Monday, 20 May 2024
พีระพันธุ์_สาลีรัฐวิภาค

‘พีระพันธุ์ FC’ ปล่อยคลิป ‘จุดไฟในพายุ เดอะซีรีส์’  เปิดปูมชีวิต - การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ 

ช่องยูทูบ ‘พีระพันธุ์ FC’ ปล่อยคลิป ‘จุดไฟในพายุ เดอะ ซีรีส์’ ในวันเกิดครบรอบ 65 ปี ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ เปิดปูมชีวิต หลักการและเส้นทางการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ย้ำชัด ไม่ต้องการเล่นการเมือง แต่อยากทำงานให้บ้านเมือง สมดั่งปณิธานที่ยึดมั่น ‘ยุติธรรมค้ำจุนชาติ’

ช่องยูทูบ ‘พีระพันธุ์ FC’ ได้เผยแพร่คลิปวีดีโอ ‘จุดไฟในพายุ เดอะ ซีรีส์’ บอกเล่าเรื่องราวชีวิตและการทำงานของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ในโอกาสวันเกิดครบรอบ 65 ปี วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567

ทั้งนี้ ‘จุดไฟในพายุ เดอะ ซีรีส์’ มี 4 ตอน ประกอบด้วย ตอนที่ 1 รากเหง้า ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของตระกูล ‘สาลีรัฐวิภาค’

ตอนที่ 2 เบ้าหลอม บอกเล่าเรื่องราวชีวิตวัยเด็กที่ผ่านการหล่อหลอม จาก ‘พลโท ณรงค์ สาลีรัฐวิภาค’ คุณพ่อ ผู้เป็นต้นแบบความเห็นอกเห็นใจและการทำงานเพื่อส่วนรวม และ ‘โสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค’ ผู้ปลูกฝังเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ยึดมั่นจวบจนปัจจุบัน

ตอนที่ 3 ตัวตน ซึ่งบอกเล่าการดำเนินชีวิตโดยยึดหลักความถูกต้องชอบธรรมในฐานะนักกฎหมาย ที่ทำให้เห็นปัญหาด้านการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการและต้องการแก้ไขให้ถูกต้อง 

และตอนที่ 4 หลักการ ซึ่งบอกเล่าถึงแนวคิดการทำงานที่ยึดแนวทางการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้คนและสังคม ด้วยปณิธานที่ยึดมั่นมาตลอดชีวิต นั่นก็คือ ‘ยุติธรรมค้ำจุนชาติ’

ในซีรีส์ ชุดนี้ จะสะท้อนให้เห็นว่า ในอุปสรรคท้าทายยังมีความหวัง ในกระแสพายุแรงยังมีแสงแห่งดวงไฟ พร้อมบอกเล่าตัวตนและเส้นทางการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ที่เปรียบเสมือนการถือคบไฟนำทางท่ามกลางอุปสรรคท้าทาย โดยย้ำว่า การเข้ามาทำงานการเมืองนั้น ไม่ใช่เพื่อเล่นการเมือง แต่ของการทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองและประชาชน 

>> ประวัติ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ชื่อเล่น ตุ๋ย เป็นบุตรของ พลโท ณรงค์ สาลีรัฐวิภาค อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์และเจ้ากรมการพลังงานทหาร และโสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค (นามสกุลเดิม: สุมาวงศ์) อดีตดาวจุฬาฯ คนแรก ส่วนชีวิตครอบครัว สมรสกับ สุนงค์ สาลีรัฐวิภาค (นามสกุลเดิม: โทณวณิก) มีบุตรธิดารวมกันทั้งหมด 4 คน 

นายพีระพันธุ์ เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล จากนั้น เรียนต่อปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบเนติบัณฑิตไทย ที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา จบปริญญาโท กฎหมายอเมริกันทั่วไป (LLM) และเรียนปริญญาโทอีกใบ ด้านกฎหมายเปรียบเทียบ (MCL) ที่มหาวิทยาลัยทูเลน สหรัฐอเมริกา

โดย นายพีระพันธุ์ มีประสบการณ์ทำงานเป็นผู้พิพากษาและข้าราชการตุลาการมาก่อนเข้าสู่สนามการเมืองในนามพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมทีมกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เคยได้รับการเลือกตั้งเป็น สส.เขต 3 กรุงเทพมหานคร เมื่อพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นฝ่ายค้าน ในปี 2550 นายพีระพันธุ์ ถูกรับเลือกให้ทำหน้าที่เป็น รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเงา และได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จริง ๆ ในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2551

ขณะที่ผลงานอันโดดเด่น คือ การสอบสวนการทุจริต ‘ค่าโง่ทางด่วน 6,200 ล้านบาท’ ซึ่งถูกนำไปใช้ในการต่อสู้คดีในชั้นศาลและประสบชัยชนะ ทำให้คนไทยไม่ต้องจ่ายค่าโง่พร้อมดอกเบี้ยนับหมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีผลงานชิ้นสำคัญที่ช่วยปกป้องเงินภาษีของประชาชนหลายหมื่นล้านบาท โดยนายพีระพันธุ์ ได้นำทีมต่อสู้คดี ‘ค่าโง่’ โฮปเวลล์ หรือ โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร ที่เริ่มต้นโครงการตั้งแต่ปี 2533 แต่มีปัญหาสร้างไม่เสร็จ และถูกเอกชนฟ้องร้องเรียกเสียหายจำนวนมหาศาลจากการยกเลิกสัมปทาน แถมรัฐบาลยังแพ้คดีทั้งในชั้นอนุญาโตตุลาการเมื่อปี 2551 และในชั้นศาลปกครองสูงสุดเมื่อปี 2562  ซึ่งทำให้รัฐบาลมีภาระที่จะต้องนำเงินภาษีไปจ่ายให้กับบริษัทโฮปเวลล์รวม 2.4 หมื่นล้านบาท และเป็นตำนาน ‘ค่าโง่’ ที่อาจทำให้คนไทยต้องเสียเงินค่าภาษีหลายหมื่นล้านบาทกับโครงการที่ไม่เกิดประโยชน์

นายพีระพันธุ์ ได้ติดตามศึกษาคดีมหากาพย์โฮปเวลล์อย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2562 หลังจากที่ได้อ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ตัดสินว่าคดีนี้ไม่ขาดอายุความ แต่ก่อนหน้านั้น ศาลปกครองกลางที่เป็นศาลชั้นต้นของศาลปกครองเคยมีคำตัดสินคดีเดียวกันนี้ว่า คดีโฮปเวลล์ขาดอายุความ

ท้ายที่สุด ศาลปกครองกลาง มีคำตัดสินเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ชดใช้ค่าเสียหายแก่ บริษัทโฮปเวลล์ฯ เนื่องจากการใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัทดังกล่าวขาดอายุความตามกฎหมาย ทำให้รัฐบาลไม่ต้องนำเงินภาษีของประชาชนไปจ่ายค่าโง่หลายหมื่นล้านบาท แน่นอนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนมาจากการทำงานอย่างมุ่งมั่นของ นายพีระพันธุ์ และทีมงานนั่นเอง 

สำหรับ ‘พีระพันธุ์ FC’ เป็นกลุ่มผู้สนับสนุนนายพีระพันธุ์ คอยติดตามรายงานกิจกรรมของนายพีระพันธุ์ มาตลอด โดยซีรีส์ชุดนี้ ทางแฟนคลับกลุ่มดังกล่าว ได้ถ่ายทำไว้นานแล้ว แต่เพิ่งเผยแพร่ออกมาในวันเกิดนายพีระพันธุ์ในปีนี้

ที่มา : ในอุปสรรคท้าทายยังมีความหวัง ในกระแสพายุแรงยังมีแสงแห่งดวงไฟ ติดตามเรื่องราวและแรงบันดาลใจใน ‘จุดไฟในพายุ เดอะ ซีรีส์’ เปิดปูมชีวิต ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ตอนที่ 1 - รากเหง้า  
(https://youtu.be/YGGM_7YwiaI) ตอนที่ 2 - เบ้าหลอม (https://youtu.be/NK6a0gE2DD0) ตอนที่ 3 - ตัวตน (https://youtu.be/jxv3JjqGtQk) ตอนที่ 4 - หลักการ (https://youtu.be/vJcQaYxQm3A)
 

‘พีระพันธุ์’ ชื่นชม ‘ครูน้อย’ สร้างนวัตกรรมใหม่ด้านพลังงาน เล็งต่อยอดหอกลั่นน้ำมันประจำอำเภอ ลดต้นทุนเกษตรกร

เมื่อไม่นานมานี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เผยว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการที่จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 31 มกราคม ที่ผ่านมา ได้พบกับนายทวีชัย ไกรดวง หรือ ‘ครูน้อย’ ผู้มีความสามารถด้านนวัตกรรม สามารถผลิตสิ่งประดิษฐ์หลายอย่างที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้ประชาชน ตรงกับนโยบายของตน ที่มุ่งหวังจะลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้ประชาชนโดยใช้พลังงานทดแทน เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ การประกอบแบตเตอรี่ลิเธียมเองในประเทศเพื่อลดต้นทุน การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานน้ำ 

โดยครูน้อยสามารถผลิตน้ำมันจากยางพาราและขยะพลาสติกจากอุปกรณ์ที่คิดค้นและผลิตขึ้นเองสามารถผลิตน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลชั่วโมงละ 40 ลิตร โดยครูน้อยได้สาธิตการนำน้ำมันที่ผลิตได้ไปใช้กับรถมอเตอร์ไซค์และเครื่องมือทางการเกษตรซึ่งสามารถใช้งานได้ตามปกติ ทำให้นายพีระพันธุ์สนใจผลงานของครูน้อยที่เป็นนวัตกรรมของคนไทยเป็นอย่างมาก

โดยเมื่อ 23 ก.พ. 67 นายพีระพันธุ์ได้เชิญครูน้อยมาหารือเพิ่มเติมที่บ้านพิบูลธรรม เพื่อหาทางต่อยอดนวัตกรรมการผลิตน้ำมันจากยางพาราและขยะพลาสติกของครูน้อย และขอให้ครูน้อยช่วยออกแบบอุปกรณ์เครื่องมือผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงแดด พลังงานลม และพลังงานน้ำ สำหรับใช้ในครัวเรือนและในการเกษตรโดยจะให้เป็นเครื่องต้นแบบของกระทรวงพลังงานที่จะผลิตขายให้ประชาชนและเกษตรกรในราคาถูก

ทั้งนี้ นายทวีชัย ไกรดวง หรือ ครูน้อย ได้นำเสนอแบบการสร้างหอกลั่นน้ำมันที่สามารถผลิตน้ำมันจากยางพาราและขยะพลาสติกได้ถึงชั่วโมงละ 500 ลิตร และอยากจะให้เป็นเครื่องมืออุปกรณ์ประจำแต่ละอำเภอเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันให้แก่ประชาชนและเกษตรกร โดยนายพีระพันธุ์ได้ให้การสนับสนุนและมอบให้นายณอคุณ สิทธิพงษ์ ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีพลังงานเป็นผู้สนับสนุนพัฒนาเรื่องความปลอดภัยของอุปกรณ์และคุณภาพน้ำมันให้ดียิ่งขึ้น 

และมอบให้นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต ที่ปรึกษารัฐมนตรีพลังงานเป็นผู้ประสานงานให้เกิดความคล่องตัวและความรวดเร็วในการดำเนินการ นอกจากนี้นายพีระพันธุ์ได้มอบให้ครูน้อยไปคิดประดิษฐ์แผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอร์รี่ที่จะผลิตขึ้นเองในประเทศเพื่อทำให้ราคาระบบผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์มีราคาถูกลงอีกด้วย 

โดยนายพีระพันธุ์เห็นว่าคนไทยจำนวนมากที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมแต่ขาดโอกาสและการสนับสนุน หากคนเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจังจะสามารถมีสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์และเป็นฝีมือของคนไทยที่น่าภาคภูมิใจ และสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทุกระดับไม่ว่าจะเป็นชาวนา เกษตรกร ชาวประมง หรือประชาชนทั่วไปให้มีทางเลือกในการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน

‘รมว.พีระพันธุ์’ ชี้!! ไทยต้องมีระบบสำรองน้ำมัน ลดปัญหาราคา 'ขึ้น-ลง' รายวัน ลั่น!! ถึงเวลาเดินหน้ารื้อโครงสร้างน้ำมันทั้งระบบ มั่นใจเป็นรูปธรรมภายในปีนี้

เมื่อวานนี้ (27 ก.พ.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ถึงการรื้อโครงสร้างพลังงานครั้งใหญ่ของประเทศไทย ในรายการ Smart Energy โดยระบุว่า...

ขณะนี้ได้ศึกษาถึงการปรับโครงสร้างพลังงานเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจากผลการศึกษาทั้งหมดพบว่า สามารถทำได้แน่นอน ทั้งนี้ หลังจากผ่านการศึกษาแล้ว จะเข้าสู่ระบบราชการ โดยได้ตั้งคณะกรรมการเข้ามาดูแล และได้ทำการประชุมไปแล้ว 4 ครั้ง คาดว่าภายใน 1-2 เดือนนี้ ระบบรูปแบบราชการเสร็จแน่นอน

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นจะดำเนินการใน 2 เรื่องใหญ่ นั่นคือ ค่าไฟฟ้า และน้ำมัน โดยค่าไฟฟ้า จะเข้าไปดูตั้งแต่ค่าก๊าซ เพราะเป็นต้นทุนหลักในการผลิตไฟฟ้า สำหรับสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว คือ ส่วนหนึ่งก็คือการโยกค่าก๊าซ ที่เอาไปใช้ทําปิโตรเคมีในราคาถูก มาใส่ใน Pool Gas เพื่อให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าลดลง ขณะเดียวกัน ยังมีแนวคิดที่จะทำระบบสำรองก๊าซ พร้อมกับระบบสำรองน้ำมัน เพื่อจะได้มีก๊าซสำรอง ซึ่งจะทำให้มีอํานาจในการควบคุมราคาได้ ซึ่งเรื่องนี้จะค่อนข้างซับซ้อนกว่าระบบสำรองน้ำมัน ดังนั้น เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว จึงจะเดินหน้าในส่วนของระบบสำรองน้ำมันก่อน

ส่วนในเรื่องน้ำมันนั้น จะจัดทำระบบที่เรียกว่า การสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (SPR) เนื่องจากตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่มีระบบสำรองน้ำมัน ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเป็นการสำรองเพื่อการค้าของบริษัทเอกชนเท่านั้น 

“หากต้องการให้ประเทศมีความมั่นคงทางด้านพลังงาน จำเป็นจะต้องรื้อทั้งระบบโครงสร้างราคาน้ำมัน ไม่ใช่ปรับแค่โครงสร้างเท่านั้น เพราะท้ายที่สุดก็หนีไม่พ้นราคาตลาดโลก ดังนั้น จึงต้องรื้อระบบทั้งหมด เพราะประเทศไทยไม่มีสํารองน้ำมันเพื่อความมั่นคงของประเทศและมาตรฐานสํารองเพื่อความมั่นคงของประเทศขั้นต่ำ ที่เป็นมาตรฐานสากล คือ 90 วัน แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณการสำรองอยู่แค่ 20 วันเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่จะต้องรื้อระบบการสำรองน้ำมันของประเทศใหม่ทั้งหมด”

นายพีระพันธุ์ ย้ำว่า การรื้อทั้งระบบ จะช่วยควบคุมราคาน้ำมันได้ทุกประเภท โดยจะพยายามทำในส่วนของหลักการให้เสร็จภายใน 2 - 3 เดือนนี้ จากนั้นจะเร่งดำเนินการให้เสร็จเป็นรูปธรรมทั้งหมดภายในปีนี้ ทั้งนี้ เมื่อทำสำเร็จแล้ว ผลดีจะเกิดกับประชาชนและประเทศชาติ ไม่ต้องกังวลถึงภาวะที่ราคาน้ำมันเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาเช่นทุกวันนี้ ซึ่งการกำหนดราคาจะเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับผู้ประกอบการ โดยจะรื้อระบบกลับไปใช้เป็นราคาคงที่ เหมือนกับเมื่อกว่า 40 ปีก่อน ไม่ใช่ระบบลอยตัวอย่างเช่นปัจจุบัน หากราคาน้ำมันโลกปรับตัวขึ้น ทางรัฐบาลกับผู้ประกอบการจะจัดการกันเอง 

แน่นอนว่า ระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ จะเป็นหัวใจหลักสำคัญ ในการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ไม่ต้องกังวลกับราคาน้ำมันขึ้น-ลงรายวันอีกต่อไป

‘รมว.พีระพันธุ์’ รุดดูงานแท่นขุดเจาะก๊าซแหล่งเอราวัณ อ่าวไทย หวังขุดเจาะก๊าซให้ได้ตามเป้า ช่วยคงราคาค่าไฟให้ถูกลง

เมื่อวานนี้ (28 ก.พ. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะได้ร่วมกันเดินทางไปยังแท่นขุดเจาะก๊าซแหล่งเอราวัณ กลางอ่าวไทย โดยเดินทางไปที่แท่นหลักที่เป็นศูนย์รวมก๊าซที่ขุดได้จากทุกแท่นในแหล่งเอราวัณเพื่อส่งมายังโรงแยกก๊าซที่ระยอง ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งถึง 400 กว่ากิโลเมตร

นายพีระพันธุ์ เปิดเผยว่า “ผมพยายามลดภาระค่าไฟฟ้าให้ประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยหลังสุดสามารถยันราคาค่าไฟฟ้าให้ประชาชนทั่วไปไว้ได้ที่ 4.18 บาท ต่อหน่วย สำหรับงวดเดือนมกราคมถึงเมษายน 2567 เพิ่มขึ้นจากเดิมเพียงเล็กน้อย ทั้ง ๆ ที่มีการคาดการณ์ว่าอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับงวดดังกล่าวจะอยู่ที่ 4.68 บาท เพราะในช่วงเวลาที่ว่านี้มีปัจจัยลบที่มีผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าหลายตัว โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการขุดเจาะก๊าซจากอ่าวไทยที่แหล่งเอราวัณขาดหายไปวันละ 800 ล้าน ลูกบาศก์ฟุต (ลบ.ฟ.) ทำให้ต้องสั่งก๊าซจากต่างประเทศที่มีราคาสูงมาชดเชยและมีผลต่อราคาค่าไฟฟ้าโดยตรง”

นายพีระพันธุ์ ระบุต่อว่า “แม้จะยังมีเวลาเหลืออีกสองเดือนกว่าจะครบกำหนดการปรับค่าไฟฟ้าตามวงรอบ 4 เดือน ในเดือนเมษายน 2567 แต่ผมไม่นิ่งนอนใจ เพราะหากยังคงขาดก๊าซจากอ่าวไทยวันละ 800 ล้าน ลบ.ฟ. อยู่ ก็จะมีผลต่ออัตราค่าไฟฟ้างวดเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2567 นี้แน่นอน ทั้งนี้ ทั้งผม ทั้งปลัดกระทรวงพลังงาน (นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ) ทั้งประธานที่ปรึกษา (นายณอคุณ สิทธิพงษ์) และคณะกรรมการ กกพ. ได้เตรียมการแก้ไขปัญหากันทุกวัน แต่สำคัญที่สุดคือต้องขุดก๊าซจากอ่าวไทยในปริมาณที่ขาดหายไปวันละ 800 ล้าน ลบ.ฟ. ขึ้นมาให้ได้ตามเดิม ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ปตท.สผ.”

“ในช่วงที่ผ่านมาเราได้ประสานงานและขอคำยืนยันจาก ปตท. และ ปตท. สผ. ตลอดมาว่าจะสามารถนำก๊าซจากอ่าวไทยที่แหล่งเอราวัณขึ้นมาในปริมาณที่ขาดหายไป 800 ล้าน ลบ.ฟ. ต่อวัน ได้หรือไม่ ซึ่ง ปตท. และ ปตท.สผ. ยืนยันตลอดมาว่าสามารถทำได้แน่นอน แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจแทนพี่น้องประชาชน ผมจึงต้องไปให้เห็นกับตาและได้ยินกับหูจากผู้ปฏิบัติงานจริงที่แท่นขุดเจาะว่าจะสามารถทำได้แน่นอน” นายพีระพันธุ์ กล่าว

นายพีระพันธุ์ ได้กล่าวถึงสาเหตุที่ก๊าซจากอ่าวไทยขาดหายไป 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตว่า “คำตอบคือ เดิมผู้ที่ได้รับสัมปทานผลิตส่วนนี้คือบริษัทต่างชาติบริษัทหนึ่ง แต่แพ้ประมูลต่ออายุสัมปทานให้ ปตท.สผ. ซึ่งการประมูลนี้ต้องทำล่วงหน้าเป็นปีก่อนหมดสัมปทานเดิม บริษัทดังกล่าวเลยหยุดขุดเจาะก๊าซเพิ่มเติมไปเฉย ๆ ปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยในส่วนนี้จึงค่อย ๆ หายไป ขณะที่ ปตท.สผ. ก็ยังเข้าดำเนินการในช่วงนั้นไม่ได้เพราะสัมปทานเดิมยังไม่หมดอายุ สุดท้ายเมื่อเข้าดำเนินการได้เมื่อประมาณธันวาคม 2564 ปตท.สผ. จึงเร่งเตรียมการและดำเนินการต่อมาจนกำลังจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายตามที่เล่ามาครับ”

‘พีระพันธุ์’ มั่นใจ!! ค่าไฟรอบใหม่ (พ.ค. - ส.ค.) จะไม่สูงกว่ารอบปัจจุบัน

(7 มี.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค - Pirapan Salirathavibhaga’ ถึงกรณีตรวจเยี่ยมแท่นขุดเจาะก๊าซกลางอ่าวไทย และราคาค่าไฟฟ้าในรอบใหม่ (พฤษภาคม - สิงหาคม) ระบุว่า…

หลังจากที่ไปตรวจการผลิตก๊าซกลางอ่าวไทยเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมาเพื่อให้มั่นใจว่าเราจะมีก๊าซมากพอเพื่อเป็นปัจจัยหนึ่งของการยันราคาค่าไฟฟ้าในรอบใหม่นี้ 

ต่อมาผมได้หารือกับท่านเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และท่านปลัดกระทรวงพลังงาน ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ และล่าสุดได้หารือกับผู้บริหาร กฟผ. เพื่อขอให้ช่วยกันดูแลประชาชนตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละฝ่ายให้เต็มที่เพื่อไม่ให้มีภาระค่าไฟฟ้ามากไปกว่าปัจจุบัน ซึ่งทุกท่านทุกฝ่ายพร้อมที่จะดำเนินการอย่างเต็มความสามารถ โดยเฉพาะทาง กฟผ. พร้อมที่จะแบกรับภาระหลายอย่างเพื่อประชาชน 

ผมจึงค่อนข้างมั่นใจว่าราคาค่าไฟฟ้าสำหรับงวดต่อไป (พฤษภาคม - สิงหาคม) จะไม่สูงไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 

ขอให้มั่นใจครับว่าผมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน และขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมา ณ ที่นี้อีกครั้งครับ

'พีระพันธุ์' เร่งสรุปรูปแบบการสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์  สร้างความมั่นคงด้าน 'พลังงาน-ราคาน้ำมัน' เพื่อคนไทยอย่างเป็นธรรม

'พีระพันธุ์ รมว.พลังงาน' เร่งสรุปรูปแบบการสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ เน้นสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ รักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันให้ยั่งยืน

เมื่อวานนี้ (12 มี.ค.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์และระบบรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ ครั้งที่ 7/2567 ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล 
.
โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละด้าน รวมทั้งผู้บริหารกระทรวงพลังงานร่วมกันดำเนินการออกแบบแนวทางการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ในครั้งนี้

ตลอดระยะเวลากว่า 1 เดือนที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีการพิจารณาประเด็นสำคัญในการวางรูปแบบการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (SPR) เพื่อความมั่นคง และรักษาเสถียรภาพทางด้านราคา โดยคำนึงถึงภาครัฐ, ภาคเอกชน และผลกระทบภาคประชาชนเป็นหลัก ซึ่งถือเป็นหัวใจของการเปลี่ยนแปลงระบบการสำรองน้ำมันและก๊าซในครั้งนี้

นอกจากนี้ ได้มีการศึกษาการอุดหนุนราคาน้ำมันของประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และสิงคโปร์, การสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางการทหารและประชาชนในประเทศไทย, การปันส่วนน้ำมันในกรณีเกิดการขาดแคลน รวมทั้งหารือแนวทางการบริหารจัดการน้ำมันดิบที่ผลิตในประเทศ เพื่อให้นำมาใช้ประโยชน์ในประเทศให้มากที่สุด เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน แม้จะสามารถผลิตน้ำมันเองได้ แต่ก็เป็นส่วนน้อย

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ปัจจัยสำคัญมาจากสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยให้สูงขึ้น 

ดังนั้น การจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซในครั้งนี้ ประชาชนจะมั่นใจได้ว่าจะเป็นการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซที่เป็นธรรมกับประชาชนอย่างแน่นอน และก่อให้เกิดผลดีต่อการบริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศในอนาคตอย่างยั่งยืน

มีผลแล้ว!! ‘พีระพันธุ์’ เร่งเครื่องนโยบาย ‘รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง’ ออกประกาศให้ผู้ค้าน้ำมันแจ้งข้อมูลต้นทุนน้ำมัน

เมื่อวานนี้ (14 มี.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตั้งแต่รับตำแหน่งได้เร่งทำงานทุกด้านเพื่อสร้างระบบพลังงานของประเทศขึ้นมาใหม่ตามแนวทางรื้อ ลด ปลด สร้าง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เหมาะสม ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และประเทศมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567 ซึ่งให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป โดยประกาศกระทรวงพลังงานฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 รายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการบันทึกบัญชีรายวัน

นอกจากนั้น ต้องแจ้งราคาต้นทุนเฉลี่ยและหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคำนวณต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงในทุกไตรมาส และกรณีที่ผู้ค้าน้ำมันปรับปรุงการบันทึกบัญชี หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล จะต้องแจ้งให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบภายใน 7 วัน โดยข้อมูลที่ได้รับมาจะถือเป็นข้อมูลลับของทางราชการและมีการเก็บรักษาเป็นความลับอย่างที่สุด

สำหรับ ต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งถือเป็นข้อมูลที่จำเป็นในการกำหนดนโยบายด้านการพลังงานที่เหมาะสมนั้น ประกอบด้วย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหมายความรวมถึง น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล และต้นทุนอื่นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าตอบแทนนายหน้า ค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนและโอนเงิน ค่าภาษี อากร หรือค่าธรรมเนียมอื่นใด ซึ่งผู้ประกอบการได้บันทึกบัญชีและมีหน้าที่ต้องชำระ โดยคำนวณเฉลี่ยเป็นหน่วยต่อลิตรในแต่ละรายไตรมาสของปีบัญชี

รมว.พลังงาน กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวมีความจำเป็นต่อการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศ เพื่อให้ภาครัฐมีข้อมูลที่จำเป็นสำหรับกำหนดนโยบายด้านพลังงานให้เหมาะสมเพื่อให้น้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศมีราคาจำหน่ายที่ยุติธรรมสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ประชาชนได้รับการคุ้มครองไม่ให้มีการค้ากำไรเกินสมควรในการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และผู้ประกอบธุรกิจทุกประเภทและทุกระดับมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลเพิ่มมากขึ้น

“คงจำได้ว่าเมื่อรับตำแหน่งใหม่ ๆ ผมพยายามที่จะหาว่าต้นทุนพลังงานแต่ละชนิดคืออะไร ราคาที่ขายให้ประชาชนมีความถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ แต่ไม่ได้รับคำตอบ โดยอ้างว่าเป็นความลับทางการค้าและกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ ผมและทีมงานจึงศึกษาและพบว่าจริงๆแล้วมีช่องทางในการขอทราบข้อมูลแต่ยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน จึงได้ดำเนินการยกร่างออกประกาศเพื่อกำหนดแนวทางและวิธีการให้ภาครัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลต้นทุนได้” นายพีระพันธุ์กล่าว

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า นโยบาย รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง เป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งผมและข้าราชการกระทรวงพลังงาน ที่ปรึกษาและทีมกฎหมายจากกฤษฎีกาได้ทำงานอย่างหนัก ประชุมและค้นคว้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาวิธีที่จะทำให้ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งที่ผ่านมา มีการลดราคาพลังงานทั้ง น้ำมัน ไฟฟ้า ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม แต่ก็เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ 

แต่นโยบายการรื้อระบบพลังงาน จะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชนอย่างถาวร เมื่อภาครัฐมีข้อมูลที่ครบถ้วน รอบด้านและมีกฎหมายที่ให้อำนาจ ก็สามารถพิจารณาและตรวจสอบต้นทุนเพื่อภาคเอกชนมีกำไรในระดับสมเหตุสมผล ไม่สร้างภาระให้ประชาชนจนเกินกว่าเหตุและสามารถแข่งขันได้ ประเทศก็จะมีความมั่นคงด้านพลังงาน ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เป็นธรรม

“วันนี้ก็ได้เริ่มต้นจากการให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งข้อมูลการนำเข้าและส่งออกน้ำมัน และในอนาคตก็จะเริ่มปรับระบบพลังงานประเภทอื่นๆ ทั้ง ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ต่อไป ผมเชื่อว่า นโยบายการปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาราคาพลังงานได้อย่างถาวร และผมจะดำเนินการให้สำเร็จให้เร็วที่สุด” นายพีระพันธุ์ กล่าว

‘พีระพันธุ์’ ปลื้ม!! แหล่งเอราวัณผลิตก๊าซ 800 ล้านลบ.ฟ./วัน แล้ว เชื่อ!! ช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า - สร้างค่าไฟเป็นธรรมให้ ปชช.

‘กระทรวงพลังงาน’ เผยข่าวดี แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณในอ่าวไทย สามารถเพิ่มอัตราการผลิตเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หลังจากที่ผู้รับสัญญาเร่งดำเนินงาน จนสามารถดำเนินการเพิ่มอัตราการผลิตได้เร็วกว่าแผนที่กำหนด ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้ความสำคัญและกำชับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อความเป็นอยู่ของประชาชน

(20 มี.ค. 67) นายพีระพันธ์ุ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า “การเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติของแปลง G1/61 ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในวันที่ 20 มีนาคม 2567 นี้ เป็นการดำเนินการได้เร็วกว่าแผนที่กำหนด ถือว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของทั้งภาครัฐ คือ กระทรวงพลังงานโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และผู้ได้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต คือ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) ในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ

ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยผมและทีมงานได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติโครงการ G/61 (แหล่งเอราวัณ) เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อติดตามให้มีการบริหารจัดการและเพิ่มการผลิตปิโตรเลียมอย่างเต็มกำลังให้ได้ปริมาณตามที่กำหนด รวมทั้งมอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำกับดูแลการดำเนินงานของผู้รับสัญญาอย่างใกล้ชิด เพราะก๊าซธรรมชาติถือเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศ

ดังนั้น การเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย จะมีส่วนช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและรักษาระดับค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้”

ด้านนายวรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า “กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะที่กำกับดูแลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่มาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 ซึ่งนับเป็นงานที่มีความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตในกิจการปิโตรเลียม โดยได้มีการเตรียมโครงสร้างหน่วยงานและบุคลากรของกรมเพื่อรองรับภารกิจการดำเนินงานภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต ตลอดจนการติดตาม กำกับดูแล พร้อมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานต่าง ๆ ของบริษัท ปตท.สผ. อีดี ให้เป็นไปอย่างราบรื่น เพื่อให้การผลิตปิโตรเลียมจากแปลงดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมาย ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

“ทั้งนี้ แหล่งก๊าซธรรรมชาติเอราวัณ นับเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติในทะเลอ่าวไทยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า

“ซึ่งภายหลังจากนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะยังคงทำงานร่วมกับผู้รับสัญญาอย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งดังกล่าวให้มีความต่อเนื่อง และสามารถสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศให้แข็งแกร่งต่อไป”

'ปตท.สผ.' เผย!! เพิ่มการผลิตก๊าซฯ ได้ถึง 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันแล้ว  ตามแนวทาง 'พีระพันธุ์' เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านค่าไฟฟ้าให้แก่ ปชช.

(20 มี.ค.67) นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า หลังจากที่ ปตท.สผ. ได้ชนะการประมูลและเป็นผู้ได้รับสิทธิในสัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลงสำรวจ G1/61 ในทะเลอ่าวไทย ในปี 2561 จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน โดยได้ลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิต ในปี 2562 บริษัทฯ ได้เร่งดำเนินงานทุกด้านอย่างเต็มความสามารถ เพื่อเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซฯ ให้ได้ตามแผนงาน โดยได้ปรับปรุงสิ่งติดตั้งและอุปกรณ์ให้มีเสถียรภาพและมีความปลอดภัยสูงขึ้น รวมถึงติดตั้งแท่นหลุมผลิต (wellhead platform) 12 แท่น เจาะหลุมผลิต (production well) เพิ่มกว่า 300 หลุม และวางท่อก๊าซธรรมชาติ เพื่อเพิ่มอัตราการผลิตให้สูงขึ้นตามลำดับ จนถึงระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในวันนี้ (20 มี.ค. 67) เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานของประชาชน และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

“การเพิ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการ G1/61 ถือเป็นภารกิจสำคัญของ ปตท.สผ. ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทตระหนักเป็นอย่างยิ่งถึงความสำคัญของก๊าซฯ ในอ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักที่รองรับความต้องการใช้พลังงานทั้งภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม จึงได้เร่งดำเนินการทุกขั้นตอนเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซฯ ให้ได้เร็วที่สุด และในวันนี้ โครงการ G1/61 สามารถผลิตได้ถึงระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้ มาจากความมุ่งมั่นของพนักงานทุกคน รวมทั้ง การสนับสนุนจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะช่วยลดผลกระทบด้านพลังงานให้กับประชาชน และสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ” นายมนตรี กล่าว

สำหรับแผนงานต่อไป ปตท.สผ. มีแผนที่จะติดตั้งแท่นหลุมผลิตเพิ่มเติมอีกปีละประมาณ 8 แท่นและเจาะหลุมผลิตเพิ่มอีกประมาณ 300 หลุมต่อปี โดยในปี 2567 บริษัทจะใช้เงินลงทุนในโครงการ G1/61 เป็นจำนวนกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อให้โครงการ G1/61 เป็นหนึ่งในโครงการของ ปตท.สผ. ที่เป็นหลักในการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศในระยะยาวต่อไป

ทั้งนี้ แผนการเร่งโครงการ G1/61 ดังกล่าว ได้รับการกระตุ้นโดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่กำชับให้ภาคเอกชนต้องผลิตได้อยู่ในระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในวันที่ 1 เมษายนนี้ เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านค่าไฟฟ้า และเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top