กองทุนน้ำมันแบกหนี้อ่วม 'ทุกยุค-ทุกรัฐบาล' เพื่อช่วยคนไทย ทางแก้!! ต้องกล้าทำระบบ SPR สำรองเชื้อเพลิงให้ประเทศ

วิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นรอบนี้เกิดขึ้นเพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครนตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2022 ต่อเนื่องมายาวนานกว่า 2 ปีแล้ว ประจวบกับการปะทะกันระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ปาเลสไตน์ ซ้ำบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและอิสราเอลเพิ่มขึ้น 

เงื่อนไขปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบในตลาดโลกเมื่อปลายปี 2021 ที่เคยอยู่ที่บาร์เรลละ 75-78 ดอลลาร์ ขยับขึ้นมาเป็นบาร์เรลละ 90-122 ดอลลาร์ในปี 2022 และบาร์เรลละ 75-91 ดอลลาร์ในปี 2023 ส่วนในปัจจุบันราคาน้ำมันดิบของโลกเฉลี่ยอยู่ที่บาร์เรลละ 80-90 ดอลลาร์ 

จากวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานในครั้งนี้ทำให้ประเทศไทยต้องใช้เงินจาก ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ เพื่ออุดหนุนชดเชยเพื่อตรึงราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉพาะน้ำมันดีเซล ซึ่งถือเป็นน้ำมันเศรษฐกิจของประเทศ เพราะรถโดยสารและรถบรรทุกขนส่งส่วนใหญ่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงทั้งสิ้น

โดย ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ มาจาก 3 ส่วน คือ...
- ส่วนของภาษีสรรพสามิตที่กรมสรรพสามิตเรียกเก็บจากผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ
- ส่วนของภาษีศุลกากรที่กรมศุลกากรเรียกเก็บจากผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
- ส่วนของผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและผู้รับสัมปทานที่ทำธุรกิจก๊าซ ซึ่งต้องนำส่งเงินให้แก่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ มีบทบาทและภารกิจที่สำคัญในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศ ในช่วงสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกมีความผันผวน เกิดสภาวะวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรักษาระดับของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ให้สูงเกินไปจนเกิดผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน และการเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้กรอบการดำเนินงานของแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563-2567 

โดย ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ได้กำหนดแนวทางสำคัญในการใช้เงินกองทุนฯ ไว้ 3 ประการ เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงดังนี้...

1. สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศสูงกว่า 30 บาท/ลิตร และราคาขายปลีก LPG เกิน 363 บาท/ถัง (15 กก.)

2. สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรง (1) ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นมากกว่า 5 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลใน 1 สัปดาห์ และส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกปรับขึ้นมากกว่า 1 บาท/ลิตร (2) ราคา LPG ตลาดโลกเปลี่ยนแปลงใน 2 สัปดาห์ เฉลี่ยมากกว่า 35 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน หรือ ราคา LPG ตลาดโลกเปลี่ยนแปลงใน 2 สัปดาห์ รวมกันมากกว่า 1 บาท/กก.

3. สถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงขาดแคลนและไม่เพียงพอต่อการใช้ในประเทศ

ทั้งนี้ในการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ จะมุ่งเน้นการอุดหนุนและชดเชยในระยะสั้นเพียงชั่วคราวโดยยึดถือระเบียบวินัยทางการเงินการคลังเป็นสำคัญ แต่ในปัจจุบันการณ์กลับกลายเป็นว่า ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ติดลบมหาศาลมีภาระดอกเบี้ยจ่ายเดือนละ 200-250 ล้านบาท หมายความว่า ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ มียอดติดลบมากกว่า 100,000 ล้านบาทแล้ว นับแต่วิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงจาดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปี 2022 ไทยได้ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการอุดหนุนน้ำมันดีเซล และ LPG มาโดยตลอด เพราะเชื้อเพลิงทั้งสองชนิดนี้เป็นเชื้อเพลิงที่มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม และมีผลกระทบโดยตรงต้องพี่น้องประชาชนคนไทยซึ่งต้องบริโภคใช้งานเชื้อเพลิงทั้งสองชนิดนี้ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม 

กรณีการติดลบมหาศาลของ ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ นี้ มีความพยายามที่จะป้ายความผิดให้กับ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ว่า การเข้ามารับผิดชอบดูแลกระทรวงพลังงานระยะเวลา 9 เดือนทำให้ ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ เกิดปัญหาใหญ่เช่นนี้ขึ้น หากแต่พิจารณาด้วยเหตุและผลอย่างเป็นธรรมและมีตรรกะแล้ว จะพบว่าที่ผ่านมาชั่วนาตาปี รัฐบาลทุกชุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานทุกคนต่างก็ใช้ ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และเป็นเครื่องมือที่สามารถทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุดเพียงเครื่องมือเดียวที่ภาครัฐมีอยู่ 

เพราะเครื่องมืออื่น ๆ ไม่ว่าจะ บทบาท อำนาจหน้าที่ และกฎหมาย ที่มีอยู่ไม่สามารถใช้งานแก้ไขปัญหาราคาเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพได้ รองฯ ‘พีระพันธุ์’ จึงต้องใช้ ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ซึ่งเป็นเครื่องมือเดียวที่มีอยู่แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจากวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อเป็นการลดทอนและบรรเทาความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ LPG ของพี่น้องประชาชนคนไทยไปพลาง ๆ ก่อน พร้อมกับออกนโยบาย ‘รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง’ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป

ทั้งนี้ นโยบาย ‘รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง’ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของ รองฯ ‘พีระพันธุ์’ ก็ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว มีทั้งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการ และอยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อดำเนินการ

ดังนั้นในส่วนของ ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ เมื่อวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงได้เบาคลายลงแล้ว สถานการณ์การติดลบก็จะกลับมาดีขึ้นเรื่อย ๆ จนกลับเข้าสู่สภาวะปกติ แล้วจะค่อย ๆ ลดบทบาทลง โดยจะมี SPR : Strategic Petroleum Reserve หรือ การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ ของรองฯ ‘พีระพันธุ์’ เข้ามามีบทบาททำหน้าแทนที่มากขึ้น 

พูดง่าย ๆ ก็คือ ในอนาคตเมื่อรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานได้กลายเป็นผู้ถือครองปริมาณน้ำมันมากที่สุดในประเทศเพียงพอสำหรับการใช้งาน 50-90 วันแล้ว รัฐบาลย่อมสามารถนำปริมาณน้ำมันสำรองเข้าไปมีส่วนในการบริหารจัดการราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศได้ หลังจากที่ผ่านมาปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจากวิกฤตเชื้อเพลิงมีการใช้ ‘เงิน’ จาก ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ในการแก้ไขปัญหา 

ทว่าเมื่อ SPR เกิดขึ้น ‘เงิน’ จากกองทุนน้ำมันก็จะถูกลดทอนบทบาทและต้องมาเป็นคำตอบหลักในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอีกไป เพราะในบางสถานการณ์ต่อให้มี ‘เงิน’ ก็อาจไม่สามารถหาซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงหรือไม่สามารถขนส่งมาประเทศไทยได้ 

ดังนั้น SPR ด้วยการถือครอง ‘น้ำเชื้อเพลิงสำรอง’ โดยรัฐที่มากพอ (สำหรับการใช้งาน 50-90 วัน) จนกระทั่งวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงคลายตัวลง จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุดในยามนี้


เรื่อง: กองบรรณาธิการ THE STATES TIMES