสรรพากรต้องตรงกันหมด ถ้าไม่ตรงก็ถือว่ามีปัญหา ก็ไม่ผ่าน ถ้าไม่ผ่านก็ใช้ราคาหลวง เช่น เราคํานวณ benchmark ที่ 84 เหรียญ ถ้าจะให้รัฐชดเชย ก็ต้องมาว่าพิสูจน์ว่า ทําไมราคาของคุณถึงสูงกว่าราคาตลาดโลก ถ้าพิสูจน์ได้ ก็ได้รับชดเชยไป แต่ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ หรือไม่พิสูจน์ บอกว่าเป็นความลับ ก็เจ๊ากันไป ไม่ได้รับชดเชย เท่านั้นเอง ผมว่าต้องเป็นระบบแบบนี้” นายพีระพันธุ์กล่าว

สำหรับความคืบหน้าของการจัดตั้งระบบ SPR นั้น ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องผลการศึกษาการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงในต่างประเทศและประเทศไทย การศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ของการจัดตั้งระบบ SPR ในประเทศไทย การกำหนดอัตราสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยและโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับ รวมไปถึงรูปแบบการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง กลไกบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง การนำน้ำมันเชื้อเพลิงออกมาใช้ โครงสร้างองค์กรใหม่ การจัดตั้งกองทุน การบริหารจัดการ การกำกับติดตามและตรวจสอบปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองตามกฎหมาย การดำเนินการในระยะเริ่มต้น การถ่ายโอนภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและร่างกฎหมาย ตลอดจนการจัดหาพื้นที่เก็บสำรองด้วย

‘พีระพันธุ์’ เกาะติดมาตรการส่งเสริมงานศิลปะและรถยนต์โบราณ ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ควบคู่ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 67 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะทำงานติดตามมาตรการส่งเสริมงานศิลปะและรถยนต์โบราณ (Classic Cars) ครั้งที่ 1/2567 เพื่อช่วยยกระดับทุนทางวัฒนธรรมและส่งเสริมอุตสาหกรรมทัศนศิลป์ของประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจของไทยในภาพรวม

ทั้งนี้ มาตรการส่งเสริมงานศิลปะและรถยนต์โบราณ (Classic Cars) ที่เสนอโดยกระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 นั้น ประกอบด้วย 4 มาตรการ ดังต่อไปนี้

1. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการซื้องานศิลปะ เพื่อส่งเสริมตลาดการซื้อขายศิลปะ ซึ่งจะทำให้ศิลปินในประเทศไทยผลิตงานศิลปะเพิ่มมากขึ้น และส่งเสริมการจัดแสดงงานศิลปะในประเทศไทย อันจะทำให้การท่องเที่ยวขยายตัวมากขึ้น จึงเสนอให้ผู้มีเงินได้แต่ไปรวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล สามารถหักลดหย่อนค่าซื้องานศิลปะด้านจิตรกรรมหรือประติมากรรมในราชอาณาจักร ในลักษณะการยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้องานศิลปะดังกล่าวมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาทในปีภาษี สำหรับการซื้องานศิลปะตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569

2. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่ศิลปินในการสร้างงานศิลปะ และส่งเสริมงานศิลปะของศิลปินไทย จึงเห็นควรบรรเทาภาระภาษีให้แก่ศิลปินในประเทศไทย โดยเสนอให้ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากรที่เป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระประณีตศิลปกรรม สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 60 เป็นการถาวร โดยไม่กำหนดประเภทศิลปิน

3. มาตรการลดหรือยกเว้นอากรขาเข้างานศิลปะ เพื่อบรรเทาภาระต้นทุนในการผลิตงานศิลปะ และลดต้นทุนในการนำเข้างานศิลปะเพื่อนำมาจัดแสดงงานศิลปะระดับประเทศและระดับนานาชาติในประเทศไทย จึงเสนอให้มีการลดหรือยกเว้นอัตราอากรสำหรับงานศิลปะ รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะ

4. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมรถยนต์โบราณ (Classic Cars) เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจผ่านการสนับสนุนการจัดกิจกรรมสำหรับรถยนต์โบราณ เช่น การประกวดรถยนต์โบราณ การจัดแสดงนิทรรศการรถยนต์โบราณ การจัดขบวนคาราวานรถยนต์โบราณ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทย รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทยทุกระดับ นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตหรือบูรณะ (Restoration) รถยนต์โบราณในประเทศ เพื่อส่งเสริมภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศไทย จึงเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากสินค้ารถยนต์โบราณ (Classic Cars) และมีการยกเว้นอากรขาเข้าสินค้ารถยนต์โบราณเฉพาะรถยนต์นั่งเท่านั้น (ไม่รวมถึงรถจักรยานยนต์และรถอื่น ๆ)

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการศึกษารายละเอียด ผลประโยชน์ และผลกระทบ ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ การคลัง และสังคม รวมทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในแต่ละมาตรการอย่างรอบคอบ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

📌'รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง' ราคาเชื้อเพลิงพลังงานของไทยต้องเป็นธรรม 'SPR' คือ คำตอบสุดท้ายของ 'พีระพันธุ์' คนไทยจะได้อะไร❓️

ปัญหาเกี่ยวกับราคาพลังงานของบ้านเรานั้นมีมาต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปีมาแล้ว ทั้งอย่างสร้างผลกระทบอย่างสำคัญต่อชาติโดยรวมอย่างกว้างขวางในทุก ๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ สังคม การเมือง จนกระทั่งเรื่องของความมั่นคง ฯลฯ และปัญหาราคาพลังงานยิ่งส่งผลกระทบมากยิ่งขี้นเมื่อภาครัฐต้องเริ่มวางมือจากรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ลดลงทุนสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แล้วให้เอกชนเข้ามาทำหน้าที่แทน เพื่อนำงบประมาณไปใช้จ่ายในด้านอื่น ๆ แทน 

ทั้งยังมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานซึ่งเป็นองค์กรอิสระมาทำหน้าที่กำกับดูแลแทน และด้วยความฉ้อฉลของฝ่ายการเมืองที่ทำให้ ‘การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย’ รัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซของชาติแปรรูปจนกลายเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ จึงทำให้ต้องสูญเสียจุดยืนในการเป็นหน่วยงานด้านพลังงานของรัฐ 

โดยแทนที่จะดำเนินกิจการเพื่อเป็นบริการในลักษณะที่ช่วยเหลือประชาชนได้ แปรเปลี่ยนเป็นบริษัทเอกชนที่ให้ความสำคัญกับประโยชน์ขององค์กรอันได้แก่ผลกำไรเป็นตัวตั้งแรก ทำให้แนวคิดตลอดจนวิธีในการดำเนินการแปลกแยกไปจากวัตถุประสงค์แรกตั้งไปเป็นอย่างมาก

เรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้รัฐค่อย ๆ หมดอำนาจและบทบาทในการควบคุมราคาพลังงานไปเรื่อย ๆ มิหนำซ้ำรัฐมนตรีที่ดูแลรับผิดชอบด้านพลังงานส่วนใหญ่เป็นอดีตผู้บริหารของบริษัทพลัง ดังนั้นการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของไทยเกิดความเป็นธรรมแก่พี่น้องประชาชนคนไทยได้นั้นจึงเป็นความยากยิ่งและถูกปล่อยปละละเลยมาโดยตลอด 

เมื่อ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ อดีตผู้พิพากษา อดีต สส. 7 สมัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ มากำกับดูแลกระทรวงพลังงาน ภารกิจในการ 'รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง' เพื่อทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงพลังงานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยถูกต้อง เหมาะสม และเป็นธรรมจึงได้กำเนิดเกิดขึ้นเป็นนโยบายและนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน 

ด้วยมาตรการเข้ม 6 เดือนแรกเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทย 

1) พลังงานไฟฟ้า ได้ผลักดันให้มีการลดค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชนจนกระทั่งสามารถตรึงราคาค่าไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องไม่ให้สูงขึ้นตามที่มีการคาดการณ์เอาไว้ 

2) น้ำมันเชื้อเพลิง ได้ทำการช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้น้ำมันด้วยการใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกลไกทางภาษีด้วยความร่วมมือจากกระทรวงการคลัง และเร่งรัดในการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพลิงยุทธศาสตร์ (SPR : Strategic Petroleum Reserve) เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานและสร้างเสถียรภาพราคาเชื้อเพลิง ออกประกาศให้ผู้ค้าน้ำมันแจ้งข้อมูลต้นทุนน้ำมันทุก ๆ เดือนเพื่อป้องกันการค้ากำไรเกินควร 

3) ก๊าซ มีการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ (Pool gas) เพื่อให้ต้นทุนก๊าซธรรมชาติในภาพรวมลดลง และเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซ เร่งรัดติดตามการขุดเจาะและผลิตก๊าซจากอ่าวไทยเพื่อลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบผู้ใช้ NGV โดยเฉพาะกลุ่มรถแท็กซี่ กลุ่มรถโดยสาร และรถบรรทุก

นโยบายด้านพลังงานที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนที่ ‘พีระพันธุ์’ นำมาใช้เพื่อให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของไทยมีความถูกต้องและเป็นธรรมคือ 

(1) การประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567 ให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 ต้องรายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการบันทึกบัญชีรายวัน ทำให้หน่วยงานภาครัฐสามารถรับรู้ต้นทุนที่แท้จริงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งระบบ เพื่อเป็นข้อมูลในการกำกับดูแลราคาน้ำเชื้อเพลิงในประเทศ และช่วยให้กรมสรรพกรสามารถคำนวณภาษีจากข้อมูลที่แท้จริงและมีความเป็นปัจจุบันได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน 

