Monday, 20 May 2024
พีระพันธุ์_สาลีรัฐวิภาค

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีแห่งปี

ในบรรดารัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลเศรษฐา 1 ‘นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถือเป็นรัฐมนตรีที่ถูกจับตามองมากที่สุด เนื่องจากกระทรวงพลังงานเป็นกระทรวง ‘เกรดเอ’ ที่ใคร ๆ ก็อยากเข้ามากุมบังเหียน อีกทั้งยังเป็นกระทรวงสำคัญที่จะเข้ามาควบคุม กำกับดูแลราคาพลังงาน ซึ่งมีผลเกี่ยวโยงกับปากท้องของประชาชนโดยตรง

สำหรับนายพีระพันธุ์ ก่อนจะเข้ามารับตำแหน่ง ‘รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน’ ก็มีบทบาทสำคัญทางการเมืองในหลาย ๆ ด้าน แต่ที่โดดเด่นและถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงก็คือ…การสอบสวนการทุจริต ‘ค่าโง่ทางด่วน 6,200 ล้านบาท’ หรือ ‘คดีโฮปเวลล์’ ซึ่งถูกนำไปใช้ในการต่อสู้คดีในชั้นศาลและประสบชัยชนะ ทำให้คนไทยไม่ต้องจ่ายค่าโง่พร้อมดอกเบี้ยนับหมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมทีมผ่าตัด ‘การบินไทย’ เส้นเลือดใหญ่ของธุรกิจการบินประจำชาติ ด้วยการให้ความสำคัญกับการบิน ‘เส้นทางในประเทศ’ คู่ขนานกับการ ‘สะสางคอร์รัปชัน’ และระบบ ‘เส้นสาย’ ในฝ่ายบริหาร โดยขีดเส้นไว้ชัดเจนว่าจะต้องไม่อยู่ใต้ ‘เงา’ ของนักการเมืองอีกต่อไป

หลังจากนั้นก็เดินหน้าตามแผนฟื้นฟูกิจการ พร้อมทั้งสร้างกลยุทธ์เพื่อคืนชีพการบินไทย รวมไปถึงมุ่งสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงานได้ร่วมกันฝ่าฟัน จนวันนี้ผ่านพ้นวิกฤติและเข้าสู่ช่วงพาสายการบินแห่งชาตินี้ ตั้งลำ พร้อมเชิดหัวขึ้นอย่างเฉิดฉาย

แน่นอนว่าผลงานก่อนรับตำแหน่งรัฐมนตรีพลังงานนั้นเข้าขั้น ‘มาสเตอร์พีช’ แต่หลังจากเข้ารับตำแหน่ง ‘รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน’ แล้ว ฝีมือและความมุ่งมั่นก็ไม่แผ่วลงแต่อย่างใด เพราะทันทีที่เข้าคุมกระทรวงพลังงาน ก็ประกาศลดราคาค่าไฟฟ้า จาก 4.10 บาท เหลือ 3.99 บาท ทันที ทำให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง ถือเป็นการช่วยแบ่งเบาและลดภาระประชาชนได้อย่างมากมาย

ไม่เพียงแค่จัดการเรื่องราคาไฟฟ้า แต่ยังเดินหน้าลดราคาน้ำมัน ได้แก่ น้ำมันดีเซลกำหนดให้มีราคาไม่เกิน 30 บาท ปรับลดราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ลง 2.50 บาท พร้อมทั้งตรึงราคาก๊าซหุงต้มขนาด 15 กก. ไว้ที่ราคา 423 บาท ต่ออีก 3 เดือน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2566

และนอกจากนี้ยังมีแผนรื้อถอนโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบให้ยั่งยืนและมั่นคง โดยไม่โอนอ่อนต่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปรายวัน 

ทั้งนี้นายพีระพันธุ์ยังเคยแสดงความมุ่งมั่นต่อแผนการปรับโครงสร้างราคาพลังงานในประเทศไว้หลายครั้ง เช่น การให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘ฟังหูไว้หู’ ในหัวข้อ ‘The Special คุยกับรัฐมนตรีพลังงาน’ ออกอากาศทาง ช่อง 9 MCOT HD นายพีระพันธุ์ กล่าวถึงราคาก๊าซว่า…

"ก๊าซ LNG อิงกับราคาตลาดโลก เรื่องนี้เข้าใจได้ แต่ผมมองว่าในฐานะรัฐบาล จะเล่นราคาพลังงานเหมือนตลาดหุ้นไม่ได้ เพราะพลังงานไม่ใช่สินค้าที่จะนำมาหาจังหวะทำกำไร พลังงานเกี่ยวโยงกับชีวิตคน รัฐบาลจึงต้องวางรูปแบบที่สามารถควบคุมได้ ราคาในตลาดโลกจะเป็นแบบใดก็เป็นไป แต่ราคาในประเทศต้องนิ่ง รัฐต้องควบคุมตรงนี้ให้ได้ จะใช้วิธีการใดก็ได้ และผมกำลังคิดเรื่องตรงนี้ให้ประเทศไทย"

นอกจากนี้ยัง กล่าวถึงการยกเครื่องโครงสร้างราคาพลังงานด้วยการแก้ไขกฎหมายที่มีทั้งความ ‘ยาก’ และ ‘ต้องใช้เวลา’ ว่า “สำหรับผมนะ ไม่มีทั้ง 2 คำนั้นเลย ต้องเร็ว และไม่ยาก จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับพลังงานทั้งระบบ เมื่อได้คำตอบ ก็จะยกร่างฯ ทันที โดยที่ผมเป็นคนกำกับดูแล เพราะฉะนั้น สำหรับผมแล้วร่างกฎหมายไม่ใช่เรื่องยาก เพราะผมร่างกฎหมายมาตลอดชีวิตของผมอยู่แล้ว และเมื่อผมมีทีมงานมาช่วย ก็จะไม่มีความล่าช้า แต่กว่าจะถึงตรงนั้น ต้องศึกษาปัญหากฎหมายให้ละเอียดเสียก่อน”

สิ่งที่นายพีระพันธุ์ ‘คิดจะทำ’ ถือเป็นก้าวสำคัญและก้าวที่ยิ่งใหญ่ต่อประเทศและประชาชนคนไทย หวังว่าในอนาคตอันใกล้นี้ คนไทยจะได้ใช้พลังงาน ทั้งก๊าซ น้ำมัน ไฟฟ้า แก๊สหุงต้ม ที่มีราคาเป็นธรรม เข้าถึงง่าย และถูกควบคุมอย่างดีภายใต้โครงสร้างที่เข้มแข็ง ดังที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หมายมั่นเอาไว้

THE STATES TIMES ไม่อาจกล้าหยิบยกคำใดมาเชิดชู แค่อยากให้รู้ว่า “เราภูมิใจในตัวคุณ”

สะพัด!! ‘พีระพันธุ์’ สั่ง ‘กกพ.’ สอบ ‘ปตท.’ ย้อนหลัง  ปมสัญญาซื้อขายก๊าซ หวั่น!! เอาเปรียบประชาชน

‘รมว.พลังงาน’ สั่ง กกพ.สอบ ‘ปตท.’ ย้อนหลังปมสัญญาซื้อขายก๊าซ หาเงินอุ้มค่าไฟ ระบุเป็นการกระทำที่เอาเปรียบประชาชน เหตุทำให้การส่งผ่านราคาก๊าซฯ ที่สูงขึ้น ส่งผลต่อการคำนวณค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

(27 ธ.ค. 66) แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ได้ส่งหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ขอให้ตรวจสอบการจัดหาราคาก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ว่า มีช่วงเวลาใดอีกที่ไม่สามารถส่งมอบก๊าซได้ตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ หรือ ชอร์ตฟอล นอกเหนือจากช่วง ต.ค. 63 - ธ.ค. 65 ที่มีมูลค่ารวมกว่า 4,300 ล้านบาทอีกหรือไม่

ทั้งนี้ เนื่องจากหากมีการกระทำดังกล่าว จะถือเป็นการเอาเปรียบประชาชน เพราะทำให้การส่งผ่านราคาก๊าซฯ ที่สูงขึ้น ส่งผลต่อการคำนวณค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น กระทบต่อภาคประชาชน และภาคเอกชน  ซึ่งบอร์ด กกพ.ได้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมในวันที่ 26 ธ.ค. โดยสั่งการให้สำนักงาน กกพ.เข้าไปตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวแล้ว 

แหล่งข่าวจาก กกพ. กล่าวว่า ที่ประชุม กกพ.ได้รับหนังสือจากกระทรวงพลังงาน และหารือในที่ประชุมบอร์ดแล้ว โดยจะเร่งเข้าไปตรวจสอบอย่างรอบคอบ ซึ่งหากตรวจสอบเรียบร้อยจะส่งไปยังกระทรวงพลังงานต่อไป 

อย่างไรก็ดี บอร์ดยังได้พิจารณามติสำนักงาน กกพ. รายงานความคืบหน้าการบังคับใช้มาตรการทางปกครอง หลังจาก กกพ. ใช้อำนาจ ตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 127 ออกคำสั่งที่ 44/2566 เรื่อง การส่งผ่านราคาก๊าซธรรมชาติ กรณีที่ผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบก๊าซได้ตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ซึ่งปตท. ต้องนำมูลค่าก๊าซฯ ที่มีการปรับลดลงจากผู้ผลิตประมาณ 4,300 ล้านบาท มาสะท้อนในราคารับซื้อเฉลี่ยหรือพูล ก๊าซ ในเดือนม.ค. 67 จะลดต้นทุนค่าไฟฟ้างวดเดือนม.ค. - เม.ย. 67 แต่ปตท. ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง ต่อมาการประชุม กกพ. วันที่ 20 ธ.ค. 66 มีมติให้ยกคำอุทธรณ์ของ ปตท. และมอบหมายให้สำนักงาน กกพ. ดำเนินการบังคับใช้มาตรการทางปกครองตามมาตรา 128 ที่กำหนดให้ กกพ. ต้องมีหนังสือเตือนอีกครั้ง หากยังฝ่าฝืนจะมีคำสั่งปรับวันละไม่เกิน 5 แสนบาท ก่อนนำไปสู่การออกคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตต่อไป

อย่างไรก็ตาม กกพ. ยืนยันว่า ได้ปฏิบัติตามขั้นตอน โดยดำเนินการมาตรการทางปกครอง ก่อนจะใช้มาตรการทางอาญาในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 132 ที่บัญญัติว่า ผู้ใดให้ข้อมูลอันเป็นเท็จหรือบิดเบือนแก่ กกพ. และการกระทำนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใช้พลังงาน ต้องระวางโทษจำคุก 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ระหว่างปี 65 สำนักงาน กกพ. ได้ตรวจสอบการคำนวณราคาพูล ก๊าซ พบข้อมูลชอร์ตฟอล ซึ่งเป็นตัวเลขปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ผู้ผลิตก๊าซต้องส่งให้กับ ปตท. ระหว่างเดือนต.ค. 63 - ธ.ค. 65 โดยสัญญาซื้อขายก๊าซฯ กำหนดว่า หากผู้ผลิตก๊าซส่งก๊าซธรรมชาติไม่ครบได้ตามปริมาณในสัญญาต้องคิดราคาก๊าซฯ งวดต่อไปตามจำนวนที่ขาดส่งในราคาประมาณ 75% จากราคาปกติ เป็นผลให้ ปตท. ซื้อก๊าซฯ ในส่วนดังกล่าวถูกกว่าราคารับซื้อปกติ มีมูลค่าประมาณ 4,300 ล้านบาท

แต่ ปตท. กลับนำก๊าซฯ ในส่วนดังกล่าวตามราคาเต็ม 100% มาคำนวณในราคา พูล ก๊าซ ซึ่งส่วนใหญ่จะสะท้อนไปยังต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนในช่วงเวลาดังกล่าว

'รสนา' พร้อมยกพลขอบคุณ 'พีระพันธุ์' ถึงทำเนียบ ถ้าราคา LPG ครัวเรือนต่ำสุดที่ 219 บาท ต่อ 15 กก.ได้จริง

(29 ธ.ค. 66) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า…

ข่าวเชียร์พีระพันธุ์สอนมวยก้าวไกลตอบกระทู้ในสภาว่าครัวเรือนได้ค่าก๊าซหุงต้มต่ำสุดที่ถังละ 219 บาท แต่ราคาจริงยังอยู่ที่ 495.75 บาท/ถัง

