Monday, 20 May 2024
พีระพันธุ์_สาลีรัฐวิภาค

'พีระพันธุ์' เชิญ 'ก้าวไกล' สนทนาแก้ปัญหาด้านพลังงานหลากมุม ปลุกบรรยากาศการเมือง 'สร้างสรรค์-รับฟัง' เพื่อประโยชน์คนไทย

ร่วมเดือนกว่าๆ หลังได้รัฐบาลใหม่ ประเด็นการเมืองไทย ยังมีเรื่องระอุให้ติดตามไม่เว้นวัน ทั้งนโยบายหลายก๊อกที่ยังรอคำตอบเคาะ เพื่อฝ่าคำค้าน นักวิชาการ และกระแสดรามาการเมืองที่ซัดเท...

ทว่า ควันหลงการเมืองไทยใต้หมอกแห่งความจัดแย้ง ก็ยังมีการเมืองในเชิงสร้างสรรค์ ให้เห็นอยู่บ้าง .
โดยในช่วงปลายเดือนก่อน (22 ก.ย.66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ทำหนังสือด่วน เพื่อเชิญ นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เข้าหารือที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 26 ก.ย.ช่วงบ่าย เหตุจากวันที่ 21 ก.ย. นายศุภโชติได้ยื่นกระทู้สดด้วยวาจาถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สภา เกี่ยวกับปัญหาพลังงาน แล้ววันนั้นนายพีระพันธุ์ไม่ได้เข้าร่วมประชุมสภา เนื่องจากติดภารกิจที่จังหวัดชุมพร

บรรยากาศแบบนี้ มิค่อยได้เกิดขี้นบ่อยครั้งในจังหวะอุณหภูมิการเมืองระอุ โดยเฉพาะกับคนการเมืองที่อยู่ต่างขั้วต่างพรรคกันที่จะได้มานั่งประจันหน้ากันเพื่อคุยและถกแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน

การประชุมในวันนั้น นายพีระพันธุ์ ได้ให้เกียรติ สส.ก้าวไกล ด้วยการเชิญผู้เกี่ยวข้องกับการลดราคาพลังงานของกระทรวงพลังงานมาหารือ ประกอบด้วย นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน, นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน, น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน และ นางพัทธ์ธีรา สายประทุมทิพย์ รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน

ขณะเดียวกัน ก็ได้เชิญ นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และนายเดชรัตน์ สุขกำเนิด ผอ.ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต พรรคก้าวไกล มาร่วมหารือในครั้งนี้ด้วย

ในห้องประชุม นายศุภโชคและคณะ ได้สอบถามถึงความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายของกระทรวงพลังงาน ทั้งกรณีที่รัฐบาลลดราคาไฟฟ้าลงเหลือหน่วยละ 3.99 บาท รวมถึงแสดงความเป็นห่วงเรื่องภาระระยะยาวหลังการยืดหนี้ของ กฟผ.ออกไปจนกลายเป็นภาระของประชาชน

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และส่วนหนึ่งที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยขอให้รัฐบาลพิจารณาให้กลุ่มปิโตรเคมีที่ได้ประโยชน์จากราคาก๊าซในอ่าวไทย แต่ประชาชนกลับต้องรับภาระต้นทุนก๊าซจากต่างประเทศในการผลิตไฟฟ้า เปลี่ยนมาเฉลี่ยต้นทุนจากแหล่งก๊าซธรรมชาติทั้ง 2 แห่ง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และประเด็นเรื่องแผน PDP ที่ขอให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้นักวิชาการภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย

หลังได้รับฟังข้อเสนอจากฝั่งก้าวไกล นายพีระพันธุ์ กล่าวกับนายศุภโชคและคณะในวันนั้นว่า หลังจากตนเข้ารับตำแหน่ง รมว.พลังงาน ก็ได้มอบนโยบายจากมุมมองที่ว่า พลังงานไม่ใช่เรื่องธุรกิจ แต่ให้มองเป็นเรื่องของความมั่นคงเรื่องความเป็นอยู่ของประชาชน และเป็นความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ดังนั้นจึงต้องหาความสมดุลและความเหมาะสมของทั้งสองฝ่าย

ฉะนั้น ประเด็นที่เป็นห่วงเรื่องปัญหาค่าไฟในระยะยาว รัฐบาลก็จะไม่ได้หยุดแค่การลดราคาไฟฟ้าราคานี้เท่านั้น แต่เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนในระยะสั้น จึงต้องรีบทำก่อน โดยส่วนที่สามารถลดราคามาได้เป็นเพราะขอยืดหนี้จาก กฟผ.ออกไปและส่วนของต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ลดลง จึงทำให้สามารถลดราคาค่าไฟให้ประชาชนลงได้อีก

รมว.พลังงาน ยังกล่าวอีกว่า กรณีของราคาก๊าซธรรมชาติที่ประเทศไทยนำมาใช้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งมี 2 ส่วนคือนำเข้าจากต่างประเทศและส่วนได้มาจากอ่าวไทยเป็นนโยบายที่ตนได้นำเสนอมาก่อนหน้านี้ และทางคณะของพรรคก้าวไกลก็เห็นด้วย โดยเสนอว่าให้นำมาเฉลี่ยต้นทุนเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ราคาค่าไฟที่เป็นธรรม แทนที่จะนำไปขายให้กลุ่มปิโตรเคมีในราคาถูกซึ่งจะได้ดำเนินการต่อไป

เมื่อกล่าวถึง แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ PDP ที่ทางคณะพรรคก้าวไกลเสนอให้นักวิชาการภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงประเด็นการศึกษากำลังไฟฟ้าสำรองที่จะเกิดในอนาคต ตนจะรับโจทย์ดังกล่าวไปศึกษาจัดทำเป็นนโยบายต่อไป

รมว.พลังงาน ย้ำอีกด้วยว่า ยังมีกฎหมายเดิมด้านพลังงานอีกหลายเรื่องต้องได้รับการแก้ไข เพราะกฎหมายหมายฉบับดำเนินการมาในอดีต แต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป จึงเห็นว่าต้องรื้อตรวจสอบแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่ออำนวยต่อการจัดหาพลังงานให้กับประเทศ และให้ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อไป

ภายหลังจากการประชุมกับ รมว.พลังงาน ด้าน นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก็ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมว่า ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี พร้อมทั้งยอมรับว่า นายพีระพันธุ์รับฟังปัญหาของประชาชน ที่ฝากผ่านตนมาทั้งเรื่องราคาค่าไฟระยะยาว, มาตรการรองรับ, การปรับโครงสร้างราคาใหม่, การจัดทำแผน PDP ที่โปร่งใส

"รมว.พลังงาน รับที่จะนำข้อเสนอของพรรคก้าวไกล ไปพิจารณา ทั้งเรื่องค่าไฟ ราคาน้ำมัน หรือปัญหาด้านพลังงานอื่นๆ ที่จะต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ และอธิบายให้เข้าใจ ถือว่าเป็นการประชุมที่บรรยากาศเป็นไปด้วยดี" นายศุภโชติ กล่าว

ก็หวังว่า จากเหตุการณ์นี้ จะทำให้มิติการเมืองไทยยุคใหม่ เดินหน้าด้วยการร่วมกันทำงานอย่างสร้างสรรค์ในทุกๆ ฝ่าย และในทุกๆ กระทรวง ดั่งกรณีของกระทรวงพลังงานที่พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะด้วยความจริงใจ เพราะเป้าหมายสุดท้าย คือ ประโยชน์ของประชาชน ที่เชื่อว่าทุกภาคส่วนย่อมอยากให้เกิดผลลัพธ์อันดีต่อประเทศ...

'พีระพันธุ์' ขีดเส้นอีก 2 สัปดาห์ ราคาเบนซินต้องได้ข้อยุติ ลั่น!! ต้องลงอีกลิตรละ 2.50 บาท เป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทย

(16 ต.ค. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า กระทรวงพลังงาน เตรียมกลับไปพิจารณาแนวทางการปรับลดราคาค่าน้ำมันเบนซิน เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชน เบื้องต้นจะทำให้เทียบเคียงกับการลดราคาน้ำมันดีเซลในช่วงที่ผ่านมา เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน สำหรับการประชุม ครม. ครั้งนี้ กระทรวงพลังงานรายงานรายละเอียดมาแล้วเบื้องต้น 2 ทางเลือก และได้นำมารายงานให้กับที่ประชุม ครม. รับทราบแล้ว แต่ยังไม่โดนและครอบคลุมการช่วยเหลือตามที่รัฐบาลตั้งใจไว้ 

โดยทางเลือกแรก คือ การช่วยเหลือกลุ่มผู้ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เหมือนที่ทำมาก่อนหน้านี้ โดยใช้เงินเดือนละ 95 ล้านบาท 

ส่วนทางเลือกที่ 2 คือ การช่วยเหลือขยายจากผู้ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เพิ่มไปยังกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยใช้เงินเดือนละ 4,000 ล้านบาท

“กระทรวงพลังงานได้มารายงานข้อเสนอ 2 มาตรการเมื่อเช้า ก็ไม่ค่อยเห็นด้วยเพราะนโยบายของรัฐบาลต้องลดราคาน้ำมันในภาพรวมไม่ใช่ช่วยเหลือเป็นกลุ่ม ๆ จึงได้บอกให้เจ้าหน้าที่กลับไปทำรายละเอียดโดยให้เพิ่มทางเลือกที่ 3 คือลดราคาน้ำมันเบนซินในภาพรวมแบบน้ำมันดีเซล ซึ่งจะนำมาเสนอ ครม. ต่อไป” นายพีระพันธุ์ กล่าว

รมว.พลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน ได้นำเรื่องนี้รายงานในที่ประชุมครม.รับทราบแล้วว่าวันนี้มีการรายงานความคืบหน้าว่ามี 2 ทาง ซึ่งส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะไม่เป็นไปตามนโยบายที่เคยประกาศไปก่อนหน้านี้ว่าจะลดราคาเบนซินให้ได้ราคาต่ำสุดของน้ำมันเบนซิน ส่วนภาระค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลจะเข้าไปสนับสนุนมากแค่ไหน รัฐบาลจะตัดสินใจอีกครั้ง แต่ตอนนี้ขอให้เสนอมา โดยเมื่อเสนอ ครม. แล้ว ครม.ก็เห็นด้วยว่าเอาแนวทางเลือกที่ 3 คือ ลดราคาน้ำมันเบนซินทั้งระบบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป้าหมายที่จะลดราคาน้ำมันเบนซิน จะทำได้แค่ไหน นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า เป้าหมายตั้งใจว่าลดให้ไม่น้อยกว่าดีเซล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องหารือกับกระทรวงการคลังอีกครั้ง เช่น ลดลงประมาณ 2.50 บาทต่อลิตร เป็นต้น แต่ตัวเลขชัด ๆ คงต้องไปหารือก่อนว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงวิธีการดำเนินการด้วยว่า จะใช้กลไกไหน ทั้ง การใช้กลไกของการลดภาษีสรรพสามิต หรือ ใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในรายละเอียดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไปศึกษารายละเอียดอีกครั้ง โดยเอาเป้าหมายตามหลักการและนโยบายของรัฐบาลไปทำงาน ส่วนวิธีการจะให้ผู้เกี่ยวข้องไปดูอีกที และจะทำให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์ เช่นเดียวกับวงเงินของการทำเรื่องนี้ ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ และขอให้ไปศึกษารายละเอียดอีกว่าทำอย่างไร

รมว.พลังงาน กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเห็นว่ามีปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างน้ำมันเบนซินหลายอย่าง ทั้งเรื่องระเบียบ กฎหมายต่าง ๆ และควรต้องปรับใหม่ ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องค่าการตลาดนั้น ล่าสุดได้ตั้งคณะกรรมการมาศึกษาโครงสร้างค่าการตลาดน้ำมันขึ้นมาหนึ่งชุด เพื่อไปรายละเอียดทั้งหมด หากเอกชนไม่ให้ความร่วมมือก็ต้องยึดของทางราชการเป็นหลัก 

ทั้งนี้ รัฐบาลกำลังตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องค่าการตลาดอย่างเป็นทางการ เพราะคุยไปก็ไม่มีประโยชน์ และที่ผ่านมาก็แจ้งว่าเป็นความลับทางการค้า เมื่อเป็นอย่างนั้นจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาอย่างจริงจัง เอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้คำตอบเลย และถือข้อมูลของเราเป็นทางการ เมื่อให้โอกาสมาชี้แจงทำความเข้าใจเอาตัวเลขมา แล้วไม่มา เมื่อไม่มาก็ช่วยไม่ได้ และคณะกรรมการชุดนี้จะประชุมนัดแรก 18 ตุลาคม นี้ และจะสรุปให้ได้ใน 60 - 90 วัน