(2) การจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพลิงยุทธศาสตร์ (SPR : Strategic Petroleum Reserve) นอกจากจะเกิดขึ้นเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานและสร้างเสถียรภาพราคาเชื้อเพลิงแล้ว และหาก SPR เกิดขึ้นจริงในไทยเราได้จริง รัฐจะเป็นผู้ถือครองน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองซึ่งมีเพียงพอใช้ในประเทศได้ถึง 90 วันเลยทีเดียว 

ในขณะที่ปัจจุบันทุกวันนี้เอกชนผู้ค้าน้ำมันเป็นผู้ถือครองน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองในปริมาณที่สามารถรองรับการใช้งานได้เพียง 25-36 วันเท่านั้นเอง ซ้ำร้ายหากเกิดเหตุฉุกเฉินที่ภาครัฐต้องการเข้าควบคุมเพื่อจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองจะทำไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจเว้นแต่จะใช้กฎหมายพิเศษบังคับ อาทิ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือกฎอัยการศึก 

น้ำมันเชื้อเพลิงสำรองใน SPR นั้นไม่ใช่การถือครองโดยภาครัฐล้าเก็บสำรองเอาไว้อย่างเดียว เพราะจะต้องมีการหมุนเวียน เข้าและออก มีการจำหน่ายถ่ายโอนให้โรงกลั่นและบริษัทที่จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงตลอดเวลาอีกด้วย 

ดังนั้น SPR ซึ่งเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองในการดูแลของรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานจะทำให้ภาครัฐมีอำนาจในการต่อรองและเพิ่มการถ่วงดุลให้กับระบบการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศอีกด้วย อันจะทำให้ภาครัฐสามารถรู้ต้นทุนที่แท้จริงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาในประเทศได้ตลอดเวลา จึงสามารถกำกับดูแลราคาจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่สะท้อนต้นทุน ณ เวลาที่ซื้อมาหรือจำหน่ายออกไปได้อย่างแท้จริง และจะเป็นประโยชน์อย่างมากมายต่อพี่น้องประชาชนคนไทยเป็นที่สุด

'พีระพันธุ์' เยือน!! Meet & Greet เซอร์ไพรส์ Thailand Morning Call ย้ำชัดการเมืองแบบ 'รวมไทยสร้างชาติ' ทำงานใต้ DNA แบบ 'ลุงตู่-พี่ตุ๋ย'

(10 มิ.ย. 67) จากรายการ 'Thailand Morning Call' ทางช่อง 'Nomad Media Thailand' ดำเนินรายการโดย คุณวารินทร์ สัจเดว ผู้ประกาศข่าวและนักจัดรายการชื่อดัง ร่วมกับ อาจารย์แพท-พัฒนพงศ์ แสงธรรม ได้พูดถึงความชัดเจนทางการเมืองของ 'พี่ตุ๋ย' นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ในช่วงหนึ่งของรายการ โดย อ.แพท ได้ระบุว่า...

สําหรับงานวันเสาร์ที่ผ่านมา (8 มิ.ย.67) กับงาน SING งาน Meet & Greet งานแรกในปีนี้ของ Thailand Morning Callsing จัดมาตั้งแต่คืนวันศุกร์ โดยมีสำนักข่าว THE STATES TIMES เป็นหนึ่งในมีเดียพาร์ตเนอร์นั้น ได้รับเกียรติจากบุคคลสำคัญที่แวะเวียนมาในงานนี้ด้วย นั่นก็คือ คุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ

งานนี้ถือว่าเป็นเซอร์ไพรส์จริง ๆ เพราะท่านให้เกียรติขึ้นพูดในงานครั้งนี้ด้วยในหลายประเด็น ซึ่งถ้าคนที่ติดตามการเมืองอย่างสม่ำเสมอ จะจําได้ว่าสิ่งที่คุณพีระพันธุ์ไม่ว่าจะที่ใด ไม่เคยเปลี่ยน และคำพูดที่มอบให้พวกเราฟังในงานนี้ ก็ยังตรงกับที่ท่านพูดมาโดยตลอด ตั้งแต่จุดเริ่มต้นในการตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ

อ.แพท เล่าว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ เกิดขึ้นในจังหวะที่อนหน้านี้นั้น พรรคที่ลุงตู่สังกัดอยู่คือ พรรคลุงป้อม แล้วมันก็มีข่าวระหองระแหงกันภายใน ขณะที่คุณพีระพันธ์เองก็ยึดมั่นในความคิดเสมอว่า "ไม่เชื่อในนักการเมือง" และพอได้เห็นการทำงานของลุงตู่ ก็ยอมรับในความเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ในการทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง และด้วยความรู้สึกที่ตรงกัน เราก็เลยได้เห็นการมาร่วมกันทำงานของบุคคลทั้ง 2 ท่านนั่นเอง 

อ.แพท เล่าถึงความรู้สึกที่คุณพีระพันธุ์มาเยี่ยมงาน Meet & Greet ในครั้งนี้อีกด้วยว่า ท่านพีบอกว่าคอยติดตามฟังรายการอยู่ ซึ่งเราก็รู้ดีว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในระดับนี้ ไม่มีการโอกาสที่จะมาได้ฟังเป็นประจําหรอกก็อาจจะฟังย้อนหลังบ้างหรือบางวันก็ไม่ได้ฟัง แต่แค่นี้ก็น่าภูมิใจแล้ว แล้วท่านก็ยังสละเวลามาพบกับพวกเราในงานนี้อีก 

แน่นอนว่า ท่านมักจะย้ำเสมอว่า ท่านไม่ใช่นักการเมือง แต่ด้วยตําแหน่งท่านก็คือหลีกเลี่ยงความเป็นนักการเมืองไม่ได้ แต่ไม่ว่าท่าจะอยู่ในบทบาทใด Nomad Media Thailand ก็มีความปลาบปลื้มอย่างมาก 

ช่วงท้าย อ.แพท เล่าติดตลกอีกว่า ผมขอเรียกท่านพีระพันธุ์ ว่า 'ลุงตุ๋ย' ได้ไหม ท่านก็บอกว่า เรียก 'พี่ตุ๋ย' ก็ได้

ก็เอาเป็นว่า ถ้าจากนี้บรรดา 'ด้อมพีระพันธุ์' จะเรียกท่านพีระพันธุ์ ก็เรียก 'พี่ตุ๋ย' กันได้เลยนะจ๊ะ…

 📌หากโลกเกิดวิกฤตด้านพลังงาน ‘SPR’ คือ คำตอบ ‘ความมั่นคงด้านน้ำมันเชื้อเพลิง’ ที่รองรับได้ถึง 90 วัน โดยไม่กระทบต่อคนไทย

นับตั้งแต่การถือกำเนิดเกิดขึ้นของ ‘The Benz Patent-Motorwagen’ รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมคันแรกของvโลกซึ่งออกแบบโดย Carl Friedrich Benz นักออกแบบเครื่องยนต์และวิศวกรยานยนต์ในปี 1886 ก็มีพัฒนาการ การออกแบบ และการผลิตรถยนต์ซึ่งใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมเพื่อการใช้งานในหลากหลายภารกิจมาโดยตลอดจนปัจจุบันเป็นปีที่ 139 แล้ว รถยนต์ถูกใช้งานอย่างมากมายในหลากหลายรูปแบบและครอบคลุมแทบทุกมิติจนกลายเป็นความจำเป็นกระทั่งทุกวันนี้จัดว่าเป็นปัจจัยที่ 5 ของมนุษยชาติไปแล้ว

ขนานกันไปกับการพัฒนา การออกแบบ และการผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมก็คือ การบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากจะใช้สำหรับภาคขนส่งทั้งบก-เรือ-อากาศแล้ว น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมยังถูกนำไปผลิตพลังงานอื่น ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานความร้อน ฯลฯ เมื่อปริมาณพลโลกเพิ่มขึ้น ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็มากขึ้น ย่อมทำให้การบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้นตามไปด้วย

ในยุคต้น ๆ ของการใช้งานรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียม พื้นที่ที่เป็นแหล่งน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมส่วนใหญ่จะเป็นดินแดนอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก อาทิ ตะวันออกกลาง การสัมปทานขุดเจาะและดูดน้ำมันเชื้อเพลิงออกมาบริโภคอยู่ภายใต้อำนาจและอิทธิพลของประเทศเจ้าอาณานิคม ราคาของน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมจึงค่อนข้างถูกเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของบรรดาประเทศเจ้าอาณานิคมและบริวารตลอดจนคู่ค้าของประเทศเหล่านั้นด้วย กระทั่งทศวรรษ 1950 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศเจ้าอาณานิคมถูกแรงกดดันมากมาย รวมทั้งการต่อต้านจากพลเมืองของดินแดนอาณานิคม จึงต้องทยอยให้เอกราชแก่อาณานิคมต่าง ๆ และค่อย ๆ หมดอำนาจและบทบาทในกิจการน้ำเชื้อเพลิง 

กระทั่งเกิดการรวมตัวของกลุ่มพันธมิตรประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อประสานงานและรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในตลาดโลกด้วยการก่อตั้ง องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (Organization of Petroleum Exporting Countries : OPEC) ขึ้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน 1960 ณ กรุงแบกแดด ประเทศอิรัก OPEC มีประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้ง ได้แก่ อิหร่าน, อิรัก, คูเวต, ซาอุดีอาระเบีย และเวเนซุเอลา ปัจจุบัน โอเปกมีสมาชิกเพิ่มอีก 8 ประเทศ คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไนจีเรีย แอลจีเรีย ลิเบีย กาบอง (ต่อมาถอนตัวในปี ค.ศ. 2008 แล้วกลับมาในปี ค.ศ. 2016) แองโกลา อิเควทอเรียลกินี และล่าสุดสาธารณรัฐคองโก รวมเป็น 13 ประเทศ  

การเกิดขึ้นของ OPEC ทำให้เกิดวิกฤติน้ำมันขึ้นหลายครั้ง ในแต่ละครั้งส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ การเงิน และการคลังของประเทศต่าง ๆ อย่างมหาศาล วิกฤตน้ำมัน (Oil Shock หรือ Oil crisis) เป็นการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันอย่างมากจนเป็นสาเหตุให้เศรษฐกิจโลกถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้น้ำมันนับเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมวลรวม แต่เป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปและใช้เวลาในการเกิดใหม่ยากมาก ปัจจุบันมีความต้องการใช้น้ำมันมากขึ้นขณะที่ความสามารถในการผลิตกลับยังคงเท่าเดิมจึงทำให้เกิดภาวะวิกฤตได้ วิกฤตน้ำมันไม่ได้เพียงแต่เกิดจากความไม่สมดุลของความต้องการในการใช้น้ำมันกับปริมาณน้ำมันที่มีอย่างจำกัดเพียงอย่างเดียว ยังมีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของวิกฤตอีกด้วย

วิกฤตน้ำมันครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในปี 1973 ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกเริ่มขยายตัว วิกฤตน้ำมันในปี 1973 เกิดขึ้นพร้อมกับสงครามตะวันออกกลางครั้งที่ 4 อียิปต์และพันธมิตรร่วมมือกันเพื่อจะยึดคาบสมุทรซีนายและที่ราบสูงโกลันของอิสราเอล แต่ประเทศตะวันตกที่นำโดยสหรัฐอเมริกานั้นสนับสนุนอิสราเอล ทำให้องค์กรส่งออกน้ำมันแห่งชาติอาหรับ (ไม่ใช่ OPEC) จึงตัดสินใจใช้มาตรการห้ามส่งน้ำมัน ประเทศที่ถูกกำหนดเป็นเป้าหมายไม่ส่งน้ำมันดิบให้ในขั้นต้น ได้แก่ แคนาดา ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ต่อมาได้ขยายการห้ามส่งไปยังโปรตุเกส โรดีเซีย และแอฟริกาใต้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบที่นำเข้ามาในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 3 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรลเป็น 12 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล หลังจากที่มีการห้ามส่งน้ำมัน วิกฤติดังกล่าวยังทำให้สหรัฐฯ เริ่มให้ความสนใจกับปัญหาอุปทานน้ำมันส่วนใหญ่ หลังจากที่ปรากฏว่าประเทศอื่น ๆ สามารถระงับสินค้าสำคัญที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ  

วิกฤตน้ำมันครั้งที่ 2 ในปี 1979 เกิดขึ้นจากการปฏิวัติของอิหร่าน ซึ่งทำให้โคมัยนีกลายเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศหลังจากโค่นล้มระบอบกษัตริย์ราชวงศ์ปาห์ลาวี โคมัยนีได้เปลี่ยนรูปแบบการปกครองให้เป็นสาธารณรัฐอิสลามหลังขึ้นเป็นผู้นำสูงสุด การปฏิวัติอิหร่านมีความคล้ายคลึงอย่างมากกับการปฏิวัติของจีนในปี 1911 ที่โค่นล้มราชวงศ์ชิงซึ่งสิ้นสุดการปกครองของจักรพรรดิและสถาปนาสาธารณรัฐจีนขึ้นหลังจากการโค่นล้มสถาบันกษัตริย์ ดังนั้น การปฏิวัติจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ของอิหร่าน ในช่วงการปฏิวัติอิหร่าน การผลิตและการส่งออกน้ำมันของประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดช่องว่างอุปทานน้ำมัน 500,000 บาร์เรลต่อวันในตลาดน้ำมันดิบระหว่างประเทศ ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 32-34 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

วิกฤตน้ำมันครั้งที่ 3 ในปี 1990 อิรักยกกำลังบุกเข้ายึดคูเวต ซึ่งกินเวลาเพียงเก้าเดือน ราคาที่พุ่งสูงขึ้นมีความรุนแรงน้อยลงและมีระยะเวลาสั้นกว่าวิกฤตน้ำมัน 2 ครั้งก่อนร แต่ยังคงส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เมื่อกองกำลังพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯประสบความสำเร็จทางทหารในการสู้รบกับกองกำลังอิรัก ความกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนอุปทานในระยะยาวก็ผ่อนคลายลง และราคาก็เริ่มลดลง

แน่นอนว่าทุกครั้งที่เกิดวิกฤตน้ำมันประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ประเทศอุตสาหกรรมผู้บริโภคน้ำมัน รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่ไม่มีทรัพยากรน้ำมันเอง และต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ เกิดเป็น ‘สภาวะข้าวยากหมากแพง’ (Adverse Supply Shock) แต่ในประเทศที่ภาครัฐมีการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR : Strategic Petroleum Reserve) อย่างเต็มที่จะมีปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองเพียงพอต่อการใช้งานได้ถึง 90 วัน ประเทศเหล่านั้นจึงไม่ต้องเป็นกังวลถึงวิกฤตน้ำมันในช่วง 90 วัน ทำให้มีเวลาแก้ไขปัญหาและสามารถเตรียมการรองรับผลกระทบวิกฤตน้ำมันในระดับโลกได้นานถึง 90 วัน 

ในขณะที่ปัจจุบันนี้ไทยมีปริมาณน้ำมันสำรองที่เอกชนจัดเก็บเพียงพอต่อการบริโภค 25-36 วัน นั่นหมายความว่า หากปัญหาวิกฤตน้ำมันในประเทศไม่สามารถแก้ไขได้แล้วเสร็จภายในเวลา 1 เดือน ย่อมจะเกิดผลกระทบที่จะสร้างความเสียหายอันใหญ่หลวงต่อประเทศในภาพรวม ไม่ว่าในด้าน เศรษฐกิจ สังคม การเมือง การเงิน และการคลัง ฯลฯ อย่างแน่นอน ดังนั้นนโยบายการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) ของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะต้องเกิดขึ้นและดำเนินการให้สำเร็จโดยรวดเร็วที่สุดเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานอย่างสูงสุดอันจะเป็นหลักประกันที่สำคัญของความมั่นคงของชาติในทุก ๆ มิติได้ตลอดไป

🔎ส่อง ‘อเมริกา’ ประเทศมหาอำนาจที่มีการสำรอง SPR มากที่สุดในโลก✨

หลังวิกฤตพลังงานในปี 1973 โดยองค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ซึ่งได้ดำเนินการตอบโต้การที่สหรัฐฯ สนับสนุนอิสราเอลในช่วงสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งที่ 4 ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องเริ่มการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) ในปี 1975 เพื่อบรรเทาปัญหาการหยุดชะงักของอุปทานในอนาคต โดยเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยโครงการพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Program : IEP) 

หลังจากที่อุปทานน้ำมันต้องหยุดชะงักระหว่างวิกฤตน้ำมันดังกล่าวระหว่างปี 1973 -1974 สหรัฐอเมริกาได้ลงนามในข้อตกลง IEP เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 1974 และเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ในฐานะผู้ร่วมลงนามใน IEP พันธสัญญาสำคัญประการหนึ่งที่ทำโดยผู้ลงนามในข้อตกลง IEP ดังกล่าวคือต้องมีการเก็บรักษาปริมาณน้ำมันสำรองไว้ไม่น้อยกว่า 90 วันของปริมาณการนำเข้าน้ำมันสุทธิ

ปริมาณสำรองจะถูกกำหนดตามเงื่อนไขที่เขียนไว้ในรัฐนโยบายและการอนุรักษ์พลังงาน (Energy Policy and Conservation Act : EPCA) ปี 1975 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นตอบสนองต่อการหยุดชะงักของอุปทานอย่างรุนแรงในอัตราการสูงสุด 4.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน น้ำมันเชื้อเพลิงสำรองสามารถเข้าสู่ตลาดได้ภายใน 13 วันหลังจากคำสั่งประธานาธิบดี โดยกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ได้ระบุว่ามีการสำรองปริมาณเชื้อเพลิงนำเข้าประมาณ 59 วันใน SPR เมื่อรวมกับการจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงคงคลังของเอกชน ประมาณการณ์ว่าน่าจะเทียบเท่ากับการนำเข้า 115 วัน

Gerald Ford ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นได้ลงนามประกาศใช้รัฐบัญญัติ EPCA เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 1975 ด้วยรัฐบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดให้สหรัฐอเมริกาสามารถสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) ได้มากถึง 1 พันล้านบาร์เรล โดยมีการซื้อคลังน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีอยู่จำนวนหนึ่งในปี 1977 เริ่มการก่อสร้างคลังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองบนดินแห่งแรกในเดือนมิถุนายน 1977 และวันที่ 21 กรกฎาคม 1977 น้ำมันดิบประมาณ 412,000 บาร์เรล จากซาอุดีอาระเบียถูกส่งไปยังไปยังคลังเก็บ SPR เป็นครั้งแรก

สำนักงานบริหาร SPR ตั้งอยู่ในเขตเอล์มวูด ชานเมืองนิวออร์ลีนส์ มลรัฐลุยเซียนา โดยคลัง SPR ของสหรัฐฯ ประกอบด้วย คลังใต้ดิน 4 แห่งใกล้ ๆ อ่าวเม็กซิโก คลังใต้ดินมีความลึกราว 600-1,000 เมตรใต้พื้นดิน แต่ละแห่งตั้งอยู่ใกล้ศูนย์กลางสำคัญของการกลั่นและแปรรูปปิโตรเคมี แต่ละคลังสามารถเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองได้ระหว่าง 6 ถึง 37 ล้านบาร์เรล 

กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ อ้างว่า การเก็บน้ำมันไว้ใต้พื้นผิวนั้นคุ้มค่ากว่าบนดินประมาณสิบเท่า โดยมีข้อดีเพิ่มเติมคือไม่มีการรั่วไหลและการหมุนเวียนของน้ำมันตามธรรมชาติอย่างต่อเนื่องเนื่องจากการไล่ระดับของอุณหภูมิในถ้ำ คลังน้ำมันใต้ดิน SPR ได้แก่ 

(1) ไบรอัน เมานด์ เมืองฟรีพอร์ต มลรัฐเท็กซัส ขนาดความจุ 254 ล้านบาร์เรล (คลังใต้ดินย่อย 18 คลัง) สามารถจ่ายน้ำมันได้วันละ 1.5 ล้านบาร์เรล 

(2) บิ๊กฮิลล์ เมืองวินนี่ มลรัฐเท็กซัส จัดเก็บได้ 160 ล้านบาร์เรล (14 คลังย่อย) สามารถจ่ายน้ำมันได้วันละ 1.1 ล้านบาร์เรล 

(3) เวสต์แฮกเบอรี่ ทะเลสาบชาร์ลส์ มลรัฐลุยเซียนา มีความจุ 227 ล้านบาร์เรล (22 คลังย่อย) สามารถจ่ายน้ำมันได้วันละ 1.3 ล้านบาร์เรล 

และ (4) บายู ชอกทาว เมืองแบตันรูช มลรัฐลุยเซียนา ขนาดความจุ 76 ล้านบาร์เรล (6 คลังย่อย) สามารถจ่ายน้ำมันได้วันละ 550,000 บาร์เรล 

ประธานาธิบดีและสภา Congress ต่างมีอำนาจควบคุม SPR โดยประธานาธิบดีจะเป็นผู้สั่งการในการจ่ายออกน้ำมันสำรองจาก SPR และสภา Congress มีอำนาจอนุมัติในการเติมปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองใน SPR ประธานาธิบดีสามารถอนุมัติการจ่ายออกน้ำมันสำรองจาก SPR ได้อย่างอิสระเพื่อตอบสนองต่อ ‘การหยุดชะงักของการจัดหาพลังงานอย่างร้ายแรง’ หรือหากสหรัฐอเมริกาได้รับมอบหมายจาก  โครงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEP) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือระหว่างสมาชิกขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ตัวอย่างเช่น ในปี 2011 ประเทศสมาชิกของ IEA ร่วมกันปล่อยน้ำมันจำนวน 60 ล้านบาร์เรลเพื่อตอบสนองต่อปัญหาการขาดแคลนอันเป็นผลมาจากสงครามกลางเมืองในลิเบีย 

สำหรับการตอบสนองต่อการหยุดชะงักของการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงในปริมาณไม่มากนัก ด้วยอำนาจของประธานาธิบดีสามารถสั่งจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองจาก SPR ได้ไม่เกิน 30 ล้านบาร์เรลโดยไม่ต้องประกาศการเบิกใช้ฉุกเฉิน และกระทรวงพลังงานจะทำการประมูลจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองดังกล่าวให้กับผู้เสนอราคาสูงสุดจากบรรดาบริษัทที่ได้จดทะเบียนไว้กับ SPR

รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ มีหน้าที่รับผิดชอบในการซื้อน้ำมันเพื่อเติม SPR แต่ต้องให้สภา Congress อนุมัติเพื่อดำเนินการดังกล่าว ตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดี Donald Trump ได้สั่งให้เพิ่มปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองให้เต็มขีดความสามารถในการจัดเก็บเพื่อช่วยผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ที่ประสบปัญหาในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ของ COVID-19 แต่สภา Congress กลับไม่อนุมัติการซื้อ 

นอกจากนั้นแล้วกระทรวงพลังงานยังเป็นผู้นำในข้อตกลงแลกเปลี่ยนหรือกู้ยืมน้ำมันระยะสั้นที่ชำระคืนพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งจะช่วยในการเพิ่มขนาดของ SPR นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ประธานาธิบดีและสภา Congress ได้ออกคำสั่งขายน้ำมันจากแหล่งสำรองเป็นครั้งคราวเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้มาแล้ว 30 ครั้ง นับตั้งแต่การจัดตั้ง SPR อาทิ การขาย 5 รายการเป็นการเบิกจ่ายฉุกเฉินในปี 1991 ระหว่างสงครามอ่าวเปอร์เซีย, ในปี 2005 เพื่อนำรายได้มาจัดการวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นจากพายุเฮอริเคนแคทรีนาง ในปี 2011 ระหว่างความขัดแย้งในลิเบีย และ 2 ครั้งในปี 2022 เพื่อตอบโต้การรุกรานยูเครนของรัสเซีย 

ปริมาณความจุสูงสุดเต็มที่ของคลัง SPR ทั้งหมดของสหรัฐฯ อยู่ที่ 727 ล้านบาร์เรล ปัจจุบันปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรอง SPR ของสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 367 ล้านบาร์เรล ซึ่งปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรอง SPR ของสหรัฐฯ เมื่อลดลงเหลือน้อยกว่า 400 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบสี่ทศวรรษ ส่งผลต่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกสูงขึ้น หากปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรอง SPR ของสหรัฐฯ มากกว่า 400 ล้านบาร์เรล จะถือว่าอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกมีเสถียรภาพตามไปด้วยทั้งยังเป็นสัญญาณของแนวโน้มของราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า สหรัฐฯ ซึ่งเป็นทั้งประเทศผู้ผลิตน้ำมันและบริโภคน้ำมันอันดับหนึ่งของโลกให้ความสำคัญต่อ SPR เป็นอย่างมาก เพราะ SPR นอกจากจะเป็นหลักประกันที่สำคัญที่สุดในด้านความมั่นคงทางพลังงานซึ่งแน่นอนย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงโดยรวมของประเทศด้วย ดังนั้นเพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงของพี่น้องประชาชนคนไทย จึงต้องจัดการให้ SPR ของไทยเกิดขึ้นและประสบความสำเร็จโดยเร็วด่วนที่สุด ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) ของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 

ขณะนี้มีข้อมูลว่า บรรดาผู้ที่เสียผลประโยชน์จากการที่ประเทศไทยจะมี SPR ได้พยายามคัดค้านต่อต้านนโยบายดังกล่าว โดยใช้สื่อที่ไร้จรรยาบรรณทั้งยังเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวมได้ให้ร้ายรองฯ พีระพันธุ์ต่าง ๆ นานา ด้วยหวังให้รองฯ พีระพันธุ์ต้องพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งจะทำให้มาตรการและนโยบายของรองฯ พีระพันธุ์ที่จะทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยที่ต้องบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงได้รับประโยชน์สูงสุดทั้งจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สะท้อนความถูกต้องและเป็นจริงทั้งเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของไทยไม่ประสบความสำเร็จ พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนจึงต้องช่วยกันติดตาม เฝ้าดู และเป็นกำลังใจให้รองฯ พีระพันธุ์ได้ทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ

‘พีระพันธุ์’ ดึง ‘ฉางอาน’ ถ่ายทอดความรู้ 'ยานยนต์-พลังงานยุคใหม่' เสริมแกร่ง 'วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ-ผู้ประกอบการผลิตอะไหล่ไทย'

‘พีระพันธุ์’ ดึง ‘ฉางอาน’ ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านยานยนต์ยุคใหม่  หนุนวิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ  เสริมสร้างทักษะแรงงานไทยสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน พร้อมดันไทยเป็น EV Hub ของอาเซียน 

เมื่อไม่นานมานี้ นายเซิน ซิงหัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซาท์อีสเอเชีย จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า CHANGAN (ฉางอาน) ได้เข้าพบ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านยานยนต์ยุคใหม่ เพื่อสนับสนุนวิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ ของกระทรวงพลังงาน รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังกลุ่มผู้ประกอบการผลิตอะไหล่รถยนต์ภายในประเทศ และการจัดหาพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานในอนาคต

นายเซิน ซิงหัว กล่าวว่า "ความมุ่งมั่นของเราที่มีต่อประเทศไทยไม่เพียงแค่การผลิต และการดำเนินธุรกิจเท่านั้น แต่เรายังทุ่มเทในการมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี และการศึกษาของภาคยานยนต์พลังงานใหม่ในประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งเรามุ่งหวังที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตยานยนต์ที่ยั่งยืนของประเทศ และเสริมสร้างทักษะแรงงานในท้องถิ่นให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงนี้"

ทั้งนี้ ทาง CHANGAN ตั้งเป้าหมายให้ Local Content หรือวัตถุดิบในประเทศของรถยนต์ไฟฟ้า CHANGAN มีสัดส่วนอยู่ที่ 40% และเพิ่มเป็น 80% ภายในปีพ.ศ. 2570 ซึ่งจะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น EV Hub อาเซียนในอนาคตอันใกล้นี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top