ดิฉันได้ดูคลิปที่มีคนทำขึ้นมาเชียร์รมว.พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สอนมวยก้าวไกลในการตอบกระทู้เรื่องพลังงานในรัฐสภา เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ว่าคำถามเรื่องพลังงานของก้าวไกลล้าสมัยหมดแล้ว โดยระบุมีมติ กพช. เรื่องการจัดสรรราคาก๊าซจากอ่าวไทยใหม่แล้ว เมื่อ 7 ธันวาคม 2566 ว่าปิโตรเคมีได้ใช้ก๊าซในราคา 362 บาทเท่ากลุ่มอุตสาหกรรมอื่น (ไม่ได้ระบุว่าราคาต่อหน่วยอะไร)

ส่วนประชาชนในครัวเรือนได้ใช้ LPG เป็นก๊าซหุงต้มในราคาถูกที่สุด ที่ราคา 219 บาท ท่านไม่ได้ระบุเช่นกันว่า 219 บาทเป็นราคาต่อหน่วยอะไร

ดิฉันอนุมานว่า 219 บาทน่าจะเป็นราคาก๊าซหุงต้มต่อถัง 15 กิโลกรัมจากโรงแยกก๊าซที่ยังไม่ได้บวกภาษี และค่าการตลาด เมื่อสันนิษฐานเช่นนี้ แสดงว่าก๊าซหุงต้มราคาต่อกิโลกรัมคือ 14.60 บาท

แต่เมื่อมาดูตารางราคาก๊าซ LPG ในโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มในตารางส้มของวันนี้ (วันที่ 28 ธันวาคม 2566) จะพบว่าราคาเนื้อก๊าซหน้าโรงแยก ที่ยังไม่ได้รวมภาษี และค่าการตลาด ราคายังอยู่ที่กิโลกรัมละ 25.7135 บาท ซึ่งตัวเลขยังไม่ได้ปรับลดลงเป็นกิโลกรัมละ 14.60 บาท (219 บาท/15 กิโลกรัม) ตามที่ท่านรัฐมนตรีตอบกระทู้ในสภา

ราคาก๊าซในตารางส้ม เนื้อก๊าซหน้าโรงแยก ราคากิโลกรัมละ 25.7135 บาท เมื่อบวกภาษี ค่าการตลาด และเอากองทุนน้ำมันมาชดเชยราคา - 7.1826 บาท ทำให้ราคาเนื้อก๊าซปลายทางมีราคากิโลกรัมละ 25.87 บาท ถ้าไม่เอากองทุนฯ มาอุ้มราคา 7.1826 บาท ราคาก๊าซหุงต้มขายปลีกจะมีราคากิโลกรัมละ 33.0526 บาท เมื่อคำนวณราคาต่อถัง 15 กิโลกรัม ราคาขายปลีกจริงคือ 495.789 บาท

ถ้าราคา LPG สำหรับครัวเรือนตามที่ท่านพีระพันธุ์พูดว่าจะได้ราคาต่ำสุดที่ 219 บาทนั้น หากการอนุมานของดิฉันถูกต้อง ราคาเนื้อก๊าซหุงต้มจะเป็นราคากิโลกรัมละ 14.60 บาท เมื่อรวมภาษีและค่าการตลาดแล้วจะเป็นราคากิโลกรัมละ 21.65 บาท ราคาต่อถัง 15 กิโลกรัมจะมีราคาเพียง 324.75 บาท ถูกกว่าราคาปัจจุบันที่ 495.75 บาท/ถัง และไม่ต้องใช้กองทุนน้ำมันมาอุ้มราคา และถูกกว่าราคาที่รัฐบาลจะตรึงราคาที่ถังละ 423 บาทไปถึง เดือนมีนาคม 2567 อีกด้วย

ดิฉันต้องขอให้ท่านรัฐมนตรีกรุณาตอบคำถามให้ชัดเจนว่าตัวเลขที่ท่านบอกว่าครัวเรือนจะได้ใช้ก๊าซอ่าวไทยถูกที่สุดในราคา 219 บาทนั้น เป็นไปที่ดิฉันคำนวณหรือไม่ หากไม่ใช่ ก็ขอให้ท่านกรุณาตอบให้ดิฉันได้ทราบว่าก๊าซหุงต้มตามตัวเลขที่ท่านตอบกระทู้ในสภานั้น จะมีราคาขายปลีกเท่าไหร่กันแน่ ?

ขอคำตอบชัด ๆ ให้กับกระทู้นอกสภาของดิฉันด้วย !!

ถ้าท่านรัฐมนตรีสามารถทำให้ครัวเรือนได้ใช้ก๊าซหุงต้มราคาหน้าโรงแยกที่ 219 บาท/15 กิโลกรัมได้จริง จะถือว่าท่านได้ทำการแก้ไขต้นทุนก๊าซหุงต้มที่เป็นธรรมต่อประชาชนอย่างแท้จริง และถ้าท่านทำได้จริงตามที่พูด ดิฉันจะเชิญชวนประชาชนไปร่วมขอบคุณท่านรัฐมนตรีถึงทำเนียบรัฐบาลเลยทีเดียว 

‘เพื่อไทย’ ดับร้อน!! โยก ‘รองตุ๋ย’ คุมยุติธรรม ขยับ ‘รองสมศักดิ์’ แบ่งเบางาน ‘รองอ้วน’

ปริศนาส่งท้ายปีกระต่ายสลายขั้วที่ยังฟันธงกันไม่สะเด็ดน้ำก็คือ กรณีท่านนายกฯ สูงยาวถุงเท้าแดงของ ‘เล็ก เลียบด่วน’ หรือ เศรษฐา ทวีสิน ลงนามคำสั่งวันที่ 25 ธ.ค. 66 โยกย้ายสลับงานรองนายกฯ 3 คน ให้รองตุ๋ย พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ไปกำกับดูแลงานกระทรวงยุติธรรม แทนสมศักดิ์ เทพสุทิน ส่วน รองสมศักดิ์นั้น ได้รับมอบหมายให้ไปกำกับดูแลกระทรวงสาธารณสุข แทนภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ เจ้าของฉายา ‘รองกอง’ งานอะไร ๆ ต่อมิอะไรก็โยนมาให้ท่านลองกอง เอ๊ย! รองกอง

นี่ล่าสุดนายกฯ โยนตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 มาให้อีก...ก็ขอเตือนท่านรองกองว่าอย่าล้อเล่นกับกฎหมายงบประมาณน่ะครับ...โปรดพกยาหอมยาดมไปเยอะ ๆ นะครับ

กลับมาที่เรื่องกระทรวงยุติธรรม ทำไมต้องเด้งสมศักดิ์แล้วหันไปใช้บริการพีระพันธุ์...ส่วนใหญ่ฟันธงกันว่าเป็นเพราะสมศักดิ์ให้สัมภาษณ์แบบอัดยับข้าราชการกระทรวงยุติธรรม โดยเฉพาะกรมราชทัณฑ์ว่าล้มเหลวในการทำงาน การชี้แจงเรื่องระเบียบราชทัณฑ์...คุกนอกเรือนจำ เลยโดนโยก…

มีคำถามว่า..อ้าว! คำสั่งนายกฯ ลงวันที่ 25 ธ.ค.นะ แต่ท่านสมศักดิ์พูดวันที่ 26 ธ.ค.น่ะ...ฝ่ายที่เชื่อว่าถูกโยกเพราะเรื่องนี้ก็อธิบายว่า เรื่องวันที่ลงนามคำสั่งนั้นจะลงวันที่เท่าไหร่ก็ได้..แต่เอาเป็นว่าเรื่องนี้นายกฯ ไปกระซิบบอกรองตุ๋ย พีระพันธุ์ให้รับทราบตอนเลิกประชุมครม.วันที่ 26 ธ.ค.แล้ว

การสับขาหลอกลงวันที่ 25 ธ.ค.จึงนับว่าเนียน…

อย่างไรก็ตาม ‘เล็ก เลียบด่วน’ ไม่เชื่อว่าเหตุผลโยกสมศักดิ์ออกจากการดูแลกระทรวงยุติธรรม จะเป็นเพราะสมศักดิ์เริ่ม ‘โอเวอร์ แอ็กชัน’ เท่านั้น แต่ยังมีเหตุผลสำคัญอื่น ๆ ดังนี้

1.การโยกสมศักดิ์ไปดูกระทรวง สธ. แทนภูมิธรรม เป็นการลดโหลดงานรองอ้วนได้อย่างลงตัว อีกทั้งระยะหลัง ๆ พบว่าสมศักดิ์กับ ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร ที่ไปมีบทบาทเรื่องสุขภาพแห่งชาติ ประสานการทำงานกันได้ดี

2.การโยกสมศักดิ์ออก และเอาพีระพันธุ์เสียบแทน เป็นการลดความเป็น ‘ตำบลกระสุนตก’ ของพรรคเพื่อไทยได้ไม่น้อย เพราะที่ผ่านมาสมศักดิ์ถูกมองว่าทำเรื่องกฎหมาย กฎกระทรวง เพื่อรองรับวีไอพีชั้น 14

2.1 พีระพันธุ์เป็นนักกฎหมาย เป็นอดีตรมว.ยุติธรรมมาก่อน ภาพลักษณ์ดูตรงไปตรงมา น่าเชื่อถือ จากนี้ไป ‘เผือกร้อน’ ก็จะตกอยู่กับมืออาชีพ

2.2 พีระพันธุ์รู้จักและสามารถพูดคุยกับกลุ่มต่าง ๆ ที่กำลังขับเคลื่อนกรณีนักโทษเทวดาให้เป็นนักโทษธรรมดา..น่าจะหาจุดรอมชอม ลงตัวกันได้โดยไม่เสียหลักการของทุกฝ่าย

2.3 พีระพันธุ์รู้ดีถึงบริบทของบ้านเมืองยุคสลายขั้ว พีระพันธุ์เป็นเพื่อนกับ ‘บิ๊กแดง’ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รู้อุณหภูมิบ้านเมือง ทิศทางลม...เขาคงไม่สุดโต่งถึงขั้นจะทำภารกิจลับแบบ ‘ทักษิณโมเดล’ ในกรณียิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่อาจจะมีภารกิจลึกในเชิงกฎหมายที่เขาอาจให้คำแนะนำได้..!!

3. การมอบหมายงานกระทรวงยุติธรรม พร้อมกับตำแหน่งประธานบอร์ดอีก 4 บอร์ด เช่น ประธานกรรมการปราบปรามยาเสพติด ฯลฯ อาจมีเป้าประสงค์แอบแฝงเพื่อลดความร้อนแรงการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงราคาพลังงานที่เขากำลังทำ อันนี้อาจมีส่วนบ้าง แต่ฟันธงว่าพีระพันธุ์ไม่ยอม…

สรุปสุดท้ายประสา ‘เล็ก เลียบด่วน’ ก็ต้องบอกว่างานนี้พรรคเพื่อไทยขอใช้บริการ’ รองตุ๋ย’ นัยว่า..ดีลลับพิเศษเรื่องการสลายขั้ว การปรองดองสมานฉันท์ ยังไม่จบ ต้องเดินหน้าต่อไป

มองแบบโลกสวยนิดก็ต้องบอกว่ารองตุ๋ยอาจทำให้กระบวนการยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ กลับมาเป็นผู้เป็นคนมากกว่าเดิม!! 

สวัสดี

เรื่อง: เล็ก เลียบด่วน

เช็กลิสต์!! พลังงาน 'ยุคพีระพันธุ์' ช่วยใครไปแล้วบ้าง?

(3 ม.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงการแก้ปัญหาความเดือดร้อนจากค่าก๊าซ NGV ที่มีราคาสูงขึ้นจนกระทบผู้ประกอบการรถบรรทุก รถสาธารณะ และรถแท๊กซี่ ว่า…

ตามที่พี่น้องผู้ประกอบการรถบรรทุก รถสาธารณะ และรถแท๊กซี่ได้มาร้องเรียนเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาให้ผมแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากค่าก๊าซ NGV ที่มีราคาสูงขึ้นจนกระทบการประกอบอาชีพนั้น 

ผมได้ตั้งคณะทำงานดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหา โดยท่านประธานที่ปรึกษา ณอคุณ สิทธิพงศ์ เป็นประธานและทำข้อเสนอไปยังบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และคณะกรรมการบริษัท ปตท. โดยปลัดกระทรวงพลังงาน ท่านประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ในฐานะประธานบอร์ด ปตท. พิจารณามีมติเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ที่ผ่านมา เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอไป นับเป็นของขวัญปีใหม่อีกชิ้นสำหรับพี่น้องผู้ประกอบการรถแท๊กซี่ รถโดยสารสาธารณะ รถบรรทุก และรถทั่วไป ตามรายละเอียดดังนี้

1.รถแท๊กซี่ 
ขยายระยะเวลาการช่วยเหลือราคา NGV สำหรับผู้มีบัตรสิทธิประโยชน์อยู่แล้ว โดยแบ่งเป็นสองระยะดังนี้

-ระยะที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 - วันที่ 30 มิถุนายน 2567 จำหน่ายก๊าซ NGV ที่ราคา 14.62 บาทต่อกิโลกรัม

-ระยะที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 - วันที่ 31 ธันวาคม 2568 จำหน่ายก๊าซ NGV ที่ราคา 15.59 บาทต่อกิโลกรัม

ขณะเดียวกันก็เปิดให้มีการสมัครบัตรสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในเดือนมกราคม ถึง กุมภาพันธ์ 2567 โดยผู้ที่สมัครสิทธิประโยชน์ใหม่ในช่วงนี้จะสามารถซื้อก๊าซในราคาเดียวกับผู้ที่มีบัตรสิทธิประโยชน์เดิมได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ปตท. จะพิจารณาเพิ่มวงเงินซื้อก๊าซ NGV จากเดิม 10,000 บาทต่อเดือนต่อคัน เป็นวงเงิน 12,000 บาทต่อเดือนต่อคัน

2.รถโดยสารสาธารณะ
-ขยายระยะเวลาการช่วยเหลือราคา NGV สำหรับผู้มีบัตรสิทธิประโยชน์อยู่แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 จำหน่ายก๊าซ NGV ที่ราคา 18.59 บาทต่อกิโลกรัม

-เปิดรับสมัครบัตรสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม สำหรับรถโดยสารสาธารณะ หมวด 1 และ หมวด 4 ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2567

-ให้การช่วยเหลือราคาก๊าซ NGV ดังนี้

*รถหมวด 1 และหมวด 4 (กทม.) แบ่งเป็นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 จำหน่ายในราคา 14.62 บาทต่อกิโลกรัม และวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ถึงวันที่  31 ธันวาคม 2568 จำหน่ายที่ราคา 15.59 บาทต่อกิโลกรัม

*รถหมวด 2 และ 3 (ต่างจังหวัด) ที่ได้รับสิทธิประโยชน์เดิม ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 จำหน่ายที่ราคา 18.59 บาทต่อกิโลกรัม

โดยมีวงเงินช่วยเหลือรถขนาดเล็กที่ 10,000 บาทต่อเดือนต่อคัน และรถขนาดใหญ่ที่ 40,000 บาทต่อคันต่อเดือน

3.รถบรรทุก
-เปิดรับสมัครรถบรรทุกที่ร่วมโครงการรณรงค์ความปลอดภัย โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน

-ให้ส่วนลดราคาจำหน่ายก๊าซ NGV เป็นระยะเวลา 6 เดือน  หลังจากการรับสมัครแล้วเสร็จ โดยแบ่งเป็นสถานีนอกแนวท่อ ให้ส่วนลดประมาณ 0.50 บาทต่อกิโลกรัม จากราคาประกาศสถานีบริการ และสถานีแนวท่อให้ส่วนลดประมาณ 1 บาทต่อกิโลกรัม จากราคาประกาศสถานีบริการ

-เมื่อการช่วยเหลือครบ 6 เดือนแล้ว ราคาขายปลีกก๊าซ NGV จะเป็นตามโครงสร้างราคา

4.รถทั่วไป
ขยายระยะเวลาการช่วยเหลือราคาก๊าซ NGV ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 โดยจำหน่ายก๊าซ NGV ที่ราคา 19.59 บาทต่อกิโลกรัม หลังจากนั้นราคาขายปลีกก๊าซ NGV จะเป็นไปตามโครงสร้างราคาเพื่อให้สอดคล้องกับรถบรรทุก

‘วัชระ’ จี้ ‘พีระพันธุ์’ สอบปม ‘ทักษิณ’ จำคุกจริงหรือไม่? กร้าว!! ให้เวลา 7 วัน หากเรื่องไม่คืบเตรียมร้อง ป.ป.ช.

(4 ม.ค. 67) นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ เดินทางไปที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือต่อ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี ผ่าน นายสมพาส นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน 10 ประเด็น กรณี นช.ทักษิณ ชินวัตร โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า

เรื่อง ขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณี นช.ทักษิณ ชินวัตร ต้องคำพิพากษาให้จำคุก 1 ปี แต่ไม่ได้จำคุกจริงในเรือนจำแม้แต่วันเดียวจริงหรือไม่ มีอาการป่วยเป็นเท็จหรือไม่ และอยู่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจตลอดเวลาหรือไม่ และขอสำเนาเอกสารตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

เรียน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี

อ้างถึง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 381/2566 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2566

สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา จำคุก นช. ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 3 คดี คือ คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 4/2551 ความผิดต่อหน้าที่ราชการ กำหนดโทษจำคุก 3 ปี , คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 10/2552 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ กำหนดโทษจำคุก 2 ปี ซึ่งคดีที่ 1 กับคดีที่ 2 นับโทษซ้อนกันรวมกำหนดโทษจำคุก 3 ปี, คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 5/2551 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมกำหนดโทษจำคุก 5 ปี จำนวน 1 ชุด

2. ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 1 กันยายน 2566 จำนวน 1 ชุด

3. สำเนาข่าวผู้จัดการออนไลน์ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2566 สื่อนอกตีข่าว 'ทักษิณ' ป่วยทันทีหลังกลับไทย ถูกส่งตัวจากเรือนจำเข้าโรงพยาบาลเมื่อคืนนี้ จำนวน 1 ชุด 

4. หนังสือนายวัชระ เพชรทอง ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2566 เรื่องขอให้ระงับยับยั้งการที่จะส่งตัว นช.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษไปคุมขังนอกเรือนจำและขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนลงโทษข้าราชการกรมราชทัณฑ์ เรียน พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จำนวน 1 ชุด 

5. หนังสือนายวัชระ เพชรทอง ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2566 เรื่องขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณี นช.ทักษิณ ชินวัตร ต้องคำพิพากษาให้จำคุก 1 ปี แต่ไม่ได้จำคุกจริงในเรือนจำแม้แต่วันเดียว และขอให้บังคับโทษตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งโทษอาญาและแพ่งให้ นช.ทักษิณชำระเงินให้แก่รัฐคดีทุจริตปล่อยกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงค์) จำนวนเงิน 189,125,644.55 บาท พร้อมดอกเบี้ย กราบเรียนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จำนวน 1 ชุด 

6. หนังสือสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่ นร 0105.5/47874 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2566 ถึงนายวัชระ เพชรทอง จำนวน 1 ชุด ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่อ้างถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มอบหมายและมอบอำนาจให้ รองนายกรัฐมนตรี (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) ในฐานะปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบกระทรวงยุติธรรม (ยกเว้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ) นั้น 

ข้าพเจ้านายวัชระ เพชรทอง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนกรณีเคลือบแคลงสงสัยว่า นช.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำนวน 3 คดี รวมกำหนดโทษจำคุก 8 ปี (สิ่งที่ส่งมาด้วย 1) และประกาศราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 1 กันยายน 2566 มีการประกาศให้โทษจำคุกเหลือ 1 ปี (สิ่งที่ส่งมาด้วย 2) และข่าว นช. ทักษิณฯ ถูกส่งตัวจากเรือนจำเข้าโรงพยาบาลคืนวันที่ 23 สิงหาคม 2566 (สิ่งที่ส่งมาด้วย 3) แต่ไม่ได้มีการจำคุกจริงตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 (ไม่เท่าเทียมนักโทษทั่วไป) 

ต่อมาข้าพเจ้ามีหนังสือร้องเรียนกรณีดังกล่าวถึง พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (สิ่งที่ส่งมาด้วย 4) และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (สิ่งที่ส่งมาด้วย 5) เนื่องจากมีการเอื้อประโยชน์เพื่อช่วยเหลือ นช.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นบิดาของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร (อุ๊งอิ๊ง) หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ซึ่งเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนของบุคคลในรัฐบาลนี้

ในการนี้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือถึงข้าพเจ้าว่าได้ส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังและกระทรวงยุติธรรมซึ่งมีหน้าที่และอำนาจเพื่อพิจารณา (สิ่งที่ส่งมาด้วย 6) ซึ่งหมายถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยังละเว้นไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามที่ข้าพเจ้าได้ร้องเรียนตามหนังสือลงวันที่ 26 ธันวาคม 2566 (สิ่งที่ส่งมาด้วย 5) 

บัดนี้ท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบกระทรวงยุติธรรม โปรดดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณี นช.ทักษิณ ชินวัตร ต้องคำพิพากษาให้จำคุก 1 ปี แต่ไม่ได้จำคุกจริงในเรือนจำแม้แต่วันเดียวจริงหรือไม่ ดังนี้

1. ปรากฏข้อเท็จจริงว่าวันที่ 22 สิงหาคม 2566 กรมราชทัณฑ์มีการดำเนินการตามขั้นตอนเมื่อรับ นช.ทักษิณ ชินวัตร เข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หรือไม่ มีการกรอกทะเบียนประวัตินักโทษ (ร.ท.101) ครบทุกข้อจำนวน 4 หน้าหรือไม่ ถ่ายรูปในชุดนักโทษและตัดผมทรงนักโทษหรือไม่ เข้าห้องขังหรือไม่ มีข้าราชการการเมืองสั่งการให้ข้าราชการกรมราชทัณฑ์กระทำการขัดต่อระเบียบ กฎ กฎหมายของกรมราชทัณฑ์หรือไม่ และขอให้ท่านมีข้อสั่งการให้กรมราชทัณฑ์ส่งคลิปกล้องวงจรปิดของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 

ในวันที่ 22-23 สิงหาคม 2566 ในจุดที่ นช.ทักษิณ เดินเข้าและออกจากเรือนจำแก่คณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร และให้เปิดเผยต่อสาธารณชนด้วย 

2. กรณีแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ส่งตัว นช.ทักษิณ ชินวัตร ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจมีอาการเจ็บป่วยจริงหรือไม่ ออกใบรับรองเท็จหรือไม่ และขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนแพทย์และพยาบาลทุกคนที่เกี่ยวข้อง โดยขอให้กันข้าราชการที่ให้การเป็นประโยชน์ไว้เป็นพยานด้วย

3. นช.ทักษิณ ชินวัตร อยู่พักรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจตลอดเวลาหรือไม่ ป่วยจริงหรือไม่ มีแพทย์และพยาบาลดำเนินการรักษาจริงทุกวันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2566 จนถึงปัจจุบันหรือไม่ มีเวชระเบียนการรักษาทุกวันหรือไม่ ขอให้เปิดเผยรายชื่อเจ้าพนักงานเรือนจำที่ควบคุม นช.ทักษิณไปโรงพยาบาลตำรวจทุกนาย และขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าพนักงานเรือนจำที่ควบคุม นช.ทักษิณ ทุกนายและผู้ตรวจเวรที่ไปเฝ้า นช.ทักษิณทุกวันว่าได้พบ นช.ทักษิณหรือไม่ มีการบันทึกภาพหรือไม่ และมีอาการเจ็บป่วยหรือไม่ โดยขอให้กันข้าราชการที่ให้การเป็นประโยชน์ไว้เป็นพยานด้วย

4. การออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2566 นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้เร่งรัดบังคับให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการออกระเบียบให้ทันบังคับใช้ในปี 2566 หรือไม่ ขอให้ท่านมีข้อสั่งการให้กรมราชทัณฑ์ส่งสำเนาการประชุมการร่างออกระเบียบดังกล่าวทุกครั้งแก่คณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร และส่งสำเนาให้ข้าพเจ้าด้วยจำนวน 1 ชุด

5. ขอให้ตั้งกรรมการสอบสวนกรณีกล้องวงจรปิดโรงพยาบาลตำรวจเสียทุกตัวทุกชั้นและขอให้ประสานงานสั่งการให้ติดตั้งกล้องวงจรปิดที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจภายใน 7 วันเพราะ นช.ทักษิณ ชินวัตร มีสภาพเป็นนักโทษเด็ดขาดอยู่ภายใต้กฎหมายของกรมราชทัณฑ์

6. ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2566 มีอำนาจเหนือคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา จำนวน 3 คดี (สิ่งที่ส่งมาด้วย 1) หรือไม่ และมีอำนาจเหนือราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 1 กันยายน 2566 (สิ่งที่ส่งมาด้วย 2) หรือไม่ การเร่งรัดออกระเบียบฯ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้นช.ทักษิณเป็นการละเมิดพระราชอำนาจตามพระบรมราชโองการที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 1 กันยายน 2566 หรือไม่ ท่านจะดำเนินการอย่างไร

7. ขอให้บังคับโทษทางแพ่ง นช.ทักษิณ ชินวัตร ชำระเงินให้แก่รัฐคดีทุจริตปล่อยกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงค์) จำนวนเงิน 189,125,644.55 บาท พร้อมดอกเบี้ย คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 4/2551 มีการบังคับคดีแล้วหรือยัง เมื่อไร ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ถ้ายังไม่ดำเนินการท่านจะสั่งการตามอำนาจหน้าที่อย่างไร

8. นช.ทักษิณ ชินวัตร พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจเกินกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวัน ตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ข้อ 7 (3) ที่ต้องรายงานต่อรัฐมนตรีทราบนั้นขอให้เปิดเผยรายงานต่อพี่น้องประชาชนทั้งประเทศภายใน 7 วัน

9. ขอให้ท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เดินทางไปโรงพยาบาลตำรวจชั้น 14 ภายใน 7 วัน เพื่อตรวจสอบว่า นช.ทักษิณ ชินวัตร ป่วยจริงหรือไม่ และอยู่โรงพยาบาลตลอดเวลาหรือไม่

10. มีข่าวว่าจะมีการทำบัญชีโยกย้ายข้าราชกรมราชทัณฑ์ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของฝ่ายการเมืองในกรณีนี้หลายตำแหน่ง ท่านจะให้ความยุติธรรมเบื้องต้นแก่ข้าราชการอย่างไร การกระทำของข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำตามข้อ 1 - ข้อ 8 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่างกรรมต่างวาระ ผิดประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรงจึงขอให้ท่านตั้งคณะกรรมการสอบสวนภายใน 7 วันเพื่อผดุงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐและนิติธรรม

ดังนั้นจึงขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทุกประเด็นในเรื่องนี้ เพื่อมาตรฐานความยุติธรรมที่เท่าเทียมกับนักโทษ 280,000 รายทั่วประเทศ รวมทั้งขอให้บังคับโทษทางอาญา นช.ทักษิณ ชินวัตร อย่างเคร่งครัด หากท่านไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามที่พี่น้องประชาชนร้องเรียนข้าพเจ้ามานี้ภายใน 7 วัน ข้าพเจ้าจำเป็นต้องยื่นร้องเรียนกล่าวโทษบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงมาเพื่อให้ ป.ป.ช.สอบสวนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกมาตราและสอบจริยธรรมร้ายแรงต่อไป และข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าท่านรักษาและปฏิบัติตามกฎหมาย ด้วยหลักนิติรัฐ นิติธรรม และจริยธรรมทรงการเมืองอย่างเคร่งครัด จึงได้ส่งหนังสือร้องเรียนมายังท่าน

อนึ่งขอให้กันข้าราชการกรมราชทัณฑ์ แพทย์ พยาบาลโรงพยาบาลราชทัณฑ์และโรงพยาบาลตำรวจที่ให้การตามความจริงและเป็นประโยชน์แก่ทางราชการทุกคนไว้เป็นพยานทุกราย และเอกสารทุกข้อ ข้าพเจ้ามีความประสงค์ที่จะขอตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ขอให้จัดส่งแก่ข้าพเจ้าภายใน 30 วัน พร้อมลงลายมือชื่อรับรองเอกสารทุกแผ่น

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายโดยเร่งด่วน หากผลเป็นประการใดโปรดแจ้งให้ข้าพเจ้าและพี่น้องประชาชนทราบโดยเร็วที่สุดด้วย จักขอบคุณ

‘พีระพันธุ์’ เล็ง ‘รื้อระบบพลังงานไทย’ หลังวางแผนผิดมาหลาย 10 ปี

อยากรู้ อยากเคลียร์เบื้องลึก ว่าทำไม ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ถึงกล้าที่จะประกาศ ‘รื้อ’ โครงสร้างพลังงานทั้งระบบอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน!! ติดตามต่อเต็ม ๆ ได้ที่ >> ‘รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง’ 👉 https://youtu.be/WoVPPtVOM0c 

'ธนกร' ชี้!! 'พีระพันธุ์' ทำตามสัญญาสำเร็จ ลดค่าไฟฟ้า 4.18 บาทต่อหน่วย เชื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้าภาค 'ครัวเรือน-โรงงาน-ภาคเอกชน' ได้มาก

(12 ม.ค.67) นายธนกร วังบุญคงชนะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า “จากการติดตามการดำเนินการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ล่าสุดได้ประกาศอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับงวดเดือนม.ค. ถึง เม.ย. 2567 ทั่วไปในอัตรา 4.18 บาทต่อหน่วย ส่วนผู้ที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วย ในอัตราค่าไฟที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ตามที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเสนอ ซึ่งเป็นการลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างมาก ซึ่งตนต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่คงมาตรการนี้ต่อ”

ทั้งนี้ จากที่ตนได้ฟังเสียงตอบรับจากประชาชนและภาคเอกชน ต่างมีความพึงพอใจมาตรการลดค่าไฟฟ้าดังกล่าว ว่าลดค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนได้จริง หลังจากนายกฯและครม.ให้การสนับสนุนข้อเสนอของกระทรวงพลังงานและอนุมัติงบกลางเพื่อช่วยยืนมาตรการนี้ โดยหลังจากนี้จะมีการรายงานให้ ครม.รับทราบต่อไป

นายธนกร ยังกล่าวว่า “ถือเป็นความตั้งใจของรัฐบาล โดยเฉพาะนายพีระพันธุ์ ที่ได้ “ทำตามสัญญา“ ต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องค่าไฟฟ้าของประชาชน ซึ่งภาคประชาชนเอง ก็หวังอยากให้รัฐบาลดำเนินมาตรการดังกล่าว ต่อเนื่องยาวไปจนถึงรอบบิล งวดเดือน พ.ค.-ส.ค.67 โดยเชื่อว่าจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือน โรงงานอุตสาหกรรม ภาคเอกชนต่างๆได้อย่างมาก ส่งผลต่อการลดต้นทุนการผลิตภาคเอกชนทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้ดียิ่งขึ้นด้วย”

‘พีระพันธุ์’ ยังไม่พอใจ!! มองราคาค่าไฟยังลดได้อีก ยัน!! แผนรื้อโครงสร้างราคาพลังงานทุกชนิด ไม่เงียบ

(12 ม.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปี 67 จะดำเนินการรื้อ ลด ปลด สร้าง จะแก้กฎหมายกฎระเบียบ หรือการเขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่ เพื่อให้โครงสร้างราคาพลังงานทุกชนิด ไม่ใช่แค่เฉพาะไฟฟ้าให้มีความเป็นธรรม โดยมองว่าประชาชนต้องไม่ได้รับความเดือดร้อนจากราคาพลังงาน และจะต้องมีความยั่งยืน

"ในอนาคตจะมีการรื้อโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้า โดยพยายามหามาตรการ เช่น การหาแหล่งเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำ การรื้อสัญญาโรงไฟฟ้าที่มีข้อผูกพันในระยะยาว การเข้าไปดูแลการนำเข้า Spot LNG"

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานพยายามหามาตรการในการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ซึ่งในส่วนของค่าไฟฟ้า จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ บ้านที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน จะจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราเดิมคือ 3.99 บาทต่อหน่วย

ส่วนบ้านที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 300 หน่วยต่อเดือน จากเดิมที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ประกาศไว้ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย แต่ด้วยความร่วมมือจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ,การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ลดค่าไฟฟ้าเหลือเพียง 4.18 บาทต่อหน่วย หรือลดลงอีก 50 สตางค์ต่อหน่วยจากที่ กกพ. ประกาศ

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า กระทรวงพลังงานได้ดำเนินทุกมาตรการที่สามารถดำเนินการได้ในระยะเวลาที่จำกัด แต่เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิง โดยเฉพาะค่าก๊าซธรรมชาตินำเข้าหรือ LNG แม้จะเริ่มมีราคาลดลง แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง แต่คาดว่าค่าไฟฟ้าในงวด พ.ค.-ส.ค. 67 จะมีแนวโน้มไปในทางที่ดี เนื่องจากก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในอ่าวไทยจะสามารถผลิตได้ตามแผนที่วางไว้ที่ 800 ล้านลูกบาศ์กฟุตต่อวัน รวมถึงการปรับโครงสร้างราคาที่กำลังดำเนินการอยู่ ก็คาดว่าจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงจากราคาปัจจุบันได้อีก

นายพีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงพลังงานให้แต่ละหน่วยงานหามาตรการ เพื่อให้สามารถลดภาระค่าครองชีพของประชาชนได้มากที่สุด โดยตัวอย่างที่ดำเนินการแล้ว เช่น การให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติมาใช้ราคา Pool Gas (ราคาเฉลี่ยรวมก๊าซธรรมชาติจากทุกแหล่ง) ก็เป็นส่วนหนี่งที่ทำให้ราคาค่าไฟลดลงมาได้ และที่สำคัญคือเป็นการลดแบบถาวร

นอกจากนี้ ยังได้ความร่วมมือจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการขยายหนี้ออกไปอีก 1 งวด และ ปตท. ในการกำหนดราคาขายก๊าซธรรมชาติ

'พีระพันธุ์' มอบหมาย 'ดร.หิมาลัย' ประสานหน่วยงานเจรจา ช่วยไกล่เกลี่ยเรื่องที่ดินระหว่าง 'ลูกหนี้-เจ้าหนี้' ผลจบลงด้วยดี!!

(12 ม.ค.67) สืบเนื่องจาก นางสาวนุจรีย์ ศรีสำราญ ในฐานะลูกหนี้ ทำหนังสือขอความเป็นธรรมถึง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ให้ช่วยเป็นคนกลางประสานฝ่ายเจ้าหนี้ เพื่อชะลอการซื้อขายที่ดินของ นายอัสมนี ศรีสำราญ (บิดา) กรณีจากการกู้เงินนอกระบบฯ ที่ดินแปลงดังกล่าวปัจจุบันใช้เป็นที่อยู่อาศัย จึงขอความเป็นธรรมให้ช่วยเป็นคนกลาง เรื่องที่ดินแปลงดังกล่าว 

ดังนั้น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ จึงได้มอบหมายให้ ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้ประสานงานพรรครวมไทยสร้างชาติ รับเรื่องและเร่งดำเนินการประสานงานไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดสมุทรปราการ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยดำเนินการขยายผล ตรวจสอบหรือรับเรื่องเพื่อแก้ไขให้กับประชาชนกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อน รวมถึงขยายผลเพื่อให้เป็นประโยชน์กับประชาชน นั้น

โดยเมื่อวันที่ 10 ม.ค.65 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสำนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการ ชั้น 1 โดยมี นางสาวมยุรี ไวกิจอเนก อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการภาค 1 รักษาการในตำแหน่ง อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหม่ายและการบังคับคดีจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานการประชุมฯ พร้อมด้วย กรมสอบสวนคดีพิเศษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมหารือและหาทางไกล่เกลี่ย เพื่อขอชะลอการขายที่ดินแปลงดังกล่าว ซึ่งมี นางสาวนุจรีย์ ศรีสำราญ ฝ่ายลูกหนี/ผู้ร้องขอความเป็นธรรม และนางจรัล เอี่ยมสำอางค์ ฝ่ายเจ้าหนี้/ผู้ถูกร้อง ได้เข้าร่วมประชุมและรับฟังการเจรจาหารือเพื่อไกล่เกลี่ยกรณีดังกล่าว

สำหรับในที่ประชุม พนักงานอัยการพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการเจรจาไกล่เกลี่ยให้กับผู้ร้องและผู้ถูกร้องจนสามารถตกลงกันได้ ซึ่งเป็นที่น่าพอใจให้กับทั้งสองฝ่ายที่ไกล่เกลี่ยจบลงด้วยดี


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top