5 นโยบายเร่งด่วนรัฐ เรื่องไหนกระตุ้น ศก. เรื่องไหนกระตุ้นความกังวล ‘แก้รธน.-ส่งเสริมท่องเที่ยว-แก้หนี้-ลดราคาพลังงาน-แจกเงินดิจิทัล’

คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา วันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา สรุป 5 ประเด็นสำคัญ ที่ประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วน

1.เติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

2.แก้ปัญหาหนี้สิน เช่น พักหนี้เกษตรกร ช่วยประคองหนี้สิน ลดต้นทุนทางการเงิน

3.ลดภาระค่าใช้จ่ายราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าน้ำมัน

4.สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ตั้งเป้าอำนวยความสะดวก ปรับปรุงขั้นตอนขอ-เก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า ปรับปรุงระบบคมนาคม

5.หารือแนวทางนำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ให้คนไทยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และไม่แก้ในหมวดพระมหากษัตริย์

จากวันที่แถลงนโยบาย มาจนถึงปัจจุบัน  นโยบายที่เห็นเป็นรูปธรรม ลำดับแรก คงเป็น นโยบายที่ 3 คือ การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน อันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจ ซึ่งมีการปรับลดค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เริ่มจากน้ำมันดีเซล ให้ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร และ ลดน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ลง 2.50 บาทต่อลิตร จากโครงสร้างราคาเดิม เป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่ง ครม. ก็ได้ให้ไฟเขียวในการประชุมไปเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมา รวมทั้งปรับลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.99 บาท/หน่วย มีผลตั้งแต่รอบบิลเดือนกันยายน 2566 จนถึงรอบบิลเดือนธันวาคม 2566

นอกจากนี้ รัฐบาลจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ โดยวางแผนความต้องการและสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการผลิต และการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เร่งเจรจาการใช้พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียง และสำรวจแหล่งพลังงานเพิ่มเติม รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ภายใต้กลไกตลาด เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะมีความมั่นคงทางพลังงานที่จะขับเคลื่อนประเทศต่อไป

นโยบายเร่งด่วนถัดมา ที่เริ่มดำเนินการ คือ นโยบายที่ 2 การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน รัฐบาลจะลดภาระพี่น้องเกษตรกรด้วยการพักหนี้เกษตรกรตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม รวมถึงมาตรการช่วยประคองภาระหนี้สินและต้นทุนทางการเงินสำหรับภาคประชาชนที่ครอบคลุม ถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ได้มีโอกาสในการฟื้นตัวและกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง ซึ่งในส่วนการพักชำระหนี้เกษตรกร ระยะเวลา 3 ปี เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ เมื่อ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่าน BAAC Mobile ของ ธ.ก.ส. มากกว่า 2.5 แสนราย

นโยบายอีกด้านที่ลงมือดำเนินการแล้ว คือ นโยบายที่ 4 ผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น และสร้างงานให้กับประชาชน ซึ่งภาคเอกชน ร่วมกันขานรับ ทั้งมาตรการการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า และมาตรการยกเลิกการออกวีซ่าประเทศเป้าหมายชั่วคราว ซึ่งคาดการณ์ว่าจะกระตุ้นยอดนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าพื้นที่ท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 30-40% โดยเริ่มใช้นโยบายวีซ่าฟรีกับกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน ตั้งแต่ 25 ก.ย. 2566-29 ก.พ. 2567 รวมระยะเวลา 5 เดือน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

จากนโยบาย ทั้ง 3 ที่ 'ลด แลก แถม' ในแพ็กเก็จต่างๆ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หลัง Covid-19 ให้ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง กระทบฐานะทางการคลังของประเทศไม่มากนัก และส่งเสริมให้ภาครัฐ สามารถจัดเก็บภาษีกลับคืนได้พอสมควร 

แต่ที่ประเด็นใหญ่ ที่ยังหาช่องทางดำเนินการไม่ได้ คงไม่พ้น นโยบาย 'แจก' เงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่นักเศรษฐศาสตร์ของไทยเกือบ 100 คน ลงชื่อคัดค้านไม่เห็นด้วยในการดำเนินการ เนื่องจากจะกระทบกับเสถียรภาพทางด้านการคลังเป็นอย่างมาก โดยมี 2 อดีต ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมคัดค้านในนโยบาย ที่จะ 'ได้ไม่คุ้มเสีย' ฟากรัฐบาลก็ยังไม่มีทีท่าจะยกเลิก โดยพยายามหาแนวทางในการดำเนินการ และจุดสำคัญ คือ จะจัดหาเงินงบประมาณ 560,000 ล้านบาท มาจากที่ไหน อย่างไร เพื่อมาแจกให้กับประชาชน

สำหรับอีก 1 นโยบายเร่งด่วนที่แถลงต่อรัฐสภา คือ การแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แน่นอนว่า ประเด็นนี้ ไม่ช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นเพียงการแก้ไข ที่จะเปิดช่อง กำหนดกติกาให้นักการเมืองในฝ่ายตน ได้เปรียบในการแข่งขันลงเลือกตั้ง เพื่อถืออำนาจรัฐในมือมากกว่า 

สุดท้าย นโยบายเร่งด่วน ที่รัฐบาลปัจจุบันแถลง ฐานะทางการเงินของประเทศไทย จากที่เคยมีทุนสำรองระหว่างประเทศรวม (Gross Reserves) อยู่ที่ 2.46 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาทที่ 8.17 ล้านล้านบาท ณ เดือนตุลาคม 2564 สูงเป็นลำดับที่ 12 ของโลก หลังจากนี้ไป จะเป็นอย่างไร คงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

‘พีระพันธุ์’ เตรียมข้อมูลแก้กฎหมายพลังงานทั้งระบบ สร้างความเป็นธรรม-มั่นคง-ยั่งยืน ใช้ต่อได้แม้เกิน 4 ปี

(2 ต.ค. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์รูปภาพขณะนั่งทำงาน พร้อมข้อความกำกับว่า… “เตรียมข้อมูลแก้กฎหมายพลังงานทั้งระบบครับ”

ก่อนหน้านี้ นายพีระพันธุ์ ได้ประกาศข่าวดี โดยกระทรวงพลังงานสามารถตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท และลดราคาเบนซิน 91 ลง 2.50 บาท 

ส่วนไฟฟ้าปรับลดจากราคาหน่วยละ 4.45 บาท ให้เหลือ 4.10 บาท โดยจะดำเนินการเพิ่มเติมในส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไปอีก เพื่อหาทางปรับลดราคาค่าไฟฟ้าให้เหลือไม่เกินหน่วยละ 4 บาท

และสำหรับก๊าซหุงต้มตามแนวโน้มตลาดโลกจะขึ้นทุกปลายปี เพราะเป็นช่วงฤดูหนาวจะทำให้ราคาก๊าซหุงต้มในประเทศไทยสูงตามไปด้วย แต่สัญญาว่าจะตรึงราคาไว้ที่ 423 บาท สำหรับถังขนาด 15 กิโลกรัม ราคาเดิมต่อไป

นอกจากนี้ยังได้กำหนดแผนระยะสั้น-กลาง-ยาว เพื่อดูแลราคาพลังงานให้เป็นธรรม มั่นคง ยั่งยืนเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน โดยแผนการทำงานระยะสั้นจะเป็นนโยบายพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่จะปรับลดราคาพลังงาน และเป็นสิ่งโชคดีที่ นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน มีแนวนโยบายนี้และเป็นแนวนโยบายของรัฐบาลด้วย ทำให้นโยบายระยะสั้นเป็นจริงได้คือ ‘การลดค่าไฟฟ้า ลดราคาน้ำมัน’

ส่วนระยะกลางคือ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของกระทรวงและทำให้โครงสร้างพลังงานมีความเป็นธรรม เหมาะสม และรองรับความมั่นคงของประเทศทุกด้าน สโคปของแผนก็คือ

1) จะรวบรวมกฎหมายเกี่ยวกับพลังงานทั้งหมดมาศึกษา หากรวมได้จะรวม ถ้าไม่จำเป็นก็ยกเลิก เพื่อลดจำนวนกฎหมายให้น้อยลง หรือหากเรื่องไหนไม่มีกฎหมายก็เขียนใหม่

2) กฎหมายพลังงานจะต้องตอบสนอง 3 เรื่อง คือ ต้องทำให้เกิดความมั่นคง เป็นธรรม และเกิดความยั่งยืน

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ตอนนี้ผมได้ตั้งคณะกรรมการปรับปรุงและแก้ไขกฎหมาย มี ท่านอธึก อัศวานันท์ ที่ปรึกษาเป็นประธาน เริ่มทำงานมา 2 นัดแล้ว และมีตัวแทนจาก สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ดูแลด้านกฎหมายมาทำ ให้รายงานทุก 30 วัน ส่วนระยะยาวต้องเตรียมการงานบริหารกระทรวง ทั้งกฎหมายที่ต้องออกมารองรับเพื่อให้นโยบายเป็นไปตามที่บอกทั้งหมด มั่นคง เป็นธรรม ยั่งยืน สามารถเดินต่อไปได้แม้ว่าจะเลยจากนี้ไป 4 ปีก็จะยังคงอยู่

‘พีระพันธุ์’ รับทราบข้อร้องเรียนกลุ่มผู้ใช้แก๊ส NGV  เล็งตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาอย่างครบถ้วน-รวดเร็ว-เป็นระบบ

(2 พ.ย. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังกลุ่มรถผู้ประกอบการรถตู้ รถเมล์สาธารณะ ร่วม บขส. และรถบรรทุก มายื่นเรื่องร้องเรียนขอให้ลดราคาเอ็นจีวีว่า ได้รับรายงานจาก น.ส.อรพินทร์ เพชรทัต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแล้ว และเมื่อเร็ว ๆ นี้ สมาคมรถบรรทุกมาได้ขอให้ดูแลราคาเอ็นจีวีเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้ขับแท็กซี่ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องการที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ปิดปั๊มแก๊สลงจำนวนมากทำให้กระทบต่อการประกอบอาชีพเป็นอย่างยิ่งด้วย ดังนั้นจะตั้งคณะทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบปัญหาและแก้ไขปัญหาทั้งหมดพร้อมกันทันที คาดว่าปัญหานี้น่าจะผ่อนคลายลง โดยจะให้กระทรวงพลังงานแจ้งความคืบหน้าการทำงานเรื่องนี้ให้ผู้เดือดร้อนทราบเป็นระยะต่อไป

“ผมได้รับเรื่องร้องเรียนมาแล้ว แต่ละกลุ่มมีปัญหาความเดือดร้อนลักษณะใกล้เคียงกัน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างครบถ้วน รวดเร็ว และเป็นระบบ ผมจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาทันทีเพื่อตรวจสอบปัญหาและแก้ไขไปพร้อมกันเลยทีเดียว ไม่ต้องรวมกลุ่มมาก็กำลังจะทำอยู่แล้ว เพราะรับทราบปัญหามาก่อน” นายพีระพันธุ์กล่าว

เปิดราคา 'น้ำมันเบนซิน' ภายใต้มาตรการช่วยเหลือประชาชน โดย ก.พลังงาน

⛽น้ำมันเบนซินลดราคา เติมน้ำมันกันแล้วหรือยัง?

‘กระทรวงพลังงาน’ ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชน ลดราคาน้ำมันเบนซินทุกประเภท ตั้งแต่ 7 พ.ย. 66 - 31 ม.ค. 67

เปิดใจ 'พีระพันธุ์' ทำไมเดินหน้าแก้ปัญหาราคาพลังงานได้ทันใจ เหตุ!! 'นายกฯ' ไฟเขียว!! ไม่ยอมให้ราคาแปรผันเหมือนตลาดหุ้น

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 66 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘ฟังหูไว้หู’ ในหัวข้อ ‘The Special คุยกับรัฐมนตรีพลังงาน’ ออกอากาศทาง ช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30 โดยมี ชุติมา พึ่งความสุข และ วีระ ธีรภัทร ดำเนินรายการ

เมื่อถามถึงบรรยากาศในการทำงานระหว่างนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ เป็นอย่างไรบ้าง? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "บรรยากาศดีครับเมื่อได้เข้าประชุม ครม. กับ ท่านนายกฯ ส่วนที่บอกว่าท่านไปต่างประเทศบ่อย ท่านก็ไปในช่วงที่ไม่มีประชุม ถ้าจำไม่ผิด ท่านลาประชุมเพียงแค่ครั้งเดียวเอง"

เมื่อถามถึงช่วงก่อนหน้านี้ ทำไมรัฐมนตรีท่านอื่นถึงทำเรื่องลดราคาค่าครองชีพด้านพลังงานไม่ได้ โดยเฉพาะค่าไฟ? พีระพันธุ์ กล่าวว่า "ผมขอเรียนตรง ๆ ว่า ตอนที่ผมรู้ว่าต้องรับหน้าที่นี้ ผมหนักใจมาก เพราะผมรู้ว่าภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ไม่ได้อยู่ที่กระทรวงพลังงานเพียงอย่างเดียว จากที่ผมศึกษากฎหมายมา อำนาจไม่ได้อยู่ที่เราคนเดียวหมด

"เมื่อตอนที่เราหาเสียง เราพูดถึงนโยบายไว้มาก เราหวังว่าเราจะเข้ามาทำให้ได้ แต่พอเข้ามาแล้ว เรามารู้เบื้องหลัง ก็รู้สึกหนักใจ แต่ในเมื่อพูดไว้แล้ว และได้โอกาสเข้ามาทำแล้ว ก็คิดว่าอย่างไรก็จะทำให้สำเร็จ ด้วยว่านิสัยผมเป็นคนแบบนี้ จะทำได้หรือไม่ได้ แต่จะลงมือเลย" นายพีระพันธุ์กล่าว

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า "และผมก็โชคดีที่ท่านนายกฯ ก็มุ่งทำนโยบายนี้เหมือนกัน ท่านประกาศตั้งแต่ช่วงแรก ๆ เลย ผมก็รู้สึกเหมือนได้ยกภูเขาออกจากอก เพราะว่าทำให้หลายเรื่องที่ผมกังวลว่าจะทำอย่างไร กลายเป็นนโยบายของรัฐบาล จึงทำให้ผมแก้ปัญหาและดำเนินนโยบายได้อย่างราบรื่นดี"

"เมื่อผมได้ศึกษาปัญหาแล้ว เรื่องของไฟฟ้าประเด็นหลักคือ ก๊าซ ผมไม่เถียงว่าโครงสร้างมันผิด แต่ถ้ามัวแต่ไปแก้โครงสร้างให้ถูก ผมก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะเสร็จ จึงต้องกลับมาดูว่าภายใต้โครงสร้างแบบนี้ สามารถทำอะไรได้บ้าง ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ผมคิดแบบนี้นะ" นายพีระพันธุ์กล่าว

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ผมมานั่งดูว่า โครงสร้างของไฟฟ้าในปัจจุบันนี้ อย่างแรกเลยต้องลดก๊าซก่อน ถ้าไม่ลดก๊าซ ก็ไม่มีทางลดค่าใช้จ่ายได้เลย อย่างที่ 2 เมื่อดูจากผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องขยายการชำระหนี้ ก็ต้องขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพราะเมื่อผมขอความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา ทุกคนทุกฝ่ายร่วมมือเต็มที่เลย เพื่อให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม"

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า "ผมได้ให้โจทย์ผู้ที่เกี่ยวข้องไปว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้ราคาสุทธิต่ำกว่า 4 บาท ตอนแรกทำไม่ได้ เพราะอย่างที่ผมบอกเรื่องนี้ต้องดู 2 ขา ขาแรกคือราคากลาง ขาที่ 2 คือการชำระหนี้ สำหรับการชำระหนี้ มันขึ้นตรงกับเราเลย (กฟผ.) ก็สามารถทำได้ก่อน ทำให้ราคาลงมาอยู่ที่ 4.50 บาท"

นายพีระพันธุ์ กล่าวเสริมว่า "แต่ผมก็ยังไม่ล้มเลิกนะ เดินหน้าต่อในเรื่องก๊าซ (ปตท.) ก็ไปคุยกันจนได้มาเป็นราคาในปัจจุบันนี้ เพราะหากรอให้สะเด็ดน้ำทั้ง 2 ขา ผมก็ไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ ทางท่านนายกฯ ก็ขอมาว่า ภายใน 1 อาทิตย์ จบปัญหาได้ไหม? ผมก็รับปาก และไปพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง จนสุดท้ายก็ได้มาที่ราคา 3.99 บาท" 

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ส่วนงวดต่อไป (ม.ค. - เม.ย.) ถ้าจะทำก็ทำได้ แต่ต้องบอกตรง ๆ ว่า โครงสร้างพลังงาน ทั้งน้ำมัน ก๊าซ ไฟฟ้า ต้องปรับนะ ถ้าไม่ปรับโครงสร้าง ก็จะกลับมารูปแบบเดิม แต่ผมตั้งใจจะทำ และจะทำให้ได้ด้วย"

เมื่อถามถึงแนวทางในการปรับลดราคาน้ำมัน นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ถ้าจะลด ก็ต้องลดในส่วนของภาครัฐ สำหรับโครงสร้างปัจจุบันนะ ซึ่งจะคล้าย ๆ กับของมาเลเซีย รัฐต้องเข้าไปสนับสนุน เพียงแต่มาเลเซียเขามีอีกรูปแบบหนึ่งที่ต่างจากเรา แต่ผลลัพธ์คือรัฐเข้าไปช่วยอุดหนุนเหมือนกัน รัฐบาลมาเลเซียช่วยลิตรละ 10 กว่าบาท จนทำให้ราคาขายเหลือลิตรละ 10 กว่าบาท แต่ตอนนี้รัฐบาลไทยยังไม่สามารถเข้าไปโอบอุ้มได้แบบนั้น แต่ชี้ให้เห็นว่า ถ้ารัฐอุดหนุน 2.50 บาท ราคาก็ปรับลงทันที"

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า "อย่างน้ำมันดีเซล เราลดราคาภาษีสรรพสามิต 2.50 บาท ทำให้ราคาลงมาเหลือลิตรละ 30 บาท จากตอนแรกราคา 35 หรือ 32 บาท ตอนนี้รัฐบาลขีดเส้นไว้ว่าจะลดราคาให้ถึงธันวาคมนี้ (3 เดือน)"

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อไปว่า "ส่วนกรณีน้ำมันเบนซิน ซับซ้อนกว่าดีเซล เพราะมีหลากหลายชนิด ตอนที่เริ่มคุยกัน ก็ต้องศึกษาเยอะมาก ๆ จะให้ลดเหมือนกันหมดก็จะกลายเป็นภาระรัฐบาล ทำให้รัฐบาลแบกภาระมากเกินไปในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ สุดท้ายผมจึงเสนอว่า เลือกมาเลย 1 ตัวที่จะลด เอาเป็นตัวที่คนใช้เยอะ คนใช้ทำมาหากิน จึงเลือกแก๊สโซฮอล์ 91 ลดราคาลงก่อน และใช้ตัวเลขเดียวกับดีเซลคือ 2.50 บาท และยังไม่คิดถึงตัวอื่นเลย เพราะแก๊สโซฮอล์ 91 เป็นสิ่งที่ประชาชนใช้ทำมาหากินกัน"

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า "ระหว่างศึกษาก็ติดขัดหลายเรื่อง แต่ก็บอกทุกคนว่าทำให้ได้นะ ต้องขอขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้องเลย และพอผมมั่นใจแล้วว่าจะลด แก๊สโซฮอล์ 91 ลง 2.50 บาท ผมก็รายงานท่านนายกฯ ท่านก็ดีใจ แต่พอไปถึงขั้นตอนสุดท้าย ตอนลงรายละเอียด กระทรวงการคลังซึ่งดูแลกรมสรรพสามิตบอกว่า ทำไม่ได้ โดยบอกว่าโครงสร้างภาษีสรรพสามิตไม่ได้แยก แก๊สโซฮอล์ 91 กับ 95 ถ้าลด 2.50 บาท เขาจะไปต่อไม่ได้ ทำให้ต้องลดภาษีฯ ลงได้แค่ 1 บาท แต่เราไม่อยากผิดคำพูดกับประชาชน จึงไปดึงเงินจากกองทุนบริหารน้ำมันเชื้อเพลิงมาอีก 1.50 บาท"

เมื่อถามว่า หาก รมว.คลังไม่ใช่ 'เศรษฐา' การดำเนินการลดน้ำมันจะยากกว่านี้หรือไม่? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ยาก อย่างที่ผมเรียนไปว่า ตอนผมรับตำแหน่งใหม่ ๆ ผมตั้งใจทำอยู่แล้ว แต่เพราะไม่ใช่อำนาจเราคนเดียว แต่พอท่านนายกฯ ประกาศว่าจะทำเหมือนกัน ผมก็โล่งใจเลย เพราะพอประกาศออกมา ทุกคนก็พร้อมใจกันทำเลย"

เมื่อถามถึงในส่วนราคาพลังงานกลุ่มที่เหลืออย่าง NGV / LPG และ LNG จะมีทิศทางปรับลดอย่างไรต่อไป? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ในส่วนของ NGV ผมกำลังศึกษาอยู่ รวมถึงเรื่องก๊าซทั้งระบบด้วย NGV เป็นก๊าซที่ใช้กับรถยนต์ ผมกำลังศึกษาโครงสร้างอยู่ว่าเขาวางระบบกันอย่างไร เห็นว่าช่วงนี้มีการไล่ปิดปั๊มกันอยู่ ผมก็ได้รับเรื่องร้องเรียนมา เช่น กลุ่มแท็กซี่"

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อไปว่า "ผมมองว่า เป็นไปได้อย่างไร? ที่พลังงานคือชีวิตของคน แต่รัฐบาลควบคุมไม่ได้ ผมว่ารัฐบาลควรต้องทำได้ จะเสรีแบบใดก็ทำไป แต่ต้องมีขอบเขต มีการกำกับดูแลตามนโยบายที่ควรจะเป็น วันนี้ผมเป็น รมต.พลังงาน และมีท่านนายกฯ ด้วย แต่เรากำหนดอะไรไม่ได้เลย ถามว่าใครกำหนด ทุกอย่างขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการ ผมว่าแบบนี้ไม่ได้ ทั้ง NGV / LPG เลยนะ ผมว่ามันต้องมีเครื่องมือรัฐเข้ามาบริหารจัดการเรื่องตรงนี้ให้ได้ครับ"

"สำหรับก๊าซ LNG นั้น เพราะความต้องการใช้แก๊สมากขึ้น ที่เรามีในอ่าวไทยไม่เพียงพอแล้ว ผลิตได้แค่ครึ่งหนึ่งของความต้องการเอง ประมาณ 5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน อีกครึ่งหนึ่งต้องนำเข้า ซึ่งมาจากเมียนมาเป็นส่วนใหญ่" นายพีระพันธุ์กล่าว

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า "ก๊าซ LNG อิงกับราคาตลาดโลก ผมเข้าใจในส่วนนี้นะ แต่ผมมองว่าเราในฐานะรัฐบาล จะมาเล่นราคาพลังงานเหมือนตลาดหุ้นไม่ได้ เพราะพลังงานไม่ใช่สินค้าที่จะนำมาหาจังหวะทำกำไร มันเกี่ยวโยงกับชีวิตคน รัฐบาลจึงต้องวางรูปแบบที่สามารถควบคุมได้ ราคาในตลาดโลกจะเป็นแบบใดก็เป็นไป แต่ราคาในประเทศต้องนิ่ง รัฐต้องควบคุมตรงนี้ให้ได้ จะใช้วิธีการใดก็ได้ และผมกำลังคิดเรื่องตรงนี้ให้ประเทศไทย"

เมื่อถามถึงกรณีปัญหาจากตัวแปรการคำนวณราคาหน้าโรงกลั่น? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ประเด็นนี้ผิดทั้งหมด ต้องรื้อแก้ไขทั้งหมด ราคาหน้าโรงกลั่นคือราคาน้ำมันดิบที่นำเข้ามา บวกค่าการกลั่น ต่อจากนี้ผมจะไม่ให้เรียกว่าค่าการกลั่นแล้ว เพราะคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นการนำน้ำมันดิบมากลั่น และคือราคาหน้าโรงกลั่น ซึ่งมันไม่ใช่นะ เพราะค่าการกลั่นคือกำไรเบื้องต้นของเขาแล้วนะ ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการกลั่น สรุปคือจริง ๆ ไม่ใช่ค่าการกลั่น แต่เป็นกำไร"

นายพีระพันธุ์กล่าวต่อว่า "จะเห็นว่าแค่เริ่มต้นก็ผิดแล้ว ผิดที่ 2 คือราคาที่บอก ๆ กันอยู่นี่ ไม่ใช่ราคาจริง แต่เป็นราคาทิพย์ คิดมาจากสูตรอะไรไม่รู้ ผิดถูกก็มาโต้แย้งกัน หลังจากนั้นก็บวก ๆ และที่น่างงสุด ๆ เลยคือภาษีสรรพสามิต บวกภาษีท้องถิ่น บวกภาษีมูลค่าเพิ่ม บวกกองทุนน้ำมัน บวกกองทุนอนุรักษ์พลังงาน พอจะไปขายให้ปั๊ม ก็บวกภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% ต่อมาก็คือค่าการตลาด และค่อยมาเป็นราคาที่ขายหน้าปั๊ม แต่ค่าการตลาดเอามาลบ ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมตรงนี้ถึงเอามาลบ"

"กลายเป็นว่าสุดท้ายปลายทาง เอาภาษี 7% (รอบ 2) มาลบกับราคาที่ขายหน้าปั๊ม ได้เท่าไหร่ก็บอกว่าเป็นค่าการตลาด แบบนี้มันไม่ใช่" นายพีระพันธุ์กล่าว

เมื่อถามถึงการยกเครื่องโครงสร้างราคาพลังงานด้วยการแก้ไขกฎหมายที่มีทั้งความ 'ยาก' และ 'ต้องใช้เวลา' จนอาจไม่ทันใจประชาชน? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "สำหรับผมนะ ไม่มีทั้ง 2 คำนั้นเลย ต้องเร็ว และไม่ยาก เพราะผมทำเอง เขียนเอง แต่เนื่องด้วยภาระเยอะ ผมจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับพลังงานทั้งระบบ เมื่อได้คำตอบ ผมก็จะมีคณะของผมยกร่างฯ เองเลย โดยที่ผมเป็นคนกำกับดูแล เพราะฉะนั้น สำหรับผมแล้วร่างกฎหมายไม่ใช่เรื่องยาก เพราะผมร่างกฎหมายมาตลอดชีวิตของผมอยู่แล้ว และเมื่อผมมีทีมงานมาช่วย ก็จะไม่มีความล่าช้า แต่กว่าจะถึงตรงนั้น ต้องศึกษาปัญหากฎหมายให้ละเอียดเสียก่อน"

'พีระพันธุ์' จ่อเสนอ นายกฯ รื้อระบบกองทุนน้ำมัน เข้าใจทุกข์ประชาชน เจอราคาไม่นิ่ง 'ขึ้น-ลง' เหมือนตลาดหุ้น

(16 พ.ย. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงความกังวลประชาชนที่ห่วงว่า ราคาอาจจะกลับไปอยู่ที่ราคาเดิมแม้รัฐบาลจะประกาศปรับลดราคาน้ำมันลงมาถึง 2 บาท ว่า เรื่องนี้ยังเป็นปัญหาซึ่งต้องเข้าใจผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต้องเข้าใจประชาชนกับรัฐบาลด้วยคิดว่าราคาพลังงานตอนนี้ มันไม่ใช่หุ้นที่ปรับขึ้นลงทุกวินาที ปรับทุกวัน แต่ยอมรับว่า ราคาพลังงานโลกก็เป็นแบบเดียวกันมีขึ้นลงตามสถานการณ์ ตนเองคิดว่า จะให้ประชาชนมารับภาระราคาที่วิ่งขึ้นวิ่งลงทุกวันแบบนี้ก็ไม่ถูกต้องจึงควรต้องมีระบบมาวางเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันที่ขายให้กับประชาชน

ส่วนการปรับราคาขึ้นลงเป็นเรื่องระหว่างผู้ประกอบการกับภาครัฐจะต้องมาหารือกันจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ไม่ใช่ว่า ราคาน้ำมันวิ่งขึ้นวิ่งลงอยู่ตลอดเวลาแบบนี้ แล้วรัฐก็คำนวณ และควบคุมไม่ได้ ตนเองจึงเห็นว่าเป็นระบบที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งตอนนี้กำลังศึกษาแก้ไขปัญหานี้อยู่ จะทำยังไงให้ราคาซื้อขายน้ำมันที่ประชาชนซื้อจากปั๊มมีเสถียรภาพ มีราคาที่แน่นอน

ส่วนราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นลงประจำวันแต่ละวันแต่ละนาทีก็ให้เป็นเรื่องระหว่างรัฐกับผู้ประกอบการไปว่ากัน ซึ่งตนเองกำลังคิดระบบนี้อยู่เพื่อประชาชนไม่ต้องมาแบกรับเหมือนอย่างที่ทุกวันนี้ พร้อมย้ำว่าทั้งหมดต้องศึกษาโครงสร้างกันใหม่ โครงสร้างที่มีก็ใช้มา 30 ปี จึงถึงเวลาต้องปรับปรุง

"อย่างอื่นยังปรับปรุงได้แล้วเรื่องนี้ทำไมไม่ปรับปรุง เอะอะก็มาอ้างเรื่อง เรื่องการค้าเสรีแต่ประชาชนมีปัญหาคิดว่ามันไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นแบบนี้ก็อย่ามีรัฐจะดีกว่า ผมเห็นว่าควรจะมานั่งคิดระบบที่จะให้ประชาชนมีความเดือดร้อนน้อยลงและปัญหาก็ให้เป็นเรื่องระหว่างผู้ประกอบการกับภาครัฐ"

ส่วนจะใช้เวลานานหรือไม่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า จะพยายามทำให้เร็วที่สุดเพราะไม่เคยมีใครทำมาก่อนตนเองคิดเป็นครั้งแรก ขณะเดียวกันก็เห็นว่า การปรับขึ้นราคาน้ำมันประจำวันแบบนี้เหมือนราคาหุ้น แล้วกองทุนน้ำมันก็มานั่งประชุมกันทุกวันแบบนี้ ก็ไม่ต้องทำอะไรกันเลย วัน ๆ มานั่งประชุมคิดแต่ว่าต้องปรับราคาขึ้นกี่สตางค์ งานก็มีตั้งเยอะ ไม่ใช่มานั่งคิดแต่เรื่องเดียว ซึ่งไม่ใช่วิธีการบริหารจัดการที่ถูกต้องแบบนี้ต้องปรับปรุงแก้ไข

ขณะเดียวกันก็ได้รายงานปัญหาทั้งหมดให้กับนายกรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ รวมถึงปัญหาเรื่องไหนบ้างที่ต้องแก้ไข ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็แสดงความคิดเห็นมา และก็สนับสนุนทุกเรื่อง เพราะทุกเรื่องที่ตนเองทำล้วนเป็นเรื่องที่ทำเพื่อประชาชนซึ่งตรงกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล จึงคิดว่าไม่มีปัญหาอะไรเพียงแต่ว่าทุกอย่างต้องคิดด้วยความรอบคอบ มันไม่ใช่คิดแล้วทำทันที แต่ต้องเริ่มคิด เพราะประชาชนได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ผู้ประกอบการที่เคยมีระบบแบบนี้มานาน รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เคยชินกับระบบแบบนี้ถ้าจะเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงก็ค่อย ๆ ดูรูปแบบว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้มีผลกระทบน้อยที่สุด

นายพีระพันธุ์ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ตนเองเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน จะให้นั่งเฉย ดูประชาชนเดือดร้อน ซึ่งแบบนี้ทำไม่ได้

‘พีระพันธุ์’ เบรก ‘กกพ.’ ขึ้นค่าไฟ 4.68-5.95 บาท ต้นปี 67 ลั่น!! ต้องได้ 3.99 บาท ช่วยลดภาระประชาชนให้มากที่สุด

(21 พ.ย. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงกรณีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออก 3 ทางเลือกขึ้นค่าไฟหน่วยละ 4.68 - 5.95 บ. งวดมกราคม-เมษายน 67 

จากปัจจุบัน (กันยายน-ธันวาคม 66) อยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. วันที่ 10 - 24 พฤศจิกายนนี้ ว่า 

ขณะนี้ได้สั่งการให้ทีมงานเข้าไปดูโครงสร้างต้นทุนค่าไฟเพื่อพิจารณาแนวทางช่วยเหลือประชาชน จะแยกต้นทุนรายตัว บางเชื้อเพลิงอาจปรับขึ้น

แต่คงไม่เท่าราคาที่ กกพ.ประกาศออกมา โดยจะพยายามทำให้ค่าไฟยังอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วยต่อไป 

ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 31 ธันวาคมนี้ เพราะถือเป็นนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงพลังงาน ที่ต้องการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนให้มากที่สุด 

อย่างไรก็ดี หากต้นทุนเพิ่มจริงก็อาจขยับเล็กน้อยแต่คงไม่สูงตามที่ กกพ. ประกาศออกมา

"โครงสร้างค่าไฟปัจจุบันที่ กกพ. นำมาใช้ตนไม่พอใจ เพราะไม่เป็นธรรมกับประชาชน หน่วยงานรัฐต้องดูแลประชาชน ต้องลดภาระ ต้องพิจารณาราคาที่เป็นธรรม เวลานี้ค่าไฟจึงยังไม่สรุป ไม่ใช่ราคาที่ กกพ. ประกาศออกมาแน่นอน"

'พีระพันธุ์' แง้มไอเดีย!! เข้าถึงน้ำมันเสรี ลดต้นทุน ช่วยผู้ประกอบการสถานีน้ำมันให้มีทางเลือกที่ดีกว่า

จากรายการ 'ทัวร์มาลง' ทางช่อง MONO29 เมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยสามพิธีกรตัวตึง พชร์ อานนท์, เป็กกี้-ศรีธัญญา และ อาร์ต-พศุตม์ บานแย้ม ได้พูดคุยกับ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่มาเคลียร์ทุกคำถามเกี่ยวกับการแก้ปัญหาพลังงานค่าไฟแพง น้ำมันขึ้น โดยประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจถูกโฟกัสไปที่ ‘น้ำมันเสรี’

ทั้งนี้นายพีระพันธุ์ ได้เน้นย้ำว่ารูปแบบโครงสร้างที่เป็นอยู่เป็นมา 20-30 ปี ไม่เป็นที่น่าพอใจของตน 

“ถ้าปล่อยเป็นแบบนี้ต่อไปผมจะเสียความรู้สึกเอง ผมจะพยายามทำให้คล้ายกับประเทศมาเลเซีย ไม่ได้ลอกเขามานะ แต่ทำยังไงให้รัฐสามารถเข้าไปช่วยเหลือเข้าไปกำกับดูแลกำหนดราคาน้ำมันได้” 

พร้อมยันต่อว่า ให้ใช้เวลานานหรือไม่นานก็ต้องทำ ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย จะเร็วจะช้าไม่สำคัญ ขอลงหลักปักฐานให้ตั้งแต่วันนี้ ถามว่าเป็นไปได้ไหม…เป็นไปได้ 

“เชื่อมั้ยหลาย ๆ อย่างที่ทำมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องไฟฟ้าเรื่องน้ำมัน ภายใต้โครงสร้างแบบปัจจุบันอำนาจรัฐมนตรี อำนาจรัฐบาลแทบไม่มีเลยนะ อยู่กับผู้ประกอบการอยู่กับอธิบดีทางนั้นหมด เพราะกฎหมายเป็นแบบนี้ไง ผมจะแก้หมดทั้งระบบเลย ให้เวลาผมนิดนึงผมจะทำให้ดูครับ” 

เมื่อถามถึงประเด็นเปิดไอเดียเสรีน้ำมัน นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า…จริง ๆ ต้องพูดเต็ม ๆ ว่า ‘เสรีภาพ’ ยกตัวอย่างทุกวันนี้ หากต้องการซื้อน้ำมัน เราก็ต้องไปปั๊ม ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการเล็กใหญ่แค่ไหน ก็ต้องเข้าปั๊ม แต่หากว่าคุณสามารถหาน้ำมันมาใช้เองได้ ซึ่งหาจากต่างประเทศและพอคำนวณราคาใช้จ่ายแล้ว มันถูกกว่าที่ซื้อจากในประเทศ …แบบนี้จะไปห้ามเขาทำไมล่ะ?

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า อย่างเรื่องรถบรรทุก ต้นทุนของเขาคือน้ำมัน หากเขาหาน้ำมันที่ราคาถูกกว่าในเมืองไทยได้ เราจะไปห้ามเขาได้อย่างไร ผมไม่บังคับให้ซื้อของแพงมาใช้ ยิ่งเขาหาน้ำมันถูกมาใช้ได้ ต้นทุนเขาก็จะยิ่งลด แบบนี้คือการเปิดเสรีภาพให้เข้าถึงน้ำมัน 

มีคนแย้งว่า ปกติก็เสรีอยู่แล้ว ตามมาตรา 7 หรือ 10 อะไรก็ว่าไป แต่นั่นคือกฎหมายเรื่องการค้าขาย แต่ที่จะเปิดเสรีนี้คือให้ซื้อมาใช้เอง ไม่ได้ให้นำเข้ามาขาย เรื่องประสิทธิภาพก็ต้องดูและรับผิดชอบเอง

เมื่อถามถึงประเด็นการลักลอบค้าน้ำมันเถื่อน หากมีการเปิดเสรี นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ปัจจุบันนี้มีหรือไม่ มันมีมาตลอดอยู่แล้ว สาเหตุก็เพราะน้ำมันในประเทศแพง จึงต้องนำน้ำมันเถื่อนเข้ามา เพราะมีราคาถูก ซึ่งคนละเรื่องกับของเถื่อนนะ แต่ถ้าเปิดเสรีน้ำมัน คนหาน้ำมันราคาถูกมาใช้ได้เอง น้ำมันเถื่อนก็ขายไม่ได้ เพราะไม่มีคนซื้อ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top