5 นโยบายเร่งด่วนรัฐ เรื่องไหนกระตุ้น ศก. เรื่องไหนกระตุ้นความกังวล ‘แก้รธน.-ส่งเสริมท่องเที่ยว-แก้หนี้-ลดราคาพลังงาน-แจกเงินดิจิทัล’

คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา วันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา สรุป 5 ประเด็นสำคัญ ที่ประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วน

1.เติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

2.แก้ปัญหาหนี้สิน เช่น พักหนี้เกษตรกร ช่วยประคองหนี้สิน ลดต้นทุนทางการเงิน

3.ลดภาระค่าใช้จ่ายราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าน้ำมัน

4.สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ตั้งเป้าอำนวยความสะดวก ปรับปรุงขั้นตอนขอ-เก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า ปรับปรุงระบบคมนาคม

5.หารือแนวทางนำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ให้คนไทยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และไม่แก้ในหมวดพระมหากษัตริย์

จากวันที่แถลงนโยบาย มาจนถึงปัจจุบัน  นโยบายที่เห็นเป็นรูปธรรม ลำดับแรก คงเป็น นโยบายที่ 3 คือ การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน อันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจ ซึ่งมีการปรับลดค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เริ่มจากน้ำมันดีเซล ให้ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร และ ลดน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ลง 2.50 บาทต่อลิตร จากโครงสร้างราคาเดิม เป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่ง ครม. ก็ได้ให้ไฟเขียวในการประชุมไปเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมา รวมทั้งปรับลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.99 บาท/หน่วย มีผลตั้งแต่รอบบิลเดือนกันยายน 2566 จนถึงรอบบิลเดือนธันวาคม 2566

นอกจากนี้ รัฐบาลจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ โดยวางแผนความต้องการและสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการผลิต และการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เร่งเจรจาการใช้พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียง และสำรวจแหล่งพลังงานเพิ่มเติม รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ภายใต้กลไกตลาด เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะมีความมั่นคงทางพลังงานที่จะขับเคลื่อนประเทศต่อไป

นโยบายเร่งด่วนถัดมา ที่เริ่มดำเนินการ คือ นโยบายที่ 2 การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน รัฐบาลจะลดภาระพี่น้องเกษตรกรด้วยการพักหนี้เกษตรกรตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม รวมถึงมาตรการช่วยประคองภาระหนี้สินและต้นทุนทางการเงินสำหรับภาคประชาชนที่ครอบคลุม ถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ได้มีโอกาสในการฟื้นตัวและกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง ซึ่งในส่วนการพักชำระหนี้เกษตรกร ระยะเวลา 3 ปี เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ เมื่อ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่าน BAAC Mobile ของ ธ.ก.ส. มากกว่า 2.5 แสนราย

นโยบายอีกด้านที่ลงมือดำเนินการแล้ว คือ นโยบายที่ 4 ผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น และสร้างงานให้กับประชาชน ซึ่งภาคเอกชน ร่วมกันขานรับ ทั้งมาตรการการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า และมาตรการยกเลิกการออกวีซ่าประเทศเป้าหมายชั่วคราว ซึ่งคาดการณ์ว่าจะกระตุ้นยอดนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าพื้นที่ท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 30-40% โดยเริ่มใช้นโยบายวีซ่าฟรีกับกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน ตั้งแต่ 25 ก.ย. 2566-29 ก.พ. 2567 รวมระยะเวลา 5 เดือน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

จากนโยบาย ทั้ง 3 ที่ 'ลด แลก แถม' ในแพ็กเก็จต่างๆ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หลัง Covid-19 ให้ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง กระทบฐานะทางการคลังของประเทศไม่มากนัก และส่งเสริมให้ภาครัฐ สามารถจัดเก็บภาษีกลับคืนได้พอสมควร 

แต่ที่ประเด็นใหญ่ ที่ยังหาช่องทางดำเนินการไม่ได้ คงไม่พ้น นโยบาย 'แจก' เงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่นักเศรษฐศาสตร์ของไทยเกือบ 100 คน ลงชื่อคัดค้านไม่เห็นด้วยในการดำเนินการ เนื่องจากจะกระทบกับเสถียรภาพทางด้านการคลังเป็นอย่างมาก โดยมี 2 อดีต ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมคัดค้านในนโยบาย ที่จะ 'ได้ไม่คุ้มเสีย' ฟากรัฐบาลก็ยังไม่มีทีท่าจะยกเลิก โดยพยายามหาแนวทางในการดำเนินการ และจุดสำคัญ คือ จะจัดหาเงินงบประมาณ 560,000 ล้านบาท มาจากที่ไหน อย่างไร เพื่อมาแจกให้กับประชาชน

สำหรับอีก 1 นโยบายเร่งด่วนที่แถลงต่อรัฐสภา คือ การแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แน่นอนว่า ประเด็นนี้ ไม่ช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นเพียงการแก้ไข ที่จะเปิดช่อง กำหนดกติกาให้นักการเมืองในฝ่ายตน ได้เปรียบในการแข่งขันลงเลือกตั้ง เพื่อถืออำนาจรัฐในมือมากกว่า 

สุดท้าย นโยบายเร่งด่วน ที่รัฐบาลปัจจุบันแถลง ฐานะทางการเงินของประเทศไทย จากที่เคยมีทุนสำรองระหว่างประเทศรวม (Gross Reserves) อยู่ที่ 2.46 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาทที่ 8.17 ล้านล้านบาท ณ เดือนตุลาคม 2564 สูงเป็นลำดับที่ 12 ของโลก หลังจากนี้ไป จะเป็นอย่างไร คงